8 กันยายน 2022 เวลา 15.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงลอนดอน สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งเครือจักรภพอังกฤษได้สวรรคตหลังครองราชย์มาอย่างยาวนานกว่า 70 ปี
ย้อนกลับไปในช่วงพฤษภาคม กลุ่มผู้ต่อต้านระบอบกษัตริย์ในนาม ‘Republic’ ในเมืองเรดดิ้ง ได้ระดมทุนกว่า 43,000 ปอนด์ จัดพิมพ์โปสเตอร์ข้อความว่า “Make Elizabeth the Last” สิ่งนี้นำไปสู่ความเห็นต่อสถาบันใน 2 มุม คือ หนึ่ง-สโลแกนดังกล่าวเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการถกเถียงจริงๆ เสียที และสอง-ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทุกคนมีสิทธิจะพูดอะไรก็ได้ เห็นต่างกันได้ แต่ไม่ควรมีท่าทีที่แข็งกร้าวและน่าละอายเช่นนี้
กระแสการต่อต้านราชวงศ์อังกฤษเริ่มคุกรุ่นในซีนดนตรีพังค์หัวขบถตั้งแต่ปี 1977 อันเป็นปีฉลองการครองราชย์ครบ 25 ปี (Silver Jubilee)* ของราชินี นับแต่นั้นมาบทเพลงที่ขับขานเรื่องราวของราชวงศ์ก็ถูกรังสรรค์ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
ต่อจากนี้คือบทเพลงที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งทำให้ความทรงจำที่มีต่อเธอถูกขับขานต่อไป ทั้งในแง่บุคคลอันเป็นที่รัก เป็นนางมารร้าย และในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
* ในภาษาอังกฤษจะมีคำเรียกวาระสำคัญต่างๆ เช่น Silver Jubilee ใช้กับการเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี, Golden Jubilee ครบรอบ 50 ปี และ Diamond Jubilee ครบรอบ 75 ปี
The Smiths – The Queen Is Dead (1986)
แทร็คนี้เริ่มต้นด้วยส่วนหนึ่งจากเพลงเก่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 “Oh, take me back to dear old Blighty Put me on the train for London Town Take me anywhere Drop me anywhere” สะท้อนอาการโหยหาแผ่นดินแม่ของทหารอังกฤษ
‘The Queen Is Dead’ ถูกเขียนขึ้นโดยอิงกับเรื่องของ ไมเคิล ฟาแกน (Michael Fagan) ชายสามัญชนที่ลักลอบเข้าพระราชวังบัคกิงแฮม ก่อนไปนอนบนเตียงของควีนในปี 1992 (เหตุการณ์นี้ยังถูกฉายซ้ำในซีรีส์ The Crown season 4 ep.5)
“So I broke into the Palace With a sponge and a rusty spanner She said, "Eh, I know you, and you cannot sing" I said, "That's nothing, you should hear me play piano" We can go for a walk where it's quiet and dry And talk about precious things But when you are tied to your mother's apron No-one talks about castration”
Manic Street Preachers – Repeat (1992)
เป็นที่รู้กันว่าโคตรไอคอนจากเวลส์อย่าง Manic Street Preachers ชื่นชอบการทำเพลงเสียดสีสังคมโดยกมลสันดาน เพียงอัลบั้มเดบิวต์ Generation Terrorits (1992) พวกเขาก็พูดถึงภาวะขุ่นเคืองต่อทุนนิยมและราชวงศ์วินด์เซอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพลง ‘Repeat’ ที่เปิดหัวมาด้วยกวี 3 ประโยค พร้อมริฟฟ์กีต้าร์เดือดพลุ่งพล่านซ่านหัวใจ (เดือดยิ่งขึ้นเมื่อมีเสียงปืนสอดแทรกเป็นครั้งคราวระหว่างเพลง)
แนะนำอย่างยิ่งให้ดู MV เพื่อเพิ่มอรรถรส
“Fuck queen and country Repeat after me Death sentence heritage”
The Sex Pistols – God Save The Queen (1997)
ในปี 1997 ภายหลังครบรอบการขึ้นครองราชย์ 25 ปี บรรยากาศยังเต็มไปด้วยการเฉลิมฉลองชื่นมื่น ทว่าเรือล่องแม่น้ำลำหนึ่งได้ออกจากท่าเรือในกรุงลอนดอน และบนนั้นมีวง Sex Pistols พวกเขาเพิ่งปล่อยซิงเกิล ‘God Save The Queen’ และการล่องเรือครั้งนี้เป็นทั้งการ ‘โปรโมต’ และ ‘เย้ยหยัน’ ราชินีผ่านบทเพลงนี้ที่เพิ่งปล่อยออกมา พวกเขาซาวด์เช็กอย่างหยาบๆ และเล่น God Save the Queen, No Feelings และ Pretty Vacant ขณะเรือแล่นผ่านรัฐสภา ไม่กี่อึดใจตำรวจน้ำก็ล้อมเรือพวกเขาไว้ ตัดไฟเรือ และพาเข้าฝั่ง มัลคอม แมคลาเรน (Malcome Mclaren) ผู้จัดการวง และสมาชิกในวงหลายคนถูกจับ ขณะที่บางส่วนหนีไปได้ เหตุการณ์นี้ทำให้ BBC ปฏิเสธจะเปิดเพลง God Save The Queen บนวิทยุ ถึงอย่างไร มันก็หยุดความร้อนแรงไม่ได้ เพราะมันไต่ขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ต NME อย่างรวดเร็ว
“God save the Queen She ain’t no human being”
Blur – This Is A Low (1994)
บริทป๊อปบอยส์ชนชั้นกลางจากเมืองหลวง ก็ดูเหมือนจะส่ายหัวให้กับความตึงเครียดในสังคมเช่นกัน พวกเขามองว่าราชินีเป็นสัญลักษณ์ของภาวะชะงักงันทางวัฒนธรรม (cultural stasis) และความเหลื่อมล้ำ แทร็คนี้เป็นซิงเกิลจากอัลบั้ม Parklife
“And the Queen, she’s gone round the bend Jumped off Land’s End”
Slowthai – Nothing Great About Britain (2020)
เมื่อปรายหางตามองชื่อเพลง คงไม่ต้องบอกอะไรมากว่าแร็ปเปอร์หนุ่มชาวอังกฤษ-เบจัน มีความรู้สึกนึกคิดเช่นไรต่ออังกฤษอันเป็นที่รัก (เสียงสูง) ไทรอน เคย์มอน แฟรมตัน (Tyron Kaymone Frampton aka Slowthai) เผชิญการกีดกันชนชั้นแรงงาน ความหลากหลายทางเชื้อชาติ และปฏิบัติต่อพลเมืองเช่นเขาในฐานะคนนอก ในแทร็คนี้ เขาจินตนาการว่าตนแหกกฎของราชินี โดยการเขวี้ยงขวดบัคกี้ (Bucky มาจาก Buckfast Tonic Wine หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผสมคาเฟอีน และยังมีส่วนผสมของคาเฟอีนบริสุทธิ์กับไวน์) เข้าไปในพระราชวังบัคกิ้งแฮม จากบทสัมภาษณ์กับ The Guadians เขาอธิบายความรู้สึกไม่ชอบราชินีว่า “ผมไม่เคยบอกว่าผมต้องการราชินีหรอกนะ ราชินีองค์เดียวที่ผมรู้จักก็คือแม่ผมเอง มันเป็นเรื่องพื้นฐานมานมนาน เธอเป็นทั้งกษัตริย์และราชินีเลย”
“I will treat you with the utmost respect Only if you respect me a little bit, Elizabeth… you cunt”
Leon Rosselson – On Her Silver Jubilee (2011)
เสียงเกากีต้าร์สบายๆ ดำเนินเรื่อยไปเคียงคู่กับความทรงจำเกี่ยวกับราชินี นับแต่วันฉลอง Silver Jubilee เขาพูดถึงการที่เธอกลายเป็นเป้าหมายบางอย่างของสายพังค์ตั้งแต่ปี 1977 โดยหลังจากนั้นเรื่องราวเกือบทั้งหมดของเธอก็ถูกหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และความบันเทิงบางอย่าง
“She seems so commonplace a woman in her fuddy-duddy hats But she doesn’t stand in bus queues or live in high-rise flats”
นอกจากนี้ยังมีเพลงอีกมากมายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นแทร็ค 25 วินาที ของ The Beatles อย่าง ‘Her Marjesty’ (1969) เพลงนี้เรียบง่าย มีเนื้อหาว่า เอลิซาเบธเป็นหญิงสาวน่ารัก เธอไม่มีอะไรต้องพูดมาก เป็นคนที่เปลี่ยนไปทุกวัน แล้วก็เฝ้าใฝ่ฝันถึงเธอ หรือในแทร็ค ‘Elizabeth My Dear’ (1989) ของ The Stone Roses ที่มาในท่วงทำนองฟังสบายๆ หากแต่มีเนื้อหาต่อต้านราชินีอย่างตรงไปตรงมา
ถึงอย่างไร เนื่องในโอกาสที่อังกฤษและโลกสูญเสียหนึ่งในบุคคลแห่งยุคสมัย เพลงของ ลีออน รอสเซลสัน (Leon Rosselson) กลับให้ความรู้สึกที่ดูมีความยุติธรรมต่อเธอในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอย่างประหลาด มีมุมมองที่อ่อนโยนและดูจะเข้าใจบริบทแวดล้อมของเธอ
“With a glass cage around her and an absence in her eyes And though regiments around her they can’t take her by surprise She’s as poised as a picture, she’s a sight for all to see With a glass cage around her on her Silver Jubilee With a glass cage around her she feels free”
อ้างอิง
- Rapper Slowthai: ‘I love Britain, but we’re losing sight of what makes us great’
- God Save the Queen: the best anti-Monarchy songs
- The Queen Is Dead, Long Live the Queen: 10 Songs About Queen Elizabeth II
- When the Sex Pistols crashed Queen Elizabeth’s Silver Jubilee with an anarchic boat concert
- Republic erects anti-monarchy billboards across Britain