สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (Food and Drug Administration: FDA) จะเริ่มต้นทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ เพื่อหาการปนเปื้อนของสารไกลโฟเสต (glyphosate) สารเคมีปราบศัตรูพืช ที่มีชื่อทางการค้าว่า Roundup ซึ่งมีการใช้งานมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970
ปี 2015 องค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer: IARC) หน่วยงานขององค์การอนามัยโลก ประกาศว่า ไกลโฟเสตเป็นหนึ่งในสารที่อาจก่อมะเร็งในมนุษย์
นี่เป็นครั้งแรกในสหรัฐที่จะมีการตรวจสอบสารไกลโฟเสตปนเปื้อนในอาหาร หลังจากรายงานประจำปี 2014 ของ FDA ถูกวิจารณ์จากสำนักงานบัญชีกลางสหรัฐ (Government Accountability Office: GAO) อย่างรุนแรงพร้อมแนะนำให้ FDA ตรวจสอบสารไกลโฟเสตที่อาจตกค้างในอาหาร เนื่องจากมีข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2008-2012 แล้วว่าเคยตรวจพบตกค้างในผักผลไม้หลายชนิด
ดร.เนธาน ดอนลีย์ นักวิทยาศาสตร์ประจำศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Center for Biological Diversity) กล่าวว่า น่าตกใจมากที่ต้องใช้เวลานานขนาดนี้กว่าจะเริ่มโครงการทดสอบ และให้ข้อมูลว่าเรื่องผลกระทบของไกลโฟเสตต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอยู่ในความสนใจของนักวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด
มูลค่าการใช้สารปราบศัตรูพืชทั่วโลกในแต่ละปี อยู่ที่ราว 1,700 ล้านดอลลาร์ ข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบในครั้งนี้จะช่วยให้ประชาชนทราบว่า อาหารของเรามีการปนเปื้อนสารเคมีมากน้อยเพียงใด และมาตรฐานที่ปลอดภัยอยู่ตรงไหน
นอกจากข่าวดีที่มาช้าของผู้บริโภคชาวอเมริกัน ยังมีข่าวไม่ดีนักเกี่ยวกับไกลโฟเสตที่เกี่ยวข้องกับเบียร์เยอรมัน
สถาบันสิ่งแวดล้อมมิวนิค (Umweltinstitut München) ออกรายงานผลการตรวจสอบเบียร์ยอดนิยมในเยอรมนี 14 ยี่ห้อ พบว่ามีการปนเปื้อนสารไกลโฟเสต หนึ่งในสารก่อมะเร็งที่พบได้ในสารปราบศัตรูพืช
สมาคมผู้ผลิตเบียร์เยอรมัน (German Brewers’ Association) ออกมาตอบโต้ผลการทดสอบการปนเปื้อนไกลโฟเสตในเบียร์ของสถาบันสิ่งแวดล้อมมิวนิคว่า งานชิ้นนี้ยังขาดความน่าเชื่อถือ โดยอ้างว่าปริมาณสารที่ตรวจพบอยู่ในระดับต่ำ และไม่สามารถป้องกันการปนเปื้อนได้ เนื่องจากสารปราบศัตรูพืชอยู่คู่ภาคเกษตรมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
จากหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ น่าจะได้ข้อสรุปอยู่แล้วว่า ยิ่งใช้สารเคมีในภาคเกษตรมากเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภคเท่านั้น นอกจากนี้ เฮนรี โรว์แลนด์ส ประธาน Sustainable Pulse กล่าวว่า ยังมีสารเคมีที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพ แม้จะได้รับในปริมาณไม่มาก โดยสารเหล่านี้รู้จักกันดีในชื่อ ‘ฮอร์โมนแฮ็คเกอร์’ (endocrine-disrupting chemicals: EDCs) หรือสารที่ขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อ
การศึกษาตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Endocrinology and Metabolism เมื่อเดือนมีนาคม 2015 คำนวณว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในสหภาพยุโรปที่ใช้จ่ายเพื่อรักษาเฉพาะกรณีนี้ มีมูลค่ากว่า 150,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี รายงานยังระบุว่า ภาวะไอคิวต่ำ น้ำหนักเกินในผู้ใหญ่ และร้อยละ 5 ของผู้ป่วยออทิสติก อาจเป็นผลมาจากการได้รับสาร EDCs ซึ่งไกลโฟเสต คือหนึ่งในสารดังกล่าว
[table class=”table-condensed” width=”500″ colalign=”left|center”]
ผลิตภัณฑ์เบียร์ ; หน่วย: ไมโครกรัมต่อลิตร (ส่วนต่อล้านส่วน)
Hasseröder Pils ; 29.74
Jever Pils ; 23.04
Warsteiner Pils ; 20.73
Radeberger Pilsner ; 12.01
Veltins Pilsener ; 5.78
Oettinger Pils ; 3.86
König Pilsener ; 3.35
Krombacher Pils ; 2.99
Erdinger Weißbier ; 2.92
Paulaner Weißbier ; 0.66
Bitburger Pils ; 0.55
Beck’s Pils ; 0.50
Franziskaner Weißbier ; 0.49
Augustiner Helles ; 0.46[/table]
ที่มา:
ecowatch.com
gao.gov
theguardian.com
sustainablepulse.com
br.de