“กาแฟลดความอ้วน เห็นผลทันตาใน 1 สัปดาห์”
“ผิวขาวใส ใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าของ”
“หมดกังวลกับไขมันและน้ำหนักส่วนเกิน”
“เครื่องดื่มสมุนไพรจีน เพิ่มความมั่นใจให้ท่านชาย”
ฯลฯ
หากสังเกตให้ดี โฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารที่แพร่หลายอยู่รอบตัวเราทุกวันนี้ ปัญหาที่พบมากคือโฆษณาที่โอ้อวดเกินจริง การบรรยายสรรพคุณที่เหลือเชื่อ แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ บ้างอวดอ้างว่าสามารถบำบัดรักษาโรคได้ จนเลยเส้นของคำว่า ‘อาหาร’ ไปสู่พรมแดนของ ‘ยา’
คำว่า ‘ผลิตภัณฑ์อาหาร’ ตามนิยามของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความหมายครอบคลุมถึงอาหารในภาชนะบรรจุปิดสนิท ผลิตภัณฑ์นม อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก กาแฟ เครื่องดื่ม อาหารกระป๋อง อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารเสริม (ตามกฎหมายคือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) ฯลฯ
เมื่อพลิกดูกฎหมาย พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40 ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร”
ถ้อยคำที่ใช้ในการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารมีหลักเกณฑ์สำคัญว่า ต้องไม่ทำให้เข้าใจผิด ไม่เป็นเท็จ หรือเกินจริง อย่างเช่น
- สามารถบำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันโรค
- ลดความอ้วน กำจัดไขมันส่วนเกิน ช่วยให้รูปร่างดี
- บำรุงสมอง ทำให้ฉลาด ความจำดี
- บำรุงผิว ทำให้ผิวดี ขาว เนียน กระชับ เปล่งปลั่ง
- บำรุงหรือเสริมสมรรถภาพทางเพศ
และในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 309) พ.ศ. 2550 เรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (ฉบับที่ 2) ระบุด้วยว่า การโฆษณาอาหารต้องแสดงข้อความที่ชัดเจนว่า “ไม่มีผลในการป้องกันหรือรักษาโรค”
นอกจากนี้ ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง การโฆษณาอาหาร ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 ระบุชัดว่า “ห้ามนำบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หรือทำให้เข้าใจว่าเป็นบุคลากรดังกล่าวมาแนะนำ รับรอง หรือเป็นผู้แสดงแบบ”
สนับสนุนโดย