วิกฤติโรคระบาด COVID-19 ไม่เพียงสร้างความสูญเสียในทางสุขภาพร่างกายเท่านั้น หากยังส่งผลกระทบไปถึงสภาพสังคม เศรษฐกิจ รวมถึงลูกจ้าง แรงงาน และคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมที่ผูกโยงกันเป็นลูกโซ่
ความสับสนอลหม่านและความเดือดร้อนของประชาชนในวันนี้ ล้วนเป็นผลพวงจากการบริหารจัดการของรัฐและศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่ผิดพลาดล้มเหลวมาตลอดโดยไม่เคยฟังเสียงประชาชน ไม่ว่าเป็นการประกาศมาตรการล็อคดาวน์ การปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง การกีดกันแรงงานข้ามชาติ การปิดสถานประกอบการและกิจการหลายประเภท ทำให้ผู้คนตกงาน ขาดรายได้ ผลักภาระให้ประชาชนต้องรับผิดชอบตัวเอง
กรณีที่ชัดเจนคือ การจัดหาวัคซีนที่ล่าช้าและเต็มไปด้วยกลเกมทางการเมือง รวมถึงการกระจายวัคซีนและทรัพยากรทางการแพทย์ที่ไม่ทั่วถึง ยิ่งทำให้เห็นว่า ‘ความยุติธรรมทางสุขภาพ’ ไม่มีอยู่จริง
ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมที่ปรากฏ นำมาสู่การจัดวงเสวนา Health Justice ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 ในหัวข้อ ‘แรงงานเคลื่อนเมือง: โอกาสและความเหลื่อมล้ำในสถานการณ์โควิด’ จัดโดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนของผู้ได้รับผลกระทบในภาคเศรษฐกิจ ทั้งฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง เครือข่ายองค์กรแรงงาน รวมถึงความเห็นจากนักวิชาการผู้ติดตามปัญหาของแรงงานและคนจนเมือง
กระบวนการตัดสินใจและการออกแบบนโยบายสุขภาพ ต้องโปร่งใส เป็นธรรม
ดร.ภาคภูมิ แสงกนกกุล
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การมีสุขภาพดีคือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงมี สุขภาพจึงเป็นทุนมนุษย์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ดังนั้นเราจะสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพอย่างไรให้ทั่วถึงแก่คนทุกคน ที่ผ่านมาหลายเครือข่ายมีการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมด้านสุขภาพมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งเกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้ต้องกลับมาทบทวนกันอีกครั้งว่า ความยุติธรรมด้านสุขภาพควรจะมีการปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์อย่างไรบ้าง
การระบาดของโควิด-19 มีลักษณะสำคัญประการแรกคือ มีความไม่แน่นอนสูง คาดเดาได้ยาก เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ ทำให้ไม่สามารถใช้กรอบแนวทางการรักษาแบบเดิมได้
ประการที่สอง โควิด-19 สร้างผลกระทบในวงกว้างและเป็นครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก มีผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อสังคม วิถีชีวิต และระบบเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
ประการที่สาม คือการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจนหลายประเทศไม่สามารถเตรียมการรับมือได้ทัน จะเห็นว่าในช่วง 6 เดือนแรกของการระบาด หลายประเทศไม่มีความพร้อมในการรับมือ และประสบความล้มเหลวในการควบคุมโรค ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง รายได้ปานกลาง และรายได้น้อย
เมื่อไม่สามารถเตรียมการได้ทัน ทั้งบุคลากรและทรัพยากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ ปัญหาที่ตามมาก็คือ จะจัดลำดับในการจัดสรรทรัพยากรนั้นอย่างไร ใครควรจะได้ก่อนหรือหลัง และสิ่งนั้นยุติธรรมแล้วหรือไม่
ประการสุดท้ายก็คือ การควบคุมโรคระบาดครั้งใหญ่เช่นนี้ ย่อมไม่อาจปล่อยให้ภาคเอกชนจัดการตนเองเพียงฝ่ายเดียว แต่รัฐบาลและนโยบายสาธารณะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการ ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังจากรัฐประกาศใช้มาตรการต่างๆ แล้ว กลับยิ่งทำให้เกิดข้อขัดแย้งมากมายระหว่างรัฐกับเอกชน รวมถึงข้อขัดแย้งระหว่างหน่วยงานของรัฐเอง
ตัวอย่างเช่น รัฐต้องมีหน้าที่ให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน แต่มาตรการต่างๆ ที่ออกมา อย่างการห้ามเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ การปิดสนามบิน ฯลฯ นั่นเท่ากับว่า รัฐมีข้อขัดแย้งในหน้าที่ของตนเอง คำถามคือ รัฐจะจัดสมดุลอย่างไรระหว่างการทำหน้าที่ควบคุมโรคกับการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ทั้ง 4 ประเด็นนี้ คือลักษณะสำคัญของสถานการณ์โควิด-19 และทำให้เกิดคำถามตามมาเกี่ยวกับความยุติธรรมทางสุขภาพ รวมถึงการกำหนดนโยบายของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งหมดนี้จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาทบทวนกันอีกครั้ง เพื่อหาทางออกที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันได้
จะเห็นได้ว่า การบริหารจัดการสถานการณ์โควิด นอกจากปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพจากการกระจายทรัพยากรและการรักษาพยาบาลที่ไม่ทั่วถึงแล้ว หากมองในแง่ความยุติธรรมทางสุขภาพยังกินความกว้างกว่านั้น กล่าวคือ ก่อนที่รัฐบาลจะผลิตนโยบายสาธารณะ รวมถึงกระบวนการตัดสินใจต่างๆ นั้นมีความยุติธรรมหรือไม่เพียงใด มีการใช้องค์ความรู้แม่นยำแค่ไหน มีการบังคับใช้ครอบคลุมกับทุกกลุ่มคนหรือไม่ มีอภิสิทธิ์ชนได้รับการยกเว้นหรือไม่ นโยบายนั้นโปร่งใสแค่ไหน สามารถกลับไปทบทวนได้ไหม รวมถึงประชาชนมีส่วนร่วมอย่างไรบ้างในการออกแบบนโยบายสุขภาพเหล่านี้
ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโควิด นอกจากกระทบต่อสุขภาพแล้ว ยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจด้วย ทำให้แรงงานทั้งประเทศต้องขาดแคลนรายได้อย่างมหาศาล ทั้งตกงาน ปิดกิจการ ถึงแม้รัฐจะมีจุดประสงค์ดีต่อการควบคุมโรค แต่ถามว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
หยุดตีตรา ลดอคติ เร่งดึงแรงงานข้ามชาติกลับเข้าสู่ระบบ
อดิศร เกิดมงคล
ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
นับตั้งเเต่เริ่มการระบาด มีเเรงงานข้ามชาติเป็นผู้ป่วยโควิดเกือบ 200,000 คน ส่วนช่วงหลังเดือนมกราคมปีที่เเล้วเป็นต้นมา ติดเชื้อประมาณ 800,000 คน เมื่อเเบ่งช่วงสถานการณ์ออกเป็น 2 ส่วน คือ ระลอกที่ 1-2 และระลอกที่ 3 ถึงปัจจุบัน พบว่ามีความเเตกต่างกัน โดยช่วงแรกสิ่งที่เป็นปัญหาของเเรงงานข้ามชาติมากที่สุดคือ ผลกระทบจากมาตรการล็อคดาวน์ มีการปิดกิจการค่อนข้างมาก ฉะนั้นปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือ ขาดรายได้แน่นอน ซึ่งกฎหมายระบุว่า หากแรงงานข้ามชาติถูกเลิกจ้างต้องหานายจ้างใหม่ให้ได้ภายใน 30 วัน แต่การหานายจ้างใหม่ในช่วงล็อคดาวน์ นับเป็นเรื่องที่เเทบจะเป็นไปไม่ได้เลย และสิ่งที่ค่อนข้างชัดเจนในระลอกที่ 1-2 คือ เเรงงานข้ามชาติกลายเป็นคนผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ การระบาดระลอกที่ 2 ที่สมุทรสาคร รัฐบาลจึงมีมาตรการดึงแรงงานกลับเข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้น
อีกสิ่งหนึ่งที่พบมากในช่วงระลอกที่ 1 คือ การเข้าถึงข้อมูลในการป้องกันตัวเองของเเรงงานข้ามชาติที่ค่อนข้างต่ำ เพราะข้อมูลของรัฐใช้ภาษาไทยเป็นหลัก แรงงานจึงต้องอาศัยข้อมูลจากการบอกเล่าต่อกันมา
อีกปัญหาคือ เรื่องที่พักอาศัย เนื่องจากไม่มีรายได้มาจ่ายค่าที่พักอาศัย ทำให้แรงงานจำนวนมากต้องพักอาศัยรวมกันหลายคน ซึ่งไม่สอดคล้องกับการเฝ้าระวังโควิดในช่วงนั้น และอีกปัญหาที่ค่อนข้างชัดเจนคือ เเรงงานมักไม่กล้าออกมารับการตรวจคัดกรอง เพราะถูกเลิกจ้างและกลายเป็นคนผิดกฎหมาย การตรวจจึงเป็นความเสี่ยงที่อาจจะนำไปสู่การถูกจับกุม รัฐบาลจึงต้องเปิดให้จดทะเบียนใหม่ในช่วงเดือนมกราคม 2564 ทำให้สามารถดึงเเรงงานกลับเข้ามาได้ส่วนหนึ่ง
นับตั้งเเต่ระลอกที่ 1 ถึงปัจจุบัน ผลกระทบที่ยังเกิดขึ้นอยู่คือการปิดชายแดน ส่งผลให้เเรงงานไม่สามารถต่อหนังสือเดินทางได้ ดังนั้นนโยบายของรัฐบาลในการบริหารจัดการเเรงงานข้ามชาติจึงเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้น และขยายมาตรการออกไปเรื่อยๆ ดังที่ปรากฏเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งสิ้น 13 ครั้ง ภายในระยะเวลา 2 ปี เท่ากับว่ามีมติ ครม. เรื่องเเรงงานข้ามชาติทุกๆ 2 เดือน โดยทุกครั้งจะเป็นเพียงการขยายเวลาในการดำเนินการออกไป แต่กลับไม่มีมาตรการใดที่ให้ผลในระยะยาว
ในการระบาดระลอกที่ 3 ตั้งเเต่ช่วงเดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา พบว่า มีเเรงงานข้ามชาติติดเชื้อถึงกว่า 100,000 คน และอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจได้ รวมถึงมีหลายกรณีที่ค่อนข้างประหลาด เช่น สามีเป็นคนไทย ภรรยาเป็นคนพม่า ปรากกฏว่าโรงพยาบาลตรวจให้แค่สามี แต่ไม่ตรวจภรรยา อีกทั้งต้องใช้บัตรประชาชนมาเเสดงก่อนเท่านั้น ดังนั้น โอกาสในการเข้าถึงการรักษาจึงเเทบจะเป็นไปไม่ได้ ตั้งแต่ขั้นตอนเเรกคือไม่มีเอกสารแสดงตัว และต้องให้คนไทยตรวจก่อน หรือต่อให้ได้รับการตรวจแล้วก็ยังเจอปัญหาในการรักษา เพราะโรงพยาบาลเตียงไม่พอ ต้องให้คนไทยก่อน วิธีคิดแบบนี้คือการตีตราเเละการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มเเรงงานข้ามชาติ ซึ่งไม่ได้หายไปจากวิธีคิดของคนไทยเลย
สำหรับข้อเสนอต่อประเด็นแรงงานข้ามชาติ ประเด็นแรกคือ ควรจัดระบบให้เเรงงานสามารถเข้าถึงการดูแลได้ เริ่มจาก หนึ่ง-รักษาคนให้อยู่ในระบบการจ้างงานให้ได้ แต่หากมีความจำเป็นที่ต้องเลิกจ้าง ก็ควรเข้าถึงการชดเชยเยียวยาด้วยเช่นกัน ซึ่งยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลชุดนี้ยังทำไม่ได้ สอง-ดึงคนที่หลุดออกจากระบบกลับเข้ามาให้ได้ เข้าใจว่ารัฐบาลกำลังพยายามทำ แต่ยังมีปัญหาในเเง่เทคนิค และสาม-การทำให้คนเดินทางข้ามแดนมาทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย
ประเด็นที่ 2 เราแทบไม่มีการวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการรองรับกลุ่มเเรงงานข้ามชาติเลย มีเพียงการจัดการระยะสั้น ซึ่งโจทย์หนึ่งที่ต้องทำคือ การสร้างการเข้าถึงข้อมูลและการลดอคติ
ประเด็นที่ 3 คือ การลดความสับสนของระบบ เนื่องจากรัฐบาลเเละ ศบค. เป็นผู้ที่ทำให้เกิดการตีตราหรือการเลือกปฏิบัติ กรณีด่านสะเดา ศบค. มีการแถลงว่า วันนี้คนไทยไม่ติดเเล้ว เเต่ต่างด้าวยังติด พอพูดเช่นนั้น คนก็ไปเจาะจงที่เเรงงานข้ามชาติ ไม่ได้ดูว่าต่างชาติที่ว่าคือใคร รวมไปถึงการให้ร้านขายยารายงานว่า วันนี้มีเเรงงานข้ามชาติที่มีอาการเหมือนเป็นโรคหวัดมาใช้บริการจำนวนเท่าไหร่ ฉะนั้น สิ่งที่ ศบค. ต้องทำคือ ต้องดึงทั้ง 3 ประเด็นนี้ขึ้นมา วางอย่างเป็นระบบ และสิ่งที่สำคัญมากกว่าคือ รัฐบาลไม่สามารถที่จะจัดการได้เอง การทำให้เเรงงานข้ามชาติมีส่วนร่วมในการจัดการตนเองเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งโจทย์นี้ไม่ปรากฏเลยในช่วงที่ผ่านมา
‘ไรเดอร์’ อาชีพที่ไร้ความมั่นคงทางสุขภาพ
อนุกูล ราชกุณา
แอดมินเพจ สหภาพไรเดอร์ – Freedom Rider Union
ในช่วงโควิด-19 ผู้ประกอบอาชีพ ‘ไรเดอร์’ ไม่มีความมั่นคงใดๆ ในชีวิตเลย ไรเดอร์ต้องทำงานทุกวัน วันละเกิน 8 ชั่วโมง ทั้งยังต้องเสี่ยงภัยบนท้องถนน แต่ไม่มีหลักประกันในชีวิต ยิ่งทำงาน ยิ่งถูกขูดรีดต้นทุนในชีวิต ทั้งค่ารอบ ค่าน้ำมัน ค่าสึกหรอของยานพาหนะ รวมถึงความเสี่ยงทางสุขภาพ จากฝุ่นละออง ควันพิษ ซึ่งขณะนี้อาจจะยังไม่แสดงผลชัดเจน ขณะที่บริษัทแพลตฟอร์มก็สามารถกำหนดนโยบายให้คุณให้โทษได้เสมอ
ที่ผ่านมาบริษัทแพลตฟอร์มมักใช้นโยบายปรับลดค่ารอบ แล้วเน้นไปที่ค่าตอบแทนแบบ incentive คือสร้างแรงจูงใจให้ไรเดอร์เร่งทำรอบให้มากขึ้นในแต่ละวัน แต่กลับได้ค่าตอบแทนเพิ่มอีกแค่นิดหน่อย บางจังหวัดได้เพิ่มแค่รอบละ 5-7 บาท กลายเป็นว่ายิ่งไรเดอร์วิ่งทำรอบมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุมากขึ้นเท่านั้น
ช่วงโควิดที่ผ่านมา อาชีพไรเดอร์มีความเฟื่องฟูมาก หลายคนที่ถูกเลิกจ้างงานก็หันเข้ามาสู่ตลาดอาชีพนี้ ทำให้ไรเดอร์มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ทำให้ธุรกิจแพลตฟอร์มเติบโตสวนทางกับธุรกิจอื่นที่ปิดตัวลง
ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด เช่น การฉีดวัคซีน เนื่องจากไรเดอร์ไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้าง จึงต้องรับผิดชอบตัวเอง ต้องลงทะเบียนฉีดวัคซีนเอง เพราะทางบริษัทแพลตฟอร์มไม่มีการจัดสรรดูแลเรื่องวัคซีนให้ เราจึงอยากเสนอให้รัฐมีนโยบายดูแลคุ้มครองอาชีพไรเดอร์ โดยจัดให้มีการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมทั่วถึงมากขึ้น เพราะไรเดอร์เป็นกลุ่มเสี่ยง และเป็นด่านหน้าที่มีบทบาทสำคัญในการจัดส่งอาหารหรือกระจายสินค้าต่างๆ ไปถึงประชาชน
ส่วนในแง่ความเป็นธรรมด้านการจ้างงาน อยากให้ภาครัฐตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อสำรวจค่ารอบที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ไรเดอร์ต้องทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง แม้จะดูเหมือนว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพอิสระ ซึ่งไม่จริงเลย เพราะบริษัทแพลตฟอร์มยังมีการใช้อำนาจแบบนายจ้างในการให้คุณให้โทษได้
มีรัฐไว้ทำไม ในเมื่อผลักภาระให้ประชาชน
ธนพร วิจันทร์
ตัวแทนเครือข่ายแรงงานอุตสาหกรรม
ความยุติธรรมทางสุขภาพควรเป็นสิทธิของประชาชน และควรเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำให้ประชาชนทุกคนในสังคมได้รับการเข้าถึงการบริการสุขภาพอย่างถ้วนหน้าและเท่าเทียมกัน เพราะคนทุกกลุ่มในสังคมนี้เป็นคนเสียภาษีให้กับรัฐ
ภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาลไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่ฟังเสียงประชาชน ทำให้เกิดผลกระทบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ฝ่ายนายจ้าง หรือกลุ่มแรงงานในโรงงาน หากลูกจ้างติดโควิดแล้วต้องหยุดกระบวนการผลิต นายจ้างก็ต้องพยายามไปหาวัคซีนที่มีคุณภาพมาฉีดให้กับลูกจ้างของตนเอง เพื่อจะได้มีภูมิคุ้มกัน ไม่ให้มีการแพร่ระบาดในโรงงาน เเละสามารถที่จะผลิตต่อได้ คนงานสามารถทำงานได้ ไม่ตกงาน นี่เป็นสิ่งที่นายจ้างกับลูกจ้างต้องช่วยเหลือกันเอง และบางครั้งก็ต้องยอมสูญเสีย เช่น ยอมรับโบนัสที่น้อยลง เพื่อให้นายจ้างนำเงินไปซื้อวัคซีนมาฉีดให้ลูกจ้าง นี่คือเรื่องที่รัฐบาลผลักภาระให้เอกชนต้องดูเเลกันเอง ซึ่งเกิดจากความล้มเหลวของรัฐที่ไม่สามารถจัดการกับโควิดได้ตั้งเเต่ระลอกที่ 1 จนถึงปัจจุบัน แล้วสุดท้ายจะมีรัฐไว้ทำไม นี่เป็นการตั้งคำถามของประชาชน
ศบค. เป็นหน่วยงานที่รัฐตั้งขึ้นมา เพื่อที่จะมาควบคุมสถานการณ์ต่างๆ เเต่วันนี้การทำงานของ ศบค. ทำอะไรไม่ได้เลย ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งหนักมากขึ้น ประชาชนต้องดูแลกันเอง ผลักภาระให้ประชาชนรักษากันเองที่บ้าน ตอนนี้ไม่มีความชัดเจนอะไรจากภาครัฐเลย เมื่อก่อนเราบอกว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทุกคนสามารถรักษาได้ฟรี แต่ตอนนี้เราต้องการที่จะรักษา เรายังไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปโรงพยาบาลได้เลย
ข้อเสนอที่ควรจะชัดเจนคือ ศบค. ต้องฟังเสียงจากประชาชนว่าต้องการอะไร ก่อนจะออกประกาศต่างๆ ไม่ใช่ออกประกาศไปเเล้วยิ่งสร้างปัญหา เช่น การปิดเเคมป์ก่อสร้าง ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ติดโควิดได้เลย พี่น้องในโรงงานตอนนี้ก็กลับมาติดกันระนาว ติดจากโรงงานเเล้วนำไปติดครอบครัว ไม่สามารถทำมาหากินได้ ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน วันนี้รัฐบาลไม่กล้าประกาศหลายๆ เรื่อง อย่างที่จะประกาศว่าเป็นโรคประจำถิ่น เพราะคุณไม่มีเงินที่จะเยียวยาพวกเราแล้วใช่ไหม
การสื่อสารของรัฐมีปัญหามาโดยตลอด การสื่อสาร การทำความเข้าใจ ตั้งเเต่โควิดระลอกแรก คุณก็บอกว่าซิโนเเวคมันดี ซึ่งเราบอกว่ามันไม่ใช่ คุณก็ไม่ฟัง ยังดันทุรัง ตั้งเเต่เรื่องมาตรการการฉีดวัคซีน เรื่องของประกันสังคมอีก รัฐมนตรีก็พยายามที่จะเอาเรื่องโควิดมาหาเสียงอีก ตกลงคุณไม่ได้มีมาตรการจริงจังที่จะทำให้คนทุกคนในสังคมเข้าใจตรงกันถึงเรื่องของการรักษา ทั้งที่เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจตรงกัน ไม่ตื่นตระหนก เหมือนที่ประกาศปิดแคมป์แรงงานข้ามชาติเเล้วทุกคนก็หนี สุดท้ายก็แพร่เชื้อ
วันนี้สามารถพูดได้เลยว่า รัฐไม่มีมาตรการในการควบคุม และ ศบค. ไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน ฟังเสียงของประชาชน หรือมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคมต่างๆ ที่เขามีความรู้ คุณก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
งบประมาณของรัฐมีเยอะ งบฉุกเฉินสามารถเอาไปทำอะไรได้มากมาย คุณมีเครื่องมือเยอะมาก ถ้าคุณจัดสรรให้ดี ซึ่งประชาชนรู้กันหมดแล้วว่าการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลนี้เป็นอย่างไร ทำไมสถานการณ์โควิดจึงไม่ทุ่มมาที่มาตรการป้องกันให้กับประชาชน งบเรามี เเต่การจัดการไม่เหมาะสม คุณมีหน่วยงานเยอะแยะมากมายที่จะสื่อสาร แต่กลับไม่สามารถสื่อสารข้อมูลให้ประชาชนเข้าใจตรงกัน ตอนนี้ทุกคนตื่นตระหนกกัน จำนวนผู้ป่วยโควิดเพิ่มเป็นหลักหมื่นต่อวัน คนตายก็เริ่มเยอะขึ้น
เรารู้อยู่ว่า คนรวย 1 เปอร์เซ็นต์ หนุนรัฐอยู่ตอนนี้ แต่วันนี้สถานการณ์ในประเทศที่มันเดือดร้อน รัฐจัดการได้ขนาดไหน รัฐยังอยู่ภายใต้ทุน ไม่สามารถที่จะเก็บภาษีคนรวยได้ เเล้ววันนี้คนรวยก็จะแย่ไปด้วย เพราะคนจนส่วนใหญ่คือคนที่เคยมีอำนาจซื้อ คุณควรเก็บภาษีคนรวยให้มาช่วยคนจนก่อน เหมือนที่คุณเคยโฆษณาหาเสียง คนรวยต้องมาช่วยคนจน ซึ่งมันไม่จริง สุดท้ายรัฐบาลก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
การบริหารที่ผิดพลาด คือสิ่งที่รัฐต้องรับผิดชอบ
สุเทพ อู่อ้น
ประธานกรรมาธิการการแรงงาน
ในฐานะผู้แทนของผู้ใช้แรงงาน ช่วงปี 2563 เกิดการระบาดของโควิด มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาเยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องมาตรการดูแลประชาชน ซึ่งเห็นได้ว่าระบบการเยียวยาที่ตกหล่น ตลอดจนระบบสาธารณสุขที่ไม่ถ้วนหน้า ส่วนหนึ่งเกิดจาก ศบค. และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องพยายามที่จะใช้ช่องทางนี้ในการเลือกปฏิบัติ เล่นพรรคเล่นพวก ซึ่งไม่ควรเป็นอย่างนั้น เพราะเรื่องสาธารณสุขควรเป็นสิทธิที่ประชาชนต้องได้รับอย่างเท่าเทียม ความเป็นความตายไม่ควรเป็นเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวก หรือเล่นการเมือง ที่ผ่านมาผมเองได้นำเสนอในรัฐสภาว่า ควรมีการเยียวยาถ้วนหน้า เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีภูมิคุ้มกันในการดำรงชีวิต
ทว่าระบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับการบริหารจัดการของรัฐบาลหรือ ศบค. จนมีการเสนอเสียด้วยซ้ำว่าเราควรยกเลิก ศบค. ไปได้แล้ว แล้วใช้ระบบสาธารณสุขปกติในการบริหารจัดการ เพราะเวลา ศบค. ออกประกาศแต่ละอย่าง เช้าออกอย่าง เย็นออกอย่าง แล้วประชาชนในประเทศนี้จะปฏิบัติอย่างไร นี่คือความสับสนที่เกิดขึ้น
เรามีการพูดคุยในสภา มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาการแก้ไขปัญหาโควิด ซึ่งการถอดบทเรียนตั้งแต่ปี 2563 ควรจะมีรูปแบบรองรับในกรณีที่เกิดการแพร่ระบาดในระยะที่ 2 3 4 แต่ท้ายที่สุดก็ไม่มีแผนชัดเจน และกระทั่งช่วงนี้ที่การแพร่ระบาดกลับมาอีกครั้ง แม้หลายคนบอกว่าเป็นการแพร่ระบาดที่ไม่รุนแรง แต่ผลกระทบต่อประชาชนก็ไม่ได้ลดลง ทั้งต้องกักตัวและขาดรายได้ ขณะที่รายจ่ายก็เกิดขึ้นต่อเนื่อง อย่างที่ทุกคนทราบดี ข้าวของแพง ค่าแรงถูก การควบคุมราคาสินค้าก็ไม่เกิดขึ้น หนำซ้ำเรื่องระบบสาธารณสุขที่ควรจะเข้าถึง ก็เข้าไม่ถึง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐ
เราหวังให้มีการจัดสรรงบประมาณที่เน้นเรื่องสาธารณสุขมากขึ้น เพื่อเตรียมแผนรองรับกรณีที่มีการแพร่ระบาดในระลอกที่จะเกิดขึ้น แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น ทุกอย่างยังเหมือนเดิม กระทรวงไหนที่ไม่ควรได้เม็ดเงินเหล่านี้ ก็ยังได้เหมือนเดิม ไม่มีการปรับงบประมาณที่จะมาเน้นการตั้งรับด้านสาธารณสุข นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้น ความรับผิดชอบจึงไม่พ้นรัฐบาลชุดนี้
ส่วนเรื่องแรงงานข้ามชาตินั้น มีหน่วยงานและผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) หน่วยงานท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงแรงงาน ถามว่าทำไมไม่เปิดให้มีการลงทะเบียนอย่างถูกต้อง คำตอบคือ เราเห็นความพยายามที่จะทำหลายรอบ แต่สิ่งหนึ่งที่พบคือ ค่าใช้จ่ายสำหรับการขึ้นทะเบียนแรงงานนั้นสูงมาก ทำให้พวกเขาไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ เรื่องนี้เราต้องมาพิจารณากันว่า ค่าใช้จ่ายเหล่านี้เกิดขึ้นจากอะไร ถามว่าวันนี้เราต้องการใช้แรงงานข้ามชาติไหม ถ้าต้องการ เงื่อนไขเหล่านี้ก็ควรปรับ
ไม่ใช่แค่ลูกจ้างที่ถูกลอยแพ นายจ้างก็สาหัสไม่แพ้กัน
ศุภกร เผ่าดี
อุปนายกฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) และประธานชมรมผู้บริหารบุคคลธุรกิจอุตสาหกรรม (MAC+)
เรื่องสาธารณสุขและการดูแลขั้นพื้นฐาน ควรเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีเงื่อนไข ในส่วนของนายจ้างที่ได้รับผลกระทบคือ เเน่นอนว่าเราต้องการให้ลูกจ้างมีสุขภาพที่ดี ได้รับวัคซีนทั่วถึง แต่ว่าการกระจายวัคซีนกลับไม่ทั่วถึง เพราะมีเรื่องกลไกทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าวัคซีนกระจายไปไม่ทั่ว ไม่มีหลักเกณฑ์มาตรฐานที่ชัดเจน เช่น การกระจายวัคซีนตามจำนวนผู้ประกันตนก็มีสัดส่วนเเต่ละพื้นที่ชัดเจนอยู่เเล้ว ซึ่งเเต่ละพื้นที่ก็ต้องนำไปกระจายต่อในสถานประกอบการ แต่รัฐกลับไปมองด้วยเรื่องของขนาดสถานประกอบการที่ใหญ่ ดังนั้น สถานประกอบการขนาดเล็กๆ จึงไม่ได้รับการกระจายทั่วถึง ทำให้รู้สึกว่าคนที่อยู่ในสถานประกอบการเล็กๆ นั้นไม่ได้สร้างคุณค่า ไม่ได้สร้างกำไรให้กับตัวเม็ดเงินภาษีที่เข้ามายังรัฐบาลบ้างเลยหรือ อันนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่อยากตั้งคำถาม
ในเมื่อไม่สามารถพึ่งกลไกของรัฐได้ ทำให้ฝ่ายนายจ้างต้องดิ้นรนดูแลกันเอง เพราะของก็ต้องค้าขาย คนก็ต้องดูแล ต้องทำให้เขาเเข็งแรง ไม่ให้เกิดปัญหา แต่ติดที่กลไกที่เข้าถึงไม่ได้ ทั้งๆ ที่เราก็พร้อมจัดสรรงบประมาณเพื่อเอามาใช้จ่าย เพื่อจะดูแลคนของเรา ในทางอ้อมเราก็ช่วยรัฐด้วยซ้ำในการที่จะดูเเลประชาชนในส่วนที่เป็นผู้ใช้เเรงงานในสถานประกอบการ เป็นสิ่งที่เรามองอยู่ว่าทำไมต้องดิ้นรนกันทุกครั้ง
ผมทำการสำรวจสัดส่วนการรับวัคซีนเมื่อปีที่แล้ว จะเห็นได้ว่า บางสถานประกอบการได้เข็มแรกไป 90 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่บางเเห่งยังไม่ได้สักเข็ม บางแห่งได้รับเข็มที่ 2 ไปเกิน 50 เปอร์เซ็นต์เเล้ว ในขณะที่บางแห่งยังไม่ได้รับสักเข็มเหมือนกัน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เบื้องต้นมีปัจจัยของขนาดสถานประกอบการมาเกี่ยวข้องด้วย เเต่สิ่งหนึ่งที่เห็นคือ ประมาณ 200 สถานประกอบการ ครอบคลุมอัตราการจ้างงานกว่า 50,000 ตำแหน่งขึ้นไป เราจะเห็นได้ว่า การกระจายวัคซีนมันเกิดปัญหา
พอสถานการณ์เริ่มเปิดให้ผู้ประกอบการสามารถที่จะดำเนินเรื่องนี้ได้เองและคล่องตัวมากขึ้น ทุกๆ ที่ก็พยายามที่จะนำเข้า เร่งกระจายวัคซีน เพื่อที่จะได้ดูเเลลูกจ้างของตัวเอง แต่สิ่งหนึ่งคือ พอเราดูแลดีเเล้ว ข้างนอกชุมชนที่อยู่รอบๆ สถานประกอบการหรือนิคมอุตสาหกรรมเขาไม่ได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง สุดท้ายคนของเราก็ต้องกักตัวอยู่บ้าน แม้ว่าเราจะทำตามมาตรการที่รัฐบอก แต่ถามว่าความพร้อมของรัฐเองมีไหม กลไกของรัฐซัพพอร์ตไหม
การจัดการของรัฐ ในช่วงที่บอกว่าไม่ให้คนเดินทาง รัฐมีความพร้อมแค่ไหนที่จะทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้ ระบบพวกนี้มีดีเเค่ไหน ฐานข้อมูลก็มีอยู่ ทำไมถึงต้องลงทะเบียนซ้ำซ้อนกัน การจัดการตรงนี้มันน่าจะต้องได้รับการจัดการ ต้องดูแลทั้งลูกจ้างเเละนายจ้างที่เขาได้รับผลกระทบ และตอนนี้ที่รัฐจะประกาศเป็นโรคประจำถิ่น มันคืออะไร เงินจะพอไหม ในขณะที่โรคกำลังระบาดอยู่ นี่เป็นระลอกที่ 4 แล้วด้วยซ้ำ
อยากจะฝากให้รัฐบาลลองไปทบทวนดู ที่สำคัญคือการมีส่วนร่วม อย่างน้อยรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ควรมีวงเสวนาเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดเห็น ความต้องการ เเละเข้าใจกลไกด้วยกันว่าต้องทำอะไร อย่างไรบ้าง เราต้องการให้มีส่วนร่วมมากกว่านี้
เพราะรัฐไม่เคยเข้าใจคนจน ทุกนโยบายจึงล้มเหลว
ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา
อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การตัดสินใจทางนโยบายด้วยความรู้และความเข้าใจทางสังคมน้อยเกินไป คนที่มีอำนาจในการตัดสินใจใน ศบค. ยึดความรู้ทางการแพทย์เป็นสำคัญ แต่รู้จักสังคมไทยน้อยมาก และเมื่อตัดสินใจบนฐานความรู้ที่ไม่เพียงพอเช่นนี้ ทำให้มาตรการต่างๆ ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางสังคม
ข้อเท็จจริงหนึ่งของสังคมไทยที่ภาครัฐและภาควิชาการจำเป็นต้องทำงานมากขึ้นคือ เรามีความรู้เกี่ยวกับแรงงานในภาคที่ไม่เป็นทางการน้อยเกินไป ประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่จะมีการเปลี่ยนถ่ายหรือลดจำนวนประชากรในภาคที่ไม่เป็นทางการไปสู่ภาคที่เป็นทางการ ขณะที่ประเทศไทยมีการเคลื่อนประเด็นนี้ช้ามาก เรายังมีรายงานเกี่ยวกับคนจนเมืองที่แสดงให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคที่ไม่เป็นทางการอีกจำนวนมาก แล้วเรารู้จักพวกเขาน้อยไป ทำให้การวางแผนผิดพลาด เช่น มีการคาดการณ์ว่าจะเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบแค่ 3 ล้านคน และมีการคัดกรองว่า อาชีพใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาด มีการคัดเลือกและคัดแยกจนเกิดความวุ่นวายชัดเจนมาก นี่คือการมองปัญหาอย่างไม่เข้าใจ ว่าผู้ที่ประสบปัญหาจากการล็อคดาวน์หรือการปิดเมืองนั้นล้วนกระทบกันเป็นลูกโซ่ จนภายหลังนโยบายรัฐต้องขยายการเยียวยาเป็น 20 ล้านคน จากที่คาดไว้ตอนแรกแค่ 3 ล้านคน นี่คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัด
ประการต่อมาคือ ผู้กำหนดนโยบายไม่เข้าใจว่าชีวิตของคนจนเป็นอย่างไร มีการพูดถึงการ work from home กันมาก ซึ่งผู้ที่จะทำได้คือคนที่ทำงานในสำนักงาน หรือบนระบบแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่อาชีพของคนจนจำนวนมากเป็นอาชีพที่ไม่สามารถทำงานออนไลน์ได้
ทีมวิจัยชุดโครงการ ‘คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง’ ที่มี อาจารย์อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าทีม และเป็นทีมแรกๆ ที่อึดอัดกับการออกนโยบายที่ไม่สนใจเกี่ยวกับคนจนเมือง เราทำวิจัยกันเมื่อวันที่ 9-12 เมษายน 2563 ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีคนพูดถึงกันมากนัก เรานำข้อมูลมาแสดงให้เห็น โดยสำรวจในชุมชนแออัดและพบว่า คน 78-79 เปอร์เซ็นต์ ในชุมชนตอบว่า อาชีพของเขาไม่สามารถ work from home ได้ เขาเป็น รปภ. ที่บ้านตัวเองไม่ได้ อาชีพหาบเร่ แผงลอย วินมอเตอร์ไซค์ ก็ทำงานที่บ้านไม่ได้ ดังนั้น work from home จึงไม่สอดคล้องกับชีวิตของพวกเขา
ต่อมามีการพูดเรื่อง ‘การกักตัวอยู่บ้าน’ โดยเราได้ไปสำรวจคนในชุมชนแออัด พบว่า บ้านของพวกเขาไม่ได้มีห้องนอนแยกกัน ไม่เหมือนบ้านของชนชั้นกลางที่สามารถแยกห้องนอนได้ บ้านของคนจนเป็นเพียงห้องเช่าห้องหนึ่ง นอนเรียงกัน 4-5 คน ถ้าใครติดก็ติดกันหมด เราสำรวจพบว่า 43 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าบ้านของเขาไม่สามารถกักตัวได้ ผมคิดว่า เรามีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้น้อยเกินไป
ผมเข้าใจว่าในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นต้องการการตัดสินใจที่ฉับไว ผมคิดว่าฉับไวได้ครับ แต่ต้องตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่เพียงพอ ผมไม่อยากจะใช้คำว่ารวมศูนย์ แต่ต้องรวมคนที่มีความรู้หลายๆ ด้าน ซึ่งที่ผ่านมาการตัดสินใจของ ศบค. ตัดสินใจโดยอิงฝ่ายความมั่นคงเป็นหลัก ซึ่งไม่เคยเข้าใจว่าถ้าคนต้องหยุดงานจะกินอยู่อย่างไร ผมได้ยินชาวบ้านพูดว่า ถ้าคนเหล่านี้ (ผู้กำหนดนโยบาย) ไม่มีเงินเดือน เขาจะพูดแบบนี้ไหม เพราะชาวบ้านเขาไม่ได้มีเงินเดือนประจำ
นอกจากความรู้ทางการแพทย์แล้ว เรายังต้องการคนที่มีความรู้ด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ผู้ประกอบการรายย่อย ฯลฯ หัวใจสำคัญคือเราต้องการการมีส่วนร่วมและโปร่งใส
เราอยู่ในสังคมที่มีประชาธิปไตยไม่มาก ความโปร่งใสจึงน้อย ผมเคยตั้งขอสงสัยว่า ทำไมเราไม่สามารถมีระบบที่สามารถเห็นได้ว่า วัคซีนทั้งหลายถูกแจกจ่ายไปที่ไหนบ้าง ถ้าคุณทำระบบเหล่านี้ให้โปร่งใส เราจะสามารถทราบได้ว่า มีมือที่มองไม่เห็นเอาวัคซีนไปหรือเปล่า ความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงมีความจำเป็น การที่เราไม่มีความรู้ ทำให้เราไม่เข้าใจว่าจะจัดการปัญหาอย่างไร การเข้าถึงการช่วยเหลือควรจะเป็นสิทธิ แปลว่า เราทุกคนต้องสามารถเข้าถึงได้ โดยไม่ใช่การสงเคราะห์ที่ให้เฉพาะบางคน
งานมานุษยวิทยาหลายชิ้นจะพูดคล้ายๆ กันว่า โควิด-19 เผยให้เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมให้ชัดเจนขึ้น ที่ผ่านมาเวลาโลกเราเกิดวิกฤติ เราจะเรียนรู้จากมัน และพยายามจะแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เช่น หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่สหรัฐอเมริกาในปี 1930 ทำให้เกิดการจัดเตรียมระบบสวัสดิการและการประกันการว่างงาน ไม่เช่นนั้นเมื่อเกิดวิกฤติขึ้นมา ทุกคนจะแย่หมด หรือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านเมืองจำนวนมากพังทลาย ที่อยู่อาศัยขาดแคลน ทำให้เกิดความสนใจเรื่อง social housing (เคหะชุมชน) หรือการสร้างที่อยู่อาศัยให้เป็นของทุกคน พร้อมๆ ไปกับการฟื้นฟูเมือง
น่าเสียใจที่หลังจากวิกฤติโควิด เรามีความรู้เรื่องแรงงานนอกระบบน้อยมาก เรามีความรู้ความเข้าใจว่าชีวิตของแรงงานเหล่านี้สำคัญกับเมืองอย่างไรน้อยมาก เหมือนเราแทบไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ผมคิดว่า แรงงานนอกระบบไม่ถูกพูดถึงอย่างเต็มที่ และเรื่องบางเรื่องที่ชื่นชมกัน ก็ไม่ได้อิงข้อเท็จจริงสักเท่าไหร่ เป็นการชื่นชมเพียงผิวเผิน เช่น พูดกันมากว่าช่วงโควิด ทำให้คนหันมาทำ e-commerce ทำธุรกิจออนไลน์กันมากขึ้น แต่อย่าลืมนะครับว่า มีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถทำงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้
ผมสัมภาษณ์คนและเก็บข้อมูลด้วยตนเอง พบว่า ผู้สูงอายุจำนวนมากมีโทรศัพท์ที่มีแค่ปุ่มเอาไว้โทรออก จะให้เขาไปขายของออนไลน์อย่างไร หรือคนที่เคยเข็นรถขายของอยู่หัวลำโพง อาชีพเหล่านี้ถ้าเราไม่ดูแลเขา เขาก็จะถูกละทิ้งไปเรื่อยๆ และแทบจะไม่มีที่ทางของตัวเองเลย ในทางวิชาการเรียกว่า ‘digital divide’ (ความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เกิดจากโอกาสในการเข้าถึงสารสนเทศที่ไม่เท่าเทียมกัน) เช่น การจะลงทะเบียนแล้วต้องมีอีเมล ป้าคนหนึ่งถามว่า อีเมลคืออะไร สมัครที่ไหน ไปสมัครที่เขตเทศบาลได้หรือเปล่า หรือมีคนบอกผมว่า เขาไม่ได้ลงทะเบียนรับการเยียวยา เพราะไม่รู้ว่าจะไปลงทะเบียนที่ไหน เขาไม่ใช่คนกรุงเทพฯ ไม่รู้จะนั่งรถไปลงทะเบียนที่ไหน เรามีคนที่ไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้จำนวนมาก เมื่อเราไม่เข้าใจ เราจึงพูดถึงปัญหาอย่างผิวเผิน แล้วกลับไปสู่กรอบความคิดเดิมๆ
เราไม่อาจข้ามผ่านวิกฤติได้ตามลำพัง เราไม่สามารถเป็นคนมีเงินแล้วเอาตัวรอดได้คนเดียวในวิกฤตินี้ ถ้าคนในสังคมไม่รอด โควิดก็จะกลับมา เช่น สิงคโปร์ เขาเคยทำดีมากเรื่องการจัดการโควิด แต่เขาละเลยแรงงานข้ามชาติ ทำให้แรงงานข้ามชาติกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดอีกครั้ง หรือในระดับโลกก็เช่นกัน ประเทศที่ร่ำรวย แม้จะฉีดวัคซีนทั่วถึงแล้ว แต่ก็ไม่สามารถรอดได้ถ้าคนบนโลกยังไม่รอด นั่นแปลว่า เราไม่สามารถรอดได้ตามลำพัง
เวลาเราพูดถึงความไม่เป็นธรรมหรือความเหลื่อมล้ำ ผลกระทบจึงไม่ได้เกิดเฉพาะคนที่เสียเปรียบเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับทุกคนในสังคม ที่สำคัญแม้ประชาสังคมจะช่วยกันเพียงใดก็ตาม แต่ทรัพยากรส่วนใหญ่อยู่ที่รัฐ นั่นแปลว่า รัฐต่างหากที่ต้องจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง
เวลาเราพูดถึงความไม่เป็นธรรมหรือความเหลื่อมล้ำ ผลกระทบจึงไม่ได้เกิดเฉพาะคนที่เสียเปรียบเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับทุกคนในสังคม ที่สำคัญแม้ประชาสังคมจะช่วยกันเพียงใดก็ตาม แต่ทรัพยากรส่วนใหญ่อยู่ที่รัฐ นั่นแปลว่า รัฐต่างหากที่ต้องจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง