“เราอดสงสัยไม่ได้ว่าเสียงที่ประชาชนส่งถึงรัฐบาล กับเสียงที่รัฐบาลตอบรับประชาชนยังอยู่บนเรื่องเดียวกันหรือไม่ โปสตอร์ 2 แผ่นนี้เป็นการนำเสียงบางส่วนจากรัฐบาลและประชาชนที่ถูกประกาศออกสู่สาธารณะทั้งในพื้นที่ออนไลน์และออฟไลน์ ให้กลับมาถูกมองเห็นและอ่านซ้ำอีกครั้ง” – นี่คือคำอธิบายของโปสเตอร์ที่อยู่ตรงหน้าเรา
ผนังสีขาวในแกลเลอรีย่านบางพลัด Kinjai contemporary ถูกเติมแต่งไปด้วยแผ่นโปสเตอร์ทีละแผ่นอย่างเป็นระเบียบ หากใช้เวลาและความตั้งใจพิจารณาอย่างละเมียดละไมลงในผลงานแต่ละชิ้น ก็จะสามารถไขสารที่ต้องการสื่อออกไป อาการแสบๆ คันๆ บ้างก็ถึงขั้นจุกในอกวิ่งเข้ามาปะทะแบบไม่ทันตั้งตัว เพราะโปสเตอร์ส่วนใหญ่ล้วนถูกเล่าในเชิงเสียดสีเหตุการณ์ สถานการณ์ และภาวะของความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศ จัดอยู่ในนิทรรศการ ‘Bangkok Through Poster’ ที่จัดแสดงเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน – 15 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา
คำถามคือโปสเตอร์เหล่านี้ต้องการจะบอกอะไร?

ชวน เป้-สหวัฒน์ เทพรพ ผู้ก่อตั้งแกลเลอรีและเจ้าของโปรเจ็คต์นิทรรศการนี้ พูดคุยถึงแนวคิดและความเชื่อในพลังของศิลปะ ที่มาที่ไปของนิทรรศการ เขามองเห็นอะไร ต้องการจะบอกอะไร ธงของผลงานแต่ละชิ้นต้องเสียดสีบ้านเมืองอย่างเดียวหรือไม่ ท้ายที่สุด เสียงที่อยู่ในกระดาษที่เรียบแบนเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในทิศทางไหน และโปสเตอร์เหล่านี้จะเขย่าสังคมให้เปลี่ยนแปลงได้จริงหรือเปล่า
โปรเจ็คต์ Bangkok Through Poster เริ่มต้นได้อย่างไร
โปรเจ็คต์ ‘Bangkok Through Poster’ มันเริ่มจากความชอบของเราในงานออกแบบสิ่งพิมพ์ต่างๆ ผสมกับเสียงบ่นบนโต๊ะสนทนาของเพื่อนๆ ทั้งหลายที่บ่นลงในโซเชียลมีเดีย มันบ่นกันชิบหาย บ่นทุกเรื่อง ทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิต การเมือง การศึกษา สังคม นำไปสู่การต้้งคำถามว่าเสียงบ่นเหล่านั้นมันมีความหมายแค่ไหน เสียงบ่นเหล่านั้นเกิดขึ้น เพราะเขาถูกทำให้รู้สึกว่าเราเป็นพลเมืองตั้งรับมาตลอดใช่ไหม แล้วในฐานะคนทำงานสร้างสรรค์ เราทำอะไรได้บ้าง
มันจึงจุดประกายให้เรารู้สึกว่าอยากทำโปรเจ็คต์อะไรสักอย่างที่ให้รู้ว่าเราไม่ได้ ignore กับปัญหาต่างๆ ในประเทศ มันจึงเกิดเป็นโปรเจ็คต์นี้ขึ้นมาเพื่อจะเชื่อมงานศิลปะโยงกับสังคม หรือเป็นกระบอกเสียงอะไรบางอย่าง ช่วยกระทุ้งและตั้งคำถามว่ากลุ่มคนนักสร้างสรรค์ทำอะไรบ้างไหม นอกจากบ่นอยู่ในโซเชียลมีเดีย เพราะเพียงแค่การบ่น สุดท้ายมันหายไปมันไม่เกิดอะไรบางอย่าง
จุดประสงค์ของโปรเจ็คต์นี้ต้องการจะกระแทกเรื่องอะไร
ความจริงแล้วเราก็ไม่ได้ตั้งธงถึงขั้นว่ามันจะไปเปลี่ยนแปลงสังคมอะไรได้หรอก แต่เรารู้สึกว่าเราควรมีแอคชั่นอะไรบางอย่าง อย่างน้อยให้คนรู้ว่าคนทำงานสร้างสรรค์ลงมือทำงานเกี่ยวกับพื้นที่และปัญหาสังคมจริงๆ แล้วเราก็อยากให้โปรเจ็คต์เข้าไปช่วยปลุกให้นักออกแบบรู้สึกเห็นด้วย ฉันอยากทำด้วย เพราะนักออกแบบหลายคนที่มาจอยในโปรเจ็คต์นี้ก็มาจากสายทำงาน commercial กันทั้งนั้น และโปรเจ็คต์นี้จะเป็นโอกาสให้เขาได้ปลดปล่อยไอเดียโดยที่ไม่ต้องแคร์อะไร เพราะมันคืองานของคุณ มันคือตัวตนของคุณที่จะสะท้อนออกมาจากโปสเตอร์นั้นจริงๆ
ดังนั้น ในแง่กระบวนการทำงาน ดีไซเนอร์บางคน ก่อนที่จะทำเขามีการไปเก็บข้อมูลพูดคุยกับคนในพื้นที่ เพื่อสำรวจว่าเขาจะสื่อสารประเด็นอะไร มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ผมคิดว่านี่แหละประโยชน์ที่เราได้จากการทำงานนี้ เพราะมันได้ connect ผู้คน ได้เห็นความเป็นไปของผู้คนจริงๆ
อีกอย่างการทำงาน ‘Bangkok Through Poster’ มันเป็นเหมือนพื้นที่ที่เอาไว้เก็บห้วงความรู้สึกของคนในปี 2018–2019 ผ่านสายตานักออกแบบโปสเตอร์ชิ้นนั้นว่าเขาเห็นอะไร ผู้คนเหล่านั้นตอนนั้นรู้สึกยังไง
ความยากลำบากในปีแรก (2018) ที่เราเริ่มรันโปรเจ็คต์นี้คือการชวนคนมาสนุกกับเรา เพราะงานเราเพิ่งจะเริ่มต้น ไม่มีใครรู้จักเราเลย เราไม่มีพาวเวอร์ในการดึงดูดใครมา บางคนก็ไม่เข้าร่วม เพราะว่าเขาไม่รู้จักว่าเราเป็นใคร บางคนที่ชวนเป็นคนที่เราแอบติดตามทัศนะของเขาตามเฟซบุ๊คบ้าง หรือเจอกันตามงานศิลปะบ้าง หรือบางคนไม่เคยทำงานศิลปะเลย เราก็ชวนมา พยายามเค้นมันออกมาเพื่อเป็นโปสเตอร์ชิ้นหนึ่ง จนออกมาร่วมแสดงงานกับเราได้ในที่สุด

ชวนใครมาบ้าง
The Keyword คือธีมของโปรเจ็คต์ ‘Bangkok Through Poster’ โดยนักออกแบบหรือดีไซเนอร์ที่ต้องการจะสื่อสารผ่านเหตุการณ์ สถานการณ์ และสิ่งที่มันเกิดขึ้น โดยโปรเจ็คต์นี้เราจัดแสดงผลงานทั้งสิ้น 75 ชิ้น โดยผลงานมาจากหลายๆ แห่ง เช่น กลุ่มที่เราเทียบเชิญ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรต่างๆ สตูดิโอ นักออกแบบต่างชาติชาว เกาหลี ฮ่องกง อังกฤษ รวมไปถึงบุคคลธรรมดาที่เป็นนักออกแบบหน้าใหม่
คุณเห็นอะไรจากผลงานที่ส่งเข้ามาบ้าง
อย่างที่รู้กันว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองเราในช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์ของสังคมในปัจจุบันมันไม่เรียกว่าการเมืองด้วยซ้ำ มันคือการปกครองไร้ซึ่งการเมือง แม้ ณ ตอนนี้จะดูเหมือนมีการเมือง แต่เราไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ซึ่งเรารู้สึกว่าภาพรวมของโปสเตอร์มันออกมาเป็นแบบนั้นเลย
จากผลงานทั้งหมดที่ส่งเข้ามา นักออกแบบจะสะท้อนการวิพากษ์วิจารณ์สังคม โดยเชื่อมโยงพื้นที่กับเรื่องราวเป็นหลัก ส่งความรู้สึกถึงการถูกกดขี่บางอย่างออกมา ส่วนจะไปทิศทางไหนนั้นขึ้นอยู่ที่ว่าคอนเทนต์จะเล่าอะไร เช่น บางคนก็เน้นการศึกษา หรือการใช้ชีวิตในสาธารณะที่เขาสื่อสารให้เห็นว่าผู้คนในประเทศต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ รัฐบีบบังคับให้เราตื่นเช้า ไปขึ้นรถไฟฟ้าเบียดๆ

ถ้าภาพรวมของงานที่ส่งมามันค่อนข้างที่จะออกไปแนวทางวิพากษ์วิจารณ์ คิดว่าสะท้อนความอึดอัดอะไรบางอย่างของสังคมไหม
ตอบยากนะ เท่าที่เราเห็นสภาพสังคมในปัจจุบันนี้ เมื่อเข้าสู่ภายหลังการเลือกตั้ง เรารู้สึกว่าประชาชนมีความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของบ้านเมืองน้อยลง หลายคนอาจจะรู้สึกว่า ฉันเฟดออกดีกว่า ฉันทำอะไรไม่ได้หรอก ถึงฉันจะรู้สึกฉันก็ทำอะไรแม่งไม่ได้อยู่ดี
ตัวอย่างงานชิ้นหนึ่ง มันเป็นงานที่พูดเรื่อง ‘เสียง’ ผลงานชิ้นนี้เป็นงานของ พวงสร้อย อักษรสว่าง ทำร่วมกับดีไซเนอร์ ชิ้นนี้มันสะท้อนเรื่องราวของการให้น้ำหนักในพื้นที่ข่าวของกลุ่มสมัชชาคนจนที่น้อยมากๆ มันเบามากๆ

ช่วงนั้นพ่อผมผ่าตัดที่โรงพยาบาล ผมต้องนั่งรถผ่านกลุ่มคนเหล่านี้ทุกวันเพื่อไปเฝ้าพ่อที่โรงพยาบาล ผมเห็นกลุ่มพี่น้องเขานั่งอยู่ตรงนั้นทุกวันเป็นเดือนๆ แต่ทำไมสื่อหลักแทบไม่มีข่าวเลยเกี่ยวกับกลุ่มคนเหล่านี้ พื้นที่ในการให้พี่น้องพูดน้อยมาก เสียงของพวกเขาเบามากเลย ชิ้นนี้มันสะท้อนให้เห็นบางอย่าง คนส่วนใหญ่เขารู้สึกเป็นเจ้าของบ้านเมืองน้อยลงไปทุกที กลายเป็นพลเมืองตั้งรับอย่างที่รัฐต้องการอย่างเต็มสูบเลย งานชิ้นนี้มันจึงระบายออกมาผ่านความอึดอัดต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ทำไมโปสเตอร์ถึงมีพลังเล่าเรื่องได้ขนาดนั้น
ถ้าพูดในเชิงพลัง ผมคิดว่าโปสเตอร์ในเทศกาลนี้ยังไม่มีพลังเทียบเท่ากับโปสเตอร์ที่ใช้งานจริง อย่างเช่น โปสเตอร์ประท้วงที่ถูกเขียนด้วยลายมือชาวบ้าน ผมรู้สึกว่าถ้อยคำบนแผ่นกระดาษเหล่านั้นมันมีพลังมากกว่าโปสเตอร์ที่ถูกออกแบบเสียอีก เพราะมันถูกใช้งานในบริบทจริง แต่โปสเตอร์ในงานนี้มันถูกทำโดยดีไซเนอร์ มันจึงถูกออกแบบให้คิดไปเชิง visual ซะมากกว่า แต่ก็เข้าใจได้ เพราะทั้งหมดมันเป็นรากของนักออกแบบ รากของความเป็นศิลปิน บางคนอาจจะมองและให้ค่ากับฟังก์ชั่นของการออกแบบมากกว่าการสื่อสาร
ก็ยังน่าตั้งคำถาม ว่าโปสเตอร์มันเป็นกระดาษแบนๆ มันจะแอคชั่นอะไรขนาดนั้นได้จริงๆ หรือ
มีแอคชั่นขนาดนั้นไหม ก็ตอบยาก แต่โปสเตอร์มันก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่มีการสื่อสารในตัวมันเองที่ชัดเจนและง่าย
เราอาจจะเข้าใจว่าโปสเตอร์เป็นกระดาษที่มีอาร์ตเวิร์คนะ มีรูปภาพ ตัวอักษร นำมาจัดเรียง แต่จริงๆ ฐานะของการใช้งาน โปสเตอร์ถูกสร้างมาในฐานะสื่อประชาสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง เราเห็นมันในทุกๆ ที่ตามท้องถนน ถามว่าพอมันเป็น 2D อยู่ในรูปแบบแบนๆ แล้วมันมีพาวเวอร์ขนาดนั้นไหม – ก็ไม่นะ
แต่มันสามารถเข้าถึงผู้คนได้ไง และมันก็มีพลังเรียกร้องอะไรบางอย่างได้ไม่มากก็น้อย ลองมองถึงคนที่ไม่ได้เล่นโซเชียลมีเดีย คนที่ไม่ได้อยู่ในโลกออนไลน์ หรือคนสูงอายุ โปสเตอร์มันตอบโจทย์นะ คุณเลือกเดินเข้าร้านทำผม ร้านอาหาร ส่วนหนึ่งก็มาจากโปสเตอร์แบนๆ นี่แหละ
โปสเตอร์ที่ดีสำหรับคุณคืออะไร
โปสเตอร์ที่ดีเหรอ โปสเตอร์ที่ดีคงขึ้นอยู่กับเป้าหมายในการออกแบบ ถ้าออกแบบอะไรแล้วสื่อสารไปถึง นั่นเป็นโปสเตอร์ที่ดี เช่น โปสเตอร์ประท้วงที่ถูกเขียนโดยใครก็ไม่รู้ เขาเอาไปชูเพื่อระบายความในใจ แล้วสื่อถ่ายรูปไปลง ทำให้การสื่อสารของเขากระจายออกไป นั่นคือโปสเตอร์ที่ดี เพราะมันตอบโจทย์ความต้องการของผู้ที่สร้างผลงานนั้นจริงๆ
ดูเหมือนว่างานศิลปะถูกใช้เล่าเรื่องการเมืองในประเทศไทยเยอะมากขึ้นใช่ไหม
ผมคิดว่ารัฐบาลประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ทำให้คนหันมาสนใจการเมืองกันเยอะขึ้นนะ (หัวเราะ) จากคนที่ไม่สนใจมาก่อนเลย ผมรู้สึกว่าการกระทำของเขาเป็นการกระทำที่ร้ายแรงมากเลยนะ สิ่งที่เขาทำมันเป็นอภินิหารมากเลย (หัวเราะ) ทั้งการใช้กฎหมาย ทุกอย่างหมดเลย ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนหันมาเห็นประเด็นนี้มากขึ้น รวมถึงตัวนักออกแบบเอง
ถ้าอย่างนั้นจำเป็นไหมที่คนทำงานศิลปะหรือนักออกแบบจะต้องแสดงแอคชั่นบางอย่างต่อเรื่องการเมืองและสังคม
ส่วนตัวผมมองว่าในฐานะอาชีพมันก็ไม่จำเป็น ใครจะทำอะไรก็ทำ แต่เมื่อไรก็ตาม ถ้าเราคิดว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของเมือง ในส่วนตัวของผมคิดว่าเราไม่ควรอยู่เฉย เราควรใช้สิทธิ รักษาสิทธิของเรา ในฐานะพลเมือง อะไรที่เรามองว่าทำไปแล้วมันเป็นประโยชน์กับคนอื่น เราก็ควรจะทำ ยิ่งเราทำงานสร้างสรรค์ด้วย เพราะฉะนั้น การที่มองว่าคนทำงานสร้างสรรค์ดูตื่นตัวเกินไปรึเปล่า ผมคิดว่าจริงๆ มันเป็นพื้นฐานที่เราควรทำอยู่แล้ว ต่อให้ไม่ใช่คนที่ทำงานสร้างสรรค์ก็ตาม เพราะไม่งั้นคุณก็จะกลายเป็นแค่ passive citizen หรือ ‘พลเมืองตั้งรับ’ ธรรมดา อยู่ไปวันๆ แค่นั้น เขาให้ทำอะไรก็ทำภายใต้การปกครองของเขาแค่นั้น
เหมือนคุณกำลังจะบอกว่าการเมืองไทยทำให้คนรู้สึกแบบว่า “กูไม่ไหวแล้ว!” หรือเปล่า
ด้วยหลายๆ อย่างมันถูกทำให้เป็นแบบนั้น เศรษฐกิจไม่ค่อยดี อะไรก็ไม่ราบรื่น นับว่าคนที่เติบโตใน timeline นี้นับว่าโชคร้ายรึเปล่าก็ไม่รู้นะ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่มาเริ่มทำธุรกิจเอาในช่วงนี้พอดีเหมือนกัน เลยรู้สึกว่าอะไรมันก็ดาวน์ไปหมดเลยถ้าเทียบกับปีสองปีที่แล้ว
ผมไปย้อนดูชีวิตตัวเองในเฟซบุ๊คช่วง 4 ปีก่อนนู้น มันไม่รู้สึกแย่เท่านี้ ยิ่งหลังเลือกตั้งครั้งนี้มันแย่หนักกว่าเก่าอีก พอเขาแสดงตัวตนอย่างชัดเจนว่ามันเป็นยังไง เหมือนตอนนั้นเขาก็เสนอตัวว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ใช้อำนาจเต็มที่ เราก็รออย่างมีความหวัง แต่หลังเลือกตั้งมันก็เหมือนเดิมเลย จะมีบางคนที่ออกมาพูดประมาณว่า “ทำมาหากินไป ไม่ต้องสนใจอะไรหรอก” คนเหล่านั้นก็จะถูกสังคมด่า เพราะนั่นคือการแสดงให้เห็นถึงความเมินเฉย ทั้งที่เรามีสิทธิ ในฐานะเราเป็นพลเมืองคนหนึ่ง เรามีสิทธิที่จะไม่พอใจกับระบบการบริหารของรัฐ
เราคิดว่าเราควรจะวิพากษ์รัฐบาลได้ เราไม่ได้ชังใคร แต่เราชังการกระทำของเขา คิดว่าคนที่มีความสนใจเพราะเริ่มเกลียดการกระทำของคนเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนมันสะสม แต่ผมก็แอบไม่เห็นด้วยกับการลงถนนนะ ผมคิดว่ามันเหมือนเป็นการเอาชีวิตมาทิ้งครับ (ถ้าในไทยนะ) สรุปว่าแอคชั่นต่างๆ ที่รัฐบาลทำ มันทำให้ประชาชนตื่นตัวกับเรื่องการเมืองขึ้นมาก (ลากเสียงยาว) ครับ
แล้วศิลปะเป็นเครื่องมือในการพูดระบายความอึดอัดออกไปได้อย่างไร
ศิลปะมันเป็นเครื่องมือหนึ่งสำหรับการสื่อสารบางอย่างอยู่แล้ว ศิลปินบางคนก็อาจจะทำงานศิลปะเพื่อทดลองบางอย่าง หรือได้ระบายบางอย่าง รวมถึงได้ express ตัวเองออกมา ได้วิพากษ์การเมือง สังคม ประวัติศาสตร์ ศิลปะมันสื่อสารกับผู้คนภายนอกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องต่างๆ ได้
สมัยตอนที่ผมทำโปรเจ็คต์ธีสิส อาจารย์ที่ปรึกษาเคยทำงานกราฟฟิตี้ในชุมชน ผมจึงตั้งคำถามกับอาจารย์ “ทำไมต้องออกไปทำ” อาจารย์บอกว่าการไปพ่นศิลปะตามกำแพง มันสามารถสื่อสารกับชุมชน สื่อสารกับผู้คนได้ มันมีประโยชน์กับให้กับเมืองนะ เราสามารถสร้างมูลค่าทางพื้นที่ให้ชุมชนหรือพื้นที่นั้นๆ ด้วยศิลปะ
แต่การเข้าไปทำศิลปะอย่างเดียวมันไม่ได้ขนาดนั้นนะ มันออกแบบได้แค่กายภาพ แต่สิ่งที่เป็นหัวใจหลัก ศิลปะมันเข้าไปแตะถึงต้นตอของระบบหรือยัง สำหรับโปรเจ็คต์โปสเตอร์ครั้งนี้ ผมก็รู้สึกว่าต้นตอทั้งหมดมันมาจากพื้นฐาน ศิลปะไม่อาจช่วยแก้ไขได้ แต่อย่างน้อยมันก็สื่อสารกับเมืองได้เท่านั้น ไม่สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยด้วยซ้ำ

เพราะอะไร
ผมรู้สึกกว่าสังคมไทยไม่ได้สนับสนุนศิลปวัฒนธรรมขนาดนั้น
ทำไมถึงคิดแบบนั้น?
ยกตัวอย่างในรัฐบาลอังกฤษ เขามองเห็นและอุดหนุนแกลเลอรีในแต่ละที่ตามเมือง เราจะสังเกตได้ว่า ในยุโรปจะมีศิลปินหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย นอกจากศิลปินที่เก่งแล้ว สิ่งที่ทำให้ศิลปินบ้านเขาประสบความสำเร็จ มีงานดีๆ ให้ชม มิวเซียมต่างก็เติบโต เป็นเพราะเขาได้แรงสนับสนุนโดยรัฐ
ผมรู้สึกว่าเขามองอาชีพศิลปินว่าไม่ได้มีโครงสร้างอาชีพชัดเจน ผมจบจิตรกรรมมา พ่อผมยังถามเลยว่า อาชีพศิลปินคืออะไร เขาไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำ
ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราป่วย เราไม่มีทางไปขอให้หมอรักษาเราฟรี ถึงแม้ว่าหมอจะเป็นเพื่อนเราก็ตาม เพราะเขามีโครงสร้างทางอาชีพชัดเจน แต่กับศิลปินเรามักเจอประโยคที่ว่า “วาดให้หน่อย…วาดให้ฟรีนะ…เพื่อนกัน” ที่ทำให้คนทำแบบนี้เป็นเพราะเขามองไม่เห็น ระบบการศึกษาไม่ได้บอกว่าเราควรจัดระบบในการทำงานศิลปะอย่างไร สุดท้ายคนก็จะมองว่าเรียนศิลปะจบมาเป็นศิลปินไส้แห้ง
แสดงว่าคุณคิดว่าผู้ใหญ่ในประเทศมองงานสร้างสรรค์ว่าไม่มีคุณค่าเหมือนงานด้านอื่น?
ในสังคมเรา ศิลปะมันเป็นเหมือนปัจจัยอื่นด้วยซ้ำ ศิลปินตัวเล็กมาก สมมุติเรามีเงินก้อนหนึ่ง เราจะจ้างคนมาทำ indentity design จะจ้างคนมาออกแบบการทำงานของบริษัทเรา หรือเราจะซื้อเครื่องจักร คนส่วนใหญ่ก็ต้องเลือกซื้อเครื่องจักรเลือกปริมาณการผลิตเป็นหลักอยู่แล้วใช่ไหม อีกตัวอย่าง ผมเคยเจอคำพูดเชิงว่า “ทำไมแพงจัง…งานแค่นี้เอง” คำพูดเหล่านี้มันสะท้อนการที่เขามองไม่เห็นต้นทุนของศิลปะด้วยซ้ำ มันเป็นต้นทุนวิชาชีพ ไม่ใช่ต้นทุนอุปกรณ์นะ แต่มันเป็นต้นทุนความรู้ ต้นทุนการสะสมประสบการณ์ มันถูกมองเห็นน้อย
สำหรับโปสเตอร์ในงานนี้ หลังจากจัดแสดงแล้ว มีแผนจะทำอะไรต่อ
เราวางแผนตั้งแต่แรกว่า อยากจะขยายความเป็นโปสเตอร์ ถ้ามันถูกนำมาโชว์ที่นิทรรศการหรือแกลเลอรีมันเป็นพื้นที่เฉพาะเท่านั้น การมองเห็นมันน้อยมากๆ มันแทบจะไม่ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มประสิทธิภาพเลยด้วยซ้ำ ทำให้ขอบเขตการสื่อสารมันจะแคบลง เราจึงคิดว่าจะนำโปสเตอร์เหล่านี้ไปบอมบ์ข้างนอก เอาไปแปะไว้ตรงนั้นตรงนี้ ตามสถานที่ต่างๆ มันจะอยู่นานแค่ไหนก็ปล่อยให้มันเป็นไป แล้วมาดูกันว่าโปสเตอร์จะเล่าเรื่องราวกับคนในพื้นที่ตรงนั้นได้อย่างไรบ้าง
อยากให้ลองทำนายอนาคต ว่าคนทั่วไปที่ไม่ใช่ศิลปินหรือนักออกแบบ เขากำลังจะใช้ศิลปะในการตะโกนสื่อสารประเด็นการเมืองประเด็นสังคมมากขึ้นหรือไม่
มากขึ้นนะ เพราะโจทย์ของการทำอาร์ตเวิร์ค คือมันเป็นการย่อยหรือสื่อสารบางอย่างอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น งานโปสเตอร์ชิ้นที่เป็น Elect (สื่อข้อมูลการเมืองและการเลือกตั้งไทย ที่เกิดจากการจับมือกันระหว่างองค์กรต่างๆ) เราจะเห็นว่าข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งในประเทศไทยที่มันมีเยอะมากมายมหาศาล เขาเอาข้อมูลนั้นมาย่อย แล้วนำมาจัดเรียงให้เป็นงานออกแบบให้อ่านง่าย ซึ่งมันเป็นประโยชน์ของการใช้งานการออกแบบที่เวิร์คมาก ยิ่งในสมัยนี้เราจะเห็นเลยว่าคนเขากล้าใช้อาร์ตเวิร์คในการวิพากษ์มากขึ้น
ในการทำงานศิลปะของคุณ ต้องเดินไปถึงจุดไหนถึงจะรู้ว่างานชิ้นนี้มันประสบความสำเร็จแล้วหรือพอใจแล้ว
ผมเรียนจบสาขาวิชาจิตรกรรมมา แต่ผมไม่มีความเป็น painter เลยด้วยซ้ำ ผมชอบทำงานออกแบบมากกว่า ชอบงานภาพพิมพ์ ชอบการออกไปหาข้อมูล ถามถึงจุดสำเร็จในการทำงานศิลปะ มันคงจะเป็นช่วงเรียนอยู่ ที่เราได้ทำงานจริงๆ จังๆ พอจบมาแล้วก็แทบจะไม่ได้ทำเลย
แต่สิ่งที่น่าคิดมากกว่าการเติบโตทางด้านศิลปะ คือจะทำยังไงให้มีความอยากที่จะทำงานศิลปะอยู่ มันน่าคิดนะ จะทำยังไงให้เรารู้สึกว่ามีแรงทำศิลปะอยู่ ทำยังไงให้ไม่รู้สึกว่าเบื่อหน่ายหรือกลัวว่าจะไม่มีงาน ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดของคนที่เรียนศิลปะมา การที่เราไม่ได้ทำมันแล้ว มันน่ากลัว ขนาดผมเองยังกลัวเลย ทุกวันก็พยายามหาอะไรทำเล็กๆ น้อยๆ ให้รู้สึกว่าเรายังทำมันอยู่
ในฐานะงานโปสเตอร์ล่ะ เราจะเอาอะไรมาวัดว่าโปสเตอร์ชิ้นนี้ประสบความสำเร็จ
มันสอดคล้องกับที่บอกไปในตอนแรก ที่ว่าโปสเตอร์ที่ดีคืออะไร มันคือการสื่อสาร ดังนั้นการประสบความสำเร็จมันอาจจะอยู่ตรงนั้นก็ได้ อาจจะไม่ใช่งานที่ได้ยอดไลค์ ยิ่งโปสเตอร์ในงานนี้มันพูดถึงพื้นที่ มันมีความเป็นปัจเจกสูง มีความเป็นปัจเจกของดีไซเนอร์ ว่าบ้านฉันพูดภาษานี้ มันก็จะมีกลุ่มคนกลุ่มนี้ที่รับสารแล้วรับรู้เข้าใจได้ก็อาจจะตีความว่าโปสเตอร์ชิ้นนี้มันยอดเยี่ยม ใช่เลย แต่การจะไปตอบแทนคนอื่นว่าชอบ-ไม่ชอบ ผมว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัว คนอีสานที่ทำโปสเตอร์เพื่อคนอีสาน แต่คนอีสานกลุ่มหนึ่งอาจจะไม่ชอบก็ได้ ผมว่าเรื่องแบบนี้มันก็คล้ายๆ ศิลปะชิ้นนี้สวยไหมนั่นแหละ ถ้าคุณไม่ชอบงานสไตล์นี้ คุณก็มีสิทธิจะไม่ชอบ เท่านั้นเลย ผมก็เลยบอกไม่ได้ว่ามันประสบความสำเร็จหรือไม่

ทำไมคุณถึงสนใจเรื่องการเมือง
มันเป็นสิ่งพื้นฐานนะ เรารู้สึกว่าเราเห็นทุกวัน เราอยู่กับมัน ความจริงแล้วจะพูดว่าเราไม่สนการเมืองเลย แต่สุดท้ายการเมืองมันก็อยู่ในทุกอย่าง มันอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวันเลย อยู่ในสิ่งที่เราต้องเผชิญ เช่น เราบ่นเรื่องรถไฟฟ้า บ่นเรื่องรถเมล์ มันก็คือการเมืองทั้งนั้น ทุกอย่างมันเป็นผลพวงของกันและกัน เพราะฉะนั้นเราควรจะแอคทีฟกับมัน ควรจะมีแอคชั่นกับมัน เรามีสิทธินะ
คิดว่าคนรุ่นใหม่เปิดหูเปิดตากับเรื่องการเมืองมากขึ้นไหม เพราะอะไร
เห็นด้วยนะ ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ เต็มไปด้วยวาทกรรมที่เกิดขึ้นมากมาย ว่าคนรุ่นใหม่บ้าประชาธิปไตยบ้าง คนรุ่นใหม่ชังชาติบ้าง ความจริงผมคิดว่า มันเป็นเพราะคนในรุ่นก่อนอาจจะไม่ชินกับการที่คนรุ่นใหม่ตื่นตัวขนาดนี้
คนที่มีอำนาจออกแบบกติกา เขาก็คิดไม่ถึงว่ามันจะออกมาได้ขนาดนี้ เขาเลยกลัวไปหมด มันแสดงให้เห็นถึงความกลัวของเขา การออกแบบกติกาทั้งหมดมันเกิดขึ้นจากความกลัวทั้งนั้น ไม่มีใครหวงอำนาจได้เท่าตอนนี้อีกแล้ว นี่จึงอาจจะเป็นเหตุให้ต้องออกมาใช้วาทกรรมโจมตีว่าคนรุ่นใหม่เป็นอย่างนู้นอย่างนี้
เขาทำให้เราตื่นตัว ถ้าเขามาอย่างถูกต้อง มาอย่างขาวสะอาด คนก็คงจะไม่คิดขนาดนี้ ที่ผ่านมาก็เล่นกันตามกติกา ถึงมันจะมีล้มมีอะไรไปบ้าง แต่มันก็อยู่ในกติกา เมื่อคนเห็นความไม่ยุติธรรมนี้ เขาก็ลุกฮือขึ้นมา มีกิจกรรมอย่าง ‘วิ่งไล่ลุง’ ออกมาประชาสัมพันธ์กันผ่านทางออนไลน์ โดยแทบจะไม่ได้ออกสื่อเลยด้วยซ้ำ ถ้าไม่มีแพลตฟอร์มออนไลน์ยังมองไม่ออกเลยว่าป่านนี้เราจะเป็นยังไง เราจะถูกกรอกหูด้วยอะไร มันอาจจะคล้ายๆ สมัยก่อนไปเลย โซเชียลมีเดียมีผลมากๆ ในยุคนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับการเมืองมันเป็นอย่างไร
ศิลปะกับการเมืองน่ะเหรอ….ผมว่าอาชีพทุกอย่างกับการเมืองมันสะท้อนกันหมดนะ ศิลปะก็เป็นมุมหนึ่ง คนทำศิลปะก็เป็นอาชีพอาชีพหนึ่ง ผมรู้สึกว่าคนพวกนี้เขามองเห็นความไม่ชอบธรรมอะไรบางอย่าง ความดีงามของการเมืองบางอย่างเขาก็มองเห็นนะ แต่ผมรู้สึกว่าในสังคมเราคนมันพูดเรื่องดีๆ น้อย เรื่องดีๆ มันขายไม่ได้ นึกออกใช่ไหม
ยกตัวอย่างง่ายๆ ข่าวที่ได้ขึ้นหน้าหนึ่งมักจะเป็นข่าวฆาตกรรม เป็นข่าวในเชิงลบอยู่แล้ว เพราะคิดว่าคนให้ความสนใจ ไม่ต่างจากงานศิลปะที่ออกมาทำงานในประเด็นการเมืองสังคม แล้วได้รับความสนใจ ก็จะถูกมองว่านักออกแบบหรือดีไซเนอร์เป็นพวกต่อต้าน ซึ่งความจริงแล้วการเมืองมันมีหลายมุม เรื่องดีๆ ก็มี นโยบายดีๆ ก็มี มันอยู่ที่คนทำงานศิลปะจะเลือกหยิบเรื่องไหนมาพูด ซึ่งส่วนใหญ่เรื่องที่เขาหยิบขึ้นมามันก็ต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตโดยตรง เขารู้สึกอย่างไร ก็สื่อสารผ่านงานออกมา
แต่คนที่ไม่ได้ใช้ศิลปะพูดเรื่องการเมือง ไม่ได้หมายความว่าเขาผิด แต่เราอยากจะบอกว่ าคนที่ทำงานเกี่ยวกับสังคมการเมือง เขาก็คิดอีกแบบหนึ่ง แค่อยากจะให้สังคมมองเห็นมุมที่อึดอัด ถึงท้ายที่สุดอาจจะไม่ได้สร้างเอฟเฟ็คต์อะไรกับสังคมมากขนาดนั้น แต่อย่างน้อยเราก็ยังได้ทำ นั่นคือสิ่งที่คนทำศิลปะเกี่ยวกับการเมืองคิดเหมือนกัน “อย่างน้อยเราไม่ได้เฉย”
ที่บอกว่าสุดท้ายแล้วงานอาจจะไม่ได้ส่งผลขนาดนั้น ทำไมถึงคิดแบบนั้น
ต้องถามว่าผลสรุปมันคืออะไร มีคำถามว่านิทรรศการนี้แก้ปัญหาอะไร ผมก็จะตอบว่าศิลปะแก้ปัญหาไม่ได้ครับ การจัดนิทรรศการแก้ปัญหาเชิงระบบไม่ได้ แต่มันเป็นการออกมาสะท้อนบางอย่าง เป็นเสียงที่สะท้อนบางอย่างออกมา เราแค่ไม่ ignorant มันเป็นการแสดงว่าเราแอคทีฟกับเรื่องแบบนี้อยู่ อันนี้คือเป้าหมายของการทำนิทรรศการอยู่แล้ว แต่เราก็ยังจะทำ ทำให้เขารู้ว่าเราตะโกน มีแอคชั่นมากมันก็เป็นที่จับจ้องนะ นึกออกไหม บางคนทำศิลปะเรื่องการเมืองมากๆ ก็โดนทหารมาเก็บงานไปเลย หรือปิดนิทรรศการก็มี นี่คือสิ่งที่เราเผชิญอยู่ แล้วเราทำอะไรได้บ้าง แต่อย่างน้อยเราก็พยายามจะไม่เฉย แค่นั้นเอง

ไม่ได้กวนนะ ถ้ามันไม่ได้ส่งผลขนาดนั้นแล้วทำไปทำไม
เข้าใจครับ ก็อย่างที่บอก ถ้าทำให้ปังเลยมันยากนะ มันต้องเป็นอะไรที่แมสกว่านี้ อย่างกิจกรรม ‘วิ่งไล่ลุง’ ปังกว่าของผมเยอะเลย แต่พอปังมันก็จะเป็นที่จับจ้องของคนแล้ว มองในแง่ของคนจัดนิทรรศการ มันจะมีใครกล้ามาร่วม ใครจะกล้าส่งงานเข้ามา สุดท้ายก็ไม่ได้ทำด้วยซ้ำ
บางคนก็แนะนำว่าทำไมไม่ทำให้งานออกมาในเชิงวิพากษ์มากกว่านี้ ผมก็เข้าใจเขานะ แต่ถ้าไปสุดกว่านี้ ดีไซเนอร์เองยังไม่กล้าทำเลย มันก็ไม่เกิดผล สุดท้ายงานมันเลยออกมาในรูปแบบที่เราใช้ชั้นเชิงกับมันหน่อยแล้วกัน
กลัวไหม
ไม่กลัวนะ ผมรู้สึกว่าผมทำในสิทธิขั้นพื้นฐานของการที่เป็นพลเมือง เกิดจากความเป็นคนคนหนึ่ง เราเสียภาษี เราไม่ควรกลัวด้วยซ้ำ เขาแค่ทำให้เรารู้สึกว่าเราควรกลัวเท่านั้นเอง แต่ ‘กลัว’ กับ ‘น่ากลัว’ มันต่างกันนะ ไอ้น่ากลัว มันน่ากลัวจริงๆ ครับ ยอมรับว่ากลัวในความน่ากลัว (หัวเราะ)
แต่เราก็ไม่ได้โจ่งแจ้งขนาดนั้น เราก็เคลื่อนไหวในแบบของเรา ถ้ายิ่งรุนแรงมาก เคลื่อนไหวหนักหน่วงมาก ก็จะโดนเพ่งเล็ง ผมก็เลยพยายามทำให้นิทรรศการมีภาพลักษณ์ไม่เป็นการเมืองให้มากที่สุด แถมพยายามให้มันไปในทางช่วยสังคมด้วย เมื่อเราช่วยสังคม การเมืองก็อยู่ในสังคมอยู่แล้ว เราทำในหน้าที่ของพลเมือง เราไม่ได้ไปด่าใคร เราพูดในฐานะผู้เสียภาษีคนหนึ่ง ถ้ามันพูดไม่ได้มันก็ไม่ต่างอะไรกับคอมมิวนิสต์เลยนะ อีกนิดเดียวเองนะ ใกล้เคียงมากเลย (หัวเราะ)
โทนของโปสเตอร์ในปีนี้ออกไปในทางวิพากษ์การเมืองและสังคม ในปีหน้าอยากจะเห็นงานที่มองเห็นสังคมไทยไปในทิศทางด้านอื่นไหม
อยากเห็นนะ อยากเห็นคนที่ทำงานเขามีความสุขมากกว่านี้ อยากเห็นนักออกแบบไม่ต้องมานั่งด่ารัฐบาลแล้ว อันนี้แค่ฝันเฉยๆ นะ แต่แค่อยากให้ปีต่อจากนี้มันดีขึ้น ไม่ใช่ว่าปีนี้ไม่ดี แต่อยากให้พูดได้กว้างขึ้น มีเรื่องอื่นๆ เข้ามามากขึ้น เช่น เราอาจจะเคลื่อนตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนมีความสุขขึ้น นี่คือสิ่งที่อยากเห็นในงาน อย่างที่บอกโปรเจ็คต์นี้มันเหมือนการเก็บข้อมูลประเทศ ปีนี้ 2019 ก็ได้บันทึกไปแล้วว่าประเทศเป็นอย่างไร เพราะมันสะท้อนออกมาทางความคิดของคนทำโปสเตอร์หมดแล้ว
ถ้าให้ออกแบบโปสเตอร์ประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าตอนนี้จะเห็นภาพเป็นยังไง
มันคงเป็นภาพเทามากๆ เลย มันสีเทามากๆ เลย ยังไม่รู้เลยว่าตอนนั้นตัวเราเองจะเป็นยังไงด้วย อีก 5 ปี เราจะเป็นคนแบบไหน คิดอะไรอยู่ ผมอาจจะสนับสนุนประยุทธ์ก็ได้นะ (หัวเราะ)

โปสเตอร์ทั้งหมดจะจัดแสดงอีกครั้งในงาน ‘Bangkok Design Week 2020’ และนำไปแปะตามสถานที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ติดตามรายละเอียดได้ที่: https://www.facebook.com/Bangkokthroughposter/