ข้อมูลจาก Copernicus Climate Change Service (C3S) โดย European Centre for Medium-Range Weather Forecasts ในนามของสหภาพยุโรป เปิดเผยรายงานอย่างเป็นทางการจากการสำรวจทางดาวเทียมว่า มิถุนายนที่ผ่านมาคือมิถุนายนที่ร้อนนรกแตกที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้
อุณหภูมิของยุโรปโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียสจากปกติ ร้อนแค่ไหน? ดังที่เห็นในภาพข่าวว่าร้อนจนต้องโดดลงน้ำพุกลางเมือง ฝรั่งเศส เยอรมนี และภาคเหนือของสเปน ผู้คนต้องใช้ชีวิต midyear ท่ามกลางอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าเดิม 6-10 องศาเซลเซียส
ถ้ามองทั้งโลก ค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิที่สูงขึ้นคือ 0.1 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงที่ร้อนที่สุดของมิถุนายน 2016
ผู้เชี่ยวชาญจาก World Weather Attribution บอกว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งนี้ทำลายสถิติปรากฏการณ์คลื่นความร้อน (heatwave) ห้าครั้งหลังสุดในยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศส ที่ร้อนเป็นสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ 45.9 องศาเซลเซียส และไฟป่าครั้งใหญ่ที่สเปนก็เกิดขึ้นท่ามกลางอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส ขณะที่ เยอรมนี โปแลนด์ เชก ก็ต้องบันทึกไว้เช่นกันว่า นี่คือมิถุนายนที่จะร้อนครองเจ้าสถิติไปอีกนาน
C3S ยอมรับว่ามันค่อนข้างยากจริงๆ ที่จะโยงความสัมพันธ์ของคลื่นความร้อนเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คาดได้ง่ายมากๆ ว่ามาจากปรากฏการณ์โลกร้อนแน่ๆ
ฌอง-โนล เธเปาต์ (Jean-Noel Thepaut) จาก C3S กล่าวว่า “แม้ว่าอุณหภูมิท้องถิ่นจะลดลงหรือสูงขึ้นกว่าที่พยากรณ์ไว้ก็ตาม ข้อมูลของเราแสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิแถบตะวันตกเฉียงใต้ของยุโรปในสัปดาห์ที่ผ่านมามันสูงผิดปกติจริงๆ
“ถึงมันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นพิเศษ แต่เราอาจจะเห็นปรากฏการณ์แบบนี้อีกในอนาคต เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
ปีเตอร์ สต็อตต์ (Peter Stott) ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยา Met Office ของอังกฤษ อ้างว่า นี่เป็น “ความร้อนสูงสุดที่คล้ายคลึงกับเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ซึ่งดูเหมือนจะเย็นกว่านี้สัก 4 องศาด้วยซ้ำ”
ต่อปรากฏการณ์ทุบสถิตินี้ ฮันนาห์ โคลค (Hannah Cloke) ศาสตราจารย์ผู้ศึกษาภัยพิบัติจากปรากฏการณ์ธรรมชาติจากมหาวิทยาลัยรีดดิง (University of Reading) กล่าวว่า “เรารู้ว่าเดือนมิถุนายนคือเดือนอากาศร้อนของยุโรป แต่การศึกษานี้แสดงให้เห็นอุณหภูมิที่สูงไม่ใช่แค่ทำลายสถิติ แต่มันลบสถิติเดิมจนกลายเป็นฝุ่นไปเลย
“คลื่นความร้อนเกิดในสภาพอากาศแบบไหนก็ได้ แต่เรารู้ว่าคลื่นความร้อนครั้งนี้เป็นมากกว่าที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ภูมิอากาศโลกยังคงร้อนขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากปรากฏการณ์เรือนกระจกเกิดขึ้นต่อเนื่อง อย่างที่นักวิทยาศาสตร์เคยพยากรณ์ไว้เมื่อหลายสิบปีก่อน”
ร้อนนี้ที่อินเดีย
แม้จะชินกับอากาศร้อนๆ มากกว่ายุโรป แต่คลื่นความร้อนในอินเดียล่าสุดก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คนแล้ว และยังมีการคาดการณ์ไว้ว่ามัน ‘แย่ลงได้อีก’ ในปีหน้า และมากกว่าความร้อน ปัญหาสภาพอากาศนี้ส่งผลจริงจังกว่านั้น เพราะบางส่วนของอินเดียกำลังจะกลายเป็นพื้นที่ที่มนุษย์ ‘อยู่อาศัยไม่ได้’
อ้างอิงจาก Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงของโลกมากที่สุด โดยคลื่นความร้อนของอินเดียเกิดขึ้นในช่วงมีนาคม-กรกฎาคม ก่อนจะสิ้นสุดลงเมื่อฤดูมรสุมมาถึง แต่ปีนี้ความร้อนนรกทวีมากขึ้นกว่าเดิมและกินเวลานานกว่าที่เคยเป็น
ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซ็ตส์ (Massachusetts Institute of Technology: MIT) บอกว่า แม้โลกจะจำกัดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ แต่หลายส่วนของอินเดียก็กำลังอยู่กลางสนามทดสอบว่า ลิมิตความร้อนที่มนุษย์สามารถอยู่อาศัยได้คือเท่าไหร่
“แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะดีขึ้น แต่อนาคตของคลื่นความร้อนดูแย่ลง และจะแย่ลงไปอีกแน่ๆ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ดีขึ้น” เอลฟาติห์ เอลตาฮีร์ (Elfatih Eltahir) ศาสตราจารย์ด้านภูมิอากาศและอุทกวิทยาจาก MIT กล่าว
ผลกระทบจากคลื่นความร้อนแตกต่างกันไปตามส่วนต่างๆ ของประเทศ ในเดลี การอยู่กับคลื่นความร้อนเพียง 2 วันก็ทำให้อุณหภูมิพุ่งขึ้นไปอย่างต่ำๆ ก็แตะ 45 องศาเซลเซียส
ปีที่แล้ว เกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อน 484 ครั้งในอินเดีย มากกว่าปี 2010 ถึง 10 ครั้ง และช่วงเวลาดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตราว 5,000 คน
มิถุนายน ในยุโรปอาจมองว่า 45 องศาเซลเซียสคือความร้อนขั้นสุด แต่สำหรับคนอินเดีย 48 องศาเซลเซียสในเดลีคือสถิติใหม่ ขณะที่เมืองชูรู (Churu) ในรัฐราชสถาน (Rajasthan) แทบทำลายสถิติของประเทศที่ 50.6 องศาเซลเซียส
รัฐที่ร้อนที่สุดในอินเดียคือ พิหาร (Bihar) ที่ต้องทำถึงขั้นปิดสถานศีกษาห้าวัน หลังมีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนแล้ว 100 คน แถมด้วยคำเตือนให้ประชาชนอยู่ในตัวอาคารในช่วงร้อนที่สุดของวัน ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างยากสำหรับคนที่ต้องทำมาหาเงินนอกบ้าน
คำถามสำคัญที่ว่า จะอยู่รอดอย่างไรในคลื่นความร้อนขนาดนั้นในเอเชียใต้ นักวิจัยที่ MIT มองอนาคตไว้สองแบบ หนึ่ง-ความร้อนพื้นผิวบนโลกจะเพิ่มขึ้นไปอีก 4.5 องศาเซลเซียสในสิ้นศตวรรษนี้ สอง-มองโลกในแง่ดีกว่านั้น ความร้อนเฉลี่ยจะสูงขึ้นแค่ 2.25 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม ที่แน่ๆ ทั้งสองฉากนี้ทะลุไปกว่าที่ความตกลงปารีส (Paris Agreement) เคยกำหนดไว้ว่าจะลดอุณหภูมิเฉลี่ยให้ได้ 2 องศาเซลเซียสในปี 2100
อีกด้านหนึ่ง หากความร้อนทวีสูงขึ้น บางพื้นที่จะมีความร้อนแทบเกินขีดจำกัดที่มนุษย์จะอยู่อาศัยได้ เช่น ที่ราบสูงโชตานักปูร์ (Chota Nagpur Plateau) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ และบังคลาเทศ รวมถึงแถบแม่น้ำคงคา ชายฝั่งตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ ศรีลังกาตอนเหนือ และลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus Valley) ในปากีสถาน
สภาพที่สามารถอยู่อาศัยได้วัดจากอุณหภูมิกระเปาะเปียก (wet bulb temperature) คืออุณหภูมิของอากาศที่วัดได้ด้วยเทอร์โมมิเตอร์ที่กระเปาะถูกหุ้มด้วยผ้าเปียก โดยอุณหภูมิกระเปาะเปียกมักจะต่ำกว่าอุณหภูมิกระเปาะแห้ง ขึ้นอยู่กับความชื้น ซึ่งช่วยประเมินว่าน้ำจะระเหยได้ง่ายแค่ไหน
โดยปกติ อุณหภูมิกระเปาะเปียกที่ 31 องศาสเซลเซียสคือขีดอันตรายสำหรับอยู่อาศัย เพราะหากไปถึงขีดจำกัดสูงสุดที่ 35 องศาเซลเซียส ร่างกายมนุษย์จะไม่สามารถระบายความร้อนได้ด้วยการขับเหงื่อ ทำให้เกิดฮีทสโตรก ซึ่งไม่ว่าจะฟิตแค่ไหน ก็อาจเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง
หยุน ซุน (Eun Soon) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง (Hong Kong University of Science and Technology) หนึ่งในผู้ร่วมทำการวิจัยกับ MIT ให้ความเห็นว่า หลายพื้นที่ของอินเดียมีความเสี่ยงต่อการอยู่รอดเป็นทุนเดิม และความร้อนที่มากขึ้นจะทำให้พื้นที่แห่งนั้นอยู่ยากกว่าเดิม
“ถ้าเรายังคงผลิตก๊าซเรือนกระจกในความเร็วเท่าเดิม หนึ่งในบริเวณที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลกจะเลี่ยงความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากคลื่นความร้อนไม่ได้เลย และจะต้องเผชิญความร้อนที่ทะลุลิมิตของร่างกายมนุษย์”
ความร้อนของเราไม่เท่ากัน
ไม่ใช่แค่ร้อน แต่ความร้อนอาจเป็นสาเหตุของความจนและอดอยาก เมื่อรายงานจาก UN เมื่อวันอังคารที่ 2 กรกฎาคม คาดว่าในปี 2030 สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจะทำให้คน 120 ล้านตกอยู่ใต้เส้นความยากจน
ผลจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม และพายุเฮอร์ริเคน เกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าที่เคยเป็น ประชากรโลกในข่ายยากจนที่สุดจะถูกบีบให้ต้องยืนบนทางแพร่ง อดตาย หรือไม่ก็อพยพหนี
ฟิลิป อัลส์ตัน (Philip Alston) ผู้เสนอรายงานด้านความยากจนรุนแรงและสิทธิมนุษยชนของ UN บอกว่า มนุษย์กำลังเผชิญความเสี่ยงกับการแบ่งแยกที่เรียกได้ว่าเป็น ‘climate apartheid’ เมื่อคนรวยสามารถใช้เงินเพื่อหลบความร้อนได้ ขณะที่คนอีกส่วนหนึ่งนอกจากจะต้องทนร้อนแล้ว ยังโดนความอดอยากยากจนเป็นภัยซ้ำเติม
ตัวอย่างที่ถูกอ้างอิงในรายงานคือ พายุเฮอร์ริเคนแซนดี ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2012 ในนิวยอร์ค ผู้มีรายได้น้อยนับพันถูกทิ้งไว้หลายวัน โดยที่ไม่มีไฟฟ้าและเข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณสุข สวนทางกับสำนักงานใหญ่ของ Goldman Sachs แมนฮัตตัน ที่ปลอดภัยอยู่หลังกำแพงกระสอบทราย แถมยังมีเครื่องปั่นไฟของตัวเอง
รายงานเผยแพร่ปี 2017 ในวารสาร Science บรรยายถึงเมืองยากจนในสหรัฐจะประสบกับหายนะจากภัยแล้งและเฮอร์ริเคน โดยกลุ่มที่แบกความเสี่ยงมากที่สุดคือชุมชนคนจนและผู้หญิง เพราะต้องพึ่งพาระบบเกษตรกรรมเป็นหลัก และเพราะความยากจนเป็นกับดักที่ยากจะหลบหนี เมื่อสภาพอากาศเลวร้าย คนจนไม่มีทรัพยากรจะฟื้นฟูตัวเอง ความจนที่ว่าจึงดิ่งเหว เป็นวัฏจักรเลวร้ายซ้ำซาก
UN ยังเตือนในรายงานอีกว่า การลดอุณหภูมิโลกภายใต้กรอบความตกลงปารีสปี 2015 นั้นไม่เพียงพอที่จะช่วยผู้ประสบภัยนับล้าน “แม้แต่กรณีที่ดีที่สุดของการลดอุณหภูมิให้ได้ 1.5 องศาเซลเซียสในปี 2100 เราก็ยังเห็นอุณหภูมิที่เลวร้ายในหลายๆ พื้นที่ และต้องทิ้งผู้คนที่เสียเปรียบในความมั่นคงทางอาหาร รายได้น้อย และสุขภาพแย่ไว้ข้างหลัง”
อ้างอิงข้อมูลจาก: independent.co.uk edition.cnn.com edition.cnn.com |