ปิยณัฐ สร้อยคำ: มองการเลือกตั้งอินเดีย ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก

การเลือกตั้งทั่วไปของอินเดีย 2019 เริ่มต้นขึ้นแล้ว จำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนคือ 900 ล้านคน พรรคการเมืองที่ลงสู่สนามราว 420 พรรค ผู้สมัครรวมทั้งหมดทุกเขตอยู่ที่ 8,000 กว่าคน นั่นทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ได้ชื่อว่าเป็นกระบวนการทางประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ผลของการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอินเดีย ‘โลกสภา’ (Lok Sapha) ทั้งหมด 543 ที่นั่ง แต่ตามรัฐธรรมนูญของอินเดียจริงๆ จะต้องมี 545 ที่นั่ง โดยอีกสองที่จะมาจากการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี เป็นผู้สืบเชื้อสาย Anglo-India มาตั้งแต่ยุคอาณานิคม

เพราะมีจำนวนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกือบพันล้าน ความน่าสนใจของการเลือกตั้งครั้งนี้จึงอยู่ที่การจัดการ แม้จะต้องแบ่งช่วงเวลาการลงคะแนนเป็น 7 ช่วง ตั้งแต่ 11 เมษายน – 19 พฤษภาคม 2019 แต่ปลายทางของขั้นตอนทั้งหมด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของอินเดียสามารถรวบรวมผลและประกาศให้เสร็จเรียบร้อยภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ด้วยระบบการลงคะแนนและนับคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Voting Machines: EVM) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทันสมัยและได้รับการการันตีว่า ยากต่อการแทรกแซงผล รวบรวมและจัดเก็บในห้องนิรภัย สามารถนับซ้ำได้อย่างโปร่งใสต่อหน้าสื่อมวลชน ตัวแทนพรรคการเมือง และประชาชน

นอกจากขั้นตอนการจัดการกับคะแนนเสียง 900 ล้าน ในประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้อย่างรวดเร็ว ปิยณัฐ สร้อยคำ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จบการศึกษาจากอินเดียและใช้ชีวิตอยู่กับความเป็นอินเดียนานนับทศวรรษ มองว่าการเลือกตั้งเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของอินเดีย ประเทศที่ต้องต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพมาตั้งแต่ยุคหลุดพ้นจากความเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แม้สังคมจะมีชนชั้นวรรณะ แต่ความเข้าใจเรื่อง ‘สิทธิ’ ซึ่งเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย ฝังรากอยู่ในทุกระดับ ทั้งระดับชาติ รัฐ เมือง หมู่บ้าน และตัวบุคคล

ส่วนหนึ่งในคำอธิบายความเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกของปิยณัฐคือ

ถ้าเคลมตามจำนวนประชากร ใช่แน่นอน แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ รูปแบบของสังคมแห่งเสรีภาพ ทำให้อินเดียเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

ความเป็นประชาธิปไตยของสังคมอินเดียเป็นอย่างไร

ผมมองว่าระบบประชาธิปไตยในอินเดียเปรียบเสมือนพื้นที่ที่ให้กับแต่ละชนชั้นและวรรณะ การที่อินเดียแบ่งวรรณะมันเป็นภาพการแบ่งโครงสร้างทางสังคม คนไม่มีความเท่าเทียมกันเพราะแต่ละคนถูกกำหนดโดยชาติกำเนิด แต่การได้เข้าไปสู่คูหาเลือกตั้ง มันเป็นพื้นที่เดียวที่ทำให้คนในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคล มีความเท่าเทียมกับคนอื่น ไม่ว่าคุณจะเป็นคนวรรณะไหน พอเข้าสู่คูหาเลือกตั้ง คุณมีสิทธิมีเสียงเท่ากับคนอื่นๆ จึงเป็นประเด็นว่า ทำไมคนอินเดียถึงกระตือรือร้นในการใช้สิทธิทางการเมือง

เรื่องพรรคการเมืองของอินเดียก็มีความน่าสนใจตรงอินเดียมีพรรคการเมืองระดับภูมิภาค ถ้าเป็นประเทศไทยจะมีแต่พรรคการเมืองระดับประเทศ เช่น ประชาธิปัตย์ อนาคตใหม่ เพื่อไทย ฯลฯ  นอกจากภูมิภาคแล้ว ยังมีพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนชนชั้นทางสังคมอีกไม่น้อย

เอาเรื่องภูมิภาคก่อน ด้วยความที่อินเดียแบ่งการปกครองออกเป็น 29 รัฐ แต่ละรัฐจะมีรัฐบาลท้องถิ่นเป็นของตนเอง ซึ่งอำนาจของรัฐบาลท้องถิ่นก็สามารถจัดการชีวิตความเป็นอยู่ อุตสาหกรรม เกษตร ให้กับภูมิภาคตัวเองได้ ดังนั้นจึงเกิดเป็นพรรคการเมืองประเภทนี้ขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น ทำให้พรรคการเมืองรูปแบบเดิมที่เป็นพรรคการเมืองระดับชาติเริ่มลดบทบาทลง

เมื่อช่วงก่อตั้งประเทศ พรรคการเมืองระดับประเทศก็มีบทบาทอย่างแน่นอน แต่ในช่วงหลังกระแสของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น เช่น พรรคทมิฬนาฑู (Tamil Nadu) พรรคการเมืองจากรัฐทมิฬนาฑูก็ขึ้นมามีอำนาจ สามารถชิงที่นั่งในสภาได้ อีกรัฐ อย่าง รัฐอานธรประเทศ (Andhra Pradesh) ก็มีพรรคเป็นของตัวเอง หรือแม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์ ก็มีพื้นที่ในรัฐเบงกอลตะวันตก ที่เมืองกัลกัตตา คนในรัฐเลือกพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อปกครองรัฐ แม้จะเป็นประเทศประชาธิปไตย พรรคคอมมิวนิสต์ก็สามารถจะออกนโยบายที่เป็นเชิงสังคมนิยมได้ ตรงนี้ก็คือความหลากหลายของอินเดีย นี่คือพรรคการเมืองแบบแรกคือพรรคที่เกี่ยวโยงกับภูมิภาค

รูปแบบที่สอง คือพรรคที่เป็นตัวแทนของชนชั้นวรรณะ มีพรรคหนึ่งชื่อว่า BSP (Bahujan Samajwadi Party – พหุชนสมัชวดี) เป็นพรรคที่อยู่ในรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) ผู้นำพรรคมาจากกลุ่มฑลิต (Dalit) หรือกลุ่มจัณฑาล เราอาจจะคิดว่าจัณฑาลคือกลุ่มที่ถูกกดขี่ทางสังคม แต่รัฐธรรมนูญของอินเดียนั้นให้โอกาสทางการศึกษา ให้โอกาสในการทำงาน พรรคนี้จึงก่อตั้งและนำโดยกลุ่มจัณฑาล จนทำให้ มายาวตี (Kumari Mayawati) สามารถขึ้นมาเป็นมุขยมนตรีหญิงคนแรกได้

ยกตัวอย่าง ถ้าในระดับประเทศ นายกรัฐมนตรีก็จะเป็นหัวหน้ารัฐบาลกลาง แต่ถ้ารัฐบาลของแต่ละท้องถิ่น มุขยมนตรีจะเป็นหัวหน้าของรัฐบาลท้องถิ่น ถ้าเป็นภาษาอังกฤษเขาจะเขียนว่า Chief Minister ซึ่งก็ถือว่าเป็นตำแหน่งนายกฯ ของรัฐนั้นๆ และในอุตตรประเทศ มุขยมนตรีขึ้นมาจากพรรค BSP ที่เป็นพรรคของจัณฑาลนั่นเอง นี่คือความหลากหลายของประชาธิปไตยอินเดีย บางครั้งคนที่อยู่ในวรรณะสูงกว่าอาจจะต้องมาต่อรองทางการเมืองกับคนวรรณะต่ำกว่า

ทำไมเรื่องของวรรณะจึงไม่ได้กลายเป็นอุปสรรคในทางการเมือง แต่กลับดูเหมือนว่าจะส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้นเสียอีก

ถ้าถามว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นยังไง มันเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนเขียนรัฐธรรมนูญของอินเดีย คนที่เขียนรัฐธรรมนูญของอินเดียก็คือ ดร.เอ็มเบดการ์ (Dr.Ambedkar) ท่านอยู่ในวรรณะจัณฑาล แม้ว่าจะเป็นคนที่ถูกกดทับและเบียดขับออกจากสังคมก็จริง แต่ท่านก็เป็นคนที่มีความพยายาม อยากเรียนหนังสือ มหาราชาแห่งรัฐพาโรดา (Baroda) จึงส่งท่านไปเรียนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่สหรัฐ พอเรียนจบก็ไปต่อที่สหราชอาณาจักร

ดร.เอ็มเบดการ์จึงกลับอินเดียพร้อมกับวุฒิปริญญาเอก และได้รับมอบหมายให้เป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญของอินเดีย ด้วยความที่ท่านยืนอยู่ตรงกลางระหว่างการเป็นคนชนชั้นที่ต่ำที่สุดกับสังคมของคนมีการศึกษาสูงสุด คนที่ถือว่าเป็นสองฟากที่แตกต่างกันมาก ได้มีโอกาสเขียนรัฐธรรมนูญ เราจึงได้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ และใช้มาตั้งแต่ปี 1950 จนถึงปัจจุบัน

ในรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติที่ระบุให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เพื่อให้มีความทันสมัย แต่ว่าหลักใหญ่ของรัฐธรรมนูญยังคงอยู่ หนึ่งคือ อินเดียต้องเป็นประเทศประชาธิปไตย สอง ต้องเป็นประเทศประชาธิปไตยสังคมนิยมด้วย ทำไมต้องเป็นประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม เป็นเพราะในช่วงเปิดประเทศ อินเดียเต็มไปด้วยคนยากจน หากต้องการที่จะเป็นประเทศทุนนิยมแต่เริ่ม คนก็จะถูกกดทับ กดขี่ต่อไป เพราะฉะนั้นอินเดียก็ต้องเป็นประเทศประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมต่อไป โดยที่รัฐให้โครงสร้างพื้นฐาน สิทธิประโยชน์พื้นฐาน อย่างการศึกษา สาธารณสุข

และข้อที่สามอินเดียจะต้องเป็นรัฐแบบโลกวิสัย (secular state) ศาสนาต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง อินเดียไม่ใช่ประเทศของฮินดูเพียงศาสนาเดียว แต่อินเดียยังมีอิสลาม พุทธ ซิกข์ คริสต์ ฯลฯ มุสลิมในอินเดียมีจำนวนมากถึง 300 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ใหญ่มาก ดังนั้นการจะบอกว่าอินเดียเป็นรัฐของศาสนาใดศาสนาหนึ่งมันไปลดทอนความหลากหลายตรงนี้ สามสิ่งเหล่านี้เป็นหลักสำคัญที่ยึดมาถึงปัจจุบัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญในด้านการศึกษา อินเดียมีระบบ reservation หรือระบบสำรอง เพื่อให้คนที่อยู่วรรณะล่าง จัณฑาล ชาติพันธุ์-ชนเผ่าต่างๆ ได้เข้าไปในระบบการศึกษา ทำไมต้องมีโควตา สมมุติว่ามหาวิทยาลัยเปิดรับ 100 เปอร์เซ็นต์ คนที่มีวรรณะสูง การศึกษาดี 100 เปอร์เซ็นต์ เขาอาจจะเข้าได้หมด คนข้างล่างอาจจะไม่มีโอกาสได้เข้าไปเลย มันก็เลยต้องมีรัฐธรรมนูญกำหนดว่า โอเค 50 เปอร์เซ็นต์เป็นโควตาสำหรับชนชั้นสูงนะ อีก 30 เปอร์เซ็นต์ วรรณะข้างล่าง 20 เปอร์เซ็นต์มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ ทำแบบนี้ก็เพื่อให้คนทุกชนชั้น ทุกระดับ เข้าไปเรียนหนังสือและสำรองไว้สำหรับการทำงาน ทำให้ปัจจุบันมีหลายพรรคการเมืองมีตัวแทนมาจากชนชั้นล่างด้วย

คำพูดที่บอกว่า อินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุด ใช้อะไรเป็นตัววัด

อันแรกเลยคือ จำนวนประชากร อินเดียมีประชากร 1,300 ล้านคน และคาดว่าจะแซงหน้าจีนภายในไม่ถึง 10 ปี ไม่เพียงจำนวนประชากรที่ทำให้อินเดียเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุด และเรื่องสิทธิพื้นฐานและเสรีภาพคือหัวใจหลักข้อที่สองที่ทำให้อินเดียได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะ เรื่องเสรีภาพของสื่อและเรื่องประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภา

เสรีภาพของสื่อในอินเดียทำให้สามารถเปิดประเด็นและสร้างบรรยากาศในการถกเถียงได้ ในชีวิตประจำวันของคนอินเดียชอบการถกเถียง สื่อเองก็มีบทบาทในการเปิดพื้นที่ เวลาที่มีกรณีพิพาทในสังคม สื่อจะทำหน้าที่เปิดพื้นที่ให้ดีเบต ซึ่งเท่ากับว่าแต่ละฝ่ายได้ถกเถียงกัน ได้นำเสนอว่าแต่ละฝ่ายคิดอย่างไร แล้วให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน ซึ่งมันก็สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของอินเดีย เพราะรัฐสภาคือพื้นที่ในการถกเถียงก่อนออกนโยบาย

ผมเคยคุยกับนักการทูตของอินเดีย เขาเล่าให้ฟังว่าทำไมรัฐสภาอินเดียถึงดุเดือด เพราะพวกเขาเชื่อว่าเงินทุกๆ รูปี คือภาษีของประชาชน การที่รัฐจะออกนโยบายอะไรมา มันก็คือความรับผิดชอบของรัฐสภาที่จะถกเถียงเพื่อให้เม็ดเงินมีคุณค่ามากที่สุด

ถ้าเคลมตามจำนวนประชากร ใช่แน่นอน แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ รูปแบบของสังคมแห่งเสรีภาพทำให้อินเดียเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก

สิทธิเสรีภาพ สิทธิในด้านต่างๆ ของอินเดียเยอะจริงหรือเปล่า

เยอะจริง โดยเฉพาะเรื่องการเมืองภาคประชาชนเข้มแข็งมาก ประชาชนของเขาตระหนักรู้ว่า สิทธิทางการเมือง มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเขา สิทธิมนุษยชนจากสหประชาชาติก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่สิทธิที่ได้มาจากรัฐธรรมนูญก็ต้องมี รัฐธรรมนูญของอินเดียก็เปิดช่องให้ประชาชนแสดงออกถึงสิทธิได้อย่างมีเสรีภาพ

ผมมองว่าการเรียกร้องสิทธิของตัวเองมันเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของอินเดีย ผู้นำของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็น มหาตมะ คานธี หรือ กลุ่ม India National Congress ที่เป็นกลุ่มขบวนการการเคลื่อนไหวทางสังคม พวกเขาก็เอาเรื่องสิทธิในการปกครองตนเองมาเป็นข้อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ซึ่งการต่อสู้เรียกร้องเอกราชของอินเดีย ได้รับการยอมรับว่าเป็นโมเดลการเรียกร้องที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะว่าโมเดลนี้คือโมเดลของการไม่ใช้ความรุนแรง อินเดียตระหนักรู้ถึงสิทธิในการปกครองตนเองมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมเลยก็ว่าได้ ผ่านกลวิธีเช่น การประท้วงอดอาหาร การเดินขบวน ทำให้เกิดขบวนการขัดเกลาทางการเมือง พอถึงปัจจุบัน คนอินเดียก็ใช้สิทธิเหล่านั้นบอกว่าตนเองขาดอะไร ต้องการให้รัฐหันมาทำอะไรด้วย

ผมขอยกตัวอย่างสักสองอย่างที่เรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิทธิ หนึ่ง ขบวนการแรกคือ ขบวนการ Chipko Movement เริ่มต้นขึ้นที่รัฐอุตราขัณฑ์ (Uttarakhand) อยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย รัฐไปให้สัมปทานป่าแก่เอกชน แต่คนในพื้นที่รู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง เพราะมันเป็นพื้นที่ทำกินของพวกเขา กลุ่มชาติพันธุ์รวมตัวกันและโอบกอดต้นไม้ ไม่ให้มีคนนำเลื่อยเข้ามาตัด ผลจากการเรียกร้องทำให้รัฐบาลไม่ให้สัมปทานพื้นที่นั้นไป 15 ปี ขบวนการโอบกอดต้นไม้จึงกลายมาเป็นโมเดลของการอนุรักษ์ธรรมชาติ

อันที่สอง เป็นประสบการณ์ตรงจากช่วงที่ผมได้ไปศึกษาที่อินเดีย ผมไปเรียนในมหาวิทยาลัยที่เคลมตัวเองว่าเป็น มหาวิทยาลัยของจัณฑาล เพราะมีจัณฑาลเรียนอยู่เยอะที่สุด ในอดีตจัณฑาลกินเนื้อวัว แต่คนอินเดียซึ่งเป็นพราหมณ์เขาไม่กินเนื้อวัว ไม่ตีวัว แนวคิดของพราหมณ์ก็มากดทับจัณฑาลไม่ให้กินเนื้อวัวไปด้วย เพื่อนของผมในมหาวิทยาลัยเขาก็รู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง วัฒนธรรมหรือสิทธิในการกินมันเป็นสิทธิพื้นฐาน เขาก็เลยจัดเทศกาลปียานี (Biryani Festival) เพื่อกินข้าวหมกเนื้อวัวขึ้นในมหาวิทยาลัย เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าพวกเขามีสิทธิในการเลือกใช้ชีวิต นี่เป็นตัวอย่างของการเรียกร้องตามสิทธิ ผมเชื่อว่าคนอินเดีย เขาค่อนข้างที่จะตรงไปตรงมาถึงสิทธิทางการเมืองของพวกเขา

อาจจะเป็นเพราะสภาพที่ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมด้วยหรือเปล่า ที่หล่อหลอมให้คนอินเดียเป็นนักต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิต่างๆ

ผมคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของอินเดีย เราคงเคยได้ยินนิทานเรื่อง มิลินทปัญหา กันบ้าง ทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมการดีเบตอยู่ในสังคมอินเดียมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ซึ่งการดีเบตก็เพื่อได้มาซึ่งข้อเสนออะไรบางอย่าง แม้พระพุทธเจ้าที่คนไทยมองว่าเป็นศาสดาของศาสนา แต่คนอินเดียเขามองต่าง เขามองพระพุทธเจ้าว่าเป็นนักปรัชญาทางการเมือง เป็นนักต่อสู้และนักปฏิวัติทางสังคม เพราะจากเดิมเป็นคัมภีร์พระเวท ที่แบ่งคนเป็นชนชั้นวรรณะต่างๆ พระพุทธเจ้าเป็นคนเสนอให้ทลายกำแพงทางชนชั้นวรรณะลง โดยการเปิดโอกาสให้บวชไม่ว่าจะวรรณะใด อีกทั้งยังมีการลงอุโบสถของพระ ที่ไทยจะเข้าใจว่าไปสวดมนต์กันทั่วไป แต่สมัยพระพุทธเจ้า การลงอุโบสถคือการลงไปคุยกัน ไปถกกันว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นในสังคมและตกลงแก้ไขปัญหานั้น

การถกเถียงเพื่อหาทางออกฝังตัวในสังคมอินเดียมาแต่โบราณกาล แต่ถ้าถามว่า การเข้ามาของอังกฤษมันช่วยทำให้ภาพวัฒนธรรมนี้มันชัดเจนขึ้นไหม ผมมองว่าช่วย แต่ไม่ได้ช่วยทั้งหมด มันช่วยในระดับหนึ่ง มันเปลี่ยนจากระดับปัจเจกกับปัจเจก ที่ไม่ได้เป็นขบวนการใหญ่ๆ ให้เป็นขบวนการใหญ่ การเข้ามาของอังกฤษมันทำให้ขบวนการเรียกร้องของอินเดียจากเดิมที่มีเฉพาะในกลุ่ม ขยายวงไปทั้งประเทศ

พรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของชนชั้น หมายความว่ามีตัวแทนจากชนชั้นต่างๆ เข้าไปทำงานในสภาอย่างชัดเจน?

จริงๆ มันคือ ประชาธิปไตยแบบพหุนิยม มีผู้แทนที่มาจากหลากหลายปูมหลัง ระดับการศึกษา หลากหลายศาสนา ชนชั้น วรรณะ ภูมิภาค พอถึงเวลาที่จะต้องออกนโยบายก็ค่อนข้างตอบสนองคนแต่ละพื้นที่ ถ้าถามว่าประชาธิปไตยแบบพหุนิยมแบบนี้เป็นปัญหาไหมในการก่อตั้งรัฐบาล คำตอบคือ ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน เพราะไม่มีพรรคการเมืองไหนที่ได้คะแนนโดด พอไม่ได้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนโดด จึงทำให้ช่วงหลังพรรคการเมืองอินเดียเป็นเรื่องของการหาพันธมิตร พอพรรคหนึ่งได้คะแนนก็จะหันไปหาพันธมิตรเพื่อสนับสนุนให้ตั้งรัฐบาล ข้อเสียคือ มันยากที่จะต้องไปดีลกับหลายๆ พรรคการเมือง แต่ข้อดีคือเสียงมาจากความหลากหลาย จึงตอบสนองกับนโยบายมากกว่านโยบายของพรรคเดียวซึ่งถือเป็นข้อดีของพรรคการเมืองภูมิภาค

มีอยู่หนหนึ่ง ที่พรรคภูมิภาคคะแนนสูงถึงขนาดรวมเป็นพรรคฝ่ายค้านได้เลย เช่น ได้ 40 ที่นั่ง ของรัฐนั้น พอขึ้นมาในการเมืองระดับชาติ ก็สามารถรวบรวมพรรคอื่นๆ ให้กลายเป็นฝ่ายค้านได้ ตอนนั้นเป็นพรรค TDP (Telugu Desam Party) เหตุการณ์เกิดขึ้นช่วงทศวรรษ 70-80 ที่พรรคภูมิภาคขึ้นมามีบทบาทระดับชาติได้

ผมขอเล่าให้ฟังว่า ในอินเดียการเมืองที่แบ่งเป็นรัฐค่อนข้างเข้มแข็ง นอกจากจะส่งตัวแทนไปยังสภากลาง แต่ละรัฐยังมีสภานิติบัญญัติของตัวเองในการออกกฎหมาย มีผู้บริหารของตัวเองก็คือ มีตำแหน่งมุขยมนตรีของแต่ละรัฐ ซึ่งทำให้คนอินเดียที่อยู่ต่างรัฐสามารถเปรียบเทียบกันได้ว่า รัฐตัวเองผู้นำดีหรือเปล่า ถ้าผู้นำไม่ดี สมัยหน้าก็ไม่ต้องเลือก เขาเปรียบเทียบกับรัฐข้างๆ ได้ว่า ทำไมอีกรัฐถึงพัฒนาไปเยอะ ผู้นำท้องถิ่นของตนทำอะไรอยู่ ระบบแบบนี้ทำให้แต่ละรัฐแข่งกันพัฒนา ในการพัฒนารูปแบบนี้ก็ทำให้ไม่เกิดการกระจุกตัวอยู่แต่นิวเดลี เมืองหลวง นี่คือข้อดีของการให้อำนาจและกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น

เขาทำแบบนี้มาตั้งแต่แรกเลยหรือเปล่า

ทำมาตั้งแต่แรกเลย นับตั้งแต่หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ อินเดียก็แบ่งการปกครองออกเป็น 29 รัฐ

กระบวนการเลือกตั้ง ที่แบ่งการเลือกตั้งเป็น 7 ช่วง ทำไมต้องแบ่งออกมากขนาดนั้น

อินเดียมีอยู่ 29 รัฐ ประชากรที่มีสิทธิออกเสียงมีทั้งหมด 900 ล้านคน แต่ว่า กกต. อินเดีย ที่อยู่ส่วนกลาง มีเพียง 300 คน จำนวนคนเท่านี้ ถ้าจัดที่เดียว มันจะเกิดปัญหาขึ้นมาก ซึ่งการแบ่งเป็น 7 ช่วง ก็เพื่อที่ว่า การจัดการเลือกตั้งแต่ละช่วงสามารถควบคุมได้จากส่วนกลาง พอแบ่งออกเป็น 7 ช่วง เราก็เอา 900 หาร 7 ก็อยู่ที่เกือบ 100 กว่าล้านคนต่อครั้ง ผมมองว่าตรงนี้จำเป็นที่ต้องแบ่งช่วง ยังไม่รวมเรื่องอุปกรณ์ที่ต้องขนย้าย และการจัดเก็บอีก

ใช้เกณฑ์ในการแบ่งช่วงการเลือกตั้งอย่างไร

แบ่งตามรัฐ แบ่งเป็นโซน โซนตะวันออก โซนทางใต้ โซนทางเหนือ ฯลฯ แต่ละช่วงก็จะแบ่งให้มันเป็นโซนเดียวกัน

ช่วงแรก พอเลือกเสร็จคะแนนก็จะถูกนำไปเก็บไว้ก่อนใช่ไหม

ใช่ แต่ละรัฐจะมีโซนนับคะแนนกลาง เขาก็จะเอาเครื่องมือไปเก็บไว้ในห้องกลางที่มีระบบนิรภัยหลายชั้น พอเก็บเสร็จแล้ว ผู้แทนแต่ละพรรคก็จะไปที่นั่นเพื่อลงชื่อเป็นหลักฐานด้วยตัวเอง พออีก 1 เดือนต้องเอาเครื่องออกมานับ ก็จะทำให้มั่นใจว่ามันไม่มีการเปิด หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องลงคะแนน

หลังจากเก็บคะแนนที่เลือกแล้ว (เพื่อรอนับในวันนับคะแนน) เขาก็จะมีบทบัญญัติที่ชัดเจนพอสมควร เช่น การเก็บคะแนนไว้ในห้องที่มีทางเข้า-ออก ทางเดียว มีคนเฝ้า 24 ชั่วโมง มีกล้องวงจรปิดตลอดเวลา ห้องนี้จะมีล็อค 2 ชั้น และนอกจากล็อคเสร็จ 2 ชั้น จะมีผู้รักษาความปลอดภัยแบ่งออกเป็น 3 ขั้น ขั้นแรกเป็นทหาร ขั้นที่สองเป็นตำรวจ ขั้นที่สามเป็นข้าราชการท้องถิ่น ก่อนที่จะเข้าไปถึงตัวคะแนนที่ลงแล้ว มันมีระบบการล็อคหลายระบบและมาจากหลายภาคส่วน เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่า จะไม่มีการลักลอบเปลี่ยนแปลงหรือทุจริต

ประเทศอินเดียมีภาษาจำนวนมาก กกต. อินเดียจัดการอย่างไรกับบัตรเลือกตั้ง

อินเดียมีทั้งหมด 1,500 กว่าภาษา และมันไม่ได้มีบัตรเลือกตั้งแบบที่เราเข้าใจ แต่มันเป็นแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ในแผงมันก็จะมีชื่อพรรค สัญลักษณ์ พอมีสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองก็ช่วยให้คนเลือกได้ง่ายขึ้น คนอินเดียกว่า 1,300 ล้านคน มีความหลากหลายมาก ในบางรัฐก็อาจจะมีมากถึง 70 ภาษาด้วยซ้ำ ก็เลยใช้กดสัญลักษณ์เอาเพื่อแก้ปัญหา

เครื่องจะตั้งอยู่ในคูหา พอคนกดเสร็จก็จะนำเครื่องเข้าไปเก็บไว้ที่ห้องกลางที่มีระบบนิรภัยที่บอกไป เป็นเซ็นเตอร์ของแต่ละรัฐ แล้วนับคะแนนในวันเดียวกันหมด ซึ่งครั้งนี้คือวันที่ 23 พฤษภาคม ตอนเช้าราวๆ 07.00 น. ก็จะเอาเครื่องที่ว่านี้ ออกมาตรวจสอบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือเปล่า จากนั้นเขาก็จะแบ่งเป็น 10-15 รอบในการตรวจเครื่อง รอบแรกเขาก็จะสลับเครื่องกัน เพื่อไม่ให้รู้ว่าเครื่องนั้นมาจากเขตการเลือกตั้งไหน ป้องกันเรื่องหัวคะแนน เขาก็จะสลับข้อมูล สลับชิป พอเช็คครบ 08.00 น. เขาก็จะเริ่มกดปุ่มประมวลคะแนน รอบแรกประมวลเสร็จ ถ้าใครมีข้อโต้แย้ง ก็ขอให้ กกต. ทวนตรงนั้นได้เลย เพราะในระบบการนับจะมีอยู่สองระบบ พอกดเสร็จ มันจะไปขึ้นหน้าจอมอนิเตอร์อยู่ 7 วินาที อีกเครื่องก็จะปรินท์เป็นสลิปจำว่าคนเลือกพรรคอะไรไป เป็นระบบซ้อนกัน หรือ การทำ cross check เพื่อความถูกต้อง พอเขากดครบ 15 รอบ ใช้เวลาประมาณ 3-5 ชั่วโมง ไม่เกินบ่ายโมงของวันนับคะแนน กกต. ก็จะประกาศผลได้

เรื่องจำนวนของผู้ที่มาลงคะแนน พอเขาปิดหีบ กกต. ก็จะกดปุ่ม close ที่เครื่อง ทำให้เขารู้จำนวนผู้มาใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเลือกตั้งเลย เท่ากับว่าหลังการเลือกตั้งเราจะรู้เลยว่าแต่ละหน่วยมีประชากรมาใช้สิทธิกี่คน พอวันที่นับคะแนนประกาศผล ก็จะเอาเทียบกันกับคะแนนที่ขึ้นมาว่ามันตรงกันหรือเปล่า เพื่อความโปร่งใส

ตอนที่นับคะแนน ประชาชนเข้าไปดูได้ไหม

เข้าไปดูได้หมดทุกคนเลย สื่อ ผู้แทนนักการเมือง ฯลฯ กดเครื่องต่อหน้าเลย

ตั้งแต่มีการใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์นี้มา เคยมีผู้ร้องเรียนไหม

เคย ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาที่มีการใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์นี้ ก็มีคนเรียกร้องยื่นต่อศาลมาเรื่อยๆ เหมือนกัน มันมีอยู่หนหนึ่ง มีนักวิชาการชี้ว่าระบบของ กกต. มันมีปัญหาและบอกวิธีการแก้ไข ซึ่ง กกต. ก็รับปัญหานั้น นำไปปรับปรุงระบบ พอเลือกตั้งครั้งใหม่ เขาก็แก้ไขปรับแก้ตามทั้งหมด

เราต้องยอมรับว่า ระบบเองก็อาจจะมีข้อผิดพลาด ข้อดีของอินเดียคือ เขามองเห็นสิ่งที่สื่อ นักวิชาการ หรือคนทั่วไปเรียกร้องถึงปัญหา โดยเฉพาะปัญหาที่มีโอกาสจะเกิดขึ้ันจริง เขาก็เอาเรื่องร้องเรียนเหล่านั้นมาปรับแก้ไข แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เคยมีคำตัดสินชี้ขาดว่า มีการทุจริตที่เกิดจากเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ แต่เมื่อมีผู้ร้องเรียนมาแต่ละครั้ง ศาลก็จะสั่งให้ กกต. นำข้อร้องเรียนของประชาชนไปพิจารณา

อยากให้ยกตัวอย่างข้อร้องเรียนต่อ กกต. ของประชาชน

เช่น ระบบชิป ประชาชนก็กังวลว่า อาจจะมีการรับสัญญาณจากภายนอก ผลคะแนนอาจจะเปลี่ยนหรือเปล่า กกต. อินเดียก็ต้องไปปรึกษากับบริษัทที่ผลิตเครื่องมือนี้ ให้ทำเป็นลักษณะ ไม่มีบลูทูธ ไม่มี Wi-fi ไม่รับสัญญาณจากภายนอกรูปแบบใดทั้งสิ้น ปรับให้เชื่อมต่อกับสายเคเบิลที่ลงคะแนนเท่านั้น เขาก็ปรับมาเรื่อยๆ

ในช่วงแรก มีเพียงแค่แผงในการกดคะแนนอย่างเดียว พอมีนักวิชาการท้วงติง ก็เลยเกิดระบบปรินท์สลิป เพื่อทำการ cross check ผลคะแนนเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด

การเลือกตั้งครั้งนี้ ก็จะเกิด first time voter เหมือนของไทย เยอะเหมือนกันใช่ไหม

ก็เพิ่มขึ้นจาก 815 มาเป็น 900 กว่าล้านคน ก็ราวๆ 70 กว่าล้านคน

ข้อนี้ทำให้ความตื่นตัวทางการเมืองมันเพิ่มขึ้นด้วยไหม

ผมมองว่า ในแต่ละช่วง มันมี first time voter ที่เพิ่มเข้ามาเป็นวัฏจักรอยู่แล้ว และต้องบอกว่าในอินเดีย การเลือกตั้งสำหรับคนที่นั่นมันเป็นเทศกาล เป็นประเพณี มันคือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตพวกเขา ถ้าถามว่าทำไมมันถึงกลายเป็นอย่างนี้ได้ เพราะผมมองว่า มันคล้ายกับมหรสพ เวลาที่นักการเมืองลงพื้นที่ไป พวกเขาก็จะลงไปพร้อมกับดนตรี อาหาร มีการแจกข้าวแกงกะหรี่ มีการเอาส่าหรีมาให้ มันเป็นภาพเหมือนเทศกาล การเลือกตั้งมันเหมือนกับส่วนหนึ่งในชีวิตพวกเขา ตรงนี้ผมก็มองว่า มันไม่จำเป็นต้องประโคมข่าวอะไร แต่การเห็นคนมาหาชาวบ้าน เห็นคนออกไปดีเบต มันเป็นภาพที่ปลุกเร้าให้คนรุ่นใหม่ออกไปใช้สิทธิทางการเมือง

แจกส่าหรี แจกแกงกะหรี่ ไม่นับเป็นการซื้อเสียง?

ถ้าเรามองแบบมุมตะวันตก การซื้อเสียง การให้ของ แน่นอนมันเป็นการซื้อเสียง เป็นการติดสินบน อันนี้ผมมองในมุมความแตกต่างทางวัฒนธรรมนะ แม้จะเป็นประชาธิปไตยเหมือนกันก็ตาม ถ้าฝั่งเอเชีย มันก็จะมีช่องของบทบาททางวัฒนธรรม การให้ของมันถือเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของคนเอเชีย เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต การแจกส่าหรี แจกแกงกะหรี่ไก่ แจกแอลกอฮอล์มันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่มีอยู่แล้ว ถ้าไม่ทำ มันก็จะไม่เหมือนคนอื่นไง

ถ้านักการเมืองอยากซื้อเสียงต้องทำอย่างไร ในเมื่อการให้ถูกมองเป็นเรื่องวัฒนธรรมที่ไม่ผิดอะไร

ก็ให้ข้าว ให้ผ้านี่แหละ

แล้วไม่ผิดหรือ

ถามว่าผิดไหม มันผิด แต่ทุกคนให้ และนี่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม แต่การให้เราไม่ควรที่จะไปตัดสินคนรับว่า รับมาแล้วจะต้องกาพรรคนั้นๆ เพราะในเมื่อเข้าคูหามันก็กลายเป็นพื้นที่ในการแสดงออกของแต่ละคน การจะตรวจสอบมันก็ทำได้ยาก หัวคะแนนก็ไปเช็คไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้วเราก็ต้องเคารพในตัวประชาชน พวกเขามีสิทธิในการจะเลือกใคร คนให้ก็ให้ไปสิ ก็ให้กันทุกคน แต่สุดท้ายก็เป็นสิทธิของคนเลือกอยู่ดีว่าจะเลือกใคร

ซึ่งพอให้ทุกคน กกต. ก็ได้ทำคือ ประกาศแบล็คลิสต์ สส. คนนั้น การประกาศแบล็คลิสต์คือการประกาศว่า สส. คนนั้นมีแนวโน้มจะซื้อเสียง แต่ถ้าจะให้ใบแดงใบเหลืองอาจจะไม่มี เพราะทุกพรรคคงโดนกันหมด ไม่มีใครรอด

ตามกฎหมายมันมีเขียนไว้ว่า คนที่แจกมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี มันมีโทษทางกฎหมาย แต่ในความเป็นประชาธิปไตยของพวกเขา เขาก็ไม่ได้เอาแบบตะวันตกเสียทุกอย่างที่ว่า การซื้อสิทธิขายเสียง มันผิดกฎหมาย แต่มันมีกลิ่นอายของวัฒนธรรม ธรรมเนียมดั้งเดิม ที่ว่าต้องเอาไปให้

อย่างบ้านเราก็เรียกว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ ของเขาก็คงเป็นประชาธิปไตยแบบอินเดียๆ ?

ใช่ๆ ผมเรียกมันว่า โรตีธิปไตย (หัวเราะ) มันก็มีความลักลั่นอะไรบางอย่าง ถ้าเราใช้กรอบแนวคิดแบบตะวันตกมามอง เราก็จะมองว่า เฮ้ย มันไม่ใช่! แต่ถ้าเราใช้กรอบวัฒนธรรมเราก็จะเห็นว่ามันเป็นเทศกาลการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายเราก็เคารพเสียงของคนที่ใช้สิทธิเลือกตั้งอยู่ดี หัวใจสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่การแจกของ หัวใจสำคัญคือ คนที่ใช้สิทธิมีโอกาสที่จะได้เลือกคนที่เขาอยากจะเลือก

ซึ่งทุกๆ 5 ปี พรรคที่เลือกไปทำไม่ดี เขาก็สามารถเลือกใหม่ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านก็ถือว่าเป็นการผลิกโฉมอินเดียครั้งใหญ่ เพราะพรรค Congress (‎Indian National Congress) ไม่ได้รับชัยชนะ

เราถือว่าพรรค Congress เป็นพรรคกินบุญเก่า เป็นพรรคของคานธี ที่สามารถนำพาอินเดียผ่านพ้นวิกฤติและสามารถเป็นเอกราชจากอังกฤษได้ เขาก็จะใช้คนในตระกูลคานธี เช่น อินทิรา คานธี, ราหุล คานธี ฯลฯ เป็นตระกูลทางการเมือง พรรคนี้จะมีนโยบายที่สำคัญคือประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม ที่รัฐมีแนวคิดว่าทุกคนจะต้องได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน  ผลลัพธ์มันก็เลยช้า เพราะเขาต้องโอบอุ้มทุกคนในอินเดียอย่างเท่าเทียมกัน ไม่งั้นความหลากหลายในอินเดียจะถูกกดทับ

ขณะที่พรรคที่ขึ้นมาแทน คือพรรค BJP (Bharatiya Janata Party – ภารตียชนตา) ของ นเรนทระ โมดี ซึ่งนโยบายคนละอย่างกันเลย โมดีบอกว่า คนฮินดูถูกกดขี่ อินเดียต้องกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ต้องให้ความเข้มแข็งแก่ชาตินิยมฮินดู ทำให้หลายๆ นโยบายของโมดีที่ออกมากดทับวรรณะล่าง กดทับคนมุสลิม ตรงนี้เป็นข้อวิพากษ์ที่มีต่อ BJP นะ แล้วเขาให้ความสำคัญกับความยิ่งใหญ่ของอินเดีย เขาเลยให้ความสำคัญกับทุนนิยม การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับนายทุน ซึ่งสองพรรคนี้มันแตกต่างกัน

สองพรรคนี้ต่างกัน จากเดิมที่พรรค Congress เป็นแกนนำมาโดยตลอด มันเท่ากับคนอินเดียเริ่มเห็นแนวโน้มใหม่ หรือทิศทางใหม่ ว่าไม่ต้องการได้แบบเดิมแล้ว การเลือกตั้งปี 2014 เขาก็เลือกพรรค BJP แบบถล่มทลาย เพราะคนอินเดียเองก็ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง

ทำไมคนอินเดียถึงต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงขนาดนั้น เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมขึ้นไปอีก

ตอนแรกเขาก็คิดว่าพอเอาคนใหม่ของ BJP ขึ้นมา จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น สองคือ คนจะมีช่วงเวลาของความกลัวมุสลิมจากเหตุการณ์ต่างๆ ทำให้คนฮินดูเทมาทาง BJP ขณะเดียวกันพอมันเอนมาทางฝั่งฮินดูเยอะๆ ชนกลุ่มน้อยในอินเดียก็เริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัย มันก็เลยทำให้การเลือกตั้งปี 2019 นี้ จะเป็นบทพิสูจน์เลยว่าคนอินเดียยังจะเชื่อในสิ่งที่ BJP ทำอยู่หรือเปล่า

ทีนี้ BJP เองก็จะเล่นกับความเป็นชาตินิยม เช่น การเปิดศึกกับปากีสถาน จากเดิมก็ไม่เห็นมีอะไร ก็ขัดแย้งกันมาตลอด แต่ทำไมช่วงใกล้เลือกตั้งครั้งนี้เล่นเลย ยิ่งมีการก่อการร้ายเข้ามา มันเลยทำให้เป็นประเด็นขึ้นมา

โดยรวมคนอินเดียเห็นด้วยไหมกับวิธีคิดแบบชาตินิยม

จริงๆ มันเป็นการปะทะกันระหว่างสองความคิด ชุดความคิดหนึ่งก็คือ BJP เป็นตัวแทนของอนุรักษนิยม ชาตินิยมฮินดู กับอีกความคิดหนึ่งของพรรค Congress ซึ่งเน้นการอยู่ร่วมกันโดยเปิดให้เห็นความหลากหลาย โอบอุ้มคนข้างล่าง ซึ่งตอนนี้เป็นการตีกันแล้วว่าสองความคิดนี้ในปี 2019 ใครจะชนะ ซึ่งถ้าให้ผมมอง ผมคิดว่า BJP อาจจะยังมีแต้มต่อค่อนข้างมาก เพราะว่าตัว นเรนทระ โมดี เขาเป็นผู้นำที่เล่นกับสื่อ เล่นกับสาธารณะเก่ง เขามีแคมเปญหลายแคมเปญที่ออกมาเพื่อที่จะทำให้ภาพของเขาเป็นผู้นำโลกที่ค่อนข้างทัดเทียมกับมหาอำนาจอื่นๆ เช่น เปิดยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก จับมือจีน จับมืออเมริกา จับมือญี่ปุ่น คือทำตัวเองให้เด่นขึ้นมาในประชาคมโลก ซึ่งส่วนนี้ ด้วยบุคลิกของโมดีเองอาจจะเป็นแต้มต่อเหนือ ราหุล คานธี ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าไร้เดียงสาทางการเมือง ขึ้นมาได้เพราะมาจากตระกูลเนรู-คานธี

สุดท้ายการเลือกตั้งที่ผลจะออกในวันที่ 23 พฤษภาคม ผมคิดว่า มันจะเห็นว่าแล้วตกลงแนวโน้มของคนอินเดียจะเทไปทางไหน ซึ่งถ้าดูตามความรุดหน้าทางเศรษฐกิจ ยังไง BJP ก็มา แต่ขณะที่ความรุดหน้าทางเศรษฐกิจที่มันไปแบบพุ่งกระโดด มันก็ทิ้งคนข้างล่าง ทิ้งชาวนา ทิ้งคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมทางสังคม ทิ้งไว้เยอะมาก แล้วถ้าคะแนนที่ถูกทิ้งไว้เยอะมากเขาเทกลับไปเลือกพรรค Congress พรรค Congress ก็จะกลับขึ้นมาอีกรอบได้

แต่ผมเชื่อว่า เท่าที่ดูคือ BJP ค่อนข้างจะมา แต่จากเดิมที่ BJP ได้ 269 เสียง กับ Congress ที่ได้ 45 เสียง อันนี้คือ 2014 ครั้งนี้ Congress อาจจะขยับขึ้นมา

พรรค BJP เรียกปีกขวาได้ใช่ไหม

ปีกขวา แล้วก็ทุนนิยม

ที่ผลการเลือกตั้ง 2014 ออกมาแบบนั้น เป็นเพราะกระแสโลกหันขวาด้วยหรือเปล่า

ใช่ เราจะเห็นว่าช่วงหลังผู้นำที่เป็นปีกขวามาเยอะ ปูติน, โดนัลด์ ทรัมป์, ดูเตอร์เต มันเป็นยุคที่เหมือนฝั่งขวามีอำนาจ แล้วมันอาจจะเป็นช่วงที่อินเดียเองรู้สึกว่าต้องการแสดงความยิ่งใหญ่กลับขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ 70 ปีที่ผ่านมาคนมองข้ามอินเดียมาโดยตลอด หลังจากได้รับเอกราชมา อินเดียพัฒนาตัวเองจากประเทศที่ยากจน ปัจจุบันอินเดียพุ่งขึ้นมาแบบนี้ ผมคิดว่าเขาอาจจะต้องการผู้นำที่นำพาอินเดียกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

มีเหตุปัจจัยอะไรนอกจากความเติบโตทางเศรษฐกิจที่เชื่องช้าอีกบ้าง ที่ทำให้แนวคิดฝ่ายขวาขึ้นมาได้

ผมคิดว่าส่วนหนึ่งคือความกลัวต่อการก่อการร้าย แล้วก็มีกระแสมุสลิมขึ้นมา ซึ่งมันทำให้การปะทะกันในอินเดียทำให้คนหวาดกลัว มีการปะทะกันที่มุมไบ ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กระแสชาตินิยมอินเดียตีขึ้นมาได้

ขั้นตอนการเลือกตั้ง หลังจากเข้าคูหา จนผลคะแนนออกมาวันที่ 23 พฤษภาคม เป็นอย่างไร

หลังจากประกาศคะแนนออกมาแล้ว คนที่รวบรวมเสียง แน่นอนว่าในอินเดียพรรคที่จะขึ้นมาโดดๆ ตอนนี้ยากแล้ว ก็ต้องหาพันธมิตร ซึ่งปัจจุบันมีสองแคมป์พันธมิตรใหญ่ คือ BJP กับ Congress เขาก็จะไปหาพรรคการเมืองท้องถิ่นมาเป็นพวก หลังจากนั้นก็จะมีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี แล้วประธานาธิบดีจะเป็นคนแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

ใช้เวลานานแค่ไหน

จริงๆ ไม่นาน พอคะแนนออกก็จับวิปกันได้เลย หลังจากนั้นก็จะเปิดประชุมสภา แล้วก็มีการเลือกนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีคนหนึ่งเป็นได้กี่สมัย

เป็นได้ไม่เกินสองสมัย อย่างเช่นตอนแรกพรรค Congress ได้มาสองปีติดต่อกัน ก็คือ มันโมฮัน ซิงห์ พอรอบถัดมาก็เปลี่ยนคน

อินเดียเป็นประเทศที่มีความหลากหลาย ศาสนาของตัวผู้นำเองมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน

ในรัฐธรรมนูญของอินเดียบอกอยู่แล้วว่าเป็น secular state (รัฐโลกวิสัย) คือไม่ว่าคุณจะมีพื้นฐานเป็นศาสนาอะไรก็ตาม คุณคือพลเมืองของอินเดีย คุณมีสิทธิจะดำรงตำแหน่งทางการเมืองอะไรก็ได้

มันมีช่วงหนึ่งของอินเดีย ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ประธานพรรค Congress คือ โซเนีย คานธี จริงๆ เป็นคนอิตาลี แล้วมาแต่งงานกับคนในตระกูลคานธี ก็มีข่าวว่าเธอนับถือศาสนาคริสต์ มันโมฮัน ซิงห์ เป็นซิกข์ อับดุลกาลัม (Abdul Kalam) อดีตประธานาธิบดี เป็นมุสลิม ในประเทศที่มีฮินดูเป็นคนส่วนใหญ่

คือจริงๆ ถ้าจะโจมตีคนด้วยศาสนา ถ้าเป็นอินเดียก่อนการขึ้นมาของ BJP ซึ่งเป็นอนุรักษนิยม เขาจะมองว่า มันไม่ควรจะเอาเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ละคนมีสิทธิจะนับถือศาสนาอะไรก็ได้

มีผู้สมัครของพรรค Congress เป็นดารา แล้วมีสามีเป็นคนปากีสถาน ซึ่งเป็นมุสลิม แต่ตัวเธอเองเป็นฮินดู ก็ถูกพรรคฝั่งตรงข้ามโจมตีว่ามีสามีเป็นมุสลิม เธอก็ออกมาพูดชัดเจนเลยว่า การเลือกตั้งต้องตัดสินที่ตัวเธอ ไม่ใช่ตัดสินที่ศาสนาของสามีเธอ ถ้าเอาบริบททางการเมืองออกจากบริบททางศาสนา ก็ต้องทำให้ชัดเจนว่า ไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาอะไรคุณก็สามารถเป็นผู้แทนฯ ได้ เพราะตั้งแต่ตอนแบ่งแยกประเทศ อินเดียเซ็ตตัวเองไม่ให้เป็นรัฐทางศาสนา เพราะตอนที่อังกฤษออกไป มันเกิดการแบ่งอินเดียออกเป็นสองประเทศ คืออินเดียกับปากีสถาน โดยปากีสถานบอกตัวเองชัดว่าเป็นรัฐอิสลาม แต่อินเดียพยายามที่จะรักษาความเป็นรัฐทางโลก ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนามาโดยตลอด ซึ่งถ้าอินเดียจะเปลี่ยนตัวเองเป็นรัฐศาสนาฮินดู มันเท่ากับว่าความพยายามที่จะสร้างรัฐโลกวิสัย สุดท้ายก็จะกลายเป็นเกมที่ปากีสถานเป็นอิสลาม อินเดียเป็นฮินดู เขาไม่อยากให้มันเป็นภาพแบบนั้น

อินเดียมีผู้มีอิทธิพลทางการเมืองหรือเปล่า

อดีตมี เนรู-คานธี แต่พอการเมืองเปลี่ยน มันมีตัวแสดงใหม่ๆ แล้วผมคิดว่าจากเดิมที่เป็นผู้มีอิทธิพลในระดับชาติ พอท้องถิ่นเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น กลายเป็นว่ามันมีตัวแสดงในระดับท้องถิ่นขึ้นมาตามแต่ละภูมิภาคของตัวเอง จากเดิมที่ เนรู คานธี พรรค Congress ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว แต่ละพื้นที่มันจะมีผู้มีอิทธิพลในส่วนของตัวเอง ส่วนมากนักการเมืองท้องถิ่นจะเป็น key หลัก

แล้วก็จะมีนักการเมืองที่ผันตัวมาจากดารา เพราะว่าอินเดียมี Bollywood หรืออุตสาหกรรมหนัง ซึ่งดาราของแต่ละรัฐค่อนข้างผันตัวมาเล่นการเมืองเยอะ เพราะภาพยนตร์เป็นเหมือนหัวใจของคนอินเดีย ก็จะมีการเข้ามาของนักการเมืองที่มาจากวงการบันเทิง

ระบบผู้แทนราษฎรใช้แบบ สส.เขต อย่างเดียวเลยหรือเปล่า หรือต้องมีสูตรคำนวณหา สส.ปาร์ตี้ลิสต์

เป็นแบ่งเขตล้วนๆ เลยครับ ในแต่ละรัฐจะแบ่งเป็นเขตเลือกตั้ง ถ้ารัฐใหญ่ก็จะมีจำนวน สส. เยอะ แต่ว่าจำนวนมีทั้งหมด 543 เขต กับประชากร 1,300 ล้านคน มันเท่ากับว่าเขตหนึ่งรับผิดชอบประชากรราวๆ 2 ล้านคน แต่นั่นคือภาพการเมืองที่ส่งเข้าไปในระดับใหญ่ การเมืองในระดับรัฐก็จะมีสภาของแต่ละรัฐ ก็จะทำให้ซอยย่อยลง

สส. 543 คนเป็น สส. ที่มาจากการเลือกตั้งเป็น สส.เขต ทำไมอีก 2 คนระบุไว้ว่าเป็นแองโกล-อินเดีย?

เขาให้เกียรติกับคนที่สืบเชื้อสายมาจากชนชั้นปกครองของอังกฤษในช่วงนั้น มันบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะให้มีกลุ่มนี้เข้าไปนั่งให้ความคิดเห็น

อันนี้เขาเรียกโลกสภา (Lok Sabha) หรือว่าสภาล่าง มันจะมีราชยสภา (Rajya Sabha) หรือว่าสภาสูง เป็นอีกสภาหนึ่ง ซึ่งสภานี้ก็จะเป็นตัวแทนของแต่ละรัฐเข้าไปอีกครั้งหนึ่ง มาจากการเลือกตั้งเหมือนกัน เหมือนเป็นเลือกตั้งทางอ้อม คือจะมีเลือกตั้งภายในรัฐก่อน แล้วรัฐก็จะส่งขึ้นไปเป็นตัวแทนในราชยสภา 250 คน ในจำนวนนี้มี 12 คนที่แต่งตั้งโดยประธานาธิบดี

ตำแหน่งประธานาธิบดีของอินเดียเป็นใคร และอยู่ตรงไหนของการเมืองอินเดีย

ประธานาธิบดีเป็นใครก็ได้ ทำหน้าที่เป็นประมุขของรัฐมากกว่า เพราะคนที่มีอำนาจจริงๆ คือนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดีเป็นเหมือนสัญลักษณ์ในการเปิดประชุมสภาฯ แต่เขาก็มีบอกว่า ประธานาธิบดี หรือพลเมืองหมายเลขหนึ่งของอินเดีย จะเป็นใครก็ได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นชนชั้นหรือศาสนาไหน คุณก็สามารถขึ้นเป็นพลเมืองหมายเลขหนึ่งของอินเดียได้ สาเหตุที่เป็นแบบนี้ เพราะเป็นความพยายามสลายราชวงศ์ต่างๆ มากกว่า ในอินเดียซึ่งมีกว่า 500 ราชวงศ์ตอนรวมประเทศ เพราะเป็นอาณาจักรเล็กน้อยมารวมกัน ซึ่งจะเอาใครคนใดคนหนึ่งขึ้นมาก็มีราชวงศ์อื่น ก็เลยออกแบบว่ามีนายกรัฐมนตรี และมีประธานาธิบดีเป็นประมุข

การเมืองระดับชาติกับระดับท้องถิ่นทำงานต่างกันอย่างไร

รัฐบาลใหญ่จะทำหน้าที่การคลังของประเทศทั้งหมด การทหาร การติดต่อต่างประเทศ รัฐบาลท้องถิ่นจะทำการศึกษา การสาธารณสุข การเกษตร การอุตสาหกรรม พวกที่เกี่ยวกับการพัฒนาในท้องถิ่นก็สามารถทำเองได้ แม้กระทั่งภาษาที่ใช้สอนในแต่ละรัฐเขาก็มีสิทธิเลือกว่าจะใช้อะไร

สิ่งที่ทำให้การเมืองท้องถิ่นเข้มแข็งเกิดขึ้นในยุคของพรรค Congress หรือเปล่า

ผมว่ามันมาตั้งแต่ตอนตั้งประเทศแล้วครับ เขาใช้คำว่า unitary state with federal structure ก็คือ เป็นเหมือนรัฐเดี่ยวที่สหพันธรัฐอยู่ข้างใต้ แต่ว่าเป็นแบบหลวมๆ คือไม่ได้แยกจากกันแบบชัดเจน รัฐบาลกลางสามารถดึงอำนาจกลับคืนมาได้ทุกเมื่อ แต่รัฐบาลกลางก็ให้พื้นที่กับแต่ละรัฐในการพัฒนา ซึ่งมันมาตั้งแต่ตอนเริ่มตั้งประเทศ พอเริ่มมาแบบนั้นก็เลยทำให้อินเดียมีความเข้มแข็ง และกระจายอำนาจลงไปสู่ท้องถิ่น

อีกอย่างหนึ่งก็คืออินเดียเป็นประเทศที่ใหญ่ รัฐบาลกลางดูคนเดียวไม่ได้ เพราะถ้ารัฐบาลกลางกุมนโยบายทั้งหมดไว้คนเดียว รัฐบาลกลางไม่สามารถตอบสนองความต้องการของแต่ละรัฐได้เลย จึงทำให้ต้องออกแบบมาเพื่อให้แต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างหลากหลายสามารถมีนโยบายของตัวเองและตอบโจทย์ความเป็นท้องถิ่น ความต้องการในแต่ละรัฐของตัวเองได้ เช่น เมืองบังกาลอร์ รัฐบาลท้องถิ่นเขาผลักตัวเองให้เป็นเมือง IT อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไปเลย ซึ่งแต่ละรัฐสามารถดูว่าตัวเองจะพุ่งไปทางไหน ใช้การพัฒนาแบบไหน อันนี้คือรูปแบบของการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ส่วนท้องถิ่น ทำให้รัฐบาลกลางไม่ต้องมากังวลกับทิศทางหรือความต้องการ ให้ท้องถิ่นสามารถออกแบบได้เอง

ผมว่าโมเดลนี้ดีตรงที่ท้องถิ่นรู้ว่าตัวเองจะทำอะไร ไม่จำเป็นต้องให้ส่วนกลางมาเขียนนโยบายให้

ผมย้อนกลับมาเล่าให้ฟังอีกเรื่องหนึ่ง ว่าทำไมรากฐานทางประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของอินเดียถึงเข้มแข็ง

การปกครองท้องถิ่นของอินเดียเริ่มตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน มีการเลือกตั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน เพราะหมู่บ้านสามารถจัดการสิ่งที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านตัวเองได้ ซึ่งมีกระทรวงที่เรียกว่ากระทรวงการปกครองหมู่บ้าน (India Village Ministries) ถ้าเป็นบ้านเรา หมู่บ้านอยู่ใต้ตำบล ตำบลอยู่ใต้อำเภอ อำเภออยู่ใต้จังหวัด จังหวัดขึ้นตรงส่วนกลาง แต่ของอินเดียมีกระทรวงมหาดไทยของมันเอง ขณะเดียวกันมีกระทรวงการปกครองหมู่บ้าน เพื่อที่จะส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น

เขาใช้คำว่าประชาธิปไตยแบบรากหญ้า ใช้ grassroots democracy เลย เพื่อที่ให้คนเรียนรู้ระบบประชาธิปไตย และรู้ว่าสิทธิตัวเองในหมู่บ้าน เขาทำอะไรได้บ้าง

ถ้าเป็นอย่างนี้ ในยุคของโมดีที่คนข้างล่างถูกทอดทิ้งมากขึ้น เท่ากับว่าการทำงานของท้องถิ่นเปลี่ยนไปด้วยหรือเปล่า

มันอาจจะเป็นเชิงโครงสร้างมากกว่า พอนโยบายส่วนกลางเล่นเรื่องการเปิดรับการเข้ามาของเศรษฐกิจ ข้างล่างของแต่ละรัฐก็ว่าไปตามนั้นด้วย เพื่อเปิดรับ economic zone ซึ่งพอทุกคนมุ่งไปทางการพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว กลายเป็นว่าเราลืมการพัฒนาเชิงสังคม ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นเชิงโครงสร้างที่มีอิทธิพล

อีกอย่างหนึ่งก็คือ โมดีค่อนข้างจะรุกไปผูกพันธมิตร เช่น ที่รัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ที่ติดกับเมียนมาร์ จีน บังคลาเทศ โมดีเอาการพัฒนา เอาถนนเข้าไป ทำให้บริเวณนี้เป็น gateway ของอาเซียน คือพยายามดึงการลงทุนดึงอะไรเข้ามา ซึ่งคนที่อยู่ในอำนาจตรงนั้นก็เห็นว่า รัฐบาลกลางเปิด เขาก็จะไปเน้นที่ตรงนี้ตาม แต่นโยบายบางส่วนที่มุ่งไปที่คุณภาพชีวิตมันอาจจะลดลง เป็นต้น

โมดีเองอาจจะมีความเชื่อว่า เมื่อการพัฒนามันดึงจากข้างบนลงไปแล้วมีการลงทุนเข้ามา คนข้างล่างจะกินดีอยู่ดีไปด้วย อันนี้ก็อาจจะเป็นชุดความคิดอีกชุดหนึ่ง แต่ว่าบางทีมันอาจจะลงไปไม่ถึงคนข้างล่าง กับการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้

ถ้าเรามองว่าอินเดียเป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากๆ ทำไมยังมีความเติบโตที่เหลื่อมล้ำกันอยู่มาก เช่น มุมไบมีสลัมที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่บังกาลอร์กลับเต็มไปด้วยอุตสาหกรรมไฮเทค

หนึ่งคือ ประเทศมันใหญ่ สอง มันช้า ช้าเพราะขบวนการประชาธิปไตยมันช้าด้วย อินเดียไม่เหมือนจีนที่พรรคคอมมิวนิสต์สั่งอะไรทำได้เลย แต่ด้วยวัฒนธรรมประชาธิปไตยของอินเดีย มันต้องคุย ต้องถก กว่าจะเสร็จแต่ละขั้นตอนมันทำให้นาน

สาม เราต้องเข้าใจก่อนว่า 70 ปี อินเดียทะยานมาได้ขนาดนี้ ผมว่ามันน่าทึ่งนะ เพราะตอนที่อังกฤษออกไปจากอินเดีย อังกฤษเอาความมั่งคั่งร่ำรวยกลับไปด้วย ซึ่งอินเดียต้องสร้างประเทศขึ้นมาใหม่จากการที่ไม่มีอะไรเลย แล้วยังต้องพยุงคนที่ไม่มีการศึกษา คนยากจนจำนวนมาก ให้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในปัจจุบัน มีกองทัพอันดับ 4 ของโลก GDP อันดับ 6 มีเทคโนโลยี IT ที่เข้มแข็ง 70 ปีที่ขึ้นมาถึงขนาดนี้ ผมว่ามันก็พัฒนามาได้เยอะ

ถามว่าทำไมเป็นประชาธิปไตยแล้วยังเป็นอย่างนั้น ผมว่าเทียบกับบ้านเรา 70 ปีของเราก็ยังไม่ได้เท่าเขา ซึ่งอินเดียไม่ได้เน้นที่โครงสร้างขั้นพื้นฐาน เขาไม่ได้เน้นสร้างตึกสร้างอาคารในช่วงแรกของการพัฒนาประเทศ

สิ่งที่เขาให้ความสำคัญคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เขาตั้งสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา สถาบันชลประทาน สถาบัน IT เพื่อที่จะพัฒนากำลังคนในช่วง 30-40 ปีแรก ซึ่งทรัพยากรมนุษย์ก็เพิ่งมาผลิบานช่วง 40 ปีเป็นต้นมา เราจะเห็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดดในช่วงหลัง ตั้งแต่ 1990 เป็นต้นมา เพราะในยุคแรกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับพวกถนนรถราหรือตึก เขาให้ความสำคัญกับคนก่อน ให้ทุนการศึกษา ปัจจุบันคนเรียนถึงปริญญาตรีฟรี โท-เอกเขาให้ทุนเรียน

ถ้าเรามองเชิงวัตถุมันอาจช้า แต่ถ้าเชิงคุณภาพมนุษย์ ผมว่าเขาค่อนข้างเข้มแข็ง แล้วเงินที่เขาได้มาคือเงินที่ส่งออกทรัพยากรมนุษย์ ไปอยู่อเมริกา ไปตะวันออกกลาง ไปเป็นหมอที่อังกฤษ ตอนนี้เงินเริ่มกลับเข้ามา แล้วมันมีมูลค่าสูงมาก จนช่วงหนึ่งอินเดียต้องตั้งกระทรวงชาวอินเดียโพ้นทะเล (Indian Oversea) เพื่อที่จะดึงงบประมาณกลับเข้ามา

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

Author

รุ่งรวิน แสงสิงห์
อดีตนักศึกษาการเมือง ดื้อดึง อวดดีและจอมขบถ ผู้หลงรักในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เธอปรารถนาที่จะแสดงออกให้ชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะบนตัวอักษรที่ออกมาจากมือของเธอ

Photographer

เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
นักเทคนิคการแพทย์ ช่างภาพ เจ้าของแบรนด์กระเป๋า Soul goods และนักเดินทาง ทั้งหมดรวมอยู่ในตัวของคนๆเดียวที่ดำเนินชีวิตด้วย passion และ inspiration รับงานถ่ายภาพหลากหลายไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายคนให้น่ากินเหมือนอาหารได้อีกด้วย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า