สำหรับคนที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับเครื่องมือสื่อสารใหม่ๆ ในโลกโซเชียลมีเดีย การสร้าง แฮชแท็ก หรือข้อความที่กำกับด้วยเครื่องหมาย # ให้คนสนใจติดตามและมีส่วนร่วม จนกลายเป็นกระแสที่คนพูดถึงหรือที่เรียกกันว่า ‘ติดเทรนด์’ ขึ้นมาในช่วงเวลาหนึ่งๆ นั้น อาจเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทาย กระทั่งผู้หลักผู้ใหญ่บางท่านยังเคยออกมายอมรับว่าเรื่องนี้เป็นจุดอ่อนเพราะ “ทำแฮชแท็กไม่เก่ง ไม่รู้ต้องตั้งอะไรให้คนไปติดตาม”
ถ้าอย่างนั้นเรามาลองถอดสูตรกันดูดีกว่า ว่าภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ กลุ่มนิสิตนักศึกษาในโลกออนไลน์ที่ว่ากันว่า ‘ทำแฮชแท็กเก่ง’ นั้นเขามีวิธีสร้าง #แฮชแท็ก เพื่อรวมตัวและแสดงความไม่พอใจต่อกรณีดังกล่าวกันอย่างไรจน ‘จุดติด’ และนำไปสู่กิจกรรมทางการเมืองอย่าง ‘แฟลชม็อบ’ ของหลายสถาบันได้
แฮชแท็กคืออะไร ทำไมต้องติด #
แท็ก หรือ tag เป็นวิธีการในการจัดเนื้อหาที่มีมากมายอยู่ในคลังออกเป็นหมวดหมู่ ทำให้ง่ายต่อการเข้าถึงเนื้อหาที่มีลักษณะคล้ายกัน และทำให้สามารถค้นหาได้ง่ายขึ้น ต่อมามีการนำสัญลักษณ์ # หรือสัญลักษณ์ hash มาใช้เพื่อแสดงถึง ‘หัวข้อ’ ของหมวดหมู่นั้นๆ ให้สามารถคลิกเพื่อค้นหาและเชื่อมโยงข้อมูลที่ติด tag เดียวกันเข้าถึงได้ จึงเป็นที่มาของคำว่า hashtag
การติดแท็กหรือแฮชแท็กในระยะแรกอาจเป็นการจัดหมวดหมู่หรือจำแนกกลุ่มของเนื้อหาในโลกออนไลน์เท่านั้น แต่เมื่อมีการแพร่กระจายของเนื้อหาในแท็กออกไปเป็นวงกว้าง มีผู้เข้าใช้แท็กนั้นมากขึ้น ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล การส่งต่อ และการต่อยอดข้อมูลกัน จนเกิดเป็น crowdsourcing คือ การที่ผู้ใช้ระดมผลิตเนื้อหาในหมวดหมู่เดียวกันจากหลากหลายมุมมองขึ้นมา
คนที่สนใจเรื่องไหนก็สามารถใช้แฮชแท็กเพื่อสร้างและเข้าถึงเนื้อหาเรื่องเดียวกัน ขณะเดียวกันคนที่มีความสนใจเหมือนกันก็สามารถค้นหาและรวมกลุ่มกันได้โดยใช้แฮชแท็กเป็นสื่อกลาง ตั้งแต่กลุ่มแฟนคลับศิลปิน ดารา กลุ่มคนลวก-ไม่ลวกบะหมี่หยกก่อนกิน กลุ่มคนที่ต้องการปกป้องขนมขบเคี้ยวสีที่ชื่นชอบ ไปจนถึงกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นและจุดยืนทางการเมืองร่วมกัน
แฮชแท็กสูตร 1 #เราเป็นใคร
เนื่องจากแฮชแท็กถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรวมคนเข้าด้วยกัน แฮชแท็กที่มีประสิทธิภาพจึงต้องมีถ้อยคำระบุชื่อกลุ่มหรือสื่อถึงอัตลักษณ์บางประการของกลุ่ม เพื่อให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียตัดสินใจเลือกจัดวางที่ทางของตนเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มได้ถูก ในกรณีการรวมกลุ่มเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคอนาคตใหม่นั้น แต่ละมหาวิทยาลัยมีการสร้างทีมโดยอ้างถึงสถาบันการศึกษาของตนเองด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ
- ใช้ชื่อเต็มหรือชื่อย่อของสถาบัน เช่น ศิลปากร พระจอมเกล้า มศว มอนอ KU MU BU UTCC KKU SNRU
- ใช้ชื่อกลุ่มสถาบัน เช่น สามพระจอม ราชมงคล ราชภัฏ
- ใช้สัญลักษณ์หรือสมญานามของสถาบัน เช่น ช้างเผือก ลูกพ่อขุน เรือใบไม้ ลูกระนาด กันเกรา ฟ้ามุ่ย พะยอม เสลา ดอกจาน บลูบานเย็น
- ใช้ที่ตั้งของสถาบัน เช่น ศาลายา ดินแดง อยู่ไกล อยู่ใกล้หลายค่าย อยู่ข้างราบสิบเอ็ด อยู่ข้างบ้าน หลานย่าโม อิงโขง อุดร
- ใช้ชื่อสถานที่สำคัญที่สัญลักษณ์ของสถาบัน เช่น ศาลาวีรชน ลานแปดเหลี่ยม ลานดาว
- ใช้อ้างถึงถ้อยคำในปรัชญาหรือวิสัยทัศน์ของสถาบัน เช่น เสาหลัก รากฐาน
- อื่นๆ เช่น (ประวัติ) เกิดจากสฤษดิ์ (กิจกรรม) มหาวิทยาลัยปลูกกัญชา (เป็นสถาบันที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่น) #สลิ่มจาไนเดส
แฮชแท็กสูตร 2 #เขาเป็นใคร
นอกจากจะบอกว่า ‘เรา’ เป็นใครแล้ว การระบุว่า ‘เขา’ หรือฝ่ายตรงข้ามเป็นใคร รวมถึงการปฏิเสธว่าเราไม่เข้าพวกหรือไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มใด ก็เป็นอีกวิธีการในการสร้างแฮชแท็กเพื่อรวมกลุ่มคนที่มีจุดยืนอย่างเดียวกัน ทั้งยังช่วยสร้างความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันจากการมี ‘ศัตรูร่วม’ ได้อีกด้วย
จากแฮชแท็กติดเทรนด์ต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ‘เขา’ ที่นิสิตนักศึกษากล่าวถึง ไม่ได้มีเพียงศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่เท่านั้น แต่ยังสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับกลุ่มคน ตัวบุคคล วิธีคิด การกระทำ ทัศนะและจุดยืนทางการเมืองที่อยู่ ‘ฝ่ายตรงข้าม’ ตลอดจนสิ่งที่ไม่พึงพอใจและต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่
- ศาล เช่น ท่าน 9 เสียง พี่มหาลัยกู
- สลิ่ม เช่น สลิ่ม ขนมหวาน ขนมหวานราดกะทิ ของหวานหลายสี
- เผด็จการ เช่น เผด็จการ อำนาจนิยม
- รัฐบาล เช่น ลุง ไอโอชา เรือดำน้ำ
- อื่นๆ เช่น กะลา อยุติธรรม
แฮชแท็กสูตร 3 #เราต้องการอะไร
แฮชแท็กที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาเลือกใช้เพื่อแสดงจุดยืนและความคิดเห็นทางการเมืองนั้น แบ่งได้ตามกลุ่มความหมายที่ต้องการจะสื่อได้เป็นกลุ่มต่างๆ ดังนี้
1) แสดงความไม่พอใจต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ
- #ที่ยุบอนาคตใหม่พี่มหาลัยกูทั้งนั้น
- #ฝุ่น6ล้านหรือจะสู้ท่าน9เสียง
- #เด็กSNRUร่วมสู้อยุติธรรม
2) ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นพวกเดียวกันหรือมีจุดยืนทางการเมืองเหมือนกันกับอีกฝ่ายหนึ่ง ปฏิเสธภาพเหมารวมเกี่ยวกับจุดยืนทางการเมืองของกลุ่มตนเอง รวมทั้งแสดงความตั้งใจที่จะต่อสู้กับ ‘ฝ่ายตรงข้าม’ (ไม่ใช่ ไม่ได้เป็น ไม่ขอเป็น ไม่ชอบ ไม่กิน งด อยากงัด)
- #KUไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ
- #BUกูไม่ใช่สลิ่ม
- #บลูบานเย็นไม่ได้เป็นขนมหวาน
- #สลิ่มจาไนเดส
- #เกิดจากสฤษดิ์แต่ไม่ขอเป็นสลิ่ม
- #พระจอมเกล้าชอบกินเหล้าไม่ชอบกินสลิ่ม
- #มหาวิทยาลัยปลูกกัญชานักศึกษาไม่กินสลิ่ม
- #ศาลายางดกินของหวานหลายสี
- #ราชภัฏอยากงัดกับสลิ่ม
3) ปฏิเสธ ‘เผด็จการ’ (ไม่ได้ชอบ ไม่เอา ไม่รับใช้ ไม่คุย ไม่อิง ปิดฉาก) และเรียกร้องประชาธิปไตย
- #ถึงมออยู่ใกล้หลายค่ายก็ไม่ได้ชอบเผด็จการ
- #มออยู่ข้างราบสิบเอ็ดแต่ไม่เอาเผด็จการ
- #ลูกพ่อขุนไม่รับใช้เผด็จการ
- #ฟ้ามุ่ยไม่คุยกับเผด็จการ
- #อิงโขงไม่อิงเผด็จการ
- #เสลาออกจากกะลาพร้อมปิดฉากอำนาจนิยม
- #muneedsdemocracy
- #ประชาธิปไตยจะเบ่งบานบนลานดาว
4) แสดงความตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง
- #ศิลปากรขอมีซีน
- #มศวขอมีจุดยืน
- #รากฐานจะหารด้วย
- #ทีมลูกระนาดอยากจะฟาดบ้างแม่
- #KKUขอโทษที่ช้าโดนสลิ่มลบโพสต์
- #สามพระจอมจะยอมได้ไง
- #ช้างเผือกจะไม่ทน
- #ราชมงคลจะไม่ทน
- #ดอกจานบานที่อุดร
- #ถึงจะอยู่ไกลขอส่งใจที่ลานแปดเหลี่ยม
5) วิพากษ์บทบาททางการเมืองที่ผ่านมาของสถาบันการศึกษาของตนเอง
- #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป
- #ศาลาวีรชนจะไม่ใช่ที่หลบฝนอีกต่อไป
- #มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง
- #ขอกู้คืนเกียรติ
6) แสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาล
- #UTCCเรือใบไม่ใช่เรือดำน้ำ
- #คืนสู่เหย้าไม่เอาไอโอชา
- #พะยอมเก๋าไม่เกาเหลานะลุง
7) อื่นๆ
- #กันเกราไม่เอากะลา
- #มอนออยากออกจากกะลา
- #เสลาออกจากกะลาพร้อมปิดฉากอำนาจนิยม
ถึงแม้กระแสความเคลื่อนไหวทางการเมืองในโลกออนไลน์ในครั้งนี้จะมีที่มาจากกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ แต่แฮชแท็กส่วนใหญ่ที่นิสิตนักศึกษากลุ่มข้างต้นเลือกใช้กลับนำเสนอมุมมองและข้อเรียกร้องในหลายประเด็นที่มองไปไกลกว่านั้น
หลายข้อความสะท้อนถึงความอึดอัด ผิดหวัง และไม่พอใจต่อทั้งสถาบันการศึกษาของตนเอง รัฐบาล การรัฐประหาร บุคคล กลุ่มบุคคล และวิธีคิดของ ‘อีกฝ่ายหนึ่ง’ ตลอดจนความเป็นไปของประเทศในภาพรวม ซึ่งทำให้คนที่อ่านแล้ว ‘อิน’ ตัดสินใจที่จะร่วมผลิตเนื้อหาและติดแฮชแท็กเดียวกัน จนเกิดเป็นกระแสความตื่นตัวทางการเมืองครั้งใหญ่ที่ส่งแรงกระเพื่อมต่อกันไปในหลายสถาบัน และ ‘อิน’ มากพอจนกล้าเดินออกจากห้องเรียนและโลกเสมือนมาสู่การขับเคลื่อนสังคมในโลกจริง
แฮชแท็กสูตร 4 #พลังของภาษา
ถึงแม้จะยังไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวว่าแฮชแท็กเพื่อสื่อสารทางการเมืองที่ดีจะต้องมีความยาวเท่าไร หรือต้องใช้ภาษาอย่างไร แต่มีเทคนิคทางภาษาหลายอย่างที่น่าสนใจในแฮชแท็กการเมืองของเด็กมหา’ลัยชุดนี้ ได้แก่ การใช้คำคล้องจองและการซ้ำคำ (คล้ายกับคำขวัญ) เพื่อให้จดจำง่ายและต่อยอดนำไปใช้ในบริบทอื่นๆ ได้ เช่น #ราชภัฏอยากงัดกับสลิ่ม #ฟ้ามุ่ยไม่คุยกับเผด็จการ #กันเกราไม่เอากะลา #อิงโขงไม่อิงเผด็จการ การใช้ถ้อยคำเชิงเปรียบเทียบที่แสดงการเสียดสีและการเล่นคำเพื่อสร้างสีสัน เช่น #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป #คืนสู่เหย้าไม่เอาไอโอชา และการใช้คำสรรพนาม ‘กู’ เพื่อสื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกเกรี้ยวกราดไม่พอใจ เช่น #ที่ยุบอนาคตใหม่พี่มหาลัยกูทั้งนั้น #BUกูไม่ใช่สลิ่ม เป็นต้น
นอกจากนี้ยังใช้การปฏิเสธ เช่น ไม่ใช่ ไม่ได้เป็น ไม่ขอเป็น ไม่กิน ไม่ชอบ ไม่ได้ชอบ ไม่เอา ไม่รับใช้ ไม่คุย ไม่อิง ไม่ทน ร่วมกับกลุ่มคำชุด ‘สลิ่ม เผด็จการ กะลา’ ซึ่งสอดคล้องกับการแสดงจุดยืนทางการเมืองของนิสิตนักศึกษากลุ่มนี้ที่ต้องการปฏิเสธสิ่งที่เป็นอยู่และเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังพบการเลือกใช้คำศัพท์ที่ได้รับความนิยมและสื่อสารกันได้ในกลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดีย เช่น #ศิลปากรขอมีซีน #รากฐานจะหารด้วย #ทีมลูกระนาดอยากจะฟาดบ้างแม่ #ช้างเผือกจะไม่ทน #มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง ซึ่งชัดเจนว่าผู้สร้างแฮชแท็กกำลังมุ่งสื่อสารกับใคร
ส่องแฮชแท็กเด็กมหา’ลัย…การเหมารวมและการต่อรอง
ถึงแม้แฮชแท็กทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้คนในโลกออนไลน์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแฮชแท็กเมื่อสร้างขึ้นแล้วย่อมกลายเป็น ‘สาธารณสมบัติ’ ที่ใครจะหยิบฉวยไปใช้ร่วมกับเนื้อหาอะไรก็ได้
การเลือกใช้แฮชแท็กเดียวกัน ในแง่หนึ่งเท่ากับเป็นการแปะป้ายยอมอนุญาตให้คนอื่นเหมารวมว่าเป็น ‘พวกเดียวกัน’ ไปด้วยโดยปริยาย ทั้งที่ผู้ใช้อาจไม่ได้เห็นด้วยกับเนื้อหาหรือวิธีการสื่อสารในแฮชแท็กและผ่านการติดแฮชแท็กนั้นไปเสียทั้งหมดก็ตาม ดังจะเห็นได้จากการตั้งคำถามกันเองในหมู่นิสิตนักศึกษาเกี่ยวกับถ้อยคำในแฮชแท็กที่กลุ่มเลือกใช้ เช่น การใช้คำว่า ‘สลิ่ม’ ซึ่งมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เป็นต้น
เพราะแฮชแท็กถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจัดหมวดหมู่ บางครั้งความแตกต่างหลากหลายจึงถูกปล่อยเบลอและมองข้าม ยิ่งถ้าแฮชแท็กนั้น ‘ติดเทรนด์’ กลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ไปแล้ว ต่อให้มีคนพยายามสร้างแฮชแท็กขึ้นมาใหม่ให้ถูกต้อง ถูกใจ และ ‘พีซี’ (คำนึงถึง political correctness) มากแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีใครร่วมแชร์ร่วมใช้ สุดท้ายถ้ายังอยากคุยเรื่องเดียวกันกับคนอื่นและอยากช่วยหล่อเลี้ยงประเด็นนั้นให้เสียงดังและมีพลังมากพอ ก็ต้องทำใจยอมรับกฎหมู่และใช้แฮชแท็กที่คนส่วนใหญ่เลือกอยู่ดี #การเมืองก็เช่นกัน
ในวันที่นิสิตนักศึกษาจำนวนมากเริ่มตื่นตัวทางการเมืองกันมากขึ้น กระทั่งขยายวงจากระดับมหาวิทยาลัยไปสู่รั้วโรงเรียนและกลุ่มประชาชนทั่วไป แฮชแท็กกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสดงอัตลักษณ์ ความเป็นกลุ่มก้อน และความเป็นหนึ่งเดียวกันของผู้คนในโลกออนไลน์ เป็นการบอกให้คนอื่นรู้ว่าฉันเป็นใคร ฉันคิดอย่างไร และฉันอยู่ฝ่ายไหน เป็นเหมือนแม่เหล็กดึงดูดกลุ่มคนที่มีจุดยืนอย่างเดียวกันให้มาอยู่ภายใต้แฮชแท็กเดียวกันโดยไม่จำเป็นต้องมี ‘แกนนำ’
อ่านแฮชแท็กให้เป็น จะได้รู้ว่า ‘เด็กสมัยนี้’ เขาสื่อสารกันอย่างไร และจะได้เข้าใจตัวตน มุมมอง และการต่อสู้ทางการเมืองของในโลกออนไลน์ของพวกเขาดียิ่งขึ้น