HEAVY: น้ำหนักของความทรงจำ ‘เต๋อ’ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

-1-

ห้องแกลเลอรี / ภายใน / กลางวัน

ภาพถ่ายกรอบไม้ทรงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่เบิ้มจำนวนมากถูกวางอยู่ภายในห้องสีขาว ราวกับที่นี่เป็นกล่องบรรจุความทรงจำของผู้ถ่าย วางเรียงรายกันไปตามแนวยาวของห้องแกลเลอรี ภาพถ่ายเหล่านี้ไม่ได้ถูกจำแนกเนื้อหา ประเภท หรือแม้กระทั่งคุณภาพ มีเพียงจุดร่วมเดียวคือขนาดและน้ำหนักที่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นภาพส่วนตัวที่สุดของผู้ถ่าย ไปจนถึงภาพส่วนรวมที่แม้แต่คนที่ไม่รู้จักศิลปินเลยก็คงคุ้นๆ ตาอยู่บ้าง 

ความสะเปะสะปะนี้ถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบ ภาพกรอบไม้ติดรอบห้องโดยมีระยะห่างเท่าๆ กัน แต่ความมัน (ส์) อาจอยู่ที่รูปกองพะเนินที่อนุญาตให้ผู้ชมแตะสัมผัส ช่วงเวลานั้นเอง ห้องแกลเลอรีเปลี่ยนตัวเองเป็นโปรแกรมตัดต่อที่ดึงเอาแต่ละรูปมาสลับสับเปลี่ยน narrative ดั้งเดิม โดยมีผู้ชมเป็นคนเคลื่อนย้าย เราจะได้เห็นใบหน้าระยะใกล้ (มาก) ของ ‘ฟ้า’ ษริกา สารทศิลป์ศุภา (‘มี่’ ฮาวทูทิ้ง) ซึ่งอาจอยู่ในคาแรกเตอร์หรืออาจไม่อยู่ก็ได้ ถูกยกขึ้นแล้วกลับกลายเป็นรูปภาพผ้าขาวยาวดูราวกับผีผ้าคลุมตามสมัยนิยมแขวนบนราวตากผ้า ในที่ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าคือที่ไหน อย่างไร 

แน่นอนว่าสำหรับผู้ถ่ายย่อมมีความทรงจำ มีสภาพแวดล้อมอยู่นอกกรอบสี่เหลี่ยมนั้น จะเข้มข้น เจือจาง ขึ้นอยู่กับการทำงานของการจัดเรียงความทรงจำในสมองของเจ้าของภาพ – ใช่ เรากำลังพูดถึง ‘เต๋อ’ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ลุกขึ้นมาจัดนิทรรศการภาพถ่ายที่ชื่อ ‘HEAVY’ ในครั้งนี้

ขณะที่คนผู้ผ่านมา อาจมีความทรงจำร่วมบ้างไม่ร่วมบ้าง อาจรู้จัก ‘มี่’ ในหนังฮาวทูทิ้ง แต่ก็อาจไม่ได้รับรู้เรื่องราวของผ้าสีขาวผืนนั้น ตรงส่วนนี้เองจึงเกิดสเปซขึ้น เป็นช่องว่างที่ผู้ชมปรุงได้เอง 

โดยปกติแล้วเมื่อเราดูงานภาพถ่ายที่มีลักษณะเป็น photo-essay สมองจะทำงานโดยเชื่อมโยงเรื่องราวจากภาพปรากฏเองโดยอัตโนมัติ ว่าภายนอกที่พ้นจากกรอบสี่เหลี่ยมตรงหน้านี้ เบื้องหลังมันคืออะไร แล้วผู้ชมก็ร่าง narrative ขึ้นมาเอง 

แต่งานนิทรรศการนี้มีทางลัดคือ มันมีชุดภาพที่มีน้ำหนักของเรื่อง มีตัวละครที่เราอาจรู้จักจากหนัง ปนเปกับภาพที่เราต้องจินตนาการเอาเองอยู่ด้วยกัน สับเปลี่ยนกันเข้ามาอยู่ในฉากของการมองเห็น เรื่องราวถูกดำเนินต่อจากความทรงจำที่มีอยู่ก่อน

และการที่ภาพบางส่วนถูกบังด้วยรูปที่วางทับอยู่ด้านบน ต้องรอผู้ชมเข้ามายกออก เพื่อเอาไปวางสลับไปมา เรื่องราวที่ถูกทับอยู่ด้านล่างจึงค่อยปรากฏออกมา คนที่มาต่างช่วงเวลากันก็จะเห็นภาพไม่เหมือนกันทั้งหมด 

ดังนั้น ห้องแกลเลอรีจึงเป็นเรื่องของการตัดต่อเส้นเรื่องไปเรื่อยๆ โดยตัวของผู้ชมเอง ผ่านการยก เคลื่อน ย้าย 

ณ ขณะนั้น ภาพนิ่งกลับเคลื่อนไหว ทั้งในเชิงกายภาพและในห้วงคิด

-2-

น้ำหนักของความทรงจำ / ภายใน / ของใครของมัน

แน่นอนว่าการจัดแสดงภาพถ่ายระยะประชิด หรือรูปถ่ายในชีวิตประจำวัน มักจะเข้มข้นไปด้วยความส่วนตัว สิ่งละอันพันละน้อยที่ดูเหมือนจะไม่สลักสำคัญ ปรากฏตัวอยู่เป็นหย่อมๆ แทรกอยู่ตามรูปที่เข้มข้นไปด้วยการถูกรู้จัก แต่อำนาจของห้องสีขาวที่ถูกเรียกว่าพื้นที่จัดแสดงงาน กำลังชูให้สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านั้นเด่นหราขึ้นมาดังที่เป็นมาเสมอ ภาพกองทรายถูกเพ่งมองอย่างพินิจถึงที่มาของมันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นนอกสเปซ แต่นิทรรศการนี้ออกจะต่างออกไปสักหน่อย ในแง่ที่มีภาพที่เป็นความทรงจำร่วมปะปนอยู่ด้วยจำนวนมาก ศิลปินเล่าว่า เขามีไอเดียตั้งต้นมาจากการที่เขาได้แบกน้ำหนักของภาพยนตร์ที่ตัวเขาเองทำ ผ่านการปรินต์ภาพใส่กรอบขนาดใหญ่เข้าไปในบ้าน น้ำหนักที่พูดถึงคือ น้ำหนักในเชิงกายภาพ 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้ในนิทรรศการจะเป็นเรื่องของความหนักในการเคลื่อนย้ายกรอบรูป แต่สิ่งที่โผล่หน้าออกมามากกว่ากลับเป็น ‘น้ำหนักของความทรงจำ’ น้ำหนักของเรื่องราวที่หนักไม่เท่ากัน และสำหรับแต่ละบุคคลก็รับความหนักเบาไม่เท่ากัน แน่นอนว่าผู้จัดทำน่าจะเป็นคนที่แบกแล้วหนักมากที่สุด และแต่ละรูปก็คงหนักไม่เท่ากัน แม้จะมีกรอบขนาดเดียวกัน คนผู้มีส่วนร่วมกับหนังหรือเรื่องราวในชีวิตของศิลปินก็แบกอีกน้ำหนักหนึ่ง ดังนั้นน้ำหนักจึงเชื่อมโยงกับประสบการณ์ ความถวิลหาส่วนบุคคล และมีความเสี่ยงที่จะเบาหวิวในผู้ไกลห่าง 

-3-

ความไม่เสถียร / ภายนอก / การเปลี่ยนผ่าน

คำถามอาจมีอยู่ว่า เราสามารถแตะสัมผัสหรือแบกน้ำหนักของภาพบันทึกในเชิงกายภาพได้จริงหรือ ภาพถ่ายถูกใช้เป็นภาพแทนของความทรงจำ เพราะมันได้บันทึกห้วงเวลาขณะหนึ่งที่ไม่มีวันหวนกลับมาได้อีก แต่ความทรงจำเองก็ไม่เที่ยงตรงหรือโปร่งใส หากแต่มีการปรุงผ่าน medium ต่างๆ อยู่เสมอ (รูปถ่ายเป็นหนึ่งใน medium นั้น) 

สิ่งที่โชว์เด่นหรามีเพียงความไม่สถิตเสถียรของอะไรเลย วินาทีที่เราลั่นชัตเตอร กับวินาทีถัดมา ภาพนั้นเป็นอดีต ภาพถ่ายอาจเป็นเครื่องยืนยันว่าสิ่งที่ปรากฏตรงหน้าจะมลายหายไป 

แม้กระทั่งกายภาพของการบันทึกอดีตนั้นเอง จากที่เคยอยู่ในรูปแบบการปรินต์ออกมาจับสัมผัสก็ถ่ายโอนไปสู่ไฟล์ดิจิทัล เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงฟังก์ชัน 

ณ ช่วงเวลาหนึ่ง การถ่ายภาพเคยมีความจำเป็นที่ต้องถูกอัดล้างออกมาเพื่อดูบนแผ่นกระดาษที่สัมผัสได้ แต่การหวนนึกถึงการได้แตะสัมผัส จนเกิดเป็น movement ของการวนกลับมาใช้กล้องฟิล์มอีกครั้ง อาจไม่ใช่เรื่องของฟังก์ชันอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกเสียมากกว่า ดังนั้นการที่รูปถ่ายเหล่านั้นถูกผลิตออกมาให้เจ้าของรูปแบกน้ำหนัก แต่เรารับได้เพียงน้ำหนักที่ไม่มีอยู่เท่านั้น เพราะความทรงจำที่สถิตในภาพถ่ายได้เคลื่อนผ่านไปแล้ว

-4-

เคลื่อนไหว / ใน / แกลเลอรี

ความสนุกของนิทรรศการ HEAVY สะกิดให้เราตระหนักถึงรูปแบบของงานสร้างสรรค์ที่เหมือนจะอยู่ใกล้และเหลื่อมซ้อนกัน อย่างนิทรรศการศิลปะและภาพยนตร์ ศิลปินกล่าวว่า 

“ภาพยนตร์ คือการหาว่ามันจะทำปฏิกิริยาต่อคนดูอย่างไรได้บ้างผ่านการไดเรกชัน 

“ในขณะที่นิทรรศการอาศัยอยู่ในห้องจริงๆ มีของให้แตะสัมผัส แล้วแต่ว่าคนดูจะทำอย่างไรกับมัน โดยไม่ถูกไดเรกผ่านวิธีคิดที่มีความเชื่อมโยงกันอยู่” 

นี่อาจเป็นเขตแดนที่ผู้กำกับคนนี้เดินก้าวล้ำออกมา มองหาความเป็นไปได้ที่จะไดเรค (แม้เขาจะบอกว่าไม่ได้ไดเรกนะจ๊ะ) ความเคลื่อนไหวของผู้คน โดยอนุญาตให้คนดูกบฏต่อ narrative ที่เขาตั้งวางไว้ ผ่านช่องว่างที่เขาไม่ได้กำกับ ผ่านระยะห่างระหว่างช่างภาพกับผู้ชมภาพอันมีเฉดที่หลากหลาย 

ชวนมาแบกน้ำหนักของภาระทางความทรงจำ กับนิทรรศการ ‘HEAVY’
โดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ 

เริ่มวันแรก 30 กันยายน 2566 ตั้งแต่ 13.00-18.00 น. ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY  
จำกัดจำนวนผู้เข้าชม 25 คน ในพื้นที่นิทรรศการ

Author

เจนจิรา สิริพรรณยศ
คุยกับหมารู้เรื่องกว่าคุยกับปลา มีเพื่อนเป็นหมาทั่วจังหวัดเชียงใหม่ หลงใหลในเรื่องนามธรรม แต่บ้าคลั่งการซื้อโคมไฟมือสอง โดยปกติทำงานวิชวล แต่ก็แอบๆ อยากเขียนด้วยบ้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า