ไข่เจียว ไฟฟ้า ถางป่า ความฝัน: เสียงของคนบนพื้นที่สูงถึงความสุขระยะยาว

“ความฝันที่ดีที่สุดของพวกเราคือ อยากมีชีวิตที่ปกติสุข ทำมาหากินตามวิถีปกติ โดยที่รัฐเข้าใจวิถีชีวิตของเรา ต่อให้มีไฟฟ้า ทีวี ตู้เย็น อาหารดีๆ ถ้าเรายังอยู่ในสถานะที่รัฐมองว่า เรายังอยู่แบบผิดกฎหมาย ด้วยโครงการหรือนโยบายของรัฐที่ไม่สอดคล้องกับชีวิตของเรา นั่นเป็นความฝันที่ไม่ยั่งยืน เป็นฝันที่ไม่สามารถสร้างความสุขที่แท้จริงให้เราได้”

หน่อแอ ชาวปกาเกอะญอบ้านกลาง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ตอบคำถามเมื่อเราขอความเห็นจากเธอว่า หลังจากเห็นคลิปการบริจาคสิ่งของเนื่องในวันเด็กของอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง ในฐานะที่เกิด โต และใช้ชีวิตบนพื้นที่สูงเธอมองเรื่องนี้อย่างไร หน่อแอได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า เธอมองเรื่องนี้ออกเป็น 2 ประเด็นคือ เจตนาของผู้ให้ และมุมมองของคนบนดอยต่อเรื่องนี้ ที่อาจจะมีจุดร่วมจุดต่างอยู่บางส่วน

แน่นอนว่า เรื่องนี้ยังสะท้อนไปถึงการจัดการของภาครัฐที่มีปัญหาและบิดเบี้ยวมาหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่เรื่องการเข้าถึงไฟฟ้า ที่เกี่ยวโยงกับความพยายามในการแยกคนออกจากป่า โดยสงวนพื้นที่ป่าไว้เป็นสมบัติของรัฐ ส่งผลสะเทือนเป็นโดมิโน นั่นคือการเข้ามาแย่งยึดพื้นที่ป่าแบบมัดมือชกเพื่อสัมปทานเป็นพื้นที่เหมืองแร่ของนายทุน

ความเจริญแบบคนเมือง และมิติเชิงวัฒนธรรมของคนบนดอย

ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ โทรทัศน์ ถนนลาดยาง ไฟฟ้า น้ำประปา อาหารการกิน ที่หลับที่นอน การศึกษา หรือระบบสาธารณูปโภคที่คนพื้นราบสามารถเข้าถึงในระดับพร้อมใช้งาน ซึ่งเราเรียกรวมๆ ว่า ‘วิถีชีวิต’ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับอย่างเท่าเทียมกัน

ด้วยวิถีชีวิตที่ถูกมองว่า เป็นเรื่องปกติสามัญแบบนี้ และเราก็ได้รับสิ่งนี้มาตั้งแต่เด็ก กินอยู่กับมันจนกลืนกับชีวิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มุมมอง (perception) ที่ใช้วิเคราะห์ตัดสินสังคมในรูปแบบอื่นๆ จึงถูกมองลอดผ่านเลนส์แบบนี้ไปด้วย

ดวง อายุ 21 ปี พื้นเพเกิดและโตที่บ้านกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ สะท้อนว่า การมีไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ หรือทีวีนั้น เป็นเรื่องดีที่เด็กๆ และคนในพื้นที่จะได้รับโอกาส เพราะไม่ใช่แค่พิมรี่พาย แต่การบริจาคจากคนพื้นราบสู่คนพื้นที่สูงเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว แต่สารที่อยู่ในคลิปดังกล่าวต่างหากที่สร้างข้อกังวลให้กับคนในพื้นที่ เพราะหลายประเด็นในคลิปมีทั้งเรื่องที่ไม่จริง เรื่องที่อาจสร้างความเข้าใจผิด และหลายเรื่องยังเป็นการผลิตซ้ำตอกย้ำภาพมายาคติของ ‘คนดอย’ ให้ถูกตราหน้าและตั้งคำถามซ้ำๆ ด้วย

“มันก็มีข้อความที่น่ากังวลในคลิปคือ ที่เขาบอกว่า “ถางภูเขาเป็นลูกๆ” เอาจริงๆ ฉันคิดว่า พี่เขาอาจจะไม่รู้ว่า ถางเป็นลูกๆ มันคือ วิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงที่ทำไร่หมุนเวียน เขาอาจจะไม่เคยรู้เรื่องนี้ว่า มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ตั้งแต่เราเกิด ที่เขาบอกว่า เอาผักมาปลูกเพื่อให้ไม่ต้องถางป่า ฉันคิดว่าถ้าคนที่เขาไม่เห็นด้วยกับไร่หมุนเวียนหรือคิดว่า การทำไร่หมนุเวียน ไร่เลื่อนลอย เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เขาจะถูกใจสิ่งนี้และคิดว่า ทำทำไม ถางป่าทำไม ทำไมไม่ปลูกผัก เขาอาจจะมองแบบนั้น”

สอดคล้องกับ หน่อแอ ชาวปกาเกอะญอบ้านกลาง ที่บอกว่า ครั้งแรกที่ได้ดูคลิปนี้รู้สึกเหมือนคนเมืองมองพวกเธอน่าสงสารหรือน่าสมเพชมาก คำว่า ‘ทุรกันดาร’ หรือ ‘ห่างไกลความเจริญ’ ก็ต้องพิจารณาให้ลึกและถี่ถ้วนกว่านั้นว่า สาเหตุที่ความเจริญไม่เท่าเทียมกันมาจากอะไร หากเป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่ทุกคนมองว่า ทุกพื้นที่ควรได้รับการดูแลเข้าถึงนั้นเธอไม่ปฏิเสธว่า ไฟฟ้า ถนนลาดยาง หรือโรงเรียนดีๆ เป็นสิ่งที่ดีและรัฐควรเป็นผู้เข้ามาจัดสรรให้

ทว่า นัยคำว่า ‘ความเจริญ’ บางประการที่คลิปพยายามจะสื่อถึงไม่ได้หยุดแค่นั้น แต่กลับลงลึกไปถึงวิถีชีวิตที่เป็นการใช้ความรู้สึกหรือสายตาของคนเมืองมาชี้วัดกัน โดยเป็นประเด็นที่เกิดความเข้าใจผิดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และอาจสร้างหรือส่งต่อความเข้าใจผิดนั้นไปเรื่อยๆ อีกไม่รู้จบ

“ความเจริญของเรากับที่เขามองมันต่างกัน ทุกวันนี้เหมือนเราถูกคนในเมืองเอาความเจริญมาวัด พอเราไม่เป็นแบบที่เขาวาดภาพไว้ เขาก็มองว่า มันไม่เจริญ แต่ความเจริญแบบที่เราต้องการคือ การดำเนินชีวิตด้วยวิถีของเรา โดยที่คนในสังคมเขายอมรับในแบบที่เราเป็น และสนับสนุนให้เราเป็นบนพื้นฐานของความเป็นเรา มองเราให้เท่าเทียมกับที่เขาเป็นอยู่”

“ไม่มีรองเท้าใส่ ไม่เคยกินไข่เจียว ไม่รู้จักทีวี” คือสิ่งที่ผู้คนพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง แต่คำถามที่คนในพื้นที่สงสัยไปมากกว่านั้นก็คือ มีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องรู้จักไข่เจียว และคำว่า ‘ไข่เจียว’ เป็นเพียงคำเรียกเฉพาะของคนเมืองหรือไม่ (อนึ่ง เด็กในพื้นที่เรียกไข่เจียวว่า ไข่ทอด หรือ ทอดไข่) หรือกระทั่งการเข้าถึงทีวี และไฟฟ้าสำหรับบางพื้นที่ก็ไม่ได้สอดรับกับวิถีชุมชนมากขนาดนั้น ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และต้องการความเข้าใจในการให้และการนำเสนออย่างลึกซึ้ง การบอกว่า คนให้มีเจตนาที่ดีนั้นก็จริงอยู่ส่วนหนึ่ง แต่มากไปกว่านั้นคือ การให้ที่ว่าต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความต้องการของผู้รับด้วยหรือไม่

แม้ว่า ท้ายสุดผู้รับจะไม่ต้องการและทิ้งเองได้ แต่หน่อแอบอกว่า ของบริจาคหลายอย่างก็เป็นเหมือนขยะและการผลักภาระมาให้คนในพื้นที่อย่างไม่จำเป็น ซึ่งนอกจากเรื่องการกำจัดขยะแล้ว คุณค่าทางจิตใจหรือมุมมองที่คนเมืองมีต่อคนดอย ที่สะท้อนผ่านการบริจาค หรือการกระทำหลายอย่างยังทำให้พวกเขารู้สึกแย่มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ

“ภาพที่เราเจอมาตลอดเลยคือ คนบนดอยเป็นคนน่าสงสาร ภาพที่ออกมาก็เหมือนเราเป็นคนที่มีไม่เท่าเขา เขาต้องเอามาให้เรา แล้วเขาก็คิดว่าการเอามาให้มันคือการสร้างความสุขให้กับเรา แต่บางทีความสุขของเขากับเรามันอาจจะไม่เหมือนกัน ทุกวันนี้เขาเอาความสุขคนในเมืองมาวัดคนบนดอย ทีวี โซลาร์เซลล์ มันอาจจะไม่ใช่แนวทางของการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน

“ดังนั้น เราคิดว่าเราไม่ได้น่าสงสารเลยนะ เราโอเคกับชีวิตแบบนี้ที่เรามีเสื้อผ้าใส่แค่นี้ การเอามาให้แล้วเราต้องยกมือไหว้ ปรบมือ ยกนิ้วโป้งกดไลค์ เราไม่ได้ต้องการแบบนี้ การที่เขาให้เราบางครั้งก็เหมือนเราไปสร้างภาพให้เขาหนึ่งภาพ เด็กเดินเท้าเปล่าแบบนี้ เอาจริงๆ มันไม่มีสักคนเลยเหรอที่จะไม่มีรองเท้าใส่ บ้านเรือนของเขาขนาดนั้นเชียวหรือ สมัยนี้ไม่ได้เหมือน 30 ปีที่แล้ว บางครั้งถามเราหน่อยเถอะว่า เราอยากได้ไหม”

“รัฐโยงเราเข้ากับระบบ แต่รัฐไม่มีกลไกให้เราเข้าถึงระบบ”

ปัญหาที่แท้จริงของคนในพื้นที่ไม่ใช่การได้กินของอร่อยๆ แบบคนเมือง หรือการได้ดูหรือไม่ได้ดูทีวี หรือแม้แต่การมีความฝันตามแบบฉบับของใคร หากแต่เป็นสิ่งที่รัฐไม่เคยเข้ามาบริหารจัดการ โดยคำนึงถึงคนในพื้นที่เป็นสำคัญ

หน่อแอ สะท้อนว่า คนดอยแต่ละพื้นที่มีปัญหาที่ต่างกัน ในส่วนของกะเหรี่ยงบ้านกลางมีหลักๆ ด้วยกัน 2 เรื่องคือ ประกาศอุทยานที่กระทบถึงพื้นที่ทำกิน หาของป่ามาขาย และ การเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นประกาศที่เกิดขึ้นภายหลังการตั้งรกรากของคนในพื้นที่เองด้วย

หรือพูดให้ชัดกว่านั้น ไอเดียเรื่องคำประกาศ และการบังคับใช้ตัวบทกฎหมายที่เข้มข้น เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของรัฐชาติที่ควบรวมเอาทรัพยากรส่วนกลาง ที่ควรจะเป็นการแบ่งสรรปันส่วนของคนในพื้นที่ที่อยู่กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ หั่นแบ่งยึดจับให้กลายเป็นการสร้างอำนาจต่อรองระหว่างรัฐและประชาชนผู้ถูกปกครองภายใต้รัฐอย่างไม่มีเงื่อนไข

ซึ่งไอเดียแบบนี้ก็มาผูกโยงกับเรื่องการให้พื้นที่สัมปทานในส่วนของสัมปทานเหมืองแร่ บ้านกะเบอะดิน อำเภออมก๋อยในขณะนี้ด้วย ดวงบอกว่าเหมืองแร่ที่กำลังจะเข้ามาเหลือเพียงขั้นตอนสุดท้ายนั่นคือ การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้เหลือเพียงกระบวนการเดียวเท่านั้น เหมืองแร่ที่เตรียมสร้างก็จะเป็นอันเสร็จสมบูรณ์ในส่วนของขั้นตอนการขอสัมปทาน

“ตอนนี้เหมืองแร่ที่อมก๋อย นายทุนยังไม่สามารถมาทำได้ ยังมีขั้นตอนที่ต้องทำ แล้วก็ยังไม่เกิดขึ้นคือ การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพราะเราไปล้มเวที ไม่อยากให้เกิดขึ้น ถ้าเวทีรับฟังเกิดขึ้น เขาจะได้รับสัมปทานทันที เพราะเป็นข้อกำหนดในกฎหมายอยู่แล้ว สิ่งที่น่ากังวลคือ ฝุ่น ชาวบ้านเขาคิดว่า ถ้ามีเหมืองเกิดขึ้นวิถีชีวิตจะเปลี่ยนไป เรื่องที่ดินทำกินของชาวบ้านที่เขาขอสัมปทานมา เป็นพื้นที่สวนของชาวบ้านมันจะหายไปด้วย เขาจะทำสวนที่ไหน แล้วที่นี่เป็นเส้นน้ำสายหลัก เป็นลุ่มน้ำที่มีน้ำดี ถ้าเหมืองแร่เกิดขึ้น แหล่งน้ำดีอาจจะหายไป”

ดวงยังพูดถึงกรณีมาตรการควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ที่ถูกผลิตซ้ำจนกลายเป็นมายาคติ ที่คนพื้นราบมีต่อคนพื้นที่สูงด้วยว่า ทั้งหมดคือความไม่เข้าใจของคนเมืองต่อวิถีชีวิตคนบนดอย การเผาหน้าดินเป็นวงจรที่ต้องทำก่อนมีการเพาะปลูกหรือขึ้นรอบใหม่ทุกๆ ปีอยู่แล้ว ในพื้นที่อมก๋อยจะปลูกฟักทองและมะเขือเทศเป็นหลัก จุดประสงค์ในการเผาก็เพื่อให้พืชผลทางการเกษตรเจริญงอกงามออกมาสวย มากพอที่จะนำไปขายต่อได้

ทุกครั้งที่ต้องมีการเผาหน้าดินชาวบ้านจะจัดสรรเวรทำแนวกันไฟเสมอ ทุกคนไม่ได้มีเจตนาที่จะเผาป่าเป็นลูกๆ แต่หากถามว่า ฝุ่นควันที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่อย่างหนาแน่นมาจากไหน คนในพื้นที่เองก็ยังคงตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเป็นโครงการใหญ่ของนายทุนที่อยู่ตามตัวเมือง หรือเหตุปัจจัยอื่นๆ ของคนพื้นราบร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้หน่อแอก็ให้ความเห็นว่า ปกาเกอะญอบ้านกลางก็ได้รับการควบคุมด้วยนโยบายนี้เหมือนกัน แม้การขยับไทม์ไลน์การเผาโดยเจ้าหน้าที่รัฐจะส่งผลกระทบกับผลผลิต แต่พวกเขาก็ยังปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด

เราอาจจะต้องร่วมกันหาคำตอบไปพร้อมๆ กันว่า ตลอดเดือนมีนาคมถึงเมษายนที่รัฐห้ามคนบนพื้นที่สูงเผาหน้าดิน แท้จริงแล้ว ฝุ่นควันจำนวนมากมีต้นตอมาจากไหนกันแน่?

“ผลต่อเนื่องคือ ในวันที่รัฐต้องการให้ดับไฟ เขาบอกเพราะตรงนี้เป็นพื้นที่ของเรา แต่พอวันที่เราต้องการไปหาทรัพยากรกลับบอกว่า เป็นป่าไม้ของกรมป่าไม้ คุณไม่มีสิทธินะ มันเป็นผลกระทบที่เกิดกับชีวิตเราที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และเรามีความจำเป็นที่จะต้องสื่อสารใหม่ว่า แต่ละพื้นที่มันมีปัญหาที่แตกต่างกันไป สิ่งที่เราต้องการคือ เราต้องการให้คนในเมืองยอมรับวิถีชีวิตในสิ่งที่เราเป็น ให้การสนับสนุน หรือเข้าใจ ร่วมเห็นด้วยกับข้อกฎหมายบางอย่างที่เราเสนอให้มีการแก้ไข”

สุดท้ายแล้ว เสียงสะท้อนของคนในพื้นที่ไม่ได้ปฏิเสธหรือไม่อยากได้ไฟฟ้า รวมถึงระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพราะแม้พวกเขาจะมองว่า ตัวเองอยู่ได้ด้วยวิถีดั้งเดิม แต่การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ก็ช่วยให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น และกลายเป็นสิ่งจำเป็นไปโดยปริยายเมื่อท้ายที่สุดชีวิตของคนดอยได้ถูกยึดโยงเข้ากับระบบเอกสารของรัฐไปแล้ว

สิ่งสำคัญที่จะช่วยก่อรูปให้ฝันของคนในพื้นที่เป็นจริงจึงไม่ใช่เพียงทีวี หากเป็นถนนหนทางลาดยางและคอนกรีตตลอดแนว ไฟฟ้าที่ส่องสว่าง โรงเรียนดีๆ การจัดการพื้นที่ป่า และการทำไร่หมุนเวียนที่ไม่ขาดพร่องไปด้วยความเข้าใจของรัฐและคนต่างถิ่นต่างหาก

“คนเมืองอาจจะมองว่าความสุขในชีวิตที่พวกเราควรมีคือการได้ดูทีวี แต่ถามถึงความสุขระยะยาวของคนบนดอย ตอนนี้เรายังเป็นหมู่บ้านที่ไม่ถูกกฎหมาย ยังเอากฎหมาย เอาอุทยานโครงการมาทับเรา อันนี้ไม่ใช่ความสุขที่เราต้องการอย่างแท้จริง

“ถ้ารัฐให้ความสำคัญกับพวกเรา ไม่ทอดทิ้งพวกเราแบบนี้ วันนี้พื้นที่ที่กันดารที่สุดที่เขาว่า อาจจะไม่มีให้เห็นเป็นภาพแบบนี้ก็ได้”

 

Author

พิราภรณ์ วิทูรัตน์
อดีตนักข่าวไลฟ์สไตล์สายเศรษฐกิจ จบสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยใกล้ดอยสุเทพ สนใจมองการเมืองและปรากฏการณ์ทางสังคมผ่านทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ เวลาว่างชอบหลบไปเติมความรู้ตามเวทีเสวนาวิชาการ และหันไปชุบชูใจด้วยเพลงจาก Bring Me The Horizon

Photographer

คีรีบูน วงษ์ชื่น
นักพิสูจน์อักษร

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า