MARY IS IN CONTROL

 

mary                                                                                                                                                                                                               เรื่อง : ศุทธวีร์ ตันติวงศ์ชัย

 

“หนูคอนโทรลอะไรตัวเองไม่ได้เลยล่ะค่ะ แล้วหนูทำอะไรไม่ได้เลยเหรอคะ ปล่อยมันเป็นแบบนี้เนี่ยนะ”

เด็กสาวผมประบ่าวัยหัวเลี้ยวหัวต่อผู้หนึ่งตะโกนถามอาจารย์พยาบาลสาวสวยตรงหน้า เธอสงสัยในสภาพที่เป็นอยู่ของตนเอง เธอสงสัยในการกระทำของตนเอง เธอสงสัยสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นรอบๆ กับตนเอง เธอสงสัย…เด็กสาวช่างสงสัยผู้นี้ชื่อว่า ‘แมรี่’

แมรี่เป็นเด็กสาวเกรด 12 ในโรงเรียนหญิงล้วนแห่งหนึ่ง เธอคึกคะนองและกระหายใคร่รู้…โดยเฉพาะเรื่องตนเอง ในช่วงเวลาหนึ่งของการเรียนปีสุดท้ายเธอจับมือเพื่อนสาวที่สนิทที่สุดนามว่า ‘ซูริ’ และกระเตงเพื่อนรักคนนี้เข้าไปรับอาสาจัดทำ ‘หนังสือรุ่น’ ให้โรงเรียนของเธอ

แมรี่เป็นเด็กสาวที่เรียกได้ว่าอารมณ์ศิลปินคนหนึ่งหรืออาจจะเป็นเด็กๆ สาวเพี้ยนๆ ในสายตาใครหลายคน แมรี่เป็นเด็กสาวทั่วไปที่มีช่วงเวลาแห่งรัก แมรี่เป็นเด็กสาวทั่วไปที่มีช่วงเวลาแห่งความคึกคะนอง แมรี่เป็นเด็กสาวทั่วไปที่ชอบตั้งคำถาม แมรี่เป็นเด็กสาวทั่วไป…แมรี่เป็นเด็กสาวทั่วไปที่เป็นแบบนี้เพราะตัวแมรี่เองหรือเพราะมีใครควบคุมอยู่กันแน่

แมรี่เคยนึกสงสัยว่า…การที่เธอจะเดินไปทางซ้ายเป็นเพราะเธออยากจะเดินไปทางซ้ายหรือเพราะมีใครควบคุมให้เธอเดินไปทางซ้าย แต่หากเธอเลือกทางขวาเป็นเพราะเธออยากไปทางขวาหรือเป็นเพราะมีใครควบคุมให้เธอไปทางขวาและถ้าเธอเลือกทางขวาเพราะเธอไม่อยากไปทางซ้ายหรือมีใครควบคุมให้เธอไม่อยากไปทางซ้าย – เธอเกิดคำถามที่หลายคนสงสัยว่าจะถามไปทำไม…เราก็แค่เดินไปก็พอแล้ว แต่คำถามของแมรี่กลับกระตุกชายเสื้อของเราเบาๆ ให้หยุดมองและคิดว่าท้ายที่สุดแล้วเราเป็นผู้กำหนดทุกอย่างจริงหรือไม่

อาจดูเหมือนเรื่องคิดมากจนเกินควรของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งกับความคิดที่จะทวงถามถึงสิทธิเสรีภาพในการกระทำบางสิ่งบางอย่างบนจุดยืนของตน – ซึ่งเจ้าตัวก็ไม่รู้ว่าเป็นของตนจริงไหม แต่กระนั้นแมรี่ก็เลือกที่จะเสี่ยง…เสี่ยงในการทุบกำแพงของกรอบความคิดและทวงถามอิสรภาพทางความคิดของตนจากผู้ควบคุมที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร และดูเหมือนเธอจะพบคำตอบที่ตัวเธอสงสัยมาโดยตลอดอย่างไม่รู้ตัว

เด็กสาวแหงนมองวิสัยทัศน์ของโรงเรียนที่เปลี่ยนไปเพราะการมาเยือนของผู้อำนวยการโรงเรียนคนใหม่ ‘จงทำดี’ คือวิสัยทัศน์เดิมของโรงเรียนซึ่งมันช่างตอบรับเข้ากับรสนิยมของแมรี่ได้เป็นอย่างดี แต่วันนี้กลับเปลี่ยนเป็น ‘จงทำตาม’ เด็กสาวพรั่นพรึงกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลง กรอบบางอย่างบีบรัด แมรี่เลิกที่จะตั้งคำถามและเลือกที่จะตาม

 

19194ec564ccb119ca0c58e9b45b4b02

 

เด็กสาวได้คำตอบที่ถามไว้ในตอนต้นโดยไม่รู้ตัว คำถามที่ว่าใครเป็นผู้ควบคุมชีวิตกันแน่…คำตอบที่ว่าคือ ‘สังคม’ คำตอบนี้ไม่น่าพิสมัยเท่าใดนักหากแมรี่ยังคงเป็นแมรี่คนเดิม แต่ ณ วินาทีนั้นแมรี่ไม่ใช่แมรี่คนเดิมเธอเลือกที่จะทำตามขนบทำเนียมของสังคม เธอเก็บความขบถทางความคิดเอาไว้ แมรี่กำลังถูกควบคุมโดยสิ่งที่เรียกว่าสังคม

ในหลายครั้งเราอาจจะเคยบ่นกับตัวเองว่าทำไมเราต้องทำแบบนี้ ทำไมต้องเลือกวิธีการนี้ คำตอบนั้นคือสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำหนด อาจจะดูเหมือนการโยนภาระเสียมากกว่าแต่ก็ยากที่จะปฏิเสธว่าไม่ใช่ ในหลายโอกาสสภาพสังคมบีบเค้นและขีดเขียนเส้นทางให้เราโดยอัตโนมัติ เราทำได้แค่เลือกและเดินตาม หากเราขัดขืนก็เหมือนดิ้นไปอีกเส้นทางหนึ่งเท่านั้น ประเด็นใหญ่อีกจุดคือเมื่อเราเลือกเส้นทางหนึ่งไปแล้วเราก็ต้องเดินตามเส้นนั้นต่อไปเรื่อยๆ หากหยุดเดินก็จะพบว่าเจ้าสังคมตัวดีจะคอยไล่ตามจี้สั่งให้เราเดินหน้าต่อไปตลอด – เดินจนเมื่อยแล้วเนี่ย

ทุกวันนี้เราอาจจะแทบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าสภาพสังคมเป็นตัวกำหนดกรอบต่างๆ ให้เราเดินไป ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คงจะเป็น Gadget ต่างๆ เมื่อเราอยู่ในสังคมที่มีแต่ผู้ใช้ Gadget ออกรุ่นใหม่ต้องซื้อ ของต้องเทรนด์ อยู่ไปได้สักพักก็บังเกิดความอึดอัดเสียเหลือเกินจนต้องแอบไปซื้อมาครอบครองสักชิ้นสองชิ้น…สภาพสังคมโดยรอบมันบีบให้เราทำเช่นนั้น หากเราไม่คล้อยตามสังคมส่วนมากก็เลือกที่จะหนีสังคมนั้นเสีย โดยมากมักจะเป็นแบบนี้แต่จะบอกว่าสังคมกำหนดหรือบังคับทั้งหมดก็คงจะไม่ดี ปัจจัยอีกส่วนคือ ‘การคล้อยตาม’ หากเราไม่คล้อยตามก็จะเป็นการต้านกระแสสังคมซึ่งก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่พยายามต้านกระแสอันเชี่ยวกรากนี้

 

MARY-IS-HAPPY_1

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อได้ทำความรู้จักกับแมรี่ไปได้สักระยะ ก็เผลอคิดไปว่าแท้จริงแล้วเด็กสาวคนนี้ไม่ได้เป็นเด็กสาวอารมณ์ศิลปินเหมือนอย่างที่คิดในตอนต้นเสียเท่าไร เธอน่าจะจัดอยู่ในจำพวกเด็กสาวช่างสงสัยที่สงสัยไปทุกเรื่องก็ไม่ต่างจากเราๆ เท่าไรนักที่ถวิลหาคำตอบจากคำถามพิลึกๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้นในระบบความคิดอันซับซ้อนของเรา – อย่างที่รู้กันว่าการช่างสงสัยและตั้งคำถามเป็นส่วนหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์ คาดเดาได้ว่าแมรี่คงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีได้แน่

แมรี่คิดว่าชีวิตถูกควบคุมโดยบางสิ่งที่ตนเองไม่รู้ซึ่งไม่ผิดนัก แต่การจะบอกว่าแมรี่ถูกควบคุมโดยสมบูรณ์ก็ไม่ใช่เธอปล่อยให้ร่างกายของเธอโดนควบคุมด้วยเช่นกัน – วิธีการปล่อยก็แสนง่ายแค่เลิกทักท้วงก็เท่านั้น

หลังจากจดจ่อกับเรื่องของแมรี่มาสักพักก็ถึงเวลาที่จะกลับมาคุยกับตนเองสักหน่อย ฉันคิดว่าความคิดเรื่องการถูกควบคุมของแมรี่นั้นน่าสนใจ – เป็นหนึ่งในรูปแบบการคิดที่เหมาะสมสำหรับการตรวจสอบตนเองในระดับหนึ่งว่าเพราะเหตุใดเราถึงกระทำเช่นนี้ เพราะเหตุใดเราถึงเลือกที่จะทำเช่นนี้ เป็นการทบทวนตนเอง ตรวจสอบความผิดพลาด และประเมินกระแสเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดในอนาคต หากนำมาประยุกต์ใช้สักนิดหนึ่งให้พอหอมปากหอมคอก็คงจะดี แต่ครั้นจะให้มานั่งถกปัญหาว่าใครควบคุม คุมทำไม คุมอย่างไร เพราะอะไร ตลอดเวลาแบบแมรี่ก็คงจะชวนให้ปวดหัวเสียเปล่า

วันหนึ่งแมรี่จบการศึกษาและทำการย้ายข้าวของออกจากหอพักประจำโรงเรียนและเดินทางกลับมาอยู่ที่บ้าน… เด็กสาวเหม่อมองทิวทัศน์จากระเบียงบ้าน ภูเขาสีเขียวสด ท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ ในใจของแมรี่คิดเช่นไรไม่อาจหยั่งรู้ ไม่นานหลังจากนั้นแม่ผู้ให้กำเนิดเดินมาใกล้ๆ พร้อมกับพูดขึ้นว่า…
“คิดได้แล้วยังว่าจะทำอะไรต่อไป…”
แน่ะ! คนกำลังชมวิวเพลินๆ ยังจะมาควบคุมให้ทำนั่นทำนี่อีก

 

****************

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน way magazine ฉบับที่  69

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า