แรงงานมีชีวิต

 

img_9881
เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี
ภาพ: อารยา คงแป้น

รัฐไม่ใช่เจ้านาย รัฐเป็นตัวแทนที่เราสร้างขึ้นมา

คือคำพูดของเธอ-พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ ในฐานะผู้ศึกษาวิจัยเรื่องแรงงานนอกระบบมายาวนาน บนเวทีเสวนา ‘แรงงานไม่มีประวัติศาสตร์: กลางเมืองไม่ได้มีแค่โปเกม่อน ซอกหลืบของแรงงานที่ไม่มีใครออกตามหา’

บทความชิ้นนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะประโยคข้างต้นนี้ประโยคเดียว ประโยคที่คล้ายจะจบสมบูรณ์ในตัวมันเอง ประโยคที่อธิบายถึงที่มาของรัฐบาล ที่มาของประชาธิปไตย และหลักการพื้นฐานที่ว่า ‘รัฐบาลไม่ใช่ผู้อุปการะ และเรา-ประชาชน ไม่ใช่ผู้ที่ต้องได้รับการสงเคราะห์’

ก็เราเป็นคนเลือกเขามาเอง ถ้าเขาไม่ใช่ เราก็เพียงขอให้เขาจากไป…ง่ายดายเพียงเท่านี้

ไม่อยากให้ประโยคดังกล่าวล่องลอยหายไป และไม่ให้ขบวนการต่อสู้ ย่ำอยู่เพียงการขอความเป็นธรรมจากรัฐ

ทันทีที่เธอเดินลงจากเวที เราชวนพูลทรัพย์พูดคุยสั้นๆ อธิบายถึงความหมายระหว่างบรรทัดที่ซ่อนอยู่ แม้ว่าสิ่งที่เธอเพิ่งพูดบนเวที มันจะชัดเจนจนแทบไม่ต้องการบริบทใดๆ มารองรับแล้วก็ตาม

ทำอย่างไรสิทธิของแรงงานจึงจะถูกยกระดับและได้รับการยอมรับ

รัฐเป็นตัวแทนที่เราสร้างขึ้น เราเป็นคนเลือกเขาเข้ามา ถ้าเขาไม่โอเค เขาก็ต้องไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พอแรงงานรวมตัวกันเรียกร้องเรื่องสิทธิของคนทำงานที่ควรจะได้ กลายเป็นว่าคนส่วนหนึ่งมองว่าเราเรียกร้องขอความสงสารจากรัฐ แต่มันไม่ใช่ นี่มันคือพันธกิจของรัฐ

ปัญหาหนึ่งของแรงงานนอกระบบ คือเราไม่รู้ว่าเรามีสิทธิ์ และคนทั่วไปก็ไม่ตระหนักในสิทธิของพวกเขา (แรงงาน) เองด้วย แรงงานทำงานหนัก ค่าแรงน้อย สวัสดิการต่ำ ถ้าอยากได้เงินเดือนเพียงพอที่จะรักษาชีวิตก็ต้องทำโอทีเพิ่ม ทำงานให้หนักกว่าปกติ มันไม่มีเวลามานั่งคุยกันอย่างเต็มที่ในเรื่องสิทธิของพวกเขาเอง ฉะนั้น สิ่งที่เขามองเห็น คือวิธีการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น คือเรื่องการขึ้นค่าแรง แต่เขาก็มักยอมไม่ได้หรอกที่จะขึ้นค่าแรงให้แรงงาน

ทุกครั้งขบวนการแรงงานเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ์ เหตุใดจึงมักได้รับการปฏิเสธจากรัฐอยู่เสมอ

ต้องตั้งคำถามว่า ทำไมรัฐไม่เข้ามาดูแลแรงงานนอกระบบ แน่นอน สิ่งที่เราได้ยินบ่อยๆ มักเป็นเหตุผลว่า แรงงานอิสระ ไม่เสียภาษี แต่มันเป็นการมองปัญหาแบบเป็นจุด ทั้งที่จริงมันเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนในประเทศนี้ต่างทำงานในฐานะคนทำงาน ในฐานะแรงงาน เป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งที่ช่วยกันสร้างชาติ

เฉพาะแรงงานนอกระบบ เช่น คนขับรถมอเตอร์ไซค์ คนขับแท็กซี่ คนขายอาหารราคาถูกข้างทาง สมมุติว่าแถวโรงงานไม่มีมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไม่มีคนขายของราคาถูกอยู่ในละแวกโรงงานเลย มันจะอยู่ได้ไหม ถ้ามองแบบนี้เราจะเห็นว่าทุกอาชีพมันเชื่อมกันหมด ถ้าไม่มีเขา อาชีพอื่นก็อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีเขา ระบบเศรษฐกิจของประเทศมันจะเคลื่อนไปได้ไหม

ส่วนข้ออ้างเรื่องแรงงานนอกระบบไม่เสียภาษี ถามว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วสัดส่วนภาษีส่วนใหญ่ที่เก็บได้ในประเทศนี้ไม่ใช่ว่ามาจากภาษีทางอ้อมหรอกเหรอ ซื้อมาม่าซองหนึ่งดิฉันยังต้องจ่ายภาษี เวลาจ่ายค่าน้ำดิฉันยังต้องจ่ายภาษีทางอ้อมเลย สำหรับคนจนน่ะ เงินที่เขาจ่ายเล็กจ่ายน้อยแบบนี้มันมีค่านะ แล้วเรายังยอมให้เขามากดหัวเราอีก มันน่าไหม

สำหรับเรา มันเป็นความล้มเหลวของระบบประชาธิปไตยเลย

img_0031

แรงงานนอกระบบอย่างพ่อค้าแม่ค้าริมฟุตบาธที่มักถูกมองว่าละเมิดกฎหมาย-รุกล้ำบาทวิถี รัฐควรจัดระเบียบเรื่องนี้อย่างไร

พี่เห็นด้วยเลยว่าต้องมีการจัดระเบียบ แต่ต้องเป็นการจัดระเบียบที่เกิดจากการต่อรอง และอาจจะต้องย้อนกลับไปตั้งคำถามด้วยว่า ทำไมจึงเกิดอาชีพเหล่านี้ขึ้น แง่หนึ่ง มันคือความล้มเหลวทางเศรษฐกิจใช่ไหม มันคือการล่มสลายของความเป็นชนบทใช่ไหม

ยกตัวอย่างเรื่องปรากฏการณ์เปิดท้ายขายของเมื่อปี 40 อันนั้นชัดเจนเลยว่า มันเกิดขึ้นจากการที่ระบบมันล้มเหลว การเปิดท้ายขายของจึงเป็นอาชีพที่รองรับระบบไม่ให้พังครืน

ถามว่าตอนนี้มีใครอยากให้ลูกเป็นชาวนาไหม ไม่มีหรอก เพราะทุกคนรู้ว่าการเป็นชาวนามันลำบาก มันยากจน แต่ประเทศก็ขาดชาวนาไม่ได้ ฉะนั้น คุณไม่ต้องมาสงสารชาวนา แต่คุณต้องสร้างหลักประกันให้กับอาชีพนี้

กลับไปเรื่องจัดเบียบทางเดินเท้า ทำไมไม่เจรจากันละ อย่างเช่นครั้งหนึ่งที่ กทม. ทำจุดผ่อนผัน ถ้าจะขายของ คุณต้องจ่ายให้ กทม. 200 บาท แต่ครั้งนั้นคุณไม่ได้ให้ใบประกันอะไรมาเลย สุดท้ายมันเกิดการทับที่กัน คนขายก็ตีกัน ฉะนั้น ถามว่าคนที่ควรถูกตีหัวไม่ใช่ กทม. หรอกหรือ เพราะเขาเป็นคนที่ได้เงิน 200 บาทไปแล้วนะ แต่กลับไม่เข้ามารับผิดชอบอะไรเลย

ถ้าเรามองปัญหาแบบเชื่อมโยง เราจะแก้ปัญหาถูกจุด เราใช้เงินมากมายเป็นหมื่นๆ ล้านไปทุ่มกับเศรษฐกิจระดับบน แต่กับเศรษฐกิจฐานรากกับเศรษฐกิจที่มีคนทำงานนอกระบบกว่า 20 กว่าล้านคน กลับไม่ได้ถูกนับรวมมาตลอดเลย แต่ถ้าคุณทำให้เขาเข้มแข็ง เศรษฐกิจประเทศชาติเราจะไปได้ไกลกว่านี้

[/vc_column_text][/vc_column][/vc_row]

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า