I’m Glad My Mom Died (ฉันดีใจที่แม่ตาย) หนังสือที่ เจนเน็ตต์ แม็กเคอร์ดี (Jennette McCurdy) เขียนบอกเล่าประสบการณ์จริงที่เต็มไปด้วยความขมขื่นระหว่างเธอกับแม่ สร้างปรากฏการณ์ในอเมริกาด้วยสถิติที่ร้านหนังสือชื่อดังทุกร้านอย่าง แอมะซอน (Amazon) ทาร์เก็ต (Target) และบาร์นส์แอนด์โนเบิล (Barnes & Noble) ขายหมดภายในวันแรกที่หนังสือวางแผง ยอดขายเกินกว่า 200,000 เล่ม ภายในสัปดาห์แรกหลังวางแผงในเดือนสิงหาคม 2022 ก่อนจะแตะ 2 ล้านเล่มในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 และติดอันดับหนังสือขายดีของสำนักพิมพ์ไซมอนแอนด์ชูสเตอร์ (Simon & Schuster) 1 ใน 5 สำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์แรกที่วางแผงจนถึงกลางปี 2023
ปรากฏการณ์ ‘ฉันดีใจที่แม่ตาย’ ที่ก่อนหน้านี้สำนักพิมพ์หลายแห่งปฏิเสธตีพิมพ์เพราะชื่อเรื่องที่ฟังดูโหดร้าย สวนทางกับภาพลักษณ์นักแสดงเด็ก คล่องแคล่ว สดใส รักและบูชาแม่ของแม็กเคอร์ดี-ผู้เขียน ก่อนที่ไซมอนแอนด์ชูสเตอร์จะตัดสินใจพิมพ์ขายนั้น กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ของสังคมอเมริกันในปี 2023 เพราะยอดขายที่ถล่มทลายนั้นตอบโจทย์สิ่งที่อยู่ในใจของเหล่าประชากร Gen-Z และมิลเลนเนียล ของสังคมอเมริกัน
สถิติการบาดหมางจนถึงขั้นตัดขาดกับครอบครัวของคน Gen-Z และมิลเลนเนียล หรือ Gen-Y ในอเมริกา เพิ่มมากขึ้นทุกปี คาร์ล พิลล์เมอร์ (Karl Pillemer) นักสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell University) และผู้เขียนหนังสือเรื่อง Fractured Family and How to Mend Them (ครอบครัวแตกสลายและวิธีการเยียวยา) พบว่าในปี 2020 กว่า 27 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรอเมริกันที่อายุระหว่าง 18-35 ปี ยอมรับว่ามีความบาดหมางกับครอบครัว ตัวเลขนี้เพิ่มสูงขึ้นมากจากที่เคยมีผู้ทำวิจัยไว้ในปี 1997 ที่พบว่าลูกที่เป็นผู้ใหญ่แล้วบาดหมางหรือตัดขาดกับครอบครัวประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์
พิลล์เมอร์บอกว่า สถิตินี้มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อเขาสำรวจ TikTok แพลตฟอร์มออนไลน์ที่คนอเมริกันลงทะเบียนใช้มากถึงกว่า 170 ล้านบัญชี (เกินครึ่งของประชากรอเมริกันในปัจจุบัน) พิลล์เมอร์ก็พบว่าแฮชแท็ก #ToxicFamily (ครอบครัวเป็นพิษ) มียอดดูถึง 1,900 ล้านครั้ง สำหรับนักสังคมวิทยา พิลล์เมอร์รู้ทันทีว่าปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนวิกฤตความสัมพันธ์ในครอบครัวของสังคมอเมริกันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
“ความรู้สึกต่อหลักเกณฑ์เชิงบรรทัดฐานของสังคมที่บอกว่า เราต้องยึดโยงกับครอบครัวไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเริ่มลดน้อยลง คนรุ่นใหม่เริ่มมีความรู้สึกว่าหากความสัมพันธ์นั้นมันไม่ดี และมันดำรงอยู่มายาวนาน พวกเขาก็สามารถที่จะก้าวให้หลุดจากความสัมพันธ์นั้นได้” พิลล์เมอร์กล่าว
I’m Glad My Mom Died ปรากฏการณ์สะท้อนภาพสังคมอเมริกัน
แม็กเคอร์ดีเริ่มเขียนหนังสือบันทึกเรื่องราวความทรงจำระหว่างเธอกับแม่เล่มนี้ หลังจากที่แม่เสียชีวิตแล้ว และหลังจากที่เธอหันหลังให้กับอาชีพนักแสดงแล้ว
แม็กเคอร์ดีเริ่มอาชีพ ‘นักแสดงเด็ก’ ตามความฝันของแม่ที่อยากเป็นนักแสดงเอง แต่ไม่สามารถทำตามความฝันของตัวเองได้ จึงถ่ายเทความฝันนั้นมาที่แม็กเคอร์ดีตั้งแต่เธออายุ 6 ขวบ และเธอก็ทำทุกอย่างตามที่แม่ ‘บงการ’ มาตลอด เพื่อให้เธอเป็นนักแสดงเด็กที่ดีและโดดเด่นกว่านักแสดงเด็กคนอื่น บทบาทนำที่เธอได้รับในซีรีส์สุดฮิตทั้ง ไอแคร์ลี (iCarly) และ แซมแอนด์แคท (Sam & Cat) ที่เธอได้รับ แลกมากับการเป็นเด็กดีของแม่ ทั้งการเข้าคลาสการแสดง การตระเวนแคสติง การดูแลรูปร่างที่เธอต้องล้วงคอให้อาเจียนทุกครั้งเพื่อรักษาน้ำหนักให้ไม่เกิน 40 กิโลกรัม การโหมทำงานวันละมากว่า 10 ชั่วโมง วันที่แม่เธอเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง คือวันที่เธอได้รับอิสระในชีวิตอย่างสมบูรณ์
“ปีที่แล้ว (2022) เป็นปีที่คนมองฉันว่าเป็นนักเขียนหนังสือเล่มนี้อย่างเต็มตัว 100 เปอร์เซ็นต์ ฉันดีใจมาก ไม่มีใครเข้ามาหาฉันในฐานะนักแสดงอีกแล้ว” เป็นคำกล่าวสั้นๆ ของแม็คเคอร์ดีที่ตัดสินใจยุติอาชีพนักแสดงหลังแม่เสียชีวิตไม่นาน แล้วเดินตามความฝันของตัวเอง ด้วยการเริ่มเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์อย่าง เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล (The Wall Street Journal) ก่อนจะขยับมาเขียนหนังสือเล่ม I’m Glad My Mom Died เป็นเล่มแรก
แม็กเคอร์ดีกลายเป็นตัวแทนหมู่บ้านของบรรดาลูกๆ ที่เป็นผู้ใหญ่แล้วและต้องการตัดขาดจากครอบครัวที่เป็นพิษของตนเอง โดยเฉพาะแม่ และนั่นน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้หนังสือของเธอติดอันดับเบสท์ เซลเลอร์ อย่างยาวนานข้ามปี
มีงานวิจัยของแคมบริดจ์ชิ้นหนึ่ง เก็บข้อมูลจากผู้ใหญ่ที่ใช้ชีวิตคนเดียวในปี 2015 เพื่อศึกษาดูความผูกพันกับบุคคลร่วมสายเลือด มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถาม 807 ราย โดย 455 ราย ระบุว่ามีปัญหาและห่างเหินกับแม่ และ 350 รายระบุว่ามีปัญหาและห่างเหินกับพ่อ ส่วนใหญ่ของปัญหาเกิดขึ้นจากการถูกทำร้ายทางจิตใจ (emotional abuse) ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่
ส่วนใหญ่ผู้ที่ตัดขาดจากครอบครัว เลือกที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ ‘ความเป็นพิษ’ ของครอบครัวตนเอง แต่แมคเคอร์ดีเปิดเผยมันอย่างละเอียด
ปี 2022 เธอเป็นแขกรับเชิญรายการทอล์กโชว์ของ ดรูว์ แบร์รีมอร์ (Drew Barrymore) ที่เติบโตมากับครอบครัวที่มีปัญหา โดยเธอขึ้นเวทีร่วมกับ บรูค ชิลด์ (Brook Shields) นักแสดงสาวขื่อดังที่ออกมาเปิดเผยกับสังคมถึงความสัมพันธ์อันย่ำแย่ระหว่างเธอกับแม่เช่นกัน แสดงให้เห็นว่าสังคมเริ่มมีพื้นที่ให้กับเหยื่อของครอบครัวที่เป็นพิษอย่างเปิดเผยมากขึ้น รวมถึงยอมรับการตัดสินใจตัดขาดความสัมพันธ์กับครอบครัวมากขึ้น
บนหนทางสู่ความเป็นอิสระจากครอบครัวเป็นพิษ
เมื่อความเชื่อที่ว่า ครอบครัวคือสิ่งมีคุณค่าที่สุดที่จะคงอยู่ตลอดไป ถูกลดทอนลงด้วยมุมมองของคนรุ่นใหม่ ที่คิดว่าความสัมพันธ์ทางสายเลือดไม่ควรเป็นเหตุผลที่พวกเขาจะต้องอดทนรักษาความสัมพันธ์ที่ทำลาย ‘ตัวตน’ ของตนเองลงไปเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่จึงพยายามตัดขาดจากครอบครัวมากขึ้น
เมื่อเขียนถึงปรากฏการณ์การหมางเมินหรือตัดขาดจากครอบครัวของประชากร Gen-Z และมิลเลนเนียล ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น สื่อตะวันตกมักจะบอกเล่าประสบการณ์ตรงของคนรุ่นใหม่ที่ใช้รับมือกับครอบครัวเป็นพิษให้กับผู้อ่าน ซึ่งพบว่ามีหลายระดับ
ระดับเบา เช่น การกลับบ้านบ้าง แต่ไม่ทำในสิ่งที่พ่อและแม่คาดหวังหรือบังคับให้ทำ มิคกี้ (Mickey) วัย 34 บอกกับ เดอะ การ์เดียน (The Guardian) แห่งอังกฤษว่า เมื่อต้องกลับไปเยี่ยมบ้าน เขาเลือกที่จะไม่ดูแลตัวเอง ไม่เก็บกวาดห้องนอน เพราะเป็นสิ่งที่พ่อแม่บังคับให้เขาทำมาโดยตลอด (เมื่ออยู่บ้านตัวเอง เขาอาบน้ำ ทำความสะอาดและเก็บกวาดบ้านตัวเองเสมอ)
เช่นเดียวกับรอน (Ron) หนุ่มวัย 29 ที่รู้สึกว่าเมื่อกลับไปหาพ่อกับแม่ทีไร แม้แต่การล้างจานก็เป็นสิ่งที่เขาไม่อยากทำ “กลับถึงบ้านทีไร ผมกลายเป็นไอ้ตัวขยะทันที (เลยทำให้เป็นจริงๆ)”
ระดับกลาง เช่น การไม่กลับบ้าน โทรมาไม่รับ วีนกลับทางโทรศัพท์ ตัดสายทิ้ง งดเข้าร่วมกิจกรรมครอบครัว ด้วยความหวังว่าพ่อแม่จะสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้
ไปจนถึงระดับรุนแรง เช่น การเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ ไม่ให้ช่องทางติดต่อ บล็อกการสื่อสารทางโซเลียลมีเดียทั้งหมด ไปจนถึงความพยายามหาทางขโมยเอกสารทั้งหมดของตนเอง เช่น สูติบัตร เอกสารที่เกี่ยวกับการประกันสังคม ประกันชีวิต มาเก็บไว้เอง เพื่อตัดขาดกับพ่อแม่ทุกอย่าง
ปรากฏการณ์การหมางเมินและตัดขาดจากครอบครัวที่กำลังแพร่หลายในกลุ่ม Gen-Z และมิลเลนเนียล ถูกมองว่าเป็นป๊อปคัลเจอร์ใหม่ที่พวกเขากำลังโอบรับและยึดเป็นสรณะตามๆ กัน โดยที่พ่อแม่จำนวนหนึ่งมองว่าแม้พวกเขาจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังคงเป็นวัยรุ่นใจร้อน ตัดสินใจโดยมองไม่เห็นความหวังดีของพ่อและแม่ งานวิจัยชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยโอไฮโอ พบว่ามีเพียง 18 เปอร์เซ็นต์ของพ่อแม่ที่ถูกลูกหมางเมินหรือตัดขาด มองว่าการกระทำของลูกเกิดจากความผิดพลาดของตนเอง ขณะที่ส่วนใหญ่มองว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะลูกหลานของตนให้ความสำคัญกับ ‘สิทธิ’ มากเกินไป จนทำให้เกิดความแตกแยกในครอบครัว
จิตแพทย์และนักจิตบำบัด ผู้รับบทหนักในสังคมที่ครอบครัวเสื่อมสลาย
จิตแพทย์และนักจิตบำบัดต้องรับเคสของวัยรุ่นไปจนถึงผู้ใหญ่วัยกลางคนที่มีประสบการณ์เลวร้ายจากพ่อแม่เป็นพิษมากขึ้นเรื่อยๆ แม็กเคอร์ดีเป็นหนึ่งในนั้น
แม้แม่จะจากไปหลายปี แต่มรดกอย่างหนึ่งที่แม่ฝังไว้ในร่างกายเธอคือ การกินอาหารแล้วต้องล้วงคอออกทุกครั้ง เธอใช้เวลากว่า 2 ปี ในการรักษาอาการล้วงคอหลังกินอาหาร “เพียงแค่วันหนึ่ง 24 ชั่วโมง ฉันไม่ล้วงคอเลยสักครั้งก็ถือเป็นความสุขในชีวิตแล้ว”
นักจิตวิทยาบางคนรับเคสต่อมาจากแพทย์ที่รักษาทางกาย หลังพบว่าอาการทางกายที่ผู้ป่วยเผชิญอยู่นั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากอาการทางจิต ซึ่งเกิดจากการถูกกระทำจากครอบครัวอีกทีหนึ่ง
หญิงวัยกลางคนคนหนึ่งเข้ารับการรักษาโรคอ้วน ซึ่งเธอสามารถทำได้ผลดี ปฏิบัติตนตามแพทย์และนักโภชนาการกำหนดได้ตลอด แต่เมื่อใดก็ตามที่น้ำหนักเธอกำลังจะเข้าสู่ภาวะสมดุล เธอจะหันกลับไปกินทุกอย่างที่ขวางหน้าจนพาร่างกายกลับสู่จุดที่มีปัญหาแล้วเข้าสู่ระบบการรักษาใหม่
การรักษาวนซ้ำเป็นวงจร จนแพทย์แนะนำให้เธอเข้าพบจิตแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้จิตใจเธออ่อนแอเมื่อการรักษากำลังจะประสบผลสำเร็จ และจิตแพทย์ก็พบว่า ตั้งแต่วัยเด็กเธอต้องเผชิญกับการดูถูกของแม่มาตลอดว่า เด็กอ้วนอย่างเธอไม่มีวันลดน้ำหนักได้ และเธอก็รู้สึกเช่นนั้นจริงๆ
สัตยา ดอยล์ บียอร์ก (Satya Doyle Byock) นักจิตบำบัด ซึ่งให้ความสำคัญกับการแสวงหาตัวตนของคนวัยผู้ใหญ่ ตระหนักว่าปัญหาการตัดขาดครอบครัวกำลังจะเป็นเรื่องใหญ่ของสังคมอเมริกัน แม้จะมองเห็นว่าจำนวนประชากร Gen-Z และมิลเลนเนียล จะแสวงหาความเป็นอิสระจากครอบครัวมากขึ้น แต่เธอก็มองว่าจำนวนผู้ที่อยู่กับครอบครัวยังคงมีมากกว่า และเธอคิดว่าสังคมควรจะรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ ด้วยการพยายามสร้างระบบที่ทำให้คนวัย 18-40 ปี สามารถแสวงหาและรักษาตัวตนของตนเองไว้ได้ โดยไม่ต้องแบกรับความคาดหวังและค่านิยมของพ่อแม่ และโดยไม่ต้องตัดขาดจากครอบครัว ซึ่งเป็นงานที่เธอกำลังให้ความสำคัญและพยายามแสวงหาหนทางโดยการประมวลข้อมูลจากเคสต่างๆ ที่เข้ามาถึงมือเธอ
อย่างไรก็ดี เธอยอมรับว่าในหลายกรณี ‘การตัดขาด’ เป็นสิ่งจำเป็น และเธอคิดว่าไม่ควรใช้ถ้อยคำปลอบประโลมคนกลุ่มนั้นว่า “นั่นแม่นะ เธอจะตัดขาดจากแม่ไม่ได้นะ”
เช่นเดียวกับ ซีโมน บอส (Simone Bose) นักบำบัดด้านจิตวิทยาความสัมพันธ์แห่งลอนดอน ต้องพบกับเคสที่มีปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นจำนวนมาก ที่มองว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่รุ่นบูมเมอร์และ Gen-X กับลูก Gen-Y และมิลเลนเนียล เป็นเรื่องปกติที่จะปรากฏให้เห็นได้ เพราะความแตกต่างมากมายของสภาพสังคมที่คนแต่ละรุ่นประสบพบเจอ
บอสมองว่าเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญที่อาจจะช่วยลดปัญหาการตัดขาดในครอบครัว ไม่ใช่การห้าม แต่คือการต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขา แทนครอบครัวที่ไม่สามารถตอบสนองได้ เช่น ให้คนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ระบายอารมณ์ หรือเข้าสังคมกับคนที่ประสบปัญหาใกล้เคียงกัน
“เมื่อใครสักคนรู้สึกบางอย่างกับชีวิตตนเอง พวกเขาจะลุกขึ้นมาเข้าร่วมกลุ่มต่างๆ ติดตามอินสตาแกรมคนอื่น แล้วก็แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน”
บอสมองว่าเมื่อทางเลือกของพวกเขา คือการระบายกับโซเชียลมีเดียได้รับการตอบสนอง (มีคนฟัง และร่วมแสดงความเห็น) การที่พวกเขาจะขยับสู่ทางเลือกที่รุนแรงถึงขั้นตัดขาดครอบครัวก็จะลดน้อยลง
ขณะที่แม็กเคอร์ดีสนับสนุนให้คนที่ต้องใช้ชีวิตกับครอบครัวที่เป็นพิษ ลงมือเขียนเรื่องราวความสัมพันธ์ที่เป็นพิษเหล่านั้น โดยไม่ต้องรอให้แม่ตายก่อนเหมือนอย่างเธอ
“เขียนร่างแรกเพื่ออ่านเองก่อน หากรู้สึกว่าอยากแบ่งปันประสบการณ์กับคนอื่น ค่อยนำมันมาขัดเกลาตัดข้อมูลที่เชื่อมโยงถึงตัวคุณเองออกให้หมด”
เพราะประสบการณ์บางอย่างควรเก็บไว้สำหรับนักวิจารณ์ที่อยู่ภายในตัวเราเองคนเดียว
อ้างอิง:
- I’m an adult. Why do I regress under my parents’ roof?
- Why So Many Young People Are Cutting Off Their Parents
- Why Adult Children Are Cutting Off Their Parents More Than Ever
- Jennette McCurdy Now Qualifies as a Veteran Best Seller
- Hidden voice: Family Estrangement in Adulthood