ฮิลเด ลีเชียก: นักข่าวสายอาชญากรรมวัย 10 ปี

“ข่าวอาชญากรรมคือสิ่งที่ฉันสนใจที่สุด เพราะฉันจะได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ จากแหล่งข่าว และทำให้ฉันมีสกิลในการคอนเฟิร์มข้อเท็จจริง” จะไม่แปลกใจเลย ถ้าผู้ที่เอ่ยประโยคนี้จะไม่ได้มีอายุ 10 ปี!

ฮิลเด ลีเชียก (Hilde Lysiak) อายุ 10 ปี เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่ชื่อ Orange Street News เมืองเซลินส์โกรฟ (Selinsgrove) ตอนกลางรัฐเพนซิลวาเนีย และยังมีเว็บไซต์หรือบล็อกข่าวในชื่อเดียวกัน และเธอไม่ได้ทำแค่ลงพื้นที่ สัมภาษณ์ และรายงานเฉพาะข้อเขียนเท่านั้น แต่ฮิลเดและพี่สาว อิซาเบล ลีเชียก (Isabel Lysiak) อายุ 13 ปี ยังผลิตคลิปวิดีโอเพื่อเผยแพร่ออนไลน์ด้วย

และงานนี้ไม่ใช่งานอาสาสมัคร เพราะอิซาเบลได้รับค่าจ้างในฐานะช่างภาพและสำหรับงานเขียนในคอลัมน์สำหรับเด็กเป็นจำนวนเงิน 25 ดอลลาร์ต่ออาทิตย์ ซึ่งได้มาจากการขายหนังสือและเงินในระบบสมาชิกหนังสือพิมพ์

“ผู้ใหญ่ชอบบอกว่าเด็กๆ ทำได้ทุกอย่าง แต่สุดท้ายแล้วพวกเขาก็ไม่เคยให้เราทำอะไรสักอย่าง” ฮิลเดกล่าว

อาจเพราะฮิลเดได้ติดสอยห้อยตาม แมทธิว ลีเชียก (Matthew Lysiak) ผู้เป็นพ่อ และอดีตนักข่าว The New York Daily News มาตั้งแต่เด็กๆ เขาเล่าว่าประสบการณ์ด้านงานข่าวชิ้นแรกของฮิลเดอาจเป็นครั้งที่เขาทำข่าววัยรุ่นชายคนหนึ่งถูกฆ่าโดยเพื่อนข้างบ้าน วันนั้นแมทธิวอธิบายกับลูกสาวว่า “เรามีเรื่องต้องคุยกันนะ แต่พอหวังว่าพ่อจะบอกลูกอย่างตรงไปตรงมาได้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่นักข่าวจะทำ”

อาจจะใช่หรือไม่ใช่เหตุการณ์ในวันนั้น แต่หลังจากครอบครัวลีเชียกย้ายสำมะโนครัวกลับมายังบ้านเกิดที่เซลินส์โกรฟครบหนึ่งปี เด็กหญิงฮิลเด ลีเชียก ก็ตีพิมพ์ Orange Street News ฉบับแรกด้วยพาดหัว ‘การให้กำเนิดสมาชิกคนใหม่ของบ้านลีเชียก’

หลังจากนั้นเป็นต้นมา เธอจะออกจากบ้านตอนเช้าพร้อมจักรยานคู่ใจ เริ่มหาข่าวจากระยะห่างจากบ้านสองบล็อก และเริ่มไกลออกไปรอบๆ หมู่บ้านเพื่อถามว่า มีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นไหม

“เธอจะออกจากบ้านตั้งแต่ตอนเช้า จะไม่มีใครเห็นเธอจนกว่าจะบ่ายโมง” แม่ของฮิลเดกล่าว และที่เด็กหญิงวัย 10 ปีทำเช่นนั้นได้เพราะเธอโฮมสคูลหรือเรียนที่บ้านตั้งแต่เริ่มต้น ขณะที่พี่สาว ซึ่งปัจจุบันอยู่เกรด 10 เรียนที่โรงเรียนรัฐบาล

“อย่างไรก็ตาม เราต้องเตรียมความพร้อม หากเป้าหมายของเธอเปลี่ยน” แม่ของเธอกล่าวเช่นนั้น แม้ว่าฮิลเดจะแน่วแน่ในสิ่งที่เธอทำ มีแรงบันดาลใจ และกระตือรือร้น แต่วันหนึ่งเป้าหมายอาจเปลี่ยน ฉะนั้นสิ่งที่ผู้เป็นแม่ต้องเตรียมให้ลูกสาวคือการปูพื้นฐานวิชาทั่วไป เช่น เลข ประวัติศาสตร์ ภาษา และอื่นๆ

แต่ใช่ว่าเธอจะได้รับเพียงดอกไม้ หากก้อนอิฐก็ตกลงมาที่หลังคาและทางกล่องคอมเมนต์ เพราะข่าวที่ทำก็ไม่ได้เป็นเรื่องใสๆ ทั่วไป แต่ฮิลเดติดตามประเด็นอาชญากรรม ธุรกิจ ข่าวท้องถิ่น หรือประเด็นหนักๆ อย่างที่ศัพท์นักข่าวเรียกว่า ‘hard news’

“ฉันคิดว่าไม่ถูกต้องที่เธอจะรายงานออกไป ทั้งที่ความจริงยังไม่ถูกยืนยัน” “ไม่มีใครรู้หรอกนะ ว่าข่าวที่เหมือนเขียนเล่นๆ นี้จะเขียนโดยเด็กอายุ 9 ขวบ” “พ่อแม่แบบไหน ที่สนับสนุนให้ลูกมีพฤติกรรมแบบนี้”

ทั้งหมดนี้เธอเพียงตอบกลับว่า “มันทำให้ฉันรู้สึกว่าฉันเป็นนักข่าวที่ดีคนหนึ่งเลยนะ”

คนส่วนใหญ่คิดว่าฉันควรจะเล่นอยู่แถวบ้าน หรือทำอะไรก็ได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับข่าวอาชญากรรม

เพราะงานของฉัน ทำให้ฉันมีความสามารถที่จะรายงานหรือให้ข้อมูลกับผู้คนเกี่ยวกับเรื่องแย่ๆ ได้ แต่เอาเข้าจริงแล้วนักข่าวผู้ใหญ่บางทีก็รายงานรายละเอียดผิด หรือไม่ก็ไม่มีข่าวใดๆ ออกมาเลย

ชื่อของ ฮิลเด ลีเชียก เป็นที่รู้จักในวงกว้าง หรืออาจกล่าวว่าดังเป็นพลุแตก จากการรายงานข่าวอาชญากรรมในละแวกบ้านตัวเอง หลังจากวิ่งไปคอนเฟิร์มขอรายละเอียดกับตำรวจ (ซึ่งเธอให้สัมภาษณ์หลายๆ ครั้งว่า ตำรวจนี่แหละ ที่ไม่ชอบตอบคำถามเธออย่างตรงไปตรงมาเอาเสียเลย) และเพื่อนบ้านใกล้ที่เกิดเหตุ เธอกลับบ้านไปเขียนข่าวและอัพโหลดขึ้นเว็บ รายงานข่าวก่อนสำนักข่าวรายใหญ่เสียอีก

“เพราะเธอแทบจะเป็นนักข่าวคนเดียวในพื้นที่ นั่นทำให้เธอมีแหล่งข่าวเป็นของตัวเอง เธอเข้าใจกระบวนการยืนยันข้อมูล เธอเป็นพยานในกระบวนการศาลได้

“เธอทำอย่างเป็นธรรมชาติ อย่างง่ายดายอย่างที่ผมเคยเป็น ก่อนที่ทุกอย่างจะค่อยๆ ซับซ้อนขึ้น และเธอไม่กลัว เธอเพียงแต่อยากจะให้สิ่งที่เธอรู้และข้อมูลที่ได้ถูกคอนเฟิร์มถูกปล่อยออกไป” พ่อของฮิลเดกล่าว และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาลาออกจากการเป็นนักข่าว เหตุผลของการเป็นผู้ใหญ่

ปัจจุบันเรื่องของ ฮิลเด ลีเชียก ถูกนำไปเขียนเป็นหนังสือสำหรับ ‘เด็กวัยที่กำลังจะก้าวขึ้นเป็นผู้ใหญ่’ ตามความเห็นของ เคที คาเรลลา (Katie Carella) เจ้าของสำนักพิมพ์ Scholastic ในชื่อหนังสือชุด Hilde Cracks the Case ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมดหกตอน

ที่มา: nytimes.com
orangestreetnews.com

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า