อนุญาตให้ลูกได้นั่งเบื่อ คือโอกาสสร้างความคิดสร้างสรรค์

 

มีบทความ บทวิเคราะห์ และงานวิจัยมากมาย ที่พยายามจะตอบคำถามและทำนายว่า ทำไมวัยรุ่นหรือเด็กในเจเนอเรชั่นใหม่ จีงมีภาวะซึมเศร้า สมาธิสั้น ไม่ละเอียดรอบคอบ ไม่เอาใจใส่จดจ่อ ไม่รักองค์กร เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง (self-center) และอื่นๆ อีกหลายข้อที่ดูจะมีแต่ข้อเสีย (ในอุดมคติของคนรุ่นก่อนๆ) เป็นพัลวัน

แน่นอน สาเหตุที่หลายๆ บทวิเคราะห์และงานวิจัยบอกว่าคือคำตอบแห่งยุคสมัย ก็คือเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต และสมาร์ทโฟน วัยรุ่นใช้เทคโนโลยีคล่องแคล่วราวกับอยู่ในสายเลือด ฝังอยู่ในดีเอ็นเอ อย่างที่ จีน ทเวนกี (Jean M. Twenge) อาจารย์ด้านจิตวิทยามหาวิทยาลัยซานดิเอโก (San Diego State University) และผู้เขียนหนังสือ Generation Me และ iGen ผู้วิจัยเรื่องความแตกต่างของเจเนอเรชั่นมามากกว่า 25 ปี เขียนไว้ในบทความ ‘Have Smartphones Destroyed a Generation?’ (จริงหรือที่สมาร์ทโฟนทำลายคนรุ่นใหม่?) ใน The Atlantic บทความขนาดยาวอธิบายเด็กเจเนอเรชั่น ME สรุปใจความแบบย่นย่อได้ว่า

ที่เป็นเช่นนั่นก็เพราะโลกออนไลน์มันปลอดภัยปลอดโปร่งมากกว่าการโชว์ตัวในงานปาร์ตี้ พวกเขาอาจสะดวกสบายทางกายภาพ กระนั้นตัวเลขทางการวิจัยกลับชี้ว่า พวกเขามีภาวะทางอารมณ์ที่มาก ท่วมท้นและโดดเดี่ยวขึ้นเรื่อยๆ

“ความแตกต่างระหว่างเด็กเจเนอเรชั่นใหม่ กับคนยุคพ่อแม่ กระทั่งตายายของพวกเขา ไม่ใช่แค่วิธีการมองโลก แต่คือการใช้ชีวิต การใช้เวลาของพวกเขาด้วย” นั่นก็คือสมาร์ทโฟนอย่างไรล่ะ และไม่ใช่แค่การไถนิ้ว แต่มันคือชุมชนอันกว้างใหญ่ซึ่งนำไปสู่การใช้ชีวิตและวิธีคิดของพวกเขานอกจอนั้นด้วย

เบื่อนัก หาอย่างอื่นเล่นดีกว่า

พักเรื่องโลกที่เปลี่ยนไปจากวัยและเวลาที่เปลี่ยนแปลงไว้เท่านี้ก่อน อีกหนึ่งบทความซึ่งประนีประนอมกับการใช้ชีวิตและชี้ประเด็นเล็กน้อยแต่ (ดีต่อใจ) มหาศาล คือบทความชิ้นหนึ่งที่ชื่อ ‘If you want creative kids, hand them something simple. (ถ้าคุณอยากให้ลูกของคุณมีความคิดสร้างสรรค์ จงหยิบยื่นความเรียบง่ายให้กับเขา) โดยซาราห์ ฟอลลอน (Sarah Fallon) บรรณาธิการอำนวยการนิตยสาร Red Herring และอดีตบรรณาธิการนิตรสารเกี่ยวกับการศึกษา Edutopia

ประเด็นที่เธอชี้ ง่ายๆ แต่ทรงพลังดังชื่อบทความของเธอ นั่นก็คือ ‘สมาธิ’ และ ‘ความเบื่อหน่าย’ ของเด็กๆ คือขุมพลังที่สำคัญ

“ดูเหมือนว่าหน้าที่หลักของเรา (ผู้ปกครอง) คือการเอนเตอร์เทนเด็กๆ อยู่ทุกๆ วินาที เราจะไม่ปล่อยเวลาแม้เพียงเสี้ยววิ ให้เขาใช้เวลากับความเหนื่อยหน่ายเลย” ฟอลลอนยกคำพูดของ ไมเคิล ริช (Michael Rich) ผู้อำนวยการสถาบันเกี่ยวกับสื่อและเด็ก (Center on Media and Child Health) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เพื่ออธิบายว่า เพราะด้วยความคิดเช่นนี้ พวกเรา (ผู้ปกครอง ลุงป้าน้าอา) จึงพยายามป้อนทุกสิ่งอย่าง ไม่ว่าจะของเล่นที่ทันสมัย เครื่องเล่นที่มีฟังก์ชั่นหลากหลายอยู่ในนั้น เกม กล้องถ่ายรูปพร้อมฟังก์ชั่นแต่งภาพด้วยสติกเกอร์และฟิลเตอร์ สารพัดสิ่งของเล่นล้ำยุคเพื่อเอนเตอร์เทนพวกเขา

แต่นั่นเป็นข้อเท็จจริงหรือว่า การมอบสารพัดเทคโนโลยี จะทำให้พวกเขาสนุก ‘อยู่ตลอดเวลา’ ได้ และจำเป็นจริงๆ ใช่ไหมที่เขาต้องสนุกตลอดเวลา

ซึ่งประเด็นที่ฟอลลอนยกมาได้รับคำยืนยันจาก โทวาห์ ไคลน์ (Tovah Klein) ผู้อำนวยการวิทยาลัยบาร์นาร์ด (Barnard College) สถาบันเพื่อการพัฒนาเด็กเล็ก ว่ายิ่งคุณจับให้เขาออกไปเผชิญโลกด้วยเทคโนโลยี แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในโลกนั้นก็มีสิ่งดึงดูดความสนใจ ดูดสมาธิของพวกเขามากขึ้นเท่านั้น

กลับไปยังประเด็นหลักของฟอลลอน เธอสรุปว่า เอาเข้าจริงแล้วเธออาจเป็นแม่ (ใช่แล้ว เธอเป็นแม่ของลูกชายสองคนด้วย) ที่ไม่ต้องรู้สึกผิดกับการปล่อยให้ลูกชายนั่งเบื่อๆ อยู่คนเดียวในระหว่างที่เธออยากจะเคลียร์จานในซิงค์ให้เสร็จ และหันไปทำงานทำการของเธอเองบ้าง ดังที่ริชกล่าวไว้ว่า

ความเบื่อคือที่ที่ความคิดสร้างสรรค์ถือกำเนิด ความเบื่อไม่ใช่ศัตรู ความเบื่อคือเพื่อนของมนุษย์

เพราะความเบื่อจะทำให้เราหาอะไรแก้เบื่อทำ และนั่นอาจทำให้เขาค้นพบตัวเองในอีกความสามารถหนึ่งก็ได้

ไม่แน่ใจว่าประเด็นที่ฟอลลอนยกขึ้นมาเป็นเหตุเป็นผลมากน้อยแค่ไหนต่อวัยรุ่นในเจเนอเรชั่น ME แต่ประเด็นเรื่อง ‘สมาธิ’ ‘เทคโนโลยี’ และ ‘การถูกเบี่ยงเบนความสนใจ’ จากกิจกรรมในสมาร์ทโฟน ดูจะเกิดขึ้นจริงทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่น่าสนใจว่า เด็กๆ ที่โตขึ้นพร้อมกับการถูกสิ่งเร้าให้หันเหความสนใจอยู่ตลอดเวลานี้

อาจตอบคำถามว่าทำไมวิธีการมองโลก การใช้ชีวิต และใช้เวลาของพวกเขา ต่างจากคนยุคปู่ย่าตายายมากมายนัก

ที่มา: wired.com
theatlantic.com

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า