ความเหลื่อมล้ำเป็นตัวร้ายสำคัญที่จะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ในสังคม หลายครั้งหลายหนเมื่อลองลากนิ้วไล่ที่มาของปัญหาแล้ว จะพบความเหลื่อมล้ำเป็นต้นตอของปัญหาอยู่ร่ำไป
สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นองค์กรวิชาการหนึ่งที่พยายามผลักดันให้สังคมเกิดความเสมอภาคมากขึ้น พร้อมกับลดความเหลื่อมล้ำให้น้อยลงในเวลาเดียวกัน การจัดเวทีสาธารณะเพื่อนำเสนอข้อค้นพบจากงานวิจัยและแลกเปลี่ยนกับทั้งนักวิชาการ ตลอดถึงคนทำงานโดยตรง จึงเป็นสิ่งที่ควรค่ารับฟัง
‘ประชากรนอกระบบในประเทศเหลื่อมล้ำ’ คือชื่อหัวข้อใหญ่ของเวทีสาธารณะนี้ โดยประกอบไปด้วยการนำเสนอผลของงานวิจัย 2 ชิ้นเป็นหลัก ชิ้นแรกคือ โครงการศึกษาความเท่าเทียมในโอกาสของกลุ่มเศรษฐกิจประชากรนอกระบบในเขตกรุงเทพฯ กรณีศึกษา กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ชิ้นที่สองคือ การวิจัยความเหลื่อมล้ำในระดับโลก: คำอธิบายว่าด้วยชนชั้นและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยร่วมสมัย จากนั้นจึงเป็นการร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการและกลุ่มผู้ประกอบอาชีพโดยตรง
“งานวันนี้เรียกว่าเป็นงานวิจัยเชิงวิชาการ เรื่องที่วิจัยเป็นเรื่องของชีวิตจริง และกระทบต่อความเป็นไปของสังคม หัวข้อวิจัยครั้งนี้คือเรื่องความเหลื่อมล้ำ และโลกใบนี้ก็เป็นโลกที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงแตกต่างกันในหลากหลายลักษณะ ทำให้มีบางคนได้เปรียบเสียเปรียบ คนที่เสียเปรียบจึงตกอยู่ในฐานะยากลำบากมากกว่าปกติ
“โจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำเมื่อก่อนมักถูกพูดถึงเฉพาะมิติทางเศรษฐกิจ เอารายได้เป็นตัวตั้ง แต่โควิด-19 ตอกย้ำว่าความเหลื่อมล้ำมีหลายด้าน การพูดคุยกันจะเปิดโอกาสให้แก้ไขปัญหาร่วมกันได้ ถ้าแก้ไม่ได้ก็ควรตระหนักว่าไม่ควรไปซ้ำเติมให้มันเลวร้ายไปกว่าเดิม ในความเหลื่อมล้ำถ้าเราดูแลกันไม่ดี ถ้าสังคมไม่เกิดการแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันอย่างกว้างขวาง มันก็อาจกลายเป็นข้อมูลข่าวสารที่บางคนได้รับมากน้อยไม่เท่ากัน ความเหลื่อมล้ำก็เป็นโอกาสของความขัดแย้งได้ จนถึงความไม่วางใจ ไม่เชื่อมั่นกับฝ่ายที่มีหน้าที่แก้ปัญหา วันนี้เรื่องสำคัญคือ การมองคอนเซ็ปต์ความคิดเรื่องความเหลื่อมล้ำ และมองบริบทตามความเป็นจริงของแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบในกรุงเทพมหานคร” ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดงาน
โครงการศึกษาความเท่าเทียมในโอกาสของกลุ่มเศรษฐกิจประชากรนอกระบบในเขตกรุงเทพฯ กรณีศึกษา กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และผู้ค้าหาบเร่แผงลอย
รศ.นพนันท์ วรรณเทพสกุล รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าคณะวิจัย กล่าวว่า โจทย์ของงานวิจัยนี้คือ การศึกษาความเหลื่อมล้ำในแรงงานนอกระบบ โดยเลือก 2 กลุ่มอาชีพในเขตกรุงเทพฯ คือ วินมอเตอร์ไซค์และผู้ค้าหาบเร่แผงลอย และประมวลความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นผ่านนโยบายของรัฐบาลที่มีมาต่อเนื่องตลอดทุกยุคสมัย จากนั้นจะวิเคราะห์ทิศทางของนโยบายที่เป็นอยู่ว่ามีช่องว่างหรือปัญหาอย่างไร เพื่อเสนอทางออกให้สังคม
นพนันท์เริ่มต้นด้วยการพาไปสำรวจวิธีคิดเบื้องหลังของความพยายามในการทำให้เป็นแรงงานเข้ามาอยู่ในระบบ เช่น หากมองผ่านนิยามของสำนักงานสถิติแห่งชาติจะเห็นว่า ‘การคุ้มครอง’ หรือ ‘หลักประกันทางสังคม’ เป็นจุดตัดสำคัญของการเป็นแรงงานในระบบ อีกทั้งยังเห็นถึงความพยายามผลักดันให้ผู้ที่ไร้ตัวตนหรือผู้ที่ราชการมองไม่เห็นว่าอยู่ตำแหน่งใดได้เข้ามาอยู่ในสารบบของรัฐ อันจะทำให้สามารถจัดสวัสดิการหรือหลักประกันทางสังคมให้พวกเขาได้ หรือหากมองผ่านสายตาคนทั่วไป มักคิดกันว่าการเป็นแรงงานนอกระบบจะถูกกดขี่และไม่ได้รับหลักประกันทางสังคมที่เพียงพอ
ทั้งนี้ นพนันท์ชวนคิดต่อไปว่า สำหรับแรงงานในระบบ หลักประกันที่มีอยู่นั้นเพียงพอแล้วหรือไม่
เมื่อกล่าวถึง ‘เศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ’ (informal economy) นพนันท์ได้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 1) ผู้ว่าจ้างที่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กโดยมีลูกจ้างไม่กี่คน 2) แรงงานจ้างตนเอง และ 3) แรงงานในกิจการขนาดเล็กในภาคเศรษฐกิจไม่เป็นทางการ หรือแรงงานที่ไม่สามารถกำหนดตัวนายจ้างได้ชัดเจน หรือไม่มีสัญญาจ้าง
แรงงานในเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการนี้ มีพัฒนาการและเป้าหมายแปรเปลี่ยนไปตลอดตามยุคสมัย เช่น เดิมการขึ้นทะเบียนแรงงานก็มาจากแนวคิดที่มองว่า แรงงานในเศรษฐกิจไม่เป็นทางการ มักเป็นแรงงานสีเทา ค้าของผิดกฎหมาย จึงนำมาสู่ความพยายามในการกำกับดูแลและขึ้นทะเบียน
หรือต่อมาอีกยุคหนึ่งก็พูดถึง ‘ผู้ที่มีลูกจ้างไม่กี่คน’ (informal enterprises) ตลอดจนถึง ‘แรงงานนอกระบบ’ (informal employment) ที่ต้องการมองหาว่าแรงงานนอกระบบมีตำแหน่งอยู่ที่ใดบ้าง โดยในระยะหลังมีการขยายความคิดในเรื่องของเป้าหมาย เป็นการเพิ่มโอกาสในชีวิตของผู้ทำงานหากเข้ามาในระบบ
เมื่อมองมายัง 2 กลุ่มอาชีพในงานศึกษาวิจัย จะเห็นว่าความเป็นแรงงานนอกระบบของแต่ละอาชีพมีไม่เหมือนกัน เช่น จากข้อมูลปี 2560 ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยนอกระบบมีสูงถึง 93 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ในระบบมีเพียงแค่ 7 เปอร์เซ็นต์ ต่างจากวินมอเตอร์ไซค์ที่มีการขึ้นทะเบียนในระบบแล้ว 60 เปอร์เซ็นต์ และอยู่นอกระบบ 39 เปอร์เซ็นต์ นพนันท์ชี้ว่า ข้อมูลเหล่านี้คือความพยายามในการหาตัวตนของแรงงานนอกระบบนั่นเอง
สำหรับข้อมูลที่มีอยู่คือ แรงงานเหล่านี้ค่อนข้างทำงานหนัก ทำอาชีพเดียวไม่พอ ต้องมีอาชีพเสริม แต่ก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่า ทำไมในอาชีพหาบเร่แผงลอยและวินมอเตอร์ไซค์จึงมีการแบ่งแยกกัน ทั้งๆ ที่ลักษณะพื้นฐานของประชากรหรือคนเหล่านี้ มีภูมิหลังและพื้นเพลักษณะเดียวกัน
เพื่อตอบคำถามนี้ งานวิจัยจึงมีโจทย์คือ 1) ค้นหาความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคนซึ่งมีอัตลักษณ์ร่วมกัน และ 2) อธิบายปัญหาและอุปสรรคจากนโยบายความเท่าเทียมในโอกาส
นพนันท์แสดงให้เห็นว่า ประชากรบางส่วนมีการขยับไปมาระหว่างในระบบและนอกระบบ ทั้งนี้ เมื่อแรงงานเข้ามาอยู่ในระบบแล้ว ได้รับความคุ้มครองและสวัสดิการแล้ว แต่ส่วนที่เหลือยังไม่เห็นว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร เช่น วินเถื่อนที่ไม่ได้รับการรับรองในระบบ กลุ่มไรเดอร์ หาบเร่แผงลอย ก็ยังมีความเป็นแรงงานนอกระบบ ตรงกันข้ามกับทิศทางหลักของรัฐบาลที่ต้องการให้อยู่ในระบบเพื่อคุ้มครองชีวิตและรายได้ของพวกเขา
ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างกลุ่มวินแต่ละประเภทที่มีปัจจัยหลักคือ การขึ้นหรือไม่ขึ้นทะเบียนของรัฐบาล ส่วนกลุ่มหาบเร่แผงลอยก็เห็นถึงการบังคับใช้กฎหมายโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นการสร้างโอกาสให้แก่พวกเขาอย่างไรบ้าง
ตัวเลขที่พบคือ ถึงแม้จะมีการขึ้นทะเบียนของประชากรทั้ง 2 กลุ่มอาชีพ แต่ยังมีความลักลั่นของการเป็นแรงงานในระบบ เพราะ แม้จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่กฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลก็ยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน หรือผิดไปจากหลักเกณฑ์ ทำให้ยังเป็นแรงงานที่ล่องหนอยู่นั่นเอง หรือในกลุ่มหาบเร่แผงลอยเองก็ยังมีลักษณะที่ผิดหลักเกณฑ์ของแรงงานในระบบสูงถึง 15-30 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน
จะเห็นได้ว่า เมื่อแรงงานเข้ามาอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของรัฐก็ยังมีความเหลื่อมล้ำในหลายลักษณะ หลายแบบ แม้รัฐบาลต้องการลดความเหลื่อมล้ำ แต่กลับดำเนินการแบบสงเคราะห์ ให้ความสนใจน้อยต่ออำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้กลไกที่มีอยู่ไม่ได้ช่วยเพิ่มโอกาสให้แก่แรงงาน ดังตัวอย่าง 2 อาชีพข้างต้น นำมาสู่ข้อเสนอว่า ภาครัฐมองเห็นความไม่เท่าเทียมในโอกาสหรือไม่ และให้ความสำคัญต่อแรงงานที่ไม่เป็นทางการมากพอหรือยัง
ส่วนการดูแลกลุ่มคนว่างงานก็ยังเป็นพื้นที่ดำมืด มองไม่เห็นแนวทางการช่วยเหลือ ด้วยกฎระเบียบที่แข็งตึง ไม่ได้ขยับไปสู่ทิศทางที่ก้าวหน้าของการประกอบอาชีพมากเท่าที่ควร นี่คือบทสรุปของงานวิจัย
การวิจัยความเหลื่อมล้ำในระดับโลก: คำอธิบายว่าด้วยชนชั้นและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยร่วมสมัย
ผศ.ดร.ฐานิดา บุญวรรโณ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เริ่มด้วยการเล่าถึงวัตถุประสงค์การวิจัยว่า ต้องการศึกษาสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำผ่านการอธิบายโครงสร้างชนชั้นของสังคมไทยในปัจจุบัน เพื่อทำความเข้าใจความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสในชีวิตของคนไทยในแต่ละชนชั้น
นั่นนำมาสู่คำถามว่า โครงสร้างชนชั้นในสังคมไทยเป็นอย่างไร และคนในแต่ละชนชั้นมีตัวตนหรือพฤติกรรมอย่างไร
เพื่อตอบคำถามดังกล่าว งานวิจัยจึงเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก 72 กรณี ในทุกภูมิภาคของประเทศ และด้วยความที่คนเมืองและคนชนบทมีความแตกต่างเหลื่อมล้ำในโอกาสทางเศรษฐกิจ ตลอดถึงมีช่วงวัยที่เติบโตอยู่ภายใต้นโยบายซึ่งแตกต่างกัน งานวิจัยจึงใช้อาชีพและช่วงวัย (generation) เป็นตัวแปรในการวิเคราะห์ด้วย
การเติบโตภายใต้ยุคสมัยและนโยบายรัฐที่แตกต่างกันนี้ มีผลในการสร้างคุณภาพชีวิตซึ่งจะส่งผ่านไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน อายุจึงเป็นปัจจัยด้านเวลาที่ต้องคิดคำนวณ ทั้งยังทำให้เห็นแบบแผนที่แตกต่างกันของคนในแต่ละช่วงอายุ ต่อเรื่องความเหลื่อมล้ำและปัญหาสังคม
หากถามว่าโครงสร้างชนชั้นในสังคมเป็นอย่างไร ฐานิดากล่าวว่า ในแง่โครงสร้างทางการเมือง แม้จะมีการอภิวัฒน์ 2475 แต่โครงสร้างการเมืองไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก หากยังคงยึดโยงกับผลประโยชน์และทรัพยากร อำนาจยังกระจุกตัวที่คนกลุ่มหนึ่งอยู่เช่นเดิม ส่วนโครงสร้างเศรษฐกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก นับตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 และต่อเนื่องมาในทุกๆ รัฐบาล
ทั้งนี้ นโยบายในแต่ละรัฐบาลจะก่อประโยชน์แก่คนรุ่นก่อนหน้า (รุ่นปู่ย่าตายาย) และจะสืบเนื่องมายังรุ่นลูกหลาน ดังนั้น ความร่ำรวยที่เกิดจากนโยบายเหล่านี้จึงไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่ในรุ่นที่มีนโยบายนั้นๆ แต่ยังมีการส่งผ่านอำนาจและทรัพย์สินทางเศรษฐกิจที่ได้สะสมมาไปยังคนรุ่นหลัง โดยการสำรวจการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างนี้ต้องนำบริบทโลกมาพิจารณาประกอบด้วย
ฐานิดาเล่าต่อว่า สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ โครงสร้างนี้ไม่ได้มีผลแค่รายได้ ทุนทางเศรษฐกิจ หรือโอกาสในชีวิตเท่านั้น แต่การเกิดและเติบโตภายใต้บริบทแบบหนึ่งยังส่งผลต่อวิธีคิดและอุดมการณ์ ความเชื่อความศรัทธา ตลอดถึงการมองปัญหาวิกฤติต่างๆ อีกด้วย เช่น คน Gen Z ก็จะมีมุมมองต่อเรื่องหนึ่งๆ ต่างไปจากคนรุ่น Baby Boomer
อย่างไรก็ดี งานวิจัยพบว่าในแต่ละชนชั้นก็มีความแตกต่างระหว่างกัน การอยู่ในตำแหน่งเดียวกันก็อาจมีความเหลื่อมล้ำในช่วงชั้น/อาชีพเดียวกัน เช่น อาชีพทหาร ก็มีความเหลื่อมล้ำในเหล่าทัพแตกต่างกัน ‘ทหารบก’ จะมีความเหลื่อมล้ำระหว่างชั้นสัญญาบัตรที่มาจากโรงเรียนเตรียมทหารกับชั้นประทวน ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับ ‘ทหารอากาศ’ ที่สามารถตั้งคำถามได้ เนื่องจากขณะบังคับเครื่องบินจำเป็นต้องมีเหตุผล มีคนคอยยืนยันการตัดสินใจ โดยไม่สนใจลำดับชั้น ทำให้ระดับความเข้มข้นในความเหลื่อมล้ำต่างจากทหารบก หรือในกรณีของ ‘ทหารเรือ’ ก็จะมีลำดับความเข้มข้นต่างจากสองเหล่าแรก เพราะพร้อมจะแสดงความนับถือคนเรือหรือครูเรืออยู่เสมอ ผ่านการเรียกว่า ‘พี่’
ด้วยความเหลื่อมล้ำที่แตกต่างกันนี้ ฐานิดาจึงเสนอว่า การมองชนชั้นในไทยไม่สามารถมองแบบเหมารวมผ่านสายตาเดียวได้ เพราะแม้แต่ในอาชีพเดียวกันก็อาจไม่ได้มีลักษณะเดียวกัน ดังเช่นอาชีพทหารที่ได้ยกตัวอย่างมา
งานวิจัยนี้แบ่งลักษณะของทุนออกเป็น 4 ประเภท คือ 1) ทุนทางเศรษฐกิจ (economic capital) เช่น รายได้ ทรัพย์สิน และฐานะทางเศรษฐกิจ 2) ทุนทางวัฒนธรรม (cultural captial) เช่น การศึกษา ทักษะ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ 3) ทุนสังคม (social capital) หมายถึง เครือข่ายทางสังคมหรือความสัมพันธ์และการยึดโยงกับสังคม และ 4) ทุนสัญลักษณ์ (symbolic capital) อาทิ เกียรติยศ ชื่อเสียง และอำนาจทางการปกครอง
ทุนทั้ง 4 ประเภทนี้ สามารถนำมาจัดประเภทชนชั้นได้เป็น 5 กลุ่มชนชั้น
กลุ่มแรก ‘คนชายขอบ’ (marginalized) คือ กลุ่มซึ่งไม่มีทุนใดๆ โดยสิ้นเชิง คนรุ่นบุพการีของคนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มีการสะสมทุนหรือส่งผ่านทุนใดๆ ให้ ทั้งยังไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการหรือผลประโยชน์ใดๆ เลย คนกลุ่มนี้จึงไร้ซึ่งความฝัน และมองว่าแม้จะดิ้นรนเท่าไรก็ไม่สามารถพ้นจากการเป็นคนจนได้ ตัวอย่างของกลุ่มคนชายขอบ อาทิ ผู้ประกอบอาชีพซาเล้ง หรือกลุ่มคนไร้บ้าน เป็นต้น
กลุ่มที่สอง ‘ผู้ต่อสู้ดิ้นรน’ (struggler) เป็นกลุ่มที่มีทุนทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคมอยู่บ้าง สามารถเข้าถึงสวัสดิการได้จำนวนหนึ่ง มีความฝัน แต่ก็ยังไม่บรรลุผล เพราะมีการงานที่ไม่มั่นคง หากมีอะไรมากระทบก็พร้อมเสมอที่จะตกช่วงชั้น เช่น หากเกิดโรคระบาดก็พร้อมที่จะตกงานทันที คนในกลุ่มนี้ อาทิ ลูกจ้างโรงงาน ผู้รับจ้างทั่วไป หรือผู้ประกอบอาชีพค้าขายรายวัน
กลุ่มที่สาม ‘ชนชั้นกลาง’ (middle class) เป็นกลุ่มที่มีการส่งผ่านทุนทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคม จากรุ่นสู่รุ่น มีหน้าที่การงานมั่นคงระดับหนึ่ง เริ่มมีสิทธิพิเศษบางอย่าง มีศักยภาพในการรับมือผลกระทบและสามารถปรับตัวได้ มีสถานะเศรษฐกิจแบบพออยู่พอกิน มีหนี้สินบ้างตามปกติ คนกลุ่มนี้อาจประกอบอาชีพรับราชการ เป็นช่างทำผม หรือเป็นฟรีแลนซ์ เป็นต้น
กลุ่มที่สี่ ‘มั่นคง’ (stability) กลุ่มนี้จะมีทุนสูงค่อนข้างมาก มีการสะสมและส่งผ่านทุนจากคนรุ่นก่อน มีอาชีพที่มั่นคงสูง แต่ยังไม่มีอำนาจและความสามารถในการชี้นำสังคมเท่าไรนัก คนกลุ่มนี้อาจประกอบอาชีพทันตแพทย์ ทหารชั้นประทวน ข้าราชการ หรือเป็นเจ้าของโรงงาน
กลุ่มสุดท้าย ‘มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน’ (stability+) เป็นพวกที่มีทุนสูงที่สุด มีการสะสมและส่งผ่านทุนมาก มีสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจค่อนข้างดี ทั้งยังมีอำนาจในการกำหนดผลประโยชน์ หนำซ้ำยังมีทุนสัญลักษณ์ซึ่งสามารถใช้ตำแหน่งในโครงสร้างสังคมกำหนดหรือชี้นำการพัฒนาของประเทศ หรือชี้นำความเป็นความตายของชีวิตคนอื่นได้ คนในกลุ่มนี้อาจประกอบอาชีพผู้พิพากษา นายทหารชั้นสูง เป็นต้น
อนึ่ง ฐานิดาให้ข้อมูลว่า เส้นของการตัดแบ่งแต่ละชนชั้นไม่ปรากฏชัดตายตัว (ไม่ใช่ fix boundary) แต่เป็น contesting class boundary และตำแหน่งแห่งที่ของชนชั้นมีลักษณะขัดแย้งภายใน (contradictory class location) กล่าวคือ เป็นการแบ่งโดยมีเส้นตัดที่ไม่ชัดเจน สิ่งที่นำเสนอในวิจัยจึงเป็นเพียงการพยายามสรุปให้เห็นภาพเท่านั้น
มั่นคงอย่างยั่งยืน (Stability+) | มีทุน สะสมทุน ส่งผ่านทุน มั่นคงมาก มีอำนาจในการกำหนดผลประโยชน์และอำนาจในการชี้นำ มีเกียรติยศและเกียรติภูมิในสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ มีอิทธิพลต่อความคิดและชีวิตของผู้อื่นในสังคม (มีทุนทางสัญลักษณ์) | ผู้พิพากษา นายทหารชั้นสูง อดีตกำนัน |
มั่นคง (Stability) | มีทุน (เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม) มาก สะสมทุน ส่งผ่านทุน มั่นคงมาก แต่อาจไม่มีอำนาจและความสามารถในการชี้นำสังคมได้เท่าชนชั้นมั่นคงอย่างยั่งยืน | ทันตแพทย์ ทหารชั้นสัญญาบัตร ข้าราชการ เจ้าของสวนทุเรียนและตลาด เจ้าของโรงงานน้ำแข็ง |
ชนชั้นกลาง (Middle Class) | มีทุน (เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม) สะสมทุน ส่งผ่านทุน มั่นคงระดับหนึ่ง ถ้าหากมีอะไรมากระทบสามารถเอาตัวรอดได้ ปรับตัวได้ | นายตำรวจ/ทหารชั้นประทวน ช่างทำพลอย ช่างทำผม ฟรีแลนซ์ กัปตัน |
ต่อสู้ดิ้นรน (Struggler) | มีทุน (เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม)บ้าง เข้าถึงสวัสดิการ มีความฝัน แต่ฝันยังไม่เป็นจริง หรือต้องละทิ้งความฝันไปทำอีกอย่างเพราะต้องเลี้ยงปากท้อง มีงานแต่ไม่มั่นคง ถ้าหากมีอะไรมากระทบสามารถตกชั้นได้ทุกเมื่อ เช่น ตกงานทันทีในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด | แม่ค้าทุนรายวัน (ขายหมูปิ้ง ขายโรตี ขายขนมในโรงเรียน) รับจ้างทั่วไป ลูกจ้างโรงงาน |
ชายขอบ (Marginalized) | ไม่มีทุนใดๆ รุ่นปู่ย่าตายายพ่อแม่ก็ไม่ได้สะสมทุน ไม่ได้ส่งผ่านทุนใดๆมา ไม่มีความฝัน เข้าถึงสวัสดิการบ้าง หรือเข้าไม่ถึงเลย | ซาเล้ง กลุ่มคนไร้บ้าน |
เมื่อมองถึง ‘โอกาส’ ในชีวิตของแต่ละชนชั้น การมี ‘ตัวเลือก’ จะเป็นสิ่งซึ่งแสดงถึงโอกาสในชีวิตของแต่ละชนชั้น โดยตัวเลือกจะมีมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับทุนทั้ง 4 ประเภทที่แต่ละคนมี
งานวิจัยพบว่า ยิ่งมีความเหลื่อมล้ำในชนชั้นมากเท่าไร ยิ่งเปิดโอกาสให้ ‘ระบบอุปถัมภ์’ ทำงานมากขึ้นเท่านั้น เช่น อาชีพทหาร ตำรวจ เป็นต้น การอุปถัมภ์นี้มีทั้งในชนชั้นเดียวกัน (เป็นเพื่อนในเครือข่ายกัน) หรือระหว่างชนชั้น (ยิ่งอยู่ใกล้นาย ยิ่งมีโอกาสมากเท่านั้น) กล่าวได้ว่า การเป็นคนของใคร สัมพันธ์อย่างยิ่งกับปริมาณโอกาสในชีวิตของแต่ละคน
ระบบอุปถัมภ์ในที่นี้ เป็นทั้งการอุปถัมภ์จากคนลำดับล่างอุปภัมภ์คนลำดับบน และคนลำดับบนอุปถัมภ์คนลำดับล่าง เช่น คนลำดับล่างจ่ายส่วย เพื่อให้เกิดการเลื่อนชั้น โดยสังคมเองก็สามารถเปิดโอกาสให้คนได้ เช่น ผ่านการศึกษา ทุนการศึกษา หรือนโยบายส่งเสริมภาคเอกชน อย่างโครงการสนับสนุน SME หรือโครงการให้ทุนการศึกษา อย่าง หนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน หรือ โครงการเงินทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ก็มีส่วนที่ทำให้คนชั้นหนึ่งสะสมทุนและเลื่อนไปอีกชั้นหนึ่ง หรือทำให้ลูกมีฐานะทางชนชั้นดีขึ้นจากการที่พ่อแม่ได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อ
ฐานิดาเล่าต่อว่า จากการศึกษาทั้งหมด 35 กรณี แม้จะพบการเลื่อนชั้นอยู่ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ไม่พบว่ามีกรณีใดที่เกิดการเลื่อนชั้นได้ไกล ส่วนใหญ่เป็นยอดคลื่น แบบเงินต่อเงิน ตัวอย่างเช่น กรณีหนึ่งเป็นเศรษฐีนีที่จัดอยู่ในรุ่น Baby Boomer เดิมทำงานตามบ้าน แล้วพบรักกับช่างพลอย เริ่มตั้งตัวจากธุรกิจทำพลอยสู่อสังหาริมทรัพย์ ก่อนขยับชนชั้นจากเดิมเป็นชาวบ้านกลายเป็นเศรษฐีนี
อาจสรุปรวบยอดได้ว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเลื่อนชั้น ประกอบไปด้วย 3 ปัจจัย 1) ความสามารถเฉพาะตัว 2) การศึกษา และ 3) โอกาสจากรัฐบาลหรือแผนการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่เป็นการพัฒนาโครงสร้างการผลิตและการกระจายสินค้า
ส่วนขีดจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถเลื่อนชั้นได้ อาจเกิดจากการที่บางชนชั้นมีความพยายามรักษาขอบเขตของชนชั้น เช่น กลุ่มมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน หรือ stability+ มีเส้นแบ่งที่ตายตัว ทำให้เกิดการเลื่อนชั้นได้ยากมาก และจำเป็นต้องมีสถานภาพทางสังคมบางอย่าง เช่น มีชาติกำเนิดที่ดี เป็นต้น
ฐานิดาอธิบายเพิ่มเติมว่า การเลื่อนชั้นไม่สามารถเลื่อนไปได้ทุกชั้น บางชนชั้นเองก็มีทรัพยากรอำนาจที่เอื้อประโยชน์กับชนชั้นของตน จึงมีความพยายามค้ำจุนโครงสร้างนี้ไว้ ในขณะที่ชนชั้นซึ่งไม่มีทรัพยากรก็ต้องดิ้นรนเพื่อเปลี่ยนแปลงชนชั้นของตนเอง
ฐานิดากล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า การค้ำจุนโครงสร้าง ไม่ใช่เพียงแค่การส่งผ่านทุนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการปลูกฝังอุดมการณ์ด้วย เช่น กลุ่มมั่นคง และกลุ่มมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน จะสอนลูกว่า จะประกอบอาชีพใดก็ได้ แต่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการเงิน ในขณะที่ 3 ชนชั้นล่าง จะสอนให้ลูกเรียนเพื่อเป็นข้าราชการ
เสียงของคนเบื้องล่าง ถามถึงคนเบื้องต้น
ช่วงเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรวัตร ชอบธรรม ประธานเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มด้วยการบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะที่เป็นผู้ค้าหาบเร่แผงลอยมาหลายสิบปี
เรวัตรกล่าวว่า ก่อนจะมาอยู่ในจุดนี้ ความเหลื่อมล้ำหรือการแบ่งชนชั้นมีมาก่อนนานแล้ว จนผู้ค้าหาบเร่แผงลอยมองว่ามันคือวัฒนธรรมที่เป็นมาตั้งแต่เกิด คนยากจนทั่วไปจะเกิดตามโรงพยาบาลเล็กๆ ต่างจากคนฐานะดีที่จะไปเกิดในโรงพยาบาลที่ดี
ด้านความเป็นอยู่ เรวัตรเล่าว่า ความเจริญของเมืองที่ผุดขึ้นมาในแต่ละพื้นที่ เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคหลัง เดิมคนต่างจังหวัดหรือที่เรียกกันทุกวันนี้ว่า ‘คนจนเมือง’ จะอพยพเข้ามาเป็นแรงงาน หรืออาจเปิดร้านอาหารให้แรงงานตามจุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สะพานพระปิ่นเกล้า ตลอดจนหมอชิต ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นฐานในการสร้างรายได้และสร้างเนื้อสร้างตัวของคนเล็กคนน้อยเหล่านี้
อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดความเจริญขึ้น ก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาตามจุดต่างๆ เช่น สุขุมวิท นานา สีลม ทั้งกลางวันและกลางคืน เมื่อผ่านไประยะหนึ่งจึงมี ‘กลุ่มทุน’ เข้ามาทำการปลี่ยนแปลง เกิดโครงการทั้งเอกชนและรัฐ และมีการอ้างเรื่องความสะอาดสวยงามเพื่อออกคำสั่งขับไล่คนเล็กคนน้อย และเปิดให้เอกชนเข้ามาแทนที่ โดยปราศจากวางแผนว่าจะย้ายคนเหล่านี้ไปอาศัยอยู่ที่ใด คนที่มาจากต่างจังหวัดในสมัยแรกจึงต้องกลับไปอยู่บ้านนอก
เรวัตรเล่าต่อว่า มีคนต่างจัดหวัดบางส่วนที่เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ และสามารถยกระดับฐานะได้ หรืออาจโชคดีได้ช่องทางจนกลายเป็นเจ้าของกิจการ หากโชคดีน้อยลงมาก็ยังพอมีบ้านเช่าและสามารถส่งลูกเรียนหนังสือได้ แต่เมื่อเกิดคำสั่งไล่รื้อ พวกเขากลับต้องย้อนกลับไปอยู่ในจุดเดียวกับเมื่อ 20-30 ปีที่เข้ามากรุงเทพฯ ใหม่ๆ ทั้งด้วยปัจจัยอายุที่มากขึ้น ก็ทำให้พวกเขาไม่สามารถกลับไปทำงานแบบเดิมได้ ผลที่ตามมาคือ เกิดการเสียโอกาสทางการศึกษาของบุตรหลาน เมื่อขาดการศึกษาก็ทำให้ไม่มีอาชีพที่ดีและมั่นคง
“ช่วง 6-7 ปีที่มีการจัดระเบียบ เป็นคำที่สวยงามมาก แต่จริงๆ มันหมายถึงการไล่รื้อ การเอาออกจากพื้นที่ที่ราชการเป็นผู้บริหารดูแล กว่าจะเข้าใจตรงนี้พวกเขาก็โดนไล่ไปแล้ว
“พวกเราเป็นแค่ตัวละครตัวหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถบรรยายเป็นตัวหนังสือให้กลุ่มมีอำนาจรับรู้ แต่หากมีนักวิชาการมาช่วยส่งสารนี้ออกไปก็จะเป็นประโยชน์มาก”
ต่อมา เบญจพล นาคพันธุ์ ตัวแทนเครือข่ายแผงลอยฯ ได้เล่าต่อถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า กลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอยได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ก่อนการเกิดขึ้นของโควิด-19 แล้ว
“จริงๆ แล้วช่วงโควิดเราโดนเยอะ โดนเต็มๆ ก่อนที่โควิดจะมา เราเจอหลายสิ่งหลายอย่าง หรือจะเรียกวิบากกรรมก็ได้ ตั้งแต่ปี 2559 ที่โดน กทม. ยกเลิกจุดผ่อนผันไปกว่า 500 จุด จากทั้งหมด 600 จุด ผู้ค้าทั้งนอกระบบ 2-3 แสนคน และในระบบ 2-3 หมื่นคน ได้รับผลกระทบโดยตรง
“การที่โควิดระบาดระลอก 1 2 3 มันก็ไม่ต่างจากที่พวกเราโดนยกเลิกจุดผ่อนผัน เพราะเราไม่มีอาชีพ ผู้ค้าที่โดนยกเลิกไม่สามารถมีรายได้ บางคนต้องดิ้นรนไปอยู่ต่างจังหวัดบ้าง ไปอยู่ตลาดเอกชนบ้าง บางคนก็เปลี่ยนอาชีพไปเลย เป็นการดิ้นรนหาทางออก ภาษาชาวบ้านคือหนีตาย ทุกคนกระเสือกกระสนกันหมด
“พวกเราโดนกระทำมาตั้งแต่ปี 2559 ก่อนหน้านั้นพวกเราประกอบอาชีพค้าขาย หากินเช้ากินค่ำ พอถึงจุดที่โดนยกเลิกมันก็ไม่มีรายได้ การจะกลับมาค้าขายได้อีกคงเป็นเรื่องยากมาก”
เบญจพลเห็นว่า อนาคตของผู้ค้าหาบเร่แผงลอยล้วนถูกกำหนดโดยผู้มีอำนาจชี้นำ หากผู้มีอำนาจเหล่านั้นมีความเห็นหรือตัดสินใจเช่นไร ชีวิตของผู้ค้าหาบเร่แผงลอยก็ต้องเป็นไปตามนั้น ทั้งยังมีความเหลื่อมล้ำจากการบังคับใช้กฎหมายของผู้มีอำนาจเหล่านั้นด้วย
“ทุกพื้นที่ที่เขายกเลิกมันมีมูลค่าหมด มีต้นทุน มีราคา แล้วแต่สถานที่ หน้าโรงเรียน หน้าวัด หน้าชุมชน มีมูลค่าหมด สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ เลี้ยงผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้านได้ ซึ่งหน่วยงานหรือผู้บริหารก็หยิบยกพื้นที่ตรงนี้มาสร้างมูลค่าขึ้นอีก เช่น ทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและออกเป็นกฎข้อยกเว้น แม้ฟุตบาธจะไม่ผ่านเกณฑ์ นี่ก็คือความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่ง”
เบญจพลมีความเห็นว่า ภาครัฐเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างภาพจำด้านลบของหาบเร่แผงลอย ไม่ว่าในแง่กีดขวางทางเท้า สร้างความสกปรก โดยไม่เคยนำเสนอด้านดีของหาบเร่แผงลอย เช่น การเป็นครัวของคนเมือง ซึ่งเบญจพลเห็นว่านี่เป็นการ ‘เอาเปลือกมาเป็นแกน’
“ในอดีตเคยมีการอภิวัฒน์เมือง แล้วทำไมไม่มีการอภิวัฒน์หาบเร่แผงลอยคู่กับเมือง … โควิดรอบ 3 เราเหมือนคนที่ตายแล้วตายอีก ตายซ้ำตายซ้อน” เบญจพลกล่าวทิ้งท้าย
ถัดมาที่ สันติ ปฏิภาณรัตน์ เลขาธิการสมาคมผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย เล่าว่า วินมอเตอร์ไซค์เป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แม้ตอนแรกจะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน แต่สุดท้ายวินจำนวนมากก็ถูกยึดรถมอเตอร์ไซค์ เพราะรัฐบาลไม่ประกาศให้มีการพักหนี้ในส่วนของนาโนไฟแนนซ์
ทั้งนี้ แม้สมาชิกส่วนใหญ่จะสามารถไถ่รถกลับมาเพื่อขับขี่ประกอบอาชีพหลังโควิด แต่ยังไม่ทันได้หายใจหายคอ กลับเกิดการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 และ 3 ตามมา
สันติเล่าต่อว่า การระบาดระลอกที่ 3 มีความรุนแรงมาก เนื่องจากรายได้หลักของวินกว่าครึ่งหนึ่งมาจากการใช้บริการของนิสิตนักศึกษาและนักเรียน เมื่อมีการออกมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้ผู้ใช้บริการเหล่านี้หายไป
ครั้นจะไปกู้ยืมจากธนาคารก็เป็นไปได้ยาก เพราะแม้จะมีศักยภาพในการผ่อนชำระหนี้ก็ตาม แต่ด้วยกฎเกณฑ์ในการปล่อยกู้ ทำให้พวกเขาถูกปฏิเสธอยู่เสมอ สถานการณ์เช่นนี้บีบบังคับให้ต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบแทน
“ทุกวันนี้พวกผมยังไม่เข้าถึงแหล่งทุนของรัฐ ถ้าจะไปกู้กับรัฐ ต้องใช้เอกสารจำนวนมาก ทั้งๆ ที่เห็นว่าพวกผมมีรายได้จริงๆ เพียงแต่ไม่ได้วิ่งไปฝากเงินธนาคารทุกวัน ทำงานทั้งวันจะเอาเวลาไหนไปฝาก แม้จะมีรายได้มากกว่าราชการด้วยซ้ำ แต่เขาไม่ได้มองตรงนั้น”
สันติยังชี้ให้เห็นว่า หน่วยงานรัฐเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมาย โดยยกตัวอย่างของผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างของแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องมีรถของตัวเอง สามารถนำรถผู้อื่นมาใช้งานได้ หนำซ้ำยังรับหรือส่งผู้โดยสารที่ไหนก็ได้ ต่างจากวินที่ต้องขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย ทั้งยังไม่สามารถรับส่งผู้โดยสารข้ามเขตกันได้
“พวกเราอยู่ในระบบกฎหมาย ตรวจสอบได้ เป็นความเหลื่อมล้ำทางกฎหมาย มีการบังคับใช้แต่กับพวกผมอย่างเดียว แต่พวกรับจ้างผ่านแอพฯ กลับไม่มีการดำเนินการอะไร แม้แต่บริษัทที่ทำแอพฯ ต่างๆ ก็ยังไม่ไปจดทะเบียนเป็นรถรับจ้างสาธารณะเลย แม้จะมีกฎหมายออกมา ผลกระทบมันจึงมาตกอยู่กับพวกเรา เพราะกฎหมายมันไม่ได้ใช้กับทุกคนทุกอาชีพ
“วินถูกกำหนดโดยกฎกระทรวง แต่รถที่วิ่งกับแอพพลิเคชั่นเก็บค่าโดยสารแพงได้ นี่คือความแตกต่างชัดเจน เราจะไปแข่งขันกับเขาไม่ได้ ต้นทุนเราสูงกว่าเขา รถของพวกผมต้องซื้อเอง ไม่เกิน 125 ซีซี แต่พวกนี้เป็นรถใหญ่โตสวยงามและเร็วกว่า”
ด้าน สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง จากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ร่วมแลกเปลี่ยนว่า แรงงานนอกระบบต้องเผชิญปัญหาหลายด้าน ไม่ว่าจะค่าตอบแทนไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ สิทธิในการรวมตัวของแรงงาน อันจะก่อให้เกิดองค์กรในฐานะเครื่องมือต่อรองกับทุนและรัฐ เพราะกฎหมายแรงงานยังไม่ให้สิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานนอกระบบ
ด้านสวัสดิการก็เช่นกัน สุนทรีชี้ว่า สวัสดิการของแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 ยังคงไม่เพียงพอ ทั้งเมื่อเทียบกับแรงงานในระบบตามมาตรา 33 ก็จะพบว่ามีสิทธิน้อยกว่ามาก เช่น ไม่มีการประกันการว่างงาน หรือเงินชดเชยในกรณีเสียชีวิต หรือฌาปนกิจ ก็ไม่เท่ากับแรงงานในระบบ
สุนทรีเห็นว่า ต้นตอสำคัญของปัญหานี้เกิดจากทัศนคติด้านลบที่สังคมมีต่อแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีคำอธิบายจากรัฐเป็นแกนสำคัญ หากอ้างอิงกับงานวิจัยที่ รศ.นพนันท์ วรรณเทพสกุล นำเสนอในตอนต้น อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่างานนอกระบบมักถูกมองว่าขยับมาจากภาคเศรษฐกิจสีเทาหรือธุรกิจผิดกฎหมาย โดยผู้คนยังมีความเข้าใจแบบนี้ค่อนข้างมาก เช่น กรณีผู้ค้าหาบเร่แผงลอยก็จะถูกมองว่าเข้าใช้ทางเท้าอย่างไม่ถูกกฎหมาย หรือใช้ที่ทางสาธารณะ ทำให้บ้านเมืองไม่เป็นระเบียบ เป็นเหตุให้ กทม. ต้องเข้าไปจัดระเบียบใหม่
กระทั่งอาจถูกมองว่าสมควรได้ค่าจ้างน้อย เพราะเป็นแรงงานไร้ฝีมือ แต่ในความเป็นจริง หลายๆ งานต้องใช้ฝีมืออย่างมาก สุนทรียกตัวอย่างว่า ถ้ามีทักษะไม่เพียงพอก็ทอผ้าไหมหรือเจียระไนพลอยไม่ได้ ซึ่งภาพที่มีต่อการไม่มีฝีมือนี้ คือคำอธิบายที่รัฐสร้างขึ้นมา
สุนทรีชี้ว่า แรงงานนอกระบบเหล่านี้เป็นกลไกสำคัญในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นผู้รองรับให้โครงสร้างหรือกิจกรรมต่างๆ สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น การทำให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญของแรงงานนอกระบบนี้ คือสิ่งที่สุนทรีเห็นว่าเป็นประเด็นที่ต้องมีการเคลื่อนไหว
“ที่ผ่านมามักไม่ค่อยมีคนพูดถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างเศรษฐกิจจากภาคส่วนของแรงงานนอกระบบ เช่น ถ้าไม่มีวินมอเตอร์ไซค์ คนกรุงเทพฯ จำนวนเท่าไหร่ที่จะไปทำงานไม่ทัน จะไปใช้รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ค่าแรงขั้นต่ำของคนไทยก็ไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่าโดยสารไป-กลับ ถ้าไม่มีผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ค่าจ้างขั้นต่ำของคนเมืองก็ไม่สามารถจ่ายค่าอาหารในศูนย์อาหารตามห้างได้ ถ้าไม่มี domestic worker หรือ ลูกจ้างทำงานบ้าน ก็ไม่สามารถออกไปทำงานนอกบ้านได้ ต้องมีคนพวกนี้คอยดูแลเด็กอ่อนหรือผู้สูงอายุในบ้าน สังคมจึงพึ่งพาแรงงานนอกระบบมากเลย พวกเขามี contribution มาก แต่กลับถูกมองในมุมลบเสมอ”
สำหรับปัญหานี้ สุนทรีกล่าวว่า ต้องอาศัยความเข้าใจของสังคม โดยสังคมจะมองเห็นได้ก็ต่อเมื่อขบวนการแรงงานนอกระบบต้องเข้มแข็ง ต้องออกมาพูดถึงสิทธิของตน มีการเรียกร้องต่อรองต่อรัฐ มีการรวมกันเป็นขบวน นี่คือเครื่องมือเดียวที่สุนทรีมองว่าเป็นทางออก
“อย่างช่วงโควิด ถ้าไม่มีการนัดกัน 700 คน ไปขอพบและพูดคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ดิฉันก็ไม่แน่ใจว่ามาตรการเยียวยามันจะออกมาไหม ม.33 ม.40 โครงการเรารักกัน มันจะเกิดไหม เพราะฉะนั้นพลังการรวมตัวของแรงงานนอกระบบ จึงเป็นเครื่องมือเดียวที่เรามี”
สำหรับเรื่องกฎหมายก็ดูจะเป็นปัญหาที่แรงงานทั้งในและนอกระบบต้องเจอ ในทัศนะของสุนทรี กฎหมายหลายตัวโดยเนื้อก็ดีอยู่แล้ว เช่น การคุ้มครองแรงงานเอางานไปทำที่บ้าน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งเรื่องการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ หรือการเปลี่ยนผ่านจากนอกระบบเข้าสู่ในระบบ อย่างไรก็ดี ปัญหาคือกลไกการปฏิบัติ เพราะภาครัฐอย่างกระทรวงแรงงานมักให้ความสำคัญกับกิจการนายทุน มากกว่าชีวิตของแรงงานนอกระบบ
“คำถามที่มีมาตลอดคือ เป็นไปได้ว่าอีกไม่นานนายทุนอาจจะเลิกการจ้างแรงงานราคาถูกหรือไม่จ้างด้วยค่าแรงขั้นต่ำ โดยการจ้างแรงงานเอางานไปทำที่บ้าน เพื่อให้ประหยัด นี่คือกลไกในการแข่งขันที่เหมือนเป็นการเอารัดเอาเปรียบ เพราะกดราคาค่าจ้างไม่ได้ให้ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อจะได้กำไร”
สุนทรียังได้ตั้งข้อสังเกตต่องานวิจัยว่าด้วยชนชั้นและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยร่วมสมัย ว่าตามจริงแล้วการมีสถานะทางเศรษฐกิจหรือชนชั้นที่มั่นคง ไม่ใช่แค่เพราะมีต้นทุนที่ดี มีโอกาสมาตั้งแต่เกิด หรือมีครอบครัวที่สนับสนุน แต่ความมั่งคั่งของชนชั้นที่อยู่ข้างบนนั้น ในแง่หนึ่งเป็นเพราะได้ใช้มูลค่าส่วนเกิน (surplus) จากชนชั้นข้างล่าง
“ถ้าบริษัทแหอวนที่ขอนแก่น ไม่ได้จ่ายค่าจ้างคนทำแหปะอวน คนทำทุ่น คนร้อยโลหะติดกับอวน ด้วยค่าจ้างขั้นต่ำ ดิฉันไม่มั่นใจว่าเขาจะหากำไรไปสร้างโรงงานใหม่ๆ ได้เยอะขนาดนี้ หรือมีรถเบนซ์ขี่กันทุกคนในครอบครัวแบบนี้รึเปล่า หรือถ้าไม่มีลูกจ้างทำงานบ้านดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว ดูแลลูกเล็ก บรรดานักธุรกิจจะสามารถออกไปประกอบธุรกิจและสร้างกำไร สร้างฐานะให้ครอบครัวได้อย่างนี้หรือไม่ ฉะนั้น แค่โอกาสอย่างเดียวมันไม่พอ นอกเสียจากต้องกินส่วนเกินจากคนอื่นๆ ที่อยู่ข้างล่างในสังคม
“ดิชั้นไม่ได้บอกว่าเขาทำผิดกฎหมาย เพราะบางทีกฎหมายมันก็เอื้อให้เขาทำได้ด้วย คือบางทีสิ่งที่คุณทำอยู่ มันไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร แต่ว่าถ้าดูในแง่การจัดสรรทรัพยากรของประเทศนี้ ดูกติกาของเรามันแข็งแรงพอที่จะทำให้การกระจายความมั่งคั่งหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมันดีพอไหม”
สุนทรียังทิ้งท้ายถึงสภาพแวดล้อมปัจจุบันของแรงงานนอกระบบว่า “แม้จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน แต่สถานการณ์ดีขึ้นไม่ใช่ฟ้ามาโปรด แต่ดีขึ้นเพราะการเคลื่อนไหวต่อสู้ของขบวนการแรงงานนอกระบบเอง จากการสร้างเครือข่ายกันในระดับประเทศและระดับโลก พันธมิตรกับนักวิชาการ นักสิทธิแรงงาน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาต่อไปได้”
การเติมเต็มของงานวิชาการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
มาถึงผู้ร่วมแลกเปลี่ยนคนสุดท้าย เป็นการแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการโดย ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อรรถจักร์กล่าวถึงความแตกต่างจากงานศึกษาที่ผ่านมาและคุณค่าของงานวิจัย 2 ชิ้นดังกล่าวว่า ได้ทำให้เห็นคุณค่าชีวิตจริงมากขึ้น เพราะได้มีการสัมภาษณ์และพยายามสร้างแนวทางในการมองปัญหาใหม่ๆ ในหลายด้านด้วยกัน งานทั้งสองจึงได้กระตุกสังคมไทยให้มีการจัดการอย่างเป็นระบบ และเพิ่มความสำคัญกับภาคส่วนนี้มากขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อประชาชนกลุ่มหนึ่งถูกกีดกันออกจากความเป็นพลเมือง พลเมืองกลุ่มหนึ่งก็ถูกกีดกันออกไปไม่ให้เห็นพลเมือง งาน 2 ชิ้นนี้จึงสร้างความเข้าใจแรงงานนอกระบบ และผู้ที่ถูกกีดกันจากความเป็นพลเมือง
อรรถจักร์กล่าวต่อว่า ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงจะมีโอกาสเลื่อนชั้นน้อย และนำไปสู่การขยายตัวของภาคการผลิตที่ไม่ชัดเจน ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจไม่เป็นทางการ (informal factor) อันเป็นกลุ่มซึ่งหล่อเลี้ยงชนชั้นระดับบนทั้งหลาย
อนึ่ง งานวิจัยทั้งสองชิ้นข้างต้นยังได้ยืนยันทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อย่าง Great Gatsby Curve คือ คนที่เข้าถึงทุนทางสังคมได้เท่านั้นที่จะขยับชนชั้นได้
อรรถจักร์เห็นว่า ข้อเสนอของงานชิ้นแรก มีความน่าสนใจมาก เพราะกำลังพูดถึงการเพิ่มขยายส่วนที่เป็นกำไร และลดต้นทุนของแรงงานนอกระบบในขณะเดียวกัน
อรรถจักร์ยังกล่าวต่อว่า ข้อดีของวิจัยชิ้นแรก คือมีข้อมูลจำนวนมาก หากยังไม่มีการยกข้อเสนอที่ชัดเจนนัก และยังไม่ยกระดับมากพอที่จะสร้างสรรค์สภาวะสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่การทำงานและคนทำงานนอกระบบ
“ควรเพิ่มและแสวงหาสิทธิทางเศรษฐกิจ การป้องกันทางสังคมให้แก่แรงงานนอกระบบ โดยกรอบใหญ่หากสรุปใหม่ให้ดี ทีมวิจัยนี้จะสร้างสรรค์สภาวะสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่การทำงานและคนทำงานนอกระบบ หากแยกให้ชัดว่าสิ่งแวดล้อมทั้งหมดคืออะไร เช่น กฎหมาย หรือการเปิดพื้นที่สาธารณะให้ informal factor ก็จะทำให้ชัดขึ้น”
สำหรับการเคลื่อนย้ายจากภาคแรงงานนอกระบบเข้าสู่ในระบบนั้น มีงานเศรษฐศาสตร์คำนวณไว้ว่า การเคลื่อนย้าย (transaction) มีความสิ้นเปลืองมาก เช่น การขอจัดตั้งบริษัทอาจใช้เวลา 30 วัน ถึง 1 ปี และต้องใช้เงินอีก 500,000 นี่คือการรอโอกาสในการเคลื่อนย้าย ซึ่งในทัศนะของอรรถจักร์ กฎหมายเหล่านี้จึงเหมือนเกิดขึ้นมาเพื่อเลี้ยงหน่วยราชการมากขึ้น เช่น 1 หน่วยใหญ่ ซอยเป็น 20 หน่วยเล็กเสียมากกว่า หรืออาจกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนจากภาคนอกระบบเข้าสู่ในระบบ อาจไม่ใช่แรงปรารถนาของผู้อยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ เพราะการอยู่นอกระบบจะประหยัดและลดต้นทุนไปได้มากกว่า
สำหรับงานศึกษาว่าด้วยชนชั้นในสังคมไทย อรรถจักร์กล่าวว่า เหมือนเป็นการโยนระเบิดเข้าไปกลางวงถกเถียง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ต้องมีการถกเถียงเรื่องชนชั้นกันให้ชัดขึ้น เนื่องจากหลังกระแสมาร์กซิสม์จบไป สังคมไทยหยุดศึกษาเรื่องชนชั้นไปนานพอสมควร
ในแต่ละชนชั้น แม้จะเปลี่ยนชื่อไป หากความหมายก็ยังคงเดิม ทั้งนี้ การเปลี่ยนคำจะทำให้การอธิบายส่วนต่างๆ เคลื่อนย้ายไปจากเดิม สำหรับอรรถจักร์ การแบ่งชนชั้นออกเป็น 5 กลุ่มดังกล่าวนั้น อาจทำให้ความหมายเคลื่อนได้ เพราะคำที่ถูกนำมาใช้ในงานวิจัยยังไม่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้น เพราะชนชั้นหนึ่งย่อมไม่สามารถมีอยู่อย่างลอยๆ ได้
อรรถจักร์ยังได้แนะนำงานศึกษาหนึ่ง คือ An Introduction to Japanese Society ของ โยชิโอะ สุกิโมโตะ (Yoshio Sugimoto) เป็นงานศึกษาของญี่ปุ่นหลังจากทศวรรษที่สูญหาย (The Lost Decade) ทำให้มีกลับมาขบคิดเรื่องชนชั้นใหม่อีกครั้ง
สุดท้าย อรรถจักร์กล่าวว่า สิ่งที่จำเป็นต้องคิดต่อจากงานวิจัยทั้ง 2 ชิ้น คือ ในแต่ละชนชั้นไม่ได้แปลว่าต้องกลมเกลียวกัน (harmony) เสมอไป ความขัดแย้งภายในชนชั้นเดียวกันถือเป็นเรื่องที่มีอยู่อย่างแน่นอน ด้วยเล่ห์กลของรัฐและทุนที่ต้องการลดความแข็งแรงเหนียวแน่นของชนชั้น แต่สิ่งที่ควรถูกกล่าวถึงให้มากก็คือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น ดังนั้น งานศึกษาจึงจำเป็นต้องขยับให้พ้นความขัดแย้งภายในชนชั้น และมองเห็นกำแพงความสัมพันธ์ที่ก่อตัวระหว่างชนชั้นให้ชัดขึ้น
อ้างอิง
- ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ, ฐานิดา บุญวรรโณ, สุรางค์รัตน์ จำเนียรพล. การวิจัยความเหลื่อมล้ำในระดับโลก: คำอธิบายว่าด้วยชนชั้นและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยร่วมสมัย. รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการวิจัย เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), พฤษภาคม 2564
- นพนันท์ วรรณเทพสกุลและคณะ. โครงการศึกษาความเท่าเทียมในโอกาสของกลุ่มเศรษฐกิจประชากรนอกระบบในเขตกรุงเทพมหานคร กรณีศึกษากลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างและผู้ค้าหาบเร่แผงลอย. ร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น, พฤษภาคม 2564.