“ก็ ‘กิ๊ก’ นี่คะ”: สำรวจชีวิตคนงานหญิงบนแอพฯ ในยุคข้าวยากหมากแพง ค่าแรงรายชิ้น

คำว่า ‘แรงงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์’ ยังไม่คุ้นหูสำหรับคนไทยมากเท่าใด คำว่า ‘คนงานกิ๊ก’ (gig worker) ก็ไม่คุ้นหูมากเท่านั้น อาชีพใหม่ที่ผุดขึ้นมา เช่น ไรเดอร์ส่งอาหาร แม่บ้านเดลิเวอรี ช่างซ่อม เธอราพิสต์นวดที่ทำงานผ่านแอพพลิเคชั่น ฯลฯ จึงถูกเรียก (และคนงานเองก็เรียกตัวเอง) ด้วยคำว่า ‘คนงานฟรีแลนซ์’ ซึ่งเป็นคำที่ติดปากผู้คนมาแต่เดิมแทน

แต่ถึงแม้จะมีสภาพการทำงานคล้ายๆ กัน คนงานฟรีแลนซ์กับคนงานกิ๊กก็ไม่ใช่กลุ่มเดียวกันอยู่ดี ความต่างเรื่องเวลาและสถานที่การทำงานทำให้คนงานกิ๊กถูกมอบฉายาใหม่เป็น ‘กรรมกรออนไลน์’ ที่ทำงานในระยะเวลาสั้นๆ แลกกับค่าแรงรายชิ้น

ปัจจุบัน การจ้างงานบนเศรษฐกิจใหม่ไม่ได้จำกัดอยู่ในธุรกิจขนส่งที่มักมีแต่คนงานชายอีกต่อไป งานบริการตามหน้าร้านหลายอย่างที่ผันตัวเองมาอยู่บนโลกออนไลน์จึงทำให้คนงานหญิงมีบทบาทเด่นขึ้นไปด้วย

และนี่คือชีวิตอันเฉพาะตัวของคนงานกิ๊กหญิงที่ทำงานด้านการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ให้แก่ลูกค้านับร้อย ในขณะเดียวกันเมื่อถามถึงสุขภาพและความเป็นอยู่ของพวกเธอเองบ้าง พวกเธอกลับหัวเราะยอมรับสภาพการจ้างเท่าที่เป็นอยู่ พร้อมตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าก็เพราะพวกเธอ “เป็น (คนงาน) กิ๊กนี่คะ”

‘กิ๊กหญิง’ คนงานด้านการดูแลแห่งยุคสมัย

นวด ทำความสะอาด และงานเลี้ยงเด็กหรือดูแลผู้สูงอายุตามบ้าน คือธุรกิจที่เริ่มเติบโตอย่างเงียบๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และตามเมืองขนาดใหญ่ในประเทศไทยได้ราว 2-3 ปีที่แล้ว จากนั้นก็พลิกมามีบทบาทเด่นในยุคการระบาดของโรค COVID-19 เมื่อการล็อคดาวน์ประเทศและประกาศปิดร้านค้า-สถานบริการบางประเภทไม่สามารถล็อคดาวน์ความต้องการของผู้บริโภคที่นั่งรออยู่ที่บ้านได้ งานบริการเดลิเวอรีจึงได้รับความนิยมอย่างมาก

กร (นามสมมุติ) คือพนักงานนวดเดลิเวอรีวัยราว 40 ที่ผันตัวเองจากอาชีพพนักงานบริษัทมาชิมลางอาชีพหมอนวดอิสระหลังจากหย่าขาดกับอดีตสามี ทีแรกเธอใช้วิธีฝากเบอร์ติดต่อไว้ตามร้านต่างๆ เพื่อให้ร้านโทรเรียกเวลามีลูกค้าเยอะล้นมือหมอนวดประจำ

“การเป็น ‘หมอวิ่ง’ หรือหมออิสระตามร้านนวด เราจะได้เงินเดือนกับคอมมิชชั่น 10 เปอร์เซ็นต์ จะคอยนวดลูกค้าในร้านและลูกค้าตามบ้านแล้วแต่ว่าลูกค้าจะโทรแจ้งร้านว่าให้เราไปนวดที่ไหน แต่เมื่อต้องวิ่งไปนวดให้ลูกค้านอกสถานที่เราไม่ได้เงินเพิ่มเลย ซ้ำยังเสียโอกาสในการเข้าคิวนวดในร้านด้วย กว่าเราจะนวดเสร็จ เดินทางกลับมาที่ร้าน คิวของเราก็อาจถูกข้ามไปแล้ว”

กรจึงย้ายงานอีกรอบมาสมัครเป็นคนงานรายชิ้นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ บนตลาดงานที่มีตัวเลือกเจ้าใหญ่หลายแห่ง เช่น WongNai Massage at Home, MyTHERAS สุดท้ายกรเลือกสมัครงานกับแพลตฟอร์ม Or’Ease เธอให้เหตุผลว่างานออนไลน์ให้ค่าตอบแทนต่อชั่วโมงมากกว่า และทำให้เธอมีเวลาดูแลลูกสาววัยรุ่นได้ถนัดถนี่กว่าเมื่อทำงานที่ร้าน

“เมื่อก่อนเราต้องสแตนด์บายอยู่ที่ร้านตั้งแต่เช้าจนดึก กว่าจะกลับบ้านลูกก็เข้านอนไปแล้ว ต่างกับการทำงานออนไลน์ เราทำงานไม่กี่ชั่วโมงก็ได้ค่าแรงพอๆ กับอยู่ร้านทั้งวัน”

กรเปรียบเทียบว่างานเดิมแม้จะมั่นคงกว่าเพราะมีค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนไม่รวมคอมมิชชั่น แต่กับงานใหม่ ถ้าเธอใช้ความขยันเข้าสู้ รายได้ต่อเดือนอาจแตะถึง 30,000 บาท

“ลูกค้าก็สะดวกขึ้นด้วย ไม่ต้องขับรถไปถึงร้านก็ได้ใช้บริการ มีทั้งนวดไทย นวดเท้า นวดคอบ่าไหล่ สารพัดจะนวดในราคาที่สูงกว่าหน้าร้านอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเพราะเราเป็นคนเตรียมทุกอย่างให้เสร็จสรรพ แม้แต่เบาะนวดที่ใช้รองนอนหรือลำโพงเปิดเพลงเหมือนร้านสปาเราก็มีให้” กรกล่าว

บริการดูแลในโลกยุคใหม่ไม่ได้มีเพียงการนวดถึงบ้านเท่านั้น นิว (นามสมมุติ) คือแม่บ้านทำความสะอาดที่รับงานผ่านแอพพลิเคชั่นมาแล้วหลายแห่ง ทั้ง Seekster, KnockDoor, แม่บ้านออนไลน์ ฯลฯ เธอเล่าพื้นเพว่าเดิมทำงานในโรงงาน แต่เมื่อมองเห็นว่าค่าตอบแทนที่ใหม่สูงกว่าและเป็นอิสระมากกว่า เธอจึงกระโดดเข้ามาเป็นแม่บ้านบนแพลตฟอร์มออนไลน์

“คนอื่นบอกว่าเราเป็น ‘แม่บ้านไฮโซ’” นิวเล่าไปหัวเราะไป “เราไม่ต้องประจำตามอาคาร เราอยู่บ้าน รอดูงาน แล้วเดินทางตามจีพีเอสก็จบ”

พนักงานหญิงทำความสะอาดเฉลี่ยมีอายุไม่มากเท่าเหล่าเธอราพิสต์ ส่วนมากพอจะคุ้นเคยกับเทคโนโลยีอยู่บ้าง รวมถึงตลาดงานทำความสะอาดเติบโตกว่าธุรกิจนวด แพลตฟอร์มต่างๆ จึงทุ่มทุนให้กับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการกดรับงานให้อยู่ในแอพพลิเคชั่นเต็มรูปแบบบนมือถือโดยไม่ต้องอาศัยโซเชียลมีเดียเดิมอย่างไลน์บอท บนหน้าแอพฯ มีช่องงานที่เข้ามาใหม่ งานที่กดได้ และโปรไฟล์ของแม่บ้านแบ่งกันไว้คนละหน้าอย่างเป็นระเบียบ

นิวเปิดงานที่เธอกดได้ให้ดู มีทั้งงานรายชิ้นที่ทำครั้งเดียวจบกันไป และงานทำความสะอาดประจำหรือที่เรียกว่า ‘งานแพ็คเกจ’ ซึ่งหมายถึงงานที่กดรับครั้งเดียว ได้ทำประจำทุกสัปดาห์หรือเดือนตามวันที่กำหนดไว้เป็นรอบๆ โดยได้ค่าตอบแทนแบบเหมาทั้งช่วงเวลา ประเภทของงานมีหลากหลาย ทั้งงานทำความสะอาดเฉพาะออฟฟิศทำงาน ห้องนอน ห้องครัว ห้องน้ำ ไปจนถึงเหมาซักผ้า รีดผ้าให้ด้วย แต่ละอย่างมีค่าบริการต่างกันไปขึ้นอยู่กับงานและชั่วโมงที่ลูกค้าสั่งจอง ค่าบริการทำความสะอาดตกชั่วโมงละ 200-300 บาท

เงินดี เสี่ยงภัย ไร้มาตรการป้องกัน

การเป็น ‘คนงานออนไลน์’ ต่างจากการทำงานยุคดั้งเดิมที่ไม่มีเทคโนโลยีมากั้นกลาง กรและนิวต่างต้องกดเริ่มและจบงานในไลน์บอทตามระบบที่บริษัทวางเอาไว้ อาศัยจีพีเอสในการเดินทาง และแทนที่จะมีเจ้าของร้านเป็นผู้ดูแล เธอมีแอดมินที่คอยติดต่อถามไถ่กันทางไลน์เป็นผู้ช่วยแทน ที่สำคัญงานใหม่นี้ให้ค่าตอบแทนสูงกว่างานแบบออฟไลน์ เพียงทำงานวันละ 2-3 ชั่วโมงก็อาจได้ค่าตอบแทนมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำทั้งวันแล้ว

กรเล่าว่างานใหม่เปลี่ยนวิถีการทำงานของเธอไปพอสมควร เช่น เธอต้องกลายเป็นคนเตรียมอุปกรณ์การทำงานเอง ทั้งเบาะนวด น้ำมัน ลูกประคบ ผ้าขนหนู ต้องวางแผนการเดินทางเองเพื่อให้ไปถึงบ้านลูกค้าได้ทันเวลาในต้นทุนที่ต่ำที่สุด และต้องกำโทรศัพท์มือถือไว้ในมือแทบจะตลอดเวลาเพื่อรอกดรับงาน

“เหมือนกดแย่งงานกันมากกว่า (หัวเราะ) เราเป็นหมอนวดไม่ประจำก็ต้องสแตนด์บายมือถือไว้ใกล้ตัวตลอด” กรว่า

เมื่อได้งานแล้ว เธอมีหน้าที่หอบกระเป๋าอุปกรณ์ขึ้นควบรถมอเตอร์ไซค์ส่วนตัวเดินทางไปยังบ้านลูกค้าภายในเวลา 1-2 ชั่วโมง ถ่ายรูปหน้าบ้านลูกค้าเพื่อรายงานแอดมินในระบบว่ามาถึงแล้ว จากนั้นกล่าวทักทายลูกค้าตามขั้นตอนที่บริษัทแนะนำมา เตรียมอุปกรณ์จากกระเป๋าออกมากาง แล้วเริ่มนวดตามจำนวนชั่วโมงที่ลูกค้าสั่งจอง จากนั้นจึงถึงเวลาเดินทางกลับบ้าน แล้วรอรับรายได้ที่จะเข้าสู่ระบบวอลเล็ต (กระเป๋าเงินในไลน์บอท) ที่เธอจะสามารถกดออกมาใช้ได้ในอีก 1 อาทิตย์ข้างหน้า พร้อมหักค่าธรรมเนียมการกดเงินอีก 15-25 บาท สุทธิแล้วงานหนึ่งเธอได้ราวชั่วโมงละ 250 บาท ต่างจากงานหน้าร้านที่อาจจะได้เพียง 100-150 บาท

แม้ค่าตอบแทนรายชั่วโมงจะสูงกว่างานหน้าร้าน แต่เมื่อคำนวณดูแล้ว กรยอมรับว่าเธอและเพื่อนๆ ร่วมอาชีพอาจ ‘ขาดทุน’ จากการต้องเจียดเงินไปจ่ายเป็นค่าเครดิต (ปัจจุบัน Or’Ease ยกเลิกระบบหักเครดิตแล้ว และเปลี่ยนเป็นการหัก 30 เปอร์เซ็นต์ จากงานที่ทำได้แต่ละชิ้นแล้วจ่ายเป็นรอบสัปดาห์แทน) ค่าอุปกรณ์การทำงาน และค่าเดินทาง โดยเฉพาะงานเร่งรีบที่ลูกค้าต้องการให้ไปถึงภายใน 30-60 นาที หรืองานดึกที่เสร็จไม่ทันรถสาธารณะเที่ยวสุดท้าย จนต้องใช้บริการแท็กซี่กลับบ้านเอง

นิวบอกว่าปกติเธอเดินทางด้วยรถเมล์เป็นหลักจนจำได้ขึ้นใจว่าหากต้องการไปสถานที่หนึ่งๆ ควรขึ้นรถเมล์สายอะไร เธอจะเผื่อเวลารอรถอย่างน้อย 30 นาทีไม่รวมเวลาเดินทาง แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกงานจะมีเวลาเดินทางเหลือเฟือจนนั่งรถเมล์ได้

“บางทีต้องนั่งวินมอเตอร์ไซค์ไป ขับเร็วมากก็ต้องยอม ให้ไปให้ทัน ไม่อย่างนั้นอาจถูกลูกค้าร้องเรียนมาทางแอดมิน” นิวว่า

ความเสี่ยงอีกอย่างที่คนงานหญิงต้องแบกรับเองคือความปลอดภัยต่อชีวิตและร่างกาย ในฐานะแม่บ้าน นิวพูดติดตลกว่าตนเองอาจเป็นโรคเรื้อรังจากการสัมผัสน้ำยาทำความสะอาดบ่อยครั้ง หรืออาจเป็นโรคกระเพาะเพราะได้กินอาหารไม่ตรงเวลา พอมีงานเข้ามาก็อยากจะรีบทำให้เสร็จก่อนค่อยพักทีเดียว หลายครั้งมื้อเที่ยงของเธอจึงชะลอไปถึงตอนบ่ายแก่ๆ หรือได้กินเพียงขนมกับนมจากร้านสะดวกซื้อแบบรีบๆ ก่อนเคาะประตูสวัสดีลูกค้า

“บริษัทชอบบอกว่าให้ลองใช้น้ำยาซันไลต์ไปก่อน เป็นการถนอมพื้นผิวบ้านลูกค้า แต่ใครก็รู้ว่ามันขัดไม่ออกหรอก เราเลยใช้น้ำยาเป็ด (น้ำยาล้างห้องน้ำยี่ห้อเป็ดโปร) ไวดี งานเร่งๆ 2-3 ชั่วโมงกับบ้านทั้งหลังไม่มีใครมาบรรจงขัดด้วยน้ำยาล้างจานหรอกค่ะ มันไม่ทัน แต่น้ำยาเป็ดก็เหม็น ดมนานๆ คงป่วย” นิวบ่น

ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบัน COVID-19 ‘ระลอกใหม่’ ทำให้นิวและเพื่อนๆ ถูกลูกค้ายกเลิกงานไม่มีกำหนด นิวเล่าทั้งน้ำตาว่า “เรารับงานรายชิ้น ไม่มีเงินเดือน พอถูกยกเลิก เงินก็หายไปด้วย”

ฝั่งกรบอกว่าเธอเริ่มปวดเนื้อตัวจากการนวดเดลิเวอรี เบาะที่เธอพกไปนั่นใหญ่เทอะทะ แม้ไม่หนักมากก็จริง แต่ความเบาของเบาะก็ทำให้เธอปวดเข่าเวลานั่งนวดลูกค้า กรบ่นอุบว่างานนวดตามบ้านต่างจากงานนวดหน้าร้านตรงที่เธอมีอุปกรณ์เท่าที่เตรียมไป และเบาะบางๆ ก็ไม่ช่วยรองรับน้ำหนักมากเท่าไรนัก ดีไม่ดีจะเจ็บไปด้วยกันทั้งหมอทั้งลูกค้า

อีกปัญหาใหญ่ที่เป็นปัจจัยให้คนงานหญิงยิ่งเสี่ยงเมื่อรับงานให้บริการแบบเดลิเวอรี คือ ทั้งหมอนวดและแม่บ้านต่างทำงานในพื้นที่ลับตาในบ้านของลูกค้า ต่างจากไรเดอร์ส่งอาหาร-คน-สิ่งของที่มีพื้นที่ทำงานส่วนใหญ่อยู่บนท้องถนน มีผู้คนเห็นการทำงานมาก แต่กับคนงานหญิงเหล่านี้มีแต่ตัวเธอเองเท่านั้นจะเป็นพยานให้หากเกิดเหตุมิดีมิร้ายในห้องสี่เหลี่ยมมิดชิด บางคนเล่าว่าเธอเจอลูกค้าเปลือยกายชวนดื่มเหล้าแล้วสั่งให้เธอนวดเฉพาะต้นขา บางคนบอกว่าถึงรอดพ้นจากบ้านลูกค้าไปแล้วก็ยังต้องลุ้นว่า รปภ. หรือคนขับรถรับจ้างที่เธอเรียกใช้บริการกลับบ้านจะดูถูกอาชีพเธอหรือไม่

“ค่ารถแพงก็เรื่องนึงนะ แต่ไม่ชอบเวลาแท็กซี่รอบดึกชอบถามว่า ‘น้องมาทำงานอะไร’ พอเราตอบว่างานนวด เขาก็ชอบแซวต่อว่างั้นมานวดพี่ไหม รับทำงานพิเศษไหม ขายยังไง เขามองว่างานนวดคืองานค้าบริการทางเพศ” เพื่อนคนหนึ่งของกรเล่าให้ฟัง จนสุดท้ายเธอต้องใช้วิธีโกหกทุกคนไปว่าเธอทำงานเป็นแม่บ้านทำความสะอาด หรือเป็นพนักงานบริษัทที่เดินทางมาหาลูกค้าเพื่อตัดคำถาม

“แอดมินเขาบอกว่าถ้ามีอะไรติดต่อเขาได้เลยนะ ไม่ต้องทำงานแล้ว กลับบ้านได้เลย แต่เราไม่แน่ใจ ในสถานการณ์แบบนั้นเราคงต้องช่วยเหลือตัวเองมากกว่า แอดมินเป็นคนท้ายๆ เลยที่เราจะนึกถึง” สาวๆ หลายคนสรุปตรงกัน

ตอกย้ำภาพลักษณ์ ‘ผู้หญิงเกิดมาเพื่องานนี้’

นิว กร และคนงานหญิงบนแพลตฟอร์มทำความสะอาดหรือนวดตามบ้านคนอื่นๆ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า งานเหล่านี้ไม่ได้ปิดกั้นเพศ ไม่ว่าใครก็สามารถมาทำงานได้ แต่ส่วนมากบริษัทก็มักเลือกรับคนงานหญิงเข้าทำงานด้วยเหตุผลเรื่องอคติว่าคนงานชายหรือหญิงข้ามเพศที่ยังไม่ผ่าตัดอาจทำให้ลูกค้าไม่สบายใจ เท่าที่สอบถามยังไม่พบว่ามีการจ้างพนักงานหญิงข้ามเพศ รวมถึงยังไม่พบบริษัทที่ยินดีตีความใบประกาศรับสมัคร ‘พนักงานหญิง’ กว้างไปถึงการยอมรับพนักงานหญิงข้ามเพศเข้าทำงาน ไม่ว่าจะแปลงเพศแล้วหรือไม่ก็ตาม

ปัจจุบันงานบริการด้านการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่จึงมักตกเป็นของคนงานหญิงหลายช่วงอายุแทน โดยบริษัทก็มักมีการคัดเลือกและอบรมเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้คนงานกิ๊กที่ทำงานอิสระ ไม่ผูกมัดเป็นพนักงานประจำได้นำเสนอภาพลักษณ์บางประการของแบรนด์ เช่น แม้ไม่ถึงกับสวยก็ต้องไม่อ้วน พูดจาไพเราะมีคะขา มีทีท่ากระฉับกระเฉง สวมเครื่องแบบของบริษัทและไม่แต่งตัวเปิดเนื้อหนัง ไม่มีกลิ่นตัว รวมถึงไม่หอบแฮกให้ลูกค้าเห็นแม้จะเพิ่งผ่านการเดินทางอย่างรีบเร่งมาก็ตาม

นโยบายรักษาภาพลักษณ์ทำเอาหลายคนโอดครวญว่าไม่ได้รับเข้าทำงานเพราะน้ำหนักตัวมากเกินไป บางบริษัทแพลตฟอร์มขนาดเล็กยิ่งมีแนวโน้มจะเก็บรูปถ่ายของพนักงานไปให้ลูกค้าเลือกหากมีพนักงานกดสนใจงานพร้อมกันหลายคน ทำให้พวกเธอไม่พอใจว่าเหมือนบริษัทยิ่งถีบเธอไปสู่ความเสี่ยงที่จะถูกล่วงละเมิดทางเพศจากลูกค้าได้ง่ายขึ้น

“เราต้องเรียกตัวเองว่าคุณแม่บ้าน เรียกลูกค้าว่าคุณลูกค้า พูดคะขาทุกคำ” นิวเล่าถึงบรรยากาศวันที่บริษัท Seekster อบรมเธอเข้าทำงาน

ผู้ประกอบการหลายแห่งยังเชื่อว่างานบริการทำความสะอาด งานนวด หรืองานดูแลเด็ก-ผู้ป่วย-ผู้สูงอายุควรเป็นงานของผู้หญิง เพราะผู้หญิงมีความละเอียดอ่อน มีความใจเย็น และมีใจรักงานบริการมากกว่าผู้ชาย ทั้งที่พวกเธอหลายคนมองว่าตนเองมีนิสัยต่างไปจากที่บริษัทว่า รวมถึงยังเปิดกว้างว่าโลกข้างนอกยังมีพนักงานชายอีกมากที่มีทักษะทัดเทียมหรือสูงกว่าเธอ เพียงแต่ไม่ได้รับอนุญาตจากบริษัทให้สมัครเข้าทำงาน

เลิกงานแต่ยังไม่เสร็จงาน

ทั้งนิวและกรเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องประคับประคองบทบาทหาเลี้ยงครอบครัวไปพร้อมๆ กับดูแลสมาชิกในครอบครัว นิวเล่าว่าเมื่อเธอเสร็จงาน เธอมีหน้าที่กลับมาทำงานบ้านให้กับสามีใหม่ ส่วนสามีเก่าที่เป็นพ่อของลูกเธอไม่เคยกลับมาดูแล

“เราต้องจ่ายตลาด ทำกับข้าว และซักผ้า เวลาอยู่กับแฟนคนปัจจุบัน เราต้องขู่ว่าเราเหนื่อยแต่แฟนมีวันหยุดเสาร์อาทิตย์” นิวเล่า

เธอบอกว่าสามีใหม่แม้จะรักกันดี แต่ไม่เคยมองว่าหน้าที่ดูแลบ้านเป็นงานของผู้ชาย ยิ่งเมื่อสามีเชื่อว่างานแม่บ้านเป็นงานสบายๆ ทำไม่กี่ชั่วโมง เขายิ่งผลักงานบ้านมาให้เธอรับผิดชอบ

“เขาไม่เชื่อว่างานแม่บ้านเป็นงานหนักเท่างานของเขา เลยพาเขาไปดูเราทำงานที่ออฟฟิศแห่งหนึ่งด้วย แต่งานออฟฟิศดันเป็นงานเบา ไม่สกปรกมาก เขาเลยยิ่งปักใจเชื่อว่างานเราไม่ได้หนักหนาอะไร”

อดีตสามีของนิวได้งานใหม่ที่ต่างประเทศ เธอเชื่อว่าเขาคงมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเธอ อย่างน้อยก็คงหารายได้เลี้ยงตัวเองได้มาก แต่ถึงอย่างนั้นเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ลูกใช้ก็มาจากน้ำพักน้ำแรงของเธอแค่ฝ่ายเดียว

กรมีลูกสาววัย 17 ปี เธอเล่าว่าตัวเองหย่ากับสามีเพราะมีปัญหาไม่เข้าใจกันเรื่องลักษณะการทำงาน ด้วยความที่เธอต้องทำงานดึกตามบ้านลูกค้าหลายราย สุดท้ายเธอจึงต้องเลิกรากันไปเพื่อยุติความหึงหวงของสามี

กรกลายเป็นกำลังหลักในการหารายได้เข้าครอบครัว เธอเล่าเศร้าๆ ว่าต้องยกเลิกนัดกับครอบครัวหลายครั้งเพื่อรับงานก่อน

“งานไม่ได้มาทุกวัน ไม่ได้มาตลอดเวลา พอเรากดได้ทีนึงก็ต้องรับไว้ก่อน เพราะเราเป็นคนรับผิดชอบรายจ่ายหลักของครอบครัวด้วย วันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) เราเลยมักยกเลิกนัดกับลูกสาวไปทำงานก่อน ดีที่เขายังเข้าใจ” กรเล่า

ช่วงเช้าเป็นช่วงที่ลูกค้าไม่ค่อยสั่งจองบริการนวด ตั้งแต่ 6 โมงเช้า กรจะตื่นมาใช้เวลานี้ทำกับข้าวทิ้งไว้ให้ลูก จากนั้นจึงทำงานบ้านต่อถึงประมาณ 10 โมง ก็จะลุกไปเตรียมตัวสแตนด์บายเผื่อมีงานเข้ามา หากยังไม่มีเธอจะทำงานบ้านต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าในไลน์จะแจ้งเตือนว่ามีใครสั่งจองบริการนวด

พวกเธอได้เงินเมื่อดูแลบ้านและสมาชิกครอบครัวให้กับคนอื่น ส่วนงานดูแลบ้านและสมาชิกครอบครัวตัวเองเป็นงานฟรี ซ้ำยังไม่มีการจำกัดเวลา 1, 2, 3, 4, … ชั่วโมงเหมือนงานบนแพลตฟอร์ม กรและนิวยอมรับว่าเหนื่อยที่ต้องทำงานทั้งในและนอกบ้าน แต่ก็ต้องทำไปเรื่อยๆ เพราะถึงจะสไตรค์หยุดงาน (บ้าน) ไปสักวัน สุดท้ายก็ไม่มีใครทำแทนอยู่ดี

“ก็เพราะเป็นกิ๊กนี่คะ” ไม่มีเส้นทางสู่งานที่เป็นธรรม?

ในขณะที่คนงานมีนายจ้างทำงานอย่างมี ‘ตาข่ายรองรับ’ บริษัทแพลตฟอร์มส่วนมากปฏิเสธที่จะให้สวัสดิการกับคนงาน ไม่ว่าจะเป็นวันลาหยุด ค่าล่วงเวลา ค่าเดินทาง ประกันสังคม ประกันสุขภาพ หรือประกันอุบัติเหตุ ถึงแม้ว่าการเดินทางอย่างเร่งรีบจะกลายเป็นจุดเด่นของงานประเภทนี้ไปแล้วก็ตาม โดยบริษัทให้เหตุผลว่าเพราะพวกเธอทำงานเป็น ‘ฟรีแลนซ์’ (ซึ่งอันที่จริงเรียกว่าเป็นคนงานกิ๊ก) ที่ไม่ผูกมัดกับบริษัท

“บางทีเราทำงานไปก็รู้สึกเหมือนว่าเราเป็นพนักงานของเขาเลยนะ เราต้องใส่เครื่องแบบ ต้องถ่ายรูปรายงาน” กรว่า

“ต้องบอกว่า สวัสดีค่ะคุณลูกค้า เรามาจากบริษัทชื่ออะไรด้วย แต่เวลาเกิดอะไรเขาบอกว่าเราไม่ได้เป็นคนงานของเขา” นิวหัวเราะ

“เราก็อยากให้เขาดูแลเราเป็นคนงานประจำคนหนึ่ง คิดว่าการทำงานคงจะมั่นคงกว่านี้” คือความฝันอันห่างไกลของสองสาว

คนงานเหล่านี้ตกอยู่ในสภาวะจำยอมที่ต้องทนทำงานต่ออย่างไม่มีปากเสียง เพราะรู้ดีว่านอกจากเธอแล้ว บริษัทยังมีคนงานสำรองอยู่ในมืออีกเป็นสิบเป็นร้อย เมื่อถามถึงข้อเสนอว่าพวกเธอต้องการสวัสดิการอะไรจากบริษัท คำแรกที่หลุดมาจากปากของคนส่วนใหญ่จึงตรงกัน คือ เธอเจอปัญหาในการทำงานและมีข้อเสนอบางอย่างเพื่อไปสู่สภาพการทำงานที่ดีกว่า แต่ไม่แน่ใจที่จะพูดถึงข้อเสนอนั้นออกมาดังๆ เพราะพวกเธอรู้ว่าตัวเองเป็นเพียง ‘คนงานกิ๊ก’

“เราเป็นฟรีแลนซ์ (กิ๊ก) นี่คะ จะหวังให้บริษัทดูแลเราเหมือนพนักงานประจำก็ยาก เขาไม่ให้เราหรอก อย่าไปเรียกร้อง ทำงานไปเถอะ ไม่พอใจก็ไปทำงานกับเจ้าอื่น”

ไม่มีใครสักคนที่จะไม่ฝันถึงงานที่มีค่าเดินทางเพิ่มให้ งานที่พวกเธอทำงานดึกแล้วจะได้รับค่าล่วงเวลา งานที่พวกเธอจะไม่ต้องเร่งเดินทางหรือเร่งทำงานจนไม่มีเวลากินข้าว งานที่มีประกันรายได้ งานที่พวกเธอจะไม่ถูกหักค่าธรรมเนียมจากบริษัทจนแทบไม่เหลือเงินเก็บ งานที่คำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่เรื่องแม่เลี้ยงเดี่ยวและภาระงานบ้านส่วนตัว งานที่พวกเธอไปถึงบ้านของคนแปลกหน้าแล้วจะรู้สึกอุ่นใจ ไม่ต้องกังวลว่าหากเกิดเหตุฉุกเฉินแล้วจะไม่มีคนช่วย

แต่เพราะ ‘เป็นกิ๊กนี่คะ’ กลายเป็นทั้งคำตอบสุดท้ายและทางตันไม่ให้คนงานฝันถึงชีวิตการทำงานพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

คนงานกิ๊กบนธุรกิจนวดและทำความสะอาดยังไม่มีการรวมกลุ่มต่อรองกับบริษัทเหมือนกลุ่มไรเดอร์ส่งอาหารที่เจอปัญหาการทำงานมาระยะหนึ่งจนตกผลึกและมีพลัง ‘พร้อมบวก’ มากกว่า แต่ก็ใช่ว่าคนงานเหล่านี้มีสภาพการทำงานราบรื่น

ดังนั้น แทนที่จะรอจนกว่าคนงานหญิงจนมุมกระทั่งออกมาเรียกร้องสภาพการทำงานที่ดีขึ้นเหมือนอย่างไรเดอร์บนแพลตฟอร์มอย่าง Grab, Foodpanda, Lalamove ฯลฯ จะดีกว่าหรือไม่หากรัฐและเราจะรับรู้เสียทีว่าหลังม่านและประตูบ้านมีคนงานหญิงบนแพลตฟอร์มทำงานอยู่ และเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรงที่จะเข้าไป ‘แหวกม่าน แง้มประตู’ ดึงคนงานกิ๊กหญิงเหล่านี้เข้ามาอยู่ภายใต้ความคุ้มครองเหมือนแรงงานคนหนึ่งอย่างที่ควรจะเป็น

Author

ชนฐิตา ไกรศรีกุล
First Jobber ที่ผันตัวจากนักศึกษาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชนมาเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยด้านแรงงาน เป็นชาวเชียงใหม่ที่มีกรุงเทพฯ เป็นบ้านหลังที่สอง และเพิ่งจะยึดแม่สอดเป็นบ้านหลังที่สาม เชื่อว่าตัวเองมีชะตาต้องกันกับพื้นที่ชายแดนและประเด็นทุกข์ร้อนของคนชายขอบ

Illustrator

ญาดา พระนคร
เด็กฝึกงานสายกราฟิกจากเชียงใหม่ มีใจรักในการเลี้ยงสัตว์ และปลูกต้นไม้ทุกชนิด ความใฝ่ฝันสูงสุดในชีวิตคือการทำงานด้านกราฟิกควบคู่ไปกับการเปิดสวนสัตว์ และร้านขายต้นไม้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า