sex worker คืออาชีพบริการไม่ต่างจากอาชีพบริการอื่น ซึ่งมีประวัติยาวนานฝังรากอยู่ในทุกสังคมตั้งแต่อดีตกาลตราบปัจจุบัน แม้จะเป็นอาชีพเก่าแก่ แต่ sex worker ยังจัดอยู่ในกลุ่มคนเปราะบางที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการไม่มีหลักประกันทางกฎหมายรองรับในการประกอบอาชีพ ไม่ได้รับการยอมรับในเชิงสังคมและวัฒนธรรม ประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในประเทศที่ธุรกิจบริการความใคร่มักถูกรีดไถเงินจากผู้มีอิทธิพลในพื้นที่หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ถือว่าเป็นการช่วงชิงผลประโยชน์ภายใต้ร่างกายของผู้อื่น หรือกล่าวได้ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของผลประโยชน์อย่างมหาศาลนี้
WAY สำรวจประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการกฎหมาย การจัดการในต่างประเทศ และเสียงเรียกร้องร่วมสมัยของ sex worker ในสังคมไทย
นครโสเภณี ภาษีบำรุงถนน สู่ Sex Worker
ในอดีตสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีหรือพระเจ้าอู่ทองเมื่อประมาณ 659 ปีก่อน (พ.ศ. 1904 – 2563) อาชีพค้าบริการทางเพศเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย จนกระทั่งรัชกาลที่ 4 ได้มีการจดทะเบียนนครโสเภณี สามารถเก็บภาษีและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ในนามของ ‘ภาษีบำรุงถนน’
จนกระทั่งเกิดโรคระบาด ‘กามโรค’ หรือ ‘โรคบุรุษ’ จึงได้มีการออก พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค พ.ศ. 2451 โดยมีการกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพโสเภณีทั้งหญิงไทย จีน และชาติอื่นๆ ต้องมาจากความสมัครใจไม่ได้ถูกบังคับขู่เข็ญ สถานบริการทางเพศ หรือ ‘ซ่อง’ ก็ต้องจดทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย อีกทั้งให้ควบคุม ดูแล โสเภณีต้องมีการตรวจโรค 3 เดือนครั้ง เพื่อความปลอดภัยของผู้ซื้อและให้บริการเอง แต่ก็ไม่วายพบปัญหาที่ยากต่อการปราบปรามการซื้อขายบริการตามท้องถนนอย่างยาวนาน
จนกระทั่ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ออก ‘พระราชบัญญัติการค้าประเวณี พ.ศ. 2503’ จึงทำให้อาชีพขายบริการทางเพศถูกทำให้เป็นอาชญากรรม (criminalization) หรือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ห้ามมีการค้าประเวณี มีบทลงโทษทั้งจำทั้งปรับแก่ผู้ให้บริการ นายหน้า และเจ้าของสถานประกอบการ อีกทั้งเมื่อผู้ให้บริการพ้นโทษแล้วต้องเข้ารับการรักษาและฝึกอบรมอาชีพ ไม่เกิน 1 ปีหลังพ้นโทษ
หลังจากนั้นได้มีการพัฒนาข้อกฎหมายเป็น ‘พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539’ มุ่งเน้นให้ความคุ้มครองแก่ผู้ให้บริการ เด็กและเยาวชนที่โดนบังคับขาย และเอาผิดต่อนายหน้า เจ้าของสถานประกอบการ และผู้ซื้อบริการทางเพศเด็กมากขึ้น โดยกำหนดโทษสำหรับนายหน้าและผู้ประกอบการสูงกว่าพระราชบัญญัติการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 และได้เข้ารับการพัฒนาอาชีพ โดยจัดตั้งสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพขึ้น เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาฝีมือแรงงานสำหรับผู้เคยประกอบอาชีพให้บริการทางเพศ
แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า อาชีพขายบริการทางเพศยังสามารถพบเห็นในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายตามท้องถนน ตกลงราคากันแบบซึ่งหน้า ตามสถานที่บริการทางเพศ หรืออาบอบนวด จนได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในฐานะ ‘เมืองหลวงแห่งเซ็กส์’
รายงานของ UNAIDS เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2020 ประเมินจำนวนผู้ขายบริการทางเพศในประเทศไทย 145,000 คน แต่มีการถกเถียงถึงจำนวนยอดผู้ขายบริการที่แท้จริงอาจมีมากถึง 800,000 – 2,800,000 คน รวมไปถึงในปัจจุบันการซื้อขายบริการทางเพศได้ย้ายแพลตฟอร์ม มาอยู่บนช่องทางอินเทอร์เน็ต ยิ่งทำให้อาชีพขายบริการทางเพศง่ายต่อการซื้อขายมากขึ้น
ภาพลักษณ์ของ sex worker ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมไทย คนจำนวนมากยังดูถูกดูแคลนว่าอาชีพขายบริการทางเพศเป็นอาชีพที่ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่ควรมีผู้ใดเลือกทำ อาชีพนี้ได้ทำลายภาพลักษณ์อันดีงามของประเทศ ถึงแม้จะมีการเปิดกว้างทางการซื้อขายบริการทางเพศมาอย่างยาวนานก็ตาม
sex worker นับว่าเป็นหนึ่งกลุ่มเปราะบางในไทย เพราะไม่ได้รับการคุ้มครองจากภาครัฐ ในด้านของสิทธิประกันสุขภาพ ถึงแม้จะเป็นอาชีพอิสระอย่างเปิดเผย ถึงกระนั้นจึงควรมีการผลักดันถึงข้อเรียกร้องให้อาชีพขายบริการทางเพศถูกกฎหมาย และคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ เฉกเช่นอาชีพบริการทั่วไป
จึงได้เกิดแรงผลักดันให้พนักงานบริการได้รับสิทธิเท่าเทียมอย่างอาชีพทั่วไปในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ SWING (Service Workers in Group Foundation) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยมีเป้าหมายในการทำงานเพื่อเป็นที่พักพิงให้กับคนขายบริการทางเพศทั้งหญิงและชาย รวมถึงช่วยเหลือในเรื่องของสุขภาพ และข้อกฎหมาย ร่วมผลักดันเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีในไทย
มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ (Empower Foundation) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2537 ออกมาต่อสู้เรียกร้องให้งานบริการทางเพศมีความปลอดภัยในด้านสุขภาพ และเป็นธรรมต่อผู้ขายบริการ และมีเป้าหมายให้ sex worker มีส่วนร่วมทางการเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย และสิทธิมนุษยชน เนื่องจากเล็งเห็นถึงปัญหาของ sex worker ที่จำเป็นต้องใช้ร่างกาย เป็นต้นทุนทำมาหากิน จึงมีความเสี่ยงในด้านของชีวิต และสุขภาพ
Sex Worker ในนานาอารยประเทศ
ฟิลิปปินส์
sex worker หรือเรียกว่า ‘พนักงานอาบอบนวด’ เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายรองรับตั้งแต่ปี 2000 โดยผู้ให้บริการต้องประกอบอาชีพด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่การขู่เข็ญ และได้รับการรับรองจากหน่วยงานสาธารณสุข อีกทั้งต้องเปิดเผยสถานะความปลอดภัยด้านสุขภาพให้แก่ลูกค้า
สถานประกอบการทางเพศต้องอยู่ในการดูแลของท้องถิ่น เพื่อให้ผู้ให้บริการเข้ารับการตรวจสอบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง และหากสถานประกอบการไม่ทำตามกฎระเบียบจะโดนสั่งถอนใบอนุญาตทันที
อีกทั้งสถานประกอบการทางเพศ ต้องจัดเตรียมถุงยางอนามัยให้แก่พนักงานอาบอบนวดเพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
นิวซีแลนด์
sex worker เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายรองรับตั้งแต่ปี 2003 อนุญาตให้ชาวนิวซีแลนด์ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี รวมไปถึงชาวออสเตรเลีย และผู้ที่มีวีซ่าแบบอยู่อาศัย สามารถประกอบอาชีพนี้ได้ แต่ไม่รองรับสำหรับผู้ที่มีวีซ่าชั่วคราวให้ขายบริการทางเพศ และต้องเปิดเผยสถานะความปลอดภัยด้านสุขภาพให้แก่ลูกค้า
สวัสดิการของ sex worker เสมือนพนักงานทั่วไปคนหนึ่ง เน้นให้ความปลอดภัยด้านสวัสดิการสุขภาพ sex worker จำเป็นจะต้องตรวจสุขภาพและมีใบรับรองสุขภาพ เพื่อการควบคุมโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สถานประกอบการทางเพศต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของภาครัฐ ซึ่งต้องจดทะเบียนเพื่อควบคุมและดูแล sex worker ในการตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง และมีการจัดเตรียมถุงยางอนามัยให้แก่ลูกค้า และผู้ให้บริการ
อีกทั้ง sex worker มิสิทธิปฏิเสธและเลือกลูกค้าได้ หากรู้สึกไม่ปลอดภัย และลูกค้าไม่เคารพกติกาที่ผู้ให้บริการและลูกค้าตกลงกันไว้
เยอรมนี
ประเทศเยอรมนีเป็นหนึ่งในต้นแบบของกฎหมาย sex worker ถูกรองรับตั้งแต่ปี 2002 อนุญาตให้ผู้ที่ประกอบอาชีพ sex worker มีอายุขั้นต่ำ 18 ปี ซึ่งผู้ให้บริการทางเพศจะได้รับประกันสุขภาพ และจำเป็นต้องพกใบอนุญาตในการทำงานจำนวน 2 ใบ คือ ใบอนุญาตในการทำอาชีพ sex worker และใบรับรองสุขภาพ โดยในแต่ละรัฐมีกฎระเบียบและการคุ้มครองแตกต่างกันไป
สถานประกอบการทางเพศต้องขออนุญาตจากทางภาครัฐ และมีหน้าที่จัดหาอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงยางอนามัย และให้คำปรึกษาด้านสุขภาพแก่ sex worker รวมถึงควบคุมป้องกันห้ามมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการป้องกันโดยเด็ดขาด
การเก็บภาษีในแต่ละพื้นที่มีเงื่อนไขแตกต่างกันออกไป เช่น เมืองสตุทท์การ์ท (Stuttgart) เก็บภาษีรายวันจากผู้ให้บริการทางเพศ ในขณะที่เมืองโคโลญ (Cologne) และ เกลเซนเคอร์เชน (Gelsenkirchen) เรียกเก็บภาษีตามจำนวนพื้นที่ในการให้บริการทางเพศ
อุรุกวัย
อุรุกวัยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีกฎหมายรองรับ sex worker ตั้งแต่ปี 2002 อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไปสามารถประกอบอาชีพ sex worker กระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย ในการเข้าตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ รวมถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ เพื่อป้องกัน sex worker ไม่ให้ถูกเป็นเครื่องมือให้การแสวงหาผลประโยชน์
sex worker จำเป็นต้องจดทะเบียนเพื่อรับใบรับรองสุขภาพในการทำงานภายใต้สถานประกอบการทางเพศ ซึ่งมีการโซนนิ่งให้สถานประกอบการทางเพศอยู่ห่างสถานศึกษา และจดทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย
ในปี 2009 ประเทศอุรุกวัยได้ออกกฎหมายรองรับ sex worker ให้แก่เพศชายและหญิงข้ามเพศ เพื่อให้ sex worker ทุกคนที่จดทะเบียนและมีใบรับรองสุขภาพได้รับสิทธิและการดูแลจากภาครัฐอย่างทั่วถึง ถือได้ว่าทุกคนควรได้รับสิทธิความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีข้อจำกัดด้านเพศใดๆ
ตุรกี
ประเทศตุรกี sex worker เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายรองรับไว้ตั้งแต่ปี 2011 อนุญาตให้ชาวตุรกีที่มีคุณสมบัติ สถานะโสดที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป และการศึกษาขั้นต่ำในระดับประถมศึกษา สามารถประกอบอาชีพ sex worker ได้ อีกทั้งต้องได้รับใบอนุญาตและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการทางเพศก่อน โดยอยู่ภายใต้กฎระเบียบด้านสุขภาพและความปลอดภัยของตุรกี
สถานบริการทางเพศต้องขออนุญาตจากภาครัฐ และหน่วยงานด้านสุขภาพในแต่ละพื้นที่จำเป็นต้องดูแลในเรื่องการจัดอบรมความรู้ให้แก่ sex worker รวมถึงค่าใช้จ่ายในการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกัน และควบคุมการติดต่อโรคทางเพศสัมพันธ์
ขายบริการทางเพศ ไม่ได้ขายร่างกาย
การตื่นตัวทางการเมืองตั้งแต่ต้นปี 2563 ของสังคมไทย นับว่าร้อนระอุกว่าครั้งไหนๆ จนทำให้เรื่องของ sex worker ถูกหยิบยกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง และได้รับกระแสตอบรับไปในทิศทางที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการออกมาแสดงความคิดเห็นของบุคคลทั่วไปเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้แก่อาชีพ sex worker หรือแม้แต่การออกมาพูดบนเวทีการชุมนุมโดยกลุ่ม sex worker เองก็ตาม ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ถึงเวลาที่สังคมไทยควรเปิดใจยอมรับอาชีพขายบริการทางเพศว่าไม่ได้เป็นอาชีพที่ไร้ซึ่งศักดิ์ศรี และควรยกเลิก ‘พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539’ เพราะการขายบริการ ไม่ได้เป็นอาชญากรรมแต่อย่างใด
sex worker แค่ใช้เพียงร่างกายในการทำมาหากิน เพื่อหาเลี้ยงครอบครัวและดูแลคนที่อยู่ข้างหลังที่หาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ อาชีพขายบริการทางเพศไม่ได้ขายร่างกายให้ใครทั้งนั้น ร่างกายก็ยังเป็นของเขาเหล่านั้นอยู่ดี ตราบใดที่เขาทำด้วยความเต็มใจ และไม่ได้ถูกบังคับขู่เข็ญแต่อย่างใด อาชีพขายบริการทางเพศก็ควรถูกกฎหมาย และได้รับสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการเฉกเช่นพนักงานทั่วไป อีกทั้งยังสนับสนุนบทลงโทษต่อการค้ามนุษย์ และการค้าประเวณีในเด็กและเยาวชน
“เราใช้ร่างกายในการสร้างรายได้ และการพัฒนาให้ประเทศ แต่สิทธิของเรากลับไม่ได้คืนแม้แต่บาทเดียว”
ศิริศักดิ์ ไชยเทศ ผู้ขายบริการทางเพศ กล่าวในที่ชุมนุมทางการเมือง ‘ม็อบตุ้งติ้ง ครั้งที่ 2’ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2563 เขากล่าวเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้บุคคลทั่วไปเข้าใจถึงการทำงานของอาชีพขายบริการอย่างถ่องแท้ เนื่องจากอาชีพขายบริการนั้นไม่ได้มีแค่การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ซื้อบริการเพียงอย่างเดียว บางครั้งลูกค้าที่มีสภาพจิตใจอ่อนแอ และเพียงต้องการใครสักคนที่เข้าใจ ปลอบประโลมผู้ซื้อบริการให้มีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไป ซึ่งทักษะเหล่านี้จำเป็นต้องมีการฝึกหัด ไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ ทั่วไป
คำปราศรัยของ Sex Worker 2563
พนักงานบริการทางเพศมีประมาณ 300,000 กว่าคน แต่ภาครัฐกลับไปลงพื้นที่และบอกว่าไม่พบการค้าประเวณี เนื่องจากประเทศไทยมี พ.ร.บ.ป้องกันและการปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ที่ทำให้อาชีพของพวกเราเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย ทั้งๆ ที่อาชีพนี้สามารถสร้างรายได้ สร้างภาษีแก่ประเทศนี้ปีละหลายพันล้าน และภาษีของเงินเดือนของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีก็มาจากอาชีพขายบริการเช่นเดียวกัน
เมื่อเราใช้ร่างกายในการหาเงิน สร้างรายได้ และพัฒนาให้ประเทศ แต่สิทธิของเรากลับไม่ได้มาเลยแม้แต่บาทเดียว พวกเราโดนกล่าวหาว่า เสียศักดิ์ศรี ขายชาติ เป็นคนขายตัว ทำลายศีลธรรม ทำลายภาพลักษณ์ครอบครัว ทำลายภาพลักษณ์ประเทศ ถ้าไม่มีกะหรี่ประเทศไทยไม่เจริญหรอก แค่ถนนสีลมก็สร้างรายได้เยอะมากพอสมควร ดังนั้นควรยกเลิก พ.ร.บ. ดังกล่าว อย่ามองว่าเราเป็นคนขายตัว แต่เราขายบริการต่างหาก
เราไม่ได้ให้ร่างกายแก่ใคร ร่างกายยังคงเป็นของเรา แต่เราขายบริการ เราดูแล เรานวดให้ เราเต้น เราชงเหล้าให้กิน เราเป็นที่ปรึกษาที่ดี เราทำงานวันละ 9 ชั่วโมง เหมือนอาชีพอื่นทั่วไป อย่าคิดว่างานบริการพอไปถึงร้านเราจะถามหาให้คนมาเอา เราไปถึงร้าน เราต้องซ้อมเต้น ล้างจาน เก็บโต๊ะต่างๆ เพียงแค่ 5-10 นาทีเท่านั้นที่เรามีเพศสัมพันธ์ ทุกคนก็มีเพศสัมพันธ์ 5-15 นาที ทำไมจึงเอาเวลาในการมีเพศสัมพันธ์แค่ 15 นาทีของเรามาเป็นข้ออ้างว่างานเราผิดกฎหมาย ทุกคนล้วนเคยมีเพศสัมพันธ์
ข้อกังวลของสังคมที่มักจะกล่าวถึงเป็นประจำ
- เราไม่สนับสนุนการค้ามนุษย์ หรือชักจูงให้เด็กและเยาวชนเข้าสู่อาชีพนี้ เราแค่ต้องการให้คุ้มครองการดูแลให้แก่ อาชีพพนักงานบริการ เพราะอาชีพนี้ก็เป็นอาชีพเลี้ยงดูเขา เลี้ยงดูครอบครัวเช่นเดียวกัน อีกทั้ง เรายังมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ พ.ร.บ.กฎหมายอาญามากมายที่สามารถคุ้มครองเด็กได้ ในกรณีนี้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีไม่มีความจำเป็น
- หากยกเลิกจะมีคนมาทำอาชีพนี้มากขึ้น ซึ่งถ้าพูดถึงอาชีพขายบริการ ก็มีความยากง่ายในการทำงาน โดยอันดับแรก หน้าตาต้องดี ต้องใช้ทักษะชงเหล้า ทักษะนักเต้น ทักษะการนวด ทักษะการพูดการจา ซึ่งทักษะเหล่านี้ ต้องได้จากการเรียนรู้ และบางท่านซื้อบริการเราไปเพื่อนอนเป็นเพื่อนก็มี ซึ่งไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ด้วยเลย บางคนต้องการแค่ที่ปรึกษาพูดคุยเป็นเพื่อน ซึ่งทักษะเหล่านี้ต้องมีการเรียนรู้ เพราะลูกค้าทุกคนมีความแตกต่างหลากหลาย จึงจำเป็นต้องมีการเรียนรู้การทำงานหลายอย่าง
อีกทั้งการจับกุมพนักงานบริการทั้งๆ ที่พนักงานบริการสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศชาติ และภาษีเหล่านั้นไม่เคยคืนกลับสู่อาชีพพนักงานบริการเลย เราต้องการให้ยกเลิก พ.ร.บ. ดังกล่าว เราต้องการเป็นพนักงานคนหนึ่ง เราต้องการได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานเท่านั้น
ศิริศักดิ์ ไชยเทศ ผู้ขายบริการทางเพศ, ม็อบตุ้งติ้ง 2, วันที่ 7 พฤศจิกายน 2563
สิทธิมนุษยชนที่ Sex Worker ต้องได้รับ
ความปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพ เป็นพื้นฐานสำคัญในการประกอบอาชีพพนักงานบริการอย่าง sex worker ได้หล่นหายไป ไม่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลกที่กฎหมายได้กดขี่สิทธิความเป็นมนุษย์ของ sex worker ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการได้เท่าเทียมกับอาชีพพนักงานทั่วไป
sex worker ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการด้านการแพทย์ การจดทะเบียนรับรองสุขภาพของ sex worker การตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ซื้อและผู้ขายบริการ
อีกทั้ง sex worker ต้องได้รับสิทธิร้องเรียนเพื่อลดการถูกเอารัดเอาเปรียบจากสถานบริการและเจ้าหน้าที่รัฐ จากงานวิจัยของ ดร.จอมเดช ตรีเมฆ พบว่าสถานบริการทางเพศแต่ละแห่งมีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งต้องแบ่งจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ 200,000 – 400,000 บาท มิหนำซ้ำ sex worker ที่ประกอบเป็นอาชีพอิสระมักถูกรีดไถเงิน จำนวนครั้งละไม่กี่ร้อยบาท แทนการถูกพาไปโรงพัก
คงบอกไม่ได้ทั้งหมดว่ารูปแบบกฎหมายใดดีที่สุด สำหรับการคุ้มครอง sex worker เพราะขึ้นอยู่กับข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาภายในประเทศที่แตกต่างกันออกไป แต่อย่างไรก็ตาม อาชีพพนักงานบริการทางเพศ จำเป็นต้องเข้าถึงสวัสดิการอย่างเท่าเทียมเหมือนกับอาชีพทั่วไป มีความปลอดภัยในการประกอบอาชีพทางด้านสุขภาพ และไม่โดนเอารัดเอาเปรียบจากผู้ที่มีอำนาจ ซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ทำให้คนในสังคมเปิดใจยอมรับ และไม่ดูถูกดูแคลนอาชีพพนักงานบริการ sex worker
อ้างอิง
|