อนุชิต นิ่มตลุง กับเทศกาลสาดสี โฮลี เฟสติวัล ที่อินเดีย
โฮลี (होली) เทศกาลของชาวฮินดู สัญลักษณ์ของการสิ้นสุดฤดูหนาว ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิที่จะเวียนกลับมาถึง จัดขึ้นทุกปีในคืนที่พระจันทร์เต็มดวงในเดือนที่ 12 ของปฏิทินฮินดู ตรงกับระหว่างปลายเดือนกุมภาพันธ์ และต้นเดือนมีนาคม
ในปีนี้ตรงกับวันที่ 2 มีนาคม และอนุชิตวางแผนให้ตัวเองไปยืนอยู่ตรงนั้น เพื่อจะกล่าวคำว่า
โฮลี่ ชิต
สำหรับอนุชิตไม่รู้ว่าคืออะไร แต่สำหรับชาวฮินดู มันคือการสลัดทุกข์เศร้า หมุดหมายของการให้อภัยและการปรับความเข้าใจกัน และทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นสีสัน!
ว่ากันว่าผงสีที่สาดใส่กันนี้ติดแน่นแบบล้างครั้งเดียวไม่ออก จะติดแต้มตามใบหน้าและร่างกายไปเสียวันสองวัน แต่(ว่ากันว่า)ปลอดภัย เพราะสกัดจากดอกไม้และสมุนไพร เช่น พืชตระกูลสะเดา ขมิ้น ขมิ้นป่น หญ้าฝรั่น และใบมะตูม แถมบางทีก็ผสมกากเพชรหรือกระดาษชิ้นเล็กๆ เข้าไปด้วย
มันเป็นวันแห่งความสุข เมื่อผู้คนก้าวออกไปที่ถนนและเดินเข้าสู่เทศกาล ไม่มีคำว่าชนชั้นวรรณะ เด็กๆ สาดสีใส่ผู้ใหญ่ ผู้หญิงเล่นกับผู้ชาย และการเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาว (แน่นอนว่า ในความเบลอเรื่อง ‘เส้น’ และ ‘การอนุญาต’ เพราะเทศกาล ก็มีความรุนแรงจากการลวนลามซ่อนอยู่ ผู้หญิงจำนวนหนึ่งเลือกที่จะไม่ออกจากบ้านเลยในช่วงเทศกาลนี้) นอกจากนี้ยังเป็นเทศกาลแห่งครอบครัว ให้ผู้คนกลับไปเยี่ยมบ้าน ญาติ และเพื่อนฝูงอีกด้วย
ร่วมรับชมภาพแห่งประวัติศาสตร์พร้อมกับอนุชิต และภาวนาขอให้กล้องของเขาไม่เจ็บป่วย