หนังสือนิทานเล่มใหม่: นางเอกคือเจ้าหญิงแอคติวิสต์ 100 คน

ภาพ: rebelgirls.co

หนังสือนิทานเล่มใหม่ Good Night Stories for Rebel Girls โดยสองสาวชาวอิตาเลียนนามว่า อีลีนา ฟาวิลลี (Elena Favilli) และ ฟรานเซสกา คาลวาโล (Francesca Cavallo) เขียนนิทานจากชีวิตของหญิงสาว 100 คนที่ต่อสู้กับความคิดของสังคมเพื่อไล่ตามความฝันของตัวเอง

ความคิดเบื้องหลังของนิทานเล่มนี้เริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า “ก็ทำไมตัวหลักของนิทานที่เคยผ่านๆ มา จึงมีแต่ผู้ชายและเจ้าหญิงที่ไม่บู๊และไม่ตั้งคำถามกับระเบียบ (norm) ของสังคมเลยเล่า?”

Good Night Stories for Rebel Girls นำเรื่องจริง (อัตชีวประวัติ) ของผู้หญิงที่ต่อสู้กับ norm หรือบรรทัดฐานของสังคมมาเล่าใหม่ในรูปแบบของนิทานก่อนนอน ไล่ตั้งแต่บุคคลในประวัติศาสตร์ สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ จนถึงไอคอนของผู้หญิงในโลกสมัยใหม่อย่าง มาลาลา ยูซัฟฟัย (Malala Yousafzai) ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีและสิทธิที่จะได้รับการศึกษาของเด็กๆ ในตาลีบัน

ยังมี เวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Verginia Woolf) ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) เซเรนา วิลเลียมส์ (Serena Williams) มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher)  และ มิเชล โอบามา (Michelle Obama) เป็นต้น

อะไรกัน… หมายเหตุของเรื่องนี้เป็นไปเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีอีกแล้วเหรอ?

แม่นแล้ว… (อิอิ) เพราะสองสาวอิตาลีให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ชี้ชัดเลยว่า “เรื่องเล่าในนิทานเด็กไม่เคยเปลี่ยนไปเลย ตอนเด็กๆ เราได้อ่านอะไร ตอนนี้ก็ยังคงอยู่อย่างนั้น ผู้ชายยังเป็นตัวละครหลัก และผู้หญิงก็จะต้องเป็นเจ้าหญิงเท่านั้น”

แล้วเรื่องเล่าแบบเจ้าชายเจ้าหญิงมันผิดที่ตรงไหนกัน?

อาจไม่เกี่ยวข้องกันเลยก็ได้ แต่งานวิจัยเชิงจิตวิทยาทดลองชิ้นหนึ่งในสหรัฐ ชี้ว่า เด็กอายุ -เริ่มตั้งแต่- 6 ปี จะจับคู่ความฉลาดกับ ‘ผู้ชาย’ และเป็นความฉลาดที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดเลยเสียด้วย

ในบทความของ ANDREI CIMPIAN และ SARAH-JANE LESLIE สมาชิกทีมวิจัยได้เขียนบทความสะท้อนชุดความคิดเหมารวม (stereotypes) ว่าความฉลาดเท่ากับเพศชายนั้น ได้ก่อตัวขึ้นในหัวใจและสมองของเด็กน้อยแล้ว พวกเขาเชื่อไปแล้วว่าเด็กผู้หญิงมักไม่ฉลาดเท่าเด็กผู้ชาย

แล้วเหตุอันใด ต้นไม้แห่งความเชื่อนี้จึงงอกเงย พวกเขาให้ความเห็นว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคาแรคเตอร์ที่ฉลาดๆ ของตัวละครในหนังสือส่วนใหญ่ มักเป็นผู้ชายทั้งนั้น

แน่นอนว่าเรื่องนี้โต้เถียงได้ เพราะไม่ใช่จะมีแต่ตัวละครหลักอย่างเชอร์ล็อคโฮม หรือเหล่าฮีโร่ในการ์ตูนมาร์เวลเสียหน่อยที่มีตัวละครนำเป็นผู้ชายฉลาดๆ แต่เรามีเฮอร์ไมโอนี แกรนด์เจอร์ ในแฮร์รีพอตเตอร์, พาวเวอร์พัฟเกิร์ล ในการ์ตูนเน็ตเวิร์ค แถมด้วยดีดี้ ในเรื่องเด็กซ์เตอร์ ก็เป็นตัวละครที่ฉลาด (เจ้าเล่ห์ และเปี่ยมเสน่ห์) กันทั้งนั้น

แต่หากพลิกไปดูงานวิจัยอีกชิ้นที่ศึกษาเฉพาะ ‘เพศของตัวละครนำ’ ในหนังสือนิทานตั้งแต่ปี 1900 ถึงปี 2000 ผลของงานวิจัยชี้คล้ายกันว่า ส่วนใหญ่ตัวละครนำ -ทั้งมนุษย์และสัตว์น้อย- ต่างก็เป็นผู้ชายเสียเกินครึ่ง

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจหนึ่งมีว่าในช่วงปี 1960s และ 1970s ที่ขบวนการเรื่องผู้หญิงได้เกิดขึ้น พบว่าสัดส่วนของนิทานที่มีตัวละครหลักเป็นผู้หญิงก็เพิ่มขึ้นด้วย

แต่งานวิจัยทั้งสองชิ้นได้ระบุไว้ใกล้เคียงกันว่า งานวิจัยทั้งสองชิ้นยังไม่ได้ลงลึกไปถึงเรื่องสีผิวหรือประเด็นทางสังคมอื่นๆ ที่มีผลต่อความคิดและความเชื่อที่สังคมแต่ละที่ให้คุณค่า ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องถูกนับเป็นหนึ่งในกระบวนการทางสังคมที่มีผลต่อการปลูกฝังความคิดเชื่อของสังคมด้วย

ที่มา: nytlive.nytimes.com

 


Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า