นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา ประชาชนจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจทำการรัฐประหาร ได้ออกมาแสดงออกและต่อต้าน แต่สิ่งที่พวกเขาเผชิญคือการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ วิวัฒนาการของการคุกคามดำเนินอย่างเป็นระบบ รูปแบบการคุกคามประชาชนของเจ้าหน้าที่รัฐทหารไทยคือรูปแบบที่นักวิชาการเรียกว่า Lawfare หรือ นิติสงคราม
WAY รวบรวมวิธีรับมือเมื่อถูกคุกคามจากการแสดงออกทางการเมือง
กระบวนการนอกกฎหมาย
หากเป็นผลจากการโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย
- ถามชื่อ และหน่วยงานและบันทึกภาพเอาไว้
- หากมีคนอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ไปเชิญตัวโดยไม่มีหมายจับสามารถปฏิเสธไม่ไปกับบุคคลดังกล่าว
- ปรึกษาทนายความหรือบุคคลที่คุณไว้วางใจทันที
เมื่อมีคนขอให้คุณยินยอมให้ข้อมูลและลงชื่อในบันทึกข้อตกลง
- บันทึกข้อตกลงยินยอมนั้นไม่มีสถานะทางกฎหมาย
- ไม่ควรลงชื่อทั้งที่คุณไม่ได้ยินยอมหรือสมัครใจ
กรณีเจ้าหน้าที่จะทำสำเนาข้อมูล หรือยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (รวมถึงโทรศัพท์มือถือ)
- ทำได้ก็ต่อเมื่อมีหมายศาลเท่านั้น ไม่ควรให้สำเนาอุปกรณ์ หรือรหัสผ่าน (password) แก่บุคคลอื่น
การคุกคามจากเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เช่น ครู
หากนักเรียนถูกลงโทษนอกเหนือจากกฎกระทรวงที่ระบุไว้
- หากเกิดความเสียหายขึ้นแก่เนื้อตัวร่างกาย ชื่อเสียง ฯลฯ ครูมีสิทธิถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือถูกสอบสวนวินัยได้
- ร้องเรียนกับผู้บังคับบัญชาของครู หรือผู้อำนวยการโรงเรียนก่อน
- เมื่อคิดว่าผลการสอบสวนยังไม่เป็นธรรม ให้ยื่นหนังสือต่อ ‘สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา’ (สำนักงาน ก.ค.ศ.)
กรณีนำเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารเข้ามาในโรงเรียน
- การนำตำรวจเข้ามาในโรงเรียนไม่ได้รับการระบุไว้ในกฎกระทรวง
- สถานศึกษาจะต้องไม่กีดกันให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ทำกิจกรรม รวมทั้งแสดงออกได้อย่างมีเสรีภาพและสร้างสรรค์ ดังนั้น การนำตำรวจเข้ามาในโรงเรียนทำให้นักเรียนรู้สึกไม่ปลอดภัย
- หากมีการตัดคะแนนความประพฤติ หรือทำกิจกรรม ให้เก็บหลักฐานว่าครูมีเจตนากลั่นแกล้งหรือเลือกปฏิบัติหรือไม่
ครูยึดสิ่งของรณรงค์ ตบหัว ยื้อยุดเสื้อผ้าหรือส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกาย รวมถึงการข่มขู่
- การลงโทษหลายกรณีที่กล่าวมาเป็นความผิดทางอาญา
- ครูไม่มีอำนาจค้นหาโทรศัพท์นักเรียนไม่ว่ากรณีใดๆ
- หากถูกข่มขู่อาจเข้าข่ายองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายอาญา
กรณีถูกควบคุมตัว ถูกจับกุม หรือได้รับหมายเรียก
กรณีถูกหมายเรียก
- อ่านหมายให้ละเอียด ว่าเป็นหมายเรียกผู้ต้องหาหรือเป็นหมายเรียกพยาน มีข้อสงสัยให้โทรศัพท์ไปที่เบอร์พนักงานสอบสวนที่ระบุไว้ในหมาย
- หากไม่สามารถไปตามหมายได้ ให้โทรศัพท์แจ้งพนักงานสอบสวนและส่งหนังสือแจ้งขอเลื่อนนัด
- ปรึกษาทนายความ และไปพบพนักงานสอบสวนพร้อมทนายความหรือบุคคลที่ไว้ใจ
- หากได้รับหมายเรียกครั้งที่ 1 แล้วไม่ไป เมื่อมีการออกหมายเรียกครั้งที่ 2 และหากไม่ไปตามหมายอีก อาจถูกออกหมายจับได้
- หากถูกนำไปแถลงข่าว มีสิทธิปฏิเสธไม่ยินยอมได้
- กรณีหมายเรียก พนักงานตำรวจไม่มีอำนาจควบคุมตัวคุณ
กรณีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจับกุมตัว
- ขอดูหมายจับ (เพื่อดูข้อหา)
- ขอดูบัตรแสดงตัวของเจ้าหน้าที่ (ชื่อและสังกัด)
- ขอทราบสถานที่พาตัวคุณไป ก่อนแจ้งคนที่ใกล้ชิด และทนายความให้ทราบโดยด่วน
- หากมีการนำตัวไปแถลงข่าว มีสิทธิปฏิเสธไม่ยินยอมได้
กรณีถูกค้นบ้าน
- ขอดูหมายค้น
- การตรวจค้นต้องทำต่อหน้าคุณหรือผู้ครอบครองสถานที่
- การค้นต้องทำในเวลากลางวัน
- ขอบันทึกการตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ไว้เป็นหลักฐาน
กรณีถูกคุกคามก่อนและระหว่างการแสดงออกทางการเมือง เช่น การชุมนุม
หากมีคนที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ติดต่อมาทางโทรศัพท์ส่วนตัวก่อนการชุมนุม
- ตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่เป็นใครและมีความเกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือไม่ หากไม่ได้เกี่ยวข้องถือเป็นการละเมิดชัดเจน
- หากเจ้าหน้าที่ที่ติดต่อมาไม่เกี่ยวข้อง คุณมีสิทธิจะไม่พูดคุยหรือให้ข้อมูลใดๆ
กรณีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบขอถ่ายรูปและขอข้อมูลส่วนบุคคล
- ผู้เข้าร่วมชุมนุม ผู้เข้าร่วมฯ ไม่จำเป็นต้องแสดงบัตรประชาชนให้เจ้าหน้าที่
- หากเจ้าหน้าที่ออกหมายเรียกให้ผู้จัดฯ ไปให้ข้อมูล ผู้ถูกเรียกสามารถโทรเลื่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือโทรขอคำแนะนำจากทนายได้
กรณีตามไปหาที่บ้าน หรือมีคนนำข้อมูลส่วนตัวไปเผยแพร่บนโลกออนไลน์ นำมาสู่การคุกคาม ความเป็นส่วนตัวหรือคุกคามทางเพศ
- เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องแสดงตัวให้ชัดเจน ให้คุณ ถ่ายรูป ถามชื่อและสังกัด ก่อนจะส่งข้อมูลให้หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน
- หากเจ้าหน้าที่มาโดยไม่มีหมาย อ้างว่า “ขอความร่วมมือ” เท่านั้น เราสามารถปฏิเสธไม่ให้ข้อมูลใดๆ
- หากมีการเชิญไปพูดคุยนอกรอบที่สถานีตำรวจหรือสถานที่อื่น ผู้ถูกเชิญไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องไป
- มาถ่ายรูปบ้านและครอบครัว เรามีสิทธิที่จะไม่ให้ความยินยอมในการถ่ายภาพ
- ข้อมูลส่วนตัวไปเผยแพร่บนโลกออนไลน์ สามรารถรวบรวมหลักฐานเพื่อเตรียมฟ้องร้องทางกฎหมาย
ที่มา: ประมวลจากรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่
- ข้อสังเกตและคำแนะนำต่อกระบวนการนอกกฎหมาย บังคับให้ข้อมูล และทำบันทึกข้อตกลง
- สิทธิเด็กอยู่ไหน? เมื่อถูกคุกคามจากโรงเรียน
- คำแนะนำกรณีถูกควบคุมตัว ถูกจับกุม หรือได้รับหมายเรียก
- “มือใหม่หัดม็อบ”: คู่มือว่าด้วยการรับมือทางกฎหมาย เมื่อเจอการปิดกั้น/คุกคามการชุมนุม