เมื่อไหร่กันนะที่ผู้ใหญ่วัยเริ่มต้น หรือเพิ่งแตกเนื้อหนุ่มสาว (และทุกนิยามความหลากหลายทางเพศ) ได้เซ็ตมาตรฐานความแก่ว่าเริ่มตั้งแต่อายุ 25 เป็นต้นไป #บ้าที่สุด อย่าปฏิเสธว่าไม่จริง คุณคงได้เคยยินเพื่อนที่อายุเลย 25 ปี บ่นว่าตัวเอง ‘แก่’ แล้วบ้างแหละ
พวกเขาแก่จริงๆ หรือแค่ ‘รู้สึกแก่’ กันแน่ และอีกครั้งที่เราจะย้ำว่า อย่าเพิ่งบอกว่าตัวเอง ‘แก่’ ถ้าคุณยังไม่เดินเข้าสู่วัย 68 ปี
ตัวเลขนี้ไม่ได้โผล่มาลอยๆ แต่มาพร้อมกับผลสำรวจโดย Pew Research Center Social & Demographic Trends สอบถามความเห็นชาวอเมริกันที่อายุแตกต่างกันจำนวน 2,969 คน ว่าส่วนใหญ่รู้สึกว่าตัวเองแก่ตอนไหน ซึ่งอายุเฉลี่ยที่คนส่วนใหญ่เห็นว่า นั่นคือ ‘จุดเริ่มต้น’ ของการเข้าสู่ความแก่คือ 68 ปี
[visualizer id=”35091″]
ข้อค้นพบที่น่าสนใจในผลสำรวจดังกล่าวคือ ในผลสำรวจมีกลุ่มคำถามกลุ่มหนึ่งเกี่ยวกับความรู้สึกทางอารมณ์ที่เราคาดว่าผู้สูงอายุจะรู้สึก เช่น ความเหงาเศร้า ความทรงจำที่ไม่แม่นยำ แรงบันดาลใจต่างๆ ปรากฏว่าในกลุ่มที่อายุมากๆ มักบอกว่าตัวเองไม่ได้ประสบกับความรู้สึกเช่นนั้นมากเท่าไรนัก แต่ในกลุ่มที่อายุน้อยกว่าระบุว่าตัวเองประสบปัญหาทางอารมณ์เช่นนั้นมากกว่า
กลับไปยังเส้นแบ่ง ‘ความแก่’ และ ‘ความกลัวว่าจะแก่’ กันอีกครั้ง
จริงอยู่ว่า เมื่อเราอายุมากขึ้น ระบบร่างกายเริ่มจะไม่แข็งแรงเท่าวันวาน ความทรงจำของบางคน ที่ไม่เท่ากันแต่ละช่วงวัย จะเริ่มกระตุกและเหมือนจะขมุกขมัว โรคภัยไข้เจ็บเริ่มถามหา โอเคว่านั่นมีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์มาขยายความอย่างชัดเจน แต่ ‘ความรู้สึกแก่’ กับ ‘การอายุมาก’ ใช่สิ่งเดียวกันแน่หรือ?
‘ความรู้สึกแก่’ กับ ‘การอายุมาก’ ใช่สิ่งเดียวกันแน่หรือ?
แดเนียล แคปแลน (Daniel B. Kaplan) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาอเดลฟี (Adelphi University) แห่งมหานครนิวยอร์ค อธิบายประเด็นนี้โดยเริ่มจากข้อสังเกตว่า เส้นแบ่งความแก่ของมนุษยชาติได้ถูกผลักขึ้นไปเพราะการพัฒนาทางการแพทย์ทำให้มนุษย์มีอายุยาวนานขึ้น โดยเฉพาะในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา อายุเฉลี่ยของชาวอเมริกันก็อยู่ที่ราว 79.1 ปี
กายาตรี เดวิ (Gayatri Devi) นักประสาทวิทยาแห่งโรงพยาบาลเลน็อกซ์ ฮิลล์ แมนฮัตตัน (Lenox Hill Hospital Manhattan) เล่าประสบการณ์จากการทำงานกับผู้สูงอายุในโรงพยาบาลมาหลายปีว่า เธอค้นพบความหมายของความรู้สึกแก่ที่แท้จริงจากคนไข้ที่อายุหลากหลายเหล่านี้
เธอเล่าถึงบทเรียนที่เธอชอบที่สุดจากคนไข้อายุ 101 ปีคนหนึ่ง ชายคนนั้นอธิบายว่า เขาพยายามจะเป็นเพื่อนกับคนหลากหลายอายุ ซึ่งนั่นทำให้การใช้ชีวิตของเขาสนุก ไม่น่าเบื่อ ไม่กลายเป็น ‘คนหัวโบราณ’ ซึ่งต่างกับ ‘คนที่มีอายุมาก’ มากนัก พร้อมกันนั้นมันช่วยทำให้เขา ‘move on’ จากความเหงาเพราะกลุ่มเพื่อนที่ตายจาก ห่างหาย หรือความเจ็บป่วยเนื่องจากอายุ
ปัจจัยเรื่องสุขภาพเป็นตัวชี้วัดสำคัญต่อความหมายของความแก่ แคปแลนเสนอว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรเตรียมตัว นอกจากการมีครอบครัวและช่วยเลี้ยงหลานให้เติบโตเป็นมนุษย์อย่างเต็มสมบูรณ์ คือการเตรียมพร้อมเรื่องเงินเก็บ ลงทุนกับหลักประกันในบั้นปลายชีวิต เช่น ประกัน สวัสดิการการรักษาพยาบาล และถ้าคุณมีครอบครัว ก็ให้ปรึกษากับพวกเขาว่าชีวิตบั้นปลายของคุณอยากจะใช้ชีวิตอย่างไร และช่วยกันเตรียมพร้อมให้มันเป็นแบบนั้น
นิยามแห่งความ ‘แก่’ ก็แค่ภาพเหมารวม
ทอม ลุดวิก (Tom Ludwig) ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทยาลัยโฮป (Hope College) รัฐมิชิแกน กล่าวว่า ความแก่เป็นคำที่ถูกผู้คนใช้เหมารวม (stereotype) เกินจริงไปมาก และนั่นทำให้เราสร้างข้อจำกัดของตัวเอง
ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องที่พูดเกินจริง ภาพการเหมารวมหรือตีตราว่าคนอายุมากไม่มีความสามารถจะทำอะไรได้ คล้ายเป็นคำพูดในเชิงดูถูก และมันจริงจังเจ็บปวด เป็นที่มาของโปรเจ็คท์ #DisruptAging สร้างแฮชแท็กและเปิดพื้นที่เว็บไซต์ให้ผู้คนเข้ามาพูดคุยถกเถียงในประเด็นนี้อย่างจริงจังเลยทีเดียว
“มีเหตุการณ์มากมายที่ต้องเกิดขึ้นในชีวิต วันเกิดที่เวียนมาอีกครั้ง อาชีพที่จะเปลี่ยนไป ข่าวการตายของพี่น้องและเพื่อนฝูง ให้จำไว้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทางผ่านของกาลเวลา แต่จงอย่าหยุดค้นหาความหมายในการมีชีวิต” แคปแลนกล่าว