The Times of Harvey Milk นักการเมืองเกย์ที่ต้องการความเท่าเทียม

IMG_4737

เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี

ทันทีที่ End Title ภาพยนตร์สารคดี The Times of Harvey Milk จบลง ไฟในห้องประชุมสว่างขึ้นอีกครั้ง เสียงปรบมือดังก้องทั่วทั้งห้องออดิทอเรียม หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ผู้ดำเนินรายการเริ่มกิจกรรม ‘DOC+TALK ครั้งที่ 1: The Times of Harvey Milk’ ในวันที่ 19 กรกฎาคม ด้วยการส่งต่อไมโครโฟนไปยังผู้ชมและผู้ร่วมวงคุย เพื่อฟังความเห็นหลังการถอยกลับไปเผชิญหน้าและสังเกตช่วงชีวิตที่มีสีสันของ ฮาร์วีย์ มิลค์ นักการเมืองเกย์เปิดเผยคนแรกของสหรัฐ ในสังคมอเมริกันยุค 70

“สิ่งที่ผมเห็นในตัวฮาร์วีย์ มิลค์ คือเขาไม่เพียงต่อสู้เพื่อชุมชนเกย์เท่านั้น แต่ยังต่อสู้เพื่อสิทธิของคนกลุ่มน้อย คนผิวสี คนจน คนแก่ คนพิการ เขาเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน” เสียงหนึ่งดังขึ้นจากเก้าอี้แถวหลังๆ ของหอประชุม

“ฮาร์วีย์ มิลค์ตั้งคำถามหนึ่งไว้ในหนัง และมันยังคงติดอยู่ในใจผม เขาถามว่า ถ้าการที่ครูมีอิทธิพลต่อการเป็นคนต้นแบบในเรื่องเพศให้กับนักเรียนได้ขนาดนั้นจริง ทุกวันนี้คงไม่มีใครเป็นเกย์แน่นอน เพศของเราคงเป็นแค่ชายหรือไม่ก็หญิง ซึ่งผมเห็นด้วยนะ แล้วถ้ามองกลับกัน ถ้าเรามีครูเป็นเกย์ เราก็จะเป็นเกย์เพียงเพราะเหตุผลนั้นอย่างเดียวเหรอ?” อีกเสียงหนึ่งดังขึ้นในอีกมุมหนึ่งของห้องประชุม

ก่อนที่ไมค์จะถูกเวียนกลับไปที่วิทยากรบนเวทีอีกครั้ง คำถามหนึ่งดังขึ้นจากผู้ชมชาวต่างชาติ เขาถามคำถามที่อาจตรงกับหัวข้อที่ ไพศาล ลิขิตปรีชากุล และพิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ ตั้งหัวข้อการบรรยายไว้

ประเทศไทยมีความกดดันทางสังคมอะไร ที่ทำให้ไม่มีนักการเมืองเกย์ หรือทำให้ผู้คนไม่กล้าเปิดเผยหรือประกาศตัวตนออกมา?

IMG_4762

จาก Stonewall ถึง Pulse

สไลด์แรกของไพศาล ลิขิตปรีชากุล กรรมการมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศที่ฉายขึ้นเวทีนั้น คือตัวอักษรสีดำในพื้นหลังสีขาว เขียนคำว่า ‘กรอบ’ จากนั้นคลิปวิดีโอความยาวราว 10 นาที ทำขึ้นโดยเด็กสาวชาวอเมริกันคนหนึ่งอายุ 15 ปี คลิปสั้นๆ บอกเล่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกลุ่ม LGBT ได้ถูกฉายขึ้น

ภาพตำรวจนิวยอร์คบุกเข้าค้นโรงแรม Stonewall Inn ในปี 1969 คือจุดเริ่มเรื่อง ตำรวจบังคับชาวเกย์และเลสเบี้ยนให้แก้ผ้าเพื่อแยกเพศ มีการทำร้ายร่างกายจากเจ้าหน้าที่ นำไปสู่การต่อสู้ของกลุ่มเกย์ในเวลาต่อมา ไล่เรื่อยไปถึงชัยชนะของฮาร์วีย์ มิลค์ ในเขตซานฟรานซิสโก และไปจบลงที่ภาพของนายบารัก โอบามา กล่าวสุนทรพจน์เพื่อยืนยันกฎหมายรับรองการแต่งงานของกลุ่มคนเพศเดียวกันทั่วทั้ง 50 มลรัฐในปี 2015

ปี 2015 สหรัฐอเมริกามีประกาศรับรองการแต่งงานของกลุ่มคนเพศเดียวกัน ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในชัยชนะของการเคลื่อนไหวจริงๆ แต่หนึ่งปีหลังจากนั้น เรายังเห็นข่าวการกราดยิงและจับตัวประกันที่ ‘พัลส์ ไนท์คลับ’ เหตุการณ์นี้หมายความว่าอะไร หมายความว่าเราได้หลุดออกจากกรอบความเกลียดชังแล้วหรือเปล่า?

ย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกลุ่ม LGBT ไพศาลอธิบายว่า มันอาจเริ่มต้นจากการพยายามหลุดออกจากกรอบบางอย่างที่ถูกกำหนดมาจากสังคม

“ยกตัวอย่างการเกิดขึ้นของสังคมกรีนิช หรือย่านชุมชนคาสโตร ในซานฟรานซิสโก ที่เป็นพื้นที่ที่กลุ่มเกย์มารวมตัวกัน มีสังคมเป็นของตัวเอง มีหนังสือพิมพ์ หรือกระทั่งมีร้านวิดีโอเป็นของตัวเอง ทั้งหมดนี้อาจมองได้ว่ามันคือพลังของความพยายามที่จะปลดปล่อยอะไรบางอย่าง แต่มันยังเป็นแค่การเรียกร้องเพื่อให้มีพื้นที่เป็นของตัวเองอยู่ จนกระทั่งมาสู่จุดเปลี่ยนในเรื่องการเรียกร้องเรื่อง HIV

“ในช่วงปี 1980-1981 กลุ่มเกย์จำนวนมากเสียชีวิตเนื่องจากเชื้อ HIV แต่ไม่มีคำอธิบายถึงโรค หรือการตายเป็นใบไม้ร่วงของกลุ่มเกย์เลย ทำให้เกิดการรวมตัวเพื่อจะไปทวงถาม ไปต่อสู้กับโครงสร้างของรัฐในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเป็นครั้งแรก การต่อสู้หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนไปสู่การต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน และไม่ใช่แค่ต่อสู้เพื่อย้ำว่ามีความหลากหลาย หากเป็นการบอกว่ามันมีความหลากหลายและเราต้องยอมรับที่จะอยู่ร่วมกัน”

IMG_4745

เส้นแบ่งบางๆ ระหว่างการปลดปล่อยกับการถูกผสานกลืน?

หากการหลุดออกจากกรอบ หรือการ Liberation คือการซื่อสัตย์ต่อตนเอง ยืนยันว่าจะเป็นคนที่อยากเป็น เรียกร้องและเคลื่อนไหวเพื่อให้หลุดจากการกดทับของศีลธรรม กรอบ และกฎเกณฑ์ของสังคม ในมุมมองของไพศาล เขาเห็นว่าเส้นแบ่งบางเบาของมันคือการถูกผสานดูดกลืน หรือการ integrate ตัวเองเข้าไปเพื่อขอใช้สิทธิ์ในสังคมนั้น

“กฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน อีกนัยหนึ่งคือการขอเข้าไปอยู่ในสิทธิของสถาบันหรือกรอบเดิมที่สังคมเคยเขียนไว้ เช่น สถาบันครอบครัว เพื่อให้ได้สิทธิ์ที่มากับการแต่งงาน ความเป็นพ่อแม่ลูก กรอบคิดผัวเดียวเมียเดียว ซึ่งมันไม่เหมือนเสียทีเดียวกับการ Liberate ตัวเองออกไปจากกรอบของสังคม

เพราะแท้จริงแล้วกรอบที่ว่ามันคือปัญหา มันทำให้เกิดความเป็นคนข้างในกับคนข้างนอก และจุดนี้คือปัญหาใหญ่ของ LGBT บ้านเรา เพราะมันไม่เพียงต่อสู้เรื่องกรอบทางเพศ แต่มันยังต่อสู้กับกรอบบรรทัดฐานศีลธรรม กรอบผู้ใหญ่ผู้น้อย ที่ท้ายสุดมันคือปัญหาใหญ่ คือกรอบในการมองคนที่ไม่เท่ากันของสังคม

ไพศาลฉายสไลด์ภาพ ‘กลุ่มรักเชียงใหม่ 51’ ถือป้ายขับไล่ขบวน ‘เกย์ไพรด์’ ของเครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ ประเทศไทย (YouthNet) ในปี 2552, ฉายภาพการชุมนุมของทั้งกลุ่มเสื้อเหลืองแดง ที่ใช้เรื่องเพศเป็นประเด็นโจมตีทางการเมือง, ฉายภาพโปสเตอร์หนัง Insects in the Backyard ภาพยนตร์ที่ถูกแบนด้วยเหตุผลว่าเนื้อหาในหนังขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

“คือมันไม่ใช่แค่สิทธิไปไม่ถึง LGBT แต่มันเป็นเรื่องของกรอบในการสร้างบรรทัดฐานทางสังคม คือกระทั่งเพศชายหญิง ก็มีกรอบตรงนี้ควบคุมอยู่

“พอกลับมาพูดเรื่อง LGBT เวลาที่เราต้องไปต่อรองกับนักการเมือง คนที่มีสิทธิ์ในการออกกฎหมายก็จะบอกว่า แค่การถกเถียงหรือมีแนวโน้มว่าจะเขียนรับรองสิทธิ์ในกฎหมาย ก็ถือเป็นบุญแล้วนะ คือมันกลายเป็นเรื่องบุญคุณ เป็นเรื่องของผู้ที่มีอำนาจมองเห็นผู้น้อยไป

“ตราบใดที่เรายังไม่มี stonewall เป็นของตัวเอง ยังไม่ Liberate ตัวเองออกจากกรอบทางสังคมที่กดทับ กลุ่ม LGBT บ้านเรายังไม่เคยเห็นตัวเองเท่ากับคนอื่น ความเคลื่อนไหวทั้งหมดคงเป็นได้แค่การเรียกร้องเพื่อให้มาซึ่งสิทธิ์เล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นสิทธิ์ของคนนอก คนชายขอบเท่านั้น”

IMG_4757

จาก zero to all หรือเพียงการ get away with it?

“เห็นด้วยกับประเด็นที่ผู้ชมด้านล่างได้เปิดเอาไว้ ที่ว่าฮาร์วีย์ มิลค์ไม่ได้ต่อสู้เพียงประเด็นสิทธิของชาวเกย์ หรือเฉพาะสิทธิของ LGBT แต่เขาต่อสู้เพื่อกลุ่มคนตัวเล็กๆ ที่ถูกกดขี่จากสังคมด้วย

“ถ้ามองกลับไปยังขบวนการต่อสู้ที่เริ่มตั้งแต่ปี 1960-1970 จะเห็นความเชื่อมโยงของขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนแต่ละกลุ่ม เช่นกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อคนผิวสี ต่อต้านสงครามเวียดนาม สิทธิชาวเกย์และเลสเบียน คือจะเป็นกระบวนการที่ส่งเสริมกันและกัน มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน คือการต่อสู้ในประเด็นการเมืองเรื่องอัตลักษณ์”

คือมุมมองของพิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน ที่เสนอว่าพัฒนาการของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศในประเด็นการเมืองเรื่องอัตลักษณ์นั้น เป็นทั้งที่มาและการให้อำนาจกับการเกิดขึ้นของขบวนการสังคมใหม่ในช่วงปลายยุค 80 นำไปสู่วิวัฒนาการการต่อสู้ในเรื่องสิทธิ์ต่อไปอย่างเป็นลำดับ

ถึงแม้ว่าการต่อสู้ในการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ จะดูก้าวหน้าและเป็นแนวทางเพื่อคนทุกกลุ่ม พิมพ์สิริเสนอว่า ยังมีข้อถกเถียงที่น่าสนใจอีกประการ แทรกซึมอยู่ในขบวนการต่อสู้นั้น อย่างคำวิจารณ์ของ นาโอมิ ไคลน์ นักกิจกรรมผู้วิพากษ์วิจารณ์ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 และ สลาวอย ชิเชค นักวิพากษ์วัฒนธรรม และปัญญาชนสายมาร์กซิสต์ชาวสโลวีเนีย

“แนวคิดของนาโอมิ ไคลน์ ที่ว่าแท้จริงแล้วการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ไม่ได้ต่อสู้กับระบบหรือแม้กระทั่งทำลายการกดขี่อะไรขนาดนั้น แท้จริงแล้วการต่อสู้ดังกล่าวแทบจะเป็นส่วนหนึ่งทำให้ทุนนิยมมีชีวิตต่อไปด้วยซ้ำ

“หรืออย่างที่ชิเชคว่า เขาไม่ได้ส่งเสริมสนับสนุน หรือเห็นด้วยให้คนเดินไปบนถนนแล้วด่าทอ เหยียดหยาม เรียกคนนู้นคนนี้ว่าเป็นเจ๊ก ยุ่น คนดำ คนเอเชีย แต่เขาเห็นว่าแนวทางในการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ มันเป็นการปิดกั้นบทสนทนา กักกั้นไม่ให้นำไปสู่การพูดคุยถึงปัญหาที่แท้จริง”

กลับมามองขบวนการต่อสู้เพื่อความหลากหลายทางเพศในปัจจุบัน พิมม์สิริเห็นว่า ถึงแม้การต่อสู้ในสิทธิ LGBT จะค่อยๆ งอกงาม เห็นชัยชนะที่สำคัญคือการออกกฎหมายการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันในหลายประเทศ แต่ดูเหมือนขบวนการในปัจจุบันกลับโฟกัสเพียงปัญหาของกลุ่มตัวเองมากขึ้น และไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน อันนำไปสู่การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในภาพใหญ่อีกต่อไป

อย่างเหตุการณ์ขบวนเกย์ไพรด์ โตรอนโต มีกลุ่มเควียร์ผิวดำไปประท้วงงานดังกล่าว และบอกว่าขบวนไพรด์ส่งเสริมแต่เพียงคุณค่าบางประการ เป็นเพียงกิจกรรมของชนชั้นกลาง คนผิวขาว ไม่ได้ให้คุณค่าหรือสนใจอัตลักษณ์ของคนผิวดำ คนชายขอบ คือมันสะท้อนให้เห็นมุมมองเล็กๆ ว่า การต่อสู้ของขบวนการแต่ละกลุ่มในปัจจุบัน ไม่ได้เชื่อมโยง หรือนำไปสู่ภาพรวมของการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเหมือนเมื่อก่อนแล้ว

กลับมามองขบวนการของ LGBT ในสังคมไทย พิมพ์สิริเห็นว่ามีแนวทางที่คล้ายกันคือ ขบวนการ LGBT ในปัจจุบันไม่ได้มุ่งเป้าไปสู่ภาพรวมในการต่อสู้เพื่อ LGBT ในทุกกลุ่มคน

“ส่วนตัวมองว่าปัญหาหลักๆ คือการที่ LGBT บ้านเราพุ่งเป้าและมองเพียงปัญหาเรื่องสิทธิของกลุ่ม แต่ก็ยังไปไม่ถึงสิทธิ LGBT ของชายขอบ LGBT กลุ่มเล็กกลุ่มน้อยต่างๆ การต่อสู้ปัจจุบันหลักๆ เช่น ข้อเสนอกฎหมายแต่งงาน แต่ก็อาจจะไม่เกี่ยงวิธีการว่าจะได้มาอย่างไร จากรัฐบาลใดก็ได้ ขอให้กฎหมายมาก่อน ซึ่งมันอาจจะสะท้อนเล็กๆ ว่ากลุ่ม LGBT ไม่ได้มองว่ามันคือปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนภาพรวม แต่อาจเป็นปัญหาสิทธิในกลุ่มตัวเอง”

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า