การลงทุนของคนไม่มีทุนกับเศรษฐกิจในระบบที่รัฐไม่อุ้มชูคนจน

‘คนจนเมือง’ เป็นผู้ประกอบการได้อย่างไร?

ทุนก้อนแรกของพวกเขามาจากไหน?

ใครใจกล้าปล่อยกู้ให้คนที่มีแต่แรง?

หลังจากรายงานความก้าวหน้าในรอบ 1 ปี ของโครงการวิจัย คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง ได้เสนอภาพคุณลักษณะใหม่ของคนจนเมืองขึ้นมาว่า คนจนเมืองได้ขยับตัวเองจากการเป็นแรงงานลูกจ้างมาสู่การเป็นผู้ประกอบการรายย่อยในภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการของเมือง แม้คุณลักษณะใหม่นี้จะยังไม่ใช่บทสรุปที่แท้จริงของงานวิจัยชุดนี้ เนื่องจากโครงการวิจัยยังเหลือเวลาอีก 1 ปี ในการค้นหาความจริงเกี่ยวกับชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของคนจนเมืองในปัจจุบัน

แต่คำว่า ‘ผู้ประกอบการรายย่อยในภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ’ ชวนให้เราต้องหันมาตั้งคำถามกับการลงทุนของคนที่ไม่มีทุน เพราะไม่ใช่คนจนเมืองทุกคนจะสามารถผันตัวเองขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการได้ ดังนั้นจึงน่าสงสัยว่าคนที่ลุกขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการได้ต้องผ่านการต่อสู้ดิ้นรนอะไรบ้าง กว่าจะถึงวันที่มีกิจการเล็กๆ เป็นของตัวเอง ทุนก้อนแรกของเขามาจากไหน และอะไรเป็นเงื่อนไขสำคัญในชีวิตที่ผลักดันให้คนกลุ่มนี้ผันตัวเองมาเป็นผู้ประกอบการ

กิจการของคนจนที่อาศัยอยู่ในเมืองโดยเฉพาะคนในชุมชนแออัด ไม่ใช่การค้าขายใหญ่โต แต่เป็นการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วเมือง อาทิ แผงผักที่แบกับดินริมทางเท้า ร้านขายพวงมาลัยในตลาดนัด หรือรถพ่วงขายลูกชิ้นหน้าโรงเรียน ฯลฯ

ใครที่เคยอ่าน เปรู บนเส้นทางเศรษฐกิจนอกระบบ การปฏิวัติที่มองไม่เห็นในโลกที่สาม หรือ The Other Path ของ เออร์นานโด เดอ โซโต (Hernando de Soto Polar) จะเห็นว่าคนจนเมืองของไทยไม่ต่างจากคนจนเมืองในเปรู ตรงที่พวกเขาสร้างสรรค์การค้าขายของตัวเองขึ้นมา ด้วยความไม่ง่ายและใช้การขูดรีดตัวเองอย่างหนักหน่วง เพื่อขยับฐานขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ท่ามกลางการปราศจากความช่วยเหลือจากภาครัฐ

คนจนเมืองสร้างกิจการ

คำแก้ว (วนซ้ำอย่างเป็นระบบ)

คำแก้ว – หญิงชราชาวลาหู่วัย 64 ปี เธอจากดอยสูงแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย เข้ามาทำงานในเมืองเชียงใหม่ หลังจากที่ดินทำกินของครอบครัวถูกยึดคืนและมีการจัดสรรพื้นที่ให้ใหม่ จากที่เคยมีที่ทำกิน 6 ไร่ ก็ลดเหลือ 2 ไร่ พื้นที่เพาะปลูกหายไปกว่าครึ่ง ไม่ต้องถามถึงปริมาณผลผลิตที่ลดลงจนไม่พอเลี้ยงปากท้อง คำแก้วและสามีจึงเลือกพาลูกชายย้ายลงมาทำงานในเชียงใหม่ การดิ้นรนในฐานะคนจนเมืองของป้าคำแก้วจึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 43 ปีที่แล้ว กับการตามเพื่อนชาวลาหู่ไปเป็นคนงานก่อสร้าง รับค่าแรงวันละ 30 บาท ก่อนจะขยับตัวเองมาเป็นลูกจ้างรายเดือนในสวนกุหลาบ ฟาร์มเลี้ยงหมู และคนทำความสะอาดในโรงเรียน

หลังจากนั้นเธอเปิดร้านขายผักสดและปลาทูทอดหน้าบ้านในชุมชนแออัด เป็นกิจการแรกของป้าคำแก้ว เธอผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการหลังย้ายมาอยู่ที่คลองเงิน ชุมชนแออัดกลางเมืองของเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ใกล้กับกาดเมืองใหม่ ตลาดขายส่งแหล่งใหญ่ของจังหวัด เธอใช้เงินเก็บจากการเป็นแรงงานรับจ้างราคาถูกของเมืองที่สะสมไว้มาเป็นทุน คำแก้วค้าขายเช่นนั้นอยู่เกือบ 10 ปี ก่อนจะต้องปิดกิจการลง หลังเทศบาลมาไล่รื้อชุมชน

“เทศบาลมาไล่ ก็เลยย้ายมาอยู่ที่คลองเงิน 2 มีคนรู้จักอยู่ที่นั่น”

ร้านของคำแก้ว

แม้การไล่คนจนออกจากพื้นที่โดยไม่มีมาตรการรองรับจากหน่วยงานรัฐ จะทำลายชุมชนแออัดแห่งเดิมให้หายไป แต่ไม่ได้หมายความว่าคนจนที่เคยอยู่ในนั้นจะหายไปด้วย พวกเขามีชีวิตและอาชีพที่สัมพันธ์อยู่กับความเป็นเมือง หลายคนไม่มี ‘บ้าน’ ให้กลับไปพึ่งพิงได้ ดังนั้นเมื่อบ้านในชุมชนเดิมถูกรื้อถอน พวกเขาจึงค่อยๆ พาตัวเองไปแทรกซึมอยู่ในชุมชนแออัดแห่งใหม่ คำแก้วก็เป็นหนึ่งในคนกลุ่มนี้ หลังจากบ้านที่คลองเงิน 1 โดนไล่รื้อ ป้าก็พาลูกหลานย้ายมาอยู่ที่ชุมชนคลองเงิน 2

แต่คลองเงิน 2 ไม่มีพื้นที่มากพอให้เปิดร้านขายของชำได้อย่างเมื่อก่อน ป้าคำแก้วจึงหันไปเช่าพื้นที่ในกาดเมืองใหม่ขายผักอยู่บนทางเท้า นั่งขายแทบทั้งวันทั้งคืน แลกกับกำไรวันละ 1,000 กว่าบาท ด้วยความที่พื้นที่ในกาดเมืองใหม่ทำเงินได้ทุกตารางนิ้ว จึงง่ายมากที่จะทำให้เกิดการแย่งพื้นที่กันเองของแม่ค้าในตลาด คำแก้วทะเลาะกับแผงค้าข้างๆ เรื่องการตั้งร้านกินพื้นที่กันจนยอมถอนตัวออกจากกาดเมืองใหม่ เปลี่ยนมาเป็นแม่ค้าขายพวงมาลัยและผลไม้ตามฤดูกาลในตลาดนัดแทน เนื่องจากมีน้องสาวที่ขายพวงมาลัยอยู่แล้วช่วยสอนร้อยพวงมาลัยดอกดาวเรือง ชาวลาหู่ในเชียงใหม่หลายคนมักยึดอาชีพขายพวงมาลัยเลี้ยงปากท้องกัน แม่ของคำแก้วเองก็เคยลงมาขายพวงมาลัยในเชียงใหม่และถูกรถชนตายขณะขี่รถมอเตอร์ไซค์กลับที่พักตั้งแต่ป้ายังเล็ก

การขายของในตลาดนัดที่เปิดแค่บางวัน ไม่เหมือนตลาดสดที่มีพื้นที่แน่นอนทุกวัน ทำให้คำแก้วต้องสร้างเส้นทางการขายของของตัวเองขึ้นมา ด้วยการหาตลาดนัดให้ครบสัปดาห์และขายของวนซ้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อความอยู่รอด

จันทร์ / อังคารกาดนัด Big C ดอนจั่น
พุธ  กาดฝรั่ง
พฤหัสบดี / ศุกร์ / เสาร์ กาดนัด Big C extra
อาทิตย์หยุดไปโบสถ์

การค้าขายในเส้นทางเดิมๆ เช่นนี้ จะช่วยทำให้ลูกค้าจดจำร้านและสินค้าของป้าคำแก้วได้ เป็นวิธีการสร้างหลักแหล่งบนพื้นที่ขายของที่ไม่เป็นหลักแหล่ง

ผึ้ง (เลือกสินค้าให้เหมาะกับสถานที่)

ผึ้ง อายุ 49 ปี เป็นคนเชียงใหม่ที่ย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชนแออัดตั้งแต่ พ.ศ. 2528 หลังจากแต่งงานกับคนในชุมชน ผึ้งเคยเป็นคนกวาดถนนของเทศบาล กระทั่งลูก 2 คน ต้องเข้าโรงเรียน เงินเดือน 8,000 กว่าบาท จากการกวาดถนนเริ่มไม่พอจ่ายค่าเทอม ผึ้งจึงต้องหันมาทำการค้าขายเพิ่มเติมหลังเลิกงาน อาศัยการเป็นคนของเทศบาลสอบถามเจ้าหน้าที่เรื่องการขอพื้นที่ขายของในถนนคนเดิน กระทั่งได้ล็อคขายน้ำที่ถนนคนเดินในวันอาทิตย์ ก่อนจะขยับตัวเองออกมาขายอาหารตามตลาดนัดทุกเย็น

ผึ้งเป็นแม่ค้าที่ใช้วิธีเลือกสินค้าให้เหมาะกับสถานที่ เช่น ถ้าไปขายของที่ตลาดนัดรอบนอกเมืองซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป็นคนทำงาน ผึ้งก็จะตั้งร้านขายยำถาดหรือต้มซูเปอร์ตีนไก่ แต่ถ้าเข้ามาขายในมหาวิทยาลัยเวลามีการจัดงานต่างๆ ก็จะเปลี่ยนมาขายไก่ทอดไร้กระดูกที่รับประทานง่ายๆ แทน

“ถ้ามาขายซูเปอร์ตีนไก่ในงานวันวิทยาศาสตร์ นักศึกษาที่ไหนจะมาซื้อ มันกินยาก เราต้องดูว่าวันนี้จะไปขายที่ไหน ก็ทำของไปขายให้เหมาะกับสถานที่”

ด้วยความที่มีงานประจำเป็นคนกวาดถนน ทำให้ผึ้งต้องขูดรีดตัวเองอย่างหนักเพื่อให้ได้เป็นผู้ประกอบการหลังเลิกงาน ตอนเช้าเธอต้องเข้ากะแรกกวาดถนนตอน 04.00-06.00 น. และกะสองตอน 08.45-11.00 น. ผึ้งใช้เวลาว่างช่วงระหว่างรอเข้ากะ ขี่รถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างไปซื้อของที่ตลาดเตรียมไว้ พอเลิกงานจากเทศบาลก็กลับบ้านไปเตรียมของที่ตลาดนัดต่อ ขนของใส่รถมอเตอร์ไซค์ไปขายที่ตลาดนัดตั้งแต่ 15.00-22.00 น. กลับบ้านนอนอีกทีตอน 23.00 น. และตื่นตี 3 กว่าๆ เพื่อไปเตรียมกวาดถนนตอนตี 4 นาฬิกาชีวิตวนซ้ำเช่นนี้มากว่า 10 ปี ตั้งแต่ส่งลูกเรียนจนตอนนี้มาส่งหลานเรียนต่อ

Micro Credit: การเงินคนจน

ความคึกคักและหลากหลายของกิจการคนจนเมืองทั้งในตลาดและข้างถนน นอกจากจะสะท้อนให้เห็นว่าการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ช่วยพยุงให้ค่าครองชีพในเมืองถูกลง และช่วยสร้างทางเลือกให้ชนชั้นกลางหรือคนจนเมืองด้วยกันมีแหล่งอาหารราคาถูก เป็นทางเลือกในเมืองที่ทุกอย่างมีราคาไม่สมดุลกับค่าแรงขั้นต่ำ ขณะเดียวกันกิจการที่ถูกกฎหมายเหล่านี้ยังเผยให้เห็นเส้นทางการเงินของคนจนเมือง กลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของรัฐอีกด้วย

คนจนเมืองที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยหลายคนเริ่มต้นสร้างกิจการของตนด้วยการกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบซึ่งเข้าถึงง่ายที่สุด และไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ ผู้ค้ำประกัน หรือ statement ใดๆ ก็สามารถกู้เงินก้อนได้ แต่ต้องแลกกับการจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าปกติ เช่น เจ้าหนี้บางรายอาจเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน หรือร้อยละ 2 ต่อวัน ตามแต่ตกลงกัน ความง่ายในการเข้าถึงนี้ทำให้ในอดีตเงินกู้นอกระบบเป็นแหล่งเงินกู้อันดับแรกๆ ของชีวิตคนจนเมือง แม้เจ้าหนี้นอกระบบจะเป็นนายทุนใหญ่กล้าปล่อยกู้ให้คนจนเมือง แต่กลไกการเก็บ ‘ดอกลอย’ ด้วยหมัดศอกที่ดูราวกับจะเป็นเรื่องปกติของวงการกู้เงินนอกระบบ กลายเป็นจุดตัดสำคัญที่ทำให้คนจนเมืองหลายคนไม่อยากเข้าไปยุ่งกับการกู้เงินลักษณะนี้ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ

คำแก้วเป็นคนหนึ่งที่ไม่ขอเสี่ยงกับการทวงหนี้ด้วยการทำร้ายร่างกาย เมื่อถามว่าไม่คิดกู้เงินนอกระบบมาลงทุนใหม่หลัง COVID-19 แทนเงินทุนที่หายไประหว่างตลาดนัดปิดหรือ เธอตอบทันทีโดยไม่ต้องคิดว่า บ่กู้แล้ว

“บ่กู้แล้ว บ่กู้แล้ว กลัว ตอนนั้นได้ยินว่าลำพูนปู้นน่ะ กู้มาแล้วก็บ่ใช้คืนให้เขา เขามาทวงแล้วก็เอาปืนยิง แล้วก็ตายเลยก่ะ”

ในปัจจุบัน สถานบันการเงินขนาดเล็กหรือบริษัทไฟแนนซ์จำนวนมากที่เกิดขึ้น เช่น เงินติดล้อ กลายเป็นสินเชื่ออันดับแรกที่คนจนเมืองส่วนใหญ่เลือกใช้ พวกเขาใช้ทรัพย์สินที่มีกันเกือบทุกครอบครัวอย่างรถมอเตอร์ไซค์เป็นเครื่องมือในการหาเงินก้อน ข้อดีของไฟแนนซ์คือ ผู้กู้ไม่จำเป็นต้องสูญเสียการใช้สอยทรัพย์สิน หากจ่ายเงินคืนตามกำหนด และยังทำให้คนจนเมืองที่มีทรัพย์สินหลุดพ้นจากการกู้เงินนอกระบบที่มีความโหดร้ายของอัตราดอกเบี้ยที่สูงลิบ บริษัทไฟแนนซ์จึงกลายเป็นเครือข่ายทางการเงินสำคัญที่เอื้อให้คนจนเมืองสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ช่วยให้พวกเขาขยับฐานะขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการได้

ผึ้งเป็นตัวอย่างของคนจนเมืองที่พึ่งพิงบริษัทไฟแนนซ์ในการสร้างกิจการ เธอไม่มีเงินเก็บมาทำทุนและไม่มีญาติมิตรในระดับที่พอให้หยิบยืมเงินได้ แต่เธอมีรถมอเตอร์ไซค์ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีราคาของครอบครัว เธอนำมอเตอร์ไซค์ที่มีไปเข้าไฟแนนซ์และนำเงินมาลงทุนค้าขายในตลาดนัด

“ฉันเอารถมอเตอร์ไซค์ทุกคันในบ้านไปเข้าไฟแนนซ์หมด วนเข้าอยู่อย่างนั้น ไม่เคยได้หยุดส่งดอกเลยตั้งแต่เข้า เป็นลูกค้าชั้นดีจนเจ้าหน้าที่ไฟแนนซ์จะโทรมาหาทุกเดือนก่อนวันส่งดอก เตือนให้ไปส่งดอกด้วย บางทีเขาเห็นรถเราเข้าไปจอด เขาก็กดคิวรอให้เลย”

บริการทางการเงินสำหรับคนจนอีกรูปแบบหนึ่งที่ดูจะเป็นมิตรกับคนจนเมืองที่สุดคือ สหกรณ์ (คนจน) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ คนจนเมืองมีการสร้างสรรค์และพัฒนาระบบการออมเงินของตนเองขึ้นมาเป็นสหกรณ์ โดยมีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 5 ธันวาพัฒนา หรือสหกรณ์ 5 ธันวา ซึ่งก่อตั้งโดยคนในชุมชน 5 ธันวา ชุมชนแออัดกลางเมืองเป็นแหล่งทุนสำคัญ สหกรณ์ 5 ธันวาสร้างความเข้มแข็งและความน่าเชื่อถือในการเป็นสถาบันการเงินจนปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 3,000 คนทั่วเชียงใหม่ และมีเงินทุนหมุนเวียนจากการออมของสมาชิกจำนวนมาก

รัตนา – คนจนเมืองที่เป็นผู้ประกอบการรายหนึ่งของเชียงใหม่ อาศัยการกู้ยืมเงินจากสหกรณ์ 5 ธันวา มาใช้เป็นทุนในการค้าขาย เธอยกให้สหกรณ์ 5 ธันวาเป็น ‘สหกรณ์คนจน’ เพราะนอกจากจะสร้างขึ้นโดยคนจนด้วยกันแล้ว สหกรณ์ 5 ธันวา ยังปล่อยกู้ง่าย ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ ใช้เพียงคนค้ำ 2 คน ก็สามารถกู้ได้ 3 เท่าของเงินฝาก และถ้าเป็นการกู้ฉุกเฉินในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท ไม่จำเป็นต้องมีคนค้ำ และยังมีอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 บาทต่อเดือน เมื่อเงินต้นลด ดอกเบี้ยลดตาม นอกจากนี้ยังมีการปันผลให้สมาชิกอีกปีละครั้ง สหกรณ์ถือเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนในชุมชนแออัดที่จะเข้าถึงแหล่งเงินกู้แบบ micro credit ที่ไม่เอาเปรียบและเอื้ออำนวยกันเช่นนี้

คนจนเมือง: คนที่รัฐมองไม่เห็นศักยภาพในการเป็นผู้ประกอบการ

นโยบายต่างๆ ของรัฐที่ลงมายังชุมชนแออัด ส่วนใหญ่มักเป็นนโยบายเกี่ยวข้องกับโครงการบ้านมั่นคง การปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ หรือการต่อต้านยาเสพติด มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมืองในเรื่องที่อยู่อาศัยหรือทำให้ชุมชนแออัดไม่เป็นภาพแทนของแหล่งเสื่อมโทรม หรือแหล่งแพร่ระบาดของยาเสพติดของเมือง แต่แทบไม่มีนโยบายการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจหรือความยากจนที่มองเห็นศักยภาพในการเป็นผู้ประกอบการของคนจนเมือง น้อยมากที่จะมีสินเชื่อจากรัฐลงมาช่วยเหลือหรือส่งเสริมการทำมาหากินของพวกเขา

ดังนั้น คนจนเมืองจึงต้องสร้างสรรค์กิจการของตนเองขึ้นมาบนการขูดรีดตัวเองอย่างหนักหน่วง การพึ่งพิงเงินกู้นอกระบบ ใช้ทรัพย์สินที่มีแลกเงินจากสถาบันการเงินขนาดเล็กมาทำทุน หรืออาศัยเครือข่ายที่มีอยู่เปิดช่องในการเป็นผู้ประกอบการให้ตัวเอง พวกเขาถูกกีดกันออกให้อยู่นอกวงของการกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของรัฐ เนื่องจากติดที่เงื่อนไขของการมีหลักทรัพย์ ผู้ค้ำ หรือ statement มาประกันการขอกู้ยืมเงินของตนเอง ธนาคารพาณิชย์เหล่านั้นจึงไม่อาจเป็นตัวเลือกในชีวิตของคนขายพวงมาลัย ขายยำ หรือลูกชิ้นทอดได้เลย

หากรัฐมองเห็นศักยภาพในการเป็นผู้ประกอบการที่มีอยู่ในตัวของคนจนเมือง นโยบายการจัดการกับปัญหาความยากของคนจนเมืองจะถูกคิดใหม่ บนศักยภาพที่พวกเขามีอยู่อย่างล้นหลามและสร้างสรรค์ แต่รัฐไม่เคยอุ้มชู

Author

วรรณา แต้มทอง
อดีตนักเรียนกฎหมายที่เลือกทำความเข้าใจความยุติธรรมผ่านวรรณกรรม จึงล้มลุกคลุกคลานกับเปาบุ้นจิ้นอยู่หลายปีกว่าจะเรียนจบปริญญาโท หวั่นไหวกับหนังสือ วรรณกรรม
สารคดี จนอยากเป็นนักเขียน ชอบฟังเพลงที่แปลไม่ออก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า