ถ้าอากาศยานว่างเปล่า

ในช่วงที่สนามบินมีจำนวนพนักงานทำความสะอาดและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมากกว่าผู้โดยสาร ในชั่วขณะหนึ่งก็เหมือนกับว่ามันเปลี่ยนบทบาทจากสนามบินเป็นเพียงที่พำนักของคนเดินทาง พวกเขาเดิน นั่ง นอน รอในสถานีร้างผู้คน

ในทางสถานการณ์จริง มันทั้งน่ากังวลและประหลาดตาจนรู้สึกคุ้นชินได้ยาก แต่ในทางอารมณ์มันทำให้เราอยากออกไปจาก hub โล่งๆ เหงาๆ นี้ให้ไวที่สุด

เวลาประมาณ 9:30 น. ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในช่วงเวลาของการล็อคดาวน์มีความว่างเปล่าเป็นส่วนมาก จากชั้นใต้ดินตั้งแต่แอร์พอร์ตลิงค์สุวรรณภูมิจนถึงชั้น 4 ผู้โดยสารขาออก เราสามารถมองไกลตามทางเดินไปได้สุดลูกหูลูกตา จะเห็นภาพช่องแสงที่มีแสงสว่างจากหลอดไฟ และพนักงานเดินผ่าน และเฝ้าประจำทางขึ้นแต่ละชั้นเพียง 2-3 คน

ร้านอาหารทุกร้านปิดสนิทถึงขั้นซีลด้วยพลาสติกใส มีเปิดเพียงบางร้านซึ่งนับนิ้วได้ ร้านหนังสือ ร้านกาแฟ มีผ้าคลุมทั้งหมดจนถ้าใช้คำว่าสนามบินร้าง หรือเงียบเหงาวังเวงคงจะไม่ใช่คำที่เกินจริงไปนัก

แม้แต่ผู้โดยสารที่เดินทางออกนอกประเทศ เรายังสวนกันไปมาแล้วจำหน้าได้ เคาน์เตอร์เช็คอิน 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีคน ทั้งผู้โดยสารและพนักงานจนกระทั่งถึงเวลาบ่าย เราถึงได้เห็นแอร์โฮสเตสเดินลากกระเป๋าผ่านไปมาบ้าง

“เงียบกริบ คนไม่มีเล้ย มาแค่บางไฟลท์เท่านั้นเอง”

แม่บ้านที่พบเจอกันระหว่างทางตอบด้วยอรรถรสหลังจากที่ทักทายไปว่า “เงียบเลยนะเนี่ย” น้ำเสียงที่ตอบกลับมาเหมือนคนหัวอกเดียวกันที่รับรู้ได้ว่าสถานการณ์มันผิดปกติอย่างแรง และขวัญแขวนไว้กับความคาดเดาไม่ได้ของโควิด-19 กันอย่างมาก

“พี่ต้องมาอาทิตย์ก่อน เงียบแบบไม่มีคนเลย อย่างกับสนามบินร้าง แต่พอเขามาเปิดน่านฟ้าก็เริ่มมีคนมาบ้าง” อีกหนึ่งเสียงระบาย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสาวบอกเล่าด้วยท่าทีสบายๆ แถมท้ายด้วยการบริการเจลแอลกอฮอล์และทิชชูให้ระหว่างบทสนทนา

เหงาเลยสิ

“เหงาค่ะ”

เหงาแรกผ่านไป

“เหงาค่ะ เจอหน้าแม่บ้านกันเองจนจะทะเลาะกันเองอยู่แล้ว”

เหงาที่สองด้วยการกระแทกเสียงด้วยโทนที่ออกรสกว่าเดิมจากแม่บ้านที่ทำงานมาตั้งแต่สนามบินเริ่มเปิด

สนามบินย่อมคุ้นชินกับความวุ่นวายและโกลาหลของผู้โดยสาร เสียงกระเป๋าเดินทางลากไปมาบนพื้น ความรีบเร่งบริเวณเกต พนักงานเช็ดถูท่ามกลางความโดดเดี่ยว ผู้คนน้อยไม่ได้หมายความว่างานน้อยลง ในรายละเอียดก็ยังต้องทำความสะอาดสนามบินเหมือนเดิม เปลี่ยนแปลงในเชิงภาพรวมคือมีการรวมตัวแม่บ้านกันแล้วแจกจ่ายงานให้ไปทำตามสัดส่วน

“งานแม่บ้านมันมีให้ทำตลอดค่ะ ไล่ทำความสะอาดไป พวกฝรั่งเนี่ยชอบเอาหมากฝรั่งไปแปะตามขาเก้าอี้ก็ต้องเช็ดออกให้หมด” เธอบ่นขำๆ

“แต่แปลกนะ งานแม่บ้านนี่เขาไม่มีขึ้นเงินเดือนเลย ทำมานานเท่าไหร่ก็ได้รายวันเท่าเดิม” น้ำเสียงตอนนี้เริ่มไม่ขำ แต่เป็นเชิงปลงตกมากกว่า

ความยากลำบากในชีวิตไม่ได้เกิดเพราะสถานการณ์ความรุนแรงของโรคภัย แต่เพราะปัจจัยแวดล้อมของชีวิตก็ถูกบังคับให้หมุนพวงมาลัยหักซ้ายหักขวาอยู่ตลอดเวลา

“นี่เพิ่งคุยกันเองว่าวันนี้จะนอนที่นี่อีกไหม เพราะเคอร์ฟิวแล้วกลับบ้านกันไม่ทันค่ะ ถ้าจะนอนต้องขอซุปฯ (supervisor) ว่าจะนอน” แม่บ้านหมายเลข 1 อายุงาน 9 ปี

“ไม่งั้นคนเขาก็จะเห็นว่ามีคนในยูนิฟอร์มแบบนี้มานอนกันเกลื่อน” แม่บ้านหมายเลข 2 อายุงาน 10 ปี

แม้สนามบินสุวรรณภูมิจะมีป้ายอยู่หลายที่ในกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่ได้ใกล้บ้านทุกคน ไกลจนสามารถเขียนนิราศได้สำหรับบางคน

งานแม่บ้านที่ขึ้นอยู่กับบริษัทไม่ได้รับผลกระทบในแง่ของค่าตอบแทนก็จริง เพราะได้รับเป็นรายวัน แต่มีผลกับตารางวิถีชีวิตที่มีข้อจำกัดอยู่มาก เช่น การเข้ากะทำงานตอนบ่าย 2 โมงและออกกะตอน 4 ทุ่ม ถึงแม้ว่าจะได้รับอนุโลมให้ออกก่อนเวลา แต่สุดท้ายก็ไม่มีรถกลับบ้านทันอยู่ดี และทุกคนก็ล้วนมีภาระทางครอบครัวที่ต้องจัดการรายวัน

“พวกยามยิ่งแล้วใหญ่เลยนะ เขาเลิกกัน 5 ทุ่ม”

5 ทุ่ม คือเวลาที่เลยเคอร์ฟิวมาแล้ว จากคำบอกเล่าของป้าแม่บ้านทั้งสองคน บางวันก็มีพนักงานที่ตัดสินใจนั่ง shuttle bus ไปที่สถานีโดยสาร แต่ก็ต้องหาที่นอนหน้างานเพราะไม่มีรถวิ่ง

“นี่เรายังได้ทำงาน คนที่ทำอยู่ชั้น 1-4 เนี่ย แต่สงสารพนักงานบางส่วนเพราะเขาต้องหยุดหมดเลย ตั้งแต่เดือนที่แล้วแล้ว”

แต่พอพูดถึงความกลัวต่อความเสี่ยงที่จะติดโรค ส่วนใหญ่ความเห็นออกไปในทางที่วิตกกังวลในตอนแรกและวางใจได้ในภายหลัง เมื่อเห็นว่าในกลุ่มคณะทำงานไม่มีคนติดโรค บวกกับการเห็นเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจตรา และวัดอุณหภูมิอยู่ทุกครั้งอย่างเคร่งครัดก่อนเข้าสนามบิน

“ถามว่ากลัวไหมก็เฉยๆ แล้วนะ คนมันจะเป็นก็ต้องเป็นน่ะ”

“แต่เขาบอกว่าอากาศร้อนนี่ติดกันยาก ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ ค่ะ”

“ช่วงแรกๆ ที่มีข่าวว่าแม่บ้านสนามบินเป็นกลุ่มเสี่ยงภัยนี่เราเคยระคายคอ เลยไอไปทีหนึ่ง ผู้โดยสารแตกฮือเป็นวงเลย มานั่งขำกันใหญ่ พูดๆ กันว่าไม่ใช่แค่ผู้โดยสารที่กลัวเรานะ เราก็กลัวผู้โดยสารเหมือนกันค่ะ”

แล้วเราก็หัวเราะกันต่อ ซึ่งถ้าเจาะเลเยอร์ลงไปสักหน่อย ความตลกนี้ไม่ตลกเท่าไหร่ และถึงมันตลก มันก็เป็นตลกร้ายตรงที่คนกลุ่มหนึ่งถูกมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงภัยโดยที่พวกเขาทำได้เพียงเปลี่ยนสมมุติฐานนี้ให้เป็นเรื่องขำๆ

“คนแถวบ้านก็ถามทุกวันว่ายังไปทำงานได้อยู่เหรอ เขาไม่ได้ให้หยุดหรอกเหรอ”

การออกไปทำงานในช่วงเวลาที่มีกระแสสนับสนุนให้ work from home ก็เป็นปัจจัยข้างเคียงเล็กๆ น้อยๆ ในการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขาเช่นกัน การมาของโควิด-19 นอกจากจะปิดน่านฟ้าของสนามบินได้ทั่วโลก ยังละเอียดไปถึงการสร้างระยะห่างและความเปลี่ยนแปลงในระบบสังคมและวัฒนธรรมของปัจเจก

สำหรับบางคนที่ไม่ได้มีต้นทุนทางเวลา สังคม และที่สำคัญที่สุดคือต้นทุนทางการเงินพร้อมพอที่จะต่อกรกับวิกฤติ เขาอาจจะไม่มีทางเลือกมากนักที่จะใช้ชีวิตในรัฐที่ไม่พร้อมรองรับชีวิตที่อยู่ได้แบบวันต่อวัน

“ทำงานง่ายขึ้นไหม คนน้อยลง” คำถามนี้ถามยามสาวที่ดูกระฉับกระเฉงต่อหน้าที่แม้ในยามที่ไม่ต้องทำงานหนักเท่าเดือนสองเดือนที่แล้ว

“ ให้คนมันเยอะเถอะค่ะ สนามบินจะได้กลับมาคึกคัก เราจะได้ดูเด็กน้อยวิ่งเล่นในนี้”

Author

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
ศิลปศาสตรบัณฑิต และมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่สนุกและใส่ใจกับทุกงาน ไล่ตั้งแต่งานเขียน ถ่ายรูป สัมภาษณ์ แปลงาน ล่าม ไปจนถึงครูสอนพิเศษเด็กชั้นประถม ของสะสมที่ชอบมากๆ คือถุงเท้าและผ้าลายดอก เขียนเรื่องเหนือจริงด้วยความรู้สึกจริงๆ ออกเป็นหนังสือ 'Sad at first sight' ซึ่งขายหมดแล้ว ผลงานล่าสุดคือ I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า