กรุงเทพฯ เมืองที่เต็มไปด้วยปัญหาหลายระดับ ตั้งแต่สะดุดแผ่นทางเดินที่ปูบนฟุตบาท ไปจนถึงการเผาไล่ที่ชุมชนแออัด และ/หรือกระทั่งปัญหาอาชญากรรม ซึ่งล้วนเกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกจากมิติของการวางผังเมือง ซึ่งแบ่งแยกพื้นที่เป็นเรา/เขา เป็นความเจริญ/ความเสื่อมโทรม
เป็นความไม่เท่าเทียมจนก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ
ด้วยตระหนักถึงปัญหานั้น ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำสังคม และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้จัดงานสัมมนาว่าด้วย ‘ความเหลื่อมล้ำในมิติผังเมือง’ โดย ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) มากางแผนที่คลี่ขยายให้เห็นความเหลื่อมล้ำในมิติของผังเมือง
จินตนาการถึงกรุงเทพฯ ในอีก 20 ปีข้างหน้า
ก่อนเข้าสู่เนื้อหาใจความสำคัญ นิรมลชวนผู้เข้าร่วมทำการทดสอบโดยเขียนบรรยายสั้นๆ ถึงกรุงเทพฯ ในอีก 20 ปีข้างหน้าหากความเหลื่อมล้ำหมดไป เมืองจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด ซึ่งคำตอบเหล่านั้นมีทั้งความสามารถในการเดินทางด้วยคมนาคมขนส่งไปยังทุกๆ ด้านของเมือง ด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เท่าเทียมสะดวกสบาย หรือต้นทุนด้านการขนส่งสาธารณะที่เท่าเทียมและทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือบ้างก็ว่า “ไม่สามารถจินตนาการได้” เนื่องจากคิดว่าไม่มีความเป็นไปได้ ซึ่งคำตอบส่วนใหญ่จะเน้นที่การเดินทางและการทำงาน
“ในมุมมองของสถาปนิก โดยเฉพาะในด้านผังเมือง ซึ่งมีทั้งสถาปนิกผังเมืองที่ออกแบบสภาพแวดล้อมกายภาพ ถนนหนทาง อาคาร แต่ไม่ใช่แค่รายแปลง แต่เป็นระดับเมือง และส่วนของ ‘นักผังเมือง’ นั้นจะทำในส่วนของนโยบาย เรื่องของเศรษฐกิจสังคม ซึ่งสามประเด็นที่จะพูดก็คือเรื่องของเมืองและความเหลื่อมล้ำ เรื่องของกายภาพเมืองที่ส่งผลกับวิถีชีวิตและความเหลื่อมล้ำในเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร และสุดท้าย ว่าเราในฐานะนักออกแบบกายภาพจะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างไร”
ประเด็นแรก นิรมลกล่าวว่า เรื่องของเมืองและความเหลื่อมล้ำนั้น จะต้องหานิยามของ ‘เมือง’ หรือ ‘ความเป็นเมือง’ ก่อนว่า เมืองคือสิ่งใดก็ตามที่ไม่ใช่ความเป็นชนบท ทั้งในแง่ของความหนาแน่น ความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งในชนบทจะมีแน่นแฟ้นกว่า แต่พื้นที่เมืองเป็นชุมทางของความหลากหลาย ทั้งในด้านกลุ่มคน อาชีพ วัย ศาสนา เชื้อชาติ คติความเชื่อ อุดมการณ์ทางการเมือง เหล่านี้รวมอยู่ที่เมือง ดังนั้น เมืองคือโอกาส เป็นเหตุผลทำให้คนหลั่งไหลจากชนบทมาสู่เมือง
ทั้งนี้ โดยนิยามแล้ว เมืองประเภท ‘city’ นั้นเป็นการหลั่งไหลของคน ทุน และสินค้า เป็นกระแสที่ไหลวนเวียนและมีพลวัต ความหลากหลาย และความหนาแน่นอยู่ในนั้น
“กระบวนการเป็นเมืองครั้งใหญ่ของโลกเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 จากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเมืองไม่ได้ออกแบบไว้เพื่อรองรับการหลั่งไหลของประชากร การเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ในเมืองก็เป็นต้นทางของสังคมวิทยา ไม่ว่าจะเป็น มาร์กซ์ (Karl Marx) หรือ เดอร์ไคลม์ (Emile Durkheim) ที่เสนอว่ายิ่งเมืองที่มีความเป็นอุตสาหกรรมมากเท่าไร ก็จะทำให้เกิดความแปลกแยกและการฆ่าตัวตายสูงขึ้นเท่านั้น ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต”
ขณะที่ในปัจจุบัน นิรมลมองว่าความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงความสุข สุขภาพชีวิตที่ดีตามอัตภาพ ยิ่งทวีความสำคัญในยุค Urban Age หรือศตวรรษแห่งเมือง จากจำนวนของเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น คำถามต่อมาคือ
“ในขณะที่คนบนโลกกำลังมาอยู่ในเมือง เราในฐานะที่ทำงานเกี่ยวกับผังเมือง เราเตรียมพร้อมดีแค่ไหน เมืองควรจะมีหน้าตาแบบไหน ผู้คนควรจะมีชีวิตอย่างไรในเมือง ซึ่งความเหลื่อมล้ำที่มันเกิดขึ้นนั้นมีหลายมิติที่เกิดขึ้นในเมือง โดยแบ่งเป็นหลายมิติได้แก่ พื้นที่ (space) ซึ่งมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับเมือง ภูมิภาค ประเทศ และระดับโลก”
การเดินทางไม่ตอบโจทย์
ปัญหาสำคัญในระดับเมืองที่นิรมลมองเห็นอยู่ที่การเดินทาง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ในแต่ละวัน ประชาชนจำนวนมากต้องดิ้นรนเดินทางระหว่างบ้านซึ่งอยู่ชานเมืองเข้ามาทำงานที่เมืองชั้นใน รูปแบบการอยู่อาศัยแบบนี้นำมาซึ่งลักษณะของ Gated Community (ชุมชนล้อมรั้ว) อันเป็นลักษณะของการอยู่อาศัยที่ทำให้เกิด sense of fear
นอกจากนี้ ด้วยระยะทางระหว่างบ้านและที่ทำงาน ทำให้หลายครอบครัวต้องมี ‘รถยนต์’ เนื่องจากภาครัฐไม่มีการสร้างระบบขนส่งมวลชนไปยังพื้นที่ที่ความหนาแน่นต่ำ นำมาสู่คำถามว่า งบประมาณมหาศาลที่ลงทุนกับทางด่วนเชื่อมเข้ากับหมู่บ้านจัดสรรกลางเมืองนั้น สร้างให้กับใครกันแน่
“ดังนั้นจะเห็นว่า ยิ่งมีความหนาแน่นต่ำเท่าไร ก็จะมีการใช้รถยนต์สูงและการบริโภคพลังงานสูง การบริโภคพลังงานของเมืองที่มันโต ที่มันออกแบบกายภาพให้คนอยู่แบบบ้านอยู่ไกลเมือง แล้วตัดถนนไป ตัดทางด่วนไป แล้วทำให้ใช้รถยนต์มากขึ้น จะนำมาซึ่งปัญหามลพิษทางอากาศต่างๆ มันจึงเป็นการทำลายสภาพแวดล้อมธรรมชาติและสูญเสียสิ่งแวดล้อมที่ดีลงไปเรื่อยๆ”
นอกจากนี้ ในประเด็นต่อมา นิรมลยังกล่าวถึงการออกแบบเมืองที่เอื้อความสะดวกในการหาความสุขของคนในเมือง หากขาดการออกแบบที่ดีก็จะทำให้ผู้คนในเมืองเข้าถึงความสุขได้ยาก เช่น พื้นที่น้ำในกรุงเทพฯ ไม่ได้มีไว้สำหรับทุกคน หากไม่มีเงินซื้อเบียร์หรือไวน์ คุณก็ไม่สามารถชม water room ได้ พื้นที่ริมน้ำส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ exclusive ที่เอกชนพัฒนาไว้สำหรับลูกค้าของเขาเท่านั้น
“สิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่ปรากฏขึ้นในเมืองอย่าง ‘สะพานลอย’ ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงการจำนนต่อรถยนต์ ทำอย่างไรก็ได้ให้รถยนต์ไม่ต้องหยุด หรือให้รถยนต์สามารถขับได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกับคนบางกลุ่ม เช่นคนชรา หรือกลุ่มคนที่เป็นโรคหัวใจ ทำให้ไม่สามารถข้ามถนนอย่างปลอดภัยได้”
นอกจากนี้ นิรมลยังกล่าวเสริมว่า
“ความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏขึ้นในเมืองด้านอื่นๆ เช่น ในกรณีผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในซอยลึก ก็ปราศจากระบบการขนส่งที่ดี ผู้สูงอายุจำนวนมากในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ในประเทศไทย เมื่อเริ่มเกษียณแล้วไม่ได้มีธุระออกไปข้างนอก และรอบบ้านเป็นชานเมืองก็จะเริ่มปิดบ้าน และตามมาด้วยการติดเตียง อันจะนำมาซึ่งปัญญาของงบประมาณภาครัฐที่จะนำมาใช้ในเรื่องของปัญหาสุขภาพเพื่อดูแลคนแก่ติดเตียงที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ และในขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุจำนวนมากในเมืองไม่สามารถเกษียณอายุได้ เนื่องจากเงื่อนไขของฐานะ”
ไม่เพียงเท่านั้น เรื่องเชื้อชาติก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ถูกใช้ในการแบ่งแยกในการเข้าถึงบริการสาธารณะ สิทธิในการเข้าถึงการจ้างงาน รายได้ การศึกษาต่างๆ หรือการรักษาพยาบาล สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเมือง
ชาน/เมือง
ด้วยความที่เมืองอย่างกรุงเทพฯ ไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยไร้เมืองปริมณฑล ในอีกแง่ทำหน้าที่ที่พักอาศัยเพื่อกระจายผู้คนออกจากเมือง สิ่งที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำอีกประการคือ ช่วงประสบปัญหาน้ำท่วมนั้น จังหวัดอื่นๆ นอกเหนือจากกรุงเทพฯ ล้วนแล้วแต่เป็นจังหวัดที่ต้องเสียสละเพื่อให้กรุงเทพฯ ในฐานะเมืองหลวงปลอดภัยจากน้ำท่วมให้มากที่สุด เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นจุดศูนย์กลางของการบริหารประเทศในเชิงสัญลักษณ์ ทำให้เกิดความวุ่นวายในจังหวัดอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของระบบราง ที่ในกรุงเทพฯ สามารถมีรถไฟฟ้าที่เย็นฉ่ำท่ามกลางอากาศร้อนด้วยการอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคม ขณะที่จังหวัดในภูมิภาคอื่นๆ ต้องขอการอนุมัติจากศูนย์กลางก่อนหากต้องการจะมีระบบราง
“ต่อมาในระดับโลก เป็นที่เข้าใจกันว่าเมืองเป็นต้นกำเนิดของความเหลื่อมล้ำในทุกๆ อย่าง ทุกระดับรวมทั้งในระดับโลกด้วย อย่างเรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้าในประเทศต่างๆ โดยประเทศที่ใช้เยอะที่สุดคืออเมริกาเหนือ รัสเซีย และ ออสเตรเลีย อย่างอเมริกาเป็นผลมาจากการวางผังและออกแบบเมืองเพื่อรองรับประชากรที่หลั่งไหลเข้ามา แต่อเมริกานั้นใช้วิธีการพัฒนาออกไปสู่ชานเมือง เนื่องจากที่ดินมีไม่จำกัด ดังนั้นกายภาพเมืองมีผลอย่างมากต่อความเหลื่อมล้ำในเชิงพลังงาน”
เหล่านี้ในทัศนะของนิรมลล้วนแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในเชิงกระบวนการ (process) โดยกระทำผ่านการจำกัดกลุ่มบุคคลที่สามารถเข้าไปส่งเสียงเพื่อบอกความต้องการของพวกเขาในการพัฒนาเมือง เช่น โครงการพัฒนาทางเดินเลียบแม่น้ำ ซึ่งมีกลุ่มคนที่ตั้งคำถามเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนที่อยู่ริมน้ำ หากจินตนาการจากนนทบุรีลงมาถึงปิ่นเกล้า ส่วนใหญ่เป็นบ้านส่วนตัวหลายระดับ และความหนาแน่นต่ำ ซึ่งมีหลายกลุ่มตั้งคำถาม หลายกลุ่มก็ไม่เห็นด้วย
“แต่ถามว่า มีกระบวนการที่ให้คนเหล่านี้เข้ามาเสนอความคิดเห็นหรือไม่ และหลายๆ ครั้งการจัดเวทีมันเป็นจุดที่ไม่สามารถยอมกันได้แล้ว แต่ปราศจากกระบวนการที่จะรับฟังความคิดเห็นหรือร่วมหารือถึงทางออกที่สามารถประสานประโยชน์ของกลุ่มคนต่างๆ ได้”
พายุที่รอวันพัดโหม
จากการไล่เรียงให้พอเห็นภาพของความเหลื่อมล้ำผ่านมิติการวางผังเมือง ที่ไม่ตอบโจทย์การเดินทางจากที่พักอาศัยเข้าสู่ที่ทำงาน ไปจนถึงสภาพแออัดของเมืองที่ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการขนส่งในกรณีผู้ป่วย นำมาซึ่งภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังของผู้สูงอายุ กระทั่งการสร้างสะพานลอยที่ไม่เอื้ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้อย่างแท้จริง หากยังประโยชน์ให้กับยวดยานพาหนะต่างๆ มากกว่า
นิรมลมองปัญหาเหล่านี้ว่า ที่สุดแล้วจะก่อตัวกลายเป็นพายุของความเหลื่อมล้ำเพิ่มพูนมากขึ้นๆ จากกายภาพเมืองที่ไม่ตอบโจทย์ประชากร และความเป็นเมืองที่ควรเป็นอย่างแท้จริง
“เรื่องของความเหลื่อมล้ำในยุคของเรานั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็น Perfect Storm ซึ่งจะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ และรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเราจะเห็นแล้วว่าเมืองเป็นต้นกำเนิดของความเหลื่อมล้ำ และกายภาพเมืองส่งผลอย่างมากต่อความเหลื่อมล้ำของสังคมและสิ่งแวดล้อม เราอยู่อาศัยอย่างไร เดินทางอย่างไร หาความสุขในชีวิตอย่างไร เดินทางอย่างไร กายภาพเมืองมีผลอย่างมาก”