จากกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปางในวันที่ 18 ธันวาคม 2565 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 18 ราย สูญหายอีก 11 ราย (ณ ปัจจุบัน) จนถูกคำถามถึงสาเหตุของเรือล่ม ทั้งการขาดการซ่อมบำรุง อุปกรณ์ที่ไม่เพียงพอ ไปจนถึงงบประมาณที่ใช้ไปกับเรืออายุกว่า 30 ปีลำนี้ ว่าเกิดข้อผิดพลาดใดกันแน่ที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมดังกล่าว
จากการสืบค้นข้อมูล พบว่า ร.ล.สุโขทัย ได้รับการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ระหว่างปี พ.ศ. 2561-2563 และส่งมอบคืนให้แก่กองทัพเรือในปี 2564 โดยมีงบการซ่อมบำรุงอยู่ที่ประมาณ 1,300 ล้านบาทต่อปี แต่สุดท้ายก็อับปางเนื่องจากน้ำรั่วไหลเข้าไปยังบริเวณหัวเรือจนเครื่องปั่นไฟไม่ทำงาน นำมาสู่การสละเรือในที่สุด (จากการสันนิษฐานสาเหตุในปัจจุบัน)
ทว่าหากสืบค้นกลับไปยังบันทึกแผนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยศูนย์ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและราคากลาง กรมอู่ทหารเรือ ก็จะพบว่ามีการจัดซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับ ‘การปั่นไฟ’ บ่อยครั้งในมูลค่าหลายล้านบาท ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากเว็บไซต์ติดตามโครงการภาครัฐอย่าง ‘ภาษีไปไหน’ ยังระบุว่า มีการจ้าง ‘บริษัท 3288 เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด’ เข้าซ่อมแซมตัวเรือไปแล้วในปี 2561 มูลค่า 8,000,000 บาท ยังไม่รวมการจัดซื้ออะไหล่เครื่องแยกน้ำท้องเรือในปีเดียวกันจาก ‘บริษัท วชิรธร จำกัด’ อีก 890,261 บาท อีกด้วย
ดังนั้นการซ่อมแซมหรือการคาดคะเนว่า ร.ล.สุโขทัย จะประสบปัญหาใดบ้างขณะปฏิบัติหน้าที่ จึงอาจจะมีเค้าลางมาตั้งแต่ปี 2561 แต่การจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดมีรายละเอียดสำคัญเกี่ยวกับ ร.ล.สุโขทัย อย่างไรบ้าง และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรืออับปางด้วยหรือไม่
แผนจัดซื้อ การซ่อมบำรุง และเค้าลางหายนะ
ย้อนประวัติแผนการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับ ร.ล.สุโขทัย จุดสำคัญเริ่มต้นจากปีงบประมาณ 2561 โดยเอกสารระบุถึงอุปกรณ์ที่คาดว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการล่มในครั้งนี้ว่า
- ร.ล.สุโขทัย จะจัดซื้อจัดจ้าง ระบบควบคุมเครื่องไฟฟ้า ตราอักษร MTU จำนวน 11 รายการ ราคา 1,908,000 บาท
- ร.ล.สุโขทัย จะจัดซื้อระบบควบคุมเครื่องจักรใหญ่ ตราอักษร MTU จำนวน 7 รายการ ราคา 3,905,000 บาท
- ร.ล.สุโขทัย จะจัดซื้ออะไหล่เครื่องกำเนิดไฟฟ้า หมายเลข 1, 2, 3 และ 4 ตราอักษรย่อ AVK ในราคา 340,000 บาท
- ร.ล. สุโขทัย จะจัดจ้างซ่อมทำตัวเรือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ในราคา 8,000,000 บาท
หลังจากนั้น ร.ล.สุโขทัย ก็ได้เข้ารับการซ่อมแซมครั้งใหญ่ในระหว่างปี 2561-2563 ตามที่ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ตอบกระทู้ถามสดแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 จากการตั้งกระทู้ถามโดยนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล
แผนการจัดซื้อจัดจ้างในปีงบประมาณ 2565 ยังวางแผนที่จะจัดซื้ออะไหล่ซ่อมทำเครื่องขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า หมายเลข 3 ตราอักษร MTU 6V 396 TC52 ชั้น TOP OVERHAUL จำนวน 252 รายการ ในราคา 2,290,000 บาท อีกด้วย
ดังนั้นข้อมูลข้างต้นจึงอาจสรุปอย่างคร่าวได้ว่า กองทัพเรือรู้มาตั้งแต่แรกว่า ร.ล.สุโขทัย กำลังมีปัญหาที่ตัวเรือและระบบการปั่นไฟ จึงทำให้ต้องส่งเข้าซ่อมแซมขนานใหญ่โดยใช้งบประมาณในการซ่อมไปกว่า 1,300 ล้านบาท
ซ่อม ร.ล.สุโขทัย ใครจ่าย จ่ายให้ใคร
จากเว็บไซต์ติดตามการใช้จ่ายในโครงการภาครัฐอย่างเว็บไซต์ ‘ภาษีไปไหน’ ระบุว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2565 มีเพียงปีงบประมาณ 2561 เท่านั้นที่เกิดการใช้งบไปกับ ร.ล.สุโขทัย และปีดังกล่าวมีเพียง 3 โครงการเท่านั้นที่ถูกบันทึกไว้ สวนทางกับแผนการจัดซื้อจัดจ้างข้างต้น
ผลการค้นหาโครงการจัดซื้อจัดจ้างในปีงบประมาณ 2561 พบว่า ปีดังกล่าวใช้งบประมาณไปเพียง 9.8 ล้านบาท ในการดูแล ร.ล.สุโขทัย แยกออกเป็น
- โครงการซื้ออะไหล่เครื่องแยกน้ำท้องเรือ ตราอักษร TURBULO โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ในราคา 890,261 บาท โดย บริษัท วชิรธร จำกัด ลงนามวันที่ 20 มีนาคม 2561
- ซื้ออะไหล่เครื่องผลิตน้ำจืด ตราอักษร VILLAGE MARINE เรือหลวงสุโขทัย โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ในราคา 907,173 บาท โดย บริษัท วชิรธร จำกัด ลงนามวันที่ 20 มีนาคม 2561
- จ้างทำของ/จ้างเหมาบริการจ้างซ่อมทำตัวเรือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เรือหลวงสุโขทัย โดยวิธีคัดเลือก ในราคา 7,998,999 บาท โดย บริษัท 3288 เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ลงนามวันที่ 2 เมษายน 2561
หากการซ่อมบำรุงและการจัดทำซื้ออะไหล่ที่กล่าวมามีเพียงเท่านี้ ก็จะสอดคล้องกับ ‘รายงานการวิเคราะห์งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565: กระทรวงกลาโหม’ ของสำนักงบประมาณรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ระบุว่า งบประมาณที่กองทัพเรือได้รับนั้นเริ่มถูกปรับลดลงให้หลังจากปี 2563 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นปีที่ ร.ล.สุโขทัย กำลังถูกซ่อมบำรุง ก่อนจะส่งคืนในปี 2564
แม้กองทัพเรือจะมีการปรับลดงบประมาณในการดูแลกองเรือรบช่วงปี 2563-2565 โดยงบดำเนินการลดลง 589 ล้านบาท งบลงทุนลดลง 507 ล้านบาท งบเงินอุดหนุนลดลง 3.7 ล้านบาท และงบรายจ่ายอื่นลดลง 566 ล้านบาท ขณะที่มีการปรับเพิ่มงบบุคลากรในช่วงเวลาเดียวกันถึง 536.9 ล้านบาท
พูดอย่างง่าย ภายใน 3 ปี งบประมาณของกองทัพเรือลดลง 1,129 ล้านบาท ถึงแม้ว่าการปรับลดงบประมาณเหล่านี้มีการคาดคะเนว่าเกิดจากประเทศไทยเข้าสู่ช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทว่าคำถามที่สังคมกำลังสนใจคือ การปรับลดงบประมาณจำนวนหลักพันล้านในเวลาเพียง 3 ปี การวางแผนจัดซื้อจัดจ้างจำนวนมาก การจัดซื้อจัดจ้างที่เกิดขึ้นจริง และเอกสารงบประมาณที่ยังไม่ถูกเปิดเผย คือหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ ร.ล.สุโขทัย จมหรือไม่
นอกจากนี้ การที่ ร.ล.สุโขทัย ได้รับการซ่อมบำรุงและจัดซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในราคา 7,998,999 บาท ในเดือนเมษายน 2561 ช่วงระยะเวลาดังกล่าวกองทัพเรืออยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งภายหลังได้ส่งต่อตำแหน่งให้แก่ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ในเดือนตุลาคม 2561 จนถึงเดือนกันยายน 2563 ผู้เป็นอดีต คสช. อดีต สนช. และยังเป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภาอีกด้วย
ดังนั้นตำแหน่ง ผบ.ทร. นับตั้งแต่ พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ จนถึง พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ จึงอาจจะเป็นผู้ที่ถือกุญแจไขความลับในการจัดซ่อมทั้งหมดของ ร.ล.สุโขทัย เอาไว้ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกี่ยวข้องกับข้อครหาด้านความโปร่งใสทางการเมือง เนื่องจากช่วงระยะเวลานั้นทั้งสองเข้าร่วมกับรัฐบาล คสช. ที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้น้ำทะเลสามารถรั่วไหลเข้าสู่หัวเรือจนเป็นเหตุให้เรือล่มได้ ระบบควบคุมและเครื่องปั่นไฟมีปัญหาได้ยากง่ายเพียงใด ทั้งที่เพิ่งมีการซื้ออะไหล่และมีการซ่อมบำรุงจำนวนมาก ไปจนถึงการซ่อมแซมที่ผ่านมามีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ และอุปกรณ์บนเรือมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน ก็ยังเป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องจับตามองต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้โศกนาฏกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
ที่มา
- ภาษีไปไหน: ระบบข้อมูลการใช้จ่ายของภาครัฐ
- ศูนย์ข้อมูลจัดซื้อจ้างและราคากลาง กรมอู่ทหารเรือ
- รายงานการวิเคราะห์งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565: กระทรวงกลาโหม