Hunt: ล่าคนปลอมคน บนทางแพร่งระหว่างความรุนแรงกับประชาธิปไตยชาตินิยม

“ม้าที่รับใช้เผด็จการน่ะ เลวยิ่งกว่าเผด็จการซะอีก”

ประโยคเจ็บแต่จริงดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางท้องเรื่องที่รัฐประชาธิปไตยอย่างเกาหลีใต้ต้องเผชิญภัยคุกคามที่ร้ายกาจอย่าง ‘พรรคคอมมิวนิสต์’ แต่เพื่อปกป้องและรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย (ที่อาจจะไม่ค่อยเสรีนัก) เหล่าผู้ค้ำจุนระบอบจะต้องใช้วิธีการที่โหดเหี้ยมจนถลำลึกได้มากเพียงใดก็เป็นคำถามที่น่าสนใจ

“คิดจะเอาความรุนแรงต่อยอดความรุนแรงไปอีกนานแค่ไหน”

ประโยคเด็ดที่หลุดออกจากปากตัวละครหนึ่งดูจะอธิบายโจทย์ข้างต้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งฟังดูแล้วเป็นคำถามกึ่งคำตอบของผู้ใฝ่หาสันติ และไม่เชื่อว่าการใช้ความรุนแรงทางการเมืองอย่างอุกอาจจะสามารถยุติความขัดแย้งลงได้ แต่กระนั้นเขาก็ไม่ได้เสนอทางเลือกอื่นใดเพิ่มเติม นั่นจึงทำให้ตัวละครอื่นๆ ในเรื่องไม่มีหนทางเลือกอื่นใดมากนัก เมื่อต้องหาทางต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยม 

“แค่ 10 วันที่เปิดฉากยิงก็ตายไปกว่า 3,000 คน จะให้ยอมรับรัฐบาลที่ทำร้ายประชาชนแบบนี้ ดูถูกกันเกินไปแล้ว”

ประโยคทรงพลังพลุ่งพล่านออกจากปากของคนผู้รักชาติ ความเดือดดาลทำให้ฉากนี้ตราตรึงใจ เพราะมันแสดงให้เห็นถึงการสำนึกถึง ‘ชาติ’ ที่มี ‘ประชาชน’ อยู่ในนั้นด้วย กล่าวคือ สำหรับเจ้าของประโยคนี้ ชาติไม่ได้หมายถึงเฉพาะผู้นำ สัญลักษณ์ หรือรัฐธรรมนูญใดๆ แต่หมายถึงคนจริงๆ และเขาก็พร้อมจะต่อสู้กับทุกอย่างที่ขวางหน้า เพื่อสิ่งที่เรียกว่าประชาชน

บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยถึงเนื้อหาสำคัญ หากเชื่อว่าการสปอยล์เนื้อหาจะทำให้หมดสนุกในการรับชมภาพยนตร์ โปรดพิจารณาก่อนอ่านฉบับเต็ม

ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี เกาหลีใต้ในโลกยุคความขัดแย้ง

ภาพยนตร์ Hunt (ล่าคนปลอมคน) (2022) พาผู้ชมย้อนกลับไปในประเทศเกาหลีใต้ช่วงปี 1980 ที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำเผด็จการคนหนึ่ง แม้ฉากหน้าของเกาหลีใต้ยังคงเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีประธานาธิบดีเป็นประมุข แต่เนื้อแท้กลับไร้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงออกหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ เห็นได้จากการใช้กำลังตำรวจเข้าสลายการชุมนุมของบรรดานักศึกษาจำนวนมากด้วยความรุนแรงชนิดไม่เลือกหน้า ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก และบางส่วนก็หนีตายเข้าไปหลบอยู่ในมหาวิทยาลัย ความรุนแรงจากการสลายการชุมนุมนี้ยิ่งเติมเชื้อไฟแก่ความไม่พอใจของนักศึกษามากยิ่งขึ้น

แม้ระบอบที่กดขี่ประชาชนจะดูแข็งแกร่ง ทว่าอำนาจของผู้นำก็ถูกสั่นคลอนอยู่เสมอจากความพยายามในการลอบสังหาร โดยเฉพาะเหตุลอบสังหารประธานาธิบดีที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้สองตัวละครเอกอย่าง พัค พยองโฮ (รับบทโดย อี จองแจ (Lee Jung-jae)) ผู้อำนวยการหน่วยความมั่นคงภายนอกประเทศ และคิม จองโด (รับบทโดย จอง อูซอง (Jung Woo-sung)) ผู้อำนวยการหน่วยความมั่นคงภายในประเทศ ต้องมาบาดหมางกันเอง แม้ทั้งคู่จะอยู่ใต้ร่มของหน่วยงานเดียวกันอย่างหน่วยสืบราชการลับเกาหลีใต้ (The Korea Central Intelligence Agency: KCIA) โดยเฉพาะเมื่อทั้งคู่มีความแค้นกันมาก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อการสอบสวนในครั้งอดีตเคยทำให้ ผอ.พัค ถูกทรมานโดย ผอ.คิม จนเส้นประสาทของมือข้างหนึ่งแทบจะเสียหายอย่างถาวร

ความขัดแย้งยิ่งเลวร้ายหนักขึ้น เมื่อเกิดการลอบสังหารและข้อมูลลับของทางการเกาหลีใต้เกิดการรั่วไหลหลายต่อหลายครั้งไปยังเกาหลีเหนือด้วยฝีมือของสายลับ ‘ทงลิม’ ที่ไม่มีใครรู้ตัวตนที่แท้จริง การตามล่าสายลับคนนี้จึงนำไปสู่การกวาดล้างขนานใหญ่ชนิดไม่สนธรรมาภิบาล กฎหมาย หรือหลักการสากลใดๆ ภายในหน่วยงานต่างๆ ของเกาหลีใต้ และทำให้ตัวเอกทั้งสองต้องเข้าห้ำหั่นกันเองอย่างถึงเลือดถึงเนื้อ หากไม่ถูกป้ายสีว่าเป็นสายลับของศัตรูไปเสียก่อน

ไม่ใช่แค่นายสั่งมา เรื่องราวเจ้าหน้าที่ ‘ม้ารับใช้’ ผู้ค้ำยันระบอบเผด็จการ

ระบอบเผด็จการไม่ได้โหดเหี้ยมเพียงเพราะมีอำนาจชี้เป็นชี้ตายเท่านั้น แต่มันยังสร้างนิสัย ‘นักเผด็จการตัวจิ๋ว’ แก่บรรดา ‘ม้ารับใช้’ ของระบอบอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ปรากฏชัดในฉากที่เจ้าหน้าที่รุมฟาดกระบองใส่นิสิตนักศึกษา และยิงถล่มมหาวิทยาลัยด้วยแก๊สน้ำตา ซึ่งการสลายการชุมนุมครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจเกาหลีใช้ความรุนแรงอย่างไม่เลือกหน้า จนแม้แต่เด็กสาวคนสนิทของ ผอ.พัค ก็ยังถูกลูกหลงไปด้วย แม้เธอไม่ได้มีส่วนร่วมในการชุมนุมใดๆ ก็ตาม

เลวร้ายไปกว่านั้น แม้ปากของเหล่าเจ้าหน้าที่รับใช้รัฐบาลเผด็จการจะอ้างคำว่า ‘หน้าที่’ ทว่าเบื้องลึกในจิตใจกลับรู้สึกสนุกไปกับการใช้อำนาจเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาเมื่อภาพยนตร์พาผู้ชมลงไปเห็นห้องสอบสวนชั้นใต้ดินของหน่วยสืบราชการลับที่ตัวเอกทั้งคู่ทำงานอยู่ 

ณ ห้องลับแห่งนี้ เหล่าเจ้าหน้าที่ต่างกำลังทรมานผู้ต้องสงสัยอย่างสนุกสนานด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม มีตั้งแต่จับแก้ผ้าจนเปลือยเพื่อให้อับอาย รุมทุบด้วยกระบองเหล็ก จับกดน้ำ จับห้อยหัวแล้วเทน้ำใส่ใบหน้า ไปจนถึงใช้เข็มขัดรัดคอจนลมหายใจขาดห้วง การกระทำทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำไปเพื่อหาคำตอบที่พวกเขาต้องการเท่านั้น เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ยังฉายให้เห็นว่า การทรมานผู้ต้องสงสัยเป็นไปเพื่อสร้างความหวาดกลัว ไม่ได้ต้องการความจริงใดๆ ทั้งสิ้น และเพื่อสร้าง ‘ผลงาน’ เพื่อรอรับรางวัลอันหอมหวานที่ระบอบการปกครองนี้จะมอบให้เหล่าม้ารับใช้ที่ขยันขันแข็ง

ทั้งหมดนี้จึงทำให้ประโยค “ม้าที่รับใช้เผด็จการน่ะ เลวยิ่งกว่าเผด็จการซะอีก” สะท้อนด้านมืดของบรรดาตัวละครในเรื่องนี้แทบทุกคนได้อย่างดีที่สุด พวกเขามีบทบาทและหน้าที่ในการทำให้ระบอบที่กดขี่ยังดำเนินต่อไปได้ และทำให้ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิของประชาชนเป็นเรื่องปกติในสังคม ความเลวร้ายทั้งปวงถูกเคลือบแฝงด้วยความสนุกสนานผิดมนุษย์มนา ดังนั้นเจ้าหน้าที่เหล่านี้จึงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้เลย เพราะด้วยอำนาจที่พวกเขามีและสิ่งที่พวกเขาได้ทำลงไปนั้นก็แทบไม่ได้แตกต่างไปจากผู้นำของระบอบนี้เท่าใดนัก

‘ความรุนแรง’ คือภาษากลางที่ทำให้เกาหลีใต้และเกาหลีเหนือคุยกันรู้เรื่อง

ด้วยความเป็นหน่วยสืบราชการลับที่อิงแอบอยู่กับระบอบเผด็จการ ทำให้ตัวละครเอกทั้งสองมีอำนาจเต็มที่ในปฏิบัติการบุก ตรวจค้น หรือใช้อาวุธ แม้จะเป็นเขตชุมชนที่อยู่อาศัยก็ตาม อำนาจสิทธิขาดเช่นนี้สะท้อนให้เห็นผ่านฉากที่ ผอ.คิม นำกำลังเข้าตรวจค้นชุมชนแห่งหนึ่งที่เป็นแหล่งกบดานของสายลับเกาหลีเหนือ ผู้แฝงตัวเป็นคนเย็บผ้า แต่ลงเอยด้วยการเปลี่ยนชุมชนละแวกนั้นให้กลายเป็นเขตพื้นที่กราดกระสุนและระเบิดปลิวว่อนไปทั่ว โดยไม่ต้องแสดงหมายค้นหรือใบอนุญาตในการใช้อำนาจใดๆ 

อำนาจสิทธิขาดในการใช้ความรุนแรงไม่จำกัดแต่เฉพาะกับศัตรูภายนอกเท่านั้น ทว่ายังถูกใช้กับผู้ต้องสงสัยว่าเป็นภัยต่อระบอบการปกครองภายในเช่นกัน อย่างเหตุการณ์ที่ ผอ.พัค นำกำลังเข้าบุกจับบริษัทเอกชนที่ให้บริการด้านอาวุธยุทโธปกรณ์แห่งหนึ่ง แม้ไม่มีหมายค้นหรืออำนาจจากศาล แต่เขาก็นำเจ้าหน้าที่เดินตบเท้าเข้าไปในที่ทำการของบริษัทนั้นโดยพลการ แล้ว ‘กระทืบ’ ทุกคนที่ขวางหน้า ก่อนจะลากคอประธานของบริษัทกลับไปทรมานในห้องลับด้วยการช็อตไฟฟ้าซ้ำๆ เรื่องทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะความสงสัยและความแค้นส่วนตัวที่ ผอ.พัค มีต่อ ผอ.คิม

อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้นำเสนอเพียงความรุนแรงทางร่างกายและทางจิตใจ แต่ยังพูดถึงความรุนแรงทางการเมืองอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงท้ายๆ ของเรื่องที่เริ่มมีการเปิดเผยถึงความพยายามที่จะก่อ ‘รัฐประหาร’ เพื่อโค่นล้มผู้นำเผด็จการ และทำลายระบอบการปกครองที่ไม่เห็นหัวประชาชน ทว่าตัวละครสำคัญได้ตอบกลับด้วยประโยคที่แฝงความนัยลึกซึ้งว่า

“คิดจะเอาความรุนแรงต่อยอดความรุนแรงไปอีกนานแค่ไหน”

ประโยคดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่เชื่อว่าการใช้ความรุนแรงเป็นวิธีการทางการเมืองที่ได้ผล เพราะการใช้ความรุนแรงใดๆ ตอบโต้ ย่อมไม่มีวันทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นยุติลงได้ ไม่ว่าจะเป็นการทรมาน ฆาตกรรม ข่มขู่ ไปจนถึงการทำรัฐประหารก็ตาม 

ความรักชาติที่แท้จริง เมื่อประชาชนควรมาก่อนระบอบการปกครอง

จุดแตกหักสำคัญระหว่าง ‘ทงลิม’ สายลับจากเกาหลีเหนือ กองกำลังรัฐประหารของเกาหลีใต้ รวมถึงมือที่สามอย่างประเทศมหาอำนาจของโลกล้วนวิ่งวนอยู่กับคำว่า ‘ชาติ’ เป็นแกนหลัก

“แค่ 10 วันที่เปิดฉากยิงก็ตายไปกว่า 3,000 คน จะให้ยอมรับรัฐบาลที่ทำร้ายประชาชนแบบนี้ ดูถูกกันเกินไปแล้ว”

คำตอบที่ผู้นำกองกำลังรัฐประหารมอบให้ทูตจากประเทศมหาอำนาจสะท้อนให้เห็นว่า สำหรับคนเกาหลีใต้บางส่วนมองว่า ‘ประชาชน’ คือหัวใจของชาติ หากรัฐบาลหันปลายกระบอกปืนเข้าหาประชาชนของตนเมื่อไหร่ พวกเขาก็คงไม่อาจทำใจยอมรับรัฐบาลนั้นได้ถึงแม้จะอ้างว่าทำเพื่อชาติมากเพียงใดก็ตาม และจะไม่ยอมรับหากประเทศมหาอำนาจจะเปลี่ยนใจแล้วให้การรับรองแก่รัฐบาลประเภทนี้เพียงเพื่อต้องการให้เกิดเสถียรภาพขึ้นในภูมิภาค

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้กองกำลังเหล่านี้ ‘ตาสว่าง’ เกิดขึ้นเมื่อประธานาธิบดีเกาหลีใต้มีคำสั่งให้กองทัพประกาศตั้ง ‘เขตใช้กระสุนจริง’ ได้ จนทำให้ประชาชนที่มาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลถูกสังหารและล้มตายลงเป็นจำนวนมาก เมื่อต้องเห็นเฮลิคอปเตอร์สาดกระสุนลงมาคร่าชีวิตของเยาวชนต่อหน้าต่อตา เหล่าทหารบางส่วนจึงตาสว่างและเริ่มเคลื่อนไหวอย่างลับๆ เพื่อปลดแอกประชาชนเรื่อยมา

ในขณะเดียวกัน หากสงครามระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ปะทุขึ้นจริงๆ คนที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดย่อมหนีไม่พ้นประชาชน ซึ่งจะต้องบาดเจ็บล้มตายในหลักแสนหลักล้านชีวิตได้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงของสงคราม แม้ว่าปฏิบัติการทั้งหมดที่เกิดในภาพยนตร์เรื่องนี้จะเริ่มต้นด้วยความหวังดี เพื่อให้เกิดการรวมประเทศอย่างสันติ แต่ลงท้ายกลับมีบางฝ่ายจ้องจะก่อสงคราม ดังนั้นจึงมีคนพร้อมเล่น ‘นอกแผน’ เพื่อปกป้องประชาชนจากภัยสงคราม

ถึงที่สุดแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่า แม้แต่รัฐบาลที่อ้างประชาธิปไตยเป็นฉากหน้าก็สามารถทำเรื่องโหดเหี้ยมอำมหิตได้อย่างลงคอ เหล่าม้ารับใช้ที่เป็นแขนขาหรือกลไกคอยปฏิบัติงานให้รัฐบาลเหล่านี้ในทุกระดับก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนกระทำได้ ไม่ใช่จะอ้างว่า “นายสั่งมา มันเป็นหน้าที่” แล้วทุกสิ่งจะจบลงแค่นั้นหลังเลิกงานในตอนเย็น เพราะความรุนแรงที่พวกเขาได้ก่อไว้จะกลายเป็นเชื้อไฟให้การต่อต้าน กลายเป็นหน่ออ่อนของการตื่นรู้ และสุดท้ายจะย้อนกลับมาทำร้ายทุกอย่างเสียเอง 

มีเพียงอาการตื่นรู้เท่านั้นที่จะทำให้คนในประเทศที่กำลังหลงผิดว่า ชาติหมายถึงเฉพาะผู้นำ ผู้มีบารมี รัฐบาล หรือข้อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ กลับมาตาสว่างและมองเห็นว่า ชาติเป็นของประชาชนคนธรรมดาต่างหาก

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า