วิกฤตฮาร์วาร์ด: เมื่อเสรีภาพในการต่อต้านสงครามถูกบีบด้วยอำนาจเงินของกลุ่มทุนในมหาวิทยาลัย

สัปดาห์ที่แล้วมีข่าวใหญ่สะเทือนวงการศึกษาทั่วโลก เมื่อ คลอดีน เกย์ (Claudine Gay) อธิการบดีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังจากนั่งในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกได้เพียง 6 เดือน 

“เป็นที่ชัดเจนว่าเพื่อประโยชน์สูงสุดของฮาร์วาร์ด ฉันควรต้องลาออก เพื่อให้ชุมชนของเราสามารถเดินหน้าในช่วงเวลาแห่งความท้าทายเป็นพิเศษนี้ โดยมุ่งที่ประโยชน์สถาบันมากกว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่ง” คือส่วนหนึ่งของเนื้อหาในจดหมายลาออกของเธอ

ประโยชน์สูงสุดของฮาร์วาร์ดที่เกย์อ้างถึงคือ การที่สถาบันเก่าแก่และมีชื่อเสียงแห่งนี้จะไม่ต้องถูกแหล่งทุนหรือผู้บริจาครายใหญ่ตัดลดงบสนับสนุน

ผู้สนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ของฮาร์วาร์ดทั้งระดับองค์กรและบุคคลพากันออกมาแสดงความโกรธเกรี้ยวและขู่จะหยุดการสนับสนุน เพื่อเป็นการโต้กลับเกย์ที่ไม่ออกมาแสดงจุดยืนของสถาบันให้ชัดเจนในการประณามกลุ่มฮามาสและปกป้องอิสราเอล แต่กลับปล่อยให้นักศึกษาเดินขบวนประณามอิสราเอลอย่างเปิดเผย ซึ่งแหล่งทุนรวมถึงผู้มีอำนาจในภาคส่วนอื่นๆ ที่ส่งอิทธิพลต่อชะตากรรมของมหาวิทยาลัยตีความว่า นี่เป็นการสนับสนุนลัทธิต่อต้านยิว (antisemitic) ขณะที่เกย์มองว่ามันคือเสรีภาพในการแสดงออกทางความเห็นของนักศึกษา

เกย์เป็นผู้หญิงคนที่ 2 และเป็นคนผิวดำคนแรกที่ดำรงตำแหน่งสูงสุดของสถาบันการศึกษาแห่งนี้ตั้งแต่ก่อตั้งมาในปี 1636 เป็นอธิการบดีคนแรกที่อยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุด และน่าจะเป็นคนแรกที่ถูกกลุ่มผู้บริจาคเงินรายใหญ่ของสถาบันร่วมมือกันบีบให้พ้นจากตำแหน่ง 

“การปล่อยให้มีการใช้ชื่อฮาร์วาร์ด แล้วเรียกตัวเองว่าเป็นกลุ่มนักศึกษาสนับสนุนฮามาส และการไม่ประณามการใช้ข้อความที่ทำให้เกิดการเกลียดชังอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรง” ลอยด์ แบลงค์เฟน (Lloyd Blankfein) อดีตผู้บริหารระดับสูงของโกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ระดับโลก หนึ่งในผู้บริจาครายสำคัญของฮาร์วาร์ด กล่าวต่อที่ประชุมบอร์ดบริหารของสถาบัน ในวันที่ 12 ธันวาคม ปีที่แล้ว

นอกเหนือจากโกลด์แมน แซคส์ แล้ว องค์กรและผู้บริจาครายบุคคลอีกหลายรายต่างออกมาแสดงความไม่พอใจต่อการทำหน้าที่อธิการบดีของเกย์ รวมถึง เคนเน็ธ กริฟฟิน (Kenneth Griffin) มหาเศรษฐีที่เฉพาะปีที่แล้วปีเดียวบริจาคเงินให้ฮาร์วาร์ด 300 ล้านเหรียญ (ประมาณ 10,400 ล้านบาท) มากพอที่จะทำให้เกิดหน่วยงานที่ชื่อว่า บัณฑิตวิทยาลัยศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์เคนเน็ธ กริฟฟิน แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (The Harvard Kenneth C. Griffin Graduate School of Arts and Sciences) ขึ้นได้ กริฟฟินโกรธมากที่เกย์ปล่อยให้นักศึกษาเดินขบวนและทำกิจกรรมสนับสนุนฮามาสและโจมตีอิสราเอล และออกมาเรียกร้องให้เกย์จัดการกับนักศึกษากลุ่มนั้น รวมถึงโทรศัพท์ส่วนตัวหาประธานบอร์ดฮาร์วาร์ด เพื่อให้กดดันเกย์ด้วย 

อีกคนที่สำคัญคือ บิล แอคแมน (Bill Ackman) ศิษย์เก่าฮาร์วาร์ด หัวหน้ากองทุนเฮดจ์ฟันยักษ์ใหญ่ เพอร์ชิง สแควร์ แคปิทัล แมเนจเมนต์ (Pershing Square Capital Management) ที่นอกจากจะกดดันเกย์อย่างเป็นทางการผ่านที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแล้ว ยังโจมตีอดีตอธิการบดีหญิงผิวดำคนนี้ผ่านทางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียด้วย โดย เดอะ การ์เดียน (The Guardian) รายงานว่าตลอดเดือนธันวาคม แอคแมนโพสต์ในแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) ของเขาซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน เกี่ยวกับเรื่องนี้มากกว่า 100 โพสต์ ส่วนใหญ่เป็นข้อความโจมตีเกย์ว่า “เหยียดคนผิวขาว” และโจมตีเหล่านักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวว่าเป็น “พวกสนับสนุนการก่อการร้าย” แอคแมนประกาศชัดเจนว่า เขาไม่ต้องการให้เงินที่เขาสนับสนุนมหาวิทยาลัยต้องถูกนำไป “จ้างสมาชิกคนใดคนหนึ่งโดยไม่ตั้งใจ” 

เช่นเดียวกับ เซธ คลาร์แมน (Seth Klarman) นักการเงินผู้มั่งคั่งและหนึ่งในผู้บริจาครายใหญ่ที่มีชื่อประดับบนอาคารต่างๆ ของฮาร์วาร์ดหลายหลัง ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะว่า เขารู้สึกไม่พอใจต่อการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่อ่อนแอของเกย์ 

ก่อนเกย์จะยื่นจดหมายลาออกในวันที่ 3 มกราคม ที่ผ่านมา เดือนธันวาคมทั้งเดือน เป็นเดือนที่เธอต้องเผชิญกับการถูกกดดันอย่างรุนแรง

5 ธันวาคม 2023 คณะกรรมาธิการสภาการศึกษาและแรงงาน สภาคองเกรสได้เชิญเกย์และอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology: MIT) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเพนน์ซิลวาเนีย เข้าให้ปากคำ หลังพบว่ามีนักศึกษาเดินขบวนประท้วงต่อต้านอิสราเอล ตลอดเวลา 5 ชั่วโมงของกระบวนการไต่สวน คณะกรรมาธิการพยายามให้ผู้บริหารของสถาบันทั้ง 3 แห่ง ยืนยันนโยบายของตนเองในการคัดค้านลัทธิต่อต้านยิว กรณีของฮาร์วาร์ดมีการตั้งคำถามว่า การเรียกร้องให้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ถือเป็นละเมิดกฎเกณฑ์ว่าด้วยการกลั่นแกล้งและคุกคามของฮาร์วาร์ดหรือไม่ ซึ่งเกย์หลีกเลี่ยงที่จะตอบคำถามว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” โดยตรง แต่พยายามอธิบายว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับบริบท 

เกย์ยืนยันต่อคณะกรรมาธิการว่า การแสดงออกด้วยการเดินขบวนของนักศึกษาที่แม้จะมีการใช้คำพูดสื่อไปในทางต่อต้านชาวยิว จะถือว่าเป็นการละเมิดกฎเกณฑ์ว่าด้วยการกลั่นแกล้งและการคุกคามของฮาร์วาร์ด ต่อเมื่อก้าวไปสู่พฤติกรรมหรือการลงมือปฏิบัติ 

คำตอบของเกย์ถูกสื่อและนักการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยมนำไปขยายและกล่าวโจมตีเธอ แม้เกย์จะออกมาขอโทษ และยอมรับว่าใช้คำผิดในการตอบคำถามคณะกรรมาธิการ รวมถึงขยายความคำพูดของตัวเองในภายหลัง แต่ดูเหมือนสังคมจะไม่รับฟังเธอแล้ว

“มีบางคนที่สับสนระหว่างสิทธิในการแสดงออกอย่างเสรีกับแนวคิดที่ฮาร์วาร์ดจะยอมรับในการเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงต่อนักศึกษาชาวยิว…ดิฉันขอชี้แจงว่าการเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรง หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชุมชนชาวยิว หรือกลุ่มศาสนา หรือชาติพันธุ์ใดๆ เป็นสิ่งที่เลวร้าย พวกเขาย่อมไม่มีที่ยืนในฮาร์วาร์ด และผู้ที่คุกคามนักศึกษาชาวยิวของเราจะต้องถูกดำเนินคดี” 

อย่างไรก็ตาม เสียงของผู้สนับสนุนทางการเงินของสถาบันดังขึ้นเรื่อยๆ เพิ่มแรงกดดันในตัวเกย์มากขึ้น จนเธอต้องตัดสินใจยุติบทบาทหน้าที่ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของฮาร์วาร์ดหลังจากรับตำแหน่งได้เพียง 6 เดือน โดยเธอยืนยันว่าจะกลับไปทำหน้าที่อาจารย์ประจำตามเดิม

เอลิซาเบธ แมกิล (Elizabeth Magill) อธิการบดีมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประสบชะตากรรมไม่น้อยกว่ากัน หลังการไต่สวนของคณะกรรมาธิการ ซึ่งเธอปฏิเสธการตอบคำถามโดยตรงว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” เช่นเดียวกัน แล้วเธอก็ถูกผู้สนับสนุนทางการเงินของสถาบันบีบให้ลาออกเช่นเดียวกัน ด้วยข้อหาไม่เด็ดขาดพอต่อนักศึกษาที่ประท้วงอิสราเอล โดยแมกิลลาออกหลังการไต่สวน 4 วัน

การลาออกเกย์และแมกิลแสดงให้เห็นว่า สิ่งสำคัญในการดำรงอยู่ของมหาวิทยาลัยในสหรัฐในปัจจุบันคือ ความมั่นคงทางการเงินของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ความรับผิดชอบสำคัญประการหนึ่งของตำแหน่งอธิการบดีในมหาวิทยาลัยหลายแห่งของอเมริกาคือการหาเงินเข้าสถาบัน ซึ่งบรรดามหาเศรษฐีและผู้บริจาครายใหญ่ของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มีเชื้อสายยิว ดังนั้นการระดมเงินบริจาคโดยปล่อยให้นักศึกษาโจมตีอิสราเอลจึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ 

กรณีของเกย์ ความเป็นคนผิวดำของเธอน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลาออกของเธอด้วย โดยส่วนหนึ่งของจดหมายลาออก เกย์พูดถึงเหตุผลด้านความปลอดภัยของตัวเธอเองที่ต้องเผชิญกับการขู่ทำร้ายจากความเกลียดชังทางเชื้อชาติ 

ภายหลังยื่นใบลาออกได้ 1 วัน เธอเขียนบทความลง นิวยอร์ก ไทมส์ (The New York Times) บอกเล่าถึงสิ่งที่ประสบตลอดเวลา 6 เดือนของการเป็นผู้บริหารสูงสุดของสถาบันแห่งนี้ ว่าเธอถูกผู้คนเรียกด้วย ‘คำที่ขึ้นต้นด้วยตัวเอ็น’ (N-word) นับครั้งไม่ถ้วน 

N-word หมายถึงคำที่แสดงถึงการเหยียดผิว ถือว่าหยาบคายมาก เป็นคำต้องห้ามในสังคม หลักๆ คือคำว่า นิโกร (Negro) และรวมถึงคำเดียวกันที่ใช้ในภาษาอื่น เช่น Negar, Neger, Niger, Nigga และ Niggor 

ขณะที่ผู้สนับสนุนแนวคิด ‘ความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการไม่แบ่งแยก’ (diversity, equity and inclusion: DEI) มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเกย์ แสดงให้เห็นถึงเนื้อในของสถาบันการศึกษาเก่าแก่แห่งนี้ว่าไม่สนับสนุนแนวคิด DEI ที่ส่งเสริมความเป็นธรรม และการมีส่วนร่วมของสมาชิกในสังคมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฮาร์วาร์ดพยายามประกาศให้โลกเห็นเมื่อครั้งเลือกให้เกย์ได้รับตำแหน่งอธิการบดีคนที่ 30 ของสถาบันเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว โดยแผนการหลักที่เกย์เสนอไว้คือ การทำให้ฮาร์วาร์ดเป็นสถาบันที่ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติที่บริสุทธิ์ที่สุดในโลก 

การขึ้นสู่ตำแหน่งของเกย์ที่แม้จะมาตามกระบวนการอย่างถูกต้องและสง่างาม แต่ก็ทำให้บรรดาศิษย์เก่าขวาจัดอนุรักษนิยมไม่พอใจ หลายต่อหลายครั้งที่ บิล แอคแมน หนึ่งในผู้บริจาครายใหญ่ของฮาร์วาร์ด ออกมาพูดในที่สาธารณะว่าสถาบันแห่งนี้กำลังหลงทาง หมกหมุ่นกับลัทธิความหลากหลายมากเกินไป แอคแมนกล่าวว่าสิ่งที่เขาต้องการเห็นเกี่ยวกับฮาร์วาร์ดคือ การเป็น “สถาบันสำหรับคนเก่งที่สุด ฉลาดที่สุด สอนโดยคนเก่งที่สุด และฉลาดที่สุด” ไม่ใช่สถาบันที่มีความหลากหลายและความเสมอภาคเป็นตัวชี้วัด 

หากมองจากกรณีของเกย์ วันนี้ความหลากหลาย ความเสมอภาค และการไม่แบ่งแยก เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงแล้วในสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกแห่งนี้ นอกจากนั้นยังเห็นได้ชัดว่า แม้แต่ฮาร์วาร์ดก็ยังหลีกหนีไม่พ้นอิทธิพลของเงิน ที่น่าเสียใจยิ่งกว่านั้นคือตลอดระยะเวลา 1 เดือน ที่เกย์ต้องถูกโจมตีอย่างรุนแรง กลับไม่มีการเคลื่อนไหวจากนักศึกษาที่จะออกมาปกป้องหรือสนับสนุนความพยายามปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษาของเธอเลย

อ้างอิง:

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า