นวัตกรรมกับศิลปะ: กล้องถ่ายรูปกับความ Impression ชั่วประด๋าว

ศิลปะลัทธินึงที่ช้อบชอบ เห็นทีไรก็รู้สึกอิ่มเอมหัวใจขึ้นมาทุกที ก็คือศิลปะลัทธิ Impressionism (ภาษาไทยแปลแบบตรงตัวเด๋อๆ ว่า ‘ลัทธิประทับใจ’) ที่เรียกว่า Impressionism ก็เพราะมันมาจากความประทับใจนี่แหละ แต่เอ๊ะ เคยสงสัยมั้ย ว่าศิลปินเขาประทับใจอะไรกันนะ

ถ้างั้น เราจะมาเล่าให้ฟังว่า ความประทับใจนักหนาเหล่านี้ มันมายังไงกันนะ

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อก่อน เมื่อก๊อน…ก่อนจะมี Impressionism คนสมัยก่อนใช้ศิลปินในการวาดรูปเหมือน รูป portrait เพื่อบันทึกตัวเอง เหมือนจ้างคนมาถ่ายรูปให้นี่แหละ วันไหนสวยก็อยากยกกล้องขึ้นมาถ่ายตัวเองเนอะ แต่แทนที่จะเป็นกล้องถ่ายรูปก็จ้างคนมาเซลฟี่รูปเหมือนตัวเองให้แทน

เราเลยจะเห็นว่ารูปเขียนสีน้ำมันสมัยก่อน นอกจากเหตุการณ์สำคัญๆ ทางศาสนาแล้ว ก็มักจะมีรูปเหมือนของคนสำคัญๆ หรือคนรวยๆ ที่มีเงินจ้างศิลปินซะส่วนใหญ่ เพื่อ ‘บันทึก’ พวกเขาเหล่านั้นเอาไว้

อย่างรูปเหมือนของ พระเจ้าฟิลลิปที่ 4 (Phillip IV) โดย ดิเอโก เวลาสเกซ (Diego Velasquez) ในช่วง ค.ศ. 1560 นี่ก็จะทะมึนทึมมากเลย

ทีนี้พอยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มันเกิดมีกล้องถ่ายรูปขึ้นมา ศิลปินก็ทำมาหากินแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว ไอ้การจะวาดรูปเหมือนเป๊ะๆ เนี่ย มาให้คนนั่งวาดเป็นชั่วโมงๆ แต้มสีทีละนิดๆ คนก็ไม่อยากรอแล้ว สู้เข้ากล้อง ถ่ายแชะเดียว ได้รูปเหมือนกว่าอีก ภาพเหมือนแบบเหมื้อนเหมือน มันก็ไม่จำเป็นแล้ว พอคนเลือกที่จะใช้การบันทึกใบหน้าของพวกเขาด้วยการถ่ายรูปแทน อ้าว ทีนี้ศิลปินก็ตกงานไส้แห้งกันสิ

ไม่ค่ะ ศิลปินบางส่วนไม่ตกงานไส้แห้ง เพราะเขาหาทางวาดในแบบอื่นๆ ไงล่ะ

หมุนไทม์แมชีนไปไกลหน่อย ถึงช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม มีการคิดค้นสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ นานาขึ้นมา สำหรับวงการศิลปะเอง ก็มีคนคิดสีหลอดขึ้นมาช่วยพลิกชีวิตศิลปินเหมือนกันค่ะ

เอ๊ะ สีหลอดเนี่ยนะ ทำไมมันพลิกวงการขนาดนั้นเลยเหรอผู้เขียน?

แน่นอนค่ะผู้อ่าน!

เคยสังเกตมั้ยคะ ทำไมรูปภาพสีน้ำมันสมัยก่อน (ยกเว้นช่วง Rococo ที่เขาจู่ๆ ก็บ้าสีพาสเทลกันน่ะนะ อันนี้จะเก็บไว้เล่าวันหลัง) มันมืดๆ หม่นๆ ไม่ค่อยสดใสเลยอ่า ทำไมไม่ค่อยเห็นแสงโทนแดดรำไร ไม่ได้ฟีลจิบน้ำชายามบ่ายเลย

ที่เป็นอย่างนั้น เพราะว่าสมัยก่อนศิลปินมักจะทำงานในสตูดิโอ สีจะต้องผสมเอง กับอุปกรณ์ต่างๆ มากมาย ยุ่บยั่บ ไหนจะขวดน้ำมัน ไหนจะบดสีมาผสมกับวัสดุต่างๆ แล้วสีสมัยก่อนนะ กว่าจะหามาได้ก็ย้ากยาก ยิ่งสีฟ้านี่แพงมาก ศิลปินบางคนถึงกับสิ้นเนื้อประดาตัวเพียงเพื่อซื้อสีเลย

เพราะฉะนั้น สตูดิโอศิลปินสมัยก่อนเลยมีความเหมือนห้องแล็บปรุงยาหน่อยๆ พอจะวาดรูปทีก็ต้องอยู่ที่เดิมๆ จะเอาใครมาวาดก็ต้องเชิญเขามาสตูดิโอ หรือหอบอุปกรณ์ทั้งหมดไป มันมีความ ‘เรื่องเยอะ’ อยู่มากๆ

ศิลปินเลยอยู่ในสตูดิโอมืดๆ ของเขา ทำงานใต้แสงเทียนหรือแสงสลัวๆ ภาพมันก็เลยออกมามืดมัว เพราะแสงอาทิตย์ส่องไม่ถึง เป็นภาพวาดที่ไม่ได้รับวิตามินดีจากแสงแดด (ไม่เกี่ยว)

แต่ความเรื่องเยอะนั้นก็หมดไป เมื่อคุณมี! สีหลอดดดดด!!!!

เพียงแค่คุณ (ศิลปิน) บีบสีหลอดเหล่านี้ลงบนจานผสมสี คุณก็จะได้สีทันใจ ผสมได้ทันที! โอ้ว จอร์จ ไม่อยากจะเชื่อเลย! ยังไม่หมดนะครับซาร่า เพราะสีหลอดแบบนี้พกพาสะดวกเหลือหลาย ทีนี้คุณก็ออกไปทำงานพร้อมปิกนิกยามบ่ายกับเมียและลูกได้แล้ว!

ด้วยความสะดวกของสีหลอด ที่บีบปรื๊ดก็ออกมา เลยทำให้ศิลปินเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมทำงานด้วยการออกไปข้างนอก ออกไปสูดอากาศยามบ่าย ปิกนิก พายเรือ ชมต้นไม้ กับเมียๆ และลูกๆ เราเรียกกิจกรรมการออกไปวาดรูปข้างนอกนี้ว่า En Plein Air หรือการที่ศิลปินหอบแคนวาสไปวาดรูปเกร๋ๆ ข้างนอกในอากาศสดใสไงล่ะ! พอแสงเปลี่ยน บรรยากาศในรูปก็เปลี่ยน หลังจากนั้น ภาพเขียนเลยมีความสดใสได้วิตามินดีขึ้นมา

อย่างวิดีโอนี้ก็จะเป็น โมเนต์ (Claude Monet) ทำงานข้างนอกสวยๆ ในยุคที่เขามีการถ่ายหนังขาวดำกันแล้ว


แต่เดี๋ยวก่อน สีหลอดไม่ใช่อย่างเดียวที่ทำให้รูปภาพเปลี่ยนไป

กลับมาที่การวาดภาพเหมื้อนเหมือน พอมีกล้องก็ไม่จำเป็นต้องวาดภาพเหมือนกันอีกแล้ว ทีนี้ ศิลปินเขาวาดอะไรกันล่ะ?

เอกลักษณ์นึงของรูป Impressionism ที่จะสังเกตได้ชัดเลยก็คือ สีจะแตกๆ ภาพจะไม่ชัด ถ้าใช้คำว่าฝีแปรงแตกๆ ก็จะงงใช่มั้ย งั้นเราอธิบายให้เห็นภาพด้วยมุกนึงจากหนังเรื่อง Clueless แล้วกัน คือเป็นตอนที่นางเอกบอกกับเพื่อนว่า

“ยัยคนนั้นน่ะ โคตรจะโมเนต์เลยแก คือมันเป็นภาพวาดไง ถ้ามองไกลๆ น่ะ มันก็ดีอยู่นะ แต่พอดูใกล้ๆ น่ะนะ มันเละเทะไปหมดเลยล่ะ”

ทำไมพอดูไกลๆ ก็สวยดี แต่พอดูใกล้ๆ แล้วมันเป็นปื้นอะไรก็ไม่รู้ล่ะ

เพราะว่าศิลปิน Impressionism ไม่ใช้การผสมสีด้วยตัวสีจริงๆ แต่เขาใช้ดวงตาเรานี่แหละ ให้มาผสมสีเอง
เอาล่ะ อย่าเพิ่งงง ให้นึกถึงตอนที่เราเอาแว่นขยายมาขยายจอทีวี เราจะเห็นเป็นจุดสีแดง เขียว น้ำเงิน ใครที่เรียนกราฟิกมาจะรู้จักเขาในนาม RGB ซึ่งคือค่าสีที่แสงบนจอผสมออกมา นึกออกมั้ย Impressionism เองก็ใช้แนวคิดเดียวกันเลยค่ะ

กล้องถ่ายรูป นอกจากจะจับภาพได้เหมือนจริงแล้ว มันยังจับสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาอีกด้วย นั่นก็คือ เราค้นพบว่า ในแสงหนึ่งสีไม่ได้มีสีเดียว อุณหภูมิที่ต่างไปของแสง เกิดเป็นสีที่แตกต่างออกไป แสงที่กระทบบนใบไม้ไม่ได้สะท้อนออกมาเป็นสีเขียว แต่ในสีเขียวนั้นมีสีเหลืองส้มและสีอื่นๆ อยู่ด้วย แสงที่กระทบผิวน้ำช่วงฤดูร้อน ย่อมต้องต่างจากแสงที่กระทบผิวน้ำในฤดูหนาว และแสงอาทิตย์ตอน 9 โมงเช้าย่อมต้องต่างจากแสงอาทิตย์ช่วง golden hour ตอน 6 โมงเย็นที่เวลาถ่ายเซลฟี่แล้วจะผิวผ่องๆ เหมือนใช้สกินแคร์ราคาแพงแน่นอน (อันนี้ประสบการณ์จริง)

และศิลปินจะไม่มีทางหยิบเอาสิ่งพวกนี้ออกมาใช้ได้เลย ถ้าหากพวกเขาไม่ออกจากสตูดิโอมืดมิดไปชมธรรมชาติข้างนอก และกล้องถ่ายรูปไม่บังคับให้พวกเขาหาวิธีการวาดแบบใหม่ด้วยการเปิดการมองเห็นใหม่ๆ ให้พวกเขา

ให้ดูงานของ จอร์จ โซราต์ (George Seurat) แล้วเราจะเห็นเลยว่า เขาใช้วิธีการจุดเหมือน RGB จริงๆ ด้วย ภาพของเขาเกิดจากการจุดจุดจุดจุดจุด จนจุดทั้งหลายรวมตัวกันทำให้เรามองเห็นเป็นรูปคน เป็นรูปเมือง เป็นรูปธรรมชาติ ทั้งที่เขามีแค่ จุด จุด และจุด

จอร์จ โซราต์ (George Seurat), The Seine Seen from La Grande Jatte, 1888

 

สีเองก็มีส่วนในการเปลี่ยนทิศทางไปในทางนี้เหมือนกัน อย่างสีฟ้าที่เมื่อก่อนแพ้งแพง แต่พอมายุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็ทำให้สีฟ้าสามารถหาได้ง่ายกว่าเดิม การผสมสีก็ไม่ยากเท่าเมื่อก่อนแล้ว พอศิลปินไม่ต้องมานั่งปรุงยา บดสี เลยเกิดความนิยมใช้สีต่างกับแต่ก่อน จากเดิมที่ส่วนใหญ่จะเป็นโทนสีเหลือง น้ำตาล ดำ ตุ่นๆ เขาก็เปลี่ยนไปใช้สีที่สดใสขึ้น โทนพาสเทลขึ้น โดยเฉพาะสีเขียวและสีม่วง

ความง่ายของการหยิบสีมาใช้ อย่างเช่นสี Paris Green ที่มาแทนที่สี Scheele Green ทำให้สีที่ใช้มีความคงทนมากขึ้น เลยได้รับการใช้กันอย่างแพร่หลาย อย่างโมเนต์, เรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir) และ เซซานน์ (Paul Cézanne) ก็จะชอบใช้กัน เพราะจากเดิมที่วาดป่าด้วยสีเขียวทะมึนๆ ศิลปินก็หันไปวาดต้นไม้ในสวนที่แสงแดดส่องถึงสีเขียวมรกตสดใส

แต่สีเขียวมีข้อเสียตรงที่มันเจือปนสารพิษ มีข้อสันนิษฐานว่าที่เซซานน์เป็นเบาหวานและโมเนต์ตาบอดก็มาจากสีเขียวนี่แหละ ทุกวันนี้สีหลายๆ สีก็ยังเป็นพิษอยู่นะ ใครจะทำงานเพนท์ก็ควรจะอ่านส่วนผสมก่อน ใช้กันระวังๆ ด้วยนะคะ

 

ปิแอร์-ออกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir), Conversation in a Rose Garden, 1876

 

ส่วนสีม่วงนั้นพี่ใหญ่แห่งวงการ Impressionism อย่างป๋าโมเนต์ถึงกับเอ่ยปากเลยว่า

“ในที่สุดฉันก็พบสีที่อยู่ในบรรยากาศแล้ว นั่นคือสีม่วงไวโอเลต สีของอากาศบริสุทธิ์คือสีไวโอเลต”

น่าอิจฉาศิลปินยุคนั้นที่ไม่ต้องมาเจอ PM2.5 เพราะถ้ามายุคนี้คงไอค่อกแค่กแล้วบอกว่าเป็นสีเทา แต่สีม่วงถูกแทรกเข้ามาในอณูภาพวาดของโมเนต์เต็มไปหมด

คล็อด โมเนต์ (Claude Monet), Misty Morning on the Seine, 1896

 

กลับมาที่คำว่า Impressionism ที่มีรากมาจากคำว่า impress หรือประทับใจ ศิลปินพวกนี้ประทับใจอะไรกันนะ

ด้วยความที่ศิลปินขนแคนวาสออกจากบ้านไปวาดรูปข้างนอกได้ แต่ถามว่าจะวาดอะไรดีล่ะ วาดภาพวิวทิวทัศน์ ถ้าออกสายๆ แป๊บๆ ก็ค่ำแล้ว แสงเปลี่ยน วาดไม่ได้อีก หรือจะวาดเมียที่กำลังจิบน้ำชาอย่างมีความสุข อีก็หันไปคุยกับเพื่อนอยู่นั่นแหละ

เอ้า วาดลูกน้อยเล่นในสวนแล้วกัน ไอ้เด็กนี่ก็วิ่งไปมาอีก มันจะไปวาดภาพเหมือนเป๊ะได้ไง ก็ต้องใช้ความทรงจำช่วงเวลานั้นแป๊บเดียว ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เก็บกักประทับความสุขในห้วงเวลานั้นให้ได้มากที่สุด แล้วค่อยกอบโกยกลับไปเก็บรายละเอียดต่อทีหลัง เพราะฉะนั้น รูปพวกนี้เลยเหมือนการหยุดช่วงเวลาอันแสนประทับใจเหล่านั้นเอาไว้บนแคนวาสนี่แหละ

เคยสงสัยมั้ย ทำไมเวลามีคนถ่ายรูปให้ เราจะตื่นเต้นกับรูปมุมเผลอมากกว่ารูปที่เรามองกล้องตรงๆ เพราะเราไม่รู้ว่าวินาทีไหนกันนะ ที่เราจะออกมาบนรูปเหล่านี้

 

คล็อด โมเนต์ (Claude Monet), The Parc Monceau, 1878

 

เลยเกิดเป็นรูปแนว Impressionism ที่เวลาวาดรูปนึงจะมีหลายเวอร์ชั่น อย่างโมเนต์ก็จะวาดเซ็ตเมียถือร่มหันข้าง หันหน้ามามองเขา หรือจูงมือลูกในมุมเดียวๆ กันมั่งล่ะ แล้วก็กองฟางกองเดิม ที่ต่างแสงต่างฤดูกาลมั่งล่ะ เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว ห้วงเวลาสั้นๆ เหล่านี้ มันช่างน่าประทับใจจนต้องเก็บกลับมาวาดเหลือเกินไง

Woman with Parasol Woman with Parasol

อย่างรูปเซ็ต Woman with Parasol นี่ก็ออกมาหลายแบบมาก ไหนจะกับลูก หันซ้าย หันขวา เหมือนเวลาแฟนถ่ายรูปให้แล้วต้องมีหลายแอคหลายมุม เอาที่สวยที่สุด ยังไงยังงั้นเลย

แถมให้รูปนึง ที่จะเห็นความ impress สุดๆ ก็คือรูปเซ็ตบ่อบัวของโมเนต์ เรารักรูปนี้มาก เพราะโมเนต์ไม่ได้แค่จับเอาห้วงเวลาแสนสั้นมาให้เราได้ชม แต่เขาจับเอาจุดเล็กๆ นิดเดียวมาขยายซะใหญ่โต

สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าอะเมซิ่งกับรูปเซ็ตนี้มากๆ ก็คือ ในขณะที่คนอื่นวาดสิ่งที่สำคัญๆ คนสำคัญ บ้านเมือง วิวทิวทัศน์ โมเนต์กลับหยิบเอาช่วงเวลาธรรมดาๆ ที่แสงกระทบบนผิวน้ำ ระยิบระยับเข้าตาแต่เราไม่เคยสังเกต แล้ววาดมันออกมาให้เราชมด้วยหัวใจพองโตเต็มผนังห้อง

ถ้าไม่ ‘impress’ กับเสี้ยวเวลาตรงนั้นจริงๆ ก็คงวาดออกมาไม่ได้ขนาดนี้หรอก

 

Author

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ
NPC ประจำโลกศิลปะ วิจารณ์วงการศิลปะหาตังค์ไปเติมเกม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า