วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งให้การสนับสนุนศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน (Centre for Gambling Studies) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอรายงาน ‘การสำรวจสถานการณ์การถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ ปี 2566’ ณ โรงแรมเมอร์เคียว กรุงเทพฯ สยาม โดยมี นายธน หาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) เป็นผู้นำเสนอรายงาน พร้อมทั้งผู้เข้าร่วมการเสวนาวิชาการจากทั้งภาครัฐและวิชาการ อาทิ พลตำรวจตรีนิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (บช.สอท.) ร้อยตำรวจเอกเขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีฯ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รองศาสตราจารย์ ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) และ นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการชัวร์ก่อนแชร์ ร่วมแสดงข้อคิดเห็นต่อสถานการณ์การหลอกลวงทางออนไลน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
รายงานฉบับนี้ได้ทำการสำรวจกลุ่มเป้าหมายประชาชนที่มีอายุระหว่าง 15-79 ปี จำนวน 6,973 ตัวอย่าง ใน 24 จังหวัด ทุกภูมิภาคของไทย ในระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยแบ่งการวิเคราะห์ข้อมูลการหลอกลวงออกเป็น 2 ประเภทคือ ตกเป็นผู้เสียหาย และป้องกันตัวได้ จากการถูกหลอกลวงออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งอาจมากกว่า 20 รูปแบบเลยทีเดียว
‘คอลเซนเตอร์’ ยังครองแชมป์ต้มตุ๋นสูงสุด
ผลการสำรวจในรายงานฉบับนี้ระบุว่า คนไทยร้อยละ 82.7 ใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 6 ชั่วโมง 20 นาที โดยมีการใช้งานโซเชียลมีเดียมากกว่าการทำกิจกรรมอื่นบนอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงจากการใช้อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือถึงร้อยละ 95.1 จากการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ
พฤติกรรมเสี่ยงจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ 4 ลำดับแรก คือ
- รับสายโทรศัพท์จากคนแปลกหน้าหรือเบอร์ที่ไม่ได้บันทึก
- รับคนแปลกหน้าเป็นเพื่อนบนโซเชียลมีเดีย
- ซื้อสินค้าออนไลน์หรือช่องทางซื้อขายที่ไม่เป็นทางการ
- ไม่ตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อนซื้อสินค้า
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่อการแชร์หรือส่งต่อข้อมูลโดยไม่รู้ที่มา การเปิดเผยข้อมูลบนโลกออนไลน์ และการผูกบัตรเครดิต/เดบิต/บัตรกดเงิน กับร้านค้าหรือแอปพลิเคชัน เป็นต้น โดยผู้ที่ถูกสำรวจนั้น ล้วนมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงออนไลน์แบบใดแบบหนึ่งอย่างน้อย 4 แบบด้วยกัน
การรับสายโทรศัพท์จากคนแปลกหน้าหรือ ‘คอลเซนเตอร์’ เป็นพฤติกรรมเสี่ยงมากที่สุดเป็นอันดับแรก และพบมากที่สุดในทุกช่วงอายุหรือเจเนอเรชัน (generation) โดยกลุ่มผู้มีอายุ 61-79 ปี หรือ เบบี้บูมเมอร์ (ฺBaby Boomer) เสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงมากที่สุด ร้อยละ 85.4 รองลงมาคือกลุ่มผู้มีอายุ 28-45 ปี หรือ Gen Y โดยมีค่าเฉลี่ยรวมทุกช่วงอายุ อยู่ที่ร้อยละ 84.6
ป้องกันแล้วก็ยังถูกหลอก เผยนวัตกรรมล่าสุด ‘แอปดูดเงิน’
น่าสนใจว่าจากการสำรวจในครั้งนี้ ร้อยละ 89 ของกลุ่มประชากรตัวอย่าง มีการป้องกันตัวเพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือตามลำดับ คือ
- ตั้งรหัสล็อกหน้าจออุปกรณ์ แอปพลิเคชัน ที่แตกต่างกัน
- ลบหรือบล็อกบุคคลต้องสงสัย ดูอันตราย หรือแอ็กเคานต์ปลอม
- ใช้แอปพลิเคชัน ซอฟต์แวร์ เพื่อตรวจสอบหรือป้องกัน
- ทำการรีพอร์ตให้ผู้ให้บริการทราบ
ส่วนการเช็กประวัติบุคคล ในกรณีสานสัมพันธ์ การสังเกต https:// ถือว่าเป็นวิธีป้องกันที่ได้รับความสนใจน้อย ขณะที่การแจ้งหน่วยงานรัฐเมื่อเจอเพจปลอม เว็บไซต์ปลอม และการกระทำผิดกฎหมายทางอินเทอร์เน็ต มีสัดส่วนน้อยที่สุด โดยเจเนอเรชันที่รู้จักการป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงออนไลน์คือ Gen Z และ Gen Y ซึ่งเป็นรุ่นที่มีการศึกษาดี มีการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศตลอดเวลา แต่ก็ยังถูกหลอกลวงเช่นกัน เพราะยังขาดความตระหนักในการรีพอร์ต หรือแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ แม้จะมีเพียงแค่ร้อยละ 8.4 เท่านั้นที่ไม่ทราบว่าจะต้องร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสไปยังหน่วยงานใด
ขณะที่การเปลี่ยนรูปแบบและวิวัฒนาการการหลอกลวงของกลุ่มมิจฉาชีพ เช่น จากคอลเซนเตอร์ กลายมาเป็นการส่งลิงก์ทาง SMS เป็นต้น
พลตำรวจตรีนิเวศน์ รอง ผบ.บช.สอท. ระบุว่า ปัจจุบันกลุ่มมิจฉาชีพเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงให้ทันกับความตระหนักรู้ของคนในสังคมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะนวัตกรรมล่าสุดอย่าง ‘แอปดูดเงิน’ ที่กำลังเป็นที่นิยมของขบวนการหลอกลวง โดยการส่งลิงก์หลอกให้ติดตั้งแอปในโทรศัพท์ พร้อมระบุว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ผ่านการติดตั้งแอปพลิเคชัน เช่น ตั๋วเครื่องบินฟรี การลดหย่อนภาษี ค่าไฟฟ้าหรือประปา เป็นต้น
ปี 66 มูลค่าความเสียหายเกือบ 50,000 ล้านบาท
ในรอบปี 2566 ที่ผ่านมา การหลอกลวงออนไลน์มีมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 49,845 ล้านบาท ค่าเฉลี่ยมูลค่าความเสียหายต่อหัว 2,661 บาท โดยรูปแบบการหลอกลวงออนไลน์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา คือ
- การอ้างให้ผลประโยชน์ มูลค่าความเสียหาย 30,001 ล้านบาท เฉลี่ยต่อหัว 9,472 บาท
- หลอกลวงผ่านการซื้อขาย มูลค่าความเสียหาย 10,454 ล้านบาท เฉลี่ยต่อหัว 710 บาท แม้จะมีมูลค่าต่อหัวน้อย แต่มีจำนวนมาก
- เสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย มูลค่าความเสียหาย 4,443 ล้านบาท เฉลี่ยต่อหัว 2,743 บาท
ขณะที่ ผู้ที่ถูกหลอกลวงทางออนไลน์ในปีที่ผ่านมามีจำนวน 36.145 ล้านคน โดย 18.3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ตกเป็นผู้เสียหาย อัตราเฉลี่ยของการตกเป็นผู้เสียหายจากการหลอกลวงผ่านการซื้อขายมีปริมาณมากที่สุดถึงร้อยละ 95.5 และเมื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกก็กลายเป็นผู้เสียหายไปแล้วเรียบร้อย เช่น การซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า สินค้าไม่ตรงปก เป็นต้น