อาชีวอนามัยและ Vision Zero ยุทธศาสตร์ต่อต้านโรคของคนวัยทำงาน

ในสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบหรือนอกระบบ ล้วนมีความสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น แต่ในแง่การดูแลด้านสวัสดิการหรือข้อบังคับเรื่องการคุ้มครองแรงงานส่วนมากยังคงมุ่งเน้นไปในด้านการป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงานเป็นประเด็นหลัก จนอาจไม่ได้ให้น้ำหนักต่อมิติทางสุขภาพของพนักงานหรือลูกจ้างเท่าที่ควร ปัจจุบันหลายหน่วยงานจึงเริ่มที่จะมองไปข้างหน้ามากกว่ากรอบเดิม จนทำให้คำว่า ‘อาชีวอนามัย’ ถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการมีสุขภาพที่ดี

จากสถานการณ์เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บที่กระทบต่อคนวัยทำงาน ทำให้สังคมเริ่มหันมาสนใจปัญหาเรื่องสุขภาพและการดูแลในระยะยาวมากขึ้น โดยเฉพาะการป้องกันกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (Non-communicable diseases: NCDs) ซึ่งเป็นภัยเงียบที่คุกคามผู้คนอย่างต่อเนื่อง จากงานศึกษาของ รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินธร กลัมพากร คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวข้อ ‘การคุ้มครองสิทธิผู้ทำงานในสถานประกอบการด้านการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ: ข้อเสนอแนะจากการทบทวนวรรณกรรม’ ระบุว่า สถานการณ์โรคไม่ติดต่อในประเทศไทยทวีความรุนแรงขึ้นอย่างชัดเจน โดยอัตราการตายก่อนวัยอันควรจากโรค NCDs เพิ่มขึ้นจาก 343.1 ต่อแสนคนใน พ.ศ. 2552 เป็น 355.30 ต่อแสนคนใน พ.ศ. 2556 ซึ่งกลุ่มโรค NCDs ที่ควรป้องกันและควบคุมอย่างเร่งด่วน 4 โรคหลัก ได้แก่ 1) โรคหัวใจและหลอดเลือด 2) โรคเบาหวาน 3) โรคมะเร็ง และ 4) โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง 

ประเทศไทยให้ความสำคัญต่อการจัดการด้านอาชีวอนามัยของคนวัยทำงานมากขึ้น อาทิ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2559 ได้ขยายสิทธิของผู้ประกันตนในการตรวจร่างกาย เพื่อคัดกรองและเฝ้าระวังโรค การออกมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางการเงินเพื่อจูงใจผู้ประกอบการ โดยกระทรวงแรงงานจัดหาแหล่งเงินทุนให้นายจ้างกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 วงเงินกู้ยืมสูงถึง 2 ล้านบาท ผ่านกองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้นายจ้างนำไปดำเนินการปรับปรุงสถานประกอบกิจการให้ลูกจ้างเกิดความปลอดภัย เป็นต้น

นอกจากนี้ มีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยเชิงป้องกันที่เหมาะสม หรือ ‘Vision Zero’ ตั้งแต่ปี 2558 โดย สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) หรือ SHAWPAT เพื่อให้ก้าวทันกระแสโลกด้านการคุ้มครองแรงงาน การหันกลับมาทบทวนและทำความรู้จักกับมาตรฐาน ‘อาชีวอนามัย’ และ ‘Vision Zero’ จึงเป็นเรื่องที่สังคมควรให้ความสนใจอีกครั้ง ในฐานะเครื่องมือเพื่อควบคุมความร้ายแรงของโรค NCDs ที่กำลังคุกคามแรงงานทุกคนในชาติ

อะไรคือ ‘อาชีวอนามัย’ และสำคัญแค่ไหนกับวัยแรงงาน

ในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวดที่ 6 เรื่องแนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 74 ได้กล่าวถึงการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดีในการทำงาน โดยก่อนหน้านี้มีการจัดทำแผนแม่บทความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานแห่งชาติ (พ.ศ. 2555-2559) และได้มีการต่ออายุยกร่างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของอาชีวอนามัยที่เข้ามามีบทบาทอย่างเป็นทางการในมิติการทำงานของคนไทยทุกคน

ในส่วนของนิยามคำว่า ‘อาชีวอนามัย’ นั้น แพทย์หญิงภิรญา ใจดีเจริญ ศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ (CH3 International Hospital) ระบุไว้ว่าคือ การส่งเสริมสุขภาพการทำงานให้คงไว้ซึ่งสุขภาพกาย ใจ และความเป็นอยู่ที่ดีในสังคม รวมทั้งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการเบี่ยงเบนด้านสุขภาพที่มีสาเหตุจากการทำงานของคนทำงานในทุกอาชีพ โดยการดูแลสภาพแวดล้อม เครื่องมือ กระบวนการให้เหมาะสมกับสภาพกายและจิตใจของคนทำงาน โดยการปรับงานแต่ละงานให้เข้ากับคนแต่ละคนส่วน สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์ฯ ให้ความหมายเอาไว้ว่า เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลสุขภาพอนามัยของผู้ประกอบอาชีพการงานให้มีสภาวะสมบูรณ์ดีทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ และสามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้ด้วยดี รวมทั้งมีความปลอดภัยจากภัยคุกคาม อันตรายและความเสี่ยงต่างๆ

ดังนั้นการทำงานในอาชีพที่ต้องเจอกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เป็นมิตรต่อสุขภาพย่อมมีผลร้ายต่อร่างกายแน่นอน ตัวอย่างในกรณีนี้ ได้แก่ การทำงานที่ต้องสัมผัสกับฝุ่นละอองจากพืช ฝุ่นฝ้าย ป่าน ปอ ที่อาจจะนำไปสู่การเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจและอวัยวะภายในสำคัญๆ อย่างปอดได้ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้หลายหน่วยงานจึงมีมาตรการที่หลากหลายในการยับยั้ง ป้องกัน หรือควบคุมโรค NCDs และสภาวะสุขภาพอื่นๆ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า อาชีวอนามัย 

สำหรับหน่วยงานที่มีความก้าวหน้ามาตลอดอย่าง European Commission ได้กำหนดกรอบกลยุทธ์สำหรับประเด็นสุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงานประจำปี ค.ศ. 2021-2027 เอาไว้ว่า ต้องคาดคะเนปัจจัยในการทำงานที่เปลี่ยนไป เช่น การมาถึงของยุคดิจิทัลและพลังงานสะอาด ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการรับมือวิกฤติด้านสุขภาพที่จะมาถึงอีกในอนาคต และต้องปรับปรุงหรือส่งเสริมให้วิธีการดำเนินงานสำหรับป้องกันในประเด็นดังกล่าวเข้มแข็งมากขึ้นต่อไป 

ในข้อสุดท้ายนั้น หน้าเว็บไซต์ของ European Commission ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า Vision Zero เป็นวิธีการสำคัญที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนต่อไป

อะไรคือ ‘Vision Zero’ และไทยทำได้ถึงจุดไหน

ในปี ค.ศ. 2015 กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือ กลุ่ม G7 ได้มีความคิดริเริ่มในการก่อตั้ง The Vision Zero Fund (VZF) ซึ่งต่อมาถูกสานต่อโดยกลุ่มภาคการเงินของประเทศชั้นนำอย่างกลุ่ม G20 และกลุ่มอื่นๆ จนได้รับความแพร่หลายในประชาคมโลก เป้าหมายหลักของ VZF คือ การตอบโต้กับสาเหตุการเสียชีวิต การบาดเจ็บ และโรคภัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงานโดยตรง

เอกสารเผยแพร่ของคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ต่อรัฐสภายุโรป คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคม และคณะกรรมการภูมิภาค เรื่องEU strategic framework on health and safety at work 2021-2027 Occupational safety and health in a changing world of workระบุว่า การประชุมเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (Occupational Safety and Health Standard) หรือ OSH summit ที่จะเกิดในปี 2023 จะมีการทบทวนวิธีการในการบรรลุเป้าหมาย Vision Zero โดยเฉพาะด้านการเสริมการตระหนักรู้ถึงปัญหา การสร้างผู้ประกอบการที่ส่งเสริมหลักอาชีวอนามัยผ่านกระบวนการเผยแพร่ความรู้ และการทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องยอมรับกฎระเบียบและหลักการด้านความปลอดภัยของสุขภาพเพิ่มมากขึ้น 

สำหรับนานาชาติแล้วเป็นที่ยอมรับว่า สภาพแวดล้อมในการทำงานมีผลสำคัญเช่นเดียวกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อันเป็นสาเหตุในการก่อโรคที่มีความซับซ้อน ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้นก็ได้เริ่มผลักดันหลักการที่เกี่ยวข้องกับ Vision Zero มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ผ่านสมาคม SHAWPAT และกลุ่มอื่นๆ โดยเว็บไซต์ Thailand Vision Zero ได้ระบุถึงความแตกต่างของ Vision Zero กับระบบอื่นๆ ว่า โครงการ Thailand Vision Zero มุ่งเน้นการใช้ระบบ checklist เป็นเครื่องมือตรวจสอบเพื่อให้การประมวลผลมีความแม่นยำกว่าระบบอื่น นอกจากนี้ยังเน้นความมุ่งมั่นของผู้นำและพนักงานทุกระดับ กระตุ้นวัฒนธรรมเชิงป้องกัน (prevention) และรวมเอาความผาสุกในการทำงานควบคู่ไปกับความปลอดภัยด้านอื่นๆ 

อย่างไรก็ตาม เอกสาร ‘แผนแม่บทความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานแห่งชาติ (พ.ศ. 2555-2559)’ โดย สำนักความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ระบุถึงปัญหาที่มีผลต่อการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับแรงงานเอาไว้ว่า กฎหมายหลายฉบับ ณ ปัจจุบันของไทยไม่มีความทันสมัยและขาดความชัดเจน ทำให้หลายครั้งต้องเกิดการตีความกฎหมาย จนอาจจะทำให้เป็นปัญหาและไม่สามารถปฏิบัติได้จริง

ดังนั้นแม้ไทยมีความพยายามที่จะไปให้ถึง Vision Zero ทว่าในการปฏิบัติจริงกลับไม่เห็นผลมากนัก ดังเห็นได้จากอัตราการตาย การป่วย และปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ออกจากกับดักสุขภาพแรงงาน ด้วยการพัฒนามาตรการเดิมให้ดีขึ้น

ถึงแม้มาตรการ Vision Zero หรืออาชีวอนามัยในไทยจะเต็มไปด้วยกรอบยุทธศาสตร์และแผนการทำงาน ทว่าผลลัพธ์ที่ปรากฏตลอดหลายปีที่ผ่านมากลับไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ ทำให้ประเทศไทยต้องหันมาทบทวนและมองวิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้เสียใหม่ แน่นอนว่าแนวทางในการไปให้ถึง Vision Zero และหลักการร่วมกันอื่นๆ ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่มาตรการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพแรงงานไทยในอดีตก็ควรถูกนำมาพัฒนาต่อยอดให้สามารถใช้งานได้จริงมากกว่านี้ 

การหลุดออกจากกับดักปัญหาด้านสุขภาพแรงงานไทย สุรินธร กลัมพากร ได้ให้ข้อเสนอแนะเอาไว้ในส่วนท้ายของงานศึกษาหัวข้อ ‘การคุ้มครองสิทธิผู้ทำงานในสถานประกอบการด้านการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ: ข้อเสนอแนะจากการทบทวนวรรณกรรม’ ว่า นอกจากการสร้างองค์ความรู้หรือเพิ่มอัตราการบริการในรูปแบบ package ด้านสุขภาพให้แก่สถานประกอบการแล้ว หน้าที่ของรัฐยังต้องเสริมมาตรการเดิมให้เข้มแข็งขึ้น ได้แก่ มาตรฐานแรงงานไทย ความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจไทย มรท. 8001 – 2553 ที่ประกาศไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 โดยข้อเสนอของ สุรินธร ระบุเอาไว้ดังนี้

  1. ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้มีการเพิ่มเรื่องการตรวจร่างกายประจำปี และการนำผลการตรวจร่างกายมาดำเนินการควบคุมและแก้ไขความเสี่ยงด้านสุขภาพ
  2. ด้านสวัสดิการ ให้มีการเพิ่มเรื่องสถานที่พักระหว่างการทำงาน สถานที่ออกกำลังกาย และการเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ
  3. มาตรฐานการจัดบริการอาหารในสถานที่ทำงาน นอกจากเรื่องสถานที่และสุขาภิบาล ควรมีการเพิ่มเรื่องคุณค่าทางโภชนาการและโภชนศึกษาประกอบด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวก็ไม่ได้ละทิ้งการขยายองค์ความรู้ การออกมาตรการสร้างแรงจูงใจจากภาครัฐ การแลกเปลี่ยนความรู้ และการขยายความร่วมมือกับแนวร่วมหรือผู้เกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคือการหยิบยกมาตรการที่เคยมีแต่เดิมของภาครัฐมาพัฒนาต่อยอด อาจเป็นหนึ่งในวิธีที่เห็นผลและไปได้ไวกว่าการสร้างมาตรการใหม่ๆ ขึ้นมาแทนที่ของเดิมที่มีอยู่แล้ว รวมถึงเป็นการเร่งให้ภาครัฐต้องออกมาดำเนินการจัดการกับภัยคุกคามของกลุ่มโรค NCDs ให้มากขึ้น

มิเช่นนั้นแล้ว ทั้งมาตรการอาชีวอนามัยและยุทธศาสตร์ Vision Zero ที่ประเทศไทยพยายามริเริ่มดำเนินการอยู่ อาจต้องใช้ระยะยาวนานกว่าที่จะก้าวเดินไปถึงเป้าหมาย

อ้างอิง

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า