โรคภัยไข้เจ็บที่คร่าชีวิตคนไทยสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง คือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (Non-communicable Diseases) โรคยอดฮิตที่เราคุ้นหูเป็นอย่างดี เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ไปจนถึงอัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ
ที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยจะมีการรณรงค์ส่งเสริมเรื่องการดูแลสุขภาพมาตลอดหลายสิบปี แต่ปัญหานี้ก็ยังไม่ลดลง ซ้ำยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยปัจจัยแวดล้อมมากมาย โดยเฉพาะรูปแบบการใช้ชีวิตและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป
หากสาวให้ลึกลงไปถึงต้นเหตุที่ทำให้คนเจ็บป่วย ส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวเราเองแทบทั้งสิ้น
เราต่างรู้ดีว่า อาหารประเภทหวาน มัน เค็ม เป็นสิ่งไม่ดี แต่ก็อดใจไม่ไหว
เราต่างรู้ดีว่า การออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญ แต่หน้าจอโทรศัพท์มือถือก็มักทำให้เราพอใจที่จะนั่งๆ นอนๆ โดยไม่ลุกขึ้นมาขยับร่างกาย
เราอาจจะพอรู้ว่า การชั่งน้ำหนัก วัดความดัน วัดรอบเอว เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการตรวจสอบสุขภาพร่างกาย แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้วิธีปฏิบัติและหลักเกณฑ์ที่แน่ชัด หรือบางส่วนอาจรู้แล้ว แต่ไม่ตระหนัก เพราะไม่เข้าใจว่าหากปฏิบัติตามที่หมอแนะนำแล้วจะส่งผลดีอย่างไร และทำแค่ไหนจึงจะพอ
การมี ‘ตัวชี้วัดสุขภาพ’ สำหรับภาคประชาชน อาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยสื่อสารให้คนทั่วไปจดจำและเข้าใจได้ง่ายขึ้น และสามารถนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติในการตรวจสุขภาพด้วยตนเอง
เคล็ดลับการดูแลสุขภาพใน Infographic ชิ้นนี้ กลั่นจากประสบการณ์ตรงของ ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ อดีตหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พยายามคิดหาวิธีสื่อสารองค์ความรู้ทางการแพทย์ไปยังประชาชน ด้วยการแปลงเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องง่าย
ด้วยความเชื่อว่า เมื่อประชาชนรู้วิธีตรวจสอบสุขภาพตนเอง รู้สัญญาณบ่งชี้จากร่างกายของตนเอง สุดท้ายก็จะเกิดการเรียนรู้ เกิดความตระหนัก และนำไปสู่การปรับพฤติกรรมในที่สุด