Greed: หัวเราะให้กับความเ-ี้ย

รู้หรือไม่…แรงงานผลิตเสื้อผ้า 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้หญิง

รู้หรือไม่…มหาเศรษฐี 9 ใน 10 คนของโลก เป็นผู้ชาย

รู้หรือไม่…เสื้อผ้าที่เหล่าไฮโซ เซเลบริตี้ ไปจนถึงเหล่าชนชั้นกลางเลือกซื้อแบรนด์ต่างๆ ตามห้างสรรพสินค้านั้น ถูกตัดเย็บโดยแรงงานสตรีจากประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมงเพื่อแลกกับค่าแรงไม่ถึง 4 ปอนด์ต่อวัน (160 บาท)

และรู้หรือไม่…ทรัพย์สินของมหาเศรษฐี 26 คนมีมากกว่าของประชากร 3,800 ล้านคนบนโลกรวมกันซะอีก…

Greed

/ɡrēd/ [n.] – ความโลภ

เป็นชื่อผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ ไมเคิล วินเทอร์บอตทอม (Michael Winterbottom) ผู้กำกับชาวอังกฤษเจ้าของผลงาน The Trip และหนังรักอีโรติก หรือว่าเป็นหนังอีโรติกแนวรักที่คอภาพยนต์สายนี้ต้องเคยดูอย่าง 9 Songs

Greed ภาพยนตร์แนว Mockcumentary ที่บอกเล่าชีวิตอันจี๊ดจ๊าด แสบสันสุวรรณภูมิ ของตัวละครสมมุติ เซอร์ ริชาร์ด แมคเครดี (Sir Richard McCreadie) ฉายา Richy McGreedy (ริชชี จอมละโมบ) มหาเศรษฐีไอริชเจ้าของธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้าชื่อดังหลายแบรนด์บนเกาะอังกฤษ ที่มีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่แสนจะอู้ฟู่ หรูหรา ถ้าเป็นบ้านเราก็ประมาณว่าเขาคือไฮโซในหมู่ไฮโซอีกทีนั่นแหละ แต่ด้วยธุรกิจที่มากมายล้นมือหลายๆ แบรนด์ที่เขาสร้างขึ้นมามีทั้งที่ไปได้สวยและขาดทุน เป็นเหตุทำให้ ริชชี จอมละโมบ ต้องขึ้นไปให้การต่อหน้าวุฒิสภา ส่งผลทำให้ชื่อเสียงจากที่เป็นไอคอนิคแห่งโลกแฟชั่น ตัวแทนของความร่ำรวยเริ่มด่างพร้อย

เขาถูกสื่อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเอาเปรียบพนักงาน เอาเปรียบผู้บริโภค ถูกกล่าวหาว่าเขาคือต้นทางแห่งความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ ทำให้พันธมิตรต่างๆ ไม่ว่าในวงการธุรกิจ วงการแฟชั่น หรือกระทั่งเพื่อนฝูงในแวดวงไฮโซ เริ่มตีตัวออกห่าง ไม่ค่อยอยากจะร่วมสุงสิงด้วย

แมคเครดีจึงปิ๊งไอเดียจัดงานปาร์ตี้วันเกิดอายุ 60 ปีของตัวเองบนชายหาดหรูในประเทศกรีซ ในธีม The GodFather ผสมกับ Gradiator และตำนานเทพปกรณัมกรีก โดยจัดเต็มทั้งทีมโปรโมท ทีมจัดอีเวนท์ ออร์แกไนซ์ ทีมถ่ายทำหนังสารคดี แรงงานมากมายมาช่วยจัดงานแซยิดที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้ โดยหวังว่าจะเป็นการชิงพื้นที่สื่อ สร้างความน่าไว้ใจ เรียกความน่าเชื่อถือของตัวเองกับเหล่าพันธมิตร และพองตัวแสดงให้โลกนี้ได้รู้ว่าใครกันแน่ที่เป็นตัวจริง

ส่วนตัวคิดว่าความเจ๋งของหนังเรื่องนี้มันคือการดำเนินเรื่องไปกับเส้นเรื่อง 3 เส้นที่ตัดสลับในประเด็นต่างๆ ไปมา

เส้นที่หนึ่ง กว่าจะมาเป็น เซอร์ ริชาร์ด แมคเครดี ผู้ยิ่งใหญ่ ดำเนินเรื่องผ่านตัวละครนักเขียนที่ริชชีจ้างให้คอยติดตามเขาไปในทุกๆ ที่ เพื่อเขียนหนังสือชีวประวัติของตน ที่เขาเรียกมันว่า ‘ตำนานอันยิ่งใหญ่’ เป็นเส้นเรื่องที่เราจะเห็นการเติบโตของ เซอร์ ริชาร์ด แมคเครดี ตั้งแต่สมัยไฮสคูลในโรงเรียนเอกชนไฮโซผู้ดีอังกฤษแห่งหนึ่ง เราจะได้รู้ว่าอะไรที่หล่อหลอมให้เขามีมุมมองต่อโลกอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สลับกับการสัมภาษณ์เพื่อนร่วมงาน คนใกล้ชิด ไล่ลำดับตามไทม์ไลน์ในชีวิตไปเรื่อยๆ

สอง คือเรื่องราวการจัดปาร์ตี้ของ ริชชี จอมละโมบ ที่ต้องดีลปัญหาต่างๆ นานา กับเหล่าพันธมิตรชนชั้นสูงให้มาร่วมงาน สื่อที่จ้องจะโจมตีเขาทุกความเคลื่อนไหว ปัญหาร้อยแปดกับทีมจัดงานเพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์และทันเดดไลน์ให้ได้ ไหนจะเรื่องผู้อพยพชาวซีเรียที่มาตั้งแคมป์ลี้ภัยที่ชายหาดสุดหรู ใกล้สถานที่จัดงานแซยิดของเขาอีก

เราจะได้เห็นการใช้ชีวิตธรรมด๊าธรรมดา (ตรงไหนวะ) ของมหาเศรษฐีในแต่ละวันบนชายหาดประเทศกรีซกับครอบครัวและเหล่าบริวาร มหาเศรษฐีผู้ไม่สนใจว่าทุกย่างก้าวที่เขาเดินผ่าน จะมีใครโดนเอาเปรียบหรือถูกเขาเหยียบย่ำให้จมดินบ้าง

เส้นเรื่องสุดท้าย คือ แรงงานหญิงสาวลูกจ้างในโรงงานเย็บผ้าแห่งหนึ่งในประเทศศรีลังกาที่ ริชชีใช้เป็น outsource ในการผลิต ผ่านการตามสัมภาษณ์ของตัวละครนักเขียน ที่ถูกจ้างมาเขียนหนังสือชีวประวัติเยินยอ เซอร์ ริชาร์ด แมคเครดี แต่ทำไปทำมา จับพลัดจับผลูมาสนุกกับการอัดเสียงสัมภาษณ์ ถ่ายวิดีโอสารคดี เบื้องลึกเบื้องหลังของเส้นทางการผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของวงการแฟชั่น

อ่านมาถึงตอนนี้อาจจะเริ่มงงๆ แล้วว่าหนังมันอารมณ์ไหนกันแน่ ทีแรกอาจจะนึกว่าเป็นหนังแฟชั่นนิสต้าที่เสียดสีจิกกัดความเป็นระบบทุนนิยม ที่มีความเฟียร์สปนความฮา ไปๆ มาๆ มีเรื่องธุรกิจ มีเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำของชนชั้นในสังคม แถมมีปัญหาเรื่องผู้อพยพชาวซีเรียอีก! “หนังเรื่องนี้มันมาโทนอิหยังวะ!” แต่หนังก็เล่าเรื่องทั้งหมดที่อธิบายมานั้นผ่านการปรุงจนดูไม่ยากเลย ด้วยเรื่องราวต่างๆ ที่ถูกตัดสลับร้อยเรียงระหว่างชีวิตที่หรูหราของเหล่าอีลีทกับแรงงานหญิงในประเทศกำลังพัฒนา และแรงงานชนชั้นกลางที่เป็นส่วนร่วมในการจัดงานแซยิดนี้ ถูกนำมาเคี่ยวรวมกันได้เกือบจะกลมกล่อม  

โดยมีเครื่องปรุงสำคัญคืออารมณ์ขัน ทั้งมุกต่ำตม มุกเสียดสีบุคคลมีชื่อเสียงจากวงการต่างๆ ทั้งวงการแฟชั่น วงการธุรกิจ วงการบันเทิง ขยันยิงมารัวๆ แบบไม่ให้พักหายใจหายคอ (มีบางช่วงที่ได้ยินเสียงคนในโรงขำจนอุทานออกมาว่า “มุกเ-ี้ยมาก” ปนหัวเราะร่วนไปด้วย) แต่บางมุกก็ตลกร้ายเอามากๆ จนขำไม่ออกเหมือนกัน ยิ่งตอนท้ายเรื่องที่มีหลายเหตุการณ์ผุดขึ้นตรงโน้นนิดตรงนี้หน่อย ก็ทำเอาเสียงหัวเราะของคนในโรงแอบมีความหดหู่เล็กๆ ปนอยู่ไม่น้อย

หลัง End Credit จบ ระหว่างทางจากโรงภาพยนตร์ถึงทางเดินออกจากห้างผมมีความคิดในหัวที่ วิ่ง วน…วน…วน…จากการที่เพิ่งจะได้รับสารจากหนังมาสดๆ ร้อนๆ

เมื่อเหลือบไปมองสองข้างทางของห้างก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะได้เห็นดิสเพลย์หน้าร้านของแบรนด์ดังต่างๆ ที่แข่งกันจัดให้ดูสวยงามมีความอลังการงานสร้าง เพื่อประกาศให้แบรนด์อื่นๆ รู้ว่าฉันยิ่งใหญ่ สวยงามกว่าคู่แข่ง ไม่ต่างจากที่ ริชชี จอมละโมบทำเลย แต่ละร้านพยายามดึงดูดสายตาผู้คนให้อยากเดินเข้าไปเลือกจับจ่ายใช้สอย เมื่อมองไปบนหน้าจอโฆษณา LED ที่มีนายแบบนางแบบ สวยเฟียร์ส หล่อเท่ แต่งกายด้วยเสื้อผ้าแบรนด์ต่างๆ มันดูสวยงาม น่าหลงใหลไปหมด ซึ่งช่วยไม่ได้ที่เราจะมองไม่เห็นหยาดเหงื่อแรงงานของผู้คนจากประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมงเพื่อแลกกับค่าจ้างไม่ถึง 4 ปอนด์ต่อวัน 

เรามองไม่เห็นการถูกเอาเปรียบ การถูกกดขี่ และความยากลำบากของคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาเหล่านั้นในเสื้อผ้าหรูหรา เฟียร์สๆ ชิคๆ พวกนี้เลย

Author

เสฎฐวุฒิ โกมารกุล ณ นคร
บีชบอยจากบางแสนผู้ใช้เวลาว่างไปกับการการเสพดราม่าของประเทศไทย บางครั้งถ้าสิ่งที่เสพเข้าไปเป็นพิษ ก็จะขับถ่ายมันออกมาเป็นงานศิลปะและการ์ตูนแนวเสียดสีสังคม ภายใต้ชื่อ Sukhumvit Dangerous :): ติดตาม Dangerous Comics ได้ที่ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า