อาจินต์ ทองอยู่คง: ‘โลกฟุตบอลไทย’ ไม่ได้จบแค่ในสนาม

การแข่งขันเอเชียนเกมส์ที่ผ่านมา ฟุตบอลชายทีมชาติไทยตกรอบ เหตุชุลมุนฝุ่นตลบตามมาเป็นระลอก โค้ชโย่ง-วรวุธ ศรีมะฆะ โดนปลด สมาคมฟุตบอลโดนอัดยับ นักเตะผู้เปิดเผยความในใจผ่านโซเชียลมีเดียถูก ‘ช้างศึกเบอร์ 12’ ฟาดงวงใส่เละเทะบนโลกออนไลน์

ดูเหมือนวงการฟุตบอลจะสะเทือนจนเสียศูนย์

แต่ ‘โลกฟุตบอลไทย’ มีขนาดกระจ่อยร่อยและมีตัวละครชี้เป็นชี้ตายอยู่ในวงตบตีเล็กๆ เท่านั้นหรือ – คำตอบอาจไม่สำเร็จรูปตามนั้น

เพราะมุมหนึ่ง ‘ทีมชาติคือกีฬาสมัครเล่น’ ฟังแล้วอย่าเพิ่งหัวร้อน อ่านเหตุผลกันสักนิด

ความเห็นของ อาจินต์ ทองอยู่คง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ ถ้าวัดด้วยกรอบของฟีฟ่า การแข่งขันฟุตบอลเอเชียนเกมส์ ‘ไม่ใช่แมตช์ทางการ’ บวกกับปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรมที่เติบโตมาควบคู่กับการดูบอล ทางด้านบทบาทของทีม ผู้ชม แนวคิดการเชียร์ เมื่อทีมกับฟุตบอลสโมสร – ลีกอาชีพ ฟุตบอลทีมชาติไม่ต่างกับ ‘กีฬาสมัครเล่น’

กับผู้มีพื้นสันทนาการอยู่บนอัฒจันทร์ ‘คนดูอาชีพ’ เบื้องหน้าของพวกเขาคือสนามหญ้าเรียบสีเขียว แต่ความหมายของ ‘ฟุตบอล’ ไม่ได้อยู่แค่ในสนาม แฟนบอลเห็นอะไร? ภาพเกมฟาดแข้งไม่ชัด เบลอๆ ไกลๆ นักฟุตบอลตัวเล็กกว่านิ้วโป้ง ไม่มีมุมกล้องให้ดูรีเพลย์ ไม่มีคนพากย์ ต้องกลับมาดูไฮไลท์ที่บ้าน

ผู้เขียนบทความ ‘โลกฟุตบอลไทยประกอบขึ้นจากทั้งฟุตบอลและสิ่งที่ไม่ใช่ฟุตบอล: กรณีศึกษาอุตสาหกรรมอุปกรณ์กีฬาและผู้ค้ารายย่อยบริเวณสนามฟุตบอลไทย’ พาสำรวจดาวบริวารที่โคจรรอบโลกฟุตบอลไทย มีปัจจัยอีกสารพัดที่ช่วยส่งแรงทั้งผลักทั้งดันให้ลูกหนังที่ไม่สามารถหมุนรอบตัวเองเคลื่อนตัวไปได้ นักฟุตบอล แฟนบอล สโมสร ทุน สปอนเซอร์ ผู้ผลิตเสื้อผ้า รองเท้า ก่อนจะงอกเงยกลายเป็นวัฒนธรรมที่สำหรับแฟนบอลบนอัฒจันทร์แล้ว “บางทีคาดหวังอย่างอื่นมากกว่าดูบอลด้วยซ้ำ”

อาจินต์ ทองอยู่คง

วิธีการมองกีฬาฟุตบอลมีหลายแบบ ทำไมถึงเลือกมองปัจจัยอื่นๆ ที่ประกอบกันมาเป็นฟุตบอลไทย

ประมาณสามปีก่อน งานนี้เป็นโปรเจ็คท์ของมิวเซียมสยาม เขาจะทำนิทรรศการเกี่ยวกับฟุตบอลไทย เพราะตอนนั้นกำลังบูมมาก คนกำลังสนใจ ก็อยากจะทำเป็นข้อมูลสำหรับทำนิทรรศการ แล้วก็ดูว่าฟุตบอลไทยมันจะส่งผลยังไงบ้าง มีประเด็นอะไรที่ดูได้บ้าง แต่สุดท้ายนิทรรศการนี้ไม่ได้ทำนะครับ

ไอเดียของงานทั้งหมดผมตั้งชื่อว่า ‘โลกฟุตบอลไทย’ ผมเอาคอนเซ็ปต์การตั้งชื่อมาจากนักสังคมวิทยาคนหนึ่ง โฮเวิร์ด เบ็คเกอร์ (Howard Becker) ตอนนั้นเขาศึกษาศิลปะ ไอเดียของเขาเรียกว่า Art World คือศึกษา ‘โลกศิลปะ’ เขาศึกษาด้วยไอเดียที่ว่า เวลาเรารู้จักงานศิลปะสักชิ้น เราจะนึกว่าศิลปินชื่ออะไร แต่ไอเดียของเขาบอกว่า งานศิลปะในโลกของศิลปะมันไม่ได้เกิดจากศิลปินแค่คนเดียว แต่งานศิลปะเกิดจากการมีส่วนร่วมของคนจำนวนมากที่ไม่ถูกระบุชื่อ

เช่น ต้องมีภัณฑารักษ์ที่รวบรวมงานศิลปะมา ต้องมีคนทำหน้าที่จัดวาง ทำหน้าที่กึ่งช่าง ติดตั้งงานศิลปะ ต้องมีนายหน้าค้างานศิลปะ ผู้จัดการแกลเลอรี รวมถึงกระทั่งคนที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ศิลปะ อย่างเช่นโรงงานผลิตสี ช่างทำผ้าใบ โรงงานผลิตพู่กัน คนผลิตดินสำหรับปั้น

เรื่องของเรื่องคือ วันหนึ่งผมได้อ่านหนึ่งสือชีวประวัติของ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน มันจะมีหน้าที่เป็นคำนิยมว่าใครเขียนถึงบ้าง ประหลาดมาก มีทั้งนักการเมือง ทั้งเจ้าของบริษัทอุปกรณ์กีฬา นักข่าว ดารา นักกีฬา โค้ช ถ้าอย่างนั้นนักฟุตบอลคนหนึ่งมันไม่ได้ดำรงอยู่ด้วยตัวมันเองหรอก

แม้กระทั่งฟุตบอลไทย กระแสฟุตบอลไทยตั้งแต่หลังทศวรรษ 50 เป็นต้นมา ที่เติบโตขึ้นมาก็ไม่ได้เพราะตัวของมันเอง แต่ว่ามีสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่มีบทบาทสำคัญอยู่อีกจำนวนมาก แต่มักไม่ถูกพูดถึง ถ้าเป็นด้านสังคมวิทยากีฬาก็จะสนใจมิติอื่นๆ ของกีฬา ซึ่งหมายถึงสิ่งอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ กีฬา

ผมก็เลยเอาไอเดียแบบ Art World มาจับกับการศึกษาฟุตบอลไทย ก็เลยเป็นชื่อว่า ‘โลกฟุตบอลไทย’ ครับ

สิ่งที่ทำให้เกิดโลกฟุตบอล เช่น กลุ่มแฟนบอล สโมสร นักกีฬา ผู้ผลิตเสื้อผ้า รองเท้า อะไรแบบนี้ใช่ไหมครับ

ถ้านั่งไล่ดูว่ามันมีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง ไล่ตั้งแต่ส่วนที่เป็นฟุตบอลมากๆ อย่างนักฟุตบอล สโมสร แม้กระทั่งองค์การฟุตบอลอย่างฟีฟ่า สมาคมฟุตบอลไทย หรือสปอนเซอร์ โรงเรียน อะแคเดมีฝึกหัดฟุตบอล พวกวิทยาศาสตร์การกีฬา อุตสาหกรรมอุปกรณ์กีฬา สื่อมวลชน แฟนฟุตบอล อินเทอร์เน็ต หรือรวมไปกระทั่งผู้ค้ารายย่อย พ่อค้า-แม่ค้าแถวสนามฟุตบอล ผมคิดว่าทั้งหมดนี้เป็นผู้เล่นที่มีส่วนที่ทำให้โลกของฟุตบอลไทยเติบโตขึ้นมาได้ ไม่ใช่แค่ฟุตบอลด้วยตัวมันเองอย่างเดียว

ตอนที่แยกเป็นตัวละครต่างๆ เคยชั่งน้ำหนักไหมว่าสิ่งไหนน่าจะมีความสำคัญกว่าอย่างอื่น

ผมไม่นึกถึงแบบนั้นนะครับ ว่าอะไรสำคัญที่สุดหรือสำคัญกว่ากัน ผมคิดว่าของพวกนี้มันเป็นอะไรที่ขาดกันไม่ได้ จำเป็นต้องมีพร้อมๆ กัน

หรืออธิบายอีกแบบก็ได้ว่า การที่ฟุตบอลไทยโตขึ้นมาเรื่อยๆ หลังปี 52 มันมีเงื่อนไขหลายๆ อย่างที่ประจวบเหมาะพร้อมๆ กัน เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าอะไรสำคัญกว่า ผมไม่ได้คิดถึงมันในแง่นั้นครับ ผมคิดว่าอะไรมีบทบาทบ้างมากกว่า

มีจุดคลิกอะไรหรือมีสิ่งไหนเป็นหัวขบวนในปี 52 ที่ทำให้ปัจจัยต่างๆ ที่ว่ามาพร้อมๆ กัน

ในแวดวงฟุตบอลเขามักจะพูดกันว่า จุดเปลี่ยนสำคัญตอนปี 52 ซึ่งจริงๆ มันตั้งแต่ปี 50-51 แล้ว คือมันมีข้อบังคับจาก AFC สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย ที่ออกกฎมาว่า ถ้าลีกในชาติสมาชิกต่างๆ ไม่ทำตามกฎเกณฑ์นี้ คุณจะไม่ได้มาแข่งฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรเอเชีย หรือถูกลดโควตาน้อยลง ก็เลยต้องพยายามปรับตัวตามนั้น วงการฟุตบอลจะอธิบายแบบนี้ ซึ่งผมเห็นด้วยนะ ไม่ใช่ไม่เห็นด้วย

แต่คำถามของผมก็คือ เขาบังคับทุกประเทศ ทำไมถึงเป็นไทยที่ได้ดอกผลจากเกณฑ์บังคับนี้มากที่สุด

คำตอบของผมก็คือ มันมีเงื่อนไขอย่างอื่นๆ ถ้าขยับจากฟุตบอลออกไปเรื่อยๆ ก็จะมีการจัดการแข่งขันในประเทศเอง จากช่วงก่อนปี 50 ที่แบ่งฟุตบอลในประเทศออกเป็นสองกลุ่ม หนึ่ง-คือไทยลีก (Thai League) สอง-คือโปรวินเชียลลีก (Provincial League) ปรากฏว่าไทยลีกเป็นสโมสรแบบเก่า เช่น ธนาคาร  การท่าเรือ องค์กรต่างๆ พวกนี้เป็นสโมสรที่โด่งดังมาแต่อ้อนแต่ออก แล้วก็มีนักบอลเก่งๆ เยอะ พวกทีมชาติก็อยู่ตรงนี้แหละ แต่ปัญหาก็คือ มันกระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพฯ และไม่ค่อยมีแฟนฟุตยอลของตัวเอง

โปรวินเชียลลีก ตามชื่อมัน เป็นการแข่งขันประจำจังหวัด คือเป็นฟุตบอลลีกของจังหวัดต่างๆ สโมสรที่มาแข่งเป็นสโมสรที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ โปรวินเชียลลีกเป็นลีกที่งบประมาณไม่ค่อยเยอะ นักบอลก็ไม่ค่อยดังมาก พูดง่ายๆ ก็คือระดับของฟุตบอลมันอาจจะไม่เท่าไทยลีก แต่คนดูเยอะ คนให้ความสนใจ เพราะมันกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ

เพราะฉะนั้นมันก็มีการพูดกันว่า ทำไมสองลีกนี้ไม่มารวมเล่นด้วยกันสักที มันเป็นความพยายามมากครับ เป็นเรื่องยาวมากๆ เป็นมหากาพย์เลย พอรวมกันแล้วมันทำให้จากเดิมที่เป็นลีกของกรุงเทพฯ ก็กระจายไปทั่วประเทศ

ความน่าสนใจก็คือ ก่อนหน้าที่จะมารวมลีก มีความพยายามเรียกร้องของแฟนบอลไทยกลุ่มหนึ่งที่เท่มากเลย เขาไปชูป้ายในสนามฟุตบอลว่า “กทม. ลีกของใคร โปรฯ ลีกของคนไทยทั้งประเทศ” คือการวิพากษ์วิจารณ์ คือการล้อเลียนไทยลีกที่เล่นเฉพาะในกรุงเทพฯ เพราะจริงๆ แล้วฟุตบอลมันควรกระจายออกไปทั่วประเทศมากกว่าหรือเปล่า

ยิ่งกว่านั้น ที่สำคัญ และคนไม่ค่อยพูดถึง คือประมาณปี 52 มันเกิดสิ่งที่เรียกว่าฟุตบอลลีกภูมิภาคดิวิชั่น 2 คือเป็นดิวิชั่นต่ำลำดับที่ 3 เมื่อก่อนนี้ ตอนรวมลีก สโมสรในต่างจังหวัดก็เริ่มมีแล้ว แต่ยังไม่ทั่วประเทศ ทีนี้พอมีภูมิภาคดิวิชั่น 2 มันน่าสนใจมากก็คือ มันทำให้แทบทุกจังหวัดในประเทศไทยมีสโมสรฟุตบอลเป็นของตัวเอง คือสโมสรไม่ใหญ่หรอก แต่ประเด็นคือทำให้ทุกคนทั่วประเทศรู้สึกได้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าฟุตบอลลีก

อาจินต์ ทองอยู่คง

แล้วปัจจัยอื่นๆ ที่ขยับออกไปนอกสนามฟุตบอล?

ถ้าขยับไปมากกว่านั้นก็จะเห็นประเด็นอย่างเช่นว่า อุตสาหกรรมอุปกรณ์กีฬา ตอนที่ฟุตบอลไทยฮิตขึ้นมา มันทำให้เกิดแบรนด์กีฬาเล็กๆ ของไทย ยี่ห้อที่เราแทบไม่เคยรู้จักมาก่อนเยอะมาก เนื่องจากแบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง Adidas Nike ราคาแพง พวกแบรนด์ไทยใหญ่ๆ ที่เรานึกถึงอย่าง Grand Sport กับ FBT ตอนปี 58-59 ผมนับดูว่าไทยลีกมีใช้เยอะแค่ไหน ปรากฏว่ามันก็ไม่ได้เยอะมาก มากที่สุดไม่ใช่ Grand Sport หรือ FBT ด้วยซ้ำ มันมีแบรนด์แปลกๆ เต็มไปหมด แล้วก็มีแบรนด์หน้าใหม่ที่โตขึ้นมา มีสโมสรใช้มากขึ้น อย่าง Warrix ที่สุดท้ายได้สัมปทานเสื้อทีมชาติไทย ซึ่ง Warrix เองก็เพิ่งเกิดมาไม่กี่ปี

Warrix เป็นตัวแทนของปรากฏการณ์อุตสาหกรรมกีฬาไทยได้เป็นอย่างดี ก็คือแบรนด์ขนาดเล็กจำนวนมากเกิดจากอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มของไทย ซึ่งใหญ่มาก และมีบทบาทพอสมควรในเศรษฐกิจไทย หลายปีก่อนพวกแบรนด์ Nike มีซัพพลายเออร์อยู่ที่ไทย แต่ตอนหลังเริ่มย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น ไปกัมพูชา บังคลาเทศ ดังนั้นการที่อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว มันพร้อมจะรองรับการเกิดขึ้นของความต้องการอุปกรณ์กีฬาจำนวนมาก

พอฟุตบอลไทยฮิตขึ้นมา แบรนด์จำนวนหนึ่งก็จ้างซัพพลายเออร์พวกนี้แหละในการผลิต ก็สามารถผลิตอุปกรณ์กีฬาได้ในราคาไม่สูง มันทำให้แบรนด์กีฬาไทยหน้าใหม่จำนวนมากสามารถสนับสนุนสโมสรต่างๆ ได้ สโมสรก็ได้ประโยชน์ไปด้วย

เวลาผมนึกถึงสโมสร ผมไม่ได้นึกถึงสโมสรใหญ่ๆ นะครับ เพราะสโมสรเล็กๆ เป็นฐานที่สำคัญ แต่สโมสรเล็กๆ คุณไม่มีกำลังไปต่อรองกับแบรนด์ใหญ่หรอก เช่น คุณเป็นสโมสรจังหวัดเล็กๆ คุณจะไปดีลกับ Nike คุณไม่ได้เงินจากเขาหรอก ไม่ได้สินค้าจากเขาด้วย คุณต้องเสียตังค์ซื้อ เพราะเขาไม่ได้อะไรจากการสนับสนุนคุณ

แต่ถ้าคุณเป็นสโมสรใหญ่ๆ อย่างแมนยูฯ คุณเจรจากับพวก Nike Addidas คุณอาจได้เงินด้วยซ้ำ ไม่ใช่แค่สินค้า แต่สโมสรเล็กๆ ไม่มีอะไรจะต่อรอง คุณจะต่อรองได้กับแบรนด์เล็กๆ เท่านั้น คือแบรนด์เล็กๆ กับสโมสรเล็กๆ บางทีอาจจะขายเสื้อให้ในราคาถูก หรือไม่ก็สนับสนุนเสื้อเลยโดยที่ไม่ต้องเก็บเงิน คือแบรนด์ก็ได้ชื่อเสียงเพิ่มขึ้นมา พวกนี้ทำให้ต้นทุนของสโมสรฟุตบอลไทยไม่สูงมาก

หรือแม้กระทั่งปรากฏการณ์ใหม่ๆ อย่างที่ตอนหลังเริ่มเห็นมากขึ้นก็คือ สโมสรไม่ใช้เสื้อผ้าที่มีแบรนด์กีฬาเลย คือผลิตเอง เหมือนของบุรีรัมย์ เพราะใช้ฐานจากซัพพลายเออร์ที่มีอยู่แล้ว คือเขามั่นใจมากเลยว่าเสื้อผ้าของเขาคุณภาพดี เกรดมาตรฐานแบบแบรนด์นอก เพราะเคยเป็นโรงงานที่ผลิตให้แบรนด์พวกนี้ ก็เกิดเสื้อผ้ากีฬาที่ไม่มีแบรนด์ เวลาขายเสื้อสโมสรก็ได้กำไรแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

Warrix ที่ตอนนี้ไม่ใช่แบรนด์เล็กๆ แล้ว โตขึ้นมาเร็วขนาดนี้ได้อย่างไร

ผมเคยคุยกับเจ้าของ Warrix มีที่มาที่ไปน่าสนใจ คือเดิมทีเขาทำธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งทอ ทำเสื้อโปโลส่งตามบริษัทต่างๆ ธุรกิจก็ลุ่มๆ ดอนๆ ดีบ้างไม่ดีบ้าง คนงานก็มีไม่กี่คน จุดเปลี่ยนสำคัญก็คือกระแสเสื้อเหลือง ช่วงที่กระแสเสื้อเหลืองกำลังมา ปรากฏว่าเสื้อเหลืองผลิตมาเท่าไหร่ก็ขายได้ ทำให้สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจากกระแสเสื้อเหลือง จนต่อมาก็ค่อยๆ ขยายไลน์ธุรกิจ

เขาโตขึ้นด้วยฐานที่เขามีมาจากโรงงานผลิตเสื้อผ้าพวกนี้ พอเริ่มมีทุนก็ขยับมาทำธุรกิจกีฬา เขาคงเห็นว่าอุตสาหกรรมกีฬาไทยมันเริ่มโตขึ้น เขาก็กระโดดเข้ามา แล้วเริ่มต้นจากการใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า ‘ป่าล้อมเมือง’ คือการเป็นสปอนเซอร์สโมสรเล็กๆ นอกกรุงเทพฯ แล้วเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่รู้จัก สุดท้ายก็ได้มาเป็นผู้ผลิตเสื้อทีมชาติ

อาจินต์ ทองอยู่คง

วิธีการดีลแรกๆ ของแบรนด์เสื้อผ้าเกิดใหม่คือการวิ่งตรงไปหาสโมสรทั้งๆ ที่ไม่มีใครรู้จักเลยหรือเปล่า

ใช่ครับ คือมันก็มีหลายๆ แบบ ทางบริษัทสนับสนุนตั้งแต่ให้เสื้อผ้าไปเลย บางสโมสรก็ต้องจ่ายบ้าง แล้วแต่ตกลงกัน แต่มันเหมือนเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งในการสร้างความรู้จักให้แบรนด์ พอแบรนด์เริ่มติดตลาดก็โอเค ไปได้ไกล

พวกขาใหญ่ในแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาของเดิมอย่าง FBT หรือ Grand Sport มีการปรับตัวหรือเปล่าในช่วงที่ผู้เล่นในตลาดอุตสาหกรรมกีฬามีมากขึ้น

เขาไม่ได้แพ้ในตลาดไทยนะครับ แต่เขาไม่คิดจะแข่ง เพราะเขาคิดถึงการขยายตลาดไปต่างประเทศแล้ว คือถ้าสังเกตตอนหลังพวก FBT หรือ Grand Sport เข้าไปทำสโมสรฟุตบอลในต่างประเทศเยอะ อย่างลาว พม่า ในอังกฤษก็มี (ทีมดอนคาสเตอร์โรเวอร์ใช้ชุดของ FBT – กองบรรณาธิการ)

คือเขาไม่คิดจะแข่งกับขาใหญ่เกิดใหม่เลยจริงๆ ใช่ไหม

ไม่จำเป็นแล้วครับ คือผมคิดว่าเขานึกถึงการเป็น global brand อย่างนี้มากกว่า คือในแง่หนึ่งพวกอุตสาหกรรมกีฬามัน global โดยตัวมันเองอยู่แล้ว

ที่เคยไปคุยกับเจ้าของ  Warrix เขาเคยคิดจะทำแบบนั้นบ้างหรือเปล่าในการเป็น global brand

คิดครับ

แบรนด์เล็กๆ ที่ไม่เคยได้ยินชื่อ เราจะเจอแบรนด์พวกนี้ที่ไหน

แบรนด์เล็กๆ ที่ผมพูดถึง พวกชื่อ Tamudo, Cadenza, Kool Sport, Ego Sport ไม่เคยได้ยินมาก่อน ถามว่าเขาทำแล้วได้กำไรจากไหน ผมเคยไปคุยกับบางแบรนด์ เขาไปสนับสนุนสโมสร คือแน่นอนคุณไม่ได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการสนับสนุนสโมสรหรอก ดีไม่ดีเป็นการลงทุนด้วยซ้ำ แต่ว่าเขาจะเป็นที่รู้จัก

อีกอย่างคืออุตสาหกรรมฟุตบอลไทยที่โตขึ้นมันทำให้คนเตะบอลเยอะขึ้น สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ หนึ่ง-พวกฟุตบอลเดินสาย สอง-คือพวกที่ทำเสื้อบอลเตะกันเอง อย่างพวกบริษัทต่างๆ เวลามีแข่งบอลเขาก็มักจะทำเสื้อบอลมาแข่งกัน เขาก็จะไปหาพวกแบรนด์เล็กๆ หรือทีมเล็กๆ ทีมที่เล่นบอลเดินสาย ไม่ใช่สโมสรอาชีพ เล่นกันเป็นชั่วครั้งชั่วคราว ก็จะไปทำเสื้อกับแบรนด์พวกนี้แหละ

แบรนด์พวกนี้ก็จะได้ตลาดแบบนี้ในการหากำไร เสื้อก็ไม่ถึงกับต้องออกแบบใหม่ให้เหมือนพวกสโมสร เขาก็จะมีเหมือนเสื้อคอลเลคชั่น หมายความว่ามีคอลเลคชั่นให้เลือกว่ามีเสื้อแบบไหนบ้าง เราก็สกรีนชื่อให้ คุณอาจจะออกแบบโลโก้ติดหน้าอก อุตสาหกรรมพัฒนาไปเยอะ คุณก็ custom ได้มากขึ้น 10 ตัวก็ทำได้

ถ้าเป็นสมัยก่อนคงเดินหาตามหลังสนามศุภฯ แล้วชี้เอา อาจจะเป็นเสื้อก็อปปี้สโมสรต่างประเทศ

ไม่ครับ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลังคือเสื้อที่ก๊อป Nike กับ Addidas น้อยลง ถ้าอย่างสมัยก่อนที่ผมเป็นนักศึกษา เวลามีเตะบอลระหว่างคณะ ระหว่างภาควิชา ก็ไปทำเสื้อ เสื้อที่ซื้อก็เสื้อปลอมนี่แหละ ใส่เบอร์ใส่อะไรมาเตะกัน แต่ตอนนี้หลายๆ ที่ใส่กันจะเป็นเสื้อแบรนด์เล็ก เสื้อคอลเลคชั่นนี่แหละ คุณค่อนข้างจะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง คือคุณก็จะมีเสื้อไม่ซ้ำใคร หรือจริงๆ อาจจะซ้ำบ้าง แต่คนก็ใช้ไม่เยอะ มันไม่เหมือนทีมชาติอังกฤษที่ใครๆ ดูก็รู้ พวกทำเสื้อฟุตบอลใส่กันเองก็ค่อยๆ ถอยห่างออกมาจากเสื้อละเมิดลิขสิทธิ์เยอะขึ้น

ถ้าลองดูตามท้องถนน หลายๆ ครั้งเราก็จะเจอคนใส่เสื้อ คือรู้แหละว่าเป็นเสื้อฟุตบอล บางทีคุณจะไปเจอทีมที่ตั้งชื่อทีมแปลกๆ เนื่องจากทำใส่เล่นกันชั่วครั้งชั่วคราว

ขาลงของเสื้อก๊อปปี้เกิดขึ้นช่วงไหน

ผมคิดว่ามันมาพร้อมกับช่วงที่แบรนด์เล็กๆ เติบโตขึ้นมา มันมีพื้นที่ให้นึกถึงง่ายๆ สมมุติผมเป็นคนที่รักกฎหมายลิขสิทธิ์มาก ไม่อยากใส่เสื้อปลอม แต่ทีมผมจะทำเสื้อมาใส่ก็หาไม่ได้ คือจะหา FBT หรือ Grand Sport มันก็เกินงบไปนิดหนึ่ง พอมีแบรนด์เล็กๆ มารองรับตลาดพวกนี้ ราคามันก็ไม่ได้แพงมาก แล้วร้านเล็กๆ พวกนี้ก็จะมีแฟรนไชส์ มีทักษะในการออกแบบโลโก้ ใส่เบอร์ หรือเสื้อก็จะดูเฟี้ยวฟ้าวอยู่พอสมควร

แบรนด์เล็กๆ ใช้พวกนักกีฬาเป็นพรีเซนเตอร์หรือเปล่า

มีแค่บางแบรนด์ครับที่จะทำตัวให้กลายเป็นแบรนด์ระดับประเทศ ส่วนใหญ่แล้วไม่ถึงขนาดนั้น อย่างที่เห็นๆ ก็มี Ari มี Warrix ที่จะกลายเป็นยักษ์ใหญ่ แต่ละแบรนด์ก็จะมี position เป็นของตัวเอง อย่าง Ari ก็เป็นแบรนด์กีฬาไทย hi end ถ้าคุณไปที่ช็อปของเขา คุณจะเจออุปกรณ์กีฬาระดับสูงเลย รองเท้าสตั๊ดที่คุณหาซื้อที่อื่นไม่ได้ในไทย คุณสามารถมาสั่งที่ Ari ได้ หรือมีกระทั่ง custom ปักชื่อตัวเองในรองเท้าสตั๊ด คือไม่ได้ปักด้วยมือนะครับ มีเครื่องไฮเทคมากๆ แล้วก็มีทีมออกแบบ

อาจินต์ ทองอยู่คง

ในเมื่อปัจจัยทุกอย่างเหมือนจะก้าวหน้าขึ้น เราสามารถมองได้ไหมว่ามันจะทำให้อนาคตฟุตบอลไทยไปไกลกว่าเดิม

ถามว่ามันจะเจริญขึ้นด้วยไหม ก้าวหน้าขึ้นด้วยไหม ผมคิดว่าไม่หรอกครับ อันนั้นมันเป็นภาพมายาทั้งนั้นแหละ คือมันก็ค่อยๆ ปรับฐานของมันไป แต่ที่ผมคิดคือมันจะไม่หายไป ในมิติทางสังคมวัฒนธรรม ฟุตบอลจะกลายเป็นสถาบันทางสังคมอันหนึ่ง หรือพูดให้รัดกุมกว่านั้นก็คือ เป็นกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจของคนจำนวนหนึ่ง เป็นไลฟ์สไตล์รูปแบบหนึ่ง

พูดง่ายๆ คือทุกๆ วันเสาร์-อาทิตย์คุณจะเห็นคนจำนวนหนึ่งไปที่สนามฟุตบอลเพื่อไปดูฟุตบอล เพื่อไปทำกิจกรรมที่เราดูแล้วไม่เข้าใจว่า เฮ้ย มันสนุกอะไรกัน เข้าไปในสนามก็ร้องเพลง เห็นบอลชัดบ้างไม่ชัดบ้าง นั่งดูทีวีอยู่บ้านชัดกว่า ต้องไปยืนร้องเพลงเหงื่อแตก แต่ของพวกนี้แหละที่มันมีความเป็น sub culture แล้วก็จะอยู่ด้วยตัวมันเองได้ คือที่ผมมองว่าเป็นพื้นที่ทางสังคมที่เกิดขึ้นมาแล้วจะไม่หายไป

ถ้าพูดอย่างนี้แสดงว่าคนไทยมีวัฒนธรรมการดูฟุตบอลที่ดีแล้ว?

วัฒนธรรมฟุตบอลในไทยก่อรูปก่อร่างค่อนข้างมั่นคงแล้ว มันยากที่จะหายไป

ไม่นานมานี้ คุณเนวิน ชิดชอบ ออกมาพูดว่าคนไทยเข้าไปดูบอลในสนามกันน้อยลง มองเรื่องนี้เป็นปัญหาหรือเปล่า ถ้ามองว่าเป็นวัฒนธรรม เราไม่สามารถพูดได้เลยหรือว่ามันอยู่ในช่วงขาลง

ผมไม่คิดว่าฟุตบอลลีกอยู่ในช่วงขาลง แต่ผมคิดว่ามันอยู่ในช่วงปรับฐาน ที่ผ่านมามันสูงเกินจริง คือมันเป็นกระแสที่ใครๆ ก็อยากไปดู ใครๆ ก็อยากไปมีส่วนร่วม แต่แน่นอนว่ามันไม่ใช่กิจกรรมที่ทุกคนจะสนุกได้ บางคนก็อาจจะลองไปดู เห็นช่วงนี้ฮิต ก็ลองดูสิว่ามันเป็นยังไง แล้วก็เออ มันไม่ใช่ไลฟ์สไตล์แบบเรา

เหมือนหุ้นแหละครับ พอพุ่งถึงขีดสุดแล้วคุณก็ต้องค่อยๆ ลดลงมาเพื่อปรับฐาน ไม่ใช่ลงมาต่ำกว่าเดิม แค่ลดจากระดับสูงสุดลงมา เพื่อที่จะหาฐานลูกค้าที่แท้จริง

ถ้าไปสนามฟุตบอล หลายๆ ที่คุณจะพบว่าคุณต้องมีจริตบางอย่างถึงจะโอเคกับมัน มันไม่ใช่พื้นที่สำหรับทุกคนจริงๆ หรอก คือมีความพยายามที่จะบอกว่าเป็นพื้นที่ของครอบครัว เป็นพื้นที่ของทุกคน แต่มันก็ไม่ใช่ มันจะมีเงื่อนไขบางอย่าง ถ้าคุณเป็นชนชั้นสูง คุณก็อาจจะไม่เหมาะกับสนามฟุตบอล ชนชั้นกลางระดับบนก็อาจจะยาก อาจจะต้องเป็นชนชั้นกลางระดับล่างด้วยซ้ำ มันจะมีรสนิยมบางแบบของมันอยู่

เพราะอาจจะมีคนบางคนคิดว่า นั่งดูทีวีอยู่บ้านก็ได้นี่ ใช่ไหม เพราะตอนนี้มีโปรแกรมถ่ายทอดสดให้ดูทุกนัด หรือการถ่ายทอดสดมีส่วนกับการที่ต้องจัดโปรแกรมให้เวลาไม่ตรงกัน ทำให้คนเข้าสนามน้อยลง บางทีก็มีการแข่งวันศุกร์

ถ้าอย่างนั้นมีส่วนครับ แต่การดูบอลในทีวีกับการดูบอลในสนามผมคิดว่ามันไม่เหมือนกัน อย่างที่ผมบอกว่าไปดูบอลในสนามคุณเห็นบอลไม่ชัดด้วยซ้ำ ถ้าเกิดคุณไปดูในโซนเชียร์จริงๆ มันเสียงดัง ภาพช้าก็ไม่มี ภาพรีเพลย์ก็ไม่มี พลาดจังหวะหลายๆ จังหวะ เคยคุยกับแฟนบอลหลายๆ คนที่ไปดูบอลในสนาม กลับบ้านมาคุณต้องดูไฮไลท์อีกครั้งหนึ่ง หรือไม่บางคนบ้ามากๆ ก็นั่งดูเต็มแมตช์อีกครั้งหนึ่ง

แต่ในสนามคุณได้เข้าสังคมกับเพื่อน คุณได้เจอคนกลุ่มหนึ่ง ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน คุณได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสโมสร ด้วยการร้องเพลงเชียร์ เราก็คิดว่ามันส่งผลกระตุ้นให้นักฟุตบอลของเราฮึดมากขึ้น หรือฝ่ายตรงข้ามเล่นไม่ออก มันเป็นกิจกรรมอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าจะแบ่งกันคนละส่วนมากกว่า

คือเราจะมองมันว่าเป็นความบันเทิงอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันต้องมีความเป็นส่วนร่วมมากกว่าใช่ไหม

ในงานผมส่วนที่พูดถึงแฟนบอล ผมก็จะเสนอว่าแฟนบอลไทยรุ่นใหม่ สิ่งที่เรียกว่า ‘แฟนบอล’ ที่เกิดขึ้นมา สมัยก่อนไม่ใช่ไม่เคยมี มันมีคนดูฟุตบอลเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนตอนนี้

ถ้าเปรียบเทียบภาพคนที่สนามกีฬาเมื่อก่อน พูดถึงกองเชียร์ คุณนึกถึงอะไร คุณจะนึกถึง ถั่วแระ เชิญยิ้ม, ท้าวดักแด้, เป็ด ปริญญา เป็นคนนำเชียร์ แต่งตัวโดดเด่น ทำท่าให้คนครึกครื้น คนเต็มสนามก็มี แต่ปัญหาก็คือคนที่มาสนามเมื่อก่อน มาดูปิยะพงษ์ล้นลงมาในลู่วิ่ง ผมคิดว่ามันต่างกับตอนนี้ คือตอนนั้นคนดูฟุตบอลที่มาในสนาม หนึ่งก็คือมันไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่มีความต่อเนื่อง คือต่างคนต่างมา แล้วก็ต่างคนต่างไป ไม่ได้มีการสานต่ออะไร แล้วก็จบไปแค่นั้น ไม่มีจุดร่วมที่ดึงแต่ละคนเอาไว้ ซึ่งมันต่างกับแฟนฟุตบอลปัจจุบัน

นึกถึงง่ายๆ อย่างแฟนฟุตบอลทุกวันนี้ ถ้าคุณไปดูบอลที่สนาม พวกเขาจะมีบางอย่างที่คล้ายๆ ยูนิฟอร์มถ้าคุณเป็นแฟนฟุตบอลที่ไม่ได้เหนียวแน่นมากเป็นแฟนบอลทั่วๆ ไป ก็จะใส่เสื้อสโมสรเป็นสัญลักษณ์ว่าคุณเชียร์สโมสรนั้น แต่ถ้าเกิดคุณเป็นแฟนแบบฮาร์ดคอร์มากๆ คุณจะมีเสื้อกลุ่มเป็นของตัวเองที่ผลิตเองทำเองแบบ custom แล้วกลุ่มคุณก็จะใส่เสื้อนี้ มันจะมีความเป็นพวกเดียวกันของคนที่มาสนาม คือพวกนี้จะอยู่ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง มีกิจกรรมร่วมกันเจอกันบ่อยๆ นอกจากวันที่มีฟุตบอลเตะ มาทำป้ายมาทาสีป้าย มาซ้อมร้องเพลงเชียร์ ไปเที่ยวด้วยกัน แฟนฟุตบอลไทยมีการรวมกลุ่มกันมีการตั้งชื่อกลุ่ม แต่ละกลุ่มก็จะมีชื่อ เมื่อก่อนก็จะมี อุลตร้าเมืองทอง The Shark Power ทุกๆ สโมสรมี และแต่ละสโมสรมีหลายกลุ่มด้วย

แฟนบอลเหล่านี้ผมจะนึกถึงพวกเขาในไอเดียเดียวกับ ‘แฟนคลับ’ ผมเห็นว่าในตอนหลังแฟนคลับของสิ่งต่างๆ มันเกิดขึ้นเยอะมาก แฟนคลับเกาหลี แฟนคลับ BNK48 สิ่งที่ทำให้เกิดของเหล่านี้ขึ้นมาได้อย่างชัดเจนก็คืออินเทอร์เน็ต มันรวมคนที่ชื่นชอบสิ่งเดียวกันเข้าหากันได้ง่ายขึ้น ฟุตบอลไทยโตขึ้นมาในช่วงที่อินเทอร์เน็ตกำลังแพร่หลาย ทำให้การรวมตัวกันของแฟนบอลเป็นไปได้ง่ายขึ้น กลุ่มแฟนบอลต่างๆ ก็รวมตัวกันได้เหนียวแน่น พวกนี้สื่อสารกันด้วยอินเทอร์เน็ตเป็นหลักเลย แล้วก็ไปเจอกันในสนาม

ถามว่าอินเทอร์เน็ตสำคัญยังไง มันทำให้คุณเป็นแฟนบอลได้ 24 ชั่วโมง ไม่ใช่ คุณเป็นแฟนบอลได้เจ็ดวันต่อสัปดาห์ คือถ้าเป็นก่อนที่จะมีอินเทอร์เน็ต ยากมากที่คุณจะสื่อสารกับแฟนบอลด้วยกัน คุณจะเป็นแฟนบอลตอนไหนได้ คุณไปได้เฉพาะวันเสาร์ ที่สนามฟุตบอล แต่ปัจจุบันนี้เมื่อคุณมีอินเทอร์เน็ต คุณคุยกับแฟนบอลได้ในกลุ่มแฟนบอล คุณแสดงตัวว่าเป็นแฟนบอล โพสต์เรื่องฟุตบอลอ่านเรื่องฟุตบอล คุยเรื่องฟุตบอลกับคนอื่นๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต

อย่างที่ผมพูดถึงก่อนหน้านี้มันเรียกว่าชุมชนแฟนบอล อินเทอร์เน็ตมันทำให้เกิดชุมชนแฟนบอลออนไลน์ขึ้นมา ความเป็นแฟนก็เข้มข้นขึ้น การรวมกลุ่มก็ชัดเจนขึ้น การหายไปถึงได้ยาก ผมถึงบอกว่าวัฒนธรรมมันเกิดขึ้นมาแล้ว มันเป็นวัฒนธรรมของยุคสมัย

อาจินต์ ทองอยู่คง

ความเป็นท้องถิ่นนิยมตอนที่สโมสรเล็กๆ เกิดขึ้นในลีกระดับล่าง กับวัฒนธรรมแฟนคลับในปัจจุบันห่างไกลกันเยอะไหม

ไม่ไกลครับ ไอเดียหนึ่งของกลุ่มสังคมวิทยาที่ศึกษากีฬาอธิบายว่า การเป็นแฟนกีฬาในแบบใดแบบหนึ่งมันคือการ identify ตัวเองเข้ากับอัตลักษณ์ร่วมแบบใดแบบหนึ่ง เหมือนกัน ทุกสโมสรเล็กๆ ในระดับอำเภอหรือระดับจังหวัด การที่เป็นแฟนกีฬาทำให้คุณสามารถยกตัวเองให้เข้ากับจังหวัด เข้ากับสิ่งที่คุณรู้สึกว่าเป็นตัวแทนง่ายขึ้น

เหมือนกับทำไมเราถึงต้องเชียร์กีฬาทีมชาติ เพราะมันยากมากที่เราจะไม่เชียร์กีฬาทีมชาติของเรา เพราะนักกีฬากลายเป็นตัวแทนซึ่งคุณสามารถผูกอัตลักษณ์ของตัวเองเข้าไป ทำให้ความเป็นชาตินิยมเกิดขึ้น

ถ้าไปให้ไกลกว่านั้นก็จะถามว่า ทำไมกระแสของทีมฟุตบอลในต่างจังหวัดซึ่งนิยมกันมากก็คือ คิดว่าอาจจะมาจากกระแสท้องถิ่นหรือภูมิภาคนิยมก็ได้ โดยเฉพาะตั้งแต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ผู้คนจะเริ่มโหยหารากในความสัมพันธ์ของตัวเองแบบดั้งเดิมมากขึ้น อย่างต้มยำกุ้งมันคือปรากฏการณ์ที่ไทยออกไปสู้กับตลาดโลกแล้วแพ้กลับมา พอแพ้กลับมาสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คุณจะเริ่มเชิดชูภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน เศรษฐกิจพอเพียง ผมคิดว่าในระยะยาวกระแสฟุตบอลไทยที่นิยมทีมสโมสรตัวเอง ในจังหวัดของตัวเอง  มันก็เป็นกระแสเดียวกัน

รวมถึงมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจที่สุดอันหนึ่งก็คือ ปรากฏการณ์ ‘แฟนบอลพลัดถิ่น’ คือแฟนบอลของสโมสรจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งที่มาอยู่ในกรุงเทพฯ อย่างสโมสรเชียงรายเขาจะมีแฟนบอลกลุ่มที่ชื่อว่า ‘กว่างกรุง’ (‘กว่างโซ้งมหาภัย’ คือฉายาของสโมสรสิงห์เชียงรายยูไนเต็ด – กองบรรณาธิการ) คือแฟนบอลสโมสรเชียงรายที่ไม่อยู่ในกรุงเทพฯ แล้วเวลาเชียงรายมาเตะกับสโมสรในกรุงเทพฯ หรือใกล้ๆ เขาจะไปดูเยอะมาก เมื่อก่อนก็จะมีพวก ‘กูปรีพลัดถิ่น’ จากศรีสะเกษ เวลาศรีสะเกษมาแข่งในกรุงเทพฯ แฟนจะเยอะมาก แทบจะเยอะกว่าทีมเจ้าบ้านเสียอีก เพราะว่าคนศรีสะเกษมาทำงานที่กรุงเทพฯ เยอะ คืออัตลักษณ์ท้องถิ่นมันเริ่มถูกให้ความสำคัญในสังคมสมัยใหม่

เราจะเห็นว่าการย้ายถิ่นมาทำงานในเมือง ระดับความเจริญที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ มันทำให้คนต้องย้ายเข้ามา พอเขาย้ายถิ่นมาอยู่ในกรุงเทพฯ สายสัมพันธ์ทางสังคมเดิมๆ มันหายไป คุณเคยเป็นคนเชียงราย คุณมาอยู่ที่นี่คำเมืองคุณก็ไม่ค่อยได้พูด อาหารเมืองคุณก็ไม่มีกิน มันต้องมีอะไรที่คล้ายกับสมาคมชาวเหนือ ชาวเชียงราย ที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของเขามากกว่า

กลุ่มกว่างกรุงเป็นกลุ่มแฟนบอลของเชียงรายที่อยู่ในกรุงเทพฯ พวกนี้จะรวมตัวกันเหนียวแน่นมาก ทำกิจกรรมด้วยกัน เวลาไปสนาม ที่ผมเห็นบ่อยๆ คือเขาจะทำขนมจีนน้ำเงี้ยวไปกินที่สนามฟุตบอล ทำลาบไปกินที่สนามฟุตบอล แล้วเวลาไปสนามฟุตบอลก็จะพูดกันเฉพาะคำเมือง เพราะเขาบอกว่ามาอยู่กรุงเทพฯ แล้วไม่รู้จะพูดคำเมืองกับใครเลย อยากจะพูดมาก ก็ได้มาเจอกัน มันก็มีแบบนี้

หรืออย่างที่ผมชอบมากคือ กูปรีพลัดถิ่น ของศรีสะเกษ (แต่พอดีช่วงหลังทีมศรีสะเกษเริ่มแผ่วลงไปก็ไม่ค่อยได้มาแข่งในกรุงเทพฯ) เวลาไปที่สนามบอลเขาเอาเตาอั้งโล่มานึ่งข้าวเหนียวกันที่ริมสนาม แล้วก็นั่งตำส้มตำกินกัน ถ้าถามผม ผมว่าพฤติกรรมแบบนี้มันเป็นของที่ฟุ่มเฟือย ไม่ใช่ในแง่เปลืองตัง แต่เป็นในแง่ไม่จำเป็น คือคุณจะกินขนมจีนน้ำเงี้ยว กินลาบ กินส้มตำ คุณไปทำกินที่บ้านก็ได้ ไม่ต้องขนมาที่สนาม แต่กิจกรรมที่มันดูฟุ่มเฟือยคนก็ยังทำ เพราะมันมีความหมายทางวัฒนธรรมอยู่ คือการที่คุณได้มาเจอคนบ้านเดียวกัน คนกลุ่มเดียวกัน และของพวกนี้มันเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพวกคุณ คุณก็จะเอาอาหารอีสาน อาหารเหนือ มากินด้วยกัน

ปรากฏการณ์อย่างนี้ หนึ่ง – มันแสดงให้เห็นว่า การมาดูฟุตบอล การมาดูกีฬา นอกจากจะเป็นวัฒนธรรมการดูกีฬา มันยังตอบโจทย์ของคนในหลายๆ กลุ่มที่แตกต่างกัน สอง – แสดงให้เห็นถึงความเจริญของไทยที่กระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพฯ คือทำไมเราถึงเห็น ‘กว่างกรุง’ ทำไมเราถึงเห็น ‘กูปรีพลัดถิ่น’ ทำไมเราถึงเห็น ‘วัวชนบางกอก’ จากสงขลา

เพราะความเจริญกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ คนจังหวัดไหนๆ ก็ต้องย้ายมากรุงเทพฯ ทำไมเราถึงไม่เห็น ‘แบ็งค็อกยูไนเต็ดพลัดถิ่น’ ที่จังหวัดเชียงใหม่ หรือไม่เห็น ‘การท่าเรือขอนแก่น’ คือคนบริเวณคลองเตยที่ย้ายไปทำงานที่ขอนแก่น เพราะคนกรุงเทพฯ ไม่ต้องย้ายถิ่นไปไหน แต่คนอื่นต้องย้ายมาที่กรุงเทพฯ มันมีความกระจุกตัวที่เห็นผ่านแฟนกีฬาเหมือนกัน

ถ้าพูดเรื่องฟุตบอลในฐานะกีฬา ทุกคนก็อยากให้ทีมตัวเองเป็นฝ่ายชนะ แต่ถ้าทีมที่ตัวเองเชียร์เล่นไม่ดีและไม่ชนะ เราเปลี่ยนทีมเชียร์ดีไหม ยกตัวอย่างเช่น ปีนี้เชียงใหม่ไม่ได้ขึ้นชั้น ไปเชียงรายแทนก็ได้

จริงๆ ถามว่าย้ายทีมเชียร์ มันเป็นเรื่องยากนะครับ ด้วยหลายๆ เหตุผล ในบางเงื่อนไขมันย้ายได้แหละ อย่างเช่น คุณเชียร์แมนยูฯ ช่วงนี้แมนยูฯ ฟอร์มไม่ดี คุณย้ายไปเชียร์ลิเวอร์พูล ก็ยังทำได้ แต่คุณก็คงไม่อยากทำหรอก มันเสียฟอร์ม โดนเพื่อนล้ออีก

แต่ถึงกระนั้นก็เถอะ การเชียร์กีฬาของมนุษย์ผมคิดว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่มีเหตุมีผล อย่างเช่น คุณบอกว่าคุณเลือกเชียร์แมนยูฯ เหตุผลในการเลือกเชียร์ของคุณคืออะไร ชอบนักบอลเหรอ มันเก่งมั้ง เล่นประทับใจ แต่ปัญหาคือมันไม่ได้อยู่กับสโมสรตลอดไป ถ้าคุณเชียร์มาสัก 10 ปี นักบอลก็เปลี่ยนไปแล้ว ตอนนี้คุณจะเลิกเชียร์เหรอ มันก็ยาก นี่ขนาดเป็นฟุตบอลต่างประเทศนะ ซึ่งไกลตัวมากๆ แล้วคุณแทบจะเลือกเชียร์ได้ด้วยซ้ำ

ฟุตบอลสโมสรมันสัมพันธ์กับชีวิตทางสังคมของคุณ เช่น ถิ่นที่อยู่ อัตลักษณ์ ถามว่าถ้าคุณไม่อยากเชียร์ทีมเชียงใหม่ แล้วคุณเลิกเป็นคนเชียงใหม่ได้หรือเปล่า คือมันเลิกไม่ได้ ถึงแม้คุณย้ายไปอยู่จังหวัดอื่นก็ได้ แต่คุณก็ยังเป็นคนจังหวัดอื่นที่ย้ายไปจากเชียงใหม่อยู่ดี

คือถามว่าคุณจะย้ายไปเชียร์เชียงรายก็ได้ แต่คุณจะอินกับมันหรือเปล่าก็ไม่รู้ คุณอาจจะย้ายไปอยู่จังหวัดเชียงรายก็ได้ แล้วคุณอินกับมัน แต่ประวัติศาสตร์ของคุณ คุณลบไม่ได้ ดังนั้นแล้วผมคิดว่าเอาเข้าจริงๆ เมื่อระบบของฟุตบอลที่มักจะผูกอยู่กับพื้นที่ มันก็เป็นภาคบังคับเหมือนกัน เราจะเลิกเชียร์เหรอ เป็นไปได้แต่ไปเชียร์ทีมอื่น ผมว่ายาก ถ้าเกิดคุณเคยเชียร์ทีมที่ผูกกับถิ่นที่อยู่ที่มันเป็นอัตลักษณ์ของคุณ

คุณอาจจะพบเห็นในหลายๆ ครั้ง เช่น พวกแฟนบอลจะเป็นพวกขี้โวย ถ้าเกิดคุณเชียร์ทีมชาติไทย ผลงานทีมชาติไทยไม่ดี แล้วคุณจะทำยังไง คุณเลิกเป็นคนไทยไม่ได้ แล้วคุณจะหันไปเชียร์ทีมชาติอื่นมันก็ยังไงอยู่ คือคุณจะทำก็ได้ แต่คุณไม่ทำหรอก อย่างมากก็ด่านายกสมาคม หรือไม่ก็ประท้วง เช่น เมื่อหลายปีก่อน สมัยนายกสมาคมคนเก่า แฟนบอล 500 คนไปยืนประท้วงหน้าสมาคมฟุตบอล

ถือว่าแฟนบอลมีอิทธิพลมากพอสมควรใช่ไหม คือมีพลังในการกดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ เช่น ซื้อขายตัวนักบอลคนสำคัญ หรือเปลี่ยนตัวผู้จัดการทีม ของไทยมีแบบนี้บ้างหรือเปล่า

ก็มีบ้างครับ กดดันได้ แต่จะมีผลหรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง แล้วแต่กรณีเหมือนกัน คือกดดันไปถึงที่สุด ถ้าเขาไม่แคร์ก็ได้นะ แต่คุณจะทำอะไรได้ นอกจากเลิกเชียร์ แต่พวกสโมสรต่างๆ เขาก็พยายามรักษาฐานแฟนคลับเหมือนกัน

แต่ส่วนใหญ่แล้วทางทีมก็น่าจะเห็นแก่ฐานแฟนบอลเป็นหลักหรือเปล่า เพราะฐานแฟนคือสิ่งสำคัญ ถ้ามองในแง่ของธุรกิจ

ใช่ครับ เพราะในท้ายที่สุดรายได้ของสโมสรมาจากฐานแฟนบอลอยู่ดี คือไม่ได้หมายถึงค่าตั๋วหรือค่าซื้อเสื้อผ้า เรื่องสปอนเซอร์ก็ดูจากฐานแฟนบอลเช่นกัน

อาจินต์ ทองอยู่คง

กลุ่มทุนมีผลมากน้อยแค่ไหนต่อการที่ทำให้ทีมฟุตบอลไทยโตขึ้น อย่างที่ลีกไทยโตขึ้นช่วงแรกๆ จะเห็นชัดเจนว่าคุณเนวินเป็นหัวขบวนที่พาให้คนอื่นเดินตาม

กลุ่มทุนมีผลชัดเจนมากๆ ครับ อันหนึ่งคือการลงทุนในสโมสรฟุตบอล คืออย่างไรก็ตามธุรกิจฟุตบอลมันเดินไปได้ด้วยการลงทุนก่อน มีนักลงทุนจำนวนมากเห็นโอกาสที่ฟุตบอลไทยมันโตขึ้น แล้วก็เข้ามาลงทุน นักธุรกิจมีเยอะ อันนี้ผมไม่แปลกใจ เพราะธุรกิจอันไหนไปได้ดีก็มักจะมีคนเข้ามาลงทุน

แต่เรื่องน่าสนุกของฟุตบอลไทยก็คือ นักลงทุนจำนวนมากมาจากนักการเมือง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ามันมีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางการเมืองด้วย คนมักจะพูดว่านักการเมืองมาทำสโมสรฟุตบอลเพราะอยากหาเสียง อันนี้ผมเฉยๆ ผมไม่รู้สึกว่ามันน่าประหลาดใจ ไม่เห็นด้วยหรือเห็นด้วย คนอยากได้รับความนิยมมันก็ไม่แปลก ที่น่าสนใจก็คือ ผมพบว่านักการเมืองที่มาทำสโมสรจำนวนมากในช่วงการเติบโตขึ้นมาของฟุตบอลไทยหลังปี 50 มันสัมพันธ์กับเหตุการณ์ทางการเมืองไทยหลายครั้ง โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 49

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นคือการยุบพรรคและการแบนนักการเมือง ‘บ้านเลขที่ 111’ กับ ‘บ้านเลขที่ 109’ ถ้าไล่ดูนักการเมืองที่อยู่ในสองบ้านเลขที่นี้ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองห้าปี ผมพบว่าประธานสโมสรจำนวนมากมาจากสองบ้านนี้ ถามว่าทำไมเหรอ ส่วนหนึ่งแน่นอน คนที่ทำงานการเมืองถ้าเกิดคุณถูกแบน คุณทำอะไรไม่ได้ ถ้าเกิดคุณหายไปจากหน้าสื่อ ความสนใจจากประชาชนก็จะหายไป การมาทำสโมสรฟุตบอลเป็นการรักษาพื้นที่ให้กับตัวเองได้

ซึ่งมันมีวิธีคิดแบบนี้อยู่จริงๆ?

คุณดูสิครับว่าพวกนักการเมืองที่เขาถูกแบนมาทำสโมสรทำไม ต้องการเสียงคะแนนเหรอ ก็เขาถูกแบน ไม่ได้เลือกตั้ง เขาจะเอาคะแนนเสียงไปทำไม แต่มันสามารถรักษาที่ยืนของตัวเองได้ในจังหวัด คุณจะมีที่ยืนของคุณ อาจจะดีขึ้นด้วยซ้ำ หรือบางทีมันก็จะสัมพันธ์กับการรักษาฐานอำนาจในจังหวัด ถึงแม้คุณจะลงการเมืองไม่ได้ แต่คุณเคลื่อนไหวตลอดเวลาว่าคุณยังมีอิทธิพล ว่าคุณยังสามารถทำอะไรในจังหวัดหรือในพื้นที่ได้อยู่ ดังนั้นผมว่าฟุตบอลไทยเติบโตขึ้นมาได้

พวกนักการเมืองไม่ว่าคุณจะมองเขาดีหรือไม่ดี เขาก็เป็นคนที่มีทรัพยากรอยู่ในมือค่อนข้างเยอะ และอีกอย่างหนึ่งคือมีคอนเนคชั่น คนพวกนี้พอเข้ามาลงทุนในสโมสรฟุตบอลเขามาพร้อมกับทุนและคอนเนคชั่น ของพวกนี้ทำให้วงการฟุตบอลโลกหรือฟุตบอลไทยโตขึ้น มันก็น่าจะพอบอกได้ว่ากระแสฟุตบอลไทยหลังปี 50 ที่เกิดขึ้นมามันได้รับผลพวงของรัฐประหาร 49 จากความขัดแย้งทางการเมืองด้วยเหมือนกัน แบบประหลาดๆ

อาจินต์ ทองอยู่คง

เมื่อฟุตบอลลีกของไทยมีคุณภาพมากขึ้น ก็น่าจะส่งผลดีต่อทีมชาติไทย จริงหรือเปล่า

อันนี้ผมบอกไม่ได้ โดยตรรกะนั้นมันควรจะเก่งขึ้น เพราะมีนักฟุตบอลที่เล่นฟุตบอลเป็นอาชีพ และมีแรงจูงใจมากขึ้น แต่ถามว่าฟุตบอลไทยมีวินัยมากขึ้นหรือเปล่า เก่งขึ้นหรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับช่วง

อีกอย่างที่สำคัญก็คือ กระแสฟุตบอลมันโตขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่โตแค่ไทยที่เดียว ที่อื่นก็โตขึ้นมาเหมือนกัน อย่างในประเทศต่างๆ รอบๆ นี้ก็ค่อยๆ โต ไม่ได้อยู่นิ่งๆ อย่างเดียว ถ้าอย่างนั้นสำหรับทีมชาติ ถามว่าไทยดีขึ้นไหม ผมก็ว่าถ้าเปรียบเทียบจากเดิมก็น่าจะดีขึ้น แต่ว่าประเทศอื่นๆ เขาก็ดีขึ้นเหมือนกัน

จริงๆ มันเป็นคำถามคลาสสิกมากครับ ว่าฟุตบอลลีกดี ทีมชาติจะต้องดีจริงหรือเปล่า เถียงกันมาตลอด ซึ่งผมว่าเป็นข้อถกเถียงที่คุณเข้าใจผิดแล้วที่มาเถียงกันเรื่องนี้ คือจริงๆ แล้วมันคนละเรื่องกัน คือไอเดียหนึ่งของวงการฟุตบอลไทยมักจะคิดว่า การที่ฟุตบอลสโมสรภายในประเทศแข็งแรงแล้วจะส่งผลดีต่อทีมชาติ ผมคิดว่ามันเป็นคนละเรื่องกัน ความสำคัญของฟุตบอลอาชีพมันไม่ได้สำคัญต่อการส่งเสริมทีมชาติเลย …อาจจะสำคัญก็ได้ แต่ผมคิดว่าฟังก์ชั่นที่สำคัญมากกว่าคือมันเป็นกิจกรรมทางสังคม เป็นพื้นที่ทางสังคมของคนจำนวนมากในประเทศ

คุณนึกภาพการแข่งขันฟุตบอลทีมชาติ คนที่ได้ดูในสนามกี่คนกันเชียว ปีหนึ่งแข่งกี่นัดกันเชียว แต่ฟุตบอลลีกอาชีพแข่งกันทั่วประเทศ คนดูในสนามถ้านับทุกสโมสรมากกว่าทีมชาติแน่นอน คือแต่ละนัดมันไม่เท่าทีมชาติหรอก แต่รวมกันแล้วมหาศาล

ดังนั้น ถ้าเราถอดไอเดียเรื่องความเป็นชาตินิยมออกไป ฟุตบอลสโมสรมันคือกิจกรรมทางสังคมของคนทั้งประเทศ คือกิจกรรมสาธารณะ ขณะที่ทีมชาติไม่ได้มีความเป็นสาธารณะมากขนาดนั้น มันเป็นสาธารณะภายใต้ความเป็นชาตินิยมเท่านั้นเอง

มันจะมีดีเบตเถียงกันว่า คุณอยู่ฝ่ายสนับสนุนทีมชาติหรืออยู่ฝ่ายสนับสนุนสโมสร ผมสนับสนุนฟุตบอลสโมสร คือโอเค ในอีกด้านหนึ่งก็จะไปติดกับเสรีนิยม ว่าพวกสโมสรเป็นเสรีนิยมใหม่ที่ถูกขับเคลื่อนผ่านธุรกิจ มันจะหันมาขูดรีดคนดูอีกทีหนึ่ง แต่ถ้าเกิดถามว่าฟุตบอลสโมสรดี แล้วฟุตบอลทีมชาติต้องดีหรือเปล่า ผมคิดว่าในทางตรรกะมันคงจะเป็นอย่างนั้น แต่โดยเปรียบเทียบผมก็ว่าที่อื่นเขาก็พัฒนาตัวเองเหมือนกัน

คำถามที่ดีกว่าก็คือ เมื่อเกิดฟุตบอลลีกขึ้นมาแล้วคนในประเทศได้อะไร โดยที่ไม่จำเป็นต้องนึกถึงทีมชาติเลย มันได้อย่างอื่นมากกว่า

ในยุคหนึ่งคนไทยไม่อยากได้นักเตะลูกครึ่งหรือนักเตะโอนสัญชาติ แต่ทุกวันนี้เหมือนความเป็นชาตินิยมรูปแบบนั้นจะจางลงไป

ผมว่ามันเป็นเทรนด์โลกเหมือนกัน คนเดินทางย้ายถิ่น พรมแดนเริ่มลดบทบาทลง ประเทศมันยังมี แต่ความเป็นชาติค่อยๆ หายไป จริงๆ ก็จะเห็นในหลายๆ ประเทศ เวลาเขาพูดถึงเรื่องแบบนี้ผมว่าเป็นไอเดียที่เชื้อชาติสุดๆ คืออีกนิดเดียวคุณก็เป็นนาซีแล้ว คือนักบอลในประเทศมันต้องเชื้อชาติบริสุทธิ์เหรอ

ผมคิดว่าเรื่องทีมชาติมันจะค่อยๆ ล้าสมัยแล้วน่าเบื่อขึ้นเรื่อยๆ คนก็จะไม่ค่อยสนใจ เอาง่ายๆ เอเชียนเกมส์ เกือบไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีแข่ง คือผมก็ว่าโอเค มันก็น่าจะยังอยู่ แต่จะลดความสำคัญลงไป คือมันเป็นไอเดียที่ล้าสมัยพอสมควร การพยายามหาทีมชาติมาแข่งกัน ซึ่งคู่แข่งของมันก็คือสโมสร

พูดง่ายๆ ก็คือชาตินิยมกำลังต่อสู้กับเสรีนิยมใหม่ อะไรทำนองนั้น แล้วชาตินิยมก็จะค่อยๆ คลายลงเรื่อยๆ ตามตรรกะทางประวัติศาสตร์

กรณีล่าสุดในทีมชาติไทยชุดเอเชียนเกมส์ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้าง ทั้งโค้ช สมาคม และตัวนักฟุตบอลเอง ถ้ามองกันจริงๆ ปัญหามันเริ่มต้นจากจุดไหนบ้าง ถ้าเกิดมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาเราสามารถแก้ปมไหนได้ก่อน

ผมไม่คิดว่ามันเป็นปัญหา พูดง่ายๆ คือ กีฬาทีมชาติมันเป็นการใช้ทรัพยากรของชาติ บางคนบอกว่าอย่าไปด่าเพราะเป็นตัวแทนของชาติไปแข่ง ผมก็อยากเป็นเหมือนกัน ให้ผมไปแข่งก็ได้นะ ด่าผมได้เต็มที่เลย ปัญหาคือพอคุณเป็นตัวแทนแล้วคุณใช้ทรัพยากรของชาติ คุณใช้อัตลักษณ์ของชาติ คุณจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่แปลกอะไร

ดังนั้นผมก็ไม่รู้สึกว่าการวิพากษ์วิจารณ์หรือการด่าใครไปทั่วของพวกแฟนบอลเป็นปัญหา คุณก็ด่าไป ถ้าเกิดคุณด่าแล้วมันเมคเซนส์ คนก็ฟัง ถ้าคุณด่าแล้วมันงี่เง่า คนก็ไม่ฟัง แค่นั้นเอง

แต่ถ้าเกิดถามว่าจะแก้ปัญหาตรงไหนของทีมชาติ ผมในฐานะที่เป็นพวกสนับสนุนฟุตบอลลีกหรือฟุตบอลสโมสร ผมก็จะบอกว่าฟุตบอลทีมชาติมันกีฬาสมัครเล่น คุณไม่ต้องไปสนใจมันหรอก ถ้าจะมีปัญหาจริงๆ ก็มีปัญหาที่ตอนนี้ผมอยากดูฟุตบอลสโมสร หยุดฟุตบอลสโมสรไปทำไมตั้งเดือนหนึ่ง แล้วคุณก็ไปเล่นกีฬาสมัครเล่น เอเชียนเกมส์มันเป็นกีฬาสมัครเล่น ไม่ใช่กีฬาอาชีพ ซึ่งกีฬาสมัครเล่นมันไม่ได้รับใช้คนดู มันรับใช้สิ่งอื่น

เพราะว่าเขาไม่ได้นับเป็นการแข่งขันทางการของฟีฟ่าด้วยใช่ไหม

ครับ ถ้าเป็นแมตช์ทางการของฟีฟ่าคือโอเค แบบนั้นยอมรับได้ แต่อย่างเอเชียนเกมส์ คุณหยุดฟุตบอลลีกที่ผมพูดแบบเดิมว่าคนดูทั่วประเทศ คนเข้าสนามเต็มไปหมดอาทิตย์นึงเป็นแสนคน ไม่รวมดูทางทีวี เพื่อไปแข่งกีฬาสมัครเล่นในที่ที่หนึ่ง มันไม่เมคเซนส์เลย ประเทศอื่นเขาไม่หยุดกัน แล้วพอแข่งมาแล้วแพ้หรือชนะผมไม่แคร์ เพราะมันเป็นกีฬาสมัครเล่น ผมแคร์ว่าคุณเอากีฬาสมัครเล่นมาหยุดกีฬาอาชีพได้ยังไง

คือส่วนใหญ่ไม่หยุดกัน มีเฉพาะบางประเทศที่หยุด?

เพราะว่าไทยอยากได้ผลงานการแข่งขันที่ดี ก็เลยอยากได้นักบอลที่เก่งที่สุดไปแข่ง ซึ่งถ้าไม่หยุดฟุตบอลลีกอาชีพ สโมสรมีสิทธิ์ที่จะไม่ส่งนักบอลไปก็ได้ เพราะสโมสรก็อยากจะเก็บเด็กพวกนี้ไว้แข่งในลีกของเขาที่แข่งกันอยู่ มันมีเงื่อนไขของบางทัวร์นาเมนต์ที่สโมสรต้องส่ง ถ้าเป็นฟีฟ่ารับรอง แต่อันนี้เป็นฟุตบอลสมัครเล่นที่ฟีฟ่าไม่ได้สนใจอะไร คือคุณบังคับให้สโมสรส่งไม่ได้ ดังนั้นก็เลยคิดว่า โอเคถ้าอย่างนั้นก็หยุดแข่งแล้วกัน

ซึ่งเรื่องนี้ก็เพิ่งคุยกันไม่นานก่อนหน้า?

พอเล่นๆ ไปก็หยุดแล้วกัน หยุด หนึ่งเดือนเลยนะครับ

ทำให้เกิดเรื่องเก็บตัวช้าหรือมีเวลาซ้อมน้อยหรือเปล่า

ใช่ครับ ถ้าเกิดอยากเก็บตัวนานกว่านี้ก็หยุดมากกว่านี้อีก แต่เอาเข้าจริงๆ ไอเดียของการเก็บตัวมันไม่ใช่ไอเดียของทีมชาติอยู่แล้ว เพราะทีมชาติไม่ใช่อะไรที่เก็บตัวนานๆ ยกเว้นเวลาทัวร์นาเมนต์ใหญ่มากๆ อย่างบอลโลกรอบสุดท้าย

อาจินต์ ทองอยู่คง

คุณศึกษาสโมรสรการท่าเรือแล้วเป็นแฟนบอลของท่าเรือเลยหรือเปล่า

ก็ไม่เชิงครับ เพราะผมไปเก็บข้อมูลทำวิจัยแล้วไปรู้จักกับคนแถวนั้น รู้สึกว่าคาแรคเตอร์ของของสโมสรและแฟนบอลน่าสนุกดี จับพลัดจับผลูครับ

มันเป็นอย่างไรบ้างครับ

สโมสรท่าเรือเหมือนกับสโมสรในอังกฤษ คือสโมสรมิลล์วอลล์ ความน่าสนใจของเขาก็คือเป็น working class ในเมืองหลวง เพราะท่าเรืออยู่ที่คลองเตย แฟนบอลหลักก็จะเป็นคนคลองเตย คืออย่างที่เรารู้จักว่า สลัมคลองเตย คือเป็นที่ที่ถูก stereotype ในทางลบจากที่อื่น

แต่ที่น่าสนุกก็คือ มันไม่ใช่ที่ที่ถูกมองว่าแย่ แต่เป็นที่ที่ถูกมองว่าแย่ที่ถูกรายล้อมด้วยความศิวิไลซ์แบบเมืองหลวง คือความเป็นพวกเรากับพวกเขามันเป็นพวกเดียวกัน หรือความรู้สึกแปลกแยกมันชัดเจนขึ้นมา แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเกลียดคนอื่น คือมันจะนำไปสู่ความพยายามหาทางออกให้กับตัวเองในหลายๆ แบบ อย่างเช่นสโมสรฟุตบอลก็จะกลายเป็นพื้นที่ของความภาคภูมิใจ กลายเป็นที่พึ่งทางใจ

ได้เข้าไปดูในสนามบ่อยไหมครับ

ก็บ่อยเหมือนกัน ก็ดูจนกลายเป็นแฟนบอลคนหนึ่งไปแล้ว

แต่ไม่ชอบดูทางทีวีใช่ไหม

ดูครับ วันไหนไม่ได้ไป งานเยอะก็นั่งทำไปดูไป แต่ก็แค่แก้ขัดเท่านั้นครับ การดูที่สนามมันสนุกกว่า

หลายๆ ครั้งก็จะเจอปรากฏการณ์ประหลาดๆ เช่น คุณไปที่สนามฟุตบอล คุณพบว่าบางคนไปที่สนามฟุตบอลแต่งตัวใส่เสื้อบอลมาเต็มยศเลย ซื้อตั๋วเรียบร้อย ถึงเวลาไม่ได้เข้าไปดูในสนาม เพราะว่านั่งกินเบียร์กันแล้วติดลม ซึ่งมีบ่อยด้วย ถ้าไปดูในสนามฟุตบอลต่างๆ คุณจะพบว่าประมาณนาทีที่ 46 ถึง 60 คนดูจะน้อยมาก เพราะตอนพักครึ่งพวกนี้ไปกินเบียร์ กว่าจะขึ้นมาก็ช้า ที่ผมพูดไม่ได้แปลว่าพวกแฟนบอลเป็นพวกขี้เหล้า ขี้เมา นะครับ แต่ผมกำลังจะบอกว่า การที่ไปดูฟุตบอลมันเป็นกิจกรรมทางสังคมอย่างหนึ่ง

บางทีถึงที่สุดแล้วฟุตบอลมันอาจจะสำคัญน้อยกว่าการที่เขาไปเจอเพื่อน ได้นั่งคุยกับเพื่อน อะไรแบบนั้นด้วยซ้ำ ผมเคยเจอบางคน บอลเตะ 6 โมง มีงาน 6 โมงครึ่ง คุณต้องไปทำงานแล้ว คุณมาที่สนามตั้งแต่ 4 โมง มานั่งคุยกับเพื่อน เสร็จแล้วก็ไปทำงาน ที่สุดคือมันเริ่มนำไปสู่สิ่งอื่นที่ไม่ใช่ฟุตบอลแล้ว

อาจินต์ ทองอยู่คง

บางทีเหมือนว่าคนที่เข้าไปดูบอลในสนามคาดหวังอย่างอื่นมากกว่าแค่ชัยชนะใช่ไหม

บางทีคาดหวังอย่างอื่นมากกว่าดูบอลด้วยซ้ำ (หัวเราะ)

บทสรุปสุดท้ายในวิทยานิพนธ์ที่ผมทำเรื่องฟุตบอลตั้งชื่อบทว่า ‘เป็นแฟนบอลมันมีอะไรมากกว่าดูบอล’ ก็คือเขาทำอะไรมากกว่าดูบอล ซึ่งบางทีมันสำคัญกว่าฟุตบอลด้วยซ้ำ

อย่างแฟนบอลไทยบางกลุ่มก็จะมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ อย่างเมื่อก่อนจะมีท่ากระโดดหันหลังให้สนาม ซึ่งเอามาจากพวกแฟนบอลยุโรป แต่คนไทยทำด้วยนัยยะอีกแบบหนึ่ง คือไม่ต้องดูบอลจริงๆ ก็ได้ เกมเป็นยังไงไม่เป็นไร แต่เราจะมาเชียร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับทีม เขาอธิบายกับผมแบบนี้

หรือแม้กระทั่งปรากฏการณ์ประหลาดๆ อย่างเช่น ผมตามทีมท่าเรือบ่อยๆ ช่วงที่แฟนบอลท่าเรืออาละวาดบ่อยมาก แล้วโดนแบนห้ามเข้าสนาม คือให้แข่งในสนามตัวเอง แต่ห้ามแฟนบอลตัวเองเข้า พวกนี้แทนที่จะดูบอลอยู่ที่บ้าน เพราะมีถ่ายทอดทีวี แต่พวกนี้ก็มาที่สนาม ไม่ได้ปีนเข้าไปหรือปลอมตัวเข้าไป แต่มาอยู่ข้างๆ สนามนี่แหละ ตีกลองร้องเพลงดูอยู่ใต้อัฒจันทร์ คุณมองไม่เห็นการแข่งขันเลย คุณจะได้ยินแค่เสียงเป่านกหวีดของกรรมการ คุณรู้แหละว่าตอนไหนเข้าประตู แต่นั่งดูอยู่ที่บ้านดีกว่า พวกนี้ก็มาเจอกัน มารวมกลุ่มกัน มาเจอเพื่อนสนุกกว่า

ผมเจอพี่คนหนึ่ง ช่วงที่โดนแบนมันมีกฎว่า ถ้าใส่เสื้อท่าเรือเขาจะไม่ให้เข้าไปในสนาม แต่ถ้าเกิดคุณเนียนนิดนึง ใส่เสื้ออื่นเนียนๆ เข้าไปนั่ง แต่เวลาท่าเรือยิงได้คุณก็อย่าดีใจ ผมกะว่าผมจะไปแอบดูนี่แหละ ก็ใส่เสื้ออื่นไป เขาก็เดินมาทัก ใส่เสื้ออื่นเหมือนกัน เขาเอาตั๋วมาให้ผม เพราะว่าเขาเป็นสมาชิกตั๋วปี เขาบอกว่าเอาเข้าไปดูเถอะ พี่ไม่ดู ผมก็ถามว่า อ้าว พี่ไม่ดูเหรอ พี่ก็เข้าไปดูสิ เขาบอกว่าพี่ไม่ดู พี่เชียร์กับเพื่อนข้างนอกสนุกกว่า อ้าว คุณก็เข้าไปดูได้นี่ แต่คุณไม่ไปดู การอยู่เชียร์กับเพื่อนมันสนุกกว่าได้ไปดูบอลในสนาม คือตรรกะมันเป็นแบบนี้ครับในหลายๆ กรณี อย่างอื่นสำคัญกว่า

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

Author

กนกอร แซ่เบ๊
เราเคยแซวกันว่า "กนกอรเป็นคนจีนที่พูดไทยได้" หรือ "เป็นฮองเฮาประจำสำนัก WAY" ซึ่งไม่ผิดนัก เธออาจมองว่าภาษาจีนเป็นเรื่องสามัญในครอบครัว แต่สำหรับกองบรรณาธิการ หน้าที่ประการหนึ่งของอดีตนักศึกษามานุษยวิทยาคือการเปิดหน้าต่างบานใหม่ให้ WAY มองสิ่งต่างๆ ได้ไกลและกว้างกว่าที่เคยเป็น

Author

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า