มอง ‘ความยุติธรรมทางสุขภาพ’ ผ่านอำนาจรัฐรวมศูนย์และความโกลาหลของข้อมูลข่าวสาร

วิกฤติโรคระบาดกว่า 2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการสื่อสารของรัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) สร้างความสับสนและความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนอยู่ไม่น้อย เมื่อการบริหารจัดการของรัฐไม่เป็นผล ประชาชนส่วนหนึ่งจึงต้องหันไปพึ่งพาเฟคนิวส์ เพราะหมดความเชื่อมั่นต่อรัฐ

อีกทั้งการรวมศูนย์อำนาจไว้กับ ศบค. ที่มุ่งเน้นในด้านการควบคุมโรคและมิติทางสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงมิติทางสังคม เศรษฐกิจ หรือวิถีชีวิต ทำให้การออกมาตรการต่างๆ กระทบต่อคนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะคนชายขอบของสังคม

วงเสวนา Health Justice ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ ‘ระบบสาธารณสุขที่เป็นธรรม: เงื่อนงำข้อมูลข่าวสาร และอำนาจรวมศูนย์ ในสถานการณ์โควิด’ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 จัดโดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และ WAY magazine ชวนมองประเด็น ‘ความยุติธรรมทางสุขภาพ’ ผ่านสถานการณ์โควิด-19

รัฐมีหน้าที่อภิบาลระบบสาธารณสุขที่เป็นธรรม

สุมนมาลย์ สิงหะ

นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)

นิยามของคำว่า ‘Health Justice’ กินความหมายครอบคลุมถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ และโครงสร้างของระบบที่ไม่เอื้อให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งการเกิดขึ้นของโควิด-19 ถือเป็นการทดสอบระบบและโครงสร้าง รวมถึงจินตนาการของสังคมไทยในเรื่องความยุติธรรมทางสุขภาพ

นับจากที่โควิดถูกประกาศเป็นภัยสาธารณสุขฉุกเฉินในระดับสากล ประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาข้อมูลหลักฐานจากต่างประเทศ รวมถึงพึ่งพาวัคซีนและเวชภัณฑ์ในส่วนที่ไม่สามารถผลิตได้เอง หรือผลิตได้แต่ไม่เพียงพอ ขณะที่รัฐบาลเองก็ได้พยายามบริหารจัดการด้วยการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) นับตั้งแต่ระลอกแรกเป็นต้นมา ทว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏจนถึงวันนี้ (30 มีนาคม 2563) มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นกว่า 25,000 คน และผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 3.6 ล้านคน 

ประเด็นก็คือ สังคมไทยมองเรื่องความยุติธรรมทางสุขภาพผ่านมาตรการอะไร และอะไรบ้างที่ไม่ยุติธรรมหรือควรได้รับการแก้ไข โดยนักวิจัย มสช. ได้พยายามถอดบทเรียนเรื่องนี้และสังเคราะห์ข้อมูลออกมา เพื่อรวบรวมข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ในการรับมือโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และนำไปสู่ความยุติธรรมที่ครอบคลุมถึงคนทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบางที่มักถูกมองข้ามไป

จากการเก็บข้อมูลของนักวิจัย มสช. ได้พบคำถามใหม่ๆ ว่า ระบบสาธารณสุขของไทยที่มีอยู่เดิมยังสามารถรับมือวิกฤติโรคระบาดได้หรือไม่ มีการนำข้อมูลมาใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้การสื่อสารของรัฐในภาวะวิกฤติควรมีการปรับปรุงหรือไม่อย่างไร 

จะเห็นได้ว่าช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ประชาชนทั่วไปมีการดึงข้อมูลจากวารสารทางการแพทย์มาศึกษา พูดคุย และถกเถียงกันค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องการเปรียบเทียบประสิทธิภาพวัคซีนหรือชุดตรวจต่างๆ ซึ่งงานวิจัยทางคลินิกเหล่านี้เริ่มเป็นที่สนใจของคนทั่วไปมากขึ้น คำถามที่ตามมาคือ หากเกิดภาวะวิกฤติครั้งใหม่ รัฐบาลจะมีแนวทางอย่างไรในการสร้างภูมิคุ้มกันด้านข้อมูลข่าวสารให้แก่ประชาชนเมื่อต้องเผชิญกับเฟคนิวส์ แทนการกวดขันปราบปรามเพียงอย่างเดียว  

ประการต่อมา เมื่อภาครัฐต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพของประชาชน รัฐจะต้องคำนึงถึงมิติสังคม เศรษฐกิจ ศาสนา ฯลฯ ก่อนการตัดสินใจเชิงนโยบาย ที่สำคัญต้องอยู่บนฐานข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส และไม่เอื้อประโยชน์ต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นอกจากนี้ควรมีวิธีใหม่ๆ ในการจัดระบบการทำงานที่มุ่งเน้นการกระจายอำนาจไปยังชุมชนท้องถิ่นหรือกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ มากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้มีข้อจำกัดในการปฏิบัติงาน 

กล่าวโดยรวม รัฐต้องมีหน้าที่อภิบาลความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ต้องให้ความสำคัญต่อหลักความเสมอภาคในการกระจายทรัพยากร เพื่อเป้าหมายทางสุขภาพของประชาชน รวมถึงต้องมีมาตรการชดเชยเยียวยาให้แก่กลุ่มคนที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม

ทุกคนต้องมีสิทธิเข้าถึงการรักษา รัฐต้องกระจายอำนาจและเชื่อมั่นในชุมชน

คริส โปตระนันทน์ 

ประธานกรรมการมูลนิธิเส้นด้าย

ความยุติธรรมทางสุขภาพควรที่จะสามารถนิยามได้อย่างไม่ยาก ไม่ว่าคุณจะเป็นคนจนหรือคนรวย ไม่ว่าเชื้อชาติใด ต้องมีสิทธิในการเข้าถึงการรักษา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา สะท้อนได้เลยว่า สิทธิรักษาพยาบาลถ้วนหน้าที่เราภูมิใจกันนั้น ถ้วนหน้าเฉพาะเพียงคนไทยเท่านั้น ส่วนกลุ่มแรงงานต่างด้าวทั้งที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย กลับเป็นเรื่องยากมากที่พวกเขาจะเข้าถึงระบบ 

รัฐบาลมองว่า แค่ดูแลเฉพาะคนไทยก็ลำบากแล้ว เราจะเห็นว่ากลุ่มคนที่ใช้สิทธิรักษาด้วยบัตรทอง จะได้รับบริการที่ช้ากว่าคนที่มีประกันสุขภาพในภาคเอกชน คำถามคือ คนจน คนต่างด้าว คนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง จะอยู่อย่างไรในวิกฤติแบบนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาเห็นได้อย่างชัดเจนว่ารัฐไม่มีแผนการอะไรเลย อีกทั้งการมีอำนาจที่รวมศูนย์ ยิ่งทำก็ยิ่งวุ่น กลายเป็นว่ากลุ่มที่ให้บริการสุขภาพเป็นหลักในสถานการณ์โควิด-19 กลับเป็นกลุ่มเอกชนที่ได้เงินผ่านกองทุน UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients – นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่) ถ้าหากรัฐมีการจัดการข้อมูลรวมถึงการเบิกจ่ายอย่างถูกวิธี สถานการณ์อาจจะดีกว่านี้

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ การสื่อสารของรัฐในช่วงโควิด รัฐใส่ความกลัวมากเกินไป การจะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจจึงเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นได้ ดังนั้น วิกฤติครั้งหน้าอาจต้องหาวิธีสื่อสารใหม่และหาวิธีที่จะอธิบายให้คนเข้าใจข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์มากกว่านี้ โดยสื่อสารผ่านผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก

ในส่วนของโมเดล ศบค. มันยากเกินไป เพราะแต่ละชุมชนมีการบริหารจัดการที่ต่างกัน ปัญหาคือคนที่อยู่หน้างานไม่มีความกล้าพอที่จะบอกว่าทำไม่ได้ เนื่องจากอยู่ในระบบราชการ ผู้ว่าฯ หรือนายกเทศบาลต้องมีอิสระในการวางแผนในพื้นที่มากกว่านี้ ถ้ากระจายอำนาจไปได้ทุกจังหวัด ความเสี่ยงจะต่ำลงกว่านี้มาก

ส่วนเรื่องวัคซีน รัฐไม่เชื่อในระบบตลาดและเอกชน ซึ่งหากรัฐยอมให้มีการนำวัคซีน mRNA เข้ามาอย่างเสรี อาจทำให้เกิดการสูญเสียน้อยกว่านี้ เนื่องจากชนชั้นกลาง รวมไปถึงชนชั้นสูงแทบไม่ได้ใช้ระบบประกันสุขภาพของรัฐอยู่แล้ว ซึ่งการที่รัฐบอกว่าจะรับผิดชอบทุกคนด้วยการจัดหาวัคซีนให้ครบ 70 ล้านคน จึงเป็นเรื่องยาก สรุปได้ว่าปัญหาคือระบบการจัดสรรของรัฐนั้นมีปัญหาจริงๆ

และในท้ายที่สุด การกระจายอำนาจจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้น หากรัฐสร้างความเชื่อมั่นและความร่วมมือในระดับชุมชนได้ โดยมอบหมายงานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประธานชุมชน หรือคนในพื้นที่ มาตรการการป้องกันโรคจะมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เพียงแต่รัฐต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแนวทาง

ศบค. การรวมศูนย์ ‘one message one channel one command’

พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ 

ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค

โดยส่วนตัวมีโอกาสได้เข้าไปทำงานด้านการสื่อสารการจัดการโควิดในระดับกรม และได้มีส่วนเข้าไปทำงานใน ศบค. เพื่อทำหน้าที่สื่อสารกับหลายหน่วยงาน ซึ่งเป็นเรื่องยากมากในการถ่ายทอดนโยบายไปสู่ประชาชน เนื่องจากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

นับจากวันที่ 13 มกราคม 2563 เกิดเคสผู้ป่วยรายแรกในประเทศไทย คณะทำงานได้พยายามติดตามรวบรวมข้อมูลอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศภาวะฉุกเฉินวันที่ 31 มกราคม 2563 

29 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้เสียชีวิตรายแรกในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้มีการชี้แจงให้สื่อมวลชนทราบ จากนั้นภาครัฐก็ได้มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ โดยหลักการทำงานสื่อสารก็คือ หากหน่วยงานใดรู้ข้อมูลมากน้อยแค่ไหนต้องรีบบอก รีบแจ้งให้เร็วที่สุด แต่ปัญหาคือมีข้อมูลจากหลายแหล่งมาก ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน 

ด้วยเหตุนี้จึงมีการจัดตั้ง ศบค. ขึ้นเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 เพื่อเป็นการรวมศูนย์การทำงานระหว่างกระทรวงต่างๆ 20 กระทรวง หนึ่งในภารกิจคือการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนว่ามีมาตรการอะไรบ้าง ประชาชนควรปฏิบัติอย่างไร เป็นการทำงานในรูปแบบ ‘one message one channel one command’ เพื่อให้ทุกอย่างรวมอยู่ในศูนย์เดียวและทำให้การจัดการไม่สะเปะสะปะ

เนื่องจากสถานการณ์โควิดมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นต้องมีการสื่อสารทุกวัน ไม่เว้นวันนักหยุดขัตฤกษ์ หลังจากได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานรวมถึงประชาชนเอง ทำให้จำนวนเคสลดลงจนกระทั่งเป็นศูนย์ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของประชาชน ไม่ใช่แค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง 

หลังจากนั้นเกิดการระบาดระลอก 2 ช่วงพฤศจิกายน 2563 จากคลัสเตอร์แพกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร จึงต้องมีมาตรการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว มีการออกมาตรการและจัดระเบียบอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเป็นผลจากการประชุมของ ศบค. 

การระบาดระลอก 3-4 ต้องยอมรับว่าธรรมชาติของไวรัสมีการกระจายเร็วมากและมีการกลายพันธุ์ การสื่อสารของรัฐในช่วงนั้นจึงต้องเน้นความเข้าใจเรื่องวัคซีนซึ่งมีอยู่จำกัด ประเด็นที่ต้องชี้แจงคือ ใครควรจะได้รับวัคซีนก่อนหลัง เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากประชาชนไปจนถึงระดับชุมชน 

สำหรับโครงสร้างของ ศบค. จากเดิมประกอบด้วย 20 กระทรวง ปัจจุบันปรับลดเหลือ 11 กระทรวง ซึ่งมีคณะทำงานจากหลายหน่วยงานนอกเหนือจากกระทรวงสาธารณสุข โดยการบริหารจัดการของ ศบค. เป็นไปตามระบบขั้นตอน แต่เมื่อไปถึงหน้างานอาจเกิดการปฏิบัติที่แตกต่างกันไป ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจเกิดปัญหาด้านการสื่อสารที่ต้องปรับปรุง 

สำหรับปัญหาเรื่องเฟคนิวส์ ต้องยอมรับว่าโซเชียลมีเดียมีความแพร่หลายกว่ากระแสหลัก และมักเป็นข่าวสารด้านลบและเป็นความจริงแค่บางส่วน ทำให้มีผลต่อพฤติกรรมของคน และไม่เชื่อมั่นในการฉีดวัคซีน แต่ประเทศไทยก็สามารถจัดการกับเฟคนิวส์ได้ดีระดับหนึ่ง โดยกรมควบคุมโรคได้ประสานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาโดยตลอด เพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องมากขึ้น

บทเรียนจากการล็อกดาวน์ และผลกระทบจากมาตรการของรัฐ

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม 

ผู้อำนวยการศูนย์วัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อพูดถึงความเหลื่อมล้ำ เราอาจมองได้จาก หนึ่ง-ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากวิธีคิดของคนในสังคม สอง-ความเหลื่อมล้ำจากโครงสร้างทางสังคม และสาม-ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากข้อจำกัดของอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค จำนวนเตียง และเจ้าหน้าที่ที่ไม่เพียงพอ ซึ่งหากมีการจัดการทรัพยากรไม่ดีก็อาจเป็นปัญหาได้ และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ตรงกันเลยแม้เเต่ในวงการเเพทย์ด้วยกัน 

ก่อนจะไปมองภาพอื่น ต้องมองภาพรวมเสียก่อน โดยจากการนำเสนอของ Our World in Data จะพบว่า กราฟความสูญเสียของไทยยังถือว่าต่ำมากในทุกมิติเมื่อเทียบกับประเทศอื่น สะท้อนให้เห็นว่า เป็นเรื่องโชคดีที่ประเทศไทยมีการเข้าช่วยเหลือโดยภาคประชาชนและประชาสังคม อีกทั้งคนไทยส่วนใหญ่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดในช่วงที่ผ่านมา ตรงนี้จึงถือเป็นเรื่องที่ไทยถูกชื่นชม

อีกข้อมูลจากทาง Global Health Security Index (GHS Index) ในปี 2021 จะพบว่า ไทยติดอันดับ 5 จาก 195 ประเทศ ในเรื่องของระบบสาธารณสุข และไทยจัดเป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ถึงแม้ผลจะออกมาดีเช่นนี้ เราก็ต้องมาช่วยกันคิดว่าจะสามารถทำให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร

สุดท้ายแล้ว เราต้องกลับมาโฟกัสประเด็นที่ว่า จะใช้ชีวิตให้สมดุลกับสภาวะโควิด-19 ได้อย่างไร ซึ่งปัจจุบันเราน่าจะได้เรียนรู้แล้วว่า การล็อกดาวน์ส่งผลกระทบอย่างไร ไม่ใช่แค่เพียงผลกระทบต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงปัญหาความยากจนอีกด้วย ขณะที่ประเทศอื่นๆ ก็เริ่มคิดหนักมากขึ้นกับมาตรการล็อกดาวน์ ดังนั้น รัฐควรหันมาโฟกัสว่าจะทำอย่างไรให้คนสามารถเข้าถึงระบบการตรวจรักษาที่รวดเร็ว ราคาถูก คุณภาพดี และสามารถเข้าถึงวัคซีนมากขึ้นได้

‘เฟคนิวส์’ และการสร้างบรรยากาศความกลัวของรัฐ

ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข 

บรรณาธิการบริหารประชาไท และ Commentator Voice TV

การเกิดขึ้นของโควิด-19 เป็นเหมือนการทดสอบระบบ โครงสร้าง และการรับมือของประเทศไทย ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นทุกอย่างในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ ความเป็นไทย สังคมชนชั้น ระบบอุปถัมภ์ และอาจเป็นโชคร้ายที่เราถูกชี้นำจากคนในวิชาชีพที่มีต้นทุนสูงอย่างหมอเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งการรับมือกับโรคระบาดมีมิติมากกว่าแค่เรื่องเชื้อโรค และยังมีผู้นำที่มีวิธีคิดแบบทหาร ซึ่งยอมเสียทุกอย่างเพื่อจะรับมือกับโรคระบาด โดยไม่ได้คำนึงถึงมิติความไม่เป็นธรรมทางสาธารณสุข อย่างเช่นการล็อกดาวน์จนทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

ในมุมมองของสื่อมวลชน จะเห็นว่ารัฐใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือในการสื่อสารเรื่องโรคระบาดมาโดยตลอด และโยนภาระทุกอย่างให้กับประชาชน แต่อีกด้านหนึ่งความกลัวก็เป็นเงาสะท้อนถึงความไม่มั่นใจต่อรัฐ ว่ามีวัคซีนเพียงพอไหม มีเตียงสนามให้ไหม ประชาชนจึงต้องหันไปพึ่งพาตัวเอง ดังจะเห็นได้ว่าคนไทยใส่หน้ากากอนามัยมากกว่าคนประเทศอื่นๆ ไม่ใช่ว่าเพราะเชื่อฟังหมอ แต่เป็นเพราะไม่เชื่อมั่นในรัฐ

กรณีเฟคนิวส์ ภาครัฐมักมองว่าเป็นอุปสรรคที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง ซึ่งก็จริง แต่สำหรับผมมองว่า ลำพังเฟคนิวส์อาจไม่ใช่เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปัญหา เพราะในสังคมที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนท่วมท้นล้นเกิน เอาเข้าจริงแล้วคนที่เสพรับข้อมูลอย่างมหาศาลอาจเป็นกลุ่มที่ไปฉีดวัคซีนมากที่สุดก็เป็นได้ ขณะที่กลุ่มคนที่ถูกปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร กลุ่มคนเหล่านี้อาจกลายเป็นผู้รับเฟคนิวส์ไปเต็มๆ ฉะนั้นลำพังเฟคนิวส์จึงไม่ใช่ปัญหาในตัวเอง แต่การปิดกั้นการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารต่างหากที่ทำให้คนไม่มีภูมิต้านทานเฟคนิวส์ 

หากเปรียบเทียบแล้วเฟคนิวส์ก็เป็นเหมือนโรคประจำถิ่น ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรให้เกิดเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารโดยไม่ปิดกั้น เพื่อให้ประชาชนมีภูมิต้านทาน สามารถกลั่นกรองได้ว่าอะไรจริงไม่จริง 

ในแง่การจัดการเฟคนิวส์ รัฐบาลมุ่งแต่จะหาคนผิด เพื่อให้ตนเองพ้นผิด ซึ่งที่จริงควรกลับไปมองที่สาเหตุว่าอะไรทำให้เกิดเฟคนิวส์ เพราะแม้แต่การให้ข้อมูลของหน่วยงานรัฐเองก็ยังไม่ตรงกัน ทำให้ประชาชนสับสน ดังนั้นรัฐจึงควรเติมข้อมูลที่ถูกต้องมากกว่าจะไปปราบปรามหรือหยามเหยียดคนที่เชื่อเฟคนิวส์

อีกประเด็นก็คือ การสื่อสารของรัฐล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ด้วยวิธีคิดแบบคุณหมอเป็นใหญ่ และมีผู้นำที่มีวิธีคิดแบบทหาร เมื่อรัฐสื่อสารอะไรออกมาแล้วไม่จริง หรือบริหารจัดการแล้วไม่เป็นธรรม ทั้งหมดนี้จึงส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของรัฐ สุดท้ายแล้วรัฐจึงยัดความกลัวเข้ามา และความกลัวนี้นำไปสู่ความขัดแย้งและความไม่เป็นธรรมที่บานปลายยิ่งกว่าเดิม

ความเป็นธรรมที่ไม่ทั่วถึง และการขายความกลัวของรัฐเพื่อครอบงำสังคม

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ 

ประธานชมรมแพทย์ชนบท

ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นมองได้ 2 แง่มุม แง่มุมแรกคือ มีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เช่น กรณีการเข้าไม่ถึงการลงทะเบียนผ่านแอป อีกมุมหนึ่งคือ ความสามารถในการจัดการของรัฐ ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และน่าจะทำได้ดีกว่านี้ โดยเฉพาะการเข้าถึงพื้นที่ แม้แต่ อสม. ที่มีอยู่เดิมก็ยังไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่สามารถที่จะคิดระบบเองได้ ยังคงต้องพึ่งพารัฐ ซึ่งต่างจาก อสม. รุ่นใหม่อย่าง ‘กลุ่มเส้นด้าย’ โดยสิ้นเชิง เพราะพวกเขาสามารถคิดระบบเองขึ้นมาได้ อีกทั้งได้รับความช่วยเหลือจากภาคประชาชนสังคม ไม่ต้องคอยพึ่งพารัฐ

นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับมิติทางการแพทย์ที่มีหน้าที่ชี้นำสังคมด้วย โดยเฉพาะชุดวิธีคิดที่เอาบุคลากรการแพทย์มาชี้ขาดสังคม ถือเป็นวิธีคิดที่ผิดอย่างมาก และส่งผลกระทบหลายด้าน โดยเฉพาะการศึกษา เด็กในชนบทไม่ได้เรียนมา 1-2 ปีแล้ว เพราะการเรียนออนไลน์นั้นไม่ถือว่าเป็นการเรียนที่เกิดขึ้นจริง ด้วยข้อจำกัดของสัญญาณอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์การเรียน ทั้งที่บางชุมชนไม่มีการระบาด แต่ก็ต้องปิดโรงเรียน การนำมิติทางการแพทย์มากำหนดเป็นมาตรการจึงสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างมาก รวมถึงรัฐยังคงขายความกลัวเพื่อครอบสังคมเอาไว้ ผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัด ก็ยังคงเอาแต่มองฟ้า รอฟังสัญญาณจาก ศบค. อย่างเดียว แต่ไม่กล้าที่จะฟังเสียงของคนในชุมชน 

อีกปัญหาที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ หรือเขตเมือง คือการมีโรงพยาบาลที่มากเกินไป ทำให้ประชาชนต้องตระเวนหาโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วย ซึ่งต่างจากโรงพยาบาลในชุมชนที่ไม่มีสิทธิปฏิเสธผู้ป่วย เนื่องจากมีเพียงโรงพยาบาลเดียว 

สำหรับประเด็นการจัดสรรวัคซีน มองว่าเมื่อรัฐปิดกั้นก็ส่งผลให้คนเข้าถึงวัคซีนได้น้อยมากในช่วงแรก แต่กลับกลายเป็นว่า ขณะนี้ไทยมีวัคซีนที่ใกล้หมดอายุเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่รัฐไม่กล้าแม้แต่จะยอมรับ จนไม่สามารถบริจาคให้ประเทศอื่นได้

ประเด็นเหล่านี้ล้วนถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายและสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุข

สนับสนุนโดย

Author

มนสิรา กาหลง
ใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีจนจบ ม.ปลาย แล้วจึงย้ายถิ่นฐานเพื่อมาเรียนวารสารฯ ธรรมศาสตร์ วัยเด็กโตมากับทีวี รักการดูโฆษณา ปัจจุบันหันมาสนใจงานเขียน งานข่าว ขับเคลื่อนชีวิตด้วยน้ำชง เพลงเเจ๊ส และแมว มุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กับการเอาชีวิต(ให้)รอดในโลกทุนนิยม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า