ล่วงเข้าวันที่ 77 ของฮาคีมหากนับย้อนไปตั้งแต่วันแรกที่เขาก้าวเท้าเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2018 และถูกจับกุมตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิ เรื่องราวของนักฟุตบอลชายชาวบาห์เรนจึงได้เริ่มต้นขึ้น นำมาซึ่งการเคลื่อนไหวของหลายหน่วยงานเพื่อเรียกร้องให้ไทยดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชน และข้อถกเถียงว่าใครผิดใครถูก วันนี้เขาได้รับอิสรภาพและถือเป็นการสิ้นสุดข้อพิพาทในกรณีผู้ลี้ภัยชาวบาห์เรนผู้นี้ หากแต่เรื่องราวของฮาคีมได้ให้บทเรียนกับหลายหน่วยงานทั้งระดับนานาชาติและประเทศไทยมหาศาล และเพื่อทบทวนให้เห็นภาพรวมของเหตุการณ์นี้ เราอยากชวนมาย้อนดู 77 วันของฮาคีมในประเทศไทย เกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้าง
1.
จากเหตุการณ์ ‘อาหรับสปริง’ เมื่อปี 2011 ประชาชนในประเทศแถบตะวันออกกลางได้ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและประชาธิปไตยจากผู้ปกครองประเทศ เช่นเดียวกับบาห์เรน ประชาชนหลายหมื่นคนเริ่มออกมาเดินขบวนขับไล่รัฐบาลในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2011 หลังเหตุรุนแรงทางการเมืองครั้งนั้น ทางการบาห์เรนได้ระบุว่า ฮาคีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลทีมชาติ วัย 25 ปี คือหนึ่งในผู้ชุมนุม
2.
ฮาคีม อัล อาไรบี เป็นนักฟุตบอลเยาวชนทีมชาติบาห์เรน มีพี่น้องอยู่ในกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเผด็จการช่วงอาหรับสปริง ฮาคีมถูกตั้ง 4 ข้อหาคือ 1. ลอบวางเพลิง 2. ชุมนุมโดยผิดกฎหมาย 3. ครอบครองวัตถุไวไฟ 4. ทำให้รถยนต์ผู้อื่นเสียหาย ทว่า ฮาคีมปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยระบุว่าในวันที่เกิดเหตุเผาสถานีตำรวจ เขากำลังแข่งขันฟุตบอลอยู่ต่างประเทศ มีการถ่ายทอดสดตลอดเกม มีผู้ชมทางโทรทัศน์ รวมถึงมีพยานหลักฐานยืนยันได้ว่า เขาอยู่ในสนามฟุตบอล
3.
ฮาคีมอ้างว่าเขาถูกทางการบาห์เรนทรมานและกดดันให้รับสารภาพ เนื่องจากน้องชายเป็นหนึ่งในผู้ประท้วงรัฐบาลในช่วงอาหรับสปริง ฮาคีมยืนยันที่จะไม่รับผิด เพราะเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในกลุ่มผู้ชุมนุม เขาถูกคุมขังอยู่ 3 เดือน ก่อนได้ประกันตัวสู้คดี จากนั้นฮาคีมจึงสามารถเดินสายแข่งขันฟุตบอลในต่างประเทศได้อีกครั้ง ก่อนปี 2014 ศาลจึงมีคำสั่งตัดสินจำคุก ฮาคีม อัล อาไรบี 10 ปี
4.
ฮาคีมตัดสินใจไม่เดินทางกลับประเทศตัวเอง เขาบินตรงไปยังออสเตรเลียและทำเรื่องขอลี้ภัยทันที โดยระหว่างรอการพิจารณาสถานะผู้ลี้ภัย เขาลงเล่นให้กับสโมสรฟุตบอล Pascoe Vale ในลีกดิวิชั่นรองของออสเตรเลีย ทางรัฐบาลออสเตรเลียใช้เวลาตรวจสอบกว่า 3 ปี เพื่อตรวจสอบหาหลักฐานจนแน่ใจว่า ฮาคีม ไม่ได้มีความผิด และมอบสถานะผู้ลี้ภัยให้ฮาคีมในปี 2017 พร้อมสิทธิพำนักถาวรในประเทศ
ระหว่างนั้น เมื่อบาห์เรนไม่สามารถทำอะไรฮาคีมที่อยู่ในออสเตรเลียได้ จึงได้แจ้งคดีไว้กับ INTERPOL หรือองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ โดยระบุว่า ฮาคีม เป็นบุคคลที่มีความผิดทางอาญาและติดหมายแดงตามกฎหมายของประเทศบาห์เรน
5.
ฮาคีม แม้จะย้ายไปออสเตรเลียแล้ว แต่ยังกล่าวโจมตีและวิจารณ์รัฐบาลและผู้นำบาห์เรนอย่างเปิดเผย ครั้งหนึ่งเขาโจมตีประธานสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC) ชีค ซัลมาน บิน อิบราฮิม อัล-คาลิฟา (Salman Bin Ibrahim Al-Khalifa) ซึ่งเป็นสมาชิกในราชวงศ์บาห์เรน ว่าเป็นคนเลวมาก (very bad man) กับสิ่งต่างๆ ที่ทำกับมุสลิมชีอะห์ การวิจารณ์อย่างต่อเนื่องนี้ทำให้เชื่อกันว่า เขาเป็นเป้าหมายที่บาห์เรนต้องการจับตัวกลับมาลงโทษให้ได้
6.
27 พฤศจิกายน 2018 ฮาคีม อัล อาไรบี เดินทางมายังไทย เพื่อมาฉลองแต่งงานกับภรรยา นับเป็นการออกจากประเทศออสเตรเลียครั้งแรกหลังได้สถานะผู้ลี้ภัย ผ่านการรับรองจากออสเตรเลียแล้วว่าปลอดภัยและสามารถเดินทางไปทั่วโลก-ยกเว้นบาห์เรน
การเดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้ทำให้ฮาคีมถูกจับกุมตัวตามหมายแดงของ INTERPOL ทันที ซึ่งทางการออสเตรเลียในฝ่ายผู้ลี้ภัยได้ยื่นเรื่องว่า ฮาคีมไม่ใช่ผู้ร้าย หากแต่เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ไม่สามารถจับกุมได้ตามหลักสิทธิมนุษยชน การทำงานของ INTERPOL มีข้อผิดพลาด
7.
2-3 ธันวาคม 2018 ฮาคีมได้ถูกส่งตัวไปยังศูนย์กักตัวคนต่างด้าว ซอยสวนพลู และถูกนำตัวไปขึ้นศาล และศาลสั่งให้ฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ส่วน INTERPOL ได้เพิกถอนหมายแดงกับฮาคีม เพราะการออกหมายดังกล่าวขัดกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชน
ขณะเดียวกัน รัฐบาลบาห์เรนได้ส่งเอกสารประกอบคำร้องขอ พร้อมคำแปลภาษาไทย ผ่านวิธีทางการทูต ขอให้รัฐบาลไทยจับกุมและคุมขังชั่วคราว ฮาคีม อัล อาไรบี ที่ถือหนังสือเดินทางบาห์เรน เพื่อดำเนินการส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปรับโทษตามคำพิพากษา
8.
11 ธันวาคม 2018 อัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ขอควบคุมตัวฮาคีมไว้ชั่วคราวเป็นเวลา 60 วัน ซึ่งทางการบาห์เรนได้ขอความร่วมมือให้จับตัวฮาคีมไว้ก่อน เพื่อทำเรื่องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
9.
สกอตต์ มอร์ริสัน (Scott Morrison) นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ส่งหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เรียกร้องให้ปล่อยตัวและส่งนายฮาคีมกลับออสเตรเลียทันที โดยยืนยันสถานะผู้ลี้ภัยของฮาคีม ขณะที่ พลเอกประยุทธ์ระบุว่า ไม่สามารถแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมได้
ขณะที่ Human Rights Watch องค์กรเอกชนที่ตรวจสอบสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศทั่วโลก ขู่ว่า ไทยอาจโดน FIFA คว่ำบาตรไม่ให้ลงเล่นฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก อย่างไรก็ตาม ทาง FIFA ไม่ได้ออกมาให้ความเห็นใดๆ ต่อเรื่องนี้ หลังจากนั้น 30 มกราคม 2019 คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลไทยหาทางช่วยเหลือฮาคีม ตามหลักพื้นฐานแห่งสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม
10.
4 กุมภาพันธ์ 2019 ฮาคีม อัล อาไรบี ปรากฏตัวในชุดนักโทษ มีตรวนที่ข้อเท้า ภาพที่แพร่กระจายไปทั่วโลกนี้สร้างความโกรธเคืองให้กับผู้คนหลายฝ่าย จึงเกิดแฮชแท็ก #SaveHakeem รวมไปถึง #BoycottThailand ในโซเชียลมีเดีย อย่างไรก็ตาม ฮาคีมได้เบิกความต่อศาลว่า เขาไม่อยากกลับไปบาห์เรน โดยศาลได้กำหนดให้มีการส่งคำคัดค้านในวันที่ 5 เมษายน และได้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 22 เมษายน
11.
เกิดข้อถกเถียงและการจับตาจากทั่วโลก ว่าไทยจะเคลื่อนไหวอย่างไรกับสถานการณ์ที่ไทยต้องเจอความต้องการจากทั้งสองด้าน ฝั่งหนึ่งคือความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศบาห์เรน
ย้อนกลับไปวันที่ 1 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว เจ้าชายคาลิฟา บิน ซัลมาน อัล คาลิฟา (Khalifa bin Salman Al Khalifa) นายกรัฐมนตรีของบาห์เรน ได้เดินทางมาพบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ขณะที่ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของในหลวงรัชกาลที่ 9 เจ้าชายคาลิฟาก็เสด็จเดินทางมาด้วยพระองค์เอง นอกจากนั้นประเทศไทยยังมีโครงการเศรษฐกิจและการค้าร่วมกับบาห์เรนอีกหลายโครงการ มีการจัดตั้ง Thai Mart ศูนย์กระจายสินค้าไทย ในกรุงมานามา ดังนั้นการทำให้บาห์เรน หนึ่งในชาติอาหรับไม่พอใจ อาจส่งผลเป็นลูกโซ่ให้กับชาติอาหรับชาติอื่นด้วยก็เป็นได้
12.
ล่าสุด 11 กุมภาพันธ์ 2019 เวลา 14.20 ที่ศาลอาญา นางสาวเสฎฐา เธียรพิรากุล พนักงานอัยการสำนักงานต่างประเทศ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอถอนฟ้องคดีส่งผู้ร้ายข้ามเเดน คดีดำหมายเลข ผด.2/2562 ที่พนักงานอัยการสำนักงานต่างประเทศเคย ยื่นคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน ฮาคีม อัล อาไรบี อายุ 25 ปี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน กลับไปดำเนินคดีที่ประเทศบาห์เรน ตามคำขอของทางการบาห์เรนที่ส่งมาให้ทางการไทยยื่นส่งผู้ร้ายข้ามเเดน
ด้านศาลพิจารณาคำร้องของอัยการเเล้วอนุญาตให้ถอนคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามเเดน โดยขั้นตอนหลังจากนี้ศาลอาญาจะออกหมายปล่อยไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อปล่อยตัว ฮาคีม อัล อาไรบี โดยสาเหตุของการยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเกิดจากอัยการได้รับการประสานงานจากกระทรวงการต่างประเทศว่า ทางการประเทศบาห์เรนแสดงความประสงค์ไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนนี้อีก
อ้างอิง:
khaosod.co.th
thairath.co.th
bbc.com