เรื่องและภาพ: พชรกฤษณ์ โตอิ้ม
วันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ปัจจุบันที่กลายเป็นความทรงจำในวันรุ่งขึ้น
ณ ห้วงเวลานั้น บรรยากาศของโรงภาพยนตร์ลิโด้อบอวลไปด้วยเสียงหัวเราะและเสียงร้องไห้ ค่ำคืนสุดท้ายในโรงภาพยนตร์ลิโด้เต็มไปเสียงพูดคุยของผู้คนที่คุ้นตา พวกเขาหลายคนหวนกลับมามอบความอบอุ่นให้กับโรงภาพยนตร์ที่มีอายุ 50 กว่าปีแห่งนี้อีกครั้ง
โรงหนังที่เป็น ‘โรงหนัง’
เรื่องราวต่างๆ และความทรงจำมากมายในสถานที่แห่งนี้
สิ่งที่ผู้คนสามารถจดจำลิโด้ได้คือ ภาพคุณลุงสูทเหลืองที่ยืนอยู่บริเวณหน้าทางเข้า พนักงานหญิงในชุดสีชมพู ป๊อปคอร์นราคาย่อมเยา และการฉีกตั๋วที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
ความคิดเห็นมากมายเขียนแปะไว้อยู่บนโพสต์อิท ถ้อยคำเหล่านั้นต่างแสดงความขอบคุณ ความห่วงใย ความคิดถึง
แม้ทุกคนจะเข้าใจดีว่าตอนจบ ม่านของโรงภาพยนตร์ย่อมปิดลง
แต่การเอ่ยคำอำลาต่อเพื่อนที่มีนามว่า ‘ลิโด้’ เป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคนอยู่เสมอ
สายทอง พิเมย อายุ 53 ปี / พนักงานทำความสะอาดห้องน้ำโรงหนังลิโด้
หลังจากลิโด้ปิดแล้วก็ต้องเข้ามาเก็บของอีกสี่เดือน พอถึง 30 กันยา ในใบเลิกจ้างเขาก็บอกว่าจะคืนเงินชดเชยให้ แล้วพอสิ้นสุด 30 กันยา ก็จะกลับบ้าน กลับไปทำไร่ทำนา
แต่สมัยนี้มันก็ไม่เหมือนสมัยก่อนเนาะ สมัยนี้หากินอะไรก็ไม่ค่อยได้แล้ว ต้องซื้อเอาอย่างเดียว ซื้อจากตลาดสดอย่างเดียว ก็อย่างว่าเนาะอะไรมันก็รวดเร็วตามไม่ทัน ทำไร่ทำนาเดี๋ยวนี้ก็ใช้ยาด้วยพวกข้าวน่ะ ปูนาก็ไม่ค่อยมีแล้วเดี๋ยวนี้ แต่ก่อนยังหากินได้ เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้วต้องเลี้ยงกิน ต้องซื้อที่เขาเลี้ยงแล้วเอามาขายแล้วเราก็ซื้อมากินอีกที
ได้ยินว่าลิโด้จะปิดมานานแล้ว เขาบอกว่าสงสัยจะอยู่ถึงปี 61 นะ แต่ว่าเราก็ยังไม่เชื่อเท่าไหร่เพราะเจ้านายยังไม่บอก ก็เลยยังอยู่มาเรื่อยๆ แต่พอมาถึงวันนี้เราก็ใจหาย เราก็แก่แล้ว อยู่ที่นี่มานานแล้ว ก็ไม่คิดจะไปหางานทำที่อื่น กลับบ้านดีกว่า พวกเด็กรุนใหม่ที่ยังไม่แก่เขาก็ยังไปหางานทำได้อยู่
ตอนมาทำงานที่นี่ใหม่ๆ พี่ก็เข้าไปดูหนังในโรงบ้างนะ เราอยู่บ้านนอกใช่มั้ยไม่เคยเห็นโรงหนัง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้เข้าไปดูแล้ว เราก็ยุ่งกับงานตรงนี้ ไม่ค่อยได้ดู เวลาเลิกงานน่ะจะเดินเข้าไปดู แต่ก็ดูไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก ก็อ่านซับไป ก็โอเค สนุกอยู่นะ
กับโรงลิโด้เราก็ผูกพันนะ มาอยู่ตรงนี้คอยทำความสะอาด แต่ที่ทำให้เรามีความสุขคือจะมีคนชมว่า พี่…ห้องน้ำสะอาดนะ และเราก็พอใจดีใจที่ว่าเราทำไปแล้วก็มีคนชมนะ เราจะคอยพัฒนาตัวเอง ไม่อยากให้มีคนมาเข้าแล้วก็ โอ๊ย ห้องน้ำสกปรกจังเลยพี่ ไม่อยากได้ยินแบบนั้น พอได้ยินเขาชมเราก็จะมีกำลังใจทำงาน รักงานตรงนี้ แต่เมื่อถึงเวลาเราก็ต้องทำใจ ทั้งที่เราก็จะคิดว่าเป็นไปได้ยังไงนะ ไม่น่าจะมาถึงวันนี้ได้ที่โรงหนังปิด ทำงานนี่ก็ยังสนุกกับงานอยู่เลย
บุญส่ง หมื่นตุ / พนักงานนำบัตรโรงหนังลิโด้
ทำงานมาตั้งแต่ตุลาคม ปี 2538 ทำทั้งที่ลิโด้และสกาล่าสลับกัน ถ้าสกาล่าคนขาดเราก็ไปช่วย ช่วงแรกๆ ที่ทำงานคือทำหน้าที่เดินส่งคนเข้าในโรง จากนั้นก็มายืนฉีกตั๋วให้ลูกค้าที่หน้าประตู พอหลังจากนั้นก็มาทำหน้าที่นำตั๋ว พอหนังเลิกก็เอาตั๋วไปส่งที่ออฟฟิศด้านบน การทำงานในแต่ละวันก็คือเข้างานก่อน 11 โมง จนถึงหนังรอบดึกเลิก ถ้าไม่ต้องอยู่เวรก็กลับบ้าน ถ้าเป็นเสาร์อาทิตย์ก็แล้วแต่รอบหนัง ถ้ามีรอบเช้าบางทีก็ตั้งแต่เก้าโมงครึ่ง
ถ้ามีหนังที่เราชอบเราก็จะเข้าไปนั่งดูบ้าง นั่งดูจนจบเลย ถ้ามีหนังที่รอบห่างจากอีกโรงเราก็มานั่งดูเต็มๆ ได้ อย่างบางเรื่องห่างจากอีกรอบ 5 นาทีแบบนี้ก็ดูไม่ได้
หลังจากนี้ก็ไปดูๆ งานแถวสยามไว้บ้างแล้ว รู้ข่าวว่าที่นี่จะปิดก็ตั้งแต่เมื่อครึ่งปีที่แล้ว ใจหาย เพราะอยู่มานานเป็นเหมือนบ้านหลังที่สองเลย ส่วนมากจะอยู่ที่ทำงานมากกว่ากลับบ้าน บางทีก็เข้าเวรดึก อาทิตย์หนึ่งก็ถึงจะกลับห้องที
พูดถึงการทำงานที่นี่ก็รู้สึกภูมิใจ พนักงานที่นี่ทุกคน แม้แต่ผู้จัดการก็เป็นกันเองมาก ส่วนความลำบากใจในการทำงานก็มีบ้างเล็กน้อยอย่างเวลาลูกค้าบางคนอาจจะไม่ฟังเราบ้าง เช่น ห้ามเข้าโรงก่อนเขาก็จะเข้าไปนั่ง ก็พูดยาก อุปสรรคการทำงานก็มีแค่นั้น แต่เราสนุกกับงาน รักงานที่ทำ
แทนปิติ สุภัทรวณิชย์ อายุ 17 ปี / ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ดูหนังครั้งแรกที่นี่เมื่อสามปีก่อน เรื่องแรกน่าจะเป็น Sing Street มาดูน่าจะเดือนละครั้งหรือสองเดือนครั้ง เพราะลิโด้จะมีหนังที่ไม่ได้เข้าฉายที่อื่น ผมชอบความรู้สึกแบบนี้ มันให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากโรงใหญ่ๆ มันมีความกันเองมากกว่า ผมชอบการที่มีคนมาฉีกตั๋วให้ที่หน้าโรง ผมชอบเก็บหนังรางวัลด้วยและลิโด้จะเอาหนังรางวัลมาฉายเยอะ อย่างช่วงออสการ์ผมเก็บแทบทุกเรื่องจากที่นี่นะ แต่หนังบล็อคบัสเตอร์ ก็มีไปดูโรงใหญ่บ้าง
ไม่มีลิโด้แล้วหนังหายากๆ ก็คงต้องไปดูที่เฮาส์ อาร์.ซี.เอ.
อยากฝากถึงลิโด้ว่า ถึงผมจะมาดูหนังที่นี่ได้ไม่นานถ้าเทียบกับคนอื่นๆ ผมเป็นคนรุ่นใหม่ด้วย แต่ผมก็รักและผูกพันกับที่นี่ ผมดูหนังจากที่นี่เยอะมากๆ ที่นี่ทำให้ผมได้รู้จักหนังหลายๆ แบบทำให้ผมเริ่มดูหนัง ดูแทบทุกแบบทุกแนวที่นี่เลย จะคิดถึง และจดจำ และเอาไปเล่าให้คนรุ่นต่อๆ ไปฟังว่าที่นี่เคยมีลิโด้
วิไลรัตน์ อังกาบแก้ว อายุ 57 ปี / พนักงานแผนกบัญชีลิโด้
ทำงานมา 38 ปีแล้ว ตั้งแต่เรียนจบก็มาทำงานที่เลย ทำงานมานาน ที่นี่เหมือนบ้าน อบอุ่นเหมือนครอบครัว มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน
ระหว่างทำงานก็เคยมีแอบๆ ลงมาดูหนังเหมือนกันนะ (หัวเราะ) แต่ก็ไม่ได้นั่งยาว วิ่งเข้าวิ่งออก พอพักก็มาดูต่อ เรื่องไหนดังๆ หน่อยก็จะมาดู ชอบดูหนังแอ็คชั่น ตลก การ์ตูน เอาไว้ตอบคนดูด้วย เผื่อบางทีมีคนโทรมาถาม เราได้รับโทรศัพท์บ้างก็คอยช่วยตอบ ทุกคนก็จะช่วยงานกันหมดแบบนี้
สองสามวันที่ผ่านมานี้คนมาเยอะมาก มีแปะโพสต์อิท เราอ่านแล้วก็ตื้นตัน เขารักเราขนาดนี้เลยเหรอ (ยิ้ม)
สุวัฒน์ ชิตามร อายุ 68 ปี
มาดูหนังที่นี่ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม เพราะสมัยนั้นสยามฯ นี่เป็นที่ฮิตเลย สมัยนั้นโรงที่ดูก็นี่แหละ สยาม ลิโด้ สกาล่า แมคเคนนา เป็นคนชอบดูหนัง แต่พออายุมากขึ้นก็จะไม่ค่อยเข้าโรงหนังแล้ว แต่กับที่นี่ก็ยังมาเรื่อยๆ นะ และวันนี้วันสุดท้ายก็ตั้งใจมาดูเลย เหลือตั๋วเรื่องอะไรก็ดู
สำหรับผมที่นี่เป็นเหมือนประวัติศาสตร์ของคนรุ่นหลัง มีความผูกพัน สำหรับความเปลี่ยนแปลงก็เป็นความเจริญที่ต้องพัฒนาไป ก็น่าจะโอเค แต่ถึงยังไงลิโด้ก็ยังคงเป็นที่ที่เราคิดถึงเหมือนคิดถึงเพื่อน
อัจฉรา ทองรอด / ฟรีแลนซ์
เริ่มมาดูลิโด้ตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัย ปี 2528 สมัยนั้นมีสามโรง สยาม ลิโด้ สกาล่า มาที่เดียวก็เลือกดูได้สามโรงสามแบบเลย ลิโด้ฉายหนังฝรั่ง สยามฉายหนังไทย มันสะดวกและเป็นที่รวมของวัยรุ่น
หลังจากเรียนจบแล้วตอนนั้นก็มีโรงใหญ่มาเปิดใกล้บ้าน ก็จะไปดูแถวนั้นสักพักนึง พอแต่งงานมีลูก ลูกก็เข้าสู่กระบวนการเรียนพิเศษก็กลับมาดูที่นี่ เวลาว่างน้อยลง แต่จริงๆ ระหว่างนั้นก็มาดูประปรายนะ แต่พอลูกเริ่มโตเรียนพิเศษ เราก็กลับมาดูอีกครั้ง
เป็นคนนิสัยเสียคือชอบดูหนังโรง (หัวเราะ) เลือกมาดูที่นี่ก็เพราะเรารู้ว่าเจ้าของกิจการเขาเป็นคนรักหนังด้วย เขาสนับสนุนหนัง อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เรายังรักลิโด้ สกาล่าอยู่ คือเรารู้สึกว่าเราสามารถจ่ายได้ในค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงเว่อร์ เราจ่ายกับมันได้อย่างสบายๆ แต่โรงใหญ่ๆ ถ้าเราไม่มีบัตรส่วนลด เวลาออกจากบ้านเพื่อมาดูหนังสักเรื่องค่าใช้จ่ายมันเยอะมาก ยิ่งมาเป็นครอบครัวก็ไม่ต่ำกว่า 500 บาทแล้ว
เราชอบดูหนังโรงจนคายตะขาบให้ลูกเป็นคนชอบดูหนังโรงไปด้วย (หัวเราะ)
สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่นี่ก็เข้าใจว่ามันเป็นอนิจจัง เข้าใจเหตุปัจจัยที่เขาปิด มีโอกาสก็อยากจะมาในวันนี้ แต่ก็ไม่ได้อยากฟูมฟายมาก
เราทั้งเห็นใจและเห็นหัวใจของผู้บริหารที่นี่ เนื่องจากเราทำงานฟรีแลนซ์ก็มักจะมาดูหนังในวันธรรมดา บางวันเราเข้าไปแล้วเห็นคนในโรงไม่ถึงห้าคนแต่ก็ต้องฉาย ถ้าเขาไม่ได้รักหนังจริงๆ เขาคงไม่ยืนหยัดมาในราคาค่าตั๋วเท่านี้ ราคาค่าตั๋วที่ขึ้นมานี่ก็รู้สึกว่าขึ้นมากกว่านี้ก็ได้นะ จาก 100 มาเป็น 120 แล้วก็ 140 เรารู้สึกว่า 150 ไปเลยก็ได้ (หัวเราะ) เราก็เป็นคนธรรมดาที่อยากช่วยให้เขาอยู่ได้ การมาดูหนังที่นี่ก็น่าจะเรียกว่าเป็นคอเดียวกันมั้ง คนที่รักหนังเหมือนกัน ชอบดูหนังเหมือนกัน
ตอนที่รู้ว่าลิโด้จะปิด เรารู้สึกว่ามันไม่เกินความคาดหมาย เราเข้าใจว่าสักวันก็ต้องปิด แม้จะไม่ได้มีคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรมขนาดลิโด้ แต่ก็มีคุณค่าทางจิตใจ อยู่เป็นเพื่อนเรามาตั้งแต่เด็กๆ
ฝากถึงลิโด้ว่า “nice to see you as always” เรามาที่นี่เรารู้สึกโอเคมาก ขอบคุณที่เลือกหนังดีๆ มาให้เราดู หล่อหลอมและปลูกฝัง… เป็นเวทีของหนังหลายๆ แบบ การได้ดูหนังจากชาติต่างๆ มันทำให้เราได้เรียนรู้ เพราะหนังมันคือวัฒนธรรม เป็นเวทีที่สำคัญในชีวิตคนคนหนึ่งที่ได้เติบโตมากับหนัง ไม่มีลิโด้ก็คงโหวงๆ ยังนั่งคิดว่าฉันจะไปดูหนังคุโรเอดะที่ไหน ดูหนังจิบลิจากที่ไหน คนที่เรารักและสนิทด้วยหายไปจากชีวิตเราก็คงโหวง แต่ไม่ถึงขนาดเสียใจเพราะเราเข้าใจ
โมเลกุล จงวิไล / นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ปี 3
มาดูที่ลิโด้ตั้งแต่สมัย ม.1 ประมาณ 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นไม่เคยดูหนังในโรงมาก่อนเพราะอยู่บ้านนอก พอเข้ามาในเมืองก็อยากดูหนัง คุณพ่อก็เลยพามาดูที่นี่ ครั้งแรกที่ดูคือสกาล่า ครั้งที่สองที่ลิโด้เรื่อง Doubt เป็นหนังชิงออสการ์ด้วยก็เลยมาดู เพราะตอนนั้นไม่มีฉายที่ไหน มีแค่ที่นี่
เป็นคนชอบดูหนังมาก ปกติดูสัปดาห์ละเรื่องเลย ถ้าเป็นหนังรางวัล หนังนอกกระแส หนังญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ก็จะมาดูลิโด้ เพราะที่อื่นไม่มีให้ดู ช่วงเทศกาลรางวัลอย่างออสการ์เราก็จะมาดูที่นี่บ่อย เพราะว่าหนังออสการ์ส่วนใหญ่ก็มาลงที่นี่ ที่อื่นไม่ค่อยมี
สำหรับเราลิโด้เป็นเหมือนตัวแทนภาพประวัติศาสตร์ของโรงภาพยนตร์สมัยนี้ เพราะก็ 50 ปีมาแล้ว แล้วบรรยากาศต่างๆ ก็ยังคงเดิม ทุกอย่างเป็นความทรงจำของคนรุ่นก่อนที่ยังอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ เวลาเราเดินเข้าลิโด้เหมือนเราได้เดินย้อนอดีตสมัยก่อนที่พ่อเราดูหนังมันเป็นยังไง ซึ่งบรรยากาศนี้มันไม่มีอีกแล้ว โรงตั๋วแบบฉีกด้วยมือ ตั๋วเป็นลายดอกไม้ หรือพนักงานที่พาเราไปนั่งเก้าอี้ มันเป็นบรรยากาศที่สัมผัสไม่ได้จากที่อื่น ก็สะสมตั๋วด้วยเพราะมันยูนีคมากๆ หาไม่ได้แล้วก็เลยไม่ทิ้ง
พอรู้ว่าลิโด้จะปิดก็ทำใจมาสักพักนึงแล้วนะ เพราะมันมีเรื่องการต่อรองสัญญามาสองสามปีแล้ว เราก็เลยพอจะรู้ว่ายังไงก็ต้องปิดแน่ ในเชิงธุกิจเขาก็ไม่ได้มองโรงหนังในเชิงคุณค่าทางวัฒนธรรมอยู่แล้ว ในฐานะที่เรียนทางด้านภาพยนตร์มาเราก็มองว่าขอบเขตเรื่องหนังของคนไทยมันก็ไม่ได้มีอะไรเกินไปกว่าแค่ความบันเทิง แน่นอนว่าเบสิคแล้วทุกคนก็ดูหนังเพื่อความบันเทิง แต่ว่าในหลายๆ ประเทศที่วัฒนธรรมด้านนี้เขาก็ไม่ได้มองแค่ความบันเทิง เขามองว่ามันเป็นศาสตร์ มันบอกถึงตัวตน ชีวิต ความครีเอทีฟ ความคิดสร้างสรรค์ เล่าประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นโรงที่ต่างประเทศเขาจะทำทุกทางให้มันอยู่ แต่นี่ก็เป็นสังคมไทยที่เราก็ไม่ได้เติบโตมากับภาพยนตร์อะไรขนาดนั้น เพราะฉะนั้นก็เลยเข้าใจได้ว่าทำไมถึงมาสิ้นสุดตรงจุดนี้ เสียใจ แต่ทำใจมาแล้ว
ศาสวัต บุญศรี / อาจารย์สอนภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เริ่มดูหนังที่ลิโด้ตั้งแต่ปี 47 เมื่อก่อนเรียนอยู่แถวนี้ก็เลยแวะเวียนมา แต่ช่วงที่มาดูบ่อยๆ คือปี 52 หนังเรื่องแรกๆ ที่ดูที่จำได้คือ 20th Century Boy ภาค 3
มาวันนี้ก็มาดูหนังเงียบ เป็นคนที่ตามดูหนังเทศกาลและมันมาตรงกับวันสุดท้ายพอดี
รู้ข่าวว่าลิโด้จะปิดมานานพอสมควรแล้ว ความรูสึกก็คือเข้าใจและยอมรับ ในทางหนึ่งก็เสียดายเหมือนกับทุกคน เพราะว่าก็ต้องยอมรับว่าที่นี่ก็มีความหลากหลายของหนังที่ฉาย คือในหมู่คนดูหนังจะรู้ว่าหนังที่นี่จะเข้าอยู่ประมาณสามสี่สัปดาห์ อย่างน้อยที่สุดสัปดาห์สุดท้ายก็จะมีเหลือสักรอบนึง ถ้าเราพลาดไปเราก็จะมาเก็บได้ ซึ่งพอลิโด้ไม่มีแล้วนั้นโอกาสที่จะเก็บหนังที่บางทียิ่งกว่านอกกระแส บางทีมันหลุดโรงที่อื่นไปแล้วมันก็ยิ่งยาก ใจนึงก็เข้าใจได้นะ ถ้าคนมาดูที่นี่ด้วยจำนวนที่เหมือนกับสัปดาห์นี้เขาก็คงอยู่ได้ (หัวเราะ) อีกนัยหนึ่งเขาก็ทำด้วยใจรัก เราก็รู้ว่ามันไม่ได้กำไร คือการถูกบีบด้วยสัญญาก็เรื่องหนึ่ง อีกทางหนึ่งเราก็เข้าใจในแง่ของโมเดลทางธุรกิจว่าเขาก็ไม่ไหว
ถ้าให้พูดแบบไม่โรแมนติกก็คือ ระยะหลังคนไม่ค่อยดูที่ลิโด้กันเพราะว่าจอมันมืด ระยะหลังคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่หรือคนที่เขาไม่ได้จำเป็นต้องมาดูที่นี่ เขาก็อาจจะเลือกชอยส์อื่น แต่เราก็ยังวนเวียนมาลิโด้อยู่เสมอ เพราะว่าหนังมันมีลักษณะเฉพาะเจาะจง ซึ่งก็จะมีแค่ ลิโด้ เฮาส์ เซ็นทรัลเวิลด์ก็…แพง ก็มาดูลิโด้ดีกว่ามีความสบายใจ เราจะไม่ค่อยเจอคนเล่นมือถือในโรง คนคุยกันในโรง นี่เป็นสิ่งที่คนมาลิโด้สบายใจและชอบที่เจออะไรแบบนี้ ไม่ต้องเจอโฆษณายาว ซึ่งในแง่ธุรกิจมันก็ไม่ดีนะ (หัวเราะ) เลือกที่นั่งได้สบาย คนไม่เยอะจนเกินไป และคนที่มาดูก็ค่อนข้างตั้งใจดูหนัง ซึ่งมันสงบสุขดี
ถ้ามองในแง่โรแมนติกก็คือชื่อของลิโด้ติดอยู่กับหนังนอกกระแส ในทางหนึ่งมันจึงเหมือนโอเอซิสเมืองไทย-ของคนกรุงเทพฯ ที่สนใจดูหนังประเภทนี้ และยิ่งเฉพาะในยุคก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มี Netflix BitTorrent ก็จะมีสองที่คือลิโด้กับเฮาส์ ซึ่งเฮาส์จะไปยาก ที่นี่จึงมีความทรงจำว่าเราเคยดูหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่เราไม่ค่อยได้ดู
กับวันสุดท้ายของลิโด้ก็รู้สึกเฉยๆ มากเลยนะ คือส่วนหนึ่ง
พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ / ช่างภาพ
ดูตั้งแต่เรียนปีหนึ่ง ปีนี้เข้าปีที่ 18 แล้ว เข้าปีหนึ่งตอนปี 2000 พอดี
ลิโด้ต่างจากที่อื่นตรงที่นั่ง แล้วก็คนที่เข้ามาดูหนังมีความตั้งใจมาดูหนังมากกว่า แล้วก็บรรยากาศ แล้วก็พนักงานเป็นกันเอง ส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าโรงหนังในห้างมันเป็นยังไงนะ แค่รู้สึกว่ามาที่นี่คนให้เกียรติกับสถานที่มากกว่า
ถ้าที่นี่ปิดไปก็ดูสกาล่าครับ ถ้าสกาล่าปิดตอนนั้นก็คงตามกระแสมั้งครับ อาจจะเป็นพวกโรงหนังทางเลือกอื่นๆ หรือไม่ก็เป็นการจัดแบบ Documentary Club ประมาณนี้ครับ ก็เป็นกลุ่มคนรักหนังที่ไปดู อันนั้นคือที่เราอยากไปดูกับคนหลายๆ คนที่มีความชอบเหมือนกัน จะตามโรงของกลุ่มคนรักหนังอยู่ แต่ถ้าแบบนั้นจะเป็นที่ไปดูกับคนหลายๆ คนที่มีความชอบเหมือนกัน ก็จะเป็นลักษณะนั้นมากกว่า
มีความเสียดายครับ จริงๆ อยากให้มีความคงอยู่ ถ้าไม่ใช่ลิโด้ก็ต้องมีสกาล่าอยู่ เพราะประเทศไทยตอนนี้จริงๆ ก็อาจจะเหลือที่เดียวด้วยซ้ำมั้ง โรงหนังตั้งแต่แบบ โรงเซนจูรี่ แมคเคนนา โอเอ พวกนั้นก็ไปหมดแล้ว เปลี่ยนผันให้มันอยู่รอดด้วยแบบระบบ union mall ตอนนี้ stand alone มันน่าจะเหลืออยู่ที่เดียวคือที่นี่
แล้วสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงามและคลาสสิก ทั้งดีเทล ทั้งอะไรต่างๆ นานา อยากให้คงรักษาไว้ มันไม่ยากหรอกที่จะเก็บ
มองว่าที่นี่คือบ้านเพื่อน เพราะไปบ้านเพื่อนแล้วเราสบายใจ มันเหมือนกับเรากล้าพูด กล้าปลดปล่อย วันนี้ผมเพิ่งตั้งสเตตัสเฟซบุ๊คไปว่า ขอบคุณที่เป็นที่ที่เราสามารถร้องไห้ได้ ไปพร้อมกับคนที่เราไม่รู้จักเลย แล้วก็หัวเราะกับเขาไปได้ด้วย
แต่ส่วนใหญ่ผมชอบมาดูหนังคนเดียว ที่นี่ก็เป็นที่แรกที่ผมเริ่มดูหนังคนเดียว แต่จำไม่ได้นะว่าดูเรื่องแรกเรื่องอะไร เพราะว่าอาจจะเข้ามาหลับ แต่มันสบายใจ อารมณ์เหมือนอยู่บ้านเพื่อน หรือบ้านคนรู้จักที่สนิทอะ แรกๆ มันไม่ใช่ comfort zone หรอก แต่พอเรามาคลุกคลี มันก็กลายเป็นคอมฟอร์ตโซนของเรา มีความคุ้นชิน
คนที่เข้ามาดูก็จะรู้สึกเสียดายไม่ต่างจากผมหรอก บางคนมากกว่าผมด้วย คนที่ดูมาก่อนเราเขาอาจจะแบบ 50-60 แล้ว แต่เขายังมาดูหนังอยู่ เด็กรุ่นเราหรืออายุน้อยกว่าเรา อาจจะไม่รู้สึกผูกพันขนาดนั้น แต่มันก็รู้สึกใจหายแหละ ทุกอย่างมันต้องก้าวต่อไป ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้รักษาสิ่งที่สวยงามไว้
มันคือแลนด์มาร์คนะ อย่าทำลายแลนด์มาร์คไปมากกว่านี้เลย
สุพิชญา คะตา & มณีวรรณ สุวรรณ / ม.6 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
สุพิชญา: มาดูที่นี่ครั้งแรกค่ะ เรื่อง Kids on the Slope รอบเที่ยง ตัดสินใจดูเพราะไม่เคยมา ไม่ค่อยได้ดูหนังโรงเท่าไหร่ค่ะ นี่เป็นวันสุดท้ายแล้วค่ะ
มณีวรรณ: มาอำลา ใจหายค่ะที่จะไม่มีแล้ว ในทวิตเตอร์มันจะมีแฮชแท็ก #ลิโด้ อะไรแบบนี้อะค่ะ ก็เลยมาเป็นครั้งสุดท้ายดีกว่า
สุพิชญา: มาแล้วก็รู้สึกดีนะคะ แล้วหนังมันก็ทำให้เราอินด้วยค่ะ ถ้าต่อไปจะไม่มีแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง เพราะว่าหนูก็เคยมาดูสกาล่าเหมือนกัน แต่ว่าลิโด้เนี่ยยังไม่เคย นี่ก็เป็นครั้งแรกแล้วก็ครั้งสุดท้ายแล้วด้วย (หัวเราะ) เราก็เลยแบบ ใจหายเนอะ จะไม่มีแล้ว
เขาอยู่กับเรามานานเนอะ หนูก็ผ่านบ่อยเหมือนค่ะ แต่ก็ครั้งสุดท้ายแล้ว ก็ดีใจที่มีโรงหนังดีๆ แบบนี้
วรสา แก้วกล้า / พรพิมล พิมต์ตา / นักเรียนโรงเรียนสายปัญญา ในพระบรมราชินูปถัมภ์
วรสา: มาดูตั้งแต่ อยู่ ม.ต้น ค่ะ เรียนพิเศษแถวนี้แล้วคุณแม่ชอบมาดูหนัง แม่ชอบมาที่นี่ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่แล้ว อยู่มานาน ไม่อยากให้ปิด เรื่องแรกที่ดูคือ Sing Street และเรื่องล่าสุดที่นี่คือ Avengers ค่ะ
ลิโด้เป็นเหมือนหมู่บ้านค่ะ เป็นสถานที่ที่รวมตัว เป็นสถานที่ที่มากินข้าว จะแฮงเอาท์กับเพื่อนก็ที่นี่ ดูหนัง ทำทุกอย่าง แต่คิดว่าทุกอย่างมันต้องเดินหน้าอะคะ
ก็คงคิดถึงมั้ง เราไม่อยากให้หายไป แล้วมันก็หายไปจริงๆ ทุกอย่างมันต้องเปลี่ยนไปในสภาพที่ดีขึ้น ก็แล้วแต่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปยังไง
พรพิมล: หนูมาดูตอนช่วง ม.ปลายค่ะ มันสะเทือนใจนะคะ เพราะว่าอยู่มานานแล้วเนอะ มีอะไรก็ไปลิโด้อย่างเนี้ย แต่ก่อนแม่มาดูหนังก็มาดูกับพ่อ จะเที่ยวจะกินข้าวก็ที่นี่
มันมีเก่ามีใหม่ มันก็ต้องเปลี่ยนไปตามเวลา คงคิดถึงอะคะ บรรยากาศที่คร่ำครึ (หัวเราะ)
เอกวิน คมโนภาส / พนักงานบริษัท (ทำโปสการ์ดมาแจก)
ดูมาตั้งแต่สมัยเรียนปีหนึ่งครับ ผมเรียนที่จุฬาฯ แล้วส่วนใหญ่ก็โดดเรียนออกมาดู ดูมาประมาณสักแปดเก้าปีมาแล้วครับ เรื่องแรกที่ดูคือ Paris je t’aime ครับ
ครั้งแรกที่มาดูที่สกาล่า หูย ตื่นเต้น ตอนนั้นคือแค่เข้าโรงอะครับ มันจะมีบันไดใหญ่ๆ แล้วก็มีแชนเดอเลีย บรรยากาศแบบน่ารัก ซื้อตั๋วก็น่ารัก ใช้ปากกาขีด
ก่อนที่จะมาเรียนจุฬาฯ ก็คือ อยู่ฝั่งธนฯ อะครับ ก็จะดูพวก Major เป็นหลัก แล้วเพื่อนชวนมา เป็นหนังแปลกๆ หนังฝรั่งเศสที่ผมไม่เคยดูไง เราก็อยากดู
ข่าวการปิดตัวผมตามมาตั้งแต่สองสามปีที่แล้ว ที่เขาบอกว่าจะปิด ก็ตามมาตลอด ความรู้สึกตอนนั้นก็เสียดาย คือถ้าปิดจริงนี่เสียดายมากนะครับ เพราะจริงๆ ไม่อยากให้ถึงวันนี้เลย
ใจหายเนอะ จริงๆ มาดูตั้งแต่รอบเที่ยงเลยครับ แล้วซื้อตั๋วทุกรอบ มาดูทั้งวัน อยู่ตั้งแต่เช้าละ เมื่อกี๊เพิ่งดู Terminal แล้วเดี๋ยวไปดูหนังเงียบต่อ แล้วก็ปิดท้ายด้วย Kids on the Slope จะอยู่จนกว่าเขาจะไล่กลับอะครับ
ที่ทำโปสการ์ดมาแจกเพราะอยากให้คนนึกถึงลิโด้ครับ ทำมาพันใบ เสื้อที่ใส่นี่ก็ทำเองเหมือนกัน
ขอบคุณที่อยู่เป็นเพื่อนกันมา ทุกครั้งที่เครียด หรือว่าอยากจะหาที่ผ่อนคลายก็จะมาที่นี่ตลอด จริงๆ ผมก็ชอบเข้าก่อนหนังฉายนะ มีเพลงคลาสสิกเปิดนั่งฟังเฉยๆ ก็สบายใจดี เหมือนหลุดเข้าไปอยู่อีกโลกนึงอะครับ
ที่เขาบอกว่า “อย่าเสียดายที่มันหายไป ให้ดีใจที่มันเคยอยู่”
นภาพร ฑีฆะบุตร อายุ 22 ปี / นักเรียนสถาบันการบินพลเรือน ปี 4
มาดูสมัยตอนอยู่ ม.ปลาย เราเรียนพิเศษที่นี่ ชอบดูหนังญี่ปุ่น ส่วนใหญ่มาดูคนเดียวค่ะ เพราะว่าเพื่อนไม่ค่อยชอบดูหนังรักโรแมนติก เรื่องล่าสุดที่ดูคือ Peach Girl
ก็เสียใจนิดนึง เพราะว่ามาดูที่นี่ตลอด ก็อยากให้อยู่ด้วยกันไปนานๆ แต่มันก็คงเป็นไปไม่ได้แล้ว