“ถ้าไม่กำจัดขยะ เราก็จะจมตายอยู่ใต้กองขยะ” ถอดรหัสบาเบลกรุ๊ปและระบบยุติธรรมกับ Vincenzo

เมื่อเกิดอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ไม่สามารถตรวจสอบความโปร่งใสของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมได้ มนุษย์มีวิธีการเอาตัวรอดอย่างไร จะเลือกจำนนต่ออำนาจนอกกติกาเหล่านั้นหรือหาทางออกอื่นเพื่อรักษาผลประโยชน์ หาหนทางที่ตนเองจะมีชีวิตรอด 

บทสรุปสุดท้ายของ Vincenzo (2021) ซีรีส์เกาหลีใต้ยอดนิยม ปิดฉากลงด้วยการเลือกขจัดอำนาจในวิธีเดิม ทว่าวิธีเดิมที่ว่านี้เป็นวิธีการแบบไหน แล้วทำไมสื่อเกาหลี ค.ศ. ปัจจุบันยังเลือกใช้มันเป็นจุดจบ 

ร่วมกันค้นหาคำตอบได้ในวงสนทนาออนไลน์จาก กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ประธานกรรมการบริหาร โรงเรียนต้นกล้า และนักวิชาการอิสระ หัวข้อ ‘ถอดรหัสบาเบลและระบบยุติธรรมกับ Vincenzo สะท้อนอะไรในสังคมเกาหลี ทำไมตอนจบ Vincenzo ยังเลือกกำจัดขยะด้วยวิธีเดิม’ ร่วมพูดคุยกับ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร นักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะและอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองจาก National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) ประเทศญี่ปุ่น และ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

Love – Hate relationship ของคนเกาหลีที่มีต่อแชโบล

แชโบล (Chaebol) คืออะไร? วีระยุทธเผยความหมายและที่มาของแชโบลไว้ว่า เป็นแกนหลักของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ กลุ่มธุรกิจครอบครัวขนาดยักษ์ใหญ่สยายปีกครอบครองประเทศ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาหลีถูกแบ่งแยกดินแดนออกเป็น 2 ส่วน กลายเป็นสงครามเย็นระหว่างสหภาพโซเวียต (ฝ่ายเกาหลีเหนือ) และ สหรัฐอเมริกา (ฝ่ายเกาหลีใต้) 

ระหว่างนั้นเกาหลีใต้เป็นประเทศที่เศรษฐกิจพังและล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆ ยุทธศาสตร์ที่เกาหลีใต้หยิบยกมาใช้คือการเลือกส่งเสริมบริษัทขนาดใหญ่ การสร้างแบรนด์เป็นของตนเอง เช่น ซัมซุง (Samsung), แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (LG), แดวู เอสเปอโร (Daewoo Espero) และ ฮุนได (Hyundai) มีการกำหนดสินเชื่อที่ให้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งต้องสร้างอุตสาหกรรมให้ได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด เช่น การดึงให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน ไปจนถึงการค้ำประกันเงินกู้จากต่างประเทศ จึงทำให้เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จ สามารถขับเคลื่อนนำพาประเทศกลับมาเฟื่องฟูได้ 

ทว่าในความสำเร็จย่อมมีผลกระทบตามมา คือความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง เพราะการครอบครองทรัพย์สินส่วนใหญ่ของประเทศตกอยู่ในมือกลุ่มคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหานี้แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะผลประโยชน์ที่ได้จากกลุ่มแชโบลทำให้เกาหลีใต้สามารถเดินหน้าต่อได้ และพัฒนาเป็น 1 ใน 4 ของประเทศชั้นนำแห่งเอเชีย 

“งานศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำในประเทศเกาหลีพบว่า ระหว่างกลุ่มแชโบลกับพนักงานบริษัท ไปจนถึงระดับแรงงานของโรงงาน มีรายได้แตกต่างกันสูง คล้ายๆ กับอเมริกันโมเดล

“แชโบลพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาเทคโนโลยีให้มีความก้าวหน้า Samsung สามารถแข่งกับ Apple ได้ สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนเกาหลีใต้ แต่ขณะเดียวกัน การมีกลุ่มแชโบลในประเทศเกาหลีใต้ก็กดทับกลุ่มชนชั้นล่าง หรือกลุ่มคนที่ไม่สามารถไต่เต้าจนได้ทำงานร่วมกับแชโบล คนเกาหลีจึงทั้งรักทั้งชังแชโบล” วีระยุทธอธิบาย 

เมื่อ ‘วินเซนโซ กาซาโน’ ไม่ศรัทธาในระบบยุติธรรม

ตัวของบาเบลกรุ๊ปในเรื่อง เปรียบเสมือนกลุ่มแชโบลซึ่งมีอำนาจและแขนขาในทุกๆ องคาพยพของเกาหลีใต้ มีการพูดคุยว่าจะซื้อสำนักงานอัยการ ซื้อผู้พิพากษา จ่ายเงินเพื่อซื้อตำรวจบางคน เหตุการณ์เหล่านี้นำมาสู่แก่นของเรื่องที่ทำให้ ‘วินเซนโซ กาซาโน’ ตัวเอกของเรื่องไม่เชื่อในระบบกฎหมายและความยุติธรรม 

กุลธิดาชวนตั้งคำถามต่อไปว่า สิ่งไหนบ้างที่จะทำให้คนหมดความรู้สึกศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม 

ฐิติรัตน์ชี้ว่า กระบวนการยุติธรรมคือ กลไกที่จะเข้ามาระงับข้อพิพาท เมื่อคนเราทะเลาะกันหรือมีความเห็นไม่ตรงกันกับคนในสังคม จะมีบุคคลที่สามเป็นผู้ตัดสินว่าใครถูก-ใครผิด บนพื้นฐานของความยุติธรรมกับทุกๆ ฝ่าย เป็นการสร้างระบบที่มีการประกันขึ้นมาว่า ถ้าเราทะเลาะกัน เราไม่จำเป็นตัดสินด้วยการต่อสู้ ไม่จำเป็นต้องดูว่าใครมีอำนาจมากกว่า คนนั้นถึงจะชนะ เพราะหากสังคมเป็นอย่างนั้นมันจะวุ่นวาย กระบวนการยุติธรรมจึงเข้ามาเป็นข้อต่อสำคัญตรงนี้ หากมีใครคนใดคนหนึ่งไม่ทำตามสัญญาหรือข้อตกลงก็จะถูกลงโทษโดยระบบกฎหมาย โดยไม่ต้องพึ่งพาอำนาจส่วนตัว 

“เท้าความว่าทำไมถึงเกิดระบบอย่างนี้ขึ้นได้ ก็เพราะเรามีรัฐบาลที่มี Monopoly Power (เอกสิทธิ์, ระบบผูกขาด) คืออำนาจผูกขาดการใช้กำลังภายในประเทศ การผูกขาดในความหมายคือ ถ้าไม่เชื่อฟังกฎระเบียบของรัฐ รัฐสามารถนำไปขุมคัง หรือบังคับโทษได้ เช่น การอายัดทรัพย์ มันกำลังสะท้อนว่าเราเชื่อใจในระบบยุติธรรมเหล่านี้ เราถึงไม่ต้องมาห้ำหั่นกันเอง เพราะเรามีคนกลางที่จะมาช่วยตัดสินใจ ทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น

“เชื่อมโยงกับวินเซนโซในเรื่อง เมื่อวินเซนโซหมดศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมที่ปราศจากความยุติธรรม ไม่เชื่อเรื่องของการลงโทษคนผู้กระทำผิด เขาจึงต้องหาทางออกวิธีอื่นด้วยการวิ่งแสวงหาอำนาจอื่นๆ เพื่อมาต่อสู้กับอำนาจของรัฐบาล ซึ่งกลายมาเป็นพื้นฐานของการเอาตัวรอดของคน 

“เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเพราะระบบไม่เวิร์ค คนจึงหาวิธีเอาตัวรอด หาทางปกป้องทรัพย์สินและผลประโยชน์ของตนเอง จึงวนกลับไปใช้วิธีโบราณคือการเอากำลังมาฟาดฟันกัน นี่คงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเกาหลีหลายคนไม่พอใจฉากจบ” ฐิติรัตน์อธิบาย

โลกที่ดีกว่าอยู่นอกรั้วประเทศ

กลับมาฝั่งไทย เมื่อส่องแฮชแท็กบนทวิตเตอร์ #Vincenzo พบว่า หลายคอมเมนต์ต้องการคนแบบวินเซนโซเป็นจำนวนมาก สิ่งนี้กำลังสื่ออะไร?

“คนไทยมีจุดร่วมกับคนเกาหลีในเรื่องความโกรธอย่างชัดเจน เช่น ออกนอกประเทศกันเถอะ ย้ายประเทศกันเถอะ เมื่อความยุติธรรมไม่เกิดขึ้นแล้ว รู้สึกสิ้นหวัง หมดหนทางที่จะมีชีวิตรอด สังคมเดินไปไหนไม่ได้ ศาลเตี้ยจึงเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหา” กุลธิดาให้ความเห็น 

“ในความรู้สึกของคนญี่ปุ่น การเปลี่ยนแปลงจะเกิดจากผู้คนชั้นบนระดับผู้นำ เพราะอาจจะโดนฝั่งอเมริกากดดันมาอีกที ทำให้คนชั้นบนต้องค่อยๆ คุยกับชนชั้นอื่นว่าเราต้องปรับเปลี่ยนระบบตรงนี้นะ แต่เป็นการประนีประนอม ขณะเดียวกันคนเกาหลีกับคนไทย ประชากรที่อยากเปลี่ยนแปลงระบบคือกลุ่มชนชั้นล่างที่โดนกดทับ ซึ่งอำนาจของคนชนชั้นล่างไม่ได้มีมากเท่าระดับผู้นำ จึงทำให้เราเห็นว่าการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศเกาหลีและประเทศไทยนั้นมีความรุนแรงในระดับโกนผมประท้วง” ฐิติรัตน์เสริม 

วีระยุทธกล่าวเพิ่มว่า กระแสการย้ายประเทศของคนเกาหลีมีมานานแล้ว เพราะเกาหลีเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง หากใครอยากมีชีวิตสุขสบาย คนคนนั้นก็ต้องสอบเข้า 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำให้ได้ หรือที่เรียกว่า SKY (Seoul National University, Korea University และ Yonsei University) เพื่อปูพรมเข้าทำงานต่อในแวดวงกลุ่มแชโบล ประเด็นนี้จะเล่าผ่านทนายฮงชายอง นางเอกของเรื่องที่เป็นคนชนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งทำงานรับใช้แชโบล มีต้นทุนชีวิตสบาย มีงานดีๆ ทำ มีรถขับ และมีคอนโดอยู่ใจกลางกรุงโซล 

แท้จริงแล้วฮงชายองสามารถเลือกทางอื่นได้ ทว่าหนทางที่จะเติบโตไม่ค่อยดีนัก เพราะขนาดการตั้งบริษัทเองก็ยังทำได้ยาก ยกตัวอย่าง หากจะเปิดร้านกาแฟก็ยังมีลูกหลานของแชโบลดำเนินธุรกิจนี้อยู่ด้วย จึงทำให้ทางเลือกอื่นในชีวิตถูกจำกัด เป็นเหตุผลว่าทำไมคนเกาหลีรุ่นใหม่ถึงไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิตร่วมกับแชโบล 

หากเปรียบเทียบกับประเทศไทย วีระยุทธยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า คนไทยมีโอกาสเลือกงานด้วยตนเองสูง มิหนำซ้ำยังสามารถพัฒนาเติบโตไปได้มากกว่าคนเกาหลี เพราะบริษัทรายใหญ่ของไทยยังไม่สามารถไต่เต้าสู่ระดับโลกได้ คนไทยยังต้องพึ่งพาเครื่องมือและเทคโนโลยีจากต่างชาติอยู่เป็นจำนวนมาก สิ่งที่คนไทยสามารถพัฒนาเป็นกิจการของตนเองได้อยู่ คือ อุตสาหกรรมอาหาร ขณะเดียวกันกิจการหลักเกือบทั้งหมดของเกาหลีถูกครอบงำโดยกลุ่มแชโบล จึงยากที่คนตัวเล็กๆ จะพัฒนาเองได้ 

“คนเกาหลีต้องเดินตามกรอบตรงนี้ของสังคม เขาไม่ได้มีทางเลือกอะไรมากมาย” ฐิติรัตน์ร่วมแสดงทัศนะ 

ทำไมซีรีส์เกาหลีผลิตเนื้อหาสะท้อนสังคมได้ แต่ไทยไม่

ฐิติรัตน์เปิดคำถามจากประเด็น Love-Hate reationship ของคนเกาหลีที่มีต่อกลุ่มแชโบลว่า การที่รัฐบาลเกาหลีใต้ให้อิสระในการผลิตซีรีส์หรือละครสะท้อนสังคม สะท้อนแง่มุมด้านลบของคนในชาติมากขนาดนี้ ก็เพราะพวกเขาไม่สามารถย้ายออกจากประเทศได้ การนำเสนอละครเนื้อหาเสียดสีสังคมจะทำให้ประชาชนในประเทศได้ปลดปล่อย ยกตัวอย่างเช่น Reply (1988) Parasite (2019) หรืออย่าง Itaewon Class (2020) เป็นต้น 

“แง่มุมสังคมต่างๆ ในเกาหลีใต้ถูกทำให้เป็นละครหรือซีรีส์ได้อย่างอิสระ มันเหมือนการเผยอฝากาน้ำร้อน เป็นการปลดปล่อยความอัดอั้นของคนในประเทศ แสดงให้เห็นระบบของชนชั้นที่ถูกบีบโดยกลุ่มแชโบล” ฐิติรัตน์เผย

ในมุมมองวีระยุทธ ประเทศไทยเองก็มีการนำเสนอละครเสียดสีหรือสะท้อนสังคมเช่นเดียวกัน แต่เป็นมุมมองของภาพยนตร์สั้น วนเวียนอยู่กับเรื่องการถูกเหยียดในเรื่องต่างๆ เช่น ข่มขืน ปัญหาการศึกษาภายในโรงเรียน หากแต่ไม่เคยได้ถูกเผยแพร่และโปรโมทเท่าที่ควร เพราะไม่มีแรงสนับสนุนทุนจากรัฐบาลเหมือนอย่างประเทศเกาหลี

“ถ้าหากรัฐบาลไทยเข้ามาสนับสนุน ละครหรือภาพยนตร์ตัวนั้นก็จะถูกควบคุมเนื้อหา ผู้กำกับและทีมงานจะขาดความอิสระในการนำเสนอเรื่องราว” วีระยุทธชี้จุดเสียเปรียบ 

ดาร์คฮีโร่, เมื่อตัวเอกกลายเป็นวายร้ายตามเก็บขยะ 

“ผมยังคงเป็นวายร้าย ไม่สนใจเรื่องความยุติธรรมแม้แต่น้อย ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่อ่อนแอและว่างเปล่า สิ่งนี้ไม่สามารถเอาชนะความชั่วร้ายใดๆ ได้ หากความยุติธรรมที่ไม่ปรานีมีจริง ผมก็เต็มใจที่จะยอมจำนน เพราะวายร้ายเองก็อยากจะใช้ชีวิตในโลกที่สงบสุข แต่เพราะโลกแบบนั้นไม่มีทางเป็นจริง ผมจึงมีงานอดิเรกใหม่ นั่นคือการกำจัดขยะ เพราะถ้าไม่กำจัดขยะ เราก็จะจมตายอยู่ใต้กองขยะ”

คำพูดของวินเซนโซในตอนสุดท้าย เขายินดีและพึงพอใจกับหนทางที่ตนเองเลือก เขาบอกไว้ว่า ตนเองนั้นพอใจที่จะมีงานอดิเรกเป็นการเก็บขยะแบบวายร้าย คือ การทำทุกอย่างโดยไม่สนใจกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายคน การทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งการมีดาร์คฮีโร่อย่างในซีรีส์เกาหลีกำลังบอกอะไรบางอย่างกับเรา ⎯ กุลธิดาชวนตั้งคำถาม 

“ในทุกสังคมจะมีละครแฟนตาซีอย่างฮีโร่หรือดาร์คฮีโร่โผล่มา มันแสดงบางอย่างที่ทำให้คนรู้สึกว่าอยากให้มีสิ่งนี้เกิดขึ้น ตัวเอกอย่างวินเซนโซเองก็ไม่ได้มีความเชื่อว่าสังคมจะสามารถดีขึ้นได้ ดังนั้นการมีดาร์คฮีโร่จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะมันจะช่วยสะท้อนความรู้สึกคับแค้นใจ มองไปทางไหนก็ไม่มีหนทางที่จะอยู่รอด จึงต้องทำให้ความพังพินาศเกิดขึ้นพร้อมกัน เป็นการตั้งคำถามของคนในสังคมว่า หากมีเรื่องราวแบบนี้อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” ฐิติรัตน์กล่าว 

ขณะเดียวกัน ฐิติรัตน์ยกตัวอย่างซีรีส์ฝั่งประเทศญี่ปุ่นชื่อ We Married as a Job (2016) ดัดแปลงมาจากมังงะ โดยมีเนื้อหาและตอนจบแตกต่างออกไปจากประเทศเกาหลี นั่นก็คือ ตัวละครจะเชิญชวนให้คนในสังคมตั้งคำถามถึงระบบโครงสร้างทางสังคมในประเทศที่ดำเนินอยู่ และมาพูดคุย เสนอแนวทางการแก้ปัญหา ถึงแม้ว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเป็นอนุรักษนิยม แต่เขาก็มีความเชื่อว่าสามารถปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างในสังคมได้ 

“ละครเกาหลีแสดงแง่มุมสะท้อนสังคม วัฒนธรรม นำเสนอภูมิภาคและความเป็นชาติ เพื่อให้ระดับโลกเห็น เป็นการตีตลาดอย่างหนึ่ง หากแต่ละครฝั่งญี่ปุ่นเขานำเสนอออกมาเพื่อพูดคุยกับคนภายในชาติ ชวนประชาชนตั้งคำถามถึงระบบภายในประเทศ เสนอว่า เกิดความเปลี่ยนแปลงได้หากคุณยอมประนีประนอม” วีระยุทธทิ้งท้าย

อย่างที่ว่าโลกคือละคร และละครก็สะท้อนชีวิตจริง สิ่งที่เกิดขึ้นใน Vincenzo หลายแง่มุมก็ช่างคล้ายคลึงกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งหลายคำถามยังไม่มีคำตอบ

กัญญาภัค ทิศศรี
เรียนสื่อสารมวลชน โทข่าวและสารคดี ชอบฟังดนตรีสด สนใจสะสมโมเดลจากอนิเมะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า