ในจานของหนู มี ‘สารหนู’ ปนเปื้อน

เรื่อง: พชร์ โพธิ์พุ่ม

 

ผลวิจัยของประเทศอังกฤษเผยตัวเลขว่า กว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเด็ก มีสารหนูปนเปื้อน

พ่อแม่ทุกคนอยากจะให้ลูกเติบโตด้วยพัฒนาการที่สมบูรณ์แข็งแรง อาหารที่มีประโยชน์ย่อมช่วยเติมเต็มพัฒนาการของเด็กๆ และองค์การอนามัยโลกแนะนำว่า เด็กๆ ที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป ควรได้รับอาหารเสริมตามวัยควบคู่ไปกับนมแม่ และอาหารเสริมที่ดีมีส่วนช่วยเรื่องพัฒนาการต่างๆ ของเด็กอย่างจำเป็น

หากมีการรายงานอย่างต่อเนื่องว่า ‘ข้าว’ ที่เราบริโภคอยู่ทุกวันนี้ มีสารหนูปนเปื้อนในปริมาณเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ภายใต้ข้อเท็จจริงว่า หนึ่ง-ข้าวเป็นอาหารหลักของโลก สอง-นอกจากนั้น ข้าวยังเป็นวัตถุดิบหลักในการนำไปแปรรูปเป็นอาหารชนิดอื่นๆ เช่น น้ำนมข้าว อาหารเช้าซีเรียล และอาหารเสริมของเด็กอีกด้วย

หนึ่งในนั้นคืองานวิจัยเรื่อง ‘ผลกระทบต่อทารก ที่บริโภคอาหารเสริมทำมาจากข้าวและมีสารหนูเกินมาตรฐาน’ โดยมหาวิทยาลัยควีนเบลฟาสต์ (Queen’s University Belfast) สำรวจผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับเด็กจำนวน 73 ชนิดที่วางขายในประเทศประเทศอังกฤษ พบว่า…

75 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับเด็กในประเทศอังกฤษ พบสารหนูเกินกว่ามาตรฐานที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้ คือไม่เกิน 0.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

และเมื่อตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ที่ทำมาจากข้าวพบว่า กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของแครกเกอร์, 60 เปอร์เซ็นต์ของอาหารเสริมที่ทำจากข้าว และกว่า 32 เปอร์เซ็นต์ของซีเรียล มีสารหนูเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด คือ 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

 

ที่มา: http://eur-lex.europa.eu

ในบทความเรื่อง ‘เราควรกังวลเรื่อง สารหนูที่ปนมากับข้าวขนาดไหน?’ ในคอลัมน์ ‘Trust Me I’m a Doctor’ ของ BBC คำนวณไว้ว่า ในแต่ละวัน ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักราว 70 กิโลกรัม สามารถกินข้าว ได้เท่าปริมาณข้าวสารครึ่งกระป๋องที่ยังไม่ได้หุง หรือ 100 กรัมเท่านั้น จึงจะปลอดภัยจากสารหนู ขณะที่ สัดส่วนปลอดภัยสำหรับเด็กอายุ 5 ขวบ น้ำหนักตัวประมาณ 20 กิโลกรัมและเด็ก 1 ขวบน้ำหนัก 10 กิโลกรัม บริโภคข้าวได้เพียง 2 ช้อนโต๊ะ หรือ 30 กรัม สารหนูจึงจะไม่ส่งผลต่อพัฒนาการและการเติบโตของร่างกาย

แอนดี เมฮาร์ก  (Andy Meharg) หัวหน้าทีมวิจัย ที่ศึกษาประเด็นนี้มากว่า 10 ปี กล่าวว่า นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากเป็นประเด็นที่ค้นพบและติดตามกันมาเนิ่นนาน และเมื่อปี 2014 สหภาพอียูได้ออกกฎหมายเพื่อควบคุมปริมาณสารหนูที่อยู่ในผลิตภัณฑ์อาหาร ด้วยตระหนักชัดเจนว่าสารหนูเป็นสารก่อมะเร็ง และมีหลักฐานว่ามันมีผลต่อพัฒนาการของเด็กๆ ด้วย

“ผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำมาจากข้าวและปนเปื้อนสารหนูจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กๆ การเจริญเติบโตของร่างกาย และพัฒนาการด้านการเรียนรู้ (Intelligence quotient-IQ) ทั้งมีส่วนช่วยให้ความจำของพวกเขาแย่ลง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก มีความเสี่ยงที่จะรับสารหนูได้มากกว่าผู้ใหญ่ถึง 5 เท่า จากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ทำมาจากข้าวเหล่านี้”

ขณะที่แมรี ฟิวเทรล (Mary Fewtrell) กุมารเวชศาสตร์โภชนาการ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London: UCL) เสริมว่า “เพราะทารกนั้นมีร่างกายที่เล็ก ทั้งขนาดและน้ำหนักตัว พวกเขาจึงมีโอกาสรับสารหนูได้มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่โตกว่าหรือพวกผู้ใหญ่” 

เช่นเดียวกัน การที่เด็กรับสารหนูได้มากกว่าย่อมหมายถึงความเสี่ยงต่อพัฒนาการและร่างกายที่มากกว่า ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวด

โดยปกติแล้ว เราจะพบสารหนูในสิ่งแวดล้อมทั้งพืชและสัตว์ และในธรรมชาติ ได้แก่ พื้นดิน ทะเล มหาสมุทร และในแหล่งน้ำต่างๆ สารหนูในธรรมชาติเหล่านี้มาจากการระเบิดของ ภูเขาไฟ, การเผาถ่านหิน, การถลุงแร่ และการใช้สารกําจัดศัตรูพืช ซึ่งอย่างหลังนี้ จะเป็นสารหนูอนินทรีย์ (inorganic arsenic) อันมีระดับความอันตรายกว่าสารหนูอินทรีย์ (organic arsenic) ในธรรมชาติทั่วไป

ทั้งอนุภาคของสารหนูมีขนาดเล็กมากจึงซึมเข้าสู่รากพืชได้ แต่โดยปกติแล้ว สารหนูที่พบในธรรมชาตินั้นจะซึมผ่านเข้าต้นพืชในปริมาณเพียงเล็กน้อย และไม่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ขนาดนั้น แต่เพราะต้นข้าวต้องปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำมีน้ำขัง หมายความว่ารากของต้นข้าวต้องจมอยู่ในดินและน้ำอันเป็นต้นทางของสารหนูในธรรมชาติ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้พบสารหนูในต้นข้าวมากกว่าธัญพืชทั่วไปราว 10-20 เท่า 

เมื่อรวมกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ก็ทำให้มีสารหนูปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมอยู่ในปริมาณที่มากจนเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

อย่างไรก็ตาม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว หากเลือกได้ ผู้ปกครองอาจพิจารณาการทำอาหารเสริมให้เด็กๆ ด้วยตัวเอง เช่น ผักและผลไม้บด ควบคู่ไปกับนมแม่ ก็อาจช่วยประคองพัฒนาการของลูกน้อยให้เป็นไปอย่างสมวัย ตามข้อจำกัดของอาหารเสริมที่มีอยู่ในตลาดอาหารปัจจุบันได้

ที่มา: independent.co.uk
bbc.co.uk


Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า