แปลกแต่จริง ตำนานปราบผีสุดพิลึกในแดนอุษาคเนย์

ภูเขา ป่าทึบ ดงกล้วย ตอนกลางวันอาจเป็นสถานที่หย่อนใจ แต่ตกดึกเมื่อไหร่อาจกลายเป็นแหล่งรวมสิ่งลี้ลับชวนขนหัวลุก แน่นอนว่าแม้ผีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ้านเราจะไม่ได้มาให้เห็นแบบเป็นตัวเป็นตนเหมือนผีฝรั่ง แต่การขับไล่วิญญาณร้ายของชาวอุษาคเนย์ก็สร้างสรรค์มากกว่าแค่เชิญบาทหลวงมาทำพิธี

ว่ากันว่าโลกคนเป็นและคนตายซ้อนทับกันตามหลักความเชื่อดั้งเดิม ทุกที่ล้วนมีผี และบ่อยครั้งก็เป็นผีร้ายที่จ้องจะข้ามภพเข้ามาทำเรื่องปั่นป่วนจนกลายเป็นตำนานเล่าขานชั่วลูกชั่วหลาน ด้วยเหตุนี้ WAY จึงอยากพาไปสำรวจวิธีการขับไล่ภูติผีสไตล์อาเซียน ว่าบรรพบุรุษของพวกเรารับมือกับเรื่องลี้ลับอย่างไร ตั้งแต่วิธีการแปลกๆ อย่างการใช้เกลือเทใส่ ไปจนถึงการยิงถล่มด้วยปืนใหญ่แบบสุลต่านอินโดนีเซีย

ตำนานปราบผีเหล่านี้ไม่เพียงเป็นแค่เรื่องเล่าที่สืบต่อกันมาโดยเปล่าประโยชน์ แต่อาจสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในความสามารถของมนุษย์ ที่แม้ว่าเรา ‘อาจจะ’ สร้างเรื่องราวลี้ลับที่น่าขนลุกขึ้นมาได้ แต่มนุษย์ก็ยังสามารถหลบเลี่ยง กำราบ และใช้งานพวกมันได้ตามแต่โอกาส โดยเฉพาะฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เต็มไปด้วยความผูกพันระหว่างชุมชนคนเป็นและชุมชนคนตายมาเสมอ

ถล่มผีด้วยปืนใหญ่ ไอเดียสุลต่านอินโดนีเซีย

การ ‘บู๊’ กับผีในหนังหลายเรื่องมักต้องทำผ่านผู้เชี่ยวชาญคุณไสย์ มีดลงอาคม หรือน้ำมนต์พร้อมบทสวดหลายท่อน ทว่าสิ่งที่ ชารีฟ อับดูราฮิม (Syarif Abdurrahim) สุลต่านคนแรกของเมืองปนตียานัก (Pontianak) แห่งกาลีมันตันตะวันตก (Kalimatan) ประเทศอินโดนีเซีย ตัดสินใจทำคือ การเอาปืนใหญ่มายิงต่อสู้เสียอย่างนั้น! 

ย้อนกลับไปในช่วง ค.ศ. 1771 บริเวณริมแม่น้ำสายสำคัญอย่างกาปูวัซ (Kapuas) เป็นดินแดนที่สุลต่านชารีฟเข้าไปตั้งรกราก โดยบริเวณดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญทางภูมิศาสตร์การเมืองสูง เนื่องจากถูกใช้สำหรับขนส่งสินค้าภายในประเทศ รวมถึงการสร้างฐานที่มั่นสำหรับจัดการกลุ่มโจรสลัดที่มักออกปล้นตามแม่น้ำอยู่เนืองๆ แน่นอนว่าสุลต่านและกำลังคนมากมายที่แล่นเรือเข้ามาพร้อมรบกับโจรสลัดเต็มกำลัง แต่คิดไม่ถึงว่าศัตรูที่แท้จริงของบริเวณนี้คือผีร้ายจอมดูดเลือดที่ชื่อว่า ‘กุนตีลานัก’ (Kuntilanak) 

ผีกุนตีลานัก ถูกบรรยายว่าเป็นผีผู้หญิงผมยาวในชุดสีขาว อาหารโปรดคือเลือดสดๆ ของผู้ชาย รวมไปถึงผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ตำนานระบุว่าผีชนิดนี้มักอาศัยอยู่ตามต้นไม้ ซึ่งทำให้บริเวณนี้เหมาะสมมากสำหรับการสิงสู่ เนื่องจากเต็มไปด้วยป่าและบึง จนแม้แต่คำว่า ‘Pontianak’ บางแห่งก็แปลได้ว่า ‘ต้นไม้สูง’ ทำให้เมื่อเรือของสุลต่านมาถึง คณะเดินทางก็ถูกหลอกหลอนกันอย่างพร้อมหน้า เรื่องเล่าจากหนังสือ Pontianak heritage dan beberapa yang berciri khas Pontianak ระบุว่า มีเสียงแปลกประหลาดและน่าหวาดกลัวเมื่อพวกเขามาถึง รวมไปถึงการหลอกหลอนลูกเรือในคืนแรก จนทำให้คณะเดินทางไม่กล้าเดินทางต่อ

ดังนั้นสุลต่านชารีฟจึงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า (และคาดว่าเพื่อปลุกขวัญกำลังใจลูกน้อง) ด้วยการเข็ญปืนใหญ่ออกมายิงจนเหล่าผีดูดเลือดจนต้องย้ายถิ่นไปอยู่ที่อื่น ปัจจุบันยังมีการจัดแสดงปืนใหญ่ไว้ที่ริมแม่น้ำเมืองปนตียานักอยู่ และยังถูกใช้ยิงในงานระลึกถึงเหตุการณ์การก่อตั้งเมืองอีกด้วย ความน่าสนใจอยู่ที่ว่าแม้บางช่วงปืนใหญ่กระบอกนี้จะหายไปพร้อมการสั่งห้ามการระลึกถึงเหตุการณ์นี้อีก ทว่าประชาชนก็พร้อมใจกันนำปืนใหญ่กระบอกใหม่มาตั้งที่เดิมอีกครั้งในหลายปีต่อมา

หลอกผีไปกินหมา เรื่องเล่าจากหมู่บ้านเมียนมา

แทบทุกภูมิภาคบนโลกมีเรื่องเล่า ‘เค้าลางของความตาย’ เสมอ เช่น เกาะอังกฤษอาจเชื่อว่าหากสุนัขสีดำมรณะจะนำความตายมาให้ ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างเมียนมาเองก็เช่นกัน โดยมีผีชนิดหนึ่งจากป่าช้าที่เรียกว่า ‘Ma Phae Wah’ เป็นนัยยะของความตาย ชนิดที่ว่าหากผีตนนี้เดินถึงบ้านใครก็รับรองได้ว่ามีอันเป็นไปอย่างแน่นอน ทว่าพวกเขาเองก็คิดค้นวิธีรับมือผีชนิดนี้ได้อย่างน่าทึ่งเช่นเดียวกัน

ความเชื่อเรื่องผีในเมียนมานั้นจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Nat’ ที่คล้ายเคียงกับความหมายว่า ‘ผี’ แบบกว้างของไทย โดยจะมี Nat ใหญ่อยู่ 37 ตนที่เคยเป็นมนุษย์มาก่อน แต่เสียชีวิตจากการตายอย่างน่าสยดสยอง (ตายโหง) ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งจะเป็น Nat ที่มีตัวตนอยู่แล้วตามธรรมชาติ ซึ่ง Ma Phae Wah ถูกจัดเอาไว้เป็น Nat ประจำป่าช้าและหลุมฝังศพ โดยมีลักษณะเป็นผู้หญิงผมยาวที่แบกโลงศพเอาไว้เหนือศีรษะ (บ้างก็ว่าบ่า) คอยเดินออกจากสุสานยามเที่ยงคืนเพื่อนำโลงศพไปวางที่ประตูหน้าบ้านผู้โชคร้าย ซึ่งต่อมาบ้านหลังนั้นมักมีผู้เสียชีวิตแทบจะเสมอ ส่วนมากมักเป็นเด็กวัยเยาว์

ช่วงทศวรรษ 1990 ปรากฏว่า Ma Phae Wah ได้ไปเข้าฝันพระรูปหนึ่งในรัฐกะเหรี่ยง (Kayin State) ที่มีชั้นยศถึงระดับพระอาจารย์ใหญ่ (Sayadaw) ว่าตนต้องการที่จะกินเนื้อของเด็ก พระรูปดังกล่าวจึงแนะนำกับผีว่าให้ไปกินสุนัขแทนเสีย หลังจากเล่าเรื่องทั้งหมดให้ชาวบ้านในพื้นที่ฟัง หลายบ้านที่เพิ่งมีลูกเล็กจึงต่างพากันนำป้ายที่มีข้อความว่า “เนื้อลูกเราขมมาก แต่เนื้อสุนัขหวานสุดๆ” แปะไว้ตามหน้าบ้าน อย่างน้อยก็เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของ Ma Phae Wah ไปที่สุนัขมากกว่าเด็กเล็ก 

ไม่มีรายงานต่อยอดจากเรื่องเล่าดังกล่าวว่าจำนวนสุนัขในพื้นที่ลดไปมากน้อยแค่ไหน แต่ด้วยความหวาดกลัวก็ทำให้คนในพื้นที่คาดหวังว่า Ma Phae Wah จะเป็นผีที่เชื่อคนง่าย ป้ายเขียนว่าเช่นไร ผีก็คงจะว่าเช่นนั้น

โรยเกลือและกระเทียม วิธีปราบกระสือฉบับฟิลิปปินส์

เกลือมักเป็นของศักดิ์สิทธิ์ในการป้องกันความชั่วร้ายของชาวตะวันตก ขณะเดียวกันกระเทียมก็ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นของแก้เผ็ดผีดูดเลือดฉบับคลาสสิก อย่างไรก็ตาม สองสิ่งนี้ก็ถือว่าทรงพลังอย่างมากเช่นเดียวกันในฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะเมื่อต้องต่อกรกับผีดูดเลือดลิ้นยาวมีปีก แถมมีลำตัวแค่ครึ่งบนคอยบินล่าเหยื่อ!

ผีที่ดูออกไปในเชิงอสูรกายตนนี้ถูกเรียกว่า ‘Manananggals’ โดยพวกมันจะแฝงกายอยู่กับสังคมมนุษย์ในลักษณะของผู้หญิงรูปงาม ทว่าในยามวิกาลเธอจะหาที่ลับตาคน ก่อนจะถอดร่างกายเหลือเพียงท่อนบนที่มีปีกงอกคล้ายค้างคาว ออกบินหากินตลอดคืนโดยมีเหยื่อรายโปรดคือหญิงตั้งครรภ์และคนหลับลึก วิธีล่าเหยื่อของเธอคือการใช้ลิ้นที่มีลักษณะยาวเหมือนท่อในการดูดเลือด เครื่องใน และทารกในครรภ์ของเหยื่ออย่างน่าสยดสยอง

photo: https://stoicaswang.wordpress.com

การสังเกตว่า Manananggals อยู่ใกล้ตัวหรือไม่ ให้สังเกตนก ‘tiktik’ ที่มักบินมาด้วยกันกับเธอ หากเสียงกระพือปีกดังขึ้น แปลว่าเธออยู่ไกล แต่หากเสียงเบาจนถึงเงียบสงัด แปลว่าเธออยู่ใกล้กว่าที่คิด วิธีป้องกันอย่างแรกคือการนำถ้วยใส่ข้าวสาร ขี้เถ้า หรือเกลือ ไปวางไว้บนหลังคาบ้าน เมื่อเธอบินมาเกาะที่หลังคาแล้วพบสิ่งเหล่านี้ก็อาจจะตัดสินใจบินไปบ้านหลังอื่นแทน 

ส่วนวิธีจัดการเธอขั้นเด็ดขาด คือการตามหาครึ่งท่อนล่างของเธอให้พบ ก่อนจะนำเกลือหรือกระเทียมป่นละเอียดโรยใส่ให้ทั่วร่าง เมื่อครึ่งท่อนบนบินกลับมาก็จะไม่สามารถรวมเข้ากับร่างเดิมได้ และถูกแสงอาทิตย์แผดเผาตายในเช้าวันรุ่งขึ้น

หากพูดอย่างง่าย Manananggals คือตำนานที่ใกล้เคียงกับผีกระสือของไทย (และผีอีกชนิดในอินโดนีเซียกับมาเลเซีย) ซึ่งก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องเล่าของ Manananggals ถูกบิดเบือนโดยเจ้าอาณานิคมชาวสเปนในช่วงที่ปกครองฟิลิปปินส์อยู่หรือไม่ เนื่องจากรูปลักษณ์ปีกค้างคาวถือว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายตามแนวคิดของศาสนาคริสต์ ขณะเดียวกันก็สร้างภาพของผู้หญิงที่สวย มีเสน่ห์ และมีอิสระ ให้เป็นผู้ที่ต้องคอยถูกตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากในอดีตผู้หญิงภูมิภาคนี้มีความอิสระทางเพศมากกว่าผู้หญิงในยุโรป ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้แก่นักล่าอาณานิคมพอสมควร

อย่างไรก็ตาม เรื่องเล่าเช่นนี้ทำให้ Manananggals กลายเป็นผีที่มีลักษณะเหมือนผีในภูมิภาคตนอื่นๆ แต่กลับมีจุดอ่อนที่ ‘อินเตอร์’ กว่าใครเพื่อน 

เกณฑ์ผีมาช่วยรบ ยุทธศาสตร์หลังความตายของเจ้าเมืองเขมร

อาเซียนเป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยสงครามและการฆ่าฟัน ซึ่งสามารถย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยรัฐชาติยังไม่ถือกำเนิด และคำว่า ‘ไทย’ ยังไม่ใช่ความหมายเดียวกันกับที่เราเข้าใจ สมัยนั้นก็ได้มีการผูกให้ผีท้องถิ่นมาอยู่ใต้อาณัติ จนถึงขนาดเกณฑ์เป็นไพร่พลไปช่วยรบก็มีมาแล้ว

ในงานรวบรวมตำนานและนิทานพื้นบ้านของคณะที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรมเขมร สถาบันพุทธศาสนบัณฑิตแห่งประเทศเขมร ชื่อว่า ‘ปรอจุม เรืองเพรง แขมร์’ (ប្រជុំររឿងរប្េងខ្មែ រ) ภาคที่ 8 ได้ระบุถึงตำนานของออกญาสวรรคโลก (เมือง) ที่กลายเป็น ‘นักตา’ ตนหนึ่งของเมืองโพธิสัตว์ นามว่า ‘นักตาคลังเมือง’ (เนียะก์ตาเฆลียงเมือง) มีความดีความชอบคือครั้งสมัยยังเป็นมนุษย์สามารถปกป้องเมืองโพธิสัตว์และอาณาจักรเขมรจากการรุกรานของสยามไว้ได้ด้วยกองทัพ ‘ผีขโมด’ (บางตำราก็กล่าวว่าเป็นสงครามระหว่างเจ้าพญาจันทราชากับพระเสด็จกอน ซึ่งยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้)

คำว่าผีขโมดในภาษาไทยก็ได้รับมาจากภาษาเขมรอีกต่อหนึ่ง โดยหมายถึงผีที่ไม่มีรูปร่างแน่ชัด แต่บ่อยครั้งมักปรากฏในลักษณะของดวงไฟวิญญาณเหนือหนองน้ำ วิธีการหลอกของผีชนิดนี้มักเป็นการหลอกให้นักเดินทางยามวิกาลหลงคิดว่าเข้าใกล้บ้านคนหรือใกล้คบไฟชุมชนแล้ว แต่เมื่อเดินเข้าใกล้ ไฟก็จะดับไปและไปโผล่ที่อื่นซึ่งไกลออกไป ยิ่งทำให้นักเดินทางหลงออกนอกเส้นทางเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ในตำนานของนักตาคลังเมืองนี้ ผีขโมดกลับถูกนำมาใช้ในการสงครามมากกว่าจะเป็นเพียงแค่ลูกไฟไร้พิษสง

บทความ ‘จากแม่ทัพต่อต้านสยาม สู่เทพารักษ์นักตา ประจำเมืองโพธิสัตว์’ ของ ศานติ ภักดีคำ ได้แปลความตอนหนึ่งโดยมีใจความสำคัญว่า เมื่อเกิดสงครามกับสยาม และอาณาจักรเขมรกำลังถูกรุกคืบเข้ามาโจมตี เจ้าเมืองเขมรได้จัดประชุมกับเหล่าเสนาบดีเพื่อหากลยุทธ์ในการรบ โดยเฉพาะเมื่อไพร่พลและยุทโธปกรณ์เมืองเขมรไม่พร้อมจะตั้งรับ ความพ่ายแพ้ที่จะเกิดขึ้นอาจหมายถึงการสิ้นอาณาจักร เวลานั้นเสนาเมืองจึงได้รับพระราชโองการออกไปตั้งรับการบุกของสยาม โดยสั่งไพร่พลให้ขุดหลุมขนาด 4 เมตร 4 มุม ลึก 4 เมตร พร้อมปักศาสตราวุธหลายชนิดลงในหลุมดังกล่าว

จากนั้นจึงฝากฝังการศึกเอาไว้แก่บรรดาคนสนิท ก่อนที่ตนจะกระโดดลงไปในหลุมจนเสียชีวิตพร้อมครอบครัว เพื่อที่จะข้ามไปยังอีกภพ และจะกลับมาพร้อมกองทัพผีขโมดเพื่อต่อสู้กับสยามภายใน 7 วัน ซึ่งตามบันทึกได้ระบุต่อมาว่า 7 วันให้หลัง มีเสียงโห่ร้องและกลองรบปริศนาอึกทึกครึกโครม สยามซึ่งตีทัพมาถึงพระตะบองแล้ว แต่กลับถูกผีขโมดสำแดงฤทธิ์ พากันหน้ามืด อาเจียน เสียเรี่ยวแรงจนถูกทัพเขมรบุกตามมาฆ่าตายแทบสิ้น เมื่อเห็นภาพดังนั้นสยามจึงถูกสั่งให้ถอยทัพกลับเมืองหลวงในทันที

การรบในครั้งนั้นยังระบุอีกด้วยว่า ผู้ที่นำทัพเข้าเข่นฆ่าทัพสยามที่ถูกผีขโมดเล่นงานก่อนแล้วทั้งทัพ คือ พระชัยอัศจรรย์ ซึ่งต่อมาจะได้เสวยราชสมบัติเป็นพระชัยเจษฎา พระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี และจัดให้มีพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลต่อเสนาเมือง จนกลายเป็นธรรมเนียม ‘งานขึ้นนักตาคลังเมือง’ จนถึงปัจจุบัน

เรื่องเล่าดังกล่าวก็เป็นอีกหนึ่งตำนานที่ระบุถึงชัยชนะของมนุษย์ต่อผี และพลังเหนือธรรมชาติที่ทำให้ผู้ได้ยินเกิดความฮึกเหิม เข้มแข็ง และมั่นใจในความสามารถของมนุษย์มากขึ้น ไม่ว่าผี วิญญาณ เรื่องลี้ลับใดหากต้องเผชิญหน้ากับภูมิปัญญาของมนุษย์แล้ว ก็เชื่อว่าจะสามารถยิงถล่ม หลอกล่อ แก้เผ็ด ไปจนถึงใช้งานสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ และหาประโยชน์จากมันได้อย่างสม่ำเสมอตลอดหน้าประวัติศาสตร์

ที่มา

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า