พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อ 25 มีนาคม 2563 โดยมีจุดประสงค์ตามประกาศเพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมการแพร่กระจายของโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 และป้องกันความขาดแคลน อันเกิดจากการกักตุนเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของประชาชน
ภายใต้การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ มีมาตรการต่างๆ ด้วยจุดประสงค์ข้างต้นตามมา เช่น การกำหนดเวลาห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) การห้ามจำหน่ายสุรา
สถิติการพบผู้ป่วยรายใหม่ของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากต้นเดือนเมษายน ซึ่งเป็นผลมาจากหลายสาเหตุ แน่ละการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ย่อมมีส่วนในความสำเร็จนี้ไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งหลายฝ่ายมองว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นมาตรการซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเสรีภาพของประชาชนอย่างมาก ทั้งที่รัฐบาลสามารถเลือกใช้ พ.ร.บ.โรคระบาดฯ ซึ่งมีผลกระทบน้อยกว่าแทน หลังจากที่เริ่มควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศได้
ความกังวลนั้นยังชวนให้มองได้ว่า รัฐบาลอาจใช้โอกาสนี้ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ข้อกังวลนี้เป็นจริงขึ้นเมื่อมีการดำเนินคดีกับกลุ่มนักกิจกรรม และประชาชนที่แสดงออกทางการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมา ด้วยข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงถึง 2 ปี ปรับ 40,000 บาท
เรารวบรวมกรณีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับประชาชนซึ่งแสดงออกทางการเมืองนับจากวันที่ประกาศใช้ได้ 4 กรณี ได้แก่ กิจกรรมรำลึกการเสียชีวิตของ พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล, กิจกรรมแสดงดนตรีเนื่องในวาระ 6 ปี การรัฐประหารโดย คสช., การเรียกร้องกรณีการหายตัวไปของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หน้าสถานทูตกัมพูชา และกิจกรรม ‘ใคร-สั่ง-อุ้ม? วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ ในจังหวัดระยอง รวมผู้ได้รับข้อกล่าวหาทั้งสิ้น 21 คน ดังนี้
I – รำลึกถึง เสธ.แดง
13 พฤษภาคม 2563 เวลา 19.15 น. ภายหลังกิจกรรมรำลึกการเสียชีวิตของ พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล บริเวณด้านหลังสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลม เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน เข้าจับกุมตัว อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ ‘ฟอร์ดเส้นทางสีแดง’ นักกิจกรรมอดีตกลุ่ม นปช. ในข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จัดให้มีกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย ซึ่งผู้เข้าร่วมหลายคนไม่สวมหน้ากากอนามัย อีกทั้งมีการจับกลุ่มพูดคุย ถ่ายภาพร่วมกันโดยไม่เว้นระยะห่าง
ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน อนุรักษ์ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า สน.ลุมพินีออกหมายเรียกประชาชน 7 คนเข้าพบพนักงานสอบสวนในข้อกล่าวหาเดียวกัน ได้แก่ เสาวนีย์ สมพิชัย, ธานี สะสม, สมจิตร สอนศรี, ธัญวลัย ฝรั่งทอง, นวพร เจริญลาภ, วลี ญานหงสา และ มณฑา แสงเปล่ง
II – 6 ปีแล้วนะ
22 พฤษภาคม 2563 ระหว่างกิจกรรมแสดงดนตรี เนื่องในวาระครบรอบ 6 ปี การรัฐประหารของ คสช. และระดมทุนเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากการระบาดของโควิด-19 อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ และ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ผู้ร่วมกันจัดกิจกรรม ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวมายัง สน.ปทุมวัน พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยจัดกิจกรรมให้คนเข้าร่วมในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย อนุรักษ์ ถูกจับกุมในข้อหาเดียวกันนี้เป็นครั้งที่ 2
9 มิถุนายน 2563 จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ชนินทร์ วงษ์ศรี นักศึกษาจากสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวมายัง สน.สำราญราษฎร์ ขณะทำกิจกรรมผูกริบบิ้นสีขาวเรียกร้องความยุติธรรมให้ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทย ซึ่งถูกลักพาตัวกลางกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา พริษฐ์ กล่าวผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวว่ามีความพยายามจะแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนจะยกเลิก เหลือเพียงข้อกล่าวหา พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ และไม่แสดงบัตรประชาชนเท่านั้น
III – ตามหาวันเฉลิม หน้าสถานทูตกัมพูชา
13 มิถุนายน 2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าได้รับแจ้งจาก โชติศักดิ์ อ่อนสูง แกนนำคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ, มัทนา อัจจิมา และประชาชนอีก 1 ราย ถึงการที่ทั้งสามคนได้รับหมายเรียกจาก สน.วังทองหลาง ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยในหมายเรียกระบุว่า คดีนี้มี นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และพวกรวม 6 คน เป็นผู้ต้องหา เหตุในการถูกออกหมายมาจากการไปร่วมกิจกรรมที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในกรณีการหายตัวไปของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และขอให้รัฐบาลไทยและกัมพูชาช่วยเหลือติดตามคดีดังกล่าว
ถัดจากนั้นวันเดียว 14 มิถุนายน 2563 เฟซบุ๊คแฟนเพจ NGO COD กป.อพช. (คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน) รายงานว่าตัวแทนรวม 4 คนได้รับหมายเรียกจาก สน.วังทองหลาง ในข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเดินทางไปเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาติดตามข้อเท็จจริง ในกรณีการหายตัวไปของ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 ทั้งนี้ไม่มีตัวแทนจากสถานทูตฯ แสดงตัวรับหนังสือเรียกร้องของกลุ่มนี้ในวันดังกล่าว
เฟซบุ๊คเเฟนเพจ เยาวชนปลดแอก – Free YOUTH รายงานว่า ‘ฟอร์ด’ ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี บัณฑิตจบใหม่จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับหมายเรียกจาก สน.วังทองหลาง ในข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมกิจกรรมหน้าสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาด้วยเช่นกัน
IV – ใครสั่งอุ้มวันเฉลิม
16 มิถุนายน 2563 ประชาไทยรายงานว่า ภาณุพงศ์ จาดนอก นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.การชุมนุม จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ระยอง จากการจัดกิจกรรม ‘ใคร-สั่ง-อุ้ม? วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มในนามแกนนำเยาวชน จังหวัดระยอง จำนวน 12 คน ผูกริบบิ้นข้อมือซ้าย และเดินถือป้ายแห่รอบสวนศรีเมืองเป็นเวลา 40 นาที โดยที่กิจกรรมดังกล่าวเป็นไปด้วยความสงบ และมีการสวมหน้ากากอนามัย
อ้างอิง
tlhr2014.com
prachatai.com
facebook.com/FreeYOUTHth
facebook.com/NGOCODthailand
facebook.com/red.truth.only
facebook.com/studentunion.thailand