ฮิปสเตอร์กึ่งสำเร็จรูป

hip 02

Illustration: Nai

เรื่อง/ภาพ: เทพพิทักษ์ มณีพงษ์

 

01 แกะซอง

‘อยากเป็น hipster (เด็กแนว) ต้องทำยังไงบ้างครับ’ คือกระทู้ในเว็บบอร์ดแห่งชาติอย่างพันทิป เนื้อหาไม่มีอะไรมากไปกว่าความสงสัยของชายคนหนึ่งที่เข้ามาบรรยายการใช้ชีวิตของตัวเองเพื่อให้คนอื่นมาให้คำแนะนำเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นฮิปสเตอร์อย่างสมภาคภูมิ

“ตอนนี้ผมฟังเพลงยากๆ นอกกระแสครับ พวกที่ฟังแล้วลอยๆ เคลิ้มๆ

ชอบกล้องฟิล์ม ชอบถ่ายภาพติดแสง ถ่ายดอกไม้ เบลอๆ

เวลาว่างชอบไปนั่งทานกาแฟที่ร้านชิลๆ แนวๆ อาร์ตๆ

ผมขาด, อะไรไหม, ครับ?”

ก่อนจะตัดสินว่าเจ้าของกระทู้เข้ามาประชดหรือตั้งใจถามจริงๆ สิ่งที่น่าสนใจคือ อะไรที่ทำให้มีคนคิดว่าการที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มก้อนวัฒนธรรมปลีกย่อยนอกกระแส (หรือใน?) จำเป็นต้องมีระเบียบวิธีการใช้ชีวิตแบบ 1, 2, 3, 4

ไม่ว่าจะเรียกว่าเด็กแนว, ฮิปสเตอร์ หรือคำอื่นๆ ที่อาจถูกสร้างขึ้นมาได้อีกในอนาคต ภาพที่ถูกสร้างขึ้นร่วมกันของคนกลุ่มนี้กลายเป็นของง่ายๆ ที่ใครๆ ก็เป็นได้เหมือนกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แค่ฉีกซอง – ใส่เครื่องปรุง – เทน้ำร้อน – รอ 3 นาที แค่นี้เราก็จะได้คนที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘ฮิปสเตอร์’ ขึ้นมาหนึ่งคน… ง่ายถึงขนาดนั้น

…จริงดิ?

02 ใส่เครื่องปรุง

+ เสื้อลายขวาง

ภาพของชายวัย 60 ที่ปรากฏอยู่บนหน้าปกของนิตยสารสตรีทแฟชั่นชื่อดังอย่าง LOOKER เด่นสะดุดตาและทำให้เรานึกสงสัยว่าอะไรที่ทำให้คุณตาที่เรียกตัวเองว่า ‘ป๋า’ ผู้นี้ยังคงแต่งตัวราวกับเป็นวัยรุ่นตามสยาม เสื้อลายขวางสีดำ / การเกงขาสั้นสีน้ำตาล / รองเท้าหนังโบ๊ทชูส์ / แว่นกันแดดซูเปอร์ / หมวกไหมพรม ฯลฯ องค์ประกอบต่างๆ ที่เรียกง่ายๆ ว่า ‘เครื่องแบบฮิปสเตอร์’

ป๋าตึก-ภูษิต พัฒนปราการ ออกมาต้อนรับเราด้วยเครื่องแบบดังกล่าว ทว่าเมื่อบอกประเด็นที่จะพูดคุยกัน เขาเกิดอาการมึนงงพร้อมขอให้เราพูดให้ฟังอีกครั้ง

“ฮิปสเตอร์เหรอ ไม่เคยได้ยินเลย” ภูษิตพูดกลั้วหัวเราะ

แนวทางการแต่งตัวแบบแปลกๆ และแตกต่างจากคนอื่นของป๋าตึกเริ่มมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ ด้วยความที่เป็นเด็กเรียนไม่เก่งแต่อยากดัง อยากประสบความสำเร็จ และวาดภาพไปถึงอนาคตว่าหากโตขึ้นชีวิตจะเป็นอย่างไร ทำให้เริ่มใช้ชีวิตและแต่งตัวแบบแตกต่างเพื่อสร้าง ‘แนวทาง’ ให้กับตัวเอง ก่อนจะเริ่มโตขึ้นและเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน หลังจากนั้นเขาจึงออกเดินทางเพื่อไปตามหาอนาคตที่ประเทศอังกฤษ

“ไปทำงาน ก็คือไปต่อสู้ เพราะเราไม่ใช่คนรวย ความฝันของคนต่างจังหวัดก็อยากเข้ากรุงเทพฯ ความฝันเด็กกรุงเทพฯก็อยากไปเมืองนอก เด็กต่างจังหวัดเข้ามากรุงเทพฯเพื่อจะได้รสนิยม ได้ความต่าง กับเด็กที่อยู่กรุงเทพฯแล้ว ต้องยอมรับว่าในโลกนี้มีเมืองที่ศิวิไลซ์แล้ว ลองไปดูว่าคนเค้าอยู่กันยังไง”

การใช้ชีวิตในประเทศอังกฤษทำให้ภูษิตได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของรสนิยมและการแต่งตัว เขามองว่าเมืองที่มีคนที่แต่งตัวดี แต่งตัวเก๋ เป็นเมืองที่น่าสนใจ เพราะคนเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ แต่คำว่า ‘เก๋’ ใช่ว่าจะต้องใช้แบรนด์เนม แต่ต้องมีแนวทางเป็นของตัวเอง เช่น คนอินเดียก็มีความเก๋เฉพาะทางได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ของแพง

‘ความแตกต่าง’ เป็นคำที่ภูษิตให้ความสำคัญ เพราะเขามองว่าความแปลกและแตกต่างเป็นปัจจัยที่ทำให้กลุ่มเด็กที่ไม่มีความโดดเด่นในสังคมเหมือนคนที่เรียนเก่งๆ ได้ออกมาแสดงตัวตนผ่านเครื่องแต่งกายและความคิด

“ถ้าเราคิดอยู่ในกรอบแบบหนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง มันต้องเป็นคนเรียนเก่ง เป็นขั้นเป็นตอน แต่ถ้าคุณพลาดไปแล้ว ไม่ชอบเรียน เรียนไม่เก่งมันก็ต้องหาอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งมันก็ไม่ง่ายเหมือนคนเรียนเก่ง คุณเรียนไม่เก่งคุณจะทำอะไรแดก คุณต้องมาเป็นแบบนี้ แต่ต้องเป็นให้ดี เป็นให้จริง เชื่อป๋า” ภูษิตบอกด้วยน้ำเสียงเจือความหวังดี

‘เป็นให้จริง’ – คำนี้ออกจากปากของเขาหลายครั้ง อาจด้วยเพราะประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ทั้งคำสบประมาทและสายตาแปลกๆ ที่มองมาที่เขา แต่ด้วยความเชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ ทำให้ภูษิตพิสูจน์ตัวเองและผ่านช่วงเวลานั้นมาได้

hip 03

“การแนวนี่ต้องแนวให้จริง คิดให้นอกกรอบ คิดให้สุด แต่การที่คุณเป็นเด็กฮิปสเตอร์ รสนิยมคุณต้องได้นะ ไม่ใช่ว่าคุณคิดแหวกอย่างเขา แต่มันไม่ได้ บางทีก็อยากจะพูดให้เด็กๆ ที่เห็นเราเป็นไอดอลว่ามันไม่ใช่แค่แต่งตัว แต่มึงต้องอยู่ให้ได้อย่างกู”

การแต่งตัวของภูษิตเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ ตามยุคสมัยตลอดเวลาโดยไม่ได้ยึดติด การแต่งตัวของเด็กปัจจุบันก็เป็นแรงบันดาลใจให้เขาเช่นเดียวกัน ภูษิตยอมรับว่าตัวเองยังไม่ได้เป็นศิลปินถึงขนาดที่จะสร้างเทรนด์ขึ้นมาใหม่ ของบางอย่างใส่แล้วดูดีก็ดีไป แต่บางอย่างก็ต้องมีการติดตามแนวทางแฟชั่นของแบรนด์ดังๆ เช่น ซีซั่นนี้ Prada ออกอะไร Jil Sander ออกอะไร จากนั้นจึงเอามามิกซ์แอนด์แมทช์

“คุณต้องดูแนว เรายังไม่ใช่ประเทศที่พัฒนาเต็มที่ ทุกอย่างมันก็เอามามิกซ์มาแมทช์ทั้งนั้น แต่เราก็มีของเราบ้าง พูดเลยว่าเราดูแฟชั่นได้ทั้งวัน เพราะมันชอบ”

ไม่จำเป็นต้องแพง คือหลักการสำคัญ ด้วยความที่เขาเคยอยู่ใกล้ตลาดโรงเกลือและชอบเดินตลาดนัดสวนจตุจักร ทำให้การหาเครื่องแต่งกายที่ดูสมัยนิยมและมีราคาไม่สูงไม่ใช่เรื่องยาก

แต่ด้วยธรรมชาติของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ส่งต่อแนวทางและเทรนด์ที่กำหนดโดยแบรนด์แฟชั่นดังๆ ลงมาสู่แบรนด์เล็กๆ ที่มีราคาไม่สูงนักต่อกันเป็นทอดๆ ทำให้เด็กรุ่นใหม่เข้าถึงการแต่งกายแบบเดียวกันได้ง่ายขึ้นและเริ่มจะซ้ำกันจน ‘เกร่อ’ จนกลายเป็นยูนิฟอร์มของฮิปสเตอร์ เด็กบางคนจึงเกิดอาการ ‘หวง’ และมีความคิดอยากสงวนการแต่งกายแบบนี้ไว้กับวัฒนธรรมของตัวเองเท่านั้น

“เราว่าใจแคบไปนิดนึง” เขาให้ความเห็น “เราเห็นเด็กบางคนบ่นเวลาเห็นคนแต่งตามตัวเอง ‘โอ้โหแม่งแต่งตามแล้วเว้ย’ เราว่าอย่าใจแคบเลย เราอยู่บนโลกเดียวกันบางทีคิดไม่ออก เขาก็อาจจะตามเราบ้าง พอเราคิดออกใหม่ก็ค่อยเปลี่ยนแนวเรา ดีไซเนอร์เขาก็เปลี่ยนตลอด มันตามก็หนีให้ทัน ทำให้มันเป็นเรื่องสนุกดีกว่า

“แฟชั่นมันหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ไม่มีใครลอกสไตล์คุณได้ การเดินการพูด แต่งให้เหมือนยังไงก็ไม่เหมือน เพราะอย่างนั้นไม่ต้องไปกลัว ป๋า 60 แล้ว บอกได้เลยมันไม่อยู่นิ่งหรอก เดี๋ยวขาบานเดี๋ยวขาสั้น เอวสูงเอวต่ำ เดป อย่าไปยึดติด” ภูษิตกล่าวเสริม

ด้วยความแตกต่างและแนวคิดที่โดดเด่นจากคนทั่วๆ ไป ภูษิตเล่าให้ฟังว่าเดี๋ยวนี้เวลามีงานเลี้ยงรุ่น (ซึ่งคนที่มาเริ่มน้อยลงไปทุกที) มักจะมีการคุยกันขำๆ ระหว่างกลุ่มเพื่อน บางครั้งเมื่อเขาบ่นน้อยใจที่เพื่อนๆ ประสบความสำเร็จในชีวิต ได้เป็นหมอ เป็นวิศวกร แต่คำตอบที่ได้จากเพื่อนฝูงกลับตรงกันข้าม

“พวกกูสิอิจฉามึง ทั้งรุ่นมีมึงคนเดียวได้เป็นนายแบบ” ภูษิตเล่าปิดท้ายกลั้วเสียงหัวเราะตามแบบฉบับ

+ ฟังเพลงนอกกระแส

เสียงเพลงยืดยาน กีตาร์ดีดด้วยท่วงทำนองแปลกหู คำร้องที่ฟังไม่ออกว่าออกเสียงว่าอะไรกลายเป็นซิกเนเจอร์ของเพลงที่ถูกมองว่าเป็นแนว ‘ฮิปสเตอร์’ หรือที่บางคนเรียกว่าแนว ‘ฟุ้งฟิ้ง’ ฟังแล้วรู้สึกล่องลอยเคลิบเคลิ้ม

ด้วยความสัตย์จริง หลังจากที่เราก้าวเข้าไปในผับย่านถนนราชดำเนินที่กำลังมีคอนเสิร์ตจากวงที่ไม่เคยได้ยินจากดีเจในคลื่นวิทยุทั่วไป คำจำกัดความนั้นดูเหมือนจะเป็นจริง ยังไม่ต้องพูดถึงกลุ่มคนฟังที่กำลังอินไปกับบทเพลงในพื้นที่เล็กๆ คลุ้งไปด้วยกลุ่มควันที่ช่วยเพิ่มบรรยากาศของเพลง ซึ่งเท่าที่สังเกตต่างแต่งตัวด้วยยูนิฟอร์มแบบฮิปสเตอร์อย่างที่หลายคนเข้าใจ – ชวนให้คิดไปไกลว่าที่แห่งนี้ดูเหมือนจะไม่ใช่ที่ของเรา

“เฮ้ย อยากบอกว่ามาเหอะ คืองานเราอยากให้มาฟังเพลงมากกว่านะ ไม่ต้องไปหาชุดฮิปสเตอร์ให้ได้ก่อนแล้วค่อยมาก็ได้” กิ-กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร บอกเมื่อเราสารภาพความในใจที่มีหลังจากการไปดูคอนเสิร์ตในครั้งนั้น

ชื่อของกิอาจจะฟังไม่คุ้นหูเมื่อพูดลอยๆ แต่ถ้าย้อนกลับไปในช่วงที่เพลงของค่ายโดโจซิตี้กำลังเฟื่องฟู กิเป็นหนึ่งในเจ้าของเสียงร้องในเพลงดัง ไปพัก ของวง Niece ที่ยังมีคนคุ้นหูกันอยู่ถึงปัจจุบัน เธอหัวเราะและสารภาพว่าบางครั้งก็เขินเหมือนกันเวลามีคนพูดถึงผลงานในช่วงนั้น

หลังเข้ามหาวิทยาลัย กิหันมาทำเพลงนอกกระแสด้วยการร่วมงานกับค่ายเพลงอย่าง Smallroom ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเริ่มหันมาฟังเพลงนอกกระแสมากขึ้นโดยอัตโนมัติ

“ช่วงนั้นเราก็เริ่มฟังเพลงมากขึ้น พอมาอยู่ Smallroom เพื่อนๆ ในค่ายหรือพี่ๆ ที่ช่วยทำอัลบั้มก็เป็นคนฟังเพลงเยอะ เราเองก็เลยฟังมาเรื่อยๆ”

ปัจจุบัน กิเป็นหนึ่งในสามผู้ก่อตั้ง Have You Heard? คณะผู้จัดคอนเสิร์ตที่นำเข้าวงดนตรีนอกกระแสจากต่างประเทศมาให้กลุ่มคนฟังเล็กๆ (ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นเด็กฮิปสเตอร์) ได้ฟังกัน โดยหลักในการเลือกวงที่จะมาเล่นก็คือเป็นวงที่เธอและเพื่อนชอบฟัง – ง่ายๆ เท่านั้นเอง

“Have You Heard? มี 3 คน คือ เรา แป๋ง Yellow Fang แล้วก็ ทราย กรมิษฐ์ (นักแสดงจากเรื่อง 36) เราก็จะสลับกันโพสต์เพลงที่ชอบๆ กันเอง บางทีมีวงใหม่ๆ ดูเขาเล่นสดตามคลิปหรือมีโอกาสได้ไปดูที่ต่างประเทศ ถ้ารู้สึกว่าเจ๋งดีก็จะอยากเอาเข้ามาให้คนไทยได้ดู

“เหตุผลที่เราทำ Have You Heard? เพราะอยากให้คนเปิดกว้างในการฟังเพลงมากขึ้น ลองได้มาฟังวงใหม่ๆ ชื่อแปลกๆ แนวแปลกๆ ที่เขาอาจจะไม่เคยได้ฟัง เผื่อจะมีคนที่หันมาฟังเพลงที่เปิดกว้างมากขึ้น”

เพลงนอกกระแสหรือเพลงอินดี้ในมุมมองของกิไม่ได้หมายความเพียงแค่เพลงลอยๆ ฟุ้งๆ ที่เราหรือคนนอกที่เรียกคนฟังอย่างกิว่าฮิปสเตอร์เข้าใจ แต่เป็นเพลงที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างหรือไม่ได้อยู่กับค่ายใหญ่ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นแนวไหน เพลงนอกกระแสจริงๆ เป็นได้ตั้งแต่ฮิพฮอพ ไปจนถึงเพลงร็อคแบบตะโกนแหกปากเลยก็ได้ ไม่มีข้อจำกัด

“วงฮิพฮอพนอกกระแสมันก็มี แต่เมืองไทยที่รู้สึกว่าเพลงนอกกระแสมันเป็นเพลงฟุ้งๆ ลอยๆ เพราะที่เราเอามามันก็เป็นเพลงฟุ้งๆ กีตาร์นุ้งนิ้งๆ แต่มันก็เป็นแนวที่เราชอบไง มันอาจจะยังไม่มีคนที่เป็นสายฮิพฮอพที่ไม่ได้ฟังแต่ 50 Cents แต่ฟังนอกกระแสของฮิพฮอพ แค่เขาอาจจะยังไม่ได้จัดงาน คนไทยก็เลยยังไม่รู้ว่าฮิพฮอพนอกกระแสเป็นยังไง”

hip 04

เมื่อถามถึงเหตุผลที่กิชอบฟังเพลงนอกกระแส เธอตอบทันทีว่าไม่ใช่เป็นเพราะความอยากแนว แต่เป็นเพราะความสนุกที่ได้ฟังเพลงแล้วรู้จักวงดนตรีใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ และด้วยความบังเอิญว่าเพลงที่เธอชอบเป็นเพลงที่อยู่นอกกระแสจึงทำให้ถูกมองว่าฟังแต่เพลงนอกกระแส ทั้งที่จริงๆ เพลงเมนสตรีมที่เธอชอบก็มีเหมือนกัน

“ถ้าถามว่าทำไมถึงฟัง ก็เพราะฟังแล้วชอบนั่นแหละ ไม่ได้รู้สึกว่าเพราะมันนอกกระแสนะเราถึงชอบ” กิกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

อย่างไรเสียก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้งในหมู่คนที่ฟังเพลงนอกกระแสหรือที่ถูกเรียกว่าเป็นฮิปสเตอร์ก็โดนค่อนขอด เพราะบางคนเข้ามาฟังเพราะดูเท่หรือเก๋ และมองการฟังเพลงนอกกระแสเป็นเพียงแฟชั่นเท่านั้น ซึ่งกิเองก็ยอมรับว่าอาจจะมี และด้วยเหตุผลนี้ บางครั้งก็ทำให้เธออดหนักใจกับการจัดงานคอนเสิร์ตเล็กๆ แต่ละครั้งไม่ได้

“ถ้าที่ผ่านมาคนมาแค่เพราะเป็นแฟชั่น สิ่งที่พวกเราทำและแฮปปี้ในตอนนี้ก็จะไปต่อไม่ได้ เพราะถ้ามาแค่เพราะเป็นของใหม่ ตื่นเต้น ปีหน้าเขาอาจจะไม่มาแล้วก็ได้ เพราะมันไม่ได้เป็นอะไรที่เขาชอบจริงๆ”

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้กิมองค่านิยมของการฟังเพลงอินดี้ในไทยกว่าเป็นเพียงการทำตามๆ กัน อาจเป็นเพราะเธอได้ไปดูคอนเสิร์ตของวงอินดี้ในต่างประเทศอยู่บ้าง และได้เห็นวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของคนฟังไทยและฝรั่ง นั่นคือเรื่องของความ ‘เห่อ’ ที่แสดงออกมาด้วยการถ่ายรูปตลอดคอนเสิร์ต ขณะที่ต่างประเทศ แทบไม่มีเลยที่คนจะยกกล้องหรือสมาร์ทโฟนขึ้นมาเก็บภาพ

นั่นทำให้เธออดคิดไม่ได้ว่าการฟังเพลงนอกกระแสของไทยยังมีความเป็น ‘แฟชั่น’ อยู่มากกว่า

“มันเหมือนเขาไปดูแล้วไม่ได้รู้สึกว่าวงนั้นเป็นไอดอล แต่ไปเพื่อฟังเพลง ดูว่าเขาเล่นยังไง ดนตรีแนวนี้เป็นยังไง เหมือนจะไปเพราะดนตรีมากกว่าที่จะไปแบบ ‘ฉันอยากเจอวงนี้’ หรือไปถ่ายรูปว่าฉันมางานนี้นะ”

คนที่มาฟังคอนเสิร์ตของ Have You Heard? มีแตกต่างกันมากมาย แต่เด็กที่สุดเท่าที่เคยเจอเธอเล่าว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 16 ปี เมื่อเทียบกับตนเองในวัยนั้น ในฐานะรุ่นพี่ กิมองว่าวัยรุ่นในปัจจุบันน่าอิจฉามาก เพราะมีสื่อมากมายที่ให้ได้ลองเสพ ลองฟัง ต่างกับสมัยของเธอที่มีเพียงคลื่นวิทยุและแผ่นซีดีของพ่อให้ได้ทดลองฟังเพลงแนวอื่นๆ นอกเหนือจากสองค่ายใหญ่ที่ครองตลาดเพลงในยุคนั้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยความเร็วของการค้นพบก็ทำให้เธออดห่วงเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ว่า การก้าวเข้ามาในวงการเพลงนอกกระแสของเด็กบางคนอาจจะเป็นการ ‘เสียเวลา’

“ก็อยากให้ค้นหาตัวเองแหละ ถ้ายิ่งเจอว่าตัวเองชอบอะไรเร็วก็ยิ่งดี เพราะบางทีตามกระแสมากๆ ไม่ว่าจะเมนสตรีมจะนอกกระแสหรือฮิปสเตอร์ บางทีตามมากไปก็เหมือนเสียเวลานะ

“เรายินดีต้อนรับทุกคนนะ ฟังดูก่อนว่าชอบไม่ชอบ อย่างน้อยๆ จะได้รู้ว่าอันนี้ไม่ใช่แนวเรา จะได้ลองไปแนวอื่น แล้วอาจจะได้เจอสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ ก็ได้” เธอสรุปด้วยเสียงนุ่มๆ

hip 05

+ ดูหนังอินดี้

‘ปรากฏการณ์แมรี่ฯ’ อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้คำว่าฮิปสเตอร์แพร่หลายยิ่งขึ้นในสังคมไทย

หนังอินดี้ไทยที่เป็นกระแสตั้งแต่วันแรกที่ออกฉาย (ความจริงอาจจะตั้งแต่ก่อนออกฉาย) อย่าง MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY. ทำให้เกิดภาพของคนดูมหาศาลที่ต่อแถวซื้อบัตร ต่อแถวซื้อเสื้อแมรี่ฯ ไปจนถึงต่อแถวซื้อดีวีดีในงานสัปดาห์หนังสือฯ ที่เพิ่งผ่านไป มุมมองของคนดูแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว หนึ่งคือฝั่งเมนสตรีม และสองคือฝั่งนอกกระแส

ฝั่งเมนสตรีมบอกว่า พวกดูแมรี่ฯ เป็นแค่ฮิปสเตอร์ตามกระแสที่อยากเท่อยากแนว ส่วนฝั่งนอกกระแสก็บอกว่า แม่รี่ฯ เป็นหนังที่ดี คนที่ไปดูก็เพราะเห็นว่ามันน่าสนใจ ต่างจากหนังเมนสตรีมทั่วไป ไม่ได้อยากจะแนวอะไรเสียหน่อย!

แต่ ธี-ธีรัช หวังวิศาล เด็กหนุ่มวัย 19 ผู้คลุกคลีกับการทำหนังนอกกระแสตั้งแต่ก่อนเข้ามัธยมปลาย อยากให้เราก้าวข้ามการถกเถียงกันของคนสองกลุ่มนี้ พร้อมกับตั้งคำถามใหม่ขึ้นมาว่า ‘แล้วยังไงต่อ?’

“อย่างตอนนี้หลายคนมี นวพล (เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับแม่รี่ฯ) เป็นไอดอล ซึ่งก็ไม่ผิด แต่เราว่า แล้วยังไงต่อล่ะ? จะเอายังไงต่อ? ถ้าคุณจะจริงจังกับมันคุณก็ต้องดูหนังมากกว่านี้ ต้องอ่านหนังสือมากกว่านี้ ต้องก้าวข้ามบางอย่างให้ได้แล้วไปสู่อย่างอื่น” ธีพูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง

ความคาดหวังของธีที่มีต่อกลุ่มคนรุ่นใหม่ใส่เสื้อแมรี่ฯ ที่เริ่มเข้ามาในดินแดนของหนังนอกกระแสไม่ได้ต้องการให้ทุกคนลุกขึ้นมาทำหนังของตัวเอง แต่เป็นเพียงการเปิดมุมมองในโลกภาพยนตร์ที่ไม่ได้มีเพียงหนังเมนสตรีมหรือหนังนอกกระแสเท่านั้น

“เราว่าคนเรามันจะก้าวข้ามได้มันก็ต้องออกสู่ทะเลด้วยตัวเอง” ธีอธิบายพร้อมยกตัวอย่างว่าโลกของภาพยนตร์ก็เหมือนกับทะเล หนังที่เรารู้จักส่วนใหญ่จะมาจากโรงภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ หนังจากดีวีดี หนังจากเคเบิลทีวี ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหนังที่ถูกคัดเลือกมาให้แล้วทั้งสิ้น

“อย่างลิโดกับเฮาส์ อย่าหาว่าอะไรนะ แต่เขาก็ไม่ได้กว้างจริง ก็จบอยู่แค่ Sundance (เทศกาลหนังนอกกระแสใหญ่ที่สุดในสหรัฐ)” ธีขัดขึ้นราวกับล่วงรู้ความในใจของเราเมื่อพูดถึงหนังนอกกระแสก็จะนึกถึงโรงภาพยนตร์ 2 แห่งนี้ ซึ่งแน่นอนว่าโรงภาพยนตร์เหล่านี้ก็กลายเป็นสัญลักษณ์อีกหนึ่งอย่างของเด็กที่ถูกเรียกว่าฮิปสเตอร์เช่นกัน

“เราต้องหามันเองด้วยการเสิร์ชในบิททอร์เรนต์หรือในเน็ต ซึ่งคุณทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอเทศกาลหนัง เราเชื่อว่าถ้าถึงจุดที่คนมีพลังพอจะเลือกที่จะดูอะไรก็ได้จริงๆ ไม่ใช่จากที่มีอยู่แล้วจากดีวีดีหรือเฮาส์หรือลิโดที่มันเลือกมาแล้ว ถามว่าดีมั้ย มันก็ดี แต่ไม่เท่าการเลือกด้วยตัวเราเองแน่ๆ”

GREY ZONE คือชื่อของพื้นที่ของงานศิลปะ วรรณกรรม และภาพยนตร์ที่ธีมองว่าเป็นพื้นที่ของงานที่ตกหล่นอยู่ตามรายทาง เนื่องจากไม่มีคนสนใจ ไม่มีกระแสมากพอ เป็นพื้นที่สีเทาที่อยู่ระหว่างงานในฝั่งเมนสตรีมและงานอินดี้ที่เก๋และเท่ ซึ่งเขาพยายามที่จะให้ดินแดนสีเทาแห่งนี้ได้รับความสนใจมากขึ้นนอกไปจากสองขั้วที่มีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้มันยังเป็นพื้นที่ที่ธีเลือกที่จะวางผลงานการกำกับภาพยนตร์ต่างๆ ที่เป็นการทดลองของตัวเองไว้ในนั้นด้วย

“เราเชื่อว่ามันยังมีคนที่อยู่ในพื้นที่สีเทาที่ไม่ใช่คนเท่เก๋และไม่ได้ขายได้ แต่เป็นคนที่มีฝีมือจริงๆ ทั้งคนเขียนหนังสือ คนทำหนังอะไรอีกเยอะแยะที่ถูกลืมไปหรือถูก underrated เราเชื่อว่ามันต้องมีใครสักคนที่พูดเรื่องนี้โดยที่ไม่ต้องแคร์สองฝั่งใหญ่นั้น”

ในประเด็นของฮิปสเตอร์ ธีมองว่ามันก็เป็นคำเรียกที่เรียกกันขำๆ มากกว่า แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นคำที่ทำให้คนที่ถูกเรียกดูแบนและถูกมองแค่ด้านเดียว ซึ่งถ้าทำให้คนกลายเป็นแค่วัตถุ ธีเองก็ไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ เขามองว่าการที่วัยรุ่นจะมาสนใจงานศิลปะหรือภาพยนตร์แม้จะเพียงแค่ผิวเผินก่อนก็ไม่ใช่เรื่องผิด

เหมือนเป็นก้าวแรกน่ะ – เขาบอก

“ต่อให้คนมองว่าวงอินดี้ที่ดังมาก หรือหนังอินดี้ที่ดังมากมันมีสิทธิ์สปอยล์คนได้ แต่ ณ จุดหนึ่งเรามองว่าต่อให้มันสปอยล์เขา ก็ยังดีกว่าเขาไม่สนใจเลย ซึ่งมันเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การจริงจังกับคัลเจอร์หนังอื่นๆ อะไรอย่างนี้ก็ได้ มันไม่แน่น่ะ การที่เขาดูหนังที่มันดังมาก่อนก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย”

hip 01

สิ่งหนึ่งที่ทำให้สายตาที่คนนอกมองเข้ามาในวงการหนังนอกกระแสเป็นไปในแง่ลบคือ การออกอาการ ‘ยี้’ ใส่หนังกระแสหลัก สิ่งนี้เองที่ทำให้ช่องว่างของคนทั้งสองฝั่งอยู่ห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งธีเองก็ยอมรับว่าตัวเองเคยเป็นเช่นเดียวกัน แต่ปัจจุบันเขาข้ามผ่านจุดนั้นมาแล้ว เพราะในโลกภาพยนตร์ไม่ได้มีเพียงหนังที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการของคนในฝั่งเมนสตรีมหรือฝั่งอินดี้เท่านั้น หนังบางเรื่องอาจมีหน้าหนังเป็นหนังแมสธรรมดาแต่มีประเด็นที่ดีมาก ธีมองว่าจุดนี้เองที่เขาหันมาให้ความสำคัญมากกว่า

“แค่ก้าวหน้าในเรื่องประเด็นก็แฮปปี้แล้ว” ธีพูดอย่างฉะฉาน

นั่นทำให้มีหนังบางเรื่องที่ตกหล่นหายไปอยู่ในพื้นที่สีเทาเช่นกัน เพราะภาพยนตร์ที่มีประเด็นดีแต่หน้าหนังไม่ดี คนเมนสตรีมก็ไม่แคร์ คนอินดี้ก็ไม่แคร์เพราะคิดว่าแค่หนังแมสธรรมดาเลยไม่ดู ธีมองว่าบางทีคนดูหนังในฝั่งนอกกระแสก็มีพฤติกรรมแย่เหมือนกันกับการแสดงท่าทียี้ๆ ใส่หนังที่ตัวเองคิดว่าแมส ทั้งที่แต่แรกตัวเองก็เคยดูมาก่อนแท้ๆ

“จริงๆ ทุกคนบนโลกนี้มันก็เริ่มมาจากหนังฮอลลีวูดอยู่แล้ว เพราะเกิดมามันก็มีแค่หนังฮอลลีวูดให้ดูในโรง หรือเกิดมารุ่นเราก็มีแค่วิดีโออย่างคนเหล็กให้ดู เราว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระที่คนที่โตแล้วกลายเป็นอินดี้จะมาเหยียดในสิ่งที่ตัวเองเคยดูตอนเด็ก ซึ่งคุณก็เคยเป็นแบบนั้น เคยดูอะไรแบบนั้น

“เราไม่ได้ว่ามันแย่ แค่มันไร้สาระและ bullshit” ด้วยน้ำเสียงไม่ประนีประนอม เราคิดว่าสิ่งที่ธีพูดน่าจะกระแทกไปถึงคนดูประเภทดังกล่าวไม่มากก็น้อย

สิ่งที่ธีหวังจะเห็นไม่ได้จบเพียงแค่คำถามที่ว่า ‘แล้วยังไงต่อ?’ แต่เป็นปฏิบัติการต่อเนื่องเพื่อการปฏิวัติยุคสมัยของภาพยนตร์และศิลปะด้วยมือของเด็กยุคเจเนอเรชั่นวาย

เขาหวังจะเห็นสังคมที่ไม่มีการเหยียดกันในกลุ่มวัฒนธรรมและทุกคนในสังคมหันมาใส่ใจกับงานศิลปะต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือไปจากความสนใจของตัวเอง ใส่ใจกับประเด็นที่ภาพยนตร์ต้องการจะสื่อมากกว่ารูปลักษณ์ภายนอกอย่างที่เคยเป็นมา

“สุดท้ายจะเด็กฮิปสเตอร์หรือเด็กอะไรมันก็เป็น ‘youngster’ เหมือนกัน คือคนหนุ่มสาวเหมือนกัน การเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้ไปสู่สังคมที่ดีกว่านี้ สังคมที่เสมอภาค สังคมที่เห็นค่าความเป็นมนุษย์ มันต้องเกิดจากคนรุ่นใหม่ ต้องเกิดจากวัยรุ่นทุกคน”

สิ้นเสียงคำประกาศอุดมการณ์จากธี เราขนลุก และลืมหัวข้อที่กำลังสนทนาไปชั่วขณะ

03 สามนาทีผ่านไป

A: วันนี้ผมไปเจอเด็กคนหนึ่งที่สยามมาครับ

B: ทำไมครับ

A: มันแต่งตัวโคตรฮิปสเตอร์เลยครับ ผมเลยตะโกนบอกมันไปว่า ‘น้องโคตรฮิปสเตอร์เลยว่ะ’

B: แล้วไงครับ

A: มันหันกลับมาบอกว่า ‘ไอ้ห่า กูเป็นติ่งกามิกาเซ่’

จบ.

……………………………………………………………

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Way ฉบับ 73)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า