สถานการณ์ความรุนแรงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases: NCDs) เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของคนทั่วโลกกว่า 38 ล้านคนต่อปี (ปี 2555) และเป็นวิกฤตการณ์ทางสุขภาพที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ 4 โรคหลัก คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
ภาระโรคเหล่านี้ส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีการประมาณความสูญเสียทางเศรษฐกิจในช่วง 15 ปีข้างหน้า คาดว่าอยู่ที่ราว 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และประชากรอีกจำนวนหลายล้านคนที่จะยังต้องอยู่กับความยากจน
ปี 2556 องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้กำหนด 9 เป้าหมายการดำเนินงานเพื่อป้องกันควบคุมสถานการณ์โรคไม่ติดต่อในระดับโลก ภายในปี 2568
สำหรับประเทศไทย ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2557 ได้ให้การรับรองเป้าหมายการดำเนินงานทั้ง 9 ข้อ ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการจัดการปัญหาโรคไม่ติดต่อเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี
ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรวิชาชีพ รวมถึงองค์กรไม่แสวงผลกำไรต่างๆ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ 5 ปี (2560-2564) เพื่อตอบสนองการดำเนินงานให้บรรลุตาม 9 เป้าหมายขององค์การอนามัยโลก โดยปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศไทย ทั้งด้านการส่งเสริม ป้องกัน คัดกรอง และรักษา เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ความชุกของการป่วย และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ