เช้าวันนั้นอากาศร้อนอ้าว
ตรงหน้าของเรา คืออาคารปูนเปลือยหลังใหม่เอี่ยม บนเนื้อที่ราว 3 ไร่ เมื่อเดินทะลุไปยังพื้นที่ด้านหลัง บริเวณนั้นคือห้องพักอาศัยของผู้คนกว่าสามสิบชีวิต แบ่งเป็นสัดส่วน สะอาดสะอ้าน รอบรั้วล้วนด้วยพืชผักสวนครัวนานาชนิด
ชายวัยกลางคนนั่งทอดอารมณ์อยู่หน้าห้องพัก
หญิงสูงวัยเดินหยิบจับจัดระเบียบข้าวของแก้รำคาญยามว่าง
สุภาพสตรีสองคนนั่งสนทนาหยอกเย้าอยู่ตรงโถงกลางบ้าน แม้อากาศจะอบอ้าวคล้ายฝนใกล้มาเยือน ทว่าตัวอาคารที่โปร่งโล่ง ทำให้ลมเอื่อยพัดโกรกเป็นระยะ
“คุณณัฐๆ เอามาม่าที่เราได้มาไปให้เขาด้วยสิ มีเต็มเลย”
เขา… คือคนไร้บ้าน ส่วนเจ้าของเสียง เธอคืออดีตคนไร้บ้าน
“ไม่ได้หรอก เขาไม่มีกาต้มน้ำ เราทำข้าวกล่องไปเหมือนเดิมดีกว่า”
สิ้นเสียงโต้ตอบ ‘คุณณัฐ’ เดินมาแนะนำตัวอย่างเป็นกันเอง เขาคือ ณัฐวุฒิ กรมภักดี ผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน (Friends of the Homeless) และสถานที่แห่งนี้คือ ‘ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดขอนแก่น’
นั่นคือชื่อทางการ แต่พวกเขาเรียกขานที่แห่งนี้ว่า ‘บ้านโฮมแสนสุข’
ก่อนนั่งสนทนากันอย่างเป็นเรื่องราว ณัฐชวนเราเดินดูบ้าน พลางเล่าเรื่องความเป็นไปเป็นมาโดยคร่าว เขากล่าวและยิ้มร่า ว่าที่แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยแรงกายและแรงสมองของเพื่อนพ้องในบ้านทุกคน
“เราอยากสร้างศูนย์พักคนไร้บ้านที่มีชีวิต ทุกคนออกแบบด้วยกัน ออกกฎร่วมกัน อยู่ด้วยกัน และเป็นเจ้าของร่วมกัน”
บ้านคือที่สาธารณะ หลังคาคือท้องฟ้ากว้าง
เรื่องของเรื่อง ต้องเล่าย้อนยาวไปก่อนปี 2558 ณัฐและมิตรสหายสนใจประเด็นทางสังคมตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ห้องเรียนของเขาคือพื้นที่ชนบทอีสาน ครูคือชาวบ้านผู้ยืนหยัดสู้เพื่อทรัพยากร ที่ดินทำกิน และสิ่งแวดล้อม
“เราแทบไม่มีข้อมูลอะไรเกี่ยวกับคนไร้บ้านเลย เราเหมือนคนอื่นในสังคมที่แทบมองไม่เห็นคนกลุ่มนี้ การมาทำงานเรื่องนี้ เราได้เห็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก เราได้เข้าถึงพวกเขา โอ้ มีคนที่เขามีชีวิตที่แตกต่างกับเราตั้งแต่เล็กจนโต แม้เราจะอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ระยะห่างจากบ้านเราไม่กี่กิโลเมตร”
ความสนใจของณัฐและเพื่อน เริ่มต้นจากการทำงานวิจัยเพื่อศึกษาการกลายเป็นคนไร้บ้านในเขตเทศบาลนครขอนแก่น รายทางและข้อค้นพบครั้งนั้นถูกย่อยมาอธิบายสองเรื่องหลักๆ
หนึ่ง – ความเหลื่อมล้ำของสังคมนั้นกว้างและซับซ้อนกว่าที่เราเข้าใจ
สอง – ครอบครัวจำนวนไม่น้อยเปราะบางกว่าที่เราคิด
“คนไร้บ้านเป็นรูปธรรมที่สะท้อนว่า สังคมมีความเหลื่อมล้ำอยู่จริง ยิ่งมีคนไร้บ้านออกมาเยอะ แสดงว่า ระบบสังคมมีปัญหา ระบบสวัสดิการสังคมไม่ซัพพอร์ตผู้คนที่ตกหล่นพ่ายแพ้”
จำนวนคนไร้บ้านมักมีมากในเมืองใหญ่ ขอนแก่นคือหนึ่งในหมุดหมายนั้น ด้วยขนาดของเมืองใหญ่ติดอันดับต้นๆ ของภูมิภาค ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอีสาน การคมนาคมเติบโตแบบก้าวกระโดด และเป็นเมืองแห่งสถาบันการศึกษา เมืองในลักษณะนี้ คือพื้นที่ในการแสวงหางาน เงิน และโอกาสของชีวิต
“การไปทำงานกับคนไร้บ้านก็เหมือนการจีบสาวนะครับ” เขาเว้นช่วงให้เรางุนงงครู่หนึ่ง ก่อนขยายความอย่างฉะฉานกลั้วเสียงหัวเราะ
“เพราะกว่าจะเทียวไปเทียวมาเพื่อจีบพวกเขา กว่าจะซื้อใจได้ กว่าเขาจะรู้สึกว่าเราเป็นเพื่อน คุยได้ ไม่มีพิษภัย ก็ใช้เวลานานมาก โดยเบื้องต้นเราเริ่มช่วยเหลือเขา พาไปทำบัตรประชาชน พาไปรักษาพยาบาล พาไปทำสิทธิเรื่องนั้นเรื่องนี้ จนเขารู้สึกว่า เราเข้าหาเขาเพื่อช่วยเหลือจริงๆ”
ในปี 2559 ณัฐและเพื่อนเดินหน้าทำงานในประเด็นคนไร้บ้านเต็มตัว โดยการทำงานเชิงพื้นที่ร่วม 2 ปี ไปมาหาสู่พี่น้องคนไร้บ้านอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเราถามถึงปัญหาและอุปสรรค ณัฐว่ามันมิใช่ความยากในลักษณะของการเข้าหาเพื่อนใหม่ แต่ว่า ‘โคตรยาก’ ในการเข้าไปสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ที่ถูกกระทำมาอย่างซ้ำซากและซับซ้อนยาวนาน ทั้งจากครอบครัว สังคม และรัฐ
“คนไร้บ้านนั้นถูกกระทำมาหลายมิติมาก ทั้งจากนโยบายรัฐที่ไม่เคยมองเห็นว่าเขามีตัวตน ทั้งถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐในระดับปฏิบัติการที่เขาทำงานในเชิงสงเคราะห์เยอะเสียจนเขารู้สึกว่า เขารอรับก็พอแล้ว หรือถูกกระทำจากสังคมที่เหมารวมพวกเขาว่า เป็นพวกขี้เกียจ เป็นตัวอันตราย เป็นคนจน”
นั่นคือความยากที่หนึ่ง
“แต่ยากที่สองคือ เราจะสื่อสารกับเขาอย่างไร ช่วงแรกๆ ผมและเพื่อนต้องลงพื้นที่ทุกวัน และต้องไปค่ำๆ ดึกๆ เพราะช่วงกลางวันเขาจะเคลื่อนที่ ไม่อยู่ที่ไหนนานๆ เราจึงต้องมีข้อมูลและทำงานว่า จุดไหนที่เขาจะไป เราจะพบเขาได้ที่ไหนบ้าง เพราะติดต่อสื่อสารกันยากมาก”
เลาะเมืองเพื่อเมือบ้าน
เมื่อความสัมพันธ์ที่เพียรถักทอร่วม 2 ปีเริ่มเห็นเป็นแผ่นผืน ณัฐจึงเอ่ยปากชักชวนเขาเหล่านั้นให้มาอยู่ด้วยกัน
“พี่ ไม่ต้องนอนในที่สาธารณะไหม เพราะมันเสี่ยงโดนทำร้าย เสี่ยงโดนขโมย เสี่ยงโดนเจ้าหน้าที่รัฐมาไล่นะ”
ไม่ใช่เพียงเอ่ยปากชวน แต่ณัฐและทีมได้พากลุ่มคนไร้บ้านขึ้นกระบะคันโต เลาะเมืองเพื่อเลือกหลักแหล่งอาศัย ณัฐขึงแผนที่ ตระเวนหาผืนดินเพื่อสร้างบ้าน โดยทุกๆ กระบวนการ เขาและคนไร้บ้านเดินทางไปด้วยกัน แชร์ความคิดเห็นและออกเสียงร่วมกัน
“เราไม่อยากสร้างบ้านพักที่ไม่มีชีวิต เราจึงต้องหาจุดสร้างบ้านในที่ที่คนไร้บ้านเขาอยากอยู่ เราพบว่าที่ผ่านมา การทำงานของรัฐมีวิธีคิดที่มักจะเอาคนไร้บ้านไปอยู่ในที่ที่ห่างไกลจากตัวเมือง ซึ่งจริงๆ แล้วนั้น คนไร้บ้านหารายได้จากเมือง เติบโตจากเมือง ฉะนั้น การเอาเขาไปอยู่ไกลๆ 30-40 กิโลเมตร นั้น ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา สุดท้ายเขาก็กลับมาอยู่ดี”
การเลือกตำแหน่งแห่งหนเพื่อตอกเสาเข็มบ้านโฮมแสนสุข จึงสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนไร้บ้าน ตั้งแต่ระยะทางที่เขาสามารถเดินไปทำงานไหวแม้ไม่มีจักรยานปั่น สิ่งสำคัญก่อนเริ่มสร้างบ้าน จึงเป็นการทำงานรณรงค์เพื่อสร้างการรับรู้ มิเช่นนั้น ‘บ้าน’ ก็เป็นเพียงโครงสร้างแข็งที่ไม่อาจโอบอุ้มผู้คนไว้ได้
“แรกๆ เขาก็เกร็ง เพราะนานแล้วที่ไม่ได้อยู่ในอาคาร มีหลังคา มีสัดส่วน บางคนเป็นคนไร้บ้านในที่สาธารณะมาเกือบยี่สิบปี พอเขาได้มาตั้งหลักอยู่ ช่วง หลังๆ ทุกคนก็เริ่มทำงานช่วยกัน คนไร้บ้านที่มาอยู่ก่อนก็เริ่มไปชวนเพื่อนคนอื่นๆ เข้ามาอยู่ด้วย ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น”
ตั้งหลัก – เข้าถึงสิทธิ – สร้างอาชีพ – กลับสู่สังคม
บ้านโฮมแสนสุข คือหนึ่งในศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน ที่ร่วมผลักดันโดย สมาคมคนไร้บ้าน กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้านขอนแก่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยระยะยาว แนวคิดถูกพัฒนามาจนกระทั่งสามารถต่อรองกับภาครัฐและได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเป็นเงิน 24 ล้าน 5 แสนบาท เพื่อรองรับคนไร้บ้านได้ 136 คน
ปัจจุบัน ศูนย์พักคนไร้บ้านมีอยู่ 3 แห่ง คือ เชียงใหม่ ปทุมธานี และขอนแก่น
“ที่ผ่านมาเราพบว่า ศูนย์พักคนไร้บ้านที่บริหารจัดการโดยรัฐนั้น คนไร้บ้านไม่อยากอยู่ด้วยหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งกฎระเบียบ เงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้เขาเหล่านั้นไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างมนุษย์เสรีที่ต้องการ”
ณัฐได้ไล่เลียงเป้าหมายของการทำงานออกเป็น 4 เรื่องใหญ่ๆ เพื่ออธิบายถึงปลายทางที่มิใช่เพียงสร้างบ้านแล้วชวนคนมาอยู่ แต่ ‘บ้าน’ เป็นเพียงฐานที่มั่น โดยมีหัวใจคือการทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต
หนึ่ง ที่อยู่อาศัยเพื่อตั้งหลัก ตอนนี้เราใช้ศูนย์พักบ้านโฮมแสนสุขเป็นพื้นที่ตั้งหลัก
สอง ทำงานส่งเสริมให้คนไร้บ้านเข้าถึงสิทธิและการบริการ ทั้งเรื่องสุขภาพ เอกสารบัตรประชาชน ที่เขาควรได้รับเหมือนเพื่อนมนุษย์ในประเทศ
สาม การสร้างอาชีพและรายได้ เพื่อที่คนไร้บ้านจะสามารถยืนระยะได้ยาว เชื่อมต่อผู้ว่าจ้างกับคนไร้บ้าน โดยการค้นหาแพลตฟอร์มเพื่อให้คนไร้บ้านเข้าถึงแหล่งงานและเกิดการจ้างงานที่เป็นธรรม
“ ‘โอกาสขอนแก่น 2020’ คือเพจบนเฟซบุ๊คที่เรากำลังพัฒนาบนแนวคิดของ Social Enterprise เปรียบเสมือนฮับที่เชื่อมต่อระหว่างคนไร้บ้านและนายจ้าง เพราะที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเขาไม่ไว้ใจคนไร้บ้าน ไม่กล้ารับไปทำงาน ฮับที่เราทำขึ้นจะช่วยคัดเลือกและส่งต่อแหล่งงานให้คนไร้บ้านและคนจนในเมือง”
และ สี่ การกลับคืนสู่สังคมอย่างหลากหลายรูปแบบเพื่อที่เขาจะได้ไม่รู้สึกฝังตัวอยู่ในบ้านโฮมแสนสุขนานเกินไป เช่น พาเขากลับบ้านเพื่อปรับความเข้าใจกับครอบครัวเดิม หรือเมื่อเขาตั้งหลักได้แล้ว มีอาชีพ รายได้ จึงพาไปหาห้องเช่าราคาต่ำในเมืองเพื่ออาศัย ไปจนถึงกลุ่มคนไร้บ้านที่สามารถพักอาศัยในสถานที่ทำงานได้ เพราะบ้านโฮมแสนสุขนั้นเปรียบเสมือนที่ตั้งหลัก เมื่อเขาตั้งตัวได้ ข้างในใจจึงถูกคลายปม เขาก็จะออกไปใช้ชีวิตในสังคมได้
‘คนไร้บ้าน’ ที่ไม่ไร้ซึ่งความหวัง
สร้างความเชื่อใจ สร้างอาชีพและรายได้ นั่นก็ว่ายากแล้ว แต่การสร้างความมั่นคงทางใจ นี่คือสิ่งที่ยากกว่า
“ถ้าเราเคลียร์เรื่องข้างในใจของเขาไม่ได้ ต่อให้มีงบประมาณมากมายมาส่งเสริมเรื่องอาชีพ มีงบสร้างบ้าน สุดท้ายเขาก็จะวนลูปถ้าปมในใจไม่ถูกคลายออก เรื่องที่เขาพ่ายแพ้มาในชีวิตและสะสมเรื่อยๆ จนกระทั่งเขาพัง”
กระบวนการฟื้นฟูภายใน ตัวตน ชีวิตของคนไร้บ้านที่เคยตกหล่มล้มเหลว จึงเป็นงานที่ ‘กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน’ ต้องทำงานอย่างจริงจังและลงลึก เริ่มจากการจัดเฉดสมาชิกร่วม 30 คน ออกมาเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ หนึ่ง กลุ่มที่เพิ่งหลุดมาเป็นคนไร้บ้านไม่เกิน 1 ปี (new homeless) และ สอง กลุ่มที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ 5 ปีขึ้นไป
“กลุ่ม new homeless จะทำงานง่ายหน่อย เพราะเขายังไม่รู้สึกฝังตัวกับพื้นที่ที่เขานอนมากเกินไป ถ้าเราเข้าไปเจอกลุ่มนี้ทัน ไปชวนเขามาพักที่บ้านโฮมแสนสุข หางานให้เขาทำ ส่วนใหญ่เขาจะรีบคว้าเลยเพราะเขาไม่อยากอยู่ในที่สาธารณะนาน เขาไม่คุ้นชิน
“แต่ถ้าเป็นคนไร้บ้านที่ใช้ชีวิต 5 ปีขึ้นไป เขาจะรู้สึกว่าถูกสังคมกระทำมาตลอด ส่วนหนึ่งอาจจะมีเหตุผลเชิงพฤติกรรมส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง การที่จะต้องไปผูกพันกับใคร มันรู้สึกเจ็บปวด เขารู้สึกว่าไม่อยากผูกพันกับใคร เขาขออยู่ในมุมเล็กๆ ของตัวเอง เป็นคนไร้บ้านและใช้ชีวิตเร่ร่อนดีกว่า เขาจะได้ไม่ต้องมีความสัมพันธ์ทางความรู้สึกกับใครมากนัก”
ปัญหาภายนอกอาจใช้เวลาไม่มากนัก แต่ปัญหาภายในใจนั้น ต้องอาศัยเวลาไม่น้อย การทำงานกับมนุษย์ที่เปราะบางนั้น จำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือที่หลากหลาย ณัฐและเพื่อนเครือข่ายประชาสังคมขอนแก่นจึงต้องงัดกระบวนการมาใช้ทุกกระบวนท่า ทั้งศิลปะบำบัด การฟื้นฟูคนไร้บ้านที่ติดสุรา ใช้กระบวนการฟัง เพื่อพาเขาเหล่านั้นตั้งหลักความฝันใหม่ และมีพลังใจในการมีชีวิตต่อจากนี้
“ต้องเข้าใจว่า พี่น้องคนไร้บ้านนั้น เขาถอยหลังมาทั้งชีวิต อยู่ดีๆ เราจะให้เขาเดินหน้าไปเลยนั้น มันลำบากมาก เพราะยังไงเขาก็จะถอยกลับมาเหมือนเดิมเพราะว่าข้างในเขายังไม่เเข็งแรง ฉะนั้น ทำอย่างไรเราจะสามารถฟื้นฟูข้างในของเขาให้กลับมาตั้งหลักได้ หลังจากนั้น เราจะใส่อะไรเข้าไปก็ได้ ไม่ว่าจะทักษะอาชีพ ที่อยู่อาศัย หรือให้เขาเดินหน้าต่อไป ก็สามารถทำได้”
เมื่อโรคและความยากไร้ระบาด
140-150 คน คือจำนวนคนไร้บ้านในเมืองขอนแก่นจากการสำรวจล่าสุด ซึ่งหากเทียบกับกรุงเทพมหานครที่มีจำนวนราว 3,000 คน ณัฐถือว่าขอนแก่นง่ายกว่ามากในการเข้าไปทำงานเชิงลึกกับพี่น้องคนไร้บ้าน
“แต่ปัญหาสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าจำนวนมันน้อย แต่สำคัญคือ วิธีการทำงาน การปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาครัฐที่ไม่ทำงานเชิงรุก นี่คือเรื่องสำคัญ
“อย่างตอนเกิดวิกฤติ COVID-19 หน่วยงานรัฐก็มักจะรอนโยบายหรือสั่งการต่างๆ แต่ปัญหามันเกิดขึ้นแล้ว ถ้าเราลงไปคุยก่อนถึงความต้องการการช่วยเหลือเยียวยาที่พวกเขายังเข้าไม่ถึง เพื่อทำให้เขาเข้าถึงและเป็นข้อต่อให้เขา นี่จะเป็นเรื่องที่ทันท่วงที แต่ที่ผ่านมามันถูกเพิกเฉย ปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นแล้วค่อยแก้ไข”
เพียงเอาตัวรอดในช่วงเวลาปกติก็ถือว่ายากเข็ญ ยิ่งในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนไม่น้อยต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน เพราะไม่อาจเข้าถึงที่อยู่อาศัยแม้ในราคาถูกที่สุด
“และเรายังพบคนไร้บ้านที่เข้าไม่ถึงอาหาร หรืออุปกรณ์ป้องกันไวรัสในช่วงแรกๆ หน้ากากผ้า เจลล้างมือ หรือแม้แต่น้ำสะอาดที่เขาจะชำระล้างมือในพื้นที่สาธารณะยังมีไม่เพียงพอ”
ขอนแก่นคือศูนย์กลางของตลาดรายใหญ่หลายแห่ง เช่น ตลาดศรีเมืองทอง ตลาดรถไฟ ตลาดบางลำภู ซึ่งในกลไกตลาดนั้น มีกลุ่มคนไร้บ้าน แรงงานรายวัน เป็นฟันเฟืองในการเคลื่อนตลาดให้หมุนไป ไม่ว่าจะคนเข็นผัก คนส่งของ คนเก็บของเก่า เก็บขวดขาย คุณค่าของเขาเหล่านี้ไม่เคยถูกนำไปคิดคำนวณในอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจแม้แต่น้อย
“ในขอนแก่นนั้น มีคนจนระดับล่างกลุ่มนี้ที่ทำงานขับเคลื่อนอยู่เยอะพอสมควร เป็นฟันเฟืองในภาคบริการ ภาคตลาด ภาคธุรกิจต่างๆ ในระดับล่างอยู่เยอะพอสมควร สำคัญมากหากเศรษฐกิจจะโตได้ มันต้องเห็นคนกลุ่มนี้ด้วย ชีวิตของคนกลุ่มนี้ต้องดีขึ้นด้วย”
ฟ้าเริ่มเปลี่ยนเป็นสีครามครึ้ม อุณหภูมิร้อนอ้าวในช่วงเช้ากำลังถูกแทนที่ด้วยความชื้นฝน เราร่ำลากันหลังการสนทนาร่วม 2 ชั่วโมง โดยมีข้อความและภาพวาดด้วยมือของสมาชิกในบ้านที่แปะไว้ตรงผนังปูนเปลือย เป็นความฝันหนึ่งที่เขาอยากเปิดให้ผู้คนรับรู้ ว่าพวกเขาแค่ไร้บ้าน แต่ไม่สิ้นศรัทธาต่ออนาคต
‘ความฝันคือมีรายได้ที่มั่นคง มีบ้าน’
‘ฉันอยากมีร้านขายกล้วยทอด’
‘อยากมีบ้าน งานที่เป็นหลักแหล่ง และอยากสอนมวยให้เด็ก’
สามารถติดตามเรื่องเล่าของพวกเขาได้ที่เพจ
เสียงคนไร้บ้านขอนเเก่น: Voice of Homeless in Khonkaen Cities