“เขินอาหาร”
“เป็นอะไรอะ?”
“แอ๊บเกินดูออก”
จากกรณีที่มีผู้ใช้ Tiktok คนหนึ่งได้ลงคลิปรับประทานอาหารด้วยท่าทางที่น่ารัก ยิ้มแย้ม ดูร่าเริง แต่กลับได้รับคอนเมนต์แซะหรือเหน็บแนมมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงด้วยกันเสียมากกว่า ทั้งยังถูกนำคลิปไปล้อเลียนในเชิงตลก โดยผู้คนเหล่านั้นมองว่าท่าทางที่ผู้ใช้ Tiktok รายนี้ได้แสดงออกมามัน ‘แอ๊บเกินไป’
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้น ยังมีกรณีนับไม่ถ้วนที่ผู้หญิงหลายคนเคยถูกโจมตีด้วยข้อความเกลียดชังทั้งในชีวิตจริงและในโลกโซเชียล เพียงเพราะมีความเป็นผู้หญิงมากเกินไป (hyper femininity) เป็นความจริงที่ในหลายๆ ครั้งสังคมตัดสินว่าผู้หญิงเหล่านี้มักไม่มีความจริงใจจนเกิดเป็นอคติในสังคมมาอย่างยาวนาน
หากมองข้ามเรื่องบิวตี้สแตนดาร์ด (beauty standard) ประโยคคุ้นเคยที่ได้ยินกันบ่อยๆ อย่าง “ถ้าคุณหน้าตาดี โลกจะใจดีกับคุณ” อาจใช้ไม่ได้กับเรื่องนี้ เพราะผู้คนมักจะโฟกัสไปที่ ‘ความเป็นผู้หญิงที่มันมากเกินไป’ นำไปสู่การกีดกันความเป็นหญิงโดยผู้หญิงด้วยกันเอง (internalized misogyny) จนเกิดคำถามว่า ทำไมผู้หญิงถึงได้แสดงความกีดกันความเป็นหญิง?
น่ารักก็ว่าแอ๊บ เซ็กซี่ก็ว่าผิด
“ทำไมต้องทำตัวแบ๊ว”
“ทำไมต้องแอ๊บเสียง”
“ไม่ชอบผู้หญิงแอ๊บแบ๊วเพราะดูไม่จริงใจ”
ประโยคที่หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินหรือได้พบเจอกับตัวเองมาบ้าง ข้อความเหล่านี้เป็นการแสดงความกีดกันความเป็นหญิงจากผู้หญิงด้วยกัน หรือ internalized misogyny เป็นพฤติกรรมหรืออคติที่แสดงออกผ่านการกดขี่ข่มเหง เหยียดหยาม เหน็บแนม เพื่อลดทอนคุณค่าเพศหญิงหรือผู้หญิงที่มีความ hyper femininity และยกตัวเองให้สูงกว่า ซ้ำเติมปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ
ผู้หญิงที่มีความ hyper femininity มักถูกตัดสินและได้รับความเกลียดชังจากผู้หญิงด้วยกันมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการทำตัวน่ารักก็มักจะถูกมองว่าแอ๊บแบ๊วเกินไป การแต่งตัวเซ็กซี่ก็มักถูกมองว่าไม่สงวนตัว หรือแม้แต่เรื่องการใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลก็ถูกแปะป้ายว่าเป็นนิสัยแบบผู้หญิง
มารีแอน คูเปอร์ (Marianne Cooper) นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เขียนบทความที่ชื่อ ‘Why Women (Sometimes) Don’t help Other Women’ เพื่ออธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในบางครั้งที่ผู้หญิงแสดงความกีดกันผู้หญิงด้วยกันเอง โดยเนื้อแท้ไม่ใช่เพราะพวกเธอมีความเป็นผู้ชาย แต่เหตุที่พวกเธอแสดงออกเช่นนั้นก็เพื่อทำให้ตัวเองแตกต่างจากผู้หญิงที่มีความเป็นหญิงสูง
คูเปอร์ได้กล่าวถึง 2 แนวคิดที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิง แนวคิดแรกคือ ผู้หญิงที่ชอบธรรม (the righteous women) เป็นอุดมคติที่เชื่อว่าผู้หญิงมีความผูกพันกัน เนื่องจากเพศหญิงเป็นเพศที่มักประสบกับปัญหาการกีดกันทางเพศ พวกเธอจึงเข้าใจกัน จนนำไปสู่การส่งเสริมและช่วยเหลือกัน
ต่างจากอีกแนวคิดหนึ่งคือ ผู้หญิงในแบบ Queen Bee ที่มักจะคิดว่าผู้หญิงไม่สามารถเข้าหากันได้อย่างจริงใจ และยังบ่อนทำลายซึ่งกันและกัน โดยแนวคิด Queen Bee มีงานวิจัยครั้งแรกในปี 1970 พบว่าคนกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมดูหมิ่นผู้หญิงทั่วไปหรือผู้หญิงที่แตกต่างจากตนเอง ทั้งยังย้ำถึงคุณลักษณะความเป็นผู้ชายในตนเอง ยกตัวอย่างเช่น เชื่อว่าตนเองเข้มแข็งเหมือนผู้ชาย ต่างจากผู้หญิงทั่วไปที่มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย
แนวคิด Queen Bee นี้เองที่นำมาสู่ค่านิยมการกีดกันความเป็นหญิงโดยผู้หญิงด้วยกันเอง จนกลายเป็นค่านิยมที่ฝังรากลึกโดยไม่รู้ตัว การพ่นวาจาเกลียดชังไม่ว่าจะในชีวิตจริงหรือโลกโซเชียลจึงเป็นวิธีที่จะทำให้ตนเองดูสูงส่งกว่าผู้หญิงทั่วไป ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้นับว่าไม่พึงประสงค์และได้สร้างบาดแผลให้แก่ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อ
ความเป็นหญิงไม่ผิด สังคมชายเป็นใหญ่ต่างหาก
หากว่ากันตามตรง ผู้หญิง hyper femininity นับว่ามีคุณลักษณะตรงกับความเป็นหญิงดังที่แนวคิดชายเป็นใหญ่ได้ตีกรอบไว้ เพราะหลายๆ คนมักจะมีภาพจำว่าพวกเธอเหล่านั้นดูเปราะบาง อ่อนหวาน และอ่อนไหวง่าย โดยเป็นคุณลักษณะที่ขีดเส้นความเป็นหญิงไว้อย่างชัดเจน
และเพื่อให้ได้รับการยอมรับ ผู้หญิงบางกลุ่มจึงแสดงตัวอยู่ตรงข้ามกับ hyper femininity โดยกีดกันและเหยียดหยามผู้หญิงที่อยู่ในกรอบดังสังคมว่าไว้ จนเกิดเป็นค่านิยมกีดกันความเป็นหญิงโดยผู้หญิงด้วยกันเองอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งต้นเหตุก็มาจากการที่เพศหญิงถูกกดทับโดยสังคมชายเป็นใหญ่ ส่งผลให้ผู้หญิงมองไม่เห็นคุณค่าของตนเอง จนต้องหันมากดความเป็นหญิงอีกที เพื่อให้ตนเองแตกต่างและดูมีคุณค่ามากขึ้น
แม้ปัจจุบันจะมีการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงหรือการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศเพื่อให้เพศหญิงได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ในอีกด้านก็ยังมีผู้หญิงบางกลุ่มที่เลือกจะใช้การเหยียดผู้หญิงด้วยกันเพื่อให้ตนเองเป็นที่ยอมรับ เราจะเห็นได้ในหลายกรณีที่ผู้หญิง hyper femininity ต้องตกเป็นจำเลยสังคม ได้รับความเกลียดชังและถูกตัดสินไปก่อน ทั้งๆ ที่พวกเธอไม่ได้ทำอะไรผิดหรือสร้างความเดือดร้อนให้แก่ใคร ซึ่งหากจะหาคนที่ผิดจริงๆ ก็คงต้องย้อนมองไปถึงต้นตอของปัญหาอย่างสังคมชายเป็นใหญ่นั่นเองที่ได้สร้างมายาคติตีกรอบคุณค่าของเพศหญิง
จะเห็นได้ว่าต้นตอของค่านิยมการกีดกันความเป็นหญิงโดยผู้หญิงด้วยนั้นก็มาจากแนวคิดสังคมชายเป็นใหญ่ การจะกำจัดค่านิยมนี้ให้หมดไปคงต้องโฟกัสไปที่ต้นเหตุมากกว่าปลายเหตุ เพราะค่านิยมนี้จะยังคงไม่หมดไป หากสังคมชายเป็นใหญ่ยังคงตีกรอบความเป็นหญิงจนกดทับผู้หญิงอีกหลายๆ คนอยู่