ภาพประกอบ: Shhhh
คนไร้บ้าน หรือ homeless ดูจะเป็นคำตรงข้ามกับสถานะ ‘นักศึกษาในมหาวิทยาลัย’ หากใช้บริบทส่วนใหญ่ในประเทศไทย ถ้าคุณพาตัวเองผ่านรอบคัดเลือกจนมีเก้าอี้ในห้องเรียนได้ นั่นอาจจะอนุมานได้ว่า คุณมีความสามารถพอจะกวดวิชา หรือความสามารถด้านวิชาการจนสอบติดได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีทุนหนาเพื่อเรียนพิเศษ และในมุมหนึ่งของโลก แม้เขาจะมีสถานะการเรียน แต่กลับไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘บ้าน’
มีนาคมที่ผ่านมา ‘Wisconsin HOPE Lab’ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (University of Wisconsin-Madison) ในสหรัฐ ศึกษาเรื่องความยากจนและความเป็นคนไร้บ้านของนักศึกษามหาวิทยาลัย กว่า 70 กลุ่ม จากจำนวน 24 รัฐ พบว่า
มีนักศึกษาที่เป็นโฮมเลส หรือไม่มีที่พักอาศัย ราว 14 เปอร์เซ็นต์
จากข้อมูลปี 2015-2016 นักศึกษากว่า 32,000 คน ยื่นใบคำร้องขอความช่วยเหลือ โดยติ๊กถูกในช่อง ‘unaccompanied homeless youth’ หรือ นักศึกษาที่อยู่ลำพังและไม่มีที่พักพิง
ซารา โกลดริก-แรบ (Sara Goldrick-Rab) ผู้ก่อตั้ง HOPE และศาสตราจารย์ด้านนโยบายการศึกษา มหาวิทยาลัยเทมเพิล (Temple University) อธิบายสถานการณ์นี้ในสหรัฐไว้ว่า เกี่ยวข้องกับสองปัจจัยหลัก คือ เศรษฐกิจ และเกณฑ์รับพนักงานเข้าทำงานที่เปลี่ยนไป ผู้ไม่มีวุฒิระดับปริญญาจะมีโอกาสในการทำงานหรือถูกว่าจ้างน้อยลงเรื่อยๆ
“ถ้าพ่อแม่ของคุณไม่มีใบปริญญา คุณก็จะไม่เข้ามหาวิทยาลัย ถ้าคุณเป็นเด็กจากบ้านอุปถัมภ์ คุณก็จะไม่เข้าเช่นกัน แต่ผลการสำรวจของ HOPE มีตัวเลขที่ชี้ว่า กลุ่มคนเหล่านี้เริ่มหันมาเข้ามหาวิทยาลัยมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่มากจนมีนัยสำคัญนะ แต่ถือเป็นชัยชนะ ที่การเข้าถึงการศึกษาในปัจจุบันมันง่ายขึ้น
“แต่ในขณะที่พวกเขาเปลี่ยน โรงเรียน ระบบ และนโยบาย กลับไม่เปลี่ยนเลย” โกลดริก-แรบ อธิบาย
ผู้เลือกศึกษาในระดับสูงส่วนใหญ่มักไม่ใช่วัยรุ่น ต่างจากขนบของคนเอเชียที่เห็นว่า เมื่อจบมัธยมแล้วจะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยทันที แต่อายุเฉลี่ยของนักศึกษามหาวิทยาลัยสหรัฐอยู่ที่ 29 ปี ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัยอยู่ที่บ้านกับครอบครัว แม้ว่าจะไม่มีหอพัก พวกเขาก็ไม่อยากบอกคนในครอบครัวว่าสถานการณ์ที่เจอมันย่ำแย่ขนาดไหน นั่นทำให้เขากลายเป็น ‘โฮมเลส’
อีลอย ออร์ทิซ โอคลีย์ (Eloy Ortiz Oakley) อธิการบดีวิทยาลัยชุมชนแคลิฟอร์เนีย (California Community Colleges) ให้ความเห็นว่า นักศึกษาโฮมเลสส่วนใหญ่มาจากครอบครัวชั้นแรงงาน หรือกระทั่งชนชั้นกลางในปัจจุบันก็ได้รับผลกระทบ มันคือเรื่องของความยากจน ที่เป็นอุปสรรคของการเข้าถึงโอกาสด้านการศึกษาอย่างไม่ต้องสงสัย
อย่างไรก็ตาม แม้เป็นนักศึกษาโฮมเลส ก็ยังมีโอกาสที่พวกเขาจะมีที่อยู่อาศัย
ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน วิทยาลัยแอมเฮิร์สท์ (Amherst College) เปิดหอพักเพื่อให้นักศึกษามีที่พักอาศัยช่วงปิดเทอม หรือกลุ่ม ‘Students 4 Students’ ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California, Los Angeles: UCLA) ก็จัดหาที่พักให้นักศึกษาโฮมเลส มีอาหาร และมีโซนทำงานให้พวกเขาใช้อ่านหนังสือ อย่างไรก็ตาม สถานที่นี้ก็เหมาะเพียงนักศึกษา UCLA และวิทยาลัยซานตามอนิกา (Santa Monica College) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงเท่านั้น
ในรายงานสารคดีของนักศึกษาที่เคยอยู่ในสถาะนะโฮมเลส นาม เพรสตัน โรเบิร์ตสัน-ชาร์ลส์ (Preston Roberson-Charles) เล่าว่า เขาใช้ชีวิตสองปีเป็นโฮมเลสในนิวยอร์ค เข้า-ออกบ้านพักชั่วคราวสำหรับโฮมเลส โฮสเทล หรืออาศัยบ้านเพื่อนแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย (couch-surfing) ก่อนจะมาได้งานฝ่ายธุรการด้านการให้คำปรึกษานักศึกษาไม่ให้ดร็อปเรียน
ชาร์ลส์เล่าว่า เขาใช้โต๊ะทำงานเป็นที่นอน และเมื่อไฟปิดสนิท ก็จะเป็นเวลาที่เขาหลบออกมาใช้ห้องน้ำแปรงฟัน ขณะที่นักศึกษาโฮมเลสไม่ได้รับอนุญาตให้พักอาศัยในสถานศึกษา หากจะกลับมาอีกครั้งในรุ่งเช้า ใช้ห้องน้ำของยิมเป็นที่ล้างหน้าแปรงฟัน
อ้างอิงข้อมูลจาก: nytimes.com