กองหลังทางดีแห่ง บิ๊ก บอดี้

กบ บิ๊กแอส "ขจรเดช พรมรักษา"

เรื่อง : พีชศิลป์ ชนินทร์พงศธร  ภาพ : อนุช ยนตมุติ

 

เบื้องหน้า เขาคือมือกลองแห่งวงร็อคขาใหญ่อย่าง Big Ass

เบื้องหลัง เขาคือนักชงเรื่องรักน้ำเน่าชนิดดื่มได้ ขมนิด หวานบ้าง ไม่สำเร็จรูป

จากพนักงานนั่งเคาน์เตอร์ไปรษณีย์ ผันตัวเองเป็นมือกลองให้วงบิ๊กแอสจากการชักชวนของพี่ชาย หมู-อภิชาติ พรมรักษา จนได้ออกอัลบั้มแรกชื่อ Not Bad กับค่ายมิวสิคบั๊คส์ ภายใต้การบริหารของ เอก-ธเนศ วรากุลนุเคราะห์

ปัจจุบัน กบ-ขจรเดช พรมรักษา คือไม้หนึ่งผู้ส่งต่อคำร้องให้ศิลปินเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น Bodyslam, Ebola หรือ Palmy

เขาไม่เคยเข้าประชุมนักแต่งเพลงของแกรมมี่ ไม่เคยเขียนเพลงโทรศัพท์ให้คนโหลด แต่ทุกเพลงที่เขาลงมือเขียน คนจำนวนมากพร้อมจะรับฟัง และร้องตาม

กบเป็นนักแต่งเพลงชื่อเงียบ หากลองเทียบกับเสียงตอบรับในตัวเพลงและศิลปิน

ถึงบรรทัดนี้ ไม่ต้องกังวลหากยังนึกไม่ออกว่ากบแต่งเพลงอะไรบ้าง

บนโลกที่กองหน้าใต้แสงไฟคือตำแหน่งที่ผู้คนปรารถนา แต่ ‘กองหลัง’ คือหน่วยที่เขาภาคภูมิใจและถนัดที่สุด

 

คำง่ายๆ แต่ความหมายสุดลึกล้ำ

คำง่ายๆ ที่เธอใช้ประจำ ซ้ำไปซ้ำมา

แต่งเพลงทีไร ชอบใส่คำจั๊กจี้ปาก สุ่มเสี่ยงให้ครหาว่า ‘เท่’ หรือ ‘เฉิ่ม’ ชวนสงสัยว่าเขาสรรหาคำเหล่านี้มาด้วยวิธีไหน ยกตัวอย่างชื่อเพลงคุ้นหูของบิ๊กแอสอย่าง ข้าน้อยสมควรตาย, สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม, ส่งท้ายคนเก่าต้อนรับคนใหม่

“ผมว่าไอ้จึ๊กกะดึ๋ยกับความพอดีเกือบเป็นเส้นเดียวกัน อธิบายยากมาก รู้แค่ว่าถ้าเราไม่จึ๊กกะดึ๋ยคนจะไม่จำเรา สมัยนี้เพลงออกมาเยอะมาก ทำยังไงให้เราพุ่งออกมา เดินมา 10 คน ไอ้นี่มันต้องเด่นออกมา มันต้องจึ๊กกะดึ๋ยแน่ๆ ไม่รองเท้าแดงก็กางเกงในใส่ข้างนอก (หัวเราะ)”

กบบอกว่าถ้าจะเล่าเรื่องเดิมแล้วให้คนหันมาสนใจ ต้องอาศัยเทคนิคในการใช้คำช่วย ใช้คำคันๆ ที่คนฟังเสร็จแล้วไม่เขินไปกับมัน ทั้งที่ชื่อฟังแล้วน่าขัน ชวนให้นึกถึงหนังจีน เช่น ข้าน้อยสมควรตาย ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องใช้ศิลปะทำให้เนียนพอสมควร ไม่ได้ยกย่องว่าตัวเองเก่ง เป็นเรื่องที่กบยังเรียนรู้และค้นหาอยู่

ซึ่งถ้าเราพูดว่ากบถนัดเขียนเพลงจั๊กจี้ปาก เพลงรักน้ำเน่าสำหรับเขา คงยิ่งกว่าถนัด

สมัยอยู่ค่ายมิวสิคบั๊กส์ กบเคยเดินไปบ่นกับ เอก-ธเนศ ว่าเขาไม่ไหวแล้ว เขียนแต่เพลงรักน้ำเน่าจนจะอ้วก เอกตอบกลับด้วยประโยคที่กบจำมาจนถึงทุกวันนี้ว่า ถ้ามันเป็นเรื่องจริงก็เขียนต่อไป

“เราเชยๆ แต่เรารู้สึกกับมันจริงๆ ดีกว่าเราไปเขียนอะไรที่มันเท่ๆ แต่เราไม่รู้สึกกับมันจริงๆ”

สิ่งหนึ่งที่กบและนักแต่งเพลงในทีมแมงโก้ ทีมแต่งเพลงเบื้องหลังความสำเร็จของ บิ๊กแอสและบอดี้ สแลม พยายามทำมาตลอด คือการนำข้อคิดของธรรมะใส่ลงในเพลง โดยปรับเปลี่ยนเข้ากับรสนิยมวัยรุ่น ให้ฟังโดยไม่รู้ตัว แม้กระทั่งเรื่องการเมือง กบก็หยิบฉวยมาเป็นวัตถุดิบ

อย่าง ‘ชีวิตมันเพิ่งเริ่มต้น อย่าเพิ่งคิดว่าตัวเองเป็นที่หนึ่ง อย่าคิดว่าตัวเองชนะทุกอย่าง’ มาจากนักการเมืองบางคนที่พอตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางของอำนาจ แล้วก็คิดว่าจะออนท็อปตลอด จะค้ำฟ้าตลอดไป ได้กลายมาเป็นเพลงชื่อ begins

เช่นเดียวกับเพลง ยาพิษ เมื่อฟังโดยรวมแล้วอาจเป็นเพลงรัก แต่กบเริ่มต้นจากประโยคหนึ่งที่นักการเมืองพูด กบคิดว่า คำพูดที่มันไม่จริงนั้นเป็นยาพิษ มันทำให้ทุกคนเชื่อ นี่คือเรื่องการเมืองที่นำมาปรับใช้กับวงบอดี้สแลม

“ตอนเขียนเพลงผมนึกถึงหน้านักการเมืองคนนั้น ผมกำลังเขียนให้คุณนะ”

น่าสนใจไม่น้อย เมื่อเพลงที่ถูกกล่าวว่าเป็น เพลงตลาด เพลงขาย ถูกกลั่นกรองจากนักแต่งเพลงที่จับปากกาด้วยทัศนคติ ความคิดเห็นต่อเรื่องราวในสังคม แต่ทำไมเขาไม่พูดออกมาตรงๆ เหตุใดจึงต้องพูดอ้อมค้อมผ่านเรื่องความรัก

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเพลงคือความบันเทิง คือสิ่งที่สร้างความสุขให้แก่คน แต่ขณะเดียวกัน ผมเปรียบเทียบเสมอว่า การป้อนยา บางทีเราเอายาขมให้กินเลย เขาไม่กิน เหมือนตอนเด็กๆ เวลาแม่พาไปฉีดยา แม่จะมีวิธีชวนผมคุย นี่คือวิธีการที่ทำให้เรารู้ว่า เวลาจะให้ใครรับอะไร มันต้องมีกลวิธีบ้าง อาจดูไม่จริงใจ แต่ว่าสุดท้ายแล้ว ผมเชื่อว่าวิธีนี้มันไปได้กับคนทำงานอย่างพวกผม”

ไม่มีถูกผิด แล้วแต่เทคนิคของแต่ละคน กบเลือกเขียนเพลงสอดไส้คาราเมลที่มียาขมอยู่ 70 เปอร์เซ็นต์ แต่ส่งไปหาคนในวงกว้างกว่า เด็กอายุ 11-12 ก็สามารถรับมันได้

“คำพูดที่ไม่เคยคิด ที่จริงก็คือยาพิษ ถ้าเด็กได้ร้องออกไปด้วยความที่เขาชอบ มันฝังอยู่ในใจเขาไปแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าโตขึ้นเขาจะเป็นยังไง แต่ถ้าผมภาวนาได้ ก็คงอยากให้เวลาเขาจะพูดอะไร ไอ้ก้อนความคิด ก้อนประโยคในเพลงนี้ ขอให้ติดตัวเขาไปสัก 0.01 เปอร์เซ็นต์”

ภาวนา – กบเลือกใช้คำนี้ … ให้รู้ว่าไม่ได้กำลังขีดเส้นทางให้ใครเดินตาม

 

กรีดแขน ไม่ช่วยอะไร 

ยิ่งตอกย้ำ ยิ่งกรีดยิ่งทำร้ายใจ

หากไม่สามารถผ่านความเจ็บปวดสามัญของชีวิตไปก่อน เช่น ความรัก ไม่รู้ว่าคนคนหนึ่งจะเรียนรู้และเผชิญกับสิ่งที่สาหัสกว่าได้อย่างไร เพลงของกบสามารถพูดคุยกับคนมากมายได้ในช่วงเวลาเหล่านั้น อาจเพราะบทเพลงตอกย้ำความรู้สึกมักสื่อสารกับคนเจ็บช้ำได้ดีกว่าทฤษฎีทำใจ และวัยรุ่นก็พร้อมรับฟังสิ่งที่ศิลปินพูด มากกว่าคำเทศนาของนักบวช

ถ้อยคำที่เรียบเรียงอย่างตรงไปตรงมา จริงใจ อาจทำให้คนฟังรู้สึกเหมือนพูดคุยกับตัวเอง พูดคุยกับคนที่เข้าใจ

“มีอยู่วันหนึ่ง มีเด็กสักคำว่า ‘ชีวิตเป็นของเรา’ ที่แขน เดินเข้ามาบอกผมว่า ‘พี่ ชีวิตมันเป็นของเราจริงๆ พี่ ผมเลือกแล้ว’ เนี่ย สิ่งที่เวลาเราทำแล้วมันไปกระทบใคร โห เงินเป็นล้านอาจจะซื้อได้ไหม แต่สุดท้ายแล้วความรู้สึกนี้ไม่รู้จะเอาเงินไปจ้างเขามาพูดได้ยังไง”

ครั้งหนึ่ง ยุทธนา บุญอ้อม (ผู้บริหารบริษัท เกเร จำกัด ที่รับจัดงานคอนเสิร์ตใหญ่อย่าง Big Mountain Music Festival) พูดออกอากาศถึงเพลงยาพิษว่า “ผมจะเปิดเพลงนี้ให้ลูกสาวผมฟัง ให้เขาจำได้ว่าเวลาเขาเจอเรื่องอย่างนี้ เขาจะรับมือกับมันได้”

กบบอกว่าเขาได้ทำหน้าที่บางอย่างแล้วในฐานะนักแต่งเพลง สิ่งที่เขาทำไม่ใช่แค่เพลงอีกต่อไป มันวิ่งออกไปหาบางสิ่งที่ไกลกว่า…

 

หนทาง ยังดูเหมือนเดิม

มีแสงไฟ มีผู้คนรอบกาย

เริ่มต้นอาชีพนักแต่งเพลงจริงจังหลังจากงานบิ๊กแอสชุดแรกไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยการเขียนเพลงให้ลาบานูน ปรากฏว่าดังมาก เดินไปไหนก็ได้ยิน

“ตอนนั้นผมหยิ่งผยองมาก เดินเข้าออฟฟิศนี่เป็นปูเลย”

แต่เมื่อต้องเขียนเพลงอีกครั้งให้กับวงเกิร์ล 30 กว่าเนื้อเพลงของกบถูกธเนศโยนลงถังขยะทั้งปึก ไม่ผ่านแม้แต่เพลงเดียว

กบบอกว่าตอนนั้นเขาเขียนเพลงด้วยความรู้สึกว่า ‘กูเก่ง’ …ไม่ได้เขียนเพราะอยากจะเขียนมัน

เป็นบทเรียนที่อยากย้อนไปตบกบาลตัวเองสักที

“สุดท้ายแล้วอัลบั้มนั้นมันสอนผม พอยกก้อนหยิ่งผยองนั้นออกไปได้ โชคดีมากที่ผมเจอมันเร็ว ตั้งแต่นั้นผมคิดว่า เพลงต่อไปต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามึงไม่ฟลุ๊ค อะไรที่เขาว่านักแต่งเพลงต้องทำ ผมก็ทำ ดูหนัง อ่านหนังสือ ทำจนมั่นใจว่า ลูกนี้ไม่เข้าก็ชนคานล่ะวะ”

กบคิดว่าการที่จะได้รับคำยืนยันว่าเรายืนหยัดในวงการอะไรก็ตามได้ มันต้องถูกพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าหมือนนักบอล จนยิงท่าไหนก็ต้องเข้าประตู ไปอยู่ทีมไหนก็ต้องยิงเข้า เขาไม่เคยได้รับโจทย์จากบริษัทในการเขียนเพลง แต่ถ้าอยากเขียนให้ศิลปินคนไหน เขาจะเดินเข้าไปขอเอง และใช้เวลาอยู่กับศิลปินมากๆ จนเข้าใจตัวตน ถึงเรียบเรียงออกมาได้

“อย่างเช่น ปาล์มมี่ ก็คุยกับเขาจนเขารำคาญว่าไปยุ่งเรื่องส่วนตัวมากไปหรือเปล่า แต่ผมไม่สน เขาอาจจะฝรั่ง ผมต้องไปสิงให้ได้ว่าเขาคิดยังไง ไม่งั้นออกมาผมว่ามันก็แค่เขียนไปแล้วก็ขยับปากร้องไป ถ้าเราไม่ไปสิงเขา แล้วเขาไม่มาสิงเนื้อเพลงเรา มันไม่เป็นชีวิตเดียวกัน”

ตามสถานะที่แท้จริงในตอนนี้ กบเป็นลูกจ้างประจำของ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เซ็นสัญญาต่อปี มีเงินเดือน และ

….เขียนเพลงน้อยมาก

“ผมไม่ยอมแลกกับงานอะไรก็ตามที่ทำให้ผมไม่ได้ดูหนังวันละเรื่อง ผมเลยแอนตี้ที่จะต้องทำเรื่องอื่น เออหวะ ผมไม่เคยเข้าประชุมนักแต่งเพลงแกรมมี่เลย (หัวเราะ) ตายละกู แต่ดีแล้ว แบบนี้ผมชอบมากเลย ถึงให้ผมเข้า ผมก็ไม่เข้า”

ไหนๆ ก็เลือกทางชีวิตของตัวเองแล้ว… เขาอยากเป็นนักแต่งเพลง ไม่ใช่ ‘พนักงานแต่งเพลง’

“ผมภูมิใจมากที่ ณ วันนี้ ผมไม่เคยเขียนเพลงเกี่ยวกับโทรศัพท์สักเพลง แล้วผมปฏิญาณว่า ชีวิตนี้ผมจะไม่มีทางเขียน แต่ก็ไม่แน่นะ สักวันผมอาจเขียนก็ได้ แต่ตอนนี้ผมยังไม่อยาก ผมบอกเขาไปแล้วว่าผมเขียนไม่เป็น อย่าบังคับผมเลย เพราะที่ผ่านมา เพลงของผมที่มันติดชาร์ต ผมไม่เคยเริ่มเขียนจากความรู้สึกที่มันต้องโดน มันต้องโหลด”

เพราะเขาเขียนเพลงด้วยความรู้สึกที่ว่า.. ไม่รู้โดนใครแหละ แต่เพลงนี้โดนกูแน่ๆ

 

คนเรายังมีสมองที่แตกต่างกัน

ยังมีความฝันได้มากมาย

เส้นทางความฝันยิ่งใหญ่ หวังยืนค้ำคนอื่น อาจไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่ทำให้ใครบางคนเติบโตเสมอไป

ทุบหม้อข้าวตัวเอง ลาออกจากงานไปรษณีย์ที่พ่อแม่ภูมิใจ เดินหนีความมั่นคงในชีวิต คือสิ่งที่กบเลือกเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ขณะคนมากมายเร่งแสวงหาความปลอดภัย เจอเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี ปรับตัวเข้ากับเงื่อนไขที่ว่า ฝันกินไม่ได้

ก่อนยึดอาชีพนักแต่งเพลง กบพยายามคิดว่าอาชีพนี้อยู่ได้จริงไหม แต่ตัวเขาเองก็ไม่รู้คำตอบ กบจึงหันกลับมาถามตัวเองว่า แล้วตัวเขาล่ะ ทำอะไรให้แก่อาชีพนี้ได้บ้าง “อาจมีสักประโยคหนึ่งของเราที่เปลี่ยนแปลงชีวิตใครสักคนก็ได้” เหมือนบางเพลงที่เคยเปลี่ยนชีวิตเขา

“เพลงของ พี่จิก-ประภาส ชลศรานนท์ แต่งให้แก่หนังเรื่อง วัยระเริง ชื่อเพลง ชีวิตนี้ของใคร ตอนนั้นผมทำงานเป็นพนักงานไปรษณีย์ นั่งเคาน์เตอร์ รับฝากขายแสตมป์ ทำวงบิ๊กแอสด้วย แต่งานไปรษณีย์เป็นงานที่มั่นคงมากครับ เป็นงานดีมาก สอบเข้ายาก พ่อภูมิใจมากเพราะสอบติด ทำงานไปแล้วปีกว่า แต่ผมรู้สึกว่าหัวใจมันอยู่กับดนตรี เราจะทำยังไงดี ฝั่งนึงก็พ่อ อีกฝั่งนึงก็เพื่อน สิ่งที่เรารัก ความฝัน ไม่รู้วันนั้นคิดยังไงไปเปิดวิทยุ เพลงนี้ดังขึ้นมา เออ ถ้าใช้ชีวิตตามคนอื่นแล้วจะอยู่ไปทำไมว เลยตัดสินใจลาออก”

แม้นใช้ชีวิตบนทางของคนอื่น ฝืนใช้ชีวิตด้วยใจที่ขมขื่น แล้วชีวิตนี้เป็นของใคร หรือของคนอื่น ไยต้องฝืน ยืนต่อไป…ไยต้องตาม

คือประโยคที่เขาได้ยินในวันนั้น

 

ทะเลแสนไกลไม่มีสิ้นสุด

สีครามหมายความเหมือนใจมนุษย์

ทั้งแกว่งแขนตีกลอง 6 อัลบั้ม ทั้งนั่งเงียบๆ เขียนเพลงฮิตถล่มทลาย ใช่-ใครหลายคนรู้จักเพลงเหล่านั้นดี ทว่าน้อยคนนักจะรู้จักคนเขียนคำร้อง แม้แต่ในหมู่วัยรุ่น

ถามว่า …ถ้าชอบเพลง ทำไมต้องรู้ด้วยเล่าว่าคนแต่งเป็นใคร?

“ผมชอบอารมณ์แบบนี้ครับ ไม่โปรโมทตัวเอง ให้เพลงทำหน้าที่ของมัน ผมมีความสุขมาก ไม่รู้เป็นอะไร ไม่ได้ถ่อมตัวด้วย ผมชอบอารมณ์นี้ ออกไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยวเงียบๆ ไม่มีใครรู้จัก ไปที่ไหนก็ได้ แล้วผมก็ไม่ค่อยออกจากบ้าน คอมฯไม่เล่น อินเทอร์เน็ตไม่เล่น”

“เออ ผมเลยไม่มีใครรู้จักมั้ง”

เมื่อสับเปลี่ยนบทบาทไปมาระหว่างบนเวทีกับหลังเวที แล้วจริงๆ ตัวเขาชอบบทไหนมากกว่ากัน

“เล่นดนตรีมันสนุก มันคือความฝัน ทำอะไรจะได้เงินเยอะ มีชื่อเสียงขนาดนี้ ตอนเด็กๆ ผมอยากเป็นเหมือนปัจจุบัน แต่การแต่งเพลงมันคือหน้าที่มั้งครับ”

กบบอกว่า เขากำลังพยายามทำให้อาชีพที่สังคมมองว่าเต้นกินรำกิน มีคุณค่าทางสังคม เดินไปไหนแล้วมีคนให้เกียรติพวกเขาบ้าง ในฐานะหน่วยเล็กๆ ในสังคม แทนที่จะเห็นปัญหาแล้วนั่งบ่นอยู่กับบ้านเป็นนักแต่งเพลงแล้ว ทำอะไรได้ก็ทำ

“ไม่ได้แบบ เพลงนี้จะเปลี่ยนโลกเว้ยเฮ้ย อุดมคติเกินไปครับ แค่วันหนึ่งมันไปเปลี่ยนใจคนนิดเดียว แค่ฉุกคิดเท่านั้นเอง ไม่ถึงกับไปกระชากคอมาฟัง แค่สะกิดชายเสื้อ แค่นี้ก็ภูมิใจแล้ว”

ในตอนที่บอดี้สแลมหัวใจพองโตกับเสียงเชียร์ ความสำเร็จนั้น ส่วนหนึ่งมาจากกบด้วยมิใช่หรือ ไม่รู้สึกเลยหรือว่าเขาคือเบื้องหลัง

“ไม่เลยครับ เขามีชีวิตของเขาแน่ๆ” กบว่า

“เราโชคดีมากกว่าที่งานกับชีวิตจริงมันเป็นเรื่องเดียวกัน เราโชคดีที่เราอยู่ด้วยกันมา แหม เหมือนผัวเมียเนอะ เราคบกัน เราไม่สำเร็จทั้งคู่ เฟลทั้งคู่ ผมออกชุดแรกก็แป้ก ตูนออกชุดแรกก็ไม่ดัง เราโชคดีตรงที่ ตอนเราลำบากที่สุดเราเจอมาพร้อมกัน เจอเหตุการณ์แย่ๆ เจอเรื่องที่ทำให้สิ้นหวังพร้อมกัน มันเลยกลายเป็นคนคนเดียวกันโดยที่เราไม่รู้ตัว ที่เขาสำเร็จทุกวันนี้เพราะสิ่งที่เขาเป็น เราแค่เป็นผู้สนับสนุนที่ดีมากกว่า”

มือกลองคนนี้บอกว่า สุดท้ายถ้าเพลงจะดังมันมาจากหลายสาเหตุ

“วันคอนเสิร์ตที่ราชมังคลาฯ ผมคิดว่าผมมาถึงอีกขั้นบันไดหนึ่งของอาชีพ ผมมีความสุขจังเลย คนเยอะ ร้องเพลงเรา มีความสุข สมมติพูดเรื่องเงิน ผลประโยชน์ที่เราได้จากการทำบอดี้สแลม มันไม่ Make Sense เป็นอย่างยิ่ง ถ้าเป็นเมืองนอกผมคงรวยไปแล้ว แต่ที่ผมรวยมากกว่านั้นก็คือเวลาคนร้องเพลงเรา”

ไม่ใช่เฉพาะจำนวนหลายหมื่นที่สนามราชมังคลาฯ ในความเป็นจริง คงมีอีกนับแสน นับล้าน ที่เปล่งเสียงเป็นเนื้อเพลงของกบด้วยความชื่นชอบ แต่คำถามก็คือ ทำไมสังคมกลับให้ความสำคัญกับแบ็คอัพอย่างเขาน้อยเหลือเกิน

“เป็นธรรมชาติครับ เป็นเรื่องธรรมชาติที่จะเป็นอย่างนั้น บางคนก็มีความสุขที่ได้เป็นกองหลัง ด้วยศักยภาพเราวิ่งไม่เร็ว เรายิงประตูไม่เก่ง แต่เราสกัดบอลเป็น เราภูมิใจกับมันที่ลูกมาเราสกัดมันได้ ความภูมิใจก็ไม่ต่างกับกองหน้าเวลายิงประตู”

สีหน้าและแววตา เรารับรู้ว่าเขาหมายความตามนั้น…

ตราบเท่าที่ทีมของกบยังไม่หยุดวิ่ง เราเองก็ภาวนาให้พวกเขาลำเลียงลูกได้อย่างปลอดภัย

จนกว่ากรรมการจะเป่าหมดเวลา…

 

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ กรกฎาคม 2554)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า