มองกระแสวัฒนธรรมไอดอล ผ่านงาน ‘Idol Expo#2 – Let’s Continue’

‘ไอดอล’ คืออะไร?

หากพูดถึงคำว่า ‘ไอดอล’ หลายคนอาจมีภาพจำในหัวที่ต่างกันออกไป แต่คนส่วนใหญ่อาจนึกถึงภาพของเด็กสาวหน้าตาน่ารักในชุดสีสันสดใสจำนวนหลายสิบคนกำลังร้องเต้นเพลงอยู่บนเวที แต่นั่นอาจเป็นเพียงภาพจำเพียงส่วนเล็กๆ ที่สังคมไทยมองเห็นจากคำว่า ‘ไอดอล’ เพราะความจริงแล้ว ไอดอล คือกลุ่มคนที่มีอิทธิพลและคอยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในด้านต่างๆ ไม่ว่าทัศนคติ ค่านิยม ความชื่นชอบ รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต

คำว่าไอดอล เริ่มกลับมาเป็นคำที่มีอิทธิพลต่อผู้คนอีกครั้งในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่วง BNK48 เข้ามาก่อตั้งในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ รวมทั้งการได้รับพื้นที่โปรโมตผ่านสื่อต่างๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ จนกระทั่งกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปทุกเพศทุกวัย

ความสำเร็จของการเปิดตัววง BNK48 ทำให้เหล่าไอดอลหลายวงเริ่มเห็นความเป็นไปได้ในวงการนี้ จึงได้พยายามก่อร่างสร้างตัวเองขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อกระแสการเปิดตัววงไอดอลกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เวทีและพื้นที่ในการโปรโมตยังมีจำกัด ทำให้ Idol Master กลุ่มผู้บริหารงานอีเวนท์ที่มีความสนใจในกระแสวัฒนธรรมไอดอล ภายใต้การนำของ สุกิจ เจริญมุขยนันท์, คณิต ศาตะมาน, พีรภัทร โพธิสารัตนะ และ พีระพล ฉัตรอนันทเวช เล็งเห็นถึงความสำคัญในการผลักดันกลุ่มเด็กสาวที่มีความฝันอยากจะโลดแล่นอยู่บนเวทีให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงเกิดเป็นงานเทศกาลไอดอลอย่าง ‘Idol Expo#2 – Let’s Continue’ ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่มีการจัด Idol Expo ครั้งแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ณ ไบเทค บางนา ฮอลล์ 98

Idol Master

งานครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากไอดอลหลากหลายวง ทั้งวงที่เคยเข้าร่วมงานครั้งที่แล้วอย่าง Sweat16, SY51, Bite Me, Secret12, Lemonade, HAPPYTAIL, AKIRA-KURO และ CM Cafe และวงน้องใหม่ที่มาร่วมงานในครั้งนี้เป็นคราวแรกอย่าง Black Forest, The Shit, BHX, Taste of love, Black dolls, Cho-nebi, Wish, Magical, Resweet Music และ Popever โดยวงเหล่านี้คอยผลัดกันมาสร้างสีสันบนเวที และออกบูธจำหน่ายสินค้าที่ระลึกประจำวง จนทำให้ฮอลล์ 98 ตลอด 4 วันไม่เงียบเหงา

จากกระแสตอบรับและการให้ความสนใจจากเหล่าบรรดาแฟนคลับผ่านงาน Idol Expo#2 – Let’s Continue อย่าล้นหลาม จนเกิดเป็นคำถามที่ว่า กระแสของวัฒนธรรมไอดอลในเมืองไทยจะพัฒนาไปทิศทางไหน ทำให้ผู้เขียนตัดสินใจเข้าไปพูดคุยกับทางผู้จัดการวงไอดอลและคณะผู้จัดงานว่า พวกเขามีมุมมองอย่างไรในเรื่องนี้

 

ก้าวแรกของความฝัน

Taste of Love กลุ่มเด็กสาววัยใสจำนวน 12 คน ที่มีจุดขายอยู่ที่ความเป็นมิตรและเป็นกันเอง ภายใต้การนำของ ปอ-พันธกาญจน์ ผลพล ชายหนุ่มวัย 22 ปี ที่ถึงแม้ภายนอก ปอจะเป็นเพียงนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการจัดการชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี แต่ชายหนุ่มผู้นี้กลับมีสถานะเป็นผู้จัดการวงที่จะคอยนำพาความฝันของเด็กทั้ง 12 คนไปสู่จุดที่พวกเขาต้องการได้

ปอเล่าว่า เดิมที Taste of Love ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากตัวเขา แต่เป็นการรวมกลุ่มกันของเด็กสาวที่มีความฝันอยากเป็นไอดอล โดยพวกเธอรวมตัวกันเพื่อฝึกร้องฝึกเต้นด้วยตัวเอง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งพวกเธอไม่สามารถเดินต่อไปด้วยตัวเองได้ ปอจึงเสนอตัวเข้ามาช่วยเด็กสาวเหล่านี้ ด้วยความพยายามที่จะจัดระบบระเบียบวงให้เข้าที่และปรับเปลี่ยนลุค จนกระทั่งเขาสามารถพาวงขึ้นเวทีอย่าง Idol Expo#2 – Let’s Continue ได้สำเร็จ

เมื่อถามถึงกระแสการเติบโตของวงการไอดอลในปัจจุบัน ปอบอกว่า ถึงแม้ว่าปัจจุบันวงการไอดอลจะยังไม่ได้เป็นตลาดที่ใหญ่นัก และถือว่ามีความเสี่ยงสูงหากเราไม่มีคอนเซ็ปต์ของวงที่ชัดเจน แต่วงการนี้จะยังคงเติบโตต่อไป ตราบใดที่ยังมีผู้ติดตาม สื่อ และเหล่าสตาร์ทอัพของวงการไอดอลที่เป็นเหมือนผู้เผยแพร่ให้วัฒนธรรมนี้เติบโตขึ้นมาได้อย่างเป็นขั้นบันได ถึงแม้ว่าตอนนี้ Taste of Love จะยังไม่ได้เพียบพร้อมในเรื่องทักษะและผลงานการแสดงของวง แต่การเข้ามาร่วม Idol Expo ก็ถือเป็นก้าวเล็กๆ ก้าวแรกสำหรับ Taste of Love สู่บันไดของการเป็นไอดอล

 

ความเสี่ยงที่ต้องแบกรับ

หากจะพูดถึงวงที่ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของงาน Idol Expo#2 – Let’s Continue เลยก็คือวง Black Forest เพราะทางวงนั้นมีประกาศสำคัญภายในงาน – การประกาศสมาชิกของวง Black Forest อย่างเป็นทางการ หลังจากการเปิดตัวผ่านรายการ Survival ที่จะคัดเลือกว่าที่สมาชิกวง Black Forest จากทั้งหมด 15 คน ให้เหลือเพียง 9 คน เพื่อเดบิวต์ในนามของ Black Forest ตามเจตนารมณ์ของ ดิว-วรุตม์พล ภิญโญบริสุทธิ์ โปรดิวเซอร์ประจำวง

ซึ่งในที่สุดก็ได้มีการประกาศรายชื่อสมาชิกทั้ง 9 คนอย่างเป็นทางการ ภายในงาน Idol Expo#2 – Let’s Continue เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา

หากย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของการก่อตั้ง Black Forest มาจากการที่ดิวชื่นชอบการร้องและการเต้นมาตั้งแต่เด็ก โดยก่อนหน้านี้ดิวเป็นหนึ่งในผู้เข้าสมัครในสายการร้องและการเต้นของทั้งวงคัฟเวอร์และวงไอดอลอยู่ตลอด จนกระทั่งอายุ 25 ปี ดิวจึงตัดสินใจยุติบทบาทการร้องการเต้นของตน แล้วหันมาพัฒนาทักษะการทำดนตรี และเกิดความคิดอยากจะทำวงไอดอลที่มีสไตล์แตกต่างจากวงไอดอลทั่วไป จนเป็นที่มาของการเริ่มต้นทำวงไอดอลป๊อปร็อคขึ้นมา

เมื่อพูดถึงความเสี่ยงในการทำวงไอดอล ดิวบอกว่า การเข้ามาทำการตลาดในวงการนี้ถือว่าเสี่ยงมาก แม้จะมีวงไอดอลบางวงที่สามารถเจาะตลาดกลุ่มคนทั่วไปจนเป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับในสังคมไปแล้ว แต่ตลาดวงการไอดอลก็ยังถือว่าเล็กมาก เพราะคนทั่วไปไม่ได้รู้จักวงอื่นๆ และวงไอดอลเหล่านั้นยังไม่สามารถเข้าถึงสื่อกระแสหลักได้ ทำให้มีบางวงถูกยุบ มีบางวงเริ่มต้นได้ดีแล้วอยู่ที่เดิม นั่นเป็นเพราะกระแสสังคมส่วนใหญ่ที่มาได้แค่ช่วงเวลาหนึ่งและหมดไป ทำให้สิ่งที่เป็นความสำคัญสำหรับการทำวงก็คือ ความเข้าใจตลาดจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ไปได้กับสังคม แต่ก็ยังต้องคงไว้ซึ่งจุดยืนของวงที่ชัดเจน

การได้มางาน Idol Expo#2 – Let’s Continue ในครั้งนี้ แม้จะเป็นการมาครั้งแรก แต่ด้วยกระแสการตอบรับจากแฟนคลับ ก็ทำให้ดิวได้ประสบการณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งความเข้าใจในพฤติกรรมของแฟนคลับ การได้รู้จักวงไอดอลวงใหม่ๆ รวมทั้งการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างผู้จัดการวงไอดอลด้วยกัน ทำให้ Idol Expo เป็นงานที่ให้ความสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่ดีสำหรับเหล่าไอดอลและผู้จัดการได้พัฒนาปรับตัวไปพร้อมๆ กับการเติบโตของวงการนี้

 

กำลังใจที่เป็นดั่งแรงผลักดัน

Lemonade กลุ่มไอดอลสาวที่มีสไตล์หวานซ่อนเปรี้ยว น่ารักแต่ซุกซน 4 คนนี้ อาจเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาสำหรับใครหลายคนผ่านงาน Idol Expo ครั้งก่อน แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า สี่สาวเหล่านี้มาจากค่าย KNW Entertainment ภายใต้การดูแลของ จอย-ณัฐฐานิตา วิชัย อดีตสมาชิกวง GAIA ที่ผันตัวจากการเป็นศิลปินมาสู่การเป็นผู้จัดการวง

จอยเล่าว่า เดิมที KNW Entertainment ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นบ้านหลังหนึ่งสำหรับจอยและ อีฟ สองสาวที่มีความรักความชอบในการร้องเพลง ภายใต้วงดูโอ้ชื่อ The Girlz ที่เน้นขายความเซ็กซี่และความเป็นผู้ใหญ่ จนกระทั่งจอยคิดว่า ควรเปิดพื้นที่นี้ให้เด็กสาวที่มีความฝันเช่นเดียวกับเธอเพื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านหลังนี้ เธอจึงเริ่มเปิดออดิชั่นเพื่อหาเด็กสาวที่มีความฝันและทัศนคติที่ตรงกับเธอ จนได้มาเป็น 4 สาววง Lemonade

ขอบคุณภาพจาก แฟนเพจ Lemonade Official Thailand

หากจะเปรียบน้องๆ ทั้ง 4 คนเป็นคนในครอบครัวแล้ว Lemonade คงเปรียบได้กับลูกสาว ที่ผู้เป็นแม่อย่างจอยและอีฟ จะต้องดูแลและพาน้องๆ ไปสู่จุดหมายปลายทางที่พวกเขาตั้งใจไว้ แน่นอนว่าการทำการตลาดในวงการไอดอลที่กำลังค่อยๆ หยั่งรากลงดินเพื่อที่จะเติบโตนั้นไม่ง่ายและมีความเสี่ยง เพราะไม่มีใครล่วงรู้ได้เลยว่าเมื่อทำผลงานออกมาแล้วจะถูกใจคนฟังหรือไม่ ซึ่งเป็นโชคดีที่หลังการเปิดตัวซิงเกิลแรกในงานนี้ Lemonade ก็ได้รับความสนใจและเสียงเชียร์จากแฟนคลับอย่างล้นหลาม จนน้องๆ Lemonade และจอยเองต่างก็รู้สึกประหลาดใจไม่น้อยกับการตอบรับในครั้งนี้ และนั่นก็ทำให้จอยได้รับประสบการณ์กลับมาว่า แม้วันนี้จะยังมีความเสี่ยงอยู่มากในการทำฝันของน้องๆ ทั้ง 4 คนให้สำเร็จ แต่สิ่งที่ผลักดันให้จอยและน้องๆ ยังเดินต่อไปได้ คือกำลังใจและแรงสนับสนุนจากแฟนคลับที่เฝ้าติดตาม Lemonade เพื่อรอดูความสำเร็จของน้องๆ ในสักวันหนึ่ง

 

จุดขายที่แตกต่าง

เมื่อพูดถึงไอดอลที่มีสไตล์อัลเทอร์เนทีฟร็อค ที่มีสไตล์ดุดัน หลายคนอาจนึกถึง AKIRA-KURO เป็นชื่อแรกๆ ด้วยถือเป็นวงไอดอลวงแรกของไทยที่ฉีกกฎภาพลักษณ์ไอดอลที่น่ารักสดใส สุภาพเรียบร้อยและเป็นแบบอย่างที่ดี AKIRA-KURO เป็นวงทางเลือกที่เน้นการนำเสนอความจริงแบบ ‘ไอดอลที่ไม่ทำตัวเป็นไอดอล’ ภายใต้การบริหารของ พล-สุริยา สุภีกิจ ที่คอยขับเคลื่อนให้วงสามารถเดินต่อไปได้

จุดเริ่มต้นของ AKIRA-KURO เกิดจากความชอบส่วนตัวของพลที่มีต่อไอดอลญี่ปุ่นที่มีสไตล์การทำเพลงแบบอัลเทอร์เนทีฟร็อค ทำให้พลเกิดไอเดียอยากทำอัลเทอร์เนทีฟร็อคไอดอลขึ้นมา แน่นอนว่าในระยะแรก วงต้องพบกับกระแสดราม่าต่างๆ เยอะมาก เนื่องจากแฟนคลับไอดอลส่วนใหญ่ไม่เข้าใจกับวัฒนธรรมไอดอลในรูปแบบนี้ ทำให้วงต้องใช้เวลาในการนำเสนอสื่อต่างๆ ทั้งผลงานการเพอร์ฟอร์แมนซ์ ความกล้าคิดกล้าแสดงทัศนคติ มุมมองผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ของสมาชิกภายในวง เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันกับกลุ่มแฟนคลับ จนกระทั่งแฟนคลับเหล่านั้นเริ่มเข้าใจและหันมาติดตามวงมากขึ้น

สิ่งที่พลได้ค้นพบจากการทำงานเพลงในวงการไอดอลคือ มีวงไอดอลมากมายถือกำเนิดขึ้นทุกวัน ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้ตลาดวงการนี้สามารถเดินต่อไปได้ คือการมีประสบการณ์ในด้านการทำเพลง การนำเสนอรูปแบบคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนผ่านสื่อ และการที่วงไอดอลเหล่านี้เกาะกลุ่มและก้าวเดินไปด้วยกัน ซึ่งการเปิดพื้นที่อย่างงาน Idol Expo ทั้ง 2 ครั้ง ทำให้ไอดอลได้มีพื้นที่พบปะแฟนคลับและเพื่อนไอดอลวงอื่นเพื่อได้สานสัมพันธ์กัน รวมทั้งการได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดกันระหว่างผู้จัดงานกับผู้บริหารวงต่างๆ เกิดเป็นการสร้างความเข้าใจและหาทางออกร่วมกันเพื่อที่จะพัฒนาวงการไอดอลไปสู่จุดที่ดีกว่าได้

 

ไอดอลที่เป็นมากกว่าไอดอล

หากพูดถึงกลุ่มไอดอลที่เข้าร่วมงาน Idol Expo#2 – Let’s Continue ในครั้งนี้ Resweet อาจจะมีความแตกต่างจากวงไอดอลกลุ่มอื่นเล็กน้อย เนื่องด้วย Resweet นั้นไม่ใช่ชื่อวงแต่เป็นชื่อค่ายเพลง ภายใต้การดูแลของ มีน-กรมีน คงรอด หนึ่งในนักดนตรีจากวง Moonlight ที่ได้ผันตัวจากการเป็นนักทำเพลงมาเป็นผู้บริหารค่ายเพลงอย่างเต็มตัว

สำหรับ Resweet นั้นเกิดขึ้นจากการที่มีนชื่นชอบไอดอล และอยากสร้างไอดอลขึ้นมาภายในค่ายของตน โดยให้อิสระกับเด็กๆ ในการสร้างสรรค์การทำงานของตัวเองได้อย่างเต็มที่ว่าจะให้วงของตัวเองออกมาในทิศทางไหน ปัจจุบัน Resweet มีสมาชิกเพียง 1 คน คือ วาวา-ญานิศา บุญรอดกลับ ซึ่งได้ทำผลงานในรูปแบบศิลปินเดี่ยวประกอบวงดนตรี ผ่านงานครั้งนี้

เมื่อพูดถึงสิ่งสำคัญสำหรับการทำวงไอดอล มีนมองว่า นอกจากสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์จดจำได้ง่ายแล้ว สิ่งที่สำคัญในการทำไอดอลของ Resweet คือ การทำให้ไอดอลไม่เป็นเพียงแค่ไอดอล แต่เป็น ‘ศิลปินไอดอล’ ที่สามารถมีครีเอทีฟในการเรียบเรียงดนตรี เนื้อร้อง รวมทั้งสไตล์การแต่งตัวด้วยตัวเองได้ ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ

แต่ถึงอย่างนั้น Resweet ก็ไม่สามารถเดินต่อไปได้อย่างลำพัง ดังนั้นการสานสัมพันธ์ร่วมกับวงอื่นเพื่อผนึกกำลังในการก้าวเดินไปข้างหน้าจึงเป็นสิ่งจำเป็น การได้เข้าร่วมงาน Idol Expo#2 – Let’s Continue ของ Resweet ที่แม้ว่าจะเป็นครั้งแรก และยังถือเป็นความแปลกใหม่สำหรับเหล่าแฟนคลับ แต่การเข้าร่วมในครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ Resweet จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้วงการไอดอลไทยสามารถเดินหน้าอย่างมั่นคงต่อไปได้

 

การเติบโตอย่างต่อเนื่องของวงการไอดอล

หลังจากงาน Idol Expo#2 – Let’s Continue สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ ผู้เขียนจึงได้มีโอกาสพูดคุยกับคณะผู้จัดงานอย่าง Idol Master ถึงมุมมองต่อกระแสวัฒนธรรมไอดอลไทยในยุคปัจจุบัน โดยพวกเขามีมุมมองว่า

เดิมทีเคยเป็นกระแสที่มีมาตั้งแต่อดีต และไม่ได้เป็นเพียงชั่ววูบ การที่กระแสเหล่านี้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งได้ ต้องเกิดจากความตั้งใจของไอดอลและการสนับสนุนจากแฟนคลับ ซึ่งกระแสเหล่านี้จะยืนยาวหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการยืนระยะธุรกิจของตัวเอง ที่ไม่ว่าจะเป็นวงไอดอลภายใต้กลุ่มนายทุนบันเทิง หรือกลุ่มไอดอลที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจส่วนตัว ต่างก็ต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่ออยู่ในวงการนี้ต่อไป

หากวงไอดอลสามารถพัฒนาตัวเองไปสู่จุดที่เรียกว่า วัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม (subculture) ได้ โอกาสที่จะทำให้กระแสวงการไอดอลสามารถดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าไปสู่พื้นที่สื่อกระแสหลักได้ก็จะมีเพิ่มมากขึ้น

Idol Expo จึงเปรียบได้กับ แพลตฟอร์มที่จะสนับสนุนให้แฟนคลับกับไอดอลได้มีพื้นที่ในการทำกิจกรรมและสร้างความสุขไปร่วมกัน เพื่อที่จะเติบโตร่วมกัน ซึ่งสิ่งที่เป็นเครื่องชี้วัดว่ากระแสของวงการมันเติบโตขึ้น คือนับตั้งแต่การจัดงาน Idol Expo ครั้งแรก จะเห็นได้ว่ามีวงไอดอลหน้าใหม่เกิดขึ้นมาเยอะ บางวงผันตัวจากวงโคฟเวอร์มาเป็นไอดอลก็มี ซึ่งทุกวงที่มาในงานนี้ก็สามารถสร้างฐานแฟนคลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว

ถึงแม้ว่าอาจจะยังเป็นภาพที่ไม่ชัดเจนในมุมมองของการทำธุรกิจ แต่สิ่งที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจนคืองาน Idol Expo ครั้งแรกเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ หันมาสนใจกระแสนี้ ซึ่งก็เป็นแนวโน้มที่ดีที่จะพัฒนาให้วงการนี้เติบโตจนกลายเป็นวัฒนธรรมกระแสรองได้

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ถึงการจัดงานครั้งต่อไป ทาง Idol Master ยืนยันว่า จะต้องมีครั้งถัดไปอย่างแน่นอน ทั้งนี้รายละเอียดและรูปแบบการจัดงานอาจมีความแตกต่างจากเดิมบ้าง เพื่อสร้างสีสันให้กับงานมากขึ้น นอกจากนี้ทาง Idol Master ก็ยังมีแผนเปิดพื้นที่อย่าง Live Studio ขึ้นเพื่อรองรับวงไอดอลที่อยากจะมีพื้นที่ไว้พูดคุยกับแฟนคลับมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ณ บริเวณชั้น 4 ศูนย์การค้า The Street รัชดา สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดตามได้ที่เพจ IdolMaster

ขอบคุณภาพจาก แฟนเพจ IdolExpo

ถึงแม้ว่านี่อาจจะเป็นก้าวเพียงไม่กี่ก้าวสำหรับกลุ่มคนที่มีความฝันต้องการอยากเห็นวงการไอดอลไปได้มากกว่าคำว่ากระแส แต่สิ่งสำคัญที่ไม่อาจขาดออกจากกันได้ หากตัดสินใจเลือกเดินบนเส้นทางนี้คือ การร่วมมือกันระหว่างวงไอดอล แฟนคลับ ผู้จัดการวง และ Idol Master เพื่อผนึกกำลังเดินหน้าให้วงการนี้ไปสู่จุดที่พวกเขามุ่งหวังได้  ไม่ว่าทางข้างหน้าจะเป็นเช่นไร ขอเพียงแค่มีกำลังใจที่จะทำตามฝันที่อยากจะมอบความสุขให้กับผู้คน สักวันฝันนั้นจะต้องเป็นจริง

Author

อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ
นักศึกษาชั้นปีที่ 3 เอกวารสารและหนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้สนใจในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเหลื่อมล้ำในสังคม งานอดิเรกของเธอคือ นั่งแต่งเพลงในยามว่าง อ่านหนังสือ บทความ และสารคดีต่างๆ

Photographer

สิทธิกร ขุนนราศัย
วิดีโอครีเอเตอร์รสมือจัดจ้านของ WAY สนใจตั้งแต่วัฒนธรรมตลาดล่างจนถึงประวัติศาสตร์กรีกโบราณ เติบโตมาในยุคสมัยที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนิยมผลิตวาทกรรมคนดี นี่อาจเป็นแรงถีบให้เขาเลือกนิยามตัวตนตรงกันข้าม และนิยมคลุกคลีกับ 'คนพรรค์นั้น' ในเพจ เดอะ ลูซเซอร์ คลับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า