จาก ‘คนจนเมือง’ สู่ ‘ผู้ประกอบการภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการในเมือง’

การประชุมนำเสนอความก้าวหน้าโครงการวิจัย ‘คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง’ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 อันเป็นครึ่งทางของระยะเวลาวิจัยที่กำหนดไว้ 2 ปี คณะนักวิจัยทั้ง 7 ท่าน แบ่งพื้นที่วิจัยออกเป็น 5 พื้นที่ตามสัดส่วนสถิติของคนจนในแต่ละเมือง ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดย รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ร่วมกับ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา, จังหวัดเชียงใหม่โดย รศ.ดร.สมชาย ปรีชาศิลปกุล, จังหวัดสงขลา โดย รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์, จังหวัดขอนแก่น โดย ผศ.ดร.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ และจังหวัดชลบุรี โดย ผศ.ดร.ธนิต โตอดิเทพย์ 

ในช่วงปีที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวดำเนินการวิจัยโดยการสำรวจเชิงปริมาณ ใช้แบบสอบถามจำนวน 2,026 ชุด และวิเคราะห์ข้อมูลแยกตามพื้นที่วิจัยก่อนจะนำมาสังเคราะห์ภาพรวม โดย ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ทำหน้าที่อภิปรายสรุปความก้าวหน้าของงานวิจัย   

สำหรับที่มาของการศึกษา นักวิจัยเห็นว่า ที่ผ่านมางานศึกษาคนจนเมืองที่ผ่านมามักมุ่งประเด็นความสนใจไปยังชุมชน ละเลยความสัมพันธ์ระหว่าง ‘คนจนเมือง’ และ ‘ความเป็นเมือง’ และพลวัตของคนจนเมืองสัมพันธ์อยู่กับการเปลี่ยนแปลงของสังคมเมือง ดังนั้นจึงเกิดประเด็นคำถามว่าการเปลี่ยนแปลงของเมืองทั้งจากโครงการพัฒนา แนวนโยบายการใช้ประโยชน์พื้นที่เมือง หรือการเปลี่ยนแปลงในลักษณะอื่นที่เกิดขึ้น ทำให้คุณลักษณะของคนจนเมืองเปลี่ยนไปอย่างไร และจะนำมาใช้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองได้อย่างไร

นอกจากการนำเสนอความก้าวหน้าโดยทีมวิจัยแล้ว ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ คุณสมสุข บุญญะบัญชา ประธานมูลนิธิที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย, ผศ.ดร.นลินี ตันธุวนิตย์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมให้ข้อเสนอแนะต่อโครงการวิจัยฯ 

ถอดความหมายเชิงปริมาณ

จากการศึกษาเชิงปริมาณในภาพรวมงานวิจัยพบว่าขนาดของครอบครัวคนจนเมืองมีขนาดที่เล็กลง ส่วนฐานะทางเศรษฐกิจปรับตัวสูงขึ้น สำหรับที่อยู่อาศัยดีขึ้นและมีรูปแบบหลากหลาย ต่างจากการรวมกลุ่มเป็นสลัมแบบเดิม แต่ยังคงผูกพันอยู่กับพื้นที่ทำกินที่ใกล้กับที่อยู่อาศัย คนจนเมืองแทบทั้งหมดอยู่ในภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ มีการกระจายตัวไปหลากหลายรูปแบบ ความเชื่อมั่นในตัวเองสูงขึ้น สังเกตได้จากการสมัครและหางานด้วยตนเอง 

ด้วยความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น ความสามารถในการพัฒนาตัวเองสู่ภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ และการกระจายที่อยู่ออกตามที่ทำกิน จึงทำให้ความผูกพันในชุมชนแบบเดิมลดลง แต่เกิดเครือข่ายชุมชนแบบใหม่ขึ้นหลายระดับ ทั้งเครือข่ายความสัมพันธ์แนวระนาบในกลุ่มคนอาชีพเดียวกัน และความสัมพันธ์แนวตั้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ 

ในกรณีของการรวมกลุ่มเป็นชุมชนนั้น แต่เดิมนั้นสลัมเป็นพื้นที่ปิด มีเพียงผู้นำสลัมเท่านั้นที่เชื่อมต่อกับคนภายนอก และดึงเอางานเข้ามาให้คนด้านในได้ แต่ทันทีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของเมือง งานนอกระบบที่แยกย่อยทำให้สลัมไม่มีกำแพงกั้นอีกต่อไป ดังนั้นจึงมีการกระจายไปยังที่ต่างๆ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของเมือง เครือข่ายลักษณะใหม่นี้จึงเกิดขึ้น     

ผู้ประกอบการรายย่อยในภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดคุณลักษณะใหม่ซึ่ง ศ.ดร.อรรถจักร์ เลือกใช้คำว่า ‘ผู้ประกอบการรายย่อยในภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการในเมือง’ แทนที่คำว่า ‘คนจนเมือง’ เนื่องจากเดิมคำว่า ‘คนจนเมือง’ มีนัยของคนจนที่อยู่ในเมืองผู้ซึ่งรอรับการสงเคราะห์ ดังนั้นจำเป็นต้องเปลี่ยนมโนทัศน์ในการอธิบายคุณลักษณะของคนจนเมืองขึ้นใหม่ เปลี่ยนความหมายว่าคนจนไม่ใช่ผู้รอรับการสงเคราะห์อีกต่อไป แต่หากเป็นผู้สร้างสรรค์และยืนขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง 

คำเรียกใหม่นี้ถือเป็นการถอดรหัสหมาย (decoding) ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้เกิดการรับรู้ถึงความเป็นจริง และให้คนส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญของคนจนเมือง จึงจะสามารถนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค สร้างเมืองที่ยุติธรรม (just city) และสิทธิในการมีส่วนกำหนดการเปลี่ยนแปลงของเมือง (right to the city)  

หากทั้งสังคมเห็นตรงกันว่าคนจนเมืองคือผู้ประกอบการฯ จะสามารถกดดันภาครัฐได้ ไม่ใช่แค่เพียงรอการสงเคราะห์อย่างปัจจุบัน ให้รัฐเห็นถึงความสำคัญของคนจนเมือง ซึ่งสร้างมูลค่าการผลิตสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP อีกทั้งสัดส่วนแรงงานภาคการผลิตไม่เป็นทางการยังสูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ

“เขาไม่เคยถูกเห็นหัวเลย เพราะเขาเป็นคนจนเมือง แต่ถ้าเขาเป็นผู้ประกอบการ คุณต้องเห็นหัวเรา

“การเปลี่ยนความหมายของคนจนเมืองมาสู่ผู้ประกอบการรายย่อยจึงไม่ใช่แค่การเล่นคำ แต่หวังว่าจะเป็นการเริ่มต้นการเปลี่ยนความคิดของผู้คนในเมือง ที่จะมองเห็นความสัมพันธ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมชุดใหม่ ที่จะต้องตระหนักถึงความหมายของผู้ที่สร้างสรรค์ตัวเองในการทำงานเพื่อเลี้ยงเมืองมาโดยตลอด”

การเติบโตมาเป็นผู้ประกอบการฯ ของคนจนเมือง ส่วนหนึ่งมาจากศักยภาพของปัจเจกบุคคล แต่อีกส่วนหนึ่งคือความย้อนแย้งในตัวเองของอำนาจที่กำกับความเป็นเมือง 

เพราะในขณะที่รัฐไม่พึงประสงค์กับการมีอยู่ของภาคการผลิตไม่เป็นทางการ (เช่น ทัศนียภาพ การไล่รื้อชุมชนแออัด ฯลฯ) แต่ก็ยังใช้ประโยชน์จากภาคการผลิตไม่เป็นทางการที่หล่อเลี้ยงเมืองอยู่ ลักษณะความย้อนแย้งนี้จึงเปิดช่องให้คนจนเมืองสามารถใช้ชีวิตในเมือง สามารถยกระดับตัวเองขึ้นมาได้ และเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ระดับล่างหาผลประโยชน์จากความย้อนแย้งนี้ 

อย่างไรก็ตามความย้อนแย้งในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง และเพิ่มอำนาจรัฐในการเบียดขับมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการเบียดขับจากนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

“การต่อสู้ต่อรองของคนจนเมืองจำเป็นที่จะต้องทำให้คนอื่นๆ ในเมืองมองเห็นได้ว่า หากปล่อยให้การกำกับความเป็นเมืองขึ้นอยู่กับอำนาจรัฐ ชีวิตของคนทุกกลุ่มในเมืองจะประสบปัญหาความเดือดร้อน เพื่อให้คนทุกกลุ่มในเมืองตระหนักว่าหากไม่แบ่งปันและร่วมสร้างความเป็นเจ้าของเมืองร่วมกัน สังคมเมืองที่ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขจะเกิดขึ้นไม่ได้”

คนจนจากการพัฒนา

สมสุข บุญญะบัญชา ให้ความเห็นว่าพลวัตของการพัฒนาซึ่งให้ความสำคัญกับการคมนาคมที่สนับสนุนโดยธนาคารโลก ทำให้เกิดการสร้างถนนหนทางและเกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ของที่ดินครั้งใหญ่ ทั้งทางตรงคือการทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยเดิม และทางอ้อมคือราคาที่ดินแพงขึ้นกีดกันให้คนจนออกไปจากเมือง การใช้ประโยชน์จากที่ดินไปสู่ภาคทางการมากขึ้น นำมาสู่การไล่ที่ครั้งใหญ่ วิธีคิดและนโยบายลักษณะนี้สร้างคนจนเป็นจำนวนมาก 

เหตุของคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนจนเป็นสิ่งที่น่าศึกษา อาจเป็นเพราะพลวัตของขบวนการคนจน การเข้าถึงการศึกษา การเข้าถึงแหล่งทุน หรือการเกิดขึ้นขององค์กรที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่ม ซึ่งจะช่วยเปิดมิติการศึกษาที่แตกต่างอย่างมากกับงานศึกษาที่ผ่านมา 

นิยามของคนจนเมือง ความเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม การเป็นผู้บริโภค และการหลุดระบบ

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ มองว่าการนิยามคนจนยังไม่ชัดเจน และการศึกษาในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างคนจนกับพื้นที่ในแต่ละจุดชัดพอ อีกทั้งความเกี่ยวข้องระหว่างอาชญากรรมกับคนจนเมืองเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนา นอกจากนี้มิติเรื่องความเปราะบาง เข้าไม่ถึงทรัพยากรเป็นเงื่อนไขสำคัญของความจน

อีกประเด็นที่ ผศ.ดร.พิชญ์ สนใจคือคนจนให้คำนิยามตัวเองว่าอย่างไร และการที่คนจนมีรายได้มากขึ้นนั้น มีหนี้สินที่ซับซ้อนขึ้นด้วยหรือไม่ เนื่องจากมีทฤษฎี 2 สูง กล่าวคือยิ่งทำให้คนจนมีเงิน ก็จะมีการบริโภค เงินยิ่งไหลกลับเข้าระบบทุนนิยม คล้ายกับกรณีของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เงินไหลกลับเข้าสู่ทุนใหญ่ 

“คุณจะดูคนจนเป็นแค่ตัวแบกผลกระทบไม่ได้ว่ามันเกิดการพัฒนาแล้วจึงเกิดคนจน คนจนเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตั้งแต่ต้น นั่นคือคนจนไม่ใช่แค่ผล แต่คือเหตุด้วย ถ้าไม่มีคนจนก็ไม่มีเมือง มันคือกระบวนการตั้งต้นเลย มันไม่ใช่ผลแต่คือเงื่อนไขของการพัฒนา เหมือนที่คุณเข้าใจทุนนิยมน่ะว่าการขูดรีดเป็นต้นเหตุของความมั่งคั่ง ไม่ใช่ผลจากความมั่งคั่งนะ เพราะมันขูดรีด มันจึงเกิดความมั่งคั่ง ดังนั้นกระบวนการขูดรีด เอาเปรียบในเมือง มันจึงเป็นเหตุที่ทำให้เกิดเมือง”

คำถามสำคัญต่อมาคือในเมืองไทยมีคนจนหลุดระบบ (underclass) เกิดขึ้นหรือไม่ อยู่ที่ไหน และอะไรคือเงื่อนไขที่ทำให้หลุดระบบ นอกจากนี้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาเป็นเงื่อนไขใหม่ที่ทำให้เมืองอยู่ได้ คนกลุ่มนี้มีระบบรองรับหรือไม่ 

ออกจากกับดัก หาตัวอย่างที่ไม่ใช่ตัวแทน

ผศ.ดร.นลินี ตันธุวนิตย์ ให้ความเห็นว่าตัวเลขจากการสำรวจแม้จะช่วยให้เห็นทิศทางที่น่าสนใจแต่มีข้อควรระวัง เช่น ที่อยู่อาศัยที่มั่นคงขึ้นอาจเป็นเพราะวัสดุไม้อย่างเดิมนั้นหายากขึ้นในปัจจุบันจึงต้องใช้ปูน 

งานวิจัยนำเสนอผ่าน 2 แกน คือ หนึ่ง การสังเกตผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อคนจนจากแผนพัฒนาของรัฐที่ล้มเหลว ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่และมีการศึกษาในลักษณะนี้มากแล้วในอดีต อีกแกนหนึ่งคือการใช้สถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (disruption) เช่น วิกฤติโรคระบาด อันทำให้เห็นศักยภาพของคนยากจนในการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่ง ผศ.ดร.นลินี มองว่าสำคัญไม่น้อยกว่าแกนแรก 

การเปลี่ยนมาใช้คำว่า ‘ผู้ประกอบการรายย่อยในภาคการผลิตไม่เป็นทางการ’ เป็นประเด็นต่อสู้ที่น่าสนใจ แต่อาจทำให้เกิดกับดักที่เคยเกิดขึ้นแล้ว อย่างนโยบายการพัฒนาที่ผิดที่ผิดทาง เพราะยังมีคนจนอีกหลายกรณีที่ไม่สามารถเป็นผู้ประกอบการรายย่อยได้ ดังนั้นงานวิจัยชิ้นนี้ควรสร้างภาพที่หลากหลายแทนที่จะสร้างภาพใหญ่ และมุ่งหาตัวอย่างมากกว่าที่จะมุ่งหาตัวแทน 


ที่มา:

Author

ศุภวิชญ์ สันทัดการ
นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชื่อดังแถบรังสิต เป็นคนหนุ่มที่ฟังเพลงน้อยแต่อ่านมาก โดยเฉพาะการผจญภัยในสวนอักษรของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ด้วยคุณงามความดีเช่นนี้จึงมีเสียงชื่นชมบ่อยๆ ว่าเป็นพวกตกยุค

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า